คุกจิ๋งเหม่ย–พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน : Dark Tourist กับประวัติศาสตร์อีกมุมของไต้หวัน

เคยดูสารคดี Dark Tourist ที่ว่าด้วยการไปเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ด้านมืดที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่นึกเหมือนกันว่าไต้หวันที่เรามักจะนึกถึงชานมไข่มุก เสี่ยวหลงเปา ไทเป 101 กับถนนโบราณจิ่วเฟิ่น จะมีสถานที่ที่อาจเข้าข่าย dark tourist ได้อยู่เหมือนกัน

ถ้าพูดถึงไต้หวันก็เหมือนจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งหนึ่งในเอเชีย ทั้งขับเคลื่อนไปด้วยระบอบประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศสูง ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นดินแดนที่ให้นึกเรื่องด้านมืดคงจะนึกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ คงยากจะเชื่อถ้าเราบอกว่าไต้หวันเองก็เคยมีประวัติศาสตร์ยุคเผด็จการที่มีการกวาดล้างคนที่ดูเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างเด็ดขาด

ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยกับพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ของยุคสมัยใหม่ ไม่แปลกที่ คุกจิ๋งเหม่ย หรือ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (National Human Right Museum) จะวังเวง มีเพียงนักท่องเที่ยวบางตาแม้เป็นวันอาทิตย์ ด้วยความที่เคยเป็นคุกขังนักโทษการเมืองเก่าแถมยังอยู่ไกลออกมาจากเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

คุกจิ๋งเหม่ย

จากใจกลางเมืองไทเป เรานั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปลงที่สถานี Dapinglin ก่อนจะนั่งรถเมล์สาย 793 ต่อมาลงเยื้องกับทางเข้าของพิพิธภัณฑ์พอดี วันนี้ฝนตกทำให้อากาศเย็น ยิ่งทำให้บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ยิ่งดูยะเยือกเข้าไปใหญ่

เดิมที่นี่ใช้เป็นศาลทหารที่ตัดสินคดีความมั่นคงและเป็นเรือนจำสำหรับนักโทษคดีการเมือง ตั้งแต่ปี 1968 จนถึงปี 1992 ในช่วงเวลาที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งต้องเผชิญทั้งภัยจากภายนอกคือพรรคคอมมิวนิสต์ และภัยภายในคือชาวไต้หวันดั้งเดิมที่ไม่ยอมรับการปกครองจากผู้อพยพมาใหม่ ความหวาดระแวงของรัฐบาลเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งค่าหัวสูงลิ่วสำหรับคนที่ให้เบาะแสการเคลื่อนไหวต่อต้าน และนั่นก็ทำให้นอกจากนักเคลื่อนไหวแล้วยังมีผู้บริสุทธิ์อีกหลายคนถูกส่งมาที่นี่ หลายคนต้องจบชีวิตลงโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จากความผิดพลาดและความเจ็บปวดในอดีตนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันสถานที่นี้ให้เปิดตัวอีกครั้งในฐานะพิพิธภัณฑ์เมื่อกลางปีที่แล้ว เพื่อเป็นบทเรียนในการปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน

สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการยอมรับอดีตอันโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา และสื่อสารออกมาอย่างจริงใจ ที่ล็อบบี้นอกจากจะมีเอกสารให้อ่านเพิ่มเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงภาษาไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีบริการให้ยืมเครื่องบรรยายครบทุกภาษาที่ว่ามาด้านบน

คุกจิ๋งเหม่ย

ก่อนจะเข้าไปยังอาคารเหรินอ้ายซึ่งเป็นอาคารคุมขังเก่า เราสะดุดตากับรูปปั้นเสี่ยจื้อสัตว์วิเศษสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า รูปปั้นนี้เป็นผลงานของอดีตนักโทษคนหนึ่ง ในอีกแง่ก็คือการเสียดสีและตั้งคำถามต่อเรื่องราวในอดีตที่รัฐบาลตอนนั้นทำกับพวกเขา

คุกจิ๋งเหม่ย

นักโทษการเมืองอยู่กันยังไง กินอะไร อาบน้ำเข้าห้องน้ำที่ไหน ทำอะไรได้บ้างในคุก เราสามารถหาคำตอบได้ที่นิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์ที่จำลองวิถีชีวิตนักโทษในสถานที่จริงที่ถูกอนุรักษ์ไว้ ตั้งแต่ห้องขังเดี่ยวไปจนถึงห้องขังรวมที่ในช่วงแรกต้องอยู่ร่วมกันกว่า 30 คน ภายในห้องขนาดไม่เกิน 20 ตารางเมตร พื้นที่ที่จำกัดทำให้นักโทษต้องสลับกันนอน ทุกคนต้องนอนตะแคง จนเมื่อคุกแออัดมากเกินไปจึงมีการย้ายนักโทษบางส่วนออกไปคุมขังที่คุกอื่น

คุกจิ๋งเหม่ย

คุกจิ๋งเหม่ย

เมื่อเดินเข้ามาถึงส่วนของห้องขัง ทางเดินแคบๆ ประตูกับช่องตาแมวสีเขียวสดทำให้เรารู้สึกอึดอัดเมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงว่ามีคนเคยถูกขังอยู่ที่นี่จริงๆ โดยไม่มีสิทธิจะเดินออกไปภายนอกแม้จะห่างออกไปเพียงไม่กี่ก้าว ช่องตาแมวที่แม้จะเล็กแต่ก็มากพอให้มองเข้าไปสอดส่องในห้องขังได้ไม่เว้นบริเวณโถส้วมบอกเราว่า ที่นี่นักโทษไม่มีแม้กระทั่งความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐานที่สุด นักโทษที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขังจะต้องกินอาหารที่ถูกส่งเข้ามาทางประตูแมว ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในห้องแคบๆ แห่งนี้

คุกจิ๋งเหม่ย

คุกจิ๋งเหม่ย

นักโทษที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขังได้บางส่วนจะถูกส่งให้ไปช่วยงานยังจุดต่างๆ เช่น ห้องซักรีด ห้องครัว นักโทษเหล่านี้สามารถทานอาหารที่โรงอาหาร และบางครั้งจะได้ออกไปสูดอากาศและยืดเส้นยืดสายได้สั้นๆ เป็นเวลา 15 นาทีที่ลานเล็กๆ ที่มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องตลอดเวลา นักโทษหญิงที่อาศัยบนชั้นสองจะไม่ได้มีสิทธิพิเศษเท่านักโทษชาย พวกเธอได้รับอนุญาตอย่างมากที่สุดก็ออกมาเดินเล่นบริเวณระเบียงทางเดินเท่านั้น

คุกจิ๋งเหม่ย

คุกจิ๋งเหม่ย

ในโรงอาหารมีหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยพรรคก๊กมินตั๋งแขวนไว้สำหรับนักโทษ แต่ถึงอย่างนั้นเนื้อหาที่ล่อแหลมก็มักถูกเซนเซอร์โดยการตัดออกจนเป็นรู ทำให้ในหมู่นักโทษจะเรียกหนังสือพิมพ์นี้ว่า ต้งต้งเป้า หรือหนังสือพิมพ์ที่เป็นรูๆ

ความสุขเล็กน้อยของนักโทษอาจเป็นวันพบญาติ ที่ห้องเยี่ยมนักโทษทั้งสองฝ่ายต่างนั่งกันคนละฝั่งของกระจก และต้องสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยฟังอยู่ในสายด้วย นักโทษและญาติไม่ได้รับอนุญาตให้คุยกันในภาษาอื่นนอกจากภาษาจีนกลาง และการคุยในประเด็นอ่อนไหว เช่น การไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความโหดร้ายในคุกก็เป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน ที่ห้องนี้เราสามารถทดลองพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์จากสองฝั่งห้องได้ โทรศัพท์บางเครื่องก็บันทึกคำสัมภาษณ์ของอดีตนักโทษที่มีต่อ ‘คุกจิ๋งเหม่ย’ แห่งนี้เอาไว้ เมื่อยกหูขึ้นมาฟังก็เหมือนว่าเรากำลังสนทนาอยู่กับพวกเขาเหล่านั้นจริงๆ 

ในช่วงต้นของการประกาศกฎอัยการศึกของไต้หวัน การมีอยู่ของคุกแห่งนี้ไม่เคยได้รับการเปิดเผยต่อสังคมโลก เพราะรัฐบาลก๊กมินตั๋งในตอนนั้นต้องการให้ไต้หวันมีภาพลักษณ์เป็นประเทศประชาธิปไตย จึงปฏิเสธว่าไต้หวันไม่มีนักโทษการเมือง ยิ่งทำให้สภาพชีวิตของนักโทษขาดการดูแลอย่างเหมาะสม จนกระทั่งนายแพทย์คนหนึ่งที่ถูกคุมขังและช่วยงานอยู่ในห้องพยาบาลได้รวบรวมชื่อและประวัติการรักษาของนักโทษแอบส่งออกไปยังสื่อต่างประเทศ ทำให้การมีอยู่ของคุกแห่งนี้ได้รับการยืนยันในที่สุด เมื่อถูกกดดันจากองค์กรนานาชาติ สภาพความเป็นอยู่ของนักโทษจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งวันที่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกชีวิตที่จะโชคดีได้รับการปล่อยตัว หลายคนป่วยและเสียชีวิตอยู่ภายในคุก อีกหลายคนต้องโทษประหาร ที่ห้องพักของผู้คุมเป็นห้องแรกที่นักโทษต้องมาทำประวัติเมื่อมาถึงคุกจิ๋งเหม่ย และเป็นห้องสุดท้ายสำหรับนักโทษประหารที่มารอรับโทษในวาระสุดท้ายของชีวิต นาฬิกาบนผนังหยุดอยู่ที่เวลา 4 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาที่โทษประหารจะได้รับการยืนยันและผู้คุมจะรับนักโทษมายังห้องแห่งนี้ มันจึงเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเหล่านักโทษเพราะไม่รู้ว่าวันไหนตัวเองจะถูกเรียกตัวมายังห้องพักผู้คุมอีกครั้ง

ด้านหน้าห้องพักผู้คุมมีโซ่ตรวนวางอยู่ให้ผู้เข้าชมลองสัมผัสประสบการณ์การถูกตรวน เราลองยกขึ้นมาคล้องข้อเท้าของตัวเองไว้ มันทั้งหนักและยังชื้นจากอากาศในวันฝนตกและแน่นอนว่าทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างใจ

ดูนิทรรศการหลักหมดแล้ว เราเดินออกจากอาคารเหรินอ้ายไปยังรั้วด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ เจอกับแท่นปูนยาวหลายเมตรที่มีแท่นศิลาเล็กๆ เรียงอยู่ด้วยกัน กะด้วยสายตาน่าจะถึงหมื่นชิ้น แต่ละชิ้นสลักชื่อของอดีตนักโทษพร้อมปีที่ถูกส่งมายังคุกจิ๋งเหม่ยเอาไว้ที่มุมซ้ายบน ส่วนเลขตัวหลังคือเลขของปีที่พ้นโทษ หรือถ้าเป็นสีแดงคือปีที่ถูกตัดสินประหารชีวิต แท่นนี้ยาวและกินพื้นที่กว้างกว่าที่คิดมาก ถ้าเดินตามตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายอีกด้านหนึ่งซึ่งก็เยอะมากแล้วก็จะคิดว่าหมดแค่นี้ แต่จริงๆ แท่นนี้ยังมีอีกด้านและยังหักเลี้ยวออกไปอีก ทั้งหมดคือรายชื่อของผู้ที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ในฐานะนักโทษการเมือง หลายคนก็ยังมีชีวิตอยู่และมาช่วยงานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในฐานะอาสาสมัคร

สมัยก่อนตรงนี้จะเป็นประตูทางเข้าหลัก ตอนผมถูกส่งมาที่นี่ครั้งแรกก็มองเห็นรูปตาชั่งนี้แล้วก็ได้แต่คิดในใจว่าถ้าความยุติธรรมมีอยู่ที่นี่จริง ผมก็คงไม่ต้องมายืนอยู่ตรงนี้หรอกคุณตาเฉิน–อดีตนักโทษการเมืองที่ถูกจับเพราะถูกซัดทอดเพื่อรับค่าหัวบอกกับเราเมื่อเดินมาจนใกล้ถึงทางเข้าอีกครั้ง

dark tourist ของเราจบลงตรงนี้ แต่ความพยายามชำระประวัติศาสตร์ของไต้หวันยังคงดำเนินอยู่ กว่า 38 ปีที่ประกาศกฎอัยการศึกทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายหลายแสนคน ทั้งจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 และเหตุการณ์ยิบย่อยอีกมากมาย อย่างน้อยวันนี้ไต้หวันก็เดินหน้าต่อและไม่ลืมที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้คนในประวัติศาสตร์เหล่านั้น

เราในฐานะคนนอกก็ได้แต่หวังว่าชาวไต้หวันจะทำสำเร็จ

AUTHOR