Rompboy แบรนด์แฟชั่นที่ใช้ใจนำการตลาดจนขายหมดในหลักนาที

Highlights

  • Rompboy คือแบรนด์สตรีทแฟชั่นไทยที่ก่อตั้งโดย บู้–ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ ซึ่งมีจุดเด่นคือสินค้าแต่ละชิ้นผลิตในจำนวนจำกัดและขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
  • ไม่มีกลยุทธ์ซับซ้อนใดๆ บู้ใช้สัญชาตญาณและความชอบส่วนตัวในการขับเคลื่อนแบรนด์ Rompboy จนได้รับการยอมรับและขายหมดภายในระยะเวลาอันสั้น
  • เดือนพฤศจิกายนนี้ Rompboy กำลังจะมีหน้าร้านเป็นครั้งแรกที่ Lido Connect ชั้น 2

ในบรรดาแบรนด์สตรีทแฟชั่นไทย หนึ่งในแบรนด์ที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจและติดตามเอาใจช่วยเสมอมาคือ Rompboy ของ บู้–ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หรือที่แฟนๆ รู้จักและจดจำในนามของ บู้ Slur

ไม่ได้จบการตลาด ไม่เคยลงคอร์สที่สอนกลยุทธ์การค้าขายบนโลกออนไลน์ ไม่ได้ร่ำเรียนแฟชั่น แต่สิ่งที่เขาทำได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญบนโลกออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบหลายชิ้นขายหมดในเวลาไม่นาน บ้างเป็นหลักนาที และมีบางชิ้นขายหมดในหลักวินาที

ผมว่าบางทีสิ่งที่เขาทำอาจไม่มีโรงเรียนด้านการตลาดที่ไหนบอกสอน นอกจากลองผิดลองถูกด้วยตัวเองโดยใช้หัวใจและสัญชาตญาณนำทาง

ในวาระที่ Rompboy จับมือกับ a day ทำกระเป๋ารุ่นพิเศษร่วมกันในวาระก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของ a day ผมจึงถือโอกาสนัดพบเขาเพื่อพูดคุยถึงมุมมองต่างๆ ในการปลุกปั้น Rompboy จนกลายเป็นแบรนด์ที่มีแฟนๆ สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นเรื่อยมา

“หลายๆ คนชอบคิดว่าผมสำเร็จนู่นนี่นั่น ขายดีจัง มีคนมาต่อแถวรอซื้อ แต่ไอ้เบื้องหลังการต่อแถว คุณไม่รู้หรอกว่าก่อนนอนผมคิดเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าทำยังไงให้มันประคองอย่างนี้มาตลอด 5 ปี” ชายตรงหน้าเอ่ยประโยคนี้ระหว่างสนทนาจนผมสงสัยตามที่เขาว่า

เบื้องหลังการต่อเแถวรอซื้อก่อนนอนเขาคิดเรื่องอะไร แล้วเขาประคับประคองยังไงให้มันเป็นเช่นนี้มาตลอด 5 ปี

 

ตั้งแต่คุณทำ Rompboy มีคนมาปรึกษาธุรกิจเยอะไหม

โคตรเยอะ ซึ่งบางทีกลับไปงงกว่าเดิม (หัวเราะ)

 

ทุกคนที่มาปรึกษาจะคิดว่าคุณน่าจะแม่นยำเรื่องการตลาด

ใช่ แต่จริงๆ ไม่รู้เรื่องเลย ผมบอกเลยว่า เฮ้ย ไอ้ 4P ห่าเหวอะไรกูไม่รู้เรื่องนะเว้ย ทุกวันนี้กูยังตั้งราคาพลาดอยู่เลย บางอันแพงเกินไป บางอันถูกเกินไป กูยังรู้สึกโง่อยู่เลย

 

แล้วสิ่งที่คุณมักจะบอกกับทุกคนที่เข้ามาปรึกษาคืออะไร

ผมรู้สึกว่าถึงผมจะไม่มีทฤษฎี แต่ว่าผมเป็นคนเติมไฟที่ดี เวลาผมพูดกับใครผมจะจริงใจกับเขามาก เช่น เฮ้ย มึง อย่างนี้เวิร์ก เฮ้ย อย่างนี้กูไม่ซื้อว่ะ อย่างนี้มึงซื้อเหรอถามจริงเหอะ

แล้วที่สำคัญ ผมถามว่า เฮ้ย มึงชอบจริงหรือเปล่า คนที่อยากเริ่มทำธุรกิจมีเยอะ แล้วจะมีพวกหนึ่งที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร สมมติมีคนจะทำเสื้อผ้า ผมก็จะถามเลยว่า เฮ้ย มึงแต่งตัวแค่ไหน มึงเดินสวนจตุจักรบ้างเปล่า ทุกวันนี้อินสตาแกรมมึงฟอลโลว์ร้านเสื้อผ้าเยอะแค่ไหน มึงถามตัวเองว่าใช่หรือยัง ผมว่ายิ่งยุคนี้พอทุกอย่างมันเริ่มต้นง่าย ทำให้คนหันมาทำมากมาย ซึ่งมันอาจจะมีช่วงแรกที่หลายๆ คนได้เพื่อนช่วยซื้อ ได้คนรู้จักช่วยซื้อ แต่พอหมดโปรโมชั่นตรงนั้น การที่จะประคองต่อไปเรื่อยๆ คือสิ่งที่ยากที่สุด

 

สำหรับคุณการประคองตัวให้ธุรกิจอยู่รอดเรียกร้องคุณสมบัติอะไรบ้าง

วันนี้ตอนอาบน้ำผมยังคิดอยู่เลยว่า โห ถ้าเราไม่มีใจกับมัน เราคงอยู่ไม่ได้

อย่างเรื่องเสื้อผ้าผมไม่ใช่มาเริ่มตอนทำ Rompboy ตั้งแต่ทำวง Slur ผมก็เป็นสไตลิสต์คอยดูแลเสื้อผ้าหน้าผมให้กับวงด้วย คือมันผูกพันกันมานาน แกะไม่ออก แล้วผมก็ไม่รู้ว่าถ้าผมไม่ทำเสื้อผ้าผมจะทำอะไร ทุกวันนี้ผมดีใจมากเลยที่ผมกำลังจะขายคอลเลกชั่นใหม่ กำลังจะทำโน่นทำนี่ ผมรู้สึกว่า 5 ปีเราไม่เคยบ่นเหนื่อยเลยเว้ย เราแค่เครียด เราแค่กลัวบางอย่าง แต่เราไม่เคยเหนื่อย

โดยส่วนตัวผมคิดว่าวันหนึ่งวงการนี้จะเลือกให้เหลืออยู่แค่ตัวจริงอย่างเดียว เพราะในระยะยาว หลายๆ อย่างจะทำให้บางคนถูกกัดกร่อนไปเอง แล้วก็จะกลายเป็นว่าวันหนึ่งเขาจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาทำอยู่ ผมว่าเรื่องใจมันสำคัญมาก สำหรับผมใจคือตัวประคองให้ทำได้ยาว ทำได้นาน

Rompboy เองเคยเจอสถานการณ์ที่ทำให้เราตั้งคำถามบ้างไหม

โอ้โห เยอะโคตร หลายๆ คนชอบคิดว่าผมสำเร็จนู่นนี่นั่น ขายดีจัง มีคนมาต่อแถวรอซื้อ แต่ไอ้เบื้องหลังการต่อเแถว คุณไม่รู้หรอกว่าก่อนนอนผมคิดเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าทำยังไงให้มันประคองอย่างนี้มาตลอด 5 ปี

มีอยู่วันหนึ่งผมคุยกับพ่อ แล้วบอกพ่อว่าจริงๆ แล้วการเจอเหตุการณ์แย่ๆ หลายๆ ครั้ง การเจอเศรษฐกิจที่ดาวน์มากๆ มันเหมือนเรากำลังยืนอยู่ในที่ที่หนึ่งที่แผ่นดินมันทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเลือกคนที่เหลืออยู่บนผืนแผ่นดินไม่กี่คนสุดท้าย ซึ่งอุปสรรคต่างๆ นั่นแหละที่มันกรองตัวปลอมออกไป สำหรับผมปัญหาที่ผ่านมา การที่เราทำรองเท้านักเรียนแล้วไม่เวิร์ก แล้วเจ๊ง แต่ผมจะมีแนวคิดหนึ่งตลอดมาว่า ผมจะไม่มองเลยว่าผมจะเสียอะไร แต่ผมคิดอย่างเดียวว่าผมจะหาอะไรได้จากมัน แล้วผมก็เดินต่อไป

 

คิดอย่างนี้แล้วคุณได้ทบทวนข้อผิดพลาดบ้างไหม

ทบทวน ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมต้องคิดเยอะกว่าเดิมคือ เรื่องรสนิยมส่วนตัว

ผมเริ่มรู้แล้วว่ารสนิยมส่วนตัวบางอย่างทำออกมามันขายได้อย่างเก่งก็แค่คืนทุนหรือว่ากำไรนิดๆ หน่อยๆ รสนิยมเรามันจูนได้ส่วนหนึ่ง เราอาจจะทดลองทำอะไรที่เป็นรสนิยมส่วนตัวไป 2-3 เดือน แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ประมาณ 7-8 เดือนก็ยังต้องทำอะไรเพื่อแฟนคลับของเรา เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามาคนเดียวเหมือนสมัยก่อนแล้ว เรายังมีคนที่รออะไรที่เขาอยากใส่อยู่

 

ที่ผ่านมาบางคนแซวว่าสินค้าของ Rompboy ทำน้อยเหมือนกลัวขายดี

ใช่ๆ ผมว่าลูกค้าคิดแบบนี้เยอะว่ามึงกลัวว่าจะไม่หมดเหรอวะ ทำไมมึงทำน้อยจังเลย แต่เรายังรู้สึกว่า ไม่ได้ว่ะ เราไม่อยากจะให้ไอเทมหนึ่งมันมีเยอะจนคนรู้สึกว่า เจออีกแล้วว่ะ เห็นอีกแล้วว่ะ

ผมเคยคุยกับพี่ที่เคารพคนหนึ่งเขาก็บอกว่าจริงๆ แล้ว Rompboy ควรจะมีตัว core ได้แล้ว ทำให้ลูกค้าที่ผิดหวังกับรุ่นลิมิเต็ดเขามาซื้อ แต่ผมรู้สึกว่าไม่ได้ สำหรับผมมันไม่สนุก สำหรับผมทุกอย่างมันต้องเป็นฤดู มีแป๊บเดียวนะ แล้วก็มาซื้อกัน พอหมดก็ทำอะไรใหม่ๆ ไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ดีกว่า สิ่งที่ผมจะพยายามรักษาไว้เสมอคือ สมมติอะไรฮิตปุ๊บ ผมจะพยายามทำน้อยที่สุดหรือเลิกทำ เราจะต้องวิ่งไปหาสิ่งใหม่แล้วบอกลูกค้าว่า นี่ อันนี้คือของใหม่นะ

แล้วลูกค้าก็จะบ่นว่าของใหม่ที่ว่าคืออะไรวะ มันกางเกงนอนหรือเปล่าวะ มันคือกางเกงเลนี่หว่า ลูกค้าช่วงแรกๆ ก็ด่า Miki Hat ว่าเป็นหมวกพระธุดงค์ เอารูปพระมาคอมเมนต์ เขาไม่เข้าใจ แต่พอวันหนึ่งผมจุดกระแสติดปุ๊บ ลูกค้าเข้าใจแล้วว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ ตอนนั้นสินค้าผมก็ขายหมดแล้ว แล้วแบรนด์ที่อาจจะทำตามหรือเป็นคู่แข่งเขาก็โกยรายได้ตรงนั้นไป ซึ่งอาจจะเยอะกว่าเราด้วย

ผมเคยนั่งคุยกับแฟน แฟนผมก็บอกนะว่า ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องผลิตจำนวนจำกัดแล้ว ทำไปเรื่อยๆ ขายไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่เอา เราคิดว่ายังต้องทำสิ่งใหม่ๆ ให้กับวัยรุ่นใส่อยู่ดี

 

มองในแง่ธุรกิจ การเลิกผลิตสินค้าที่ขายดีมันถูกต้องเหรอ

จริงๆ แล้วมันไม่ถูกต้องเลย หลายอย่างพอติดตลาดปุ๊บผมก็เลิกผลิตแล้ว แล้วคนอื่นก็โกยไป

 

แล้วทำไมยังเลือกทางนี้

เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะผมทำแบบนั้นไม่ได้ สุดท้ายแล้วผมรู้ว่าสันดานผมเป็นอย่างนี้ ผมทำไม่ได้ถ้าทุกวันนี้ผมยังออกรองเท้าสีเดิมไปเรื่อยๆ วัสดุเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ผมคงเกลียดตัวเองถ้าเป็นอย่างนั้น ผมจะเกลียดไอ้บู้คนนั้นจังเลย

ทั้งที่เราก็รู้นะว่าทำอีกอย่างหนึ่งมันอาจจะได้เม็ดเงินมากกว่า แต่ผมรู้สึกว่าทำอย่างนี้แล้วชีวิตมันยังมีเช็กพอยต์ให้รู้ว่าเราทำอันนี้ได้ว่ะ เดี๋ยวเราลองไปทำตรงนี้ดีกว่า ซึ่งทำไม่ได้ไม่เป็นไรนะ แต่เราก็ได้ลองอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แล้วเวลาเราทำได้มันเหมือนมีไฟที่อัดเรามาจากข้างล่าง ให้เรารู้สึกว่าเราทำได้ว่ะ งั้นไปต่อ

ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น ผมอยู่ได้แล้ว บาลานซ์ได้ แต่ว่าไอ้ไฟที่มันยังทำให้เราทำงานได้อยู่มันสำคัญกว่า มีช่วงหนึ่งผมกลัวมากเลยว่าผมจะไม่มีไฟทำงานต่อ มีช่วงหนึ่งที่ผมเดดแอร์ไป ผมรู้สึกว่าตอนที่คนเราไม่มีไฟมันแย่ แย่ที่สุด แย่กว่าการไม่มีเงินอีก

 

ทำไมจึงคิดว่าไฟสำคัญกว่าเงิน

เพราะสำหรับผมการไม่มีไฟมันคือการไม่มีอนาคต มันเหมือนเรากำลังหลงทาง เราไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหน ตรงนี้ผมว่ามันแย่ยิ่งกว่าการที่เราเงินหมดแล้วทำแบรนด์ต่ออีกนะ เงินหมดเรายังกู้ ยังขายของมาทำแบรนด์ต่อได้ แต่นั่นเรายังรู้ว่าเราจะทำอะไรใช่ไหม แต่ว่าการไม่มีไฟมันคือเราไม่รู้เลยว่าทิศทางเราจะเป็นยังไง เรากลัวเรื่องพวกนั้นมาก แล้วเราก็กลัวว่าถ้าวันหนึ่งเรายังผลิตสิ่งเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ มันจะทำให้คนเขารู้สึกว่า เฮ้ย แบรนด์นี้มันไม่ใจแล้ว ถึงวันที่เขาแก่แล้วว่ะ มันน่ากลัวมากเลย ผมว่าไอ้วันที่ขายไม่ดีไม่น่ากลัวเท่าวันที่เรารู้สึกว่าเราไม่เจอตัวเองหรือเรากำลังหลงทางอะไรบางอย่าง หรือเรากำลังไปในทิศทางที่เงินมันจูงเราไป

ทุกวันนี้เคยนึกย้อนกลับไปถึงวันที่สร้างแบรนด์แรกๆ ไหม

นึก ผมเคยเจอคำถามหนึ่งดีมากเลย เขาถามว่า “ถ้าบู้ในวันนี้กลับไปทำ Rompboy ใหม่อีกครั้งจะทำเหมือนเดิมไหม”

ผมได้ยินแล้วคิดว่า จริง กูทำเหมือนเดิมไม่ได้แล้วว่ะ เราเดินมาเยอะ เรามีประสบการณ์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าเราไม่กล้าทำอะไรมากขึ้นด้วย วันนี้เราคงไม่คิดว่าจะเอาเงินทั้งหมดที่ได้จากการขายเสื้อผ้าขายทุกอย่างเพื่อจะเอาไปลงทุนกับการผลิตรองเท้าล็อตแรก เราไม่กล้าทำหรอก หรือวันนี้ก็คิดว่าตอนนั้นกูบ้าหรือเปล่าวะ ที่กูกล้าจ้างเต๋อ นวพล มาทำโฆษณารองเท้าให้ คิดกลับไปแล้วผมรู้สึกว่ากูบ้ามาก

 

ทำไมถึงคิดว่าตอนนั้นบ้า

ตอนนั้นผมไม่กลัวอะไรเลย ผมทำไปด้วยแพสชั่นของผมที่ผมไม่มีประสบการณ์ แล้วผมก็กล้าทำสิ่งที่ประสบการณ์มันไม่ได้บอกผม ซึ่งถ้าวันนี้ผมกลับไปทำ ผมทำแบบนั้นไม่ได้เว้ย วันนี้ถ้าผมไม่มี Rompboy แต่ผมมีโนว์ฮาวทุกอย่างแล้วผมทำธุรกิจใหม่ มันก็จะไม่เหมือนเดิมแล้ว

 

มันน่าจะดีกว่าเดิมไหม

มันอาจจะดีกว่าบางเรื่อง แต่มันจะแย่กว่าในเรื่องที่ผมไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง

 

เสียดายไหม สูญเสียความกล้าในการทำอะไรบางอย่างไป

ไม่เสียดายเลย เรารู้สึกว่าเราเสียอะไรบางอย่างไป แต่เราได้อะไรบางอย่างมา ทุกวันนี้เราก็มีอะไรที่มันมาเป็นเกราะให้กับเรา เรารู้สึกว่าบางอย่างเราตัดมันเร็วมากเลยนะ ไอ้ที่เคยเจ๊งในวันนั้นมันอาจจะรุนแรงมาก แต่วันนี้บางอย่างที่เจ๊งมันชิลล์มากเลย เพราะว่าเราผ่านมันมาเยอะแล้ว

สำหรับเราเรื่องเจ๊ง เรื่องปัญหายิบย่อย อุปสรรคระหว่างทาง ลูกค้าวีนเหวี่ยง อะไรพวกนี้จิ๊บจ๊อยมากเลยสำหรับเรา ตัวเราในวันนี้มันเหมาะสมแล้ว เรารู้สึกขอบคุณช่วงเปรี้ยวๆ ที่ผ่านมาจนทำให้เรากลายเป็นเราในวันนี้ เหมือนลูกค้าเราแหละที่เขาก็โตพร้อมๆ กับเรา แล้วก็ยังอุดหนุนเรามาเรื่อยๆ

เท่าที่คุยกันมาหลายครั้ง คุณเป็นคนที่นึกถึงลูกค้าเยอะเหมือนกัน

ผมว่าเขาก็คือเพื่อนเราน่ะ เราขอบคุณเขา ตอนนี้เรากำลังจะมีหน้าร้านแล้ว ซึ่งที่ทุกวันนี้เรามีตังค์มาทำหน้าร้านได้ เรามีไฟไปทำอะไรหลายๆ อย่างในการบินไปดูของโน่นนี่นั่น บินไปดูเทรนด์ต่างๆ ก็เพราะมีพวกเขา เรารู้สึกขอบคุณที่คอยซัพพอร์ตเราตลอดเวลา ซึ่งสำหรับลูกค้าประจำเดี๋ยวพอมีหน้าร้านเราจะมีระบบเมมเบอร์เข้ามารับรองว่าเดี๋ยวได้เป็นเพื่อนกันมากกว่าเดิมแน่นอน แล้วก็เข้ามา Say Hi ทักทายกันที่หน้าร้าน

 

ที่ผ่านมาคุณเลือกขายเฉพาะออนไลน์ ทำไมวันหนึ่งจึงตัดสินใจจะทำหน้าร้าน

อย่างที่เคยบอก ที่ผ่านมาเราคิดว่าการขายมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกใบนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราเองไม่ได้ขายเป็นคอลเลกชั่นแล้ว เราคิดว่าจำนวนที่เยอะเกินไปมันไม่เร้าใจสำหรับยุคนี้ ยุคนี้ทุกอย่างมันเร็วมาก เทรนด์มันเปลี่ยนเร็ว บางทีไอ้หมวกที่ฮิตในวันนี้อีก 3 เดือนมันมีหมวกทรงใหม่ออกมาคนก็หนีไปซื้ออันใหม่ เพราะฉะนั้นเราเลยเชื่อมาตลอดเลยว่าหน้าร้านไม่ใช่คำตอบ ยุคนี้มันต้องซื้อของออนไลน์กัน ในระหว่างที่ร้านปิด สมมติร้านปิด 2 ทุ่ม ถามหน่อยว่า 2-4 ทุ่มคนไม่อยากซื้อเสื้อผ้าเหรอ คนไม่อยากไถเฟซบุ๊กแล้วดูเสื้อผ้าซื้อตอน 4 ทุ่ม 5 ทุ่มเหรอ ทุกวันนี้ลูกค้าผมยังทักมาตอนตี 1 อยู่เลย ซึ่งผมว่าออนไลน์มันคือ 24 ชั่วโมงจริงๆ แล้วมันกวาดหมดทั้งประเทศ คนไม่ต้องเดินมาซื้อของเองแล้ว แค่วัดไซส์ให้มันเป๊ะ สีให้มันตรง ทุกอย่างคือจบ นี่คือโลกออนไลน์ นี่คือโลกช้อปปิ้งยุคใหม่ ผมเชื่อตรงนี้มาก

 

แล้วจุดเปลี่ยนคือตรงไหน

มันมาจากตอนที่เราเอาของไปวางขาย gloc ซึ่งตอนแรกเราไม่ได้หวังยอดขายอะไรหรอก เราแค่รู้สึกว่าเราอยากช่วยพวกแก๊งเด็กที่ทำร้านนี้ แต่พอไปวางปุ๊บเราขายได้ มันไม่แย่ แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่เชื่อเท่าออนไลน์ แล้ววันหนึ่งก็มีร้าน Frank Garcon ตอนนั้นลูกศร (ศรุติ ตันติวิทยากุล) กับโอกิ (ทัดสุระ อิวาชิตะ) ที่เป็นหุ้นส่วน เขาเป็นเพื่อนเรา เขาบอกว่าพี่บู้ไปอยู่ร้านใหม่กัน ร้านนี้จะเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย เรารู้สึกว่าถูกกลุ่มแน่ๆ ปรากฏว่ายอดขายต่อเดือนมันเยอะ เราก็คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่พอจะเปิดเองได้ แล้วในต้นทุนที่เท่ากันถ้าเราไปทำร้านเองเราทำอะไรได้มากกว่า

แล้ววันหนึ่งผมไปคุยกับพี่จี๊ด (สมบูรณ์ เมืองสิริขวัญ) เขาบอกว่า บู้ ทำแบรนด์มันต้องมี customer experience เป็นประสบการณ์ของลูกค้า คือทุกวันนี้ลูกค้า Rompboy ซื้อจากภาพที่ขึ้นในฟีด แต่ลูกค้าเขาก็อยากจะมาสัมผัสบรรยากาศ กลิ่นของเรามันเป็นยังไง เพลงในร้านเรามันเป็นแบบไหน ป้ายราคาเราเป็นยังไง ถุงเราเป็นยังไง ลูกค้าอยากได้อะไรพวกนี้ด้วย เพราะฉะนั้นในเมื่อเราอยู่มาสักพักแล้ว เรามีกลุ่มลูกค้าเราแล้ว ผมขอลองที่จะทำร้านของตัวเองเถอะ คิดว่าน่าจะเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ลิโด้ ซึ่งผมกำลังวางกลยุทธ์ใหม่แล้วว่าในเมื่อเรามีหน้าร้าน ผมก็จะมีไอเทมพิเศษที่ไม่มีขายในออนไลน์

ทำแบรนด์มา 5 ปีจนจะมีหน้าร้าน คุณมองการทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากวันแรกไหม 

ผมมองเหมือนเดิม ผมอาจจะทำธุรกิจไม่เป็นมั้ง แต่ผมยังรู้สึกเหมือนเดิมว่ามันต้องมีความครีเอทีฟ เราต้องเติมศิลปะเข้าไปเรื่อยๆ ศิลปะมันคือคาแร็กเตอร์เรา เรารู้สึกว่าถ้าเราถอดตรงนี้ออกปุ๊บ มันไม่ใช่แค่เราทำเสื้อผ้าไม่ได้นะ แต่เราจะทำธุรกิจอะไรก็ไม่ได้เลย แล้วถ้าเราไม่เติมศิลปะเข้าไปวันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นแบรนด์ขายเสื้อผ้าทั่วๆ ไป ขายจบเก็บตังค์แล้วก็เริ่มทำใหม่ไปเรื่อยๆ

แล้วกลับมาที่เรื่องเดิมที่ผมเริ่มต้นเรื่องเลยว่า ทุกวันนี้คำว่าใจสำคัญกับการทำธุรกิจมาก ผมรู้สึกว่าผมยังต้องใส่ใจกับมัน ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่เราทำ เรากำลังโปรยเวทมนตร์ลงไปในไอเทมของเราทุกๆ ชิ้น แล้วผมเชื่อว่าลูกค้ายังเห็นอะไรตรงนี้อยู่

 

ในฐานะคนทำธุรกิจ ความสุขความทุกข์ของคุณทุกวันนี้คืออะไร

ผมมองว่า Rompboy มันคือลูกชายของผม เหมือนวันหนึ่งผมไปทำผู้หญิงท้องไว้ ไม่ได้ตั้งตัว มันเกิดขึ้นจากการที่ผมเลือกของมือสองมาขาย แล้ววันหนึ่งมันก็โตขึ้นมา ทุกวันนี้เราคิดถึงมันตลอดเวลา วันนี้เราให้มันกินข้าวหรือยัง เราจะทำโปรดักต์ใหม่อะไร เราคุยงานหรือยัง เราคิดเรื่องถ่ายแบบสำหรับมันหรือยัง เราสร้างมันขึ้นมาเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งพอมันเติบโตมันก็กลับมาตอบแทนเรา อย่างเรื่องเม็ดเงินมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นลูกคนนี้มันพาเราไปเจอคนใหม่ๆ ได้ทำงานกับหลายๆ คน ช่วงนี้ผมรู้จักเน็ตไอดอลเต็มเลย เพราะว่าลูกชายคนนี้พาผมไปรู้จัก น้องบางคนก็มาซื้อจนเป็นลูกค้าประจำจนสนิทกัน กลายเป็นว่ายิ่งแก่ผมยิ่งมีเพื่อนเด็ก บางทีเด็กกว่าเป็น 10 ปี กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราอยู่ได้เพราะมัน มันคอยให้อะไรกับเรา ให้คอนเนกชั่นเรา ให้โอกาสเรา นั่นคือความสุข

ส่วนความทุกข์ มันก็เหมือนเด็กคนหนึ่งแหละ ที่อาจจะไม่ได้เรียนหนังสือเก่ง อาจจะไม่ได้เป็นอย่างใจเราทุกๆ ครั้ง บางทีมันก็งอแงกับเรา แต่มันเป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่ามันคือที่ยึดเหนี่ยวของผม ถ้าวันหนึ่งผมไม่มีมันก็รู้สึกเหมือนลูกถูกรถชนน่ะ พอมันโตเราก็ไม่อยากจะมีคนใหม่ อยากจะประคองลูกคนนี้ไปเรื่อยๆ ให้มันเติบโต ให้มันออกดอกออกผลของมันไปเรื่อยๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน