ผู้นำสร้างชาติหรือเผด็จการเหี้ยมโหด? ‘เจียง ไคเช็ก’ ผู้นำที่ชาวไต้หวันอยากลบคำเยินยอ

เจียง ไคเช็ก

ก่อนที่จะมีโควิด-19 เพื่อนของเราคนหนึ่งมาเที่ยวไต้หวันและตั้งข้อสังเกตกับอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในไทเปไว้ว่า น่าแปลกที่ประเทศประชาธิปไตยอย่างไต้หวันมีการสร้างรูปจำลองของอดีตผู้นำคนหนึ่งเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่ ถึงขนาดที่ต้องมีการแสดงทหารเปลี่ยนกะจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมขนาดนี้

เมื่อปีที่แล้วเราเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่าที่เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยของไต้หวันในปัจจุบัน และได้พูดแตะถึงเรื่องผลกระทบจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนข้อความบนซุ้มประตูหลักหน้าอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก เป็นความเคลื่อนไหวในการชำระประวัติศาสตร์ไต้หวันที่เคยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมายาวนาน และลบล้างยุคสมัยของลัทธิบูชาตัวบุคคล ยุคที่แทบทุกสถานที่สำคัญเต็มไปด้วยรูปปั้นสลักคำสรรเสริญเยินยอ

เจียง ไคเช็ก
สุสานเจียง ไคเช็ก / Image : smiletaiwan.cw.com.tw

สร้างชาติยิ่งใหญ่ด้วยผู้นำเกรียงไกร

อนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก เป็นโครงการของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งในปี 1976 (สร้างแล้วเสร็จในปี 1980) หลังการอสัญกรรมของอดีตผู้นำรัฐบาลชาตินิยมเพื่อสรรเสริญความยิ่งใหญ่ดีงามของเขา โดยก่อนหน้านี้นอกจากจะมีการจัดแสดงประวัติชีวิตและการทำงานของเจียง ไคเช็ก ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ไต้หวันแล้ว ยังมีการขายของที่ระลึกที่เกี่ยวกับเจียง ไคเช็ก ด้วย

แต่คำถามคือสำหรับประชาชนไต้หวันแล้ว เจียง ไคเช็ก คือรัฐบุรุษ คือผู้นำที่ควรค่าสรรเสริญ หรือเป็นจอมเผด็จการผู้อยู่เบื้องหลังการทรมานและสังหารหมู่ผู้เห็นต่างอย่างไร้ปรานี?

หากจะพูดถึงความย้อนแย้งนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์ 228 (228 Incident) ที่ยังคงทิ้งรอยแผลเป็นให้กับชาวไต้หวันหลายครอบครัวไม่ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1947 เมื่อกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งรวมตัวกันครั้งใหญ่และถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ทั่วเกาะไต้หวันหลายพันคน และมีการประเมินว่าอาจสูงถึง 20,000 คน

นอกจากนี้ยังมีห้วงแห่งความน่าสะพรึงกลัวสีขาว (White Terror) ระหว่างปี 1949-1987 ซึ่งเป็นช่วงครองอำนาจของพ่อลูกตระกูลเจียง–เจียง ไคเช็ก และเจียง จิงกว๋อ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกนานกว่า 38 ปี เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในสาธารณรัฐจีนมายาวนาน ห้วงเวลานั้นใครที่มีทีท่าว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลสามารถถูกตัดสินว่าก่อการกบฏหรือฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ได้ง่ายๆ หรืออาจถูกลงโทษด้วยการสั่งจำคุกนักโทษการเมือง การกระทำเพียงเล็กน้อยที่ทำให้รัฐบาลจับตามองอาจส่งผลถึงชีวิต นั่นทำให้ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ในช่วงนั้นไม่กล้าแม้แต่จะแสดงออกถึงความคิดเห็นของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

คำสรรเสริญที่ถูกปลด

ปี 2000 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยเปียน ในขณะนั้นมุ่งมั่นจะชำระล้างประวัติศาสตร์เพื่อแสดงว่าไต้หวันไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการหรือกฎอัยการศึกอันยาวนานอีกต่อไป เขาสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดรัฐบาลทั่วประเทศสำรวจรูปปั้นจำลองสองผู้นำตระกูลเจียงที่ตั้งในสถานที่สำคัญ รวมถึงชื่อสถานที่ทางการที่ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูสองผู้นำเพื่อหาทางจัดการกับมรดกตกทอดของระบอบเผด็จการในอดีต

20 ปีผ่านไป สำนักข่าว Liberty Times Net รายงานว่ามีรูปปั้นจำลองมากกว่า 300 ชิ้นที่ถูกถอดและขนย้ายออกจากสถานที่สำคัญทางราชการเพื่อนำไปทำลาย บางส่วนก็รักษาไว้ที่สุสานฉือหู (Cihu Mausoleum) สุสานของอดีตผู้นำที่ตั้งอยู่ในเมืองเถาหยวนจนกลายเป็นภาพแปลกตาเมื่อในสวนแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยรูปปั้นเจียง ไคเช็ก และทายาท บ้างนั่ง บ้างขี่ม้า บ้างยืนมองหน้ากัน บ้างยืนล้อมกันเป็นวงกลม กินเนื้อที่ส่วนใหญ่ในสุสานนี้ รายงานบางชิ้นบอกว่าในสวนอาจมีรูปปั้นอดีตผู้นำรวมกันมากถึง 500 ชิ้น ถึงอย่างนั้นกระบวนการขนย้ายรูปปั้นเหล่านี้เฉพาะส่วนของภาครัฐก็เพิ่งจะดำเนินการได้เพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

Image : orange.udn.com
Image : chinatimes.com

ส่วนหนึ่งของความล่าช้าเป็นเพราะผลงานแต่ละชิ้นต้องถูกตีความอย่างระมัดระวังว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือศิลปะหรือไม่ เราจึงยังสามารถเห็นรูปปั้นเหล่านี้ได้ในหลายสถานที่ของไต้หวัน โดยเฉพาะรูปปั้นเจียง ไคเช็ก ขนาดใหญ่ที่อนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก นั่นเอง

ส่วนของการเปลี่ยนชื่อสถานที่ ตัวอย่างหนึ่งคือซุ้มประตูด้านหน้าอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก จุดเช็กอินที่นักท่องเที่ยวชอบไปถ่ายรูปกัน ปัจจุบันบนซุ้มมีข้อความเขียนเป็นตัวอักษรจีนว่า 自由廣場 ตรงกับชื่อลานที่เรียกกันว่า Liberty Square หรือ Freedom Square ซึ่งเป็นสถานสำคัญที่ชาวไต้หวันมักจะนัดมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ 

แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ข้อความเดิมบนซุ้มประตูนี้คือ 大中至正 หรือข้อความสรรเสริญความเที่ยงธรรมของอดีตผู้นำเจียง ไคเช็ก แน่นอนว่าการดำเนินการเปลี่ยนข้อความบริเวณนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่นั้นเห็นความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ ส่วนฝั่งผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่คือครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงความน่าสะพรึงกลัวสีขาว ถึงขั้นมีรายงานว่าวันที่มีการนำข้อความสรรเสริญลงเพื่อเปลี่ยนเป็นข้อความใหม่ มีคนไปดื่มไวน์เฉลิมฉลองกันบริเวณนั้นเลยทีเดียว 

เจียง ไคเช็ก
ข้อความบนซุ้มประตูที่ถูกเปลี่ยน / Image : REUTERS/Bobby Yip (CHINA) – RTX4H99

เช่นกันกับตัวอนุสรณ์สถานเอง ที่รัฐบาลเฉิน สุ่ยเปียน เปลี่ยนชื่อเป็น National Taiwan Democracy Memorial Hall แต่ผลสุดท้ายเมื่อพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ก็ได้เปลี่ยนชื่อสถานที่กลับไปเป็นอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก ตามเดิม

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสนามบินนานาชาติเถาหยวนซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมในแผนการของสนามบิน ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นสนามบินนานาชาติเจียง ไคเช็ก เพื่อรำลึกถึงอดีตผู้นำ กระทั่งในปี 2006 อดีตประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยเปียน ก็เสนอแผนการเปลี่ยนชื่อสนามบินแห่งนี้กลับเป็นชื่อเมืองเถาหยวนเพื่อให้ชื่อของสนามบินสะท้อนถึงที่ตั้งที่ถูกต้อง แน่นอนว่าเกิดกระแสไม่เห็นด้วยมากมาย เช่น การเปลี่ยนชื่อไม่ได้ช่วยให้การจัดการการบินในสนามบินดีขึ้น หรือบ้างก็เสนอให้คงชื่อของอดีตผู้นำเอาไว้ควบคู่ไปกับชื่อเมือง แต่ผลสุดท้ายสนามบินก็ถูกเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นสนามบินนานาชาติเถาหยวนอย่างที่พวกเราคุ้นชื่อกัน

Image : tw.appledaily.com

ตั้งแต่ที่เรามาเรียนต่อในไต้หวันจนทำงานแล้ว ทุกปีจะได้ยินข่าวคนไปปาสีใส่รูปปั้นเจียง ไคเช็ก บ้าง ทำลายรูปปั้นบ้าง ถ้าจำไม่ผิด ประมาณปี 2019 ในเขตมหาวิทยาลัยของเรามีคนแอบเข้าไปตัดขาม้าที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปปั้นเจียง ไคเช็ก ในเขตมหาวิทยาลัย เป็นเหตุให้ในปัจจุบันหลายๆ สถานที่สร้างรั้วขึ้นมากั้นไม่ให้มีคนเข้าไปทำลายสิ่งของสาธารณะได้อีก

เมื่อเวลาเปลี่ยน การตีความสถานะของอดีตผู้นำที่เกรียงไกรก็เปลี่ยน รูปปั้นหลายร้อยชิ้นในที่สุสานฉือหูถูกทิ้งไว้โดยไร้การบูรณะ เหมือนจะให้เป็นประจักษ์พยานถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนไต้หวันบางคนตั้งคำถามว่าควรหรือไม่ที่เมืองเถาหยวนจะประชาสัมพันธ์สถานที่แห่งนี้ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว เพราะการนำชื่อหรือตัวแทนของอดีตผู้นำเผด็จการมาประชาสัมพันธ์ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวก็ดูจะลักลั่นย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย

อ้างอิง

fpri.org

news.ltn.com.tw

reuters.com

taipeitimes.com

taipeitimes.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ