ยุควิกตอเรียน (ปี 1837-1901) เป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์มากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ โลกก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่สร้างแบบแผนใหม่ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระทบไปถึงการการสร้างครอบครัวที่มีสามี-ภรรยาเป็น ‘คู่ชีวิต’ (companionate marriage) ซึ่งเป็นแนวคิดแบบใหม่ แทนที่การแต่งงานเพื่อ ‘ความเหมาะสม’ เพียงอย่างเดียว
ควีนวิกตอเรีย ราชินีผู้ปกครองอังกฤษยาวนานถึง 63 ปี เป็นตัวอย่างของการแต่งงานกับคู่ชีวิต ราชินีอังกฤษเลือกเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นพระสวามีโดยมีความรักเป็นที่ตั้ง พระองค์ยังประสงค์จะให้ลูกสาวและลูกชายทุกคนเลือกคู่สมรสด้วยความรัก (แม้จะมีตัวเลือกหดสั้นอยู่แค่ตระกูลสำคัญในยุโรป) เจ้าหญิงวิกตอเรีย หรือวิกกี้ ลูกสาวคนโตของบ้าน เลือกสมรสกับเจ้าชายฟรีดริช รัชทายาทของปรัสเซีย ซึ่งต่อมากลายเป็นจักรวรรดิเยอรมนีอันยิ่งใหญ่ ทั้งสองพบกันตอนฟรีดริชเดินทางมางาน The Great Exhibition ที่อังกฤษเมื่อปี 1851 สี่ปีต่อมา ฟรีดริชเดินทางมาสู่ขอวิกกี้ การแต่งงานของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นเพราะความรักเป็นที่ตั้งแม้จะสมประโยชน์ทางการเมืองเป็นอย่างยิ่งก็ตาม
เจ้าหญิงอลิซ ลูกสาวคนรองของควีนวิกตอเรีย ก็สมรสด้วยความสมัครใจ แม้ควีนวิกตอเรียจะปรารถนาให้ลูกสาวสมรสกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ที่เป็นถึงรัชทายาทของฮอลแลนด์ แต่เมื่ออลิซไม่ถูกใจเจ้าชายวิลเลียมหลังเจอตัวจริง ราชินีอังกฤษก็เสนอตัวเลือกถัดไปในทันที สุดท้ายเจ้าหญิงอลิซตัดสินใจสมรสกับเจ้าชายหลุยส์แห่งเฮสส์และไรน์ เจ้านายเยอรมันที่มีฐานะและความสำคัญรองลงมา จะเห็นได้ว่าการสมรสของชนชั้นนำซึ่งกลายเป็นแบบแผนของสังคมในยุคนั้นไม่ได้ตัดสินคู่ครองแค่เรื่องความเหมาะสมด้านฐานะ แต่ยังเปิดโอกาสให้พื้นที่ของ ‘ความรัก’ ได้งอกงามอยู่บ้าง
แนวคิดเรื่องการแต่งงานด้วยความรักภายใต้ความเหมาะสมเปิดโอกาสให้ชายหญิงมีโอกาสใช้เวลาทำความรู้จักกันก่อนสมรส Sharon Marcus อาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษจาก Columbia University กล่าวว่าคนในยุคนี้ยินดีครองตัวเป็นโสดมากกว่าแต่งงานโดยปราศจากความรัก (และการครองตัวเป็นโสดในยุคนั้นก็ได้รับการยอมรับมากกว่าการแต่งงานกับคู่สมรสต่างฐานันดร–ผู้เขียน)
เนื่องจากการสมรสแบบ ‘คู่ชีวิต’ ได้รับความนิยมมากขึ้น หนังสือประเภท ‘how to’ จีบสาวยังไงให้เป็นสุภาพบุรุษ หรือตอบรับยังไงให้ดูเป็นสุภาพสตรี จึงกลายเป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลกับคนหนุ่มสาวในยุคก่อนหน้า และในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่เป็นหลักฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจความรักของคนในอดีต
Introduction: ว่าด้วยการหาคู่แบบซีซั่นสำหรับหนุ่มสาว
แม้ว่ายุควิกตอเรียนจะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ชีวิตแบบเสรีมากขึ้น แต่โอกาสในการพบปะระหว่างชายหญิงก็ยังจำกัดแค่คนในวงสังคมเดียวกัน สำหรับชนชั้นสูง บรรดาลูกผู้ดีมีตระกูลจะมีโอกาสเปิดตัวต่อสังคมในช่วงที่เรียกกันว่า ‘ซีซั่น’ หรือช่วงเวลาที่ลูกสาวตระกูลผู้ดีได้เข้าเฝ้าแนะนำตัวกับกษัตริย์และราชินี เป็นสัญญาณว่าลูกสาวบ้านนี้กำลังก้าวเข้าสู่เวทีการหาคู่ การเกี้ยวพาราสีของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีมีลอนดอนเป็นสถานที่หลัก ดังนั้นผู้ดีจากต่างจังหวัดจึงมักส่งบุตรสาวให้เข้ามาร่วมงานสังคมที่เมืองหลวงโดยมีผู้ติดตามคอยดูแล (ส่วนมากมักเป็นแม่หรือญาติฝ่ายหญิง)
การเกี้ยวพาราสีของชนชั้นสูงส่วนมากปิดดีลได้ภายในหนึ่งปี เฉลี่ยเวลาอยู่ที่เก้าเดือนหรือน้อยกว่า แต่ระยะเวลาของการหมั้นมักยาวกว่านั้น หลายคู่หมั้นหมายกันเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะคู่สมรสที่มีเงินไม่มากเพราะฝ่ายชายต้องจัดเตรียมเงินทองสำหรับการแต่งงาน
สถานะ ‘คบหาดูใจ’ กับ ‘การหมั้น’ นำมาซึ่งบทบาททางสังคมที่ต่างกัน ในระยะคบหาดูใจ ชายหญิงสามารถออกไปเดินเล่นด้วยกันในที่สาธารณะแบบมีผู้ติดตามได้ ฝ่ายชายมักไปหาฝ่ายหญิงที่บ้าน นั่งดื่มชาสนทนากันโดยมีครอบครัวของฝ่ายหญิงนั่งอยู่ด้วย และหากครอบครัวของฝ่ายหญิงไฟเขียวก็มักเปิดโอกาสให้สองฝ่ายได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นช่วงสั้นๆ
ส่วนระยะเวลาหลังการหมั้นเป็นช่วงที่ชายหญิงส่วนใหญ่ไม่ได้พบกันมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างกลับบ้าน เตรียมตัวสำหรับการสมรส บางคู่ตัดสินใจหมั้นกันไว้ก่อนเพราะฝ่ายชายต้องรับหน้าที่เดินทางไปไกลบ้าน คู่รักที่หมั้นหมายกันมักแลกเปลี่ยนของขวัญสำคัญสามอย่าง คือแหวนหมั้น รูปของอีกฝ่าย (บางคู่อาจจัดแจงถ่ายภาพคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก) และปอยผมของฝ่ายหญิงซึ่งมักเก็บอยู่ในล็อกเก็ตหรือเครื่องประดับ ในช่วงเวลานี้ คู่หมั้นมักติดต่อหากันผ่านทางจดหมายซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ทั้งสองได้รู้จักนิสัยใจคอกันดีขึ้นผ่านตัวหนังสือ
กฎข้อที่ 1 : การแนะนำตัวก่อนเป็นเรื่องสำคัญ
ในหนังสือ Rules of Etiquette and Home Culture: Or What to Do and How to Do It ตีพิมพ์ในปี 1893 กล่าวถึงการทำความรู้จักกันของหนุ่มสาวว่าจะต้องทำผ่านการแนะนำของเจ้าภาพเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้วหญิงชายมักมีโอกาสพบกันผ่านงานสังคมซึ่งมีเจ้าภาพ หากเจ้าภาพยังไม่ได้แนะนำฝ่ายชายให้ฝ่ายหญิงรู้จักถือเป็นเรื่องเสียมารยาทหากสุภาพบุรุษจะเดินเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายหญิงก่อน (ยกเว้นสองฝ่ายจะเคยรู้จักกันในงานก่อนๆ มาแล้ว) หากฝ่ายชายถูกใจฝ่ายหญิง พวกเขาทำได้เพียงยกมือขึ้นแตะหมวกเพื่อทักทาย ส่วนฝ่ายหญิงอาจใช้การสื่อสารไร้เสียงอย่างการโบกพัด หากพัดของฝ่ายหญิงปิดอยู่หมายความว่าฝ่ายหญิงไม่สนใจ ถ้าพัดถูกคลี่ออกครึ่งหนึ่งหมายถึงฝ่ายหญิงยินดีพูดคุยในฐานะเพื่อน แต่หากฝ่ายหญิงคลี่พัดออกเต็มอันแปลว่าเธอกำลังเปิดโอกาสให้เกี้ยวพาราสี
สุภาพบุรุษที่ไม่มีพัดในมือมักสื่อสารกับสาวที่สนใจผ่านการ์ดข้อความ พวกเขาอาจส่งการ์ดที่ดูเผินๆ เหมือนนามบัตรแต่มีข้อความลับอยู่ในนั้น กฎเรื่องการห้ามพูดกันค่อนข้างเคร่งครัด เป็นการไม่สุภาพอย่างมากหากชายหญิงแอบพูดคุยกันแม้แต่ในระหว่างการเต้นรำ ดังนั้นหากฝ่ายชายคิดว่าผู้หญิงมีใจ พวกเขาจะสะกิดขอให้เจ้าภาพช่วยแนะนำเขากับฝ่ายหญิง ถือเป็นการเปิดทางให้ความสัมพันธ์ที่มีโอกาสพัฒนาต่อไปในอนาคต
กฎข้อที่ 2 : สุภาพบุรุษจะต้องปกป้องสุภาพสตรีในทุกกรณี
ในหนังสือ Beadle’s Dime Book of Practical Etiquette for Ladies and Gentlemen ตีพิมพ์ปี 1859 กล่าวถึงหน้าที่ของสุภาพบุรุษในการดูแลฝ่ายหญิงว่า เขาต้องเป็นผู้เปิดประตู สละที่นั่ง หรือถือสิ่งของให้อีกฝ่าย หากทั้งสองออกไปเดินริมถนน ฝ่ายชายจะต้องเดินริมฟุตพาทเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่กระเด็นจากรถที่แล่นผ่าน หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น หากฝ่ายหญิงมีผู้ติดตาม ฝ่ายชายห้ามยืนแทรกกลางระหว่างผู้หญิงสองคนเป็นอันขาด
นอกจากนี้ หากฝ่ายหญิงเกิดมีปากเสียงกับใคร ฝ่ายชายมีหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ย กล่าวคำขอโทษแทนสุภาพสตรีเพราะยุคนั้นถือกันว่าเพศชายเป็นเพศที่มีเหตุผล ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า ดังนั้นเขาจะต้องพาเธอออกจากสถานการณ์ยากลำบากในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครอง
ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมั้นหมายกันแล้ว ฝ่ายชายมีหน้าที่ดูแลคู่หมั้นของตัวเองเท่านั้น ห้ามแสดงท่าทีสนใจหรือพยายามเข้าไปดูแลหญิงอื่นจนออกนอกหน้า ไม่ว่าคู่หมั้นจะอยู่ตรงนั้นหรือไม่ก็ตาม
ในยุควิกตอเรียมีแนวคิดเรื่องจิตใจที่แตกต่างระหว่างสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี สุภาพสตรีมีจิตใจที่อ่อนแอกว่า ดังนั้นจึงอาจคิดเพ้อฝันไปเกินจริง The Illustrated Manners Book ตีพิมพ์ปี 1855 กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้ชายที่ต้องทำตัวให้ชัดเจน ป้องกันการถูกเข้าใจผิดในทุกกรณี หากฝ่ายหญิงมีท่าทีเข้าใจผิดแม้เพียงเล็กน้อย ฝ่ายชายต้องรีบอธิบายอย่างสุภาพ ไม่ปล่อยเวลาให้เลยผ่าน เพราะถือเป็นการให้ความหวังที่ไม่สมกับความเป็น ‘สุภาพบุรุษ’
เป็นเรื่องเสียเกียรติอย่างมากสำหรับผู้ชายที่จะแสดงความสนใจผู้หญิงพร้อมกันมากกว่าหนึ่งคน โดยหากฝ่ายหญิงเข้าใจผิดไปไกล คิดว่าผู้ชายมีใจจริงๆ และฝ่ายชายปฏิเสธไม่ทัน หนังสือ The Illustrated Manners Book กล่าวว่า ฝ่ายชายมีทางเลือกแค่สองทาง คือแต่งงานกับเธอเสียเพื่อปกป้องเกียรติ หรือรับคำประณามจากครอบครัวฝ่ายหญิงซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอายอย่างมาก
กฎข้อที่ 3 : สุภาพสตรีไม่รับของขวัญพร่ำเพรื่อ
หนังสือแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับสุภาพสตรี The Young Lady’s Friend ตีพิมพ์ปี 1837 เน้นย้ำว่า สุภาพบุรุษมักส่งของขวัญให้ฝ่ายหญิงเพื่อแสดงทีท่าว่าสนใจ หากสุภาพสตรีไม่สนใจ เธอมีหน้าที่ปฏิเสธของขวัญโดยเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ความหวังแก่ฝ่ายชาย และจะรับของขวัญได้ก็ต่อเมื่อแน่ใจแล้วเท่านั้นว่าต้องการเปิดทางให้การพัฒนาความสัมพันธ์ กฎนี้ครอบคลุมไม่เว้นแม้แต่ของขวัญนิรนาม หากไม่ทราบผู้ส่ง สุภาพสตรีต้องกำจัดของชิ้นนี้ไป ทำเป็นว่าไม่เคยได้รับมาก่อน
สุภาพสตรีในยุควิกตอเรียนค่อนข้างถูกจำกัดด้วยระเบียบทางสังคม พวกเธอไม่สามารถเป็นฝ่ายเปิดเกมก่อนได้ มีแต่ฝ่ายชายเท่านั้นที่สามารถชวนฝ่ายหญิงออกไปข้างนอกหรือแวะไปหาฝ่ายหญิงที่บ้าน หากฝ่ายหญิงสนใจฝ่ายชายขึ้นมา พวกเธอทำได้แค่แสดงออกแบบอ้อมๆ หวังให้ฝ่ายชายเป็นผู้เอ่ยปาก การขอแต่งงานก็เป็นธุระของฝ่ายชายอีกเช่นกัน ฝ่ายหญิงทำได้แค่ยอมรับหรือปฏิเสธเท่านั้น
สุภาพสตรีมีสิทธิปฏิเสธผู้ชายที่ไม่พึงใจ หรือหากเธอสนใจอยู่ บางครั้งสุภาพสตรีอาจเล่นตัวปฏิเสธคำขอแต่งงานแบบพอเป็นพิธีเพื่อให้ฝ่ายชายแสดงความตั้งใจอีกครั้ง การปฏิเสธคำขอแบบเล่นตัวเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงมีฐานะมั่งคั่งมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สุภาพบุรุษจะพยายามขอสุภาพสตรีแต่งงานมากกว่าหนึ่งครั้ง (หากเธอไม่มีทีท่ารังเกียจ)
การพัฒนาความสัมพันธ์ในยุควิกตอเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือ how to สำหรับทั้งสองเพศเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการชี้ทางให้ชายหญิงที่เพิ่งมีโอกาสออกสู่วงสังคมปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามค่านิยมและจารีต ข้อแนะนำเหล่านี้อาจดูล้าสมัยหากมองด้วยสายตาปัจจุบัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรักโรแมนติกแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้พัฒนามาจากรากฐานความสัมพันธ์ของสามีภรรยาแบบ ‘คู่ชีวิต’ ก่อนที่ความรักจะพัฒนาไปสู่แนวคิดเสรีภาพของการเลือกโดยปราศจากกำแพงทางชนชั้นแบบที่เราเห็นกันในทุกวันนี้