“ฉันเกิดในสีม่วง” เรื่องราวสูงสุดสู่สามัญของสีที่บอกว่าฉันคนนี้มีความเป็นราชนิกุล

สีม่วง

แต่ไหนแต่ไรมาสีม่วงก็มีเรื่องราวผูกพันกับกษัตริย์และราชินีมาตลอด

คิงไซรัส กษัตริย์แห่งเปอร์เซียใช้สีม่วงเป็นสีประจำพระองค์ จักรพรรดิโรมันบางองค์ออกกฎห้ามราษฎรทั่วไปใส่เสื้อผ้าสีม่วงเพราะเป็นของสูง โทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต คลีโอพัตรา ราชินีแห่งอียิปต์ชื่นชอบสีม่วงเป็นที่สุด ในวันที่ต้องการสร้างความประทับใจให้นักการเมืองชาวโรมัน มาร์ค แอนโทนี พระองค์ตั้งใจเดินทางมาทาร์ซัสด้วยเรือสีทองประดับใบเรือสีม่วงเพื่อสื่อว่าทรงมีสถานะเป็นดั่งเทพธิดา

ความนิยมสีม่วงมีที่มาจากตรงไหน ทำไมสีม่วงจึงถูกสงวนไว้ให้บุคคลที่มีความสำคัญสูงสุดเท่านั้น

เอลิซาเบธ เทเลอร์ในบทคลีโอพัตรา ชื่เอกันว่าราชินีแห่งอียิปต์โปรดสีม่วงมากเพราะเป็นการเปรียบเปรยว่าทรงเป็นเทพธิดามาจุติ | Image : theguardian.com

Born in the Purple ฉันเกิดในสีม่วง

คำตอบสั้นๆ อธิบายได้ด้วยกลไกราคา สีม่วงเป็นสีที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครองเพราะมีแต่คนบนยอดสูงสุดของพีระมิดเท่านั้นที่มีอำนาจทางการเงินมากพอจะครอบครองสิ่งของที่เป็นสีม่วง ที่มาของสีม่วงในประวัติศาสตร์แตกต่างจากสีอื่นอย่างน่าสนใจ มันไม่ได้มาจากแร่หินหรืออัญมณีมีค่า แต่ได้มาจากการล่าหอยทากทะเลชนิดหนึ่งมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Murex snail หอยทากทะเลชนิดนี้พบได้ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น และการจะได้มาซึ่งสีย้อมแค่ 1.4 กรัม จำเป็นต้องทุบทำลายหอยทากมากกว่า 12,000 ตัว

ตัวอย่างหอยทากทะเลที่เอามาทุบ | Image : krikor-tersakian.blogspot.com

พลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) หรือกาอิอุส ปลีนิอุส แซกุนดุส นักธรรมชาติวิทยาผู้มีชีวิตอยู่ในอาณาจักรโรมันช่วงระหว่างปี ค.ศ. 23-79 กล่าวถึงกรรมวิธีในการผลิตสีม่วงจากหอยทากทะเลว่าต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 10 วันในการจับหอยทากทะเลให้ได้ปริมาณมากพอ นำมาทุบเปลือกเพื่อให้เมือกสีม่วงไหลออกมา จากนั้นนำไปต้มในภาชนะ รอเวลาหมัก ทั้งหมดนี้เพื่อสีย้อมปริมาณ 1.4 กรัมที่สามารถย้อมผ้าได้ประมาณหนึ่งผืน

ความที่สีม่วงมีที่มาแปลกประหลาดและหายาก แถมสถานที่ที่สามารถจับหอยทากทะเลชนิดนี้ก็มีแค่ที่เมืองไทร์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเลบานอน) ทำให้ความต้องการ ‘สีม่วงไทเรียน–Tyrian purple’ (สีม่วงจากเมืองไทร์) กลายเป็นเรื่องใหญ่ จักรพรรดิออเรเลียน ผู้ปกครองอาณาจักรโรมันช่วงศตวรรษที่ 3 ถึงขั้นสั่งห้ามพระชายาไม่ให้ซื้อผ้าคลุมไหล่ที่ทำจากไหมสีม่วงจากเมืองไทร์ คำสั่งของออเรเลียนไม่ได้แสดงถึงความขี้เหนียวแต่อย่างใด เพราะในตอนนั้นสีย้อมสีม่วงน้ำหนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 450 กรัม) มีราคาเท่ากับทองคำ 3 ปอนด์ ซึ่งถ้าให้เทียบกันไวๆ ทองคำ 3 ปอนด์ในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 62,327 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,900,000 บาท ซึ่งออกจะมากเกินไปสำหรับผ้าคลุมไหล่หนึ่งผืนของจักรพรรดินี  

เฉดของสีม่วงไทเรียนเมื่อเทียบกับสีม่วงอื่นๆ | Image : mountainofink.com
Emperor Justinian I แห่งไบเซนไทน์ในชุดสีม่วง | Image : reddit.com_r_ArtHistory_comments_gjri0d_byzantine_emperor_justinian_i_clad_in_tyrian_

ในอาณาจักรไบเซนไทน์ การซื้อขายสีม่วงไทเรียนถูกกำหนดชัดในกฎหมายว่าสีม่วงสามารถสวมใส่ได้โดยใคร ผลิตได้จากพ่อค้าเจ้าไหน และแต่ละเจ้ามีโควตาในการนำเข้าเพื่อผลิตได้เท่าไหร่บ้าง แน่นอนว่าสีม่วงของอาณาจักรถูกสงวนไว้สำหรับผู้ปกครอง แต่การใช้สีม่วงของไบเซนไทน์ไปไกลถึงขั้นกำหนดให้จักรพรรดิลงนามในเอกสารคำสั่งด้วยสีม่วง ความเคารพและศักดินาที่มากับสีนำไปสู่คำกล่าวโด่งดังที่เปรียบเทียบลูกหลานของจักรพรรดิว่าเป็น ‘ผู้กำเนิดในสีม่วง’ (born in the purple)

ไบเซนไทน์เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสีม่วงจากเมืองไทร์จนถึงปี ค.ศ. 1204 หลังจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของอาณาจักรไบเซนไทน์ถูกโจมตีปล้นสะดมโดยนักรบครูเสด สถานะทางการเงินของอาณาจักรก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนไม่อาจใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้อีกต่อไป (กล่าวกันว่าความเสียหายหลังถูกปล้นโดยชาวคริสต์ด้วยกันสาหัสยิ่งกว่าครั้งที่ถูกบุกยึดโดยกองทัพออตโตมันในปี ค.ศ. 1453 เสียอีก)

เดวิด จาโคบี อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย The Hebrew University of Jerusalem กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “หลังปี 1204 เป็นต้นไป ไม่มีทายาทราชวงศ์คนไหนหรือผู้นำคนใดในอาณาจักรไบเซนไทน์มีเงินมากพอที่จะซื้อสีม่วงจากเมืองไทร์ได้อีก” การจากไปของสีม่วงในแง่หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเสื่อมลงของอาณาจักรไบเซนไทน์ที่ล่มสลายในอีก 200 ปีต่อมา   

พรสีม่วงจากพระเจ้า

แม้ความรุ่งเรืองของสีม่วงในอาณาจักรไบเซนไทน์จะจบไป แต่ในยุโรปตะวันตก ความนิยมสีม่วงก็ยังสืบทอดต่อมาโดยจำกัดกลุ่มผู้ใช้อยู่แค่นักบวชตำแหน่งสูงในคริสตจักรและบุคคลสำคัญของแต่ละราชวงศ์ ในสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 1 (ค.ศ. 1533-1603) ทรงกำหนดกฎที่น่าสนใจห้ามไม่ให้บุคคลใดที่ไม่ใช่ราชวงศ์ชั้นสูงสวมใส่เสื้อผ้าสีม่วง กฎของควีนเอลิซาเบธระบุชัดว่าผู้ที่สวมใส่สีม่วงได้จะต้องเป็น 1. กษัตริย์หรือราชินี 2. มารดาของกษัตริย์หรือราชินี 3. พี่น้องของกษัตริย์หรือราชินี 4. โอรส-ธิดาของกษัตริย์และราชินี 5. ลุงป้าน้าอาของกษัตริย์หรือราชินี 

ที่เป็นแบบนี้เพราะสีม่วงในความเชื่อของยุโรปเกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง มีการโยงว่าสีม่วงหมายถึงพรจากพระเจ้า ดังนั้นผู้สวมใส่สีม่วงคือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากพระผู้เป็นเจ้าให้มาปกครองแผ่นดิน การครอบครองสีม่วงในยุคของควีนเอลิซาเบธจึงไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องความหรูหรา แต่เป็นการใช้สีเพื่อกำหนดกฎระเบียบและหน้าที่ของบุคคลในสังคม

ควีนวิกตอเรียในชุดสีม่วง | Image : fashionologiahistoriana.com
จอร์ชที่ 6 พระบิดาของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในชุดสีม่วงที่สื่อถึงความเป็นกษัตริย์

จากสีสูงสุดสู่สามัญ

กว่าสีม่วงจะสลัดคราบความรวยออกไปก็ต้องรอกระทั่งปี ค.ศ. 1856 เมื่อวิลเลียม เพอร์กิน นักเคมีชาวอังกฤษวัย 18 ปีค้นพบสารประกอบสีม่วงโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะทำการทดลองเพื่อสังเคราะห์ควินินซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย การค้นพบของเพอร์กินกลายเป็นข่าวดีของวงการแฟชั่นเพราะสีที่เขาค้นพบนั้นนอกจากจะสามารถนำไปย้อมผ้าได้ ยังเป็นสีคุณภาพดีที่ติดทนนาน เหมาะกับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพอร์กินจดทะเบียนสีที่เขาค้นพบโดยตั้งชื่อว่า mauve มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียกดอกชบาฝรั่งที่มีสีคล้ายกัน 

ตัวอย่างผ้าไหมที่ถูกย้อมด้วยสีม่วง mauve | Image : edition.cnn.com_style_article_perkin-mauve-purple_index.html
ตัวอย่างชุดสีม่วงจากยุควิกตอเรียน | Image : mimimatthews.com

หลังจากนั้นสีม่วงก็เป็นที่นิยมอย่างมากในยุควิกตอเรียน หนังสือแฟชั่นร่วมสมัยอย่าง Color in Dress ถึงขั้นกล่าวว่าสีม่วงนั้น “เป็นสีที่น่าจับตามากที่สุดเพราะใส่ได้ทุกฤดูกาลและเหมาะอย่างมากสำหรับหญิงสาวที่มีผมสีเข้ม สำหรับสุภาพสตรีผมสีอ่อน แนะนำให้สวมสีม่วงที่มีเฉดอ่อนลงไปเช่นสีไลแลค” ควีนวิกตอเรียเองก็ตามแฟชั่นและโปรดสีม่วงไม่แพ้กัน ทรงเลือกชุดสีม่วงสำหรับสวมในงานแต่งของลูกสาวคนแรกคือเจ้าหญิงวิกตอเรียในปี ค.ศ. 1858 น่าเสียดายที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของราชินีสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นเพียง 3 ปี เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นราชินีสวมใส่เสื้อผ้าสีอื่นอีกนอกจากสีดำ

ควีนวิกตอเรียสวมชุดสีม่วงในงานแต่งของเจ้าหญิงวิกตอเรีย | Image : th.wikipedia.org

ชั่วโมงต้องห้ามสีม่วง

ความนิยมสีม่วงไม่ได้มีแค่ด้านดีเสมอไป เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ‘สีม่วง’ หรือคำว่า ‘ลาเวนเดอร์’ กลายเป็นคำที่ใช้กล่าวหาพฤติกรรมรักร่วมเพศ (คำนี้มีนัยในเชิงเหยียดเพศ ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์หลีกเลี่ยงไม่ใช่คำนี้กันแล้ว) ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนและกวีคนสำคัญของอังกฤษเคยกล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาใช้กับเด็กหนุ่มขายบริการว่า ‘ชั่วโมงสีม่วง’ (purple hours)

ข้อหารักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษมานานหลายร้อยปีและมีระดับการลงโทษที่ต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ในช่วงศตวรรษที่ 19 กฎหมายอังกฤษมีบทลงโทษสำหรับการ ‘ร่วมเพศทางทวารหนัก’ คือการจำคุก (ไม่จำกัดว่าจะเป็นชาย-ชายหรือชาย-หญิง เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสืบพันธุ์) ออสการ์ ไวลด์ เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องโทษจำคุก 2 ปี แถมถูกปรับเงินก้อนใหญ่จนล้มละลายหลังมีความสัมพันธ์ฉาวกับลอร์ดอัลเฟรด ดักลาส ลูกชายของมาร์ควิสที่ 9 แห่งควีนส์เบอร์รี

ออสการ์ ไวลด์ | Image : pilloledistoria.it

การตามจับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้จบลงแค่ในยุโรป ในสหรัฐอเมริกามีการกล่าวถึงปรากฏการณ์ตามล่ากลุ่มที่โดนกล่าวหาว่ารักร่วมเพศว่า ‘ความหลอนสีลาเวนเดอร์’ (Lavender Scare) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940-1950 เมื่อสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงกลัวคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง แต่แทนที่จะไปตามหากลุ่มคนนิยมคอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียว รัฐบาลอเมริกันกลับมีคำสั่งให้ตามล่าหาข้าราชการที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน โดยอ้างว่าคนเหล่านี้มีภาวะที่เสี่ยงต่อการทำข้อมูลรั่วไหลเพราะอาจถูกคอมมิวนิสต์แบล็กเมลจนต้องเอาข้อมูลลับไปขายให้ศัตรูเพื่อกู้หน้าในสังคม (เนื่องจากการเป็นเกย์ยังไม่ได้รับการยอมรับในยุคนั้น) หรืออาจถูกชักจูงให้เข้าสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ง่าย 

อันที่จริงไม่เคยมีผลสำรวจไหนออกมารับรองว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะเก็บความลับไม่ได้หรือมีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แต่ความกลัวสีลาเวนเดอร์ก็ตามหลอกหลอนบรรดาข้าราชการในสหรัฐฯ ไปอีกหลายปี ว่ากันว่าในช่วงที่การตามล่าพีคถึงจุดสูงสุด มีข้าราชการถูกไล่ออกหรือบังคับให้ลาออกจากงานทุกวันเพราะถูกกล่าวหา (หรือแค่สงสัย) ว่ามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ น่าสนใจว่าคำสั่งนี้แม้จะเลิกปฏิบัติไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ก็ยังไม่เคยถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการจนถึงปี 1995!

โลกที่ไร้ธงชาติสีม่วง

มาถึงอีกคำถามที่น่าสนใจ ถ้าสีม่วงหมายถึงราชวงศ์และพรจากพระเจ้า ทำไมเราแทบไม่เคยเห็นธงชาติของประเทศไหนใช้สีม่วงเป็นส่วนประกอบเลย

คำตอบคือธงชาติและธงราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปนั้นเริ่มมีการใช้ตั้งแต่ยุคกลางหรือก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สีม่วงยังมีราคาแพงมากจนไม่มีราชวงศ์ไหนหรืออาณาจักรใดมีสถานะทางการเงินดีพอจะย้อมธงทุกผืนให้เป็นสีม่วง (อาจเป็นโชคดีของหอยทากทะเล) ในบรรดารัฐต่างๆ ในยุโรป มีเพียงแคว้นกัสติยาและเลออนของสเปนเท่านั้นที่ใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ แต่สีม่วงของรัฐนี้ก็ไม่ใช่สีม่วงแบบที่เราเห็นกันทั่วไป เพราะเป็นการนำสีแดงมาย้อมทับด้วยสีน้ำเงินทำให้ได้สีออกมาครึ่งๆ กลางๆ ไม่สวยสดเหมือนสีม่วงไทเรียน

ธงของกัสติยาและเลออน | Image : en.wikipedia.org_wiki_Castile_and_León

ยังไงก็ดี หลังสีม่วงสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม แน่นอนว่าบรรดาชาติที่มีธงของตัวเองแล้วย่อมไม่ต้องการเปลี่ยนสีให้สับสน ส่วนชาติที่เกิดใหม่ในยุคหลังก็ไม่นิยมใช้สีม่วงเพราะสีม่วงสื่อถึงราชวงศ์และเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา ในขณะที่ชาติเกิดใหม่หลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ถ้าไม่ใช่เพิ่งหลุดออกจากลัทธิจักรวรรดินิยมก็ไม่นิยมการปกครองด้วยกษัตริย์หรือมีแนวคิดอ้างอิงศาสนา สีที่มีความหมายสื่อถึงชนชั้นอย่างสีม่วงจึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป 

น่าสนใจว่าในทวีปยุโรปเคยมีประเทศเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนธงชาติให้มีสีม่วงในช่วงเวลาสั้นๆ ประเทศที่ว่านี้คือประเทศสเปนที่เคยใช้ธงชาติสีแดง เหลือง ม่วง โดยสีแดงและเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นอารากอน ส่วนสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นกัสติยาและเลออน 2 แคว้นสำคัญที่รวมกันเป็นประเทศสเปน ยังไงก็ดี ธงชาติสีนี้ถูกยกเลิกไปในสมัยเผด็จการนายพลฟรังโก และแม้ปัจจุบันสเปนจะกลับมามีกษัตริย์อีกครั้งแต่สัญลักษณ์สีม่วงบนธงชาติก็ไม่ถูกนำกลับมาใช้อีก

ปัจจุบันมีเพียง 2 ชาติเท่านั้นที่ใช้สีม่วงเป็นส่วนประกอบของธงชาติ นั่นคือประเทศโดมินิกันและนิการากัวซึ่งเริ่มใช้สีม่วงบนธงในยุคหลังคือปลายศตวรรษท่ี 19 หลังจากสีนี้ไม่ได้มีราคาสูงเหมือนในอดีตอีกต่อไป

แม้ทุกวันนี้สีม่วงอาจไม่ได้หมายถึงความหรูหราและบุคคลธรรมดาก็สามารถสวมใส่สีนี้โดยไม่มีข้อกำหนดเหมือนในอดีต แต่ความทรงจำที่มากับสีม่วงก็เป็นหลักฐานที่ทำให้เรารู้ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การแบ่งแยกชนชั้นเคยฝังรากลึกไปถึงการใช้สีสันด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

artsandcollections.com

edition.cnn.com

elizabethan-era.org.uk

history.com

history.com

livescience.com

mimimatthews.com

theamericanscholar.org

youtube.com

youtube.com

youtube.com

ธงชาติและธงราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปนั้นเริ่มมีการใช้ตั้งแต่ยุคกลางหรือก่อนหน้าซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สีม่วงยังมีราคาแพงมากจนไม่มีราชวงศ์ไหนหรืออาณาจักรใดมีสถานทางการเงินดีพอจะย้อมธงทุกผืนให้เป็นสีม่วง (ซึ่งอาจเป็นโชคดีของหอยทากทะเล) ในบรรดารัฐต่างๆ ในยุโรป มีเพียงแคว้นกัสติยาและเลออนของสเปนเท่านั้นที่ใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ แต่สีม่วงของรัฐนี้ก็ไม่ใช่สีม่วงแบบที่เราเห็นกันทั่วไปเพราะเป็นการนำสีแดงมาย้อมทับด้วยสีน้ำเงินทำให้ได้สีออกมาครึ่งๆ กลางๆ ไม่สวยสดเหมือนสีม่วงไทเรียน
หลังสีม่วงสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม แน่นอนว่าบรรดาชาติที่มีธงของตัวเองแล้วย่อมไม่ต้องการเปลี่ยนสีให้สับสน ส่วนชาติที่เกิดใหม่ในยุคหลังก็ไม่นิยมใช้สีม่วงเพราะสีม่วงสื่อถึงราชวงศ์และเกี่ยวข้องกับคริสตศาสนา ในขณะที่ชาติเกิดใหม่หลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ถ้าไม่ใช่เพิ่งหลุดออกจากลัทธิจักรวรรดินิยมก็ไม่นิยมการปกครองด้วยกษัตริย์หรือมีแนวคิดอ้างอิงศาสนา สีที่มีความหมายสื่อถึงชนชั้นอย่างสีม่วงจึงไม่เป็นที่นิยมกันอีกต่อไป 
ทวีปยุโรปเคยมีประเทศเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนธงชาติให้มีสีม่วงในช่วงเวลาสั้นๆ ประเทศที่ว่านี้คือประเทศสเปนที่เคยใช้ธงชาติสีแดง เหลือง ม่วง โดยสีแดงและเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นอารากอน ส่วนสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นกัสติยาและเลออน สองแคว้นสำคัญที่รวมกันเป็นประเทศสเปน อย่างไรก็ดี ธงชาติสีนี้ถูกยกเลิกไปในสมัยเผด็จการนายพลฟรังโก และแม้ปัจจุบันสเปนจะกลับมามีกษัตริย์อีกครั้งแต่สัญลักษณ์สีม่วงบนธงชาติก็ไม่ถูกนำกลับมาใช้อีก
มีเพียงสองชาติเท่านั้นในปัจจุบันที่ใช้สีม่วงเป็นส่วนประกอบของธงชาติ นั่นคือประเทศโดมินิกันและนิการากัวซึ่งเริ่มใช้สีม่วงบนธงในยุคหลังคือปลายศตวรรษท่ี 19 หลังจากสีนี้ไม่ได้มีราคาสูงเหมือนในอดีตอีกต่อไป

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที