“ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน” การเคลื่อนไหว ‘ดอกลิลลี่ป่า’ ของนักศึกษาไต้หวันปี 1990

Highlights

  • ที่ไต้หวันเคยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 1990 เรียกว่า การเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่า (Wild Lily Student Movement)
  • การประท้วงครั้งนี้เริ่มจากนักศึกษา 9 คน ภายในไม่กี่วันจำนวนผู้เข้าร่วมการประท้วงก็เพิ่มขึ้นมหาศาล มีทั้งนักศึกษาและประชาชนจากทั่วไต้หวัน นักศึกษาถูกโจมตีว่าเป็นผู้ก่อจลาจล’ ‘ไม่เข้าเรียนตามหน้าที่ที่ควรทำหรือเยาวชนที่น่าละอาย
  • การชุมนุมของเหล่าดอกลิลลี่ป่าเกิดขึ้นเพียงสั้นๆ แค่ 6 วัน เมื่อปี 1990 ดูเผินๆ การชุมนุมได้จบลงไปนานแล้ว แต่หลังจากระยะเวลา 6 วันที่ดอกลิลลี่ผลิบานนั้นดูเหมือนดอกไม้แห่งประชาธิปไตยของไต้หวันก็ยังไม่เคยหยุดออกดอกออกผล
  • การชุมนุมครั้งนั้นได้ปูทางให้ไต้หวันมีการเลือกตั้งทางตรงทั้งกับผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี

“ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน” เป็นข้อความที่เราเห็นผ่านตาบ่อยเวลาติดตามข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงนี้ เราไม่รู้ที่มาแน่ชัดว่าใครเอามาใช้เป็นคนแรก รู้แต่ว่าสามารถเห็นได้ทั้งบนโลกออนไลน์และในการชุมนุมจริง กลายเป็นอีกหนึ่งข้อความที่เป็นตัวแทนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เดาอย่างคร่าวๆ คนที่หยิบข้อความนี้มาใช้อาจตั้งใจให้มันล้อไปกับกวี ดอกไม้จะบาน (2516) ของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่มีดอกไม้แทนภาพการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวเช่นกัน วลี “ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน” เลยมีความหมายที่แฝงไว้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดอกไม้ของคนรุ่นใหม่บานขึ้น มันเคยบานมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ถูกใครสักคนเด็ดทิ้ง แต่หากยิ่งเด็ดทิ้งดอกไม้ก็จะยิ่งบาน

ถ้าพูดถึงดอกไม้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักเรียนนักศึกษา ที่ไต้หวันเคยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 1990 เรียกว่า การเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่า (Wild Lily Student Movement) เป็นการชุมนุมครั้งสำคัญที่ปูทางให้ไต้หวันมีการเลือกตั้งทางตรงทั้งกับผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี

 

เมื่อดอกลิลลี่บาน

การเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่า นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งแรกในไต้หวันนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นฝั่งมาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะแห่งนี้ ไม่นานหลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987 และเจียงจิงกั๋วถึงแก่อสัญกรรมในปี 1988 ถือเป็นการสิ้นสุดยุคความน่าสะพรึงกลัวสีขาว (White Terror) ของไต้หวัน ที่ผู้เห็นต่างหรือผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาจถูกยัดข้อหากบฏคอมมิวนิสต์ได้ง่ายๆ

ต้นฤดูใบไม้ผลิ วันที่ 16 มีนาคม 1990 มีนักศึกษา 9 คนรวมตัวกันประท้วง ณ ลานหน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดีทางตรง สถานการณ์ของไต้หวันในตอนนั้นยังไม่เคยมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ส่วนผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีก็เป็นที่ชัดเจนว่านายหลี่เติงฮุยจากพรรคก๊กมินตั๋งจะได้รับเลือกอย่างแน่นอน เพราะเก้าอี้ในสภาส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ได้รับแต่งตั้งจากพรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นพรรครัฐบาลขณะนั้น

ภาพจาก : rti.org.tw

ภายในไม่กี่วันจำนวนผู้เข้าร่วมการประท้วงก็เพิ่มขึ้นมหาศาล กลุ่มผู้เข้าร่วมมีทั้งนักศึกษาและประชาชนจากทั่วไต้หวัน นักศึกษาถูกโจมตีว่าเป็น ‘ผู้ก่อจลาจล’ ‘ไม่เข้าเรียนตามหน้าที่ที่ควรทำ’ หรือ ‘เยาวชนที่น่าละอาย’

วันที่ 18 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อให้กับรัฐบาลไต้หวันคือ

1. ยกเลิกรัฐสภาแต่งตั้งแบบเดิมและกำหนดวิธีสรรหาผู้แทนใหม่

2. ยกเลิกบทบัญญัติชั่วคราวว่าด้วยการต่อต้านคอมมิวนิสต์

3. จัดให้มีการประชุมระดับชาติรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย

4. วางกรอบเวลาปฏิรูปการเมือง

หลังปักหลักชุมนุมได้ 4 วัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เลือกดอกลิลลี่ป่า หรือ Formosan Lily เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว Formosan Lily เป็นดอกไม้พันธุ์พื้นเมืองของไต้หวัน มีสีขาว สามารถเติบโตได้ทั้งบนภูเขาจนถึงพื้นที่ชายฝั่ง ออกดอกช่วงฤดูใบไม้ผลิและมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แย่ สื่อถึงการเคลื่อนไหวที่เกิดจากคนไต้หวันกันเอง (ดอกไม้พื้นเมือง) เป็นการต่อสู้จากคนระดับรากหญ้าทั่วไต้หวัน (เติบโตอยู่ทุกภูมิประเทศ) สีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์ และการชุมนุมยังเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิเช่นเดียวกับช่วงที่ดอกไม้บาน นอกจากนี้ดอกลิลลี่ยังอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่กดดันเพื่อที่จะได้ออกดอกเหมือนๆ กันด้วย

การเลือกตั้งประธานาธิบดี (โดยรัฐสภา) ครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม หลี่เติงฮุยได้รับเลือกตามคาด แต่นอกจากเขาจะขึ้นรับตำแหน่งแล้ว ยังได้เชิญตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ให้เข้าไปหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมและให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น โดยในวันนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณหมื่นคน และเริ่มมีกระแสข่าวว่ามีฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาเตรียมจะสร้างความวุ่นวาย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวในวันถัดไปเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และรอการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลตามที่ได้ตกลงกันไว้

 

ดอกผลจากลิลลี่ป่า

หลังจากการชุมนุมเพียงไม่นาน นายหลี่ก็ได้ทำตามที่ให้สัญญาไว้กับกลุ่มนักศึกษา โดยเริ่มจากจัดการประชุมระดับชาติครั้งแรกในปีเดียวกัน ผลจากการประชุมครั้งนั้นนำไปสู่การปิดฉากของรัฐสภาแบบเดิม หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘สภาหมื่นปี’ (萬年國會) จากการต่ออายุสมาชิกสภาแต่งตั้งออกไปเรื่อยๆ ในช่วงก่อนหน้านั้น และร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ในที่ประชุมครั้งนั้นก็เป็นต้นกำเนิดของการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงของไต้หวันอย่างเป็นทางการ

ภาพจาก : rti.org.tw

ปี 1991 ไต้หวันยกเลิกรัฐสภาแบบเดิมและบทบัญญัติชั่วคราวว่าด้วยการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปี 1996 ไต้หวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก นายหลี่เติงฮุยได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และภายหลังเขาถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งประชาธิปไตยไต้หวัน’ หลังถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เขาได้รับคำสรรเสริญทั้งจากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงมีประชาชนเข้าแสดงความเคารพที่งานศพของเขาเป็นจำนวนมาก

หลังการเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่า บทบาทของลานด้านหน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชกจากเดิมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติของอดีตผู้นำเจียงไคเชก ก็ถูกช่วงชิงจากประชาชนกลายเป็นสถานที่รวมตัวเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง จนเมื่อปี 2007 ลานบริเวณนี้จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Liberty Square พร้อมทั้งเปลี่ยนคำจารึกบนประตูทางเข้าจากเดิม 大中至正 ที่เป็นคำสรรเสริญอดีตผู้นำแซ่เจียง เป็น 自由廣場 ชื่อภาษาจีนของ Liberty Square ให้สมกับที่เป็นสถานที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านมายังระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน

อันที่จริง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนชื่อลานเป็น Liberty Square รัฐบาลพรรค DPP นำโดยอดีตประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียน ยังได้เปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานเจียงไคเชก (National Chiang Kai-shek Memorial Hall) เป็น National Taiwan Democracy Memorial Hall เพื่อแสดงถึงจุดสิ้นสุดของยุคเผด็จการในไต้หวันด้วย แต่ชื่อนี้อยู่ได้เพียงสั้นๆ แค่หนึ่งปี เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปี 2008 พรรคก๊กมินตั๋งชนะเลือกตั้ง นายหม่าอิงจิ่วได้เป็นประธานาธิบดี ก็ทำการเปลี่ยนชื่อกลับเป็นอนุสรณ์สถานเจียงไคเชกเหมือนเดิม ส่วน Liberty Square ยังคงไว้

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ถูกตั้งชื่อด้วยพันธุ์ไม้ตามมาอีก เช่น การเคลื่อนไหวดอกหญ้า (Silver grass Movement) ปี 1997 การเคลื่อนไหวสตรอว์เบอร์รีป่า (Wild Strawberry Movement) ปี 2007 และการเคลื่อนไหวดอกทานตะวัน (Sunflower Movement) ปี 2014

การชุมนุมของเหล่าดอกลิลลี่ป่าเกิดขึ้นเพียงสั้นๆ แค่ 6 วัน เมื่อปี 1990 ดูเผินๆ การชุมนุมได้จบลงไปนานแล้ว แต่หลังจากระยะเวลา 6 วันที่ดอกลิลลี่ผลิบานนั้นดูเหมือนดอกไม้แห่งประชาธิปไตยของไต้หวันก็ยังไม่เคยหยุดออกดอกออกผล แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เป็นดอกหญ้าบ้าง ดอกทานตะวันบ้าง หรือแม้แต่ผลสตรอว์เบอร์รีบ้างก็ตาม

จากเรื่องราวของไต้หวัน อาจไม่ได้ตรงกับวลี ‘ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน’ เท่าไหร่ เพราะดูแล้วก็ยังไม่ได้มีคนเด็ดดอกไม้เสียทีเดียว (ไม่นับยุค White Terror ที่ดอกไม้ยังไม่กล้าแม้แต่จะออกดอก) แต่ก็พอจะช่วยบอกเราได้ว่าเมื่อมีดอกไม้หนึ่งบานแล้ว ต่อไปก็จะมีดอกไม้อื่นๆ บานตามมาอีก

 

อ้างอิง

oftaiwan.org

taipeitimes.com

taipeitimes.com

taipeitimes.com/News

reuters.com

Lecture 58: National Conference

goteamjosh.com

storm.mg

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ