CIRCULAR แบรนด์ที่หยิบขยะอุตสาหกรรมแฟชั่นมาปั่นเป็นด้าย ทอ แล้วเย็บเป็นเสื้อผ้าสุดมินิมอล

ท้ายสยามสแควร์ซอย 2 มีตึก 1 คูหา 4 ชั้น นาม CIRCULAR ตั้งอยู่ ความพิเศษของอาคารแห่งนี้คือ การก่อสร้างและตกแต่งภายในนั้นใช้หลักการ circular economy อีกทั้งร้านรวง 4 ร้านในแต่ละชั้นภายใต้ SC GRAND บริษัทอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นที่รักษ์โลกมาตั้งแต่รุ่นยายก็ใช้หลักการเดียวกัน

หนึ่งในนั้นคือ CIRCULAR แบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่ไฟแรงที่มาในคอนเซปต์มินิมอลคลาสสิกที่ต้องการสื่อสารว่า ผ้ารีไซเคิลนั้นใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ความเก๋คือเสื้อผ้าเหล่านี้ผลิตจากเสื้อผ้าเก่าและเศษผ้าเหลือทิ้งที่นำไปคัดแยกสี ปั่นเป็นด้าย ทอเป็นผืน แล้วจึงนำมาเย็บเป็นเสื้อยืด กางเกง เดรส ถุงเท้า และรองเท้า โดยไม่ใช้ฝ้ายปลูกใหม่และปราศจากการฟอกย้อมด้วยสารเคมี

ความน่ารักของเสื้อผ้าเหล่านี้คือ เราจะได้ครอบครองเสื้อผ้าที่มีเพียงตัวเดียวบนโลก ที่แม้สีสันอาจใกล้เคียงกันแต่ลวดลายและเนื้อผ้าไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ ซึ่ง วัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ หลานชายของอากงและคุณยายผู้ก่อตั้งกล่าวว่า นี่แหละคือเสน่ห์ของผ้ารีไซเคิลที่เขาอยากให้ทุกคนเข้าใจ

แต่การทำ CIRCULAR และการปรับโฉม SC GRAND โดยทายาทอย่างเขาจะสนุกและเต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะเซฟสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ยังไง จิรโรจน์รอเราในอาคารแห่งพลังงานหมุนเวียนของเขาแล้ว

รักษ์โลกตั้งแต่รุ่นยาย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2508 หรือเมื่อ 56 ปีที่แล้ว จิรโรจน์เล่าว่า อากงของเขาเคยมีประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอมาก่อน โดยได้เปิดกิจการซื้อมา-ขายไปเศษผ้า เศษด้าย และสารพัดขยะจากโรงงานผ้าอื่นๆ ก่อนจะปิดตัวลงและได้เริ่มก่อตั้งบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ในปี 2530 เพื่อรับผลิตเส้นใยเป็นหลัก เพราะคุณยายของเขาเห็นคุณค่าและโอกาสในขยะสิ่งทอว่าน่าจะต่อยอดได้

“คุณยายเล่าว่า ในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ค่อยมองว่าโรงงานเราเป็นโรงงานที่ดีเท่าไหร่ ถ้าจัดเราเป็นโรงงานผ้าก็จะถูกจัดเป็นผ้าเกรดบีลงไป และมีคนเคยบอกไว้ว่า โรงงานคุณยายนั้นเปลี่ยนอุจจาระให้เป็นทองได้ นั่นคือท่านเปลี่ยนสิ่งที่ไม่มีค่าให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าได้”

ขอบคุณภาพจาก SC GRAND

จิรโรจน์ยกตัวอย่างว่า ขยะจากผ้าเหล่านี้ ลูกค้าจะนำไปทำเป็นม็อบถูพื้นบ้าง และในบางประเทศก็นำเข้าของเหล่านี้เพื่อใช้ทำเป็นธนบัตรบ้าง บางคราก็นำไปเพาะเป็นเห็ด และทำเป็นสำลีต่อได้ แต่เมื่อแสงเจริญแกรนด์เปลี่ยนมือมาสู่ทายาทรุ่นที่สองอย่างคุณน้าและคุณแม่ โรงงานก็เริ่มขยายบริการจากแค่ซื้อ-ขาย ไปเป็นการปั่นด้าย และเมื่อส่งต่อมาสู่มือของเขาและน้องชาย เขาก็ต่อยอดกิจการให้ไปไกลกว่านั้น

เขามองว่า คู่ค้าของโรงงานครอบครัวนั้นมีเพียงไม่กี่เจ้า แต่ละเจ้ายังถือเปอร์เซ็นต์สูงซึ่งอาจไม่มั่นคงเท่าไหร่ แถมเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วยังเริ่มมีเว็บ Alibaba เกิดขึ้น คู่แข่งทางการตลาดก็น่าจะมากขึ้นด้วย เขาและน้องชายจึงเล็งเห็นว่า โรงงานของครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

ขอบคุณภาพจาก SC GRAND

“ช่วงนั้นผมเข้ามาเปิดแบรนด์สินค้าทำความสะอาดจากเส้นด้ายที่เราทำเอง ทั้งยังส่งขายม็อบถูพื้นสำเร็จรูปให้บริษัทในไทยและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากแบรนด์ทำความสะอาดตรงนี้ก็มีมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่จุดที่ผมเข้ามาดูแลเต็มตัวคือเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว

“ผมกับน้องชายคิดกันว่า โรงงานด้านธุรกิจสิ่งทอในไทยหลายแห่งล้มหายตายจากไปมาก เราจะต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ยังไง แต่ยิ่งกลับมามองสิ่งที่ SC GRAND ทำเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าคุณค่าในการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเรานั้นชัดเจนมาก ซึ่งตรงนี้แหละที่น่าจะทำให้เราไปต่อได้” จิรโรจน์ย้อนให้ฟังถึงความตั้งใจในการบริหาร

เสื้อผ้าจากขยะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไม่ฟอกย้อม

SC GRAND ในรุ่นคุณแม่และคุณน้าเน้นนำเศษผ้ามาปั่นเป็นด้ายใหม่ ซึ่งมีเพียง 2 สี คือขาวและครีม แต่ SC GRAND ในยุคของเขาและน้องชายขยายขอบเขตไปมากกว่านั้น จิรโรจน์เข้ามาจัดระบบโรงงานใหม่ให้ตรวจสอบได้ จัดตั้งแล็บเพื่อควบคุมคุณภาพเนื้อผ้าและสี และขยายขอบเขตงานให้กว้างไกลกว่าเดิม คือนอกจากจะปั่นด้ายได้มากสีโดยไม่ใช้สารฟอกย้อม แต่อาศัยการคัดแยกขยะเศษผ้า เขายังนำด้ายเหล่านั้นมาทอเป็นผืนและเย็บเป็นเครื่องแต่งกายได้หลากหลาย 

ขอบคุณภาพจาก SC GRAND

เมื่อเทียบกับกระบวนการทอผ้าทั่วไป ผ้าจาก SC GRAND นั้นช่วยลดปริมาณน้ำในการปลูกฝ้ายและกระบวนการฟอกย้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารเคมีสู่ธรรมชาติได้ในปริมาณมาก เรียกว่าผ้าผืนหนึ่งที่ได้มาแต่ละครั้งช่วยให้โลกอยู่ต่อได้ยาวนานขึ้น 

ข้อดีของผ้ารีไซเคิลรักษ์โลกเหล่านี้ก็อาจมีข้อสงสัยที่ทำให้คนไม่เข้าใจ ด้วยเพราะไม่ได้ฟอกย้อมสีของผ้าที่ได้ในแต่ละล็อต จึงไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งเนื้อผ้าก็อาจกระด้างหรือนุ่มไม่เท่ากัน เนื่องจากนำเศษผ้าและด้ายที่มีอยู่แล้วมาทอใหม่ หากคนไม่เข้าใจกระบวนการตรงนี้ก็อาจมองว่า ผ้ารีไซเคิลนั้นไม่สะอาดและไม่ได้คุณภาพ ทั้งที่ผ่านมาตรฐานแล้วทั้งสิ้น

“สมมติลูกค้าคือคนขายอาหาร ส่วนเราคือผู้ผลิตเนื้อหมู เนื้อไก่ แต่ลูกค้าไม่เคยรู้จักวัตถุดิบของเราเลย ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรได้บ้าง ผมจึงคิดว่าเราต้องเปิดร้านอาหารของตัวเองเพื่อให้คนรู้ว่า วัตถุดิบของ SC GRAND นั้นนำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่างนะ”

ร้านอาหารที่เขาเปรียบเปรยจึงคือ CIRCULAR แบรนด์เสื้อผ้ามินิมอลภายใต้แบรนด์ SC GRAND เพื่อสื่อสารไปยังลูกค้ารายย่อย และลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เข้าใจความงามและข้อดีของผ้ารีไซเคิล

CIRCULAR แบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสาร

CIRCULAR นั้นเกิดขึ้นเพื่อการสื่อสารว่า สารพันเครื่องแต่งกายจากผ้ารีไซเคิลนั้นสวมใส่ได้นานและใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน สไตล์เสื้อผ้าของแบรนด์รักษ์โลกแบรนด์นี้จึงเป็นความมินิมอลและคลาสสิก เพื่อให้ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป เรายังคงหยิบเสื้อผ้าเหล่านี้มาสวมใส่ได้โดยไม่ตกเทรนด์

เสื้อผ้าแต่ละตัวทอขึ้นจากเส้นใยที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพียงแต่ทอขึ้นด้วยสูตรและลักษณะการทอที่ไม่เหมือนกัน ผ้ารีไซเคิลจากขยะอุตสาหกรรมของ CIRCULAR จึงเป็นได้ตั้งแต่เสื้อยืด เสื้อโปโล เสื้อเชิ้ต เดรส สูท สเวตเตอร์ กางเกงยีน รองเท้า กระทั่งถุงเท้า ซึ่งมีสัมผัสที่คล้ายเนื้อผ้าแต่ละแบบที่เราคุ้นเคยกันจริงๆ ชนิดที่หากไม่บอกว่านี่คือผ้ารีไซเคิล เราก็แทบแยกไม่ออก 

“อย่างรองเท้าผ้าใบสามสีนี้ก็ทำมาจากด้ายสีเดียวกับเสื้อยืด เพียงแต่ทอด้วยสูตรที่ต่างกัน ส่วนพื้นยางนั้นคือพื้นยางรีไซเคิลที่ได้จากยางเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต MANGO MOJITO แบรนด์รองเท้าที่ผมทำขึ้นตั้งแต่เรียนจบ” จิรโรจน์เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ พร้อมโชว์ให้เราเห็นชัดๆ ว่า เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่คือเสื้อผ้าจากผ้ารีไซเคิลทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าจะเสกผ้าทอรีไซเคิลเป็นเครื่องแต่งกายรูปแบบไหน ผ้าเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นจากเส้นด้ายที่มีสีธรรมชาติซึ่งไม่ผ่านการฟอกย้อม ชื่อสีของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นจึงได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเช่นกัน

“ลองเงยหน้าดูท้องฟ้าสิ เราจะเห็นว่ามันมีหลายสีรวมกัน ผ้าของเราก็เป็นแบบนั้น” เขาชี้ชวนให้เราดูความหลากหลายของธรรมชาติก่อนยกตัวอย่างให้ฟังว่าสี Cloud นั้นได้แรงบันดาลใจจากสีของก้อนเมฆบนท้องฟ้า สี Jelly in Landfill นั้นคือสีที่สื่อถึงการที่มนุษย์ไม่รู้จักแยกและหมักขยะมูลฝอยให้เกิดประโยชน์ จนต้องนำไปกองสุมกันเป็นลานกว้าง ซึ่งส่งผลต่อมลพิษทางอากาศ ดิน และน้ำอย่างมาก และสี Deep Sea นั้นคือสีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากน้ำทะเลลึกเพื่อสะท้อนว่า ในความลึกแต่ละระดับนั้นอุดมด้วยทรัพยากรทางทะเลหลากหลาย แต่ในระดับความลึกที่ 1,500 เมตร กลับเต็มไปด้วยอวนจับปลาที่หลงเหลือจากการประมงที่ไม่ใส่ใจระบบนิเวศ

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่เขาและทีมงานคิดอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวไม่ใช่ธุรกิจ greenwashing ที่แสวงหาผลประโยชน์จากประเด็นสิ่งแวดล้อม เขาจึงกำลังพัฒนาและวิจัยร่วมกับบริษัทระดับโลกเพื่อให้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่า เสื้อผ้าของเขาช่วยลดปริมาณน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารเคมีที่จะปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้กี่เปอร์เซ็นต์ 

CIRCULAR Economy ช็อปและโรงงานที่ใส่ใจพลังงานหมุนเวียน

ตลอดการสนทนากับจิรโรจน์ ประเด็นที่เขาให้ความสนใจมากที่สุดคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเรื่อง circular economy แต่ประเด็นที่ว่าไม่ได้ไหลเวียนในการผลิตเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ ขนาดว่าการออกแบบอาคารที่ตั้งแบรนด์ CIRCULAR และแบรนด์อื่นๆ ภายใต้ SC GRAND ก็ยังยึดหลักเดียวกัน

เริ่มจากที่การออกแบบปรับปรุงอาคารแห่งนี้นั้นเน้นใช้วัสดุเก่าที่มีอยู่มาสร้างใหม่ เช่น พื้นไม้แต่ละชั้นคือไม้เก่าที่รื้อออกจากอาคารเดิม ผ้าม่านและผนังบุนวมก็หยิบผ้ารีไซเคิลจาก SC GRAND มาใช้ ทั้งระแนงด้านหน้ายังเลือกใช้วัตถุดิบราคาไม่สูงจนเกินไป 

อาคารชั้นหนึ่งคือร้าน MANGO MOJITO แบรนด์รองเท้าที่เขาพัฒนาขึ้นจากโปรเจกต์สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งนำหลักการ circular มาใช้ โดยเริ่มมีรองเท้าจากหนังเทียมที่ทำจากพืช กระเป๋าที่ใช้ผ้าแคนวาสรีไซเคิลจาก SC GRAND เป็นพื้น และตกแต่งให้สวยด้วยหนังที่เหลือจากกระบวนการทำรองเท้า 

ชั้นสองคือที่ตั้งของ CIRCULAR แบรนด์หลักที่เขาอยากให้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงคนรุ่นใหม่ ภายในมีเสื้อผ้าเรียงรายให้เลือกสรร ด้านหลังประดับด้วยด้ายสีเดียวกันเพื่อให้เห็นว่า กว่าจะได้เสื้อผ้าชิ้นหนึ่งนั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง 

ชั้นสามคือห้องผ้า SC GRAND ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ หรือคนทั่วไปที่สนใจมาเลือกแบบ ลายผ้า และสั่งตัดเย็บกับ SC GRAND ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีขั้นต่ำในการผลิต เพราะเขาอยากให้ผ้ารีไซเคิลเข้าถึงทุกคน และยังได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ให้วางโฆษณาสินค้าได้ฟรีสำหรับแบรนด์ที่ใช้ผ้าจาก SC GRAND

ชั้นสุดท้ายคือ VT THAI อันเป็นแบรนด์ที่นำด้ายรีไซเคิลจาก SC GRAND ไปให้ชุมชนทอและต่อยอดเป็นงานคราฟต์ทำมือเพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์รักษ์–สุวรรณ คงขุนเทียน แห่งแบรนด์โยธกา เป็นผู้ออกแบบลายผ้าให้

นอกจากอาคารแห่งนี้จะยึดหลักเดียวกัน โรงงานผลิตผ้าและสินค้าของ CIRCULAR และ SC GRAND ยังใส่ใจเรื่องนี้เช่นกัน เพราะโรงงานของเขานั้นเป็นโรงงานที่นำพลังงานแสงอาทิตย์ (solar rooftop) เข้ามาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน และการผลิตเสื้อจากผ้ารีไซเคิลก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดเขายังขยายระบบ ISO ของโรงงาน จากแต่เดิมที่เป็น ISO 9001 ให้เป็น ISO 14001 ซึ่งครอบคลุมการเป็นโรงงานที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย 

ทั้งในโรงงานยังมีฝ่ายจัดการการแยกขยะโดยเฉพาะ ขยะเศษผ้าที่เหลือจากโรงงานก็ยังส่งต่อไป downcycle เพื่อเพาะเห็ดและเป็นแผ่นหุ้มเบาะรถยนต์ได้ แต่ในอนาคตอันใกล้ เขาตั้งใจพัฒนาและวิจัยให้นำวัสดุเหล่านี้มา upcycle เป็นสินค้าที่มีคุณค่าและมีราคาต่อไป

CIRCULAR community มากกว่าการขายคือการสร้างแรงบันดาลใจ

เพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ได้สร้างได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกคนบนโลกใบนี้ การสร้างพาร์ตเนอร์ให้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องดีมากกว่าการขาย จิรโรจน์จึงตั้งใจสร้างแรงบันดาลใจให้คนตัวเล็กๆ และธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ

เริ่มจากตั้ง CIRCULAR T-Shirt Club ขึ้นโดยรณรงค์ให้ทุกคนนำเสื้อยืดตัวเก่าที่ผ่านการซักแล้วหนึ่งชิ้นมาแลกรับส่วนลด 100 บาทในการซื้อสินค้าจาก CIRCULAR เพื่อนำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใส่แล้วไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ไม่แน่ว่าครั้งต่อไปที่เข้ามาเลือกซื้อเสื้อผ้าจาก CIRCULAR เสื้อผ้าของเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าชิ้นใหม่โดยไม่รู้ตัว

นอกจากนั้น เขายังตั้งใจเปิด CIRCULAR OEM ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ ได้ร่วมงานกับ CIRCULAR โดยองค์กรต่างๆ จะใช้ผ้ารีไซเคิลที่ SC GRAND ผลิตอยู่มาผลิตเป็นยูนิฟอร์มหรือสารพันสิ่งของต่างๆ ก็ได้ หรือนำยูนิฟอร์มเก่าที่มีอยู่แล้วมารีไซเคิลเป็นยูนิฟอร์มใหม่ก็แสนจะเก๋ อย่างที่แบรนด์ชานมไข่มุก KOI Thé นำเสื้อโปโลเก่าเก็บของแบรนด์มาให้ผลิตเสื้อโปโลตัวใหม่

“เราทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยแพสชั่นและความผูกพันต่อธุรกิจครอบครัวมากกว่าการขาย และต้องการสื่อสารว่า นึกถึงผ้ารีไซเคิลให้นึกถึงเรา เราจึงอยากให้ CIRCULAR สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปและอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

“เราอยากให้คนทั่วไปและอุตสาหกรรมอื่นๆ มีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ ส่วนอุตสาหกรรมเดียวกันก็นำโมเดลของเราไปพัฒนาต่อได้ เพราะจริงๆ หลักการ circular economy นั้นมีอยู่แล้ว คุณจะแลกเสื้อผ้า ซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือซ่อมเสื้อผ้าก็ได้ สุดท้ายแล้ว CIRCULAR จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของหลัก circular economy เท่านั้น” เขาทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย