ขอสารภาพว่า เรารู้จัก the daily objects ครั้งแรกจากคอมเมนต์ที่ พลอย–กุลชลี วงศ์แสงอนันต์ เจ้าของแบรนด์ พิมพ์ฝากร้านไว้ในอินสตาแกรมโพสต์ ‘Tag a small business’ ของ Fashion Revolution
คำบรรยายยาวเหยียดที่เธอทิ้งไว้อย่าง ‘…เราเล็งเห็นปัญหาที่แบรนด์ใหญ่ๆ มองข้าม คือการนำหนังที่มีร่องรอยของการใช้ชีวิต มีแผลเป็น มีรอยหมัดกัดมาใช้ และเลือกที่จะไม่ให้โรงฟอกทำสีกลบ เพราะสำหรับเรา ความธรรมชาติดิบๆ นี้แหละคือความคลาสสิกของหนังแท้
‘กระเป๋าแต่ละใบทำจากหนังวัวพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทย โดยเราเลือกที่จะร่วมงานกับโรงฟอกที่ซื้อหนังเค็มจากผู้ค้าเนื้อรายย่อยในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นการกระจายรายได้และเพิ่มมูลค่าให้หนังไปในตัว…’ น่าสนใจซะจนทำเอาเราที่กำลังไถหาแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนที่น่าสนใจเก็บเข้าลิสต์ช้อปปิ้งหยุดอ่าน และอดไม่ได้ที่จะขอแวะกดเข้าไปเยี่ยมชมหน้าร้าน ดูสักหน่อยว่าเครื่องหนังตามสรรพคุณที่ว่ามีหน้าตาเป็นยังไง
ทันทีที่เห็น เราก็ขอนิยามว่าสินค้าเครื่องหนังของ the daily objects เป็นเครื่องหนังแบบชิลล์ๆ ไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังแฟชั่น สะพายออกไปเที่ยวเก๋กรุบ ไม่โตเกินวัย แต่ก็ไม่เด็กจนทิ้งความเป็นทางการ เหมาะจะสะพายใช้ในหลากหลายสถานการณ์
และเพราะไม่อยากตื่นเต้นอยู่คนเดียว ระหว่างที่กำลังตัดสินใจว่า กระเป๋าหนังที่เหมาะจะใช้งานในทุกวันใบไหนควรถูกเลือกลงตะกร้าให้เราสะพายออกไปใช้ชีวิต
เราขอชวนเจ้าของแบรนด์สาวมาพูดคุยกันถึงเรื่องราวของแบรนด์นี้ซะเลย
แบรนด์กระเป๋าหนังใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากลูกสาวธุรกิจโรงฟอกหนังที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้เราพอจะรู้มาบ้างว่า the daily objects คือแบรนด์ที่กุลชลีและน้องๆ เปิดเสริมขึ้นจากงานที่ทำอยู่ประจำ แต่เธอเพิ่งจะเฉลยให้เราฟังเดี๋ยวนั้นว่า งานประจำที่เธอทำอยู่ก็คือการดูแลธุรกิจโรงฟอกหนังอายุกว่า 70 ปี ของที่บ้าน
เธอบอกว่า หลังจากรับช่วงดูแลกิจการของที่บ้านมาพักใหญ่ก็เริ่มสังเกตเห็นว่า ลูกค้าจำนวนมากมักมีสเปกของเครื่องหนังในใจ นั่นคือต้องสวยปิ๊ง ไร้ตำหนิ แต่เพราะโรงฟอกหนังของกุลชลีเน้นรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะอยากกระจายรายได้ให้ชุมชน หนังที่ได้มาจึงมีส่วนที่ไม่สวยติดมาด้วย
“เกษตรกรที่เราทำงานด้วยเขาไม่ได้เลี้ยงวัวในระบบปิด หนังจึงค่อนข้างมีร่องรอยการใช้ชีวิตของวัวอยู่บ้าง บวกกับเวลาแล่หนัง เขาก็จะใช้วิธีการแบบบ้านๆ หน่อย คือใช้มีดแล่โดยตรง บางทีจึงอาจแฉลบไปโดนผิว ทำให้หนังเป็นรอยได้ จะไม่ได้มีระบบถลกหนังดีๆ แบบต่างประเทศที่ล็อกสเปกได้เลยว่าจะเอาหนังส่วนไหนบ้าง เราต้องรับซื้อมาทั้งหมดแล้วค่อยมาคัดเลือกเองทีหลัง”
เมื่อเห็นว่าหนังที่มีรอยแผลถูกกองทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้พร่องคุณสมบัติ สามารถนำไปใช้งานเป็นกระเป๋าหรือทำข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ได้เช่นกัน เพียงแต่คนไม่ค่อยนิยม นั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากต่อยอดนำหนังที่ถูกมองผ่านมาพัฒนาเป็นโปรดักต์ภายใต้แบรนด์ the daily objects
“เรามองว่าการที่หนังมีรอยเป็นเรื่องปกติมาก เหมือนคนเรานี่แหละที่ผิวหนังแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราเลยอยากทำอะไรที่สามารถเปลี่ยนมายด์เซตของผู้บริโภคให้เข้าใจว่า หนังที่ไม่สวยก็ยังใช้งานได้”
อีกหนึ่งเหตุผลคือ เธออยากสื่อสารออกไปให้คนภายนอกรับรู้ว่า จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมเครื่องหนังไม่ได้เลวร้ายต่อโลกอย่างที่หลายๆ คนมีภาพจำ
“คนมักคิดว่าโรงฟอกต้องมีโรงฆ่าสัตว์เป็นของตัวเอง เป็นธุรกิจสกปรก สร้างน้ำเสีย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ธุรกิจโรงฟอกแบบที่เราทำคือการนำของเหลือมาใช้ มาแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นด้วยซ้ำ มันเป็นการ close the cycle ให้ครบลูป”
เธอขยายให้ฟังว่า ซัพพลายของโรงฟอกหลักๆ มาจากการกินเนื้อของผู้บริโภค หากเมืองไทยมีกลุ่มคนที่กินเนื้ออยู่ ยังไงปลายทางก็จะมีของเหลือใช้อย่างหนังอยู่
“ถ้าไม่มีการนำไปใช้ต่อยอดทำอะไร หนังพวกนี้ก็จะถูกกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ ซึ่งก็ไม่ดีต่อดินอีก การเอาหนังมาเพิ่มมูลค่าจึงเป็นทางเลือกที่วิน-วิน นอกจากเกษตรกรจะได้เงินจากการค้าเนื้อ ก็จะได้เงินจากการค้าหนังด้วย”
กุลชลียังบอกด้วยว่า นอกจากการซื้อหนังจากเกษตรกรในประเทศจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชาติ ข้อดีอีกอย่างก็คือ การลด carbon footprint จากการขนส่ง
ส่วนเรื่องน้ำเสีย เธอบอกว่า ที่จริงไม่ว่าจะทำอุตสาหกรรมใดก็ย่อมต้องมีของเสียอยู่แล้ว ไม่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนัง
“เรามองว่าถ้าอยากจะอยู่ในธุรกิจนี้อย่างยั่งยืน เราต้องกลับมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าเราเอาอะไรจากเขามา และเราจะช่วยดูแลเขาได้ยังไง อย่างเราใช้น้ำในธุรกิจเยอะ โรงฟอกของเราจึงศึกษาระบบบำบัดน้ำเสียอย่างลงลึก ไปดูงานที่เมืองนอกว่าเขาใช้วิธีการใดบ้าง แล้วมาปรับเครื่องจักรให้ทันสมัยขึ้น จนตอนนี้สะอาดจนนำน้ำมาวนใช้ใหม่ในโรงงานได้แล้ว”
ตั้งใจทำของใช้แนว everyday objects ให้คนใช้นาน ใช้บ่อย จะได้ยิ่งยั่งยืน
โปรดักต์ของ the daily objects มักเป็นสินค้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันตามชื่อแบรนด์ เพราะกุลชลีอยากให้คนเข้าใจว่า หนังก็เป็นไอเทมสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ได้เข้าถึงยาก และอยากให้คนนำสินค้าของแบรนด์ไปใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด การออกแบบจึงมีหลักสำคัญเพียงไม่กี่ข้อ นั่นคือต้องเบาและทน
“เราออกแบบสินค้าโดยยึดจากวัตถุดิบหนังที่มี และคิดจากว่าในช่วงนั้นๆ เราใช้อะไรหรือต้องการอะไรมากที่สุด พยายามจะทำของเบสิกๆ ที่ใช้ได้ทุกคน เพราะคำว่า sustainable สำหรับเราคือการที่ของชิ้นนั้นใช้ได้นาน หรือเราได้รับประโยชน์จากสิ่งของนั้นจนคุ้มค่า เราเลยอยากทำสินค้าในรูปแบบ everyday objects ที่ทุกคนสามารถใช้ได้”
tote bag ที่เป็นสินค้าเปิดตัวแบรนด์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
นอกจากจะออกแบบมาให้ทรงเหมือนกับกระเป๋าผ้าเพื่อความสะดวกในการใช้งาน สามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง มีน้ำหนักเบา เธอยังตั้งใจไม่ทำซับข้างในเพื่อที่จะนำไปใช้ได้ทั้งสองด้าน
“ก่อนทำแบรนด์ เราเก็บข้อมูลจากคนรอบข้างแล้วพบว่า จริงๆ แล้วเขาก็ชอบเครื่องหนัง แต่มันหนัก ไม่สะดวกจะใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้แล้วปวดหลัง เลยเลือกใช้กระเป๋าผ้าแทน เราเลยคิดว่า จะดีแค่ไหนถ้าทำกระเป๋าหนังให้มีน้ำหนักเบาเหมือนกระเป๋าผ้าได้”
กระบวนการทำหนังให้บางแต่ยังทนทานเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะถ้าบางไป หนังก็เสี่ยงขาด ยิ่งบางจะยิ่งไม่ทน นี่จึงเป็นโจทย์หลักที่แบรนด์ใช้เวลารีเสิร์ช trial and error อยู่กว่าปี คิดว่าจะทำยังไงให้ tote bag ออกมาบาง เบา แต่ยังคงรับน้ำหนักได้ดีอยู่ กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นสินค้าจริงได้อย่างทุกวันนี้
และถึงแม้จะทำสินค้าออกมาได้สำเร็จแล้ว โจทย์ยากลำดับต่อไปที่แบรนด์ยังต้องหาทางแก้ปัญหามาจนทุกวันนี้ก็คือการสื่อสารให้คนเข้าใจถึงร่องรอยของหนังบนสินค้า
แม้ตลาดจะยังไม่เปิดรับ แต่ก็ขอลองทำอย่างตั้งใจ
“ตอนที่คิดจะทำแบรนด์ เราคิดไว้สวยหรูมากว่ายังไงคนก็ต้องรับไอเดียได้ คนจะเข้าใจว่าหนังมีรอยก็สวย ใช้งานได้ เพราะเทรนด์ด้าน sustainable กำลังมาด้วย แต่พอทำจริง ตลาดในไทยกลับยังไม่ค่อยเปิดใจขนาดนั้น” กุลชลีหัวเราะ เล่าย้อนว่า เคยมีลูกค้าฟีดแบ็กกลับมาด้วยซ้ำว่า ทำไมกระเป๋าของแบรนด์ถึงเป็นรอย
“ยอมรับเลยว่าพอได้รับฟีดแบ็กอย่างนี้ก็ทำให้เราเขวนิดหนึ่ง คิดว่าควรเปลี่ยนจุดยืนของแบรนด์ไหม ถ้าไอเดียนี้ไม่เวิร์ก แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเราเองก็ยังสื่อสารไปถึงกลุ่มลูกค้าไม่ชัดเจนด้วย
“ยังไงเราก็ยังอยากโชว์ให้คนเห็นว่า หนังที่มีร่องรอยยังใช้ได้ตามที่ตั้งใจ เราอยากเซตให้สิ่งนี้เป็นเทรนด์ขึ้นมาให้ได้ อยากทำให้คน appreciate ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่าง อาจจะไม่ใช่แค่กับเครื่องหนังอย่างเดียว แต่เราอยากให้คนรู้ว่า การที่ของบางสิ่งไม่ได้สวยเนี้ยบก็ไม่ได้แปลว่ามันด้อยค่าไปกว่าของที่สวย”
สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจว่า จะนำพาแบรนด์ไปในแนวทางเดิม ไม่เปลี่ยนคอนเซปต์
“หนังที่มีรอยจริงๆ แล้วมัน sustainable มาก เพราะมันลดทอนกระบวนการผลิตได้หลายกระบวนการเลย ตั้งแต่การขัดผิวหนัง การพ่น การทำสี เมื่อไม่ได้ใช้กระบวนการเหล่านั้นก็ช่วยลดขยะในโรงงาน ลดการใช้สารเคมี โรงฟอกก็บำบัดน้ำเสียน้อยลง มันดีต่อทุกคนเลย ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อโรงฟอก ดีต่อคนทำงาน ดีต่อคนใช้ด้วย
“ถ้าในอนาคตคนยอมรับสิ่งนี้ได้มากขึ้นก็คงเป็นเรื่องดี” เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม