ZAYAN แบรนด์แฟชั่นโฮมเมดจากผ้าเหลือทิ้งที่คิดคอลเลกชั่นจากผืนดินและผืนน้ำ

ในภาษาอารบิก ZAYAN แปลว่า ‘beauty’ หรือ ‘ความสวยงาม’ ขณะเดียวกันคำๆ นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนามสกุลผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นจากผ้าเหลือทิ้งและผ้ารีไซเคิลนาม เต๋า–ธนกร บินซายัน ที่เมื่อ 4 ปีที่แล้วได้ใช้ความรู้ด้านการตัดเย็บแบบ patchwork ที่ได้จากคุณแม่และเศษผ้าเหลือใช้ในบ้านมาตัดเป็นหมวกทรงงาม ที่ภายหลังพัฒนาเป็นคอลเลกชั่นหลักอย่าง Six Panel Boro Hat 

ณ ตอนนั้นใครๆ ต่างก็ลงความเห็นว่าหมวกของเขาไม่เพียงใช้ได้จริง แต่ยังเก๋และเข้ากับทุกลุค จากที่ตัดใช้เอง คนรอบตัวก็เริ่มนำเศษผ้าที่มีมาให้เขาตัดหมวดให้บ้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ZAYAN ที่ผลิตเสื้อผ้าที่ทั้งสวยสะดุดตา ใช้ได้จริง และเป็นมิตรกับโลก

“ผมเกิดที่จังหวัดจันทบุรี รอบตัวเป็นธรรมชาติ ของเล่นเกือบทุกชิ้นของผมทำจากธรรมชาติ แล้วผมก็โตในบ้านไม้ที่มีเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จากไม้และสิ่งของเหลือใช้ ผมจึงซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและการรีไซเคิลมาตลอด” เต๋าพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำแบรนด์ที่อิงจากธรรมชาติให้ฟัง

“เราอยากผสานความรักในการทำเสื้อผ้าและความรักในธรรมชาติให้ออกมาเป็นแบรนด์แฟชั่นเล็กๆ ที่ช่วยลดขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ ซึ่งมันท้าทายมากนะว่าเราจะนำเสนอวัสดุรีไซเคิลและวัสดุเหลือทิ้งให้สวยงามและทนทานได้ยังไง ชนิดที่ถ้าลูกค้าไม่สนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องสนเรื่องงานดีไซน์ของเรา” โอ๋–อภิสิทธิ์ อัศวะภูมิ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างสรรค์ในปัจจุบันเสริม

เราชวนทั้งสองคนมาจับเข่าคุยข้ามจังหวัด ว่าหมวกใบเล็กที่รังสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้ภายในบ้าน พัฒนาเป็นเสื้อ กระเป๋า และหมวกอีกหลายคอลเลกชั่นจากสารพัดผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แฟชั่นและธรรมชาติไปด้วยกันได้ยังไง แล้วอะไรคือหลักสำคัญ 3 ข้อที่พวกเขาตั้งใจ

Sustainable Aesthetic

เพราะทั้งคู่อยากให้สินค้าทุกคอลเลกชั่นของ ZAYAN ไม่เพียงสวยงามในเชิงแฟชั่น แต่ยังช่วยรักษาความงดงามของธรรมชาติในเวลาเดียวกัน ‘Sustainable Aesthetic’ (สุนทรียภาพอันยั่งยืน) จึงคือหลักสำคัญข้อแรกที่ทั้งคู่ตั้งขึ้น

“เราสองคนคือคนสร้างสรรค์ที่เชื่อว่าดีไซน์ที่ดีคือดีไซน์ที่คิดมาเพื่อแก้ปัญหาได้ แต่เราไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาให้คนเพียงอย่างเดียว เราอยากบูรณาการให้สิ่งแวดล้อมและมนุษย์เดินไปข้างหน้าโดยไม่แยกขาดจากกันด้วย” โอ๋อธิบายให้ฟังว่า ‘Sustainable Aesthetic’ ที่ว่านั้นหมายถึงอะไร 

ก่อนที่เต๋าจะอธิบายต่อว่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ความงามที่ว่ามาจาก ‘land’ (ผืนดิน) และ ‘ocean’ (ผืนน้ำ) 

“อย่างช่วงหน้าร้อนปีนี้ เราไปแคมป์ปิ้งมาและได้เห็นสีสันของภูเขาที่สวยงาม จึงดึงเฉดสีที่เห็นออกมา 3 เฉด คือเขียว น้ำตาล และเทา มาผสมลงบนผ้าลินินแบบ dead stock หรือผ้าคุณภาพดีแต่เหลือทิ้งจากโรงงาน ทำให้สวยและคุ้มค่าในเสื้อลายพราง 9 ตัวจากคอลเลกชั่น Summer Mountain” 

Summer Mountain
Summer Mountain

Timeless Clothing

ความงามอย่างยั่งยืนที่ทั้งสองคนว่าไม่ได้มาจากการนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาป้ายลงบนผืนผ้าอย่างเดียวแน่นอน แต่คือการทำสินค้าจากวัสดุเหลือใช้และวัสดุรีไซเคิลต่างๆ จนทำให้เกิดหลักการทำแบรนด์อย่างที่ 2 คือ Timeless Clothing หรือเสื้อผ้าที่ไร้กาลเวลา ซึ่งทำขึ้นจากวัสดุหลัก 3 อย่าง 

หนึ่ง–สินค้าที่ทำจาก reused fabric หรือเสื้อผ้ามือสอง เช่น คอลเลกชั่น SUMMER RAINBOW SHIRT เสื้อเชิ้ตสีรุ้งโอเวอร์ไซส์ที่ตัดเย็บจากเสื้อยืดมือสองหลากสี ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากธงสีรุ้งที่ถูกทำขึ้นครั้งแรกโดย Gilbert Baker ในปี 1970 

SUMMER RAINBOW SHIRT

สอง–สินค้าที่ทำจาก recycled fabric หรือผ้าจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก อย่างคอลเลกชั่น EXPLORER HAT ที่นอกจากจะกันแดดแยงตาแล้วยังกันน้ำได้ด้วย แถมยังมีที่เก็บของกระจุกกระจิกเพื่อให้การทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ของทุกคนสะดวกที่สุด นอกจากอยากทำให้ ZAYAN ไร้กาลเวลา ทั้งคู่ก็อยากให้สินค้าทุกชิ้นใช้งานได้จริง

EXPLORER HAT
EXPLORER HAT

“เราวางแผนและออกแบบอย่างจริงจังว่าแต่ละคอลเลกชั่นต้องการสื่อสารอะไร ใช้วัสดุแบบไหน ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไง และตอบโจทย์ผู้ใช้ยังไง” โอ๋อธิบาย

สาม–สินค้าจาก deadstock fabric หรือผ้าเหลือใช้จากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น อย่างใน CAMP COLLAR LINEN PATCHWORK SHIRT เสื้อเชิ้ตที่ตัดเย็บจากผ้าลินินเหลือทิ้งจากโรงงาน ที่นอกจากสวยแล้วยังระบายอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศเมืองไทย 

CAMP COLLAR LINEN PATCHWORK SHIRT

“ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสากลที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งปัจเจก องค์กรต่างๆ ธุรกิจเล็กใหญ่ ตลอดจนภาครัฐที่เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีกำลังและทรัพยากรในการแก้ปัญหาได้มากที่สุด 

“เราจึงอยากผลักดันให้ ZAYAN เป็นแบรนด์ที่มีส่วนช่วยลดขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้คนและสิ่งแวดล้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้จริงๆ” เต๋าเล่าความตั้งใจ

Handmade Clothing

เพราะ ZAYAN เป็นแบรนด์โฮมเมดและเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่มีงบประมาณจำกัด ทั้งสองคนจึงช่วยกันออกแบบคอลเลกชั่นต่างๆ ร่วมกัน ส่วนงานยิบย่อยอื่นๆ อย่างงานโปรโมตสินค้าและงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์โอ๋จะรับไปดูแล ส่วนเต๋าจะดูแลงานตัดเย็บค่อนข้างมากเพราะเห็นคุณแม่เย็บและซ่อมแซมผ้ามาตั้งแต่เด็ก แถมยังฝึกใช้จักรเพื่อพัฒนาฝีเข็มมาตลอด

“เรายังมีช่างเย็บผ้าที่เป็นญาติๆ ในท้องถิ่นและช่างฝีมือในชุมชนที่ช่วยผลิตในบางขั้นตอน โดยวิธีหลักๆ ในการเย็บคือการต่อผ้า (patchwork) และการปักมือ (hand embroidery)” เต๋าอธิบายถึงกระบวนการตัดเย็บให้ฟัง

MIKI INDIGO PATCHWORK FIVE PANEL HAT

อย่าง MIKI INDIGO PATCHWORK FIVE PANEL HAT คือหมวกที่ตัดเย็บจากฝ้ายทำมือย้อมครามธรรมชาติจากสกลนครที่นำมาตัดต่อแบบ patchwork หรือ SHIBARI TOTE BAG ก็เป็นกระเป๋ารุ่นซิกเนเจอร์ที่ทั้งคู่ผสานเชือกปีนเขาเข้ากับผ้าเหลือใช้จากโรงงานด้วยวิธีการมัดเชือกของญี่ปุ่นที่เรียกว่าชิบาริ จนได้เป็นกระเป๋าทรง tote ที่เท่และสะพายได้ 3 รูปแบบ คือสะพายข้าง สะพานพาด และหิ้ว

SHIBARI TOTE BAG

“พวกเรามีไอเดียเยอะมากและมีความตั้งใจสูง อยากจะลงมือและออกแบบให้ดีขึ้น และอยากส่งเสียงเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้กลับถูกจำกัดด้วยเงินทุน 

“สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการตั้งใจทำแบรนด์แฮนด์เมดภายใต้เงื่อนไขนี้ให้ดีที่สุด เราพยายามท้าทายการออกแบบของตัวเองทุกครั้งว่าจะนำเสนอวัสดุรีไซเคิลและวัสดุจากเสื้อผ้ามือสองให้สวยงาม ทนทาน ร่วมสมัย และให้ผู้สวมใส่รู้สึกสนุกไปกับไอเดียและแรงบันดาลใจเบื้องหลังได้ยังไง เพื่อสื่อสารว่าวัสดุที่คนไม่เห็นค่าเหล่านี้ก็ทำออกมาเป็นแบรนด์ที่ดีได้” เต๋าทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพจาก ZAYAN

1 + ZAYAN

11สมัยเด็กๆ เราคงคุ้นเคยกับการนั่งดูการ์ตูนทางหน้าจอโทรทัศน์ก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า ทั้ง Doraemon, Naruto, One Piece และอีกหลากหลายเรื่องราวที่ผู้ใหญ่จัดสรรมาให้ จากแค่ดูฆ่าเวลา หลายคนกลับกลายเป็นแฟนคลับที่เมื่อว่างจากการไปโรงเรียนเมื่อไหร่ก็จะสรรหาการ์ตูนเรื่องที่สนใจมาอ่านและดูเอง บ้างก็ดูแล้วจบไป แต่บ้างก็ดูแล้วอยากสืบสายลายเส้นการ์ตูนของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับแพน ที่ไม่เพียงใช้อนิเมะเป็นเครื่องจรรโลงใจยามว่าง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

12ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ เราจะเติบโตไปพร้อมตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องจนรู้สึกผูกพัน แม้บางครั้งผู้แต่งจะเลือกให้เขาจบชีวิตลงแต่ความผูกพันที่เรามีกับตัวละครยังไม่จบ เราเลยอยากจัดพิธีอำลาเพื่อแสดงความเคารพและความผูกพันให้ตัวละครเหล่านั้น เราชอบวาดภาพแนวพอร์เทรตอยู่แล้วเลยลงตัวที่ไอเดียการวาดภาพเสมือนของตัวละคร

2

21ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ เราจะเติบโตไปพร้อมตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องจนรู้สึกผูกพัน แม้บางครั้งผู้แต่งจะเลือกให้เขาจบชีวิตลงแต่ความผูกพันที่เรามีกับตัวละครยังไม่จบ เราเลยอยากจัดพิธีอำลาเพื่อแสดงความเคารพและความผูกพันให้ตัวละครเหล่านั้น เราชอบวาดภาพแนวพอร์เทรตอยู่แล้วเลยลงตัวที่ไอเดียการวาดภาพเสมือนของตัวละคร

22จากตอนแรกที่เรารู้สึกเคว้งคว้าง การทำนิทรรศการครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามีคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เราจึงคาดหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ให้วงการการ์ตูนในไทยได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้นเพราะเราแทบไม่เคยเห็นการจัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวกับอนิเมะในไทยเลย

AUTHOR