เทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำไต้หวัน การเมืองกับศิลปะที่แยกออกจากกันไม่ขาด

Highlights

  • เทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำแห่งไทเป (Taipei Golden Horse Film Festival) ถูกยกย่องว่าเป็นรางวัลออสการ์แห่งวงการภาพยนตร์ภาษาจีน
  • เทศกาลนี้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสังคมและการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศของไต้หวันอย่างน่าสนใจ
  • เมื่อปีที่แล้ว ผู้กำกับชาวไต้หวัน Fu Yue กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างขึ้นรับรางวัลว่า ความฝันสูงสุดของเธอคือ 'ไต้หวันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเอกราช'
  • ทำให้ปีนี้รัฐบาลปักกิ่งสั่งแบนไม่ให้ตัวแทนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าร่วมงาน คำถามคืองานม้าทองคำจะวางตัวยังไงในฐานะสถาบันหลักของงานศิลปะ

ใครที่ติดตามข่าวสารวงการภาพยนตร์น่าจะเคยได้ยินชื่องานเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำแห่งไทเป (Taipei Golden Horse Film Festival) กันมาบ้าง ซึ่งปกติแล้วจะจัดราวๆ เดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี นอกจากช่วงเวลาที่ตรงกันกับช่วงนี้แล้ว เหตุผลที่เราเลือกเขียนเกี่ยวกับเจ้าเทศกาลนี้อีกอย่างก็คือ มันมีบทบาทเกี่ยวข้องกับสังคมและการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศของไต้หวันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในปีนี้ที่รัฐบาลปักกิ่งสั่งแบนไม่ให้ตัวแทนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าร่วมงานนี้

เทศกาลนี้ถูกยกย่องว่าเป็นรางวัลออสการ์แห่งวงการภาพยนตร์ภาษาจีน การจัดงานครั้งที่ 56 ในปีนี้จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 23 พฤศจิกายน ย้อนกลับไปปีที่แล้ว ผู้กำกับชาวไต้หวัน Fu Yue กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างขึ้นรับรางวัลว่า ความฝันสูงสุดของเธอคือ ‘ไต้หวันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเอกราช’

หลังจากนั้นผู้กำกับ Zhang Yimou และนักแสดง Tu Men ซึ่งมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็โต้ตอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์โดยเน้นย้ำคำว่า ‘ภาพยนตร์จีน’ และ ‘ไต้หวันของจีน’ พอจบงานเหล่านักแสดงและผู้กำกับจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็เลื่อนไฟลต์ออกจากไต้หวันทันทีโดยไม่อยู่ร่วมอาฟเตอร์ปาร์ตี้

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในไต้หวัน ถึงขั้นที่ประธานาธิบดี Tsai Ing-wen โพสบนเฟซบุ๊กว่า ‘พวกเราไม่เคยยอมรับคำว่าไต้หวันของจีน และจะไม่ยอมรับ เพราะไต้หวันก็คือไต้หวัน’「我們從來沒有接受過「中國台灣」這個說法,也不會接受這個說法,台灣就是台灣。」และว่า เธอภูมิใจในรางวัลม้าทองคำที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไต้หวันต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ในด้านเสรีภาพและความหลากหลาย

ส่วนฟู่ หยูก็ถูกโจมตีจากชาวเน็ตจีนมากมาย หรือแม้แต่ผู้กำกับไต้หวันรุ่นพี่อย่าง Ang Lee ก็ให้สัมภาษณ์กลางๆ ว่าเขาไม่อยากให้เทศกาลที่เกี่ยวกับศิลปะอย่างม้าทองคำถูกรบกวนจากประเด็นการเมือง ซึ่งฟู่ หยูก็ตอบกลับว่าหนังสารคดีของเธอ Our Youth in Taiwan (我們的青春,在台灣) ที่ได้รับรางวัล ก็เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง สำหรับเธอศิลปะกับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้

สองย่อหน้าบนนั่นเป็นแค่เรื่องของปีที่แล้วอย่างเดียวนะ เพราะปีนี้รัฐบาลปักกิ่งสั่งคว่ำบาตรงานม้าทองคำ ทำให้ไม่มีหนังจากแผ่นดินใหญ่เข้าร่วมเลย ส่วนทางฮ่องกง สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ส่งอีเมลเตือนให้สมาชิกทบทวนอย่างจริงจังก่อนจะเข้าร่วมงานนี้ ถึงตรงนี้ก็เริ่มสนุกเพราะทางไต้หวันบอกว่าพวกเราไม่เสียหายอะไรเลย จีนไม่ส่งประกวดก็เป็นความสูญเสียของจีนต่างหาก ส่วนทางจีนก็บอกประมาณว่า อ๋อ ไม่เป็นไรเลย พวกเรายังมีรางวัลไก่ทองคำ (The Golden Rooster Awards) อยู่ แล้วปีนี้ก็จะจัดประกาศผลวันเดียวกับม้าทองคำด้วย คือวันที่ 23 พฤศจิกายนเหมือนกัน แถมยังย้ายโลเคชั่นมาประกาศที่เมืองเซี่ยเหมิน ติดช่องแคบไต้หวัน ไม่ไกลจากเกาะจินเหมินที่เคยเป็นสมรภูมิระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายทศวรรษก่อน

พูดถึงหลายทศวรรษก่อน งานม้าทองคำนี่ก็อายุพอๆ กับไต้หวันนับตั้งแต่พรรคก๊กมินตั๋งยกทัพขึ้นเกาะเลย และบทบาททางการเมืองของงานนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ถ้าย้อนกลับไปดูความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดงานก็จะรู้เลยว่าแค่จุดประสงค์ก็การเมืองจ๋าแล้ว

ในภาพยนตร์สารคดี The Moment: Fifty Years of Golden Horse (我們的那時此刻) ที่ว่าด้วยเรื่องราวความเป็นมาของเทศกาลม้าทองคำ เล่าว่างานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1962 ซึ่งตรงกับวันเกิดของเจียง ไคเช็ก ผู้นำก๊กมินตั๋งในตอนนั้นพอดี และชื่อม้าทองคำหรือจินหม่าเจี้ยง (金馬獎) ที่จริงก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับม้าทองคำแต่อย่างใด แต่จิน (金) ที่แปลว่าทอง มาจากชื่อเกาะจินเหมิน (金門) ส่วนหม่า (馬) ที่แปลว่าม้า ก็มาจากชื่อเกาะหมาจู่ (馬祖) สองสมรภูมิหลักที่ทหารก๊กมินตั๋งเอาชนะทหารคอมมิวนิสต์ได้ในปี 1958 และท้ายที่สุดคือในยุคนั้น คนไต้หวันดั้งเดิมส่วนใหญ่พูดแต่ภาษาฮกเกี้ยนกับภาษาญี่ปุ่น รัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ใช้จีนแมนดารินเป็นหลักเลยออกนโยบายให้โรงเรียนสอนแต่จีนแมนดารินเท่านั้น และรางวัลม้าทองคำนี้ก็รับแต่ภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาจีนแมนดารินถ่ายทำ

การจัดงานเทศกาลม้าทองคำเลยมีจุดประสงค์หลักๆ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ฉลองวันเกิดให้ท่านผู้นำเจียง ไคเช็ก สอง ใช้ชื่อ ‘จินหม่า’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารก๊กมินตั๋งที่รบชนะ และสาม สนับสนุนวงการภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาจีนแมนดาริน ซึ่งก็ดูจะเกี่ยวกับการเมืองทั้ง 3 ข้อ

พอเป็นงานที่จัดโดยรัฐบาล แน่นอนว่าในช่วงแรกภาพยนตร์ที่ได้รางวัลก็มักจะเป็นภาพยนตร์ที่ฉายภาพที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเห็น ในช่วงที่ไต้หวันกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ภาพยนตร์ลูกรักที่ได้รางวัลบ่อยๆ จะเป็นแนวสุขนิยมที่ฉายภาพความงดงามของชีวิต หรือพอปี 1971 ที่ไต้หวันถูกตัดสัมพันธ์ทางการทูตและไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเอกราชอีกต่อไป ภาพยนตร์ช่วงนั้นก็จะเป็นแนวชีวิตทหารต่อสู้กับญี่ปุ่นและจีนคอมมิวนิสต์ ทำให้คนดูแล้วรู้สึกฮึกเหิม แห่กันไปสมัครเป็นทหารป้องกันประเทศกันยกใหญ่

หลังจากเจียง ไคเช็กถึงแก่อสัญกรรม และการเรียกร้องประชาธิปไตยในไต้หวันเริ่มเบิ่งบาน ช่วงนั้นเองที่รางวัลม้าทองคำมีความหลากหลายและเป็นมืออาชีพมากขึ้น และพัฒนามาตามลำดับจนกลายเป็นเทศกาลม้าทองคำที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งเปิดกว้าง หลากหลาย และได้รับการยอมรับในแวดวงภาพยนตร์ภาษาจีน

อย่างหนึ่งที่งานม้าทองคำคงสลัดไม่หลุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคงจะเป็นบทบาทของมันในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

คำถามคืองานม้าทองคำควรจะวางตัวยังไงในฐานะสถาบันหลักของงานศิลปะที่ตั้งอยู่ในประเทศประชาธิปไตย ในเมื่อการแลกเปลี่ยนทางศิลปะไม่ควรจะถูกขวางกั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง

แต่การเมืองกับศิลปะ–หรือการเมืองกับงานม้าทองคำ–ก็แยกจากกันไม่ขาดเช่นกัน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ