ไต้หวันอยู่ตรงไหนในการประท้วงจีน-ฮ่องกง

Highlights

  • ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาไต้หวันกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตาในช่วงที่ชาวฮ่องกงต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
  • แม้สถานะของไต้หวันจะต่างกับฮ่องกงแต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าถ้าจีนกำราบฮ่องกงได้จะไม่มองไต้หวันเป็นเป้าหมายถัดไป
  • ไต้หวันในฐานะที่เป็นสถานที่ที่เกิดอาชญากรรมต้นเรื่องและในฐานะที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีท่าทีอย่างไร

หลายเดือนมานี้ที่ชาวฮ่องกงเคลื่อนไหวต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไต้หวันก็กลายเป็นตัวแสดงที่ถูกต่างชาตินำไปพูดถึงในหลายๆ ด้าน

ทั้งในฐานะที่เป็นสถานที่ที่เกิดอาชญากรรมต้นเรื่องและในฐานะที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ระหว่างที่ฮ่องกงยังคงต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างดุเดือด เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจีน-ฮ่องกง เราจะมาเล่าให้ฟังในบทความนี้

 

เกมการเมืองระหว่างจีน-ฮ่องกง-ไต้หวันนั้นค่อนข้างซับซ้อน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในไต้หวันเองยังเห็นไม่ตรงกัน บางคนก็ไม่กล้าให้ความเห็นแบบฟันธง แน่นอนว่าเราจะไม่วิเคราะห์หรือฟันธงใดๆ ในบทความนี้ แต่จะหยิบเอาแง่มุมที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพความซับซ้อนนี้ชัดเจนขึ้น

ในเดือนมิถุนายนที่ชาวฮ่องกงเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เราเองก็มีประสบการณ์ตรงกับการออกมาสนับสนุนของชาวไต้หวัน เพราะที่ National Chengchi University หนึ่งในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงด้านการเมืองของไต้หวัน มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ตอนนั้น ก็มีกลุ่มนักศึกษาออกมารวมตัวกันสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านร่างกฎหมายในฮ่องกง อ่านแถลงการณ์ ปราศรัยโดยอาจารย์และตัวแทนนักศึกษาจากฮ่องกง และรันแคมเปญ #我在政大反送中 ต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนั้น ระหว่างนั้นก็เริ่มเห็นข่าวโทรทัศน์ที่เป็นสื่อหลักที่ยังทรงอิทธิพลมากในไต้หวัน เสนอข่าวนี้แบบอัพเดตความเคลื่อนไหววันต่อวันตามแต่ละขั้วการเมืองของแต่ละสำนักข่าวยาวมาจนถึงวันนี้

ที่บอกว่าเสนอข่าวตามแต่ละขั้วการเมืองก็เพราะที่ไต้หวันเองก็แยกสื่ออย่างง่ายๆ ว่าเป็นขั้วที่เอาและไม่เอาจีน ชาวบ้านฝั่งที่ไม่เอาจีนเชื่อกันว่าสื่อที่เสนอข่าวโปรจีนนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งแผ่นดินใหญ่เหมือนกัน และก็เพิ่งออกไปประท้วงการทำงานของสื่อกันหมาดๆ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน เดือนเดียวกับที่ฮ่องกงเริ่มเคลื่อนไหว

 

ไต้หวันยังมีความเคลื่อนไหวในระดับประชาชนทั้งการออกมาชุมนุมสนับสนุนชาวฮ่องกง มีชาวไต้หวันที่ส่งหน้ากากกันก๊าซพิษ 2,000 ชิ้นให้ผู้ชุมนุมในฮ่องกง หรือแคมเปญระดมทุนเปิดร้านหนังสือในไทเปให้แก่นายหลิน หรงจี อดีตเจ้าของร้านหนังสือการเมืองในฮ่องกงที่ถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม ยังไม่นับรวมอีเวนต์ย่อยๆ อีกมากมายที่หลายฝ่ายแสดงออกถึงการสนับสนุนฮ่องกง

ล่าสุดเมื่อวันหยุดเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ผ่านมา ยังมีข่าวว่าที่มหาวิทยาลัย I-Shou เมืองเกาสง ทางตอนใต้ของไต้หวัน มีนักศึกษาชาวฮ่องกงที่เพิ่งมาเข้าเรียนได้เทอมแรกแปะป้าย ‘Today Hong Kong, Tomorrow Taiwan’ ไว้ที่หน้าประตูห้องของตัวเองในหอพักนักศึกษาในตอนเช้า หลังจากนั้นเขาก็ได้ยินเสียงคนมาเคาะประตูห้อง ปรากฏว่าเป็นนักศึกษาชาวจีนที่เดินผ่านมาและกำลังโมโหป้ายนั้น หลังจากเขาเปิดประตูให้ นักศึกษาชาวจีนก็ลงมือฉีกทำลายป้ายและเข้ามาทำร้ายร่างกาย รวมถึงบีบคอเขาด้วย เมื่อทั้งคู่เจอกันหลังจากนั้น นักศึกษาชาวจีนก็ยังสาดน้ำใส่อีก

หลังจากเหตุการณ์นี้ทางมหาวิทยาลัยจึงสอบสวนทางวินัยนักศึกษาจีนผู้ก่อเหตุ และออกประกาศให้นักศึกษาทั้งสองฝ่ายเคารพจุดยืนและเสรีภาพทางความคิดซึ่งกันและกันด้วย

 

ชาวไต้หวันหลายคนมองว่าประเด็นของฮ่องกงเกี่ยวข้องกับไต้หวันในแง่ความพยายามของจีนต่อนโยบาย ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ แม้สถานะของไต้หวันต่างกับฮ่องกงแต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าถ้าจีนกำราบฮ่องกงได้จะไม่มองไต้หวันเป็นเป้าหมายถัดไป แต่อีกหลายคนก็เห็นแย้งว่าไต้หวันกับฮ่องกงนั้นต่างกัน ไต้หวันเป็นรัฐอิสระ ไม่เหมือนฮ่องกงที่อยู่ภายใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ สิ่งที่เกิดในฮ่องกงไม่น่าจะเกิดในไต้หวันได้ ซึ่งทั้งสองความเชื่อนี้ก็ส่งผลต่อกระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นต้นปีหน้าด้วย

แต่ถ้าจะเล่าว่ามันเชื่อมโยงกันยังไงเดี๋ยวบทความนี้ก็จะยาวเกินไปเสียก่อน เกมการเมืองนี้ซับซ้อนมากจริงๆ

 

เสริมอีกนิดว่าในระดับรัฐบาลก็มีคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันที่แถลงว่า ความรุนแรงในฮ่องกงเกิดจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เองนั่นแหละที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องต่อประชาธิปไตย แม้รัฐบาลไต้หวันกังวลต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในฮ่องกงมากเพียงใด ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องนี้แน่นอน

หลังจากแถลงการณ์นี้ออกมา รัฐบาลจีนก็ลิสต์ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สร้างความวุ่นวาย เหมือนที่สหรัฐอเมริกาโดนก่อนหน้านั้น

เราไม่รู้จะสรุปจบบทความนี้ยังไง เพราะยากที่จะหาข้อสรุปว่าสุดท้ายเหตุการณ์อีรุงตุงนังนี้จะจบลงที่ตรงไหน ในเมื่อทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีตอนจบที่ทุกฝ่ายพอใจสักที 

เอาเป็นว่าขออนุญาตจบแบบนี้เลยแล้วกัน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ