อังกฤษเคยเป็นจักรวรรดิแต่ทำไมไม่มีตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอังกฤษ?

จักรพรรดิ

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 อังกฤษผู้เป็นหัวหอกของลัทธิจักรวรรดินิยม สามารถขยายเขตอำนาจจากเส้นเมดิเตอเรเนียนที่เมืองกรีนิช ข้ามไปยังแอฟริกา ปาเลสไตน์ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ดินแดนในปกครองของอังกฤษเรียกได้ว่ากว้างใหญ่ไพศาลแม้แต่อาณาจักรโรมันโบราณก็ไม่สามารถทาบรัศมีได้ นั่นนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจ ทำไมอาณาจักรที่กว้างใหญ่ยิ่งกว่าจักรวรรดิโรมันจึงไม่เคยมีผู้นำที่ถูกเรียกเป็นจักรพรรดิ? 

จักรพรรดิ

ตำแหน่งจักรพรรดิคืออะไร ใครสามารถตั้งตัวเป็นจักรพรรดิได้บ้าง

จักรพรรดิเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกอ้างอิงกลับไปในสมัยโรมัน จักรพรรดินั้นแปลตามตัวหมายถึงผู้ปกครองจักรวรรดิซึ่งประกอบไปด้วยเขตอำนาจต่างๆ ที่อาจมีผู้ปกครองย่อยเป็นกษัตริย์ เจ้าชาย ดยุก หรือเอิร์ล จักรพรรดินั้นถือว่าอยู่สูงสุดเหนือเจ้าผู้ปกครองของรัฐบริวาร ดังนั้นจึงมีสถานะเป็นเหมือนกษัตริย์ของหมู่มวลกษัตริย์ทั้งหลาย (king of kings) เราอาจอ้างอิงพีระมิดฐานันดรศักดิ์ในยุโรปโดยคร่าวได้ดังนี้ 

จักรพรรดิ 1

  • จักรพรรดิ/จักรพรรดินี (Emperor/Empress)
  • กษัตริย์/ราชินี (King/Queen) 
  • เจ้าชาย/เจ้าหญิง (Prince/Princess)
  • ดยุก/ดัชเชส (Duke/Duchess)  
  • มาร์ควิส/มาร์เชอเนส (Marquess/Marchioness)
  • เอิร์ล/เคาน์เตส (Earl/Countess) 
  • ไวส์เคานต์/ไวส์เคาน์เตส (Viscount/Viscountess) 
  • บารอน/บารอเนส (Baron/Baroness)
  • บารอเนต/บารอเนเตส (Baronet/Baronetess)  

อย่างไรก็ดีการตั้งตัวเป็นจักรพรรดิไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็สามารถกระทำได้ เนื่องจากต้องได้รับการยอมรับทั้งจากกลุ่มอำนาจภายในและภายนอก เงื่อนไขของการอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งจักรพรรดิโดยทั่วไปมักกระทำกันในสองกรณี

1. อ้างความเป็นทายาทของจักรวรรดิที่เคยเกิดขึ้นและล่มสลายไปก่อน กรณีนี้ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย ตำแหน่งซาร์นั้นเทียบเท่าการเป็นจักรพรรดิ พระเจ้าซาร์อ้างสิทธิ์เป็นผู้สืบทอดจักรวรรดิโรมันหลังกรุงคอนสแตนติโนเปิลล่มสลายไปในปี 1453 เนื่องจากอีวานที่ 3 แห่งรัสเซียได้สมรสและมีทายาทกับเจ้าหญิงแห่งคอนสแตนติโนเปิลผู้เป็นหลานสาวแท้ๆ ของจักรพรรดิพระองค์สุดท้าย รัสเซียจริงจังกับการอ้างสิทธิ์นี้กระทั่งเรียกผู้ปกครองของตัวเองว่าซาร์ (มาจากตำแหน่งซีซาร์ของจักรวรรดิโรมัน) และยกย่องมอสโกเป็นโรมแห่งที่ 3 (ตามหลังการล่มสลายของคอนสแตนติโนเปิล)

2. อ้างการควบรวมอาณาจักรต่างๆ ที่มีผู้ปกครองก่อนหน้าเป็นกษัตริย์ กรณีนี้ยกตัวอย่างเช่นการรวมตัวของดินแดนต่างๆ เข้าเป็นจักรวรรดิเยอรมันในปี 1871 จักรวรรดิเยอรมันเกิดจากการรวมตัวของอาณาจักรทั้ง 4 และเมืองอิสระที่มีฐานะต่างกันไป (ตั้งแต่แกรนด์ดัชชี่ที่ปกครองโดยแกรนด์ดยุก ดัชชี่ที่ปกครองโดยดยุก พรินซิพาลิตีที่ปกครองโดยเจ้าชาย และรัฐอิสระอื่นๆ) 

ในจำนวนแผ่นดินทั้งหมด ผู้ที่ครองพื้นที่มากที่สุดและได้เป็นผู้นำของจักรวรรดิ คืออาณาจักรปรัสเซีย (เมืองหลวงคือเบอร์ลิน) ตามมาด้วยอาณาจักรบาวาเรีย (เมืองหลวงคือมิวนิก) อาณาจักรซัคเซินหรือแซกโซนี่ (เมืองหลวงคือเดรสเดิน) และอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค (เมืองหลวงคือสตุ๊ตการ์ต) เนื่องจากปรัสเซียเป็นผู้นำในการรวมชาติและมีพื้นที่ปกครองมากที่สุด กษัตริย์แห่งปรัสเซียจึงได้รับการขนานนามว่า ‘ไกเซอร์’ (จักรพรรดิ) ในขณะที่อีกสามอาณาจักรมีผู้ปกครองที่ดำรงตำแหน่ง ‘กษัตริย์’ นั่นเท่ากับว่าไกเซอร์มีสถานะเป็นกษัตริย์ของกษัตริย์ (King of kings) ตามคำจำกัดความของการเป็นจักรพรรดิ 

หันกลับมาที่จักรวรรดิอังกฤษ อังกฤษนั้นไม่สามารถอ้างตำแหน่งจักรพรรดิโดยอ้างการเป็นทายาทของจักรวรรดิก่อนหน้า เนื่องจากไม่ได้สืบสายเลือดหรือยึดครองดินแดนมาจากจักรวรรดิโรมัน อังกฤษไม่สามารถใช้สิทธิ์ควบรวมอาณาจักรต่างๆ ได้เหมือนกัน เนื่องจากดินแดนของอังกฤษมีประมุขเพียงคนเดียวคือกษัตริย์ซึ่งประทับอยู่ในลอนดอน ไม่ได้มีการตั้งผู้ปกครองสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ หรือเวลส์ ให้เป็นกษัตริย์ ดังนั้นผู้ปกครองอังกฤษจึงไม่สามารถอ้างต้นเป็นกษัตริย์แห่งกษัตริย์ (King of kings) ได้

กษัตริย์อังกฤษเคยสนใจตั้งต้นเป็นจักรพรรดิบ้างหรือไม่? 

ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวเดอร์ (1509-1547) เมื่อทรงแตกหักกับโรมเพราะต้องการหย่าขาดจากพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอนมาสมรสครั้งที่ 2 กับแอนน์ โบลีน พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ประกาศตนเป็นพระมุขแห่งคริสตจักรโบสถ์อังกฤษและได้มีการโปรโมตอำนาจเด็ดขาดในลักษณะที่ใกล้เคียงกับจักรพรรดิ ยกตัวอย่างเช่น ทรงเปลี่ยนให้ข้ารับใช้เรียกแทนกษัตริย์ด้วยคำว่า ‘Your Majesty’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกแทนตัวจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ก่อนหน้านี้กษัตริย์อังกฤษมีสรรพนามเรียกกษัตริย์ว่า ‘Your Grace’ ดังนั้นหนังประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาย้อนกลับไปก่อนสมัยราชวงศ์ทิวเดอร์จะปรากฏการใช้คำเรียกกษัตริย์ที่แตกต่างจากปัจจุบัน) ถึงอย่างนั้นเฮนรี่ก็ไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิเพียงแต่ปรับให้ฐานะอำนาจของพระองค์มีความเด็ดขาดมากขึ้นเท่านั้น 

จักรพรรดิ 2

จักรพรรดิ

ในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งราชวงศ์ฮาโนเวอร์ (1760-1820) เคยมีการเสนอให้พระองค์รับตำแหน่งเป็น Emperor of the British Isles หลังการควบรวมรัฐสภาของอังกฤษและไอร์แลนด์เข้าด้วยกัน จอร์จที่ 3 ปฏิเสธความคิดนี้เนื่องจากพระองค์มองว่าอังกฤษไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นจักรพรรดิ อีกทั้งราชวงศ์ฮาโนเวอร์ของพระองค์ยังครองสิทธิ์เป็นหนึ่งในเจ้าผู้คัดเลือกจักรพรรดิ (หมายถึงพระองค์เป็นหนึ่งในเจ้าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนคัดเลือกจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญกับทวีปยุโรป) หากพระองค์ตั้งตนเป็นจักรพรรดิเสียเอง ก็อาจเป็นการขัดผลประโยชน์ทางการเมืองกับรัฐอื่นๆ ตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายไปในยุคของจักรพรรดินโปเลียน ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลของจอร์จที่ 3

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 อังกฤษยึดเอาแนวคิดภาระคนขาวเพื่อเป็นข้ออ้างในการครอบครองดินแดนโพ้นทะเล โดยกล่าวว่าชาวอังกฤษเป็นผู้รับภาระจากพระเจ้าให้ขยายอาณาจักรของพระองค์บนโลก เป็นการกระทำเพื่อนำส่ง ‘ความศิวิไลซ์’ ไปให้ประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนของประเทศนั้นๆ ในท้ายสุด 

พื้นที่ครอบครองของอังกฤษกว้างใหญ่จนถูกเรียกเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ราชินีผู้สวมมงกุฎเป็นประมุขของอังกฤษในตอนนั้นคือควีนวิกตอเรีย (1837-1901) พระองค์เคยสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่พระองค์จะอ้างสิทธิ์ในการเป็นจักรพรรดินี เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมืองเนื่องจากในยุคนั้น ดินแดนยิ่งใหญ่ในยุโรปล้วนมีผู้ปกครองเป็นจักรพรรดิ ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดิเยอรมนีที่ปกครองโดยไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่ปกครองโดยจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟ และจักรวรรดิรัสเซียที่ปกครองโดยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 

ควีนวิกตอเรียยื่นความต้องการต่อรัฐสภา หลังจากที่ลูกสาวคนโตของพระองค์ คือเจ้าหญิงวิกตอเรีย ราชกุมารี ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นไกเซอรินแห่งจักรวรรดิเยอรมันหลังพระสวามีขึ้นครองราชย์เป็นไกเซอร์ฟรีดริชที่ 3 ควีนวิกตอเรียต้องการให้ฐานะของพระองค์ไม่ด้อยไปกว่าลูกสาว แต่รัฐสภาอังกฤษลังเลใจในข้อนี้เนื่องจากอังกฤษปกครองแบบเสรีนิยม (อย่างน้อยก็มากกว่ารัฐอื่นๆ ในยุโรป) การมอบตำแหน่งจักรพรรดิให้กษัตริย์ดูจะขัดกับหลักการทางกฎหมาย เพราะกลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์ซึ่งควรถูกจำกัดใต้รัฐธรรมนูญ เบนจามิน ดิสราเอลี นายกรัฐมนตรีของอังกฤษค์จึงได้คิดวิธีแก้ โดยเสนอตำแหน่งจักรพรรดินีแห่งอินเดียให้ควีนวิกตอเรียแทน เนื่องจากอินเดียประกอบด้วยรัฐหลากหลาย แต่ละรัฐมีเจ้าผู้ปกครองอยู่ก่อน ดังนั้นควีนวิกตอเรียจึงอ้างสิทธิ์ได้ว่าพระองค์เป็นราชินีเหนือราชัน

เจ้าหญิงวิกตอเรีย

ควีนวิกตอเรียพอใจในข้อเสนอนี้ทำให้ตั้งแต่รัชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา กษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษมีฐานะเป็น King-Emperor และ Queen-Empress กระทั่งอินเดียประกาศอิสรภาพไปในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระบิดาของควีนเอลิซาเบธที่ 2) 

จักรพรรดิ

ทุกวันนี้แนวคิดเรื่องจักรพรรดิเป็นเพียงมรดกของประวัติศาสตร์ บรรดารัฐต่างๆ ที่อ้างสิทธิ์ขาดในลักษณะจักรวรรดิ ล้วนล่มสลายไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขตแดนต่างๆ ประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ประเทศเดียวในโลกที่ยังคงเรียกประมุขของชาติเป็นจักรพรรดิ คือประเทศในฝั่งทวีปเอเชียคือประเทศญี่ปุ่น


อ้างอิง:

ซัตเทอร์แลนด์, จอห์น. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ. – กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป, 2561. (273-276)  

Blood and Iron: The Rise and Fall of the German Empire by Katja Hoyer 

Could The Queen be made Empress of Great Britain?- royalcentral.co.uk

Why Wasn’t the British Empire Ruled by A British Emperor? (Short Animated Documentary) – youtube.com/watch
Who has the best claim to the title of Roman Emperor? – youtube.com/watch

AUTHOR