ประโยค “ไว้เจอกันหลังโควิด” ดูเป็นไปได้ยากแค่ไหน การบินไปเที่ยวมิวเซียมสนุกๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศตอนนี้ยิ่งยากกว่า ต่อให้มีทัวร์มิวเซียมแบบออนไลน์ปลอบใจ ให้เราเข้านอกออกในตามโซนต่างๆ ได้ครบถ้วนก็ยังทดแทนการพาตัวเองไปสัมผัสบรรยากาศและพินิจสิ่งละอันพันละน้อยในมิวเซียมจริงๆ ได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
การได้ย้อนเวลาไปสำรวจเรือตัดน้ำแข็งของโซเวียตเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ปล่อยตัวเองจมอยู่กับคาเฟ่เงียบสงบในมิวเซียมของปารีส กระทั่งการไปสัมผัสคุกจริงๆ ในมิวเซียมที่เคยเป็นสถานีตำรวจฮ่องกง เศษเสี้ยวของกาลเวลาที่ไหลเวียนและร่องรอยประวัติศาสตร์บนสิ่งของกับตามพื้นผนังคือประสบการณ์ที่จินตนาการยังไงก็ไม่สาแก่ใจเท่าไปเหยียบที่นั่นด้วยตัวเอง
แต่เดี๋ยวก่อน ถึงตอนนี้จะยังไปไม่ได้ แต่ใช่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ดังนั้นระหว่างนี้ลองมาหาที่เที่ยว (ทิพย์) เอาไว้ ถ้าสถานการณ์เป็นปกติเมื่อไหร่ เราจะได้เก็บกระเป๋าบินไปมิวเซียมเหล่านี้ทันที
และนี่คือเหล่ามิวเซียมที่คนทำงานสร้างสรรค์คิดถึงและอยากกลับไปเยี่ยมอีกครั้ง
Musée de la Vie Romantique
Rue Chaptal, Paris
โอ๊ต มณเฑียร, ศิลปินและนักวาดภาพประกอบ
ปลายฤดูร้อนสองปีก่อน แฟนเรามีนัดคุยเรื่องทำอัลบั้มกับโปรดิวเซอร์ที่ฝรั่งเศส เราเลยหาเรื่องติดรถเขาแบบนาทีสุดท้ายจากบรัสเซลส์ไปปารีส พอไปถึงสถานที่นัด (แน่นอนว่าเป็นคาเฟ่) เราก็ขอตัวไปเดินเล่นในเมือง ด้วยความที่ไม่มีแผนอะไรก็เลยลองกดค้นหาพิพิธภัณฑ์ที่ใกล้ที่สุด ปรากฏว่าขึ้นมาเป็นที่นี่ (ซึ่งคำว่าใกล้ของมันคือเดินเท้าข้าม 3 เขตนะ) เรารู้สึกถูกชะตากับชื่อก็เลยตัดสินใจเดินไปชิลล์ๆ เอาเข้าจริงด้วยความชันของถนนปารีสก็ทำเอาหอบเบาๆ แหละ แต่พอไปถึงบอกเลยว่าเป็นการตกหลุมรักแรกพบ
เวลาเที่ยวมิวเซียมเราจะพยายามไม่อ่านข้อมูลไปก่อนมากนัก เผื่อใจเผื่อสมองให้ไปตื่นเต้นกับประสบการณ์ตรงหน้ามากกว่า อันนี้ค่อนข้างสำคัญสำหรับ Musée de la Vie Romantique เพราะถึงเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยวรรณกรรมและศิลปะ แต่เราว่าแก่นของที่นี่คือความละเมียดละมุนของชีวิตแบบฝรั่งเศส มันอยู่ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ทางเข้าที่เหมือนจะซ่อนอยู่ในหลืบอาคารเก่าที่ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ เมื่อเข้าไปด้านในเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง อาคารมิวเซียมก็เป็นเพียงบ้านและอาเทลิเยร์ขนาดเล็กตั้งอยู่กลางลานที่มีกุหลาบแข่งกันบานออกดอกสีสด อดใจไม่ได้ที่จะหยุดดมกลิ่นของมัน ตั้งแต่วินาทีนั้นมันเหมือนเวลาหยุดอยู่กับที่ ตัวมิวเซียมเองก็เป็นศิลปะที่งดงามแล้วสำหรับเรา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีภาษาอังกฤษน้อยมาก สิ่งที่เราทำได้คือเช่า audio guide เดินไปฟังไป จับใจความได้ว่าบ้านหลังนี้เดิมเป็นที่ของศิลปิน Ary Scheffer จิตรกรชาวดัตช์ผู้ที่ย้ายรกรากมาอยู่ที่กรุงปารีสเมื่อปี 1811 งานของเขาอยู่ในขนบแนวโรแมนติก (Romanticism) ซึ่งในมิวเซียมนี้จะมีนิทรรศการอธิบายมูฟเมนต์นี้ คร่าวๆ คือมันเกิดขึ้นในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ยึดโยงกับการโหยหาความหมายของชีวิตอันเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์เทียบตนในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ งานชื่อดังของเชฟเฟอร์หลายชิ้นจะเป็นการวาดฉากจากงานเขียนแนวนี้ของนักเขียนที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น เช่น Dante, Goethe, และ Lord Byron บางคนอาจจะรู้สึกเสียดายที่มีงานจัดแสดงไม่มากนัก แต่เรารู้สึกว่าพอมีงานน้อยชิ้น เราก็ได้มีเวลาเพ่งพินิจอยู่กับแต่ละภาพได้นานขึ้น แถมในไกด์ก็มีการอ่านบทกวีที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาให้เราได้ฟังขณะดูงานนั้นๆ เรียกได้ว่าคนละเรื่องกับการไปมิวเซียมใหญ่ๆ ที่ต้องเบียดเสียดกับคนเยอะๆ หรือต้องเร่งขาลากเพื่อดูงานให้ได้มากชิ้นที่สุด
เชฟเฟอร์ใช้เวลาไม่นานนักก็เป็นที่รู้จักในสังคมปารีส บ้านของเขาจึงเป็นที่พบปะของผู้คนชั้นสูง อีกทั้งเพื่อนศิลปิน นักเขียน และนักดนตรีที่แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนไอเดียและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแก่กัน ทำให้ที่นี่ยังมีการจัดแสดงผลงานและสิ่งของเครื่องใช้จากบุคคลสำคัญในยุคนั้นอีกหลายคน เช่น นักเขียนหญิงม่าย George Sand และนักเปียโนหนุ่ม Chopin คู่รักอื้อฉาวแห่งยุคที่เป็นแขกประจำของเชฟเฟอร์ เป็นต้น ถ้าให้เล่าเรื่องความรุ่งโรจน์และพังพินาจของคู่นี้ก็คงเขียนได้อีกบทความ ขอสรุปสั้นๆ ว่าพวกเขาสอนให้เรารู้ว่ารักแบบโรแมนติกนั้นย่อมพาหัวใจไปสัมผัสทั้งสวรรค์และนรก
Recommend : สิ่งที่เราอยากแนะนำนอกจากการเดินดูนิทรรศการในบ้าน คือการให้เวลาตัวเองไปนั่งจิบกาแฟและทานขนมที่คาเฟ่เรือนกระจกของเขาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่เพราะชาเบลนด์ที่หอมที่สุดในปารีส หรือขนมอบที่อร่อยเกินเรื่อง แต่การได้นั่งตรงนั้นช่วยตกตะกอนประสบการณ์ในมิวเซียมทั้งหมด โยงจากศตวรรษที่ 18 กลับมาสู่ปัจจุบัน เมื่อได้นั่งนิ่งๆ มองแสงยามบ่ายที่ทอดตกลงมาบนกำแพงบ้านหลังนั้น เราอดไม่ได้ที่จะครุ่นคิดถึงความ ‘โรแมนติก’ ในชีวิตของเราเอง ความสัมพันธ์ที่ผ่านเข้ามา การตกหลุมรัก และความเปราะบางของทุกๆ ลมหายใจที่ยังคงดำเนินอยู่ สุนทรียะของชั่วขณะนั้นมันทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคาเฟ่เล็กๆ ที่ไม่ได้หรูหราอะไรจึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในจุดที่โรแมนติกที่สุดของเมืองแห่งความรัก
How to get there : เมโทรสถานี Saint-Georges (สาย 12) สถานี Pigalle (สาย 2 และ 12) หรือสถานี Blanche (สาย 2)
goo.gl/maps/qbTVarwUGgUBopW57
Lenin Nuclear Icebreaker
Murmansk, Russia
มนสิชา รุ่งชวาลนนท์, เจ้าของเพจพื้นที่ให้เล่า คอลัมนิสต์คอลัมน์ Past Forward และผู้จัดพ็อดแคสต์ อดีต | ของ | ปัจจุบัน
เราไม่รู้จักที่นี่มาก่อนเลย บังเอิญปีนั้นไปดูแสงเหนือที่เมืองมูร์มันสก์ ประเทศรัสเซีย แล้วพายุหิมะเข้าทำให้ถนนปิด ออกจากเมืองไม่ได้เลยต้องไปหาอะไรทำในเมืองแทน บังเอิญเราเจอว่ามีมิวเซียมเกี่ยวกับเรือตัดน้ำแข็งของโซเวียตที่น่าสนใจก็เลยลองไปดู
นอกจากความใหญ่โตของตัวเรือแล้ว ความน่าสนใจคือโซเวียตมีคำกล่าวว่า “กิจการงานเดินเรือคือศักดิ์ศรีของสหภาพโซเวียต” ในปี 1957 สหภาพโซเวียตประกาศความสำเร็จเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ได้ ความสำเร็จที่ว่านอกจากจะตบหน้าสหรัฐฯ ที่แข่งกันด้านพลังงานนิวเคลียร์มาตลอดแล้ว ยังถือเป็นครั้งแรกที่พลังงานนิวเคลียร์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในยานพาหนะสำหรับการพาณิชย์
เรือตัดน้ำแข็งของโซเวียตมีความสำคัญเพราะทำหน้าที่ตัดน้ำแข็งเปิดทางให้เรือขนสินค้าที่ต้องเดินทางผ่านทะเลอาร์กติก และเนื่องจากรัสเซียมีเส้นทางนั้นเป็นทางออกทะเลหลัก สตาลินจึงทุ่มทั้งเงิน เทคโนโลยี และแรงงาน จนสามารถสร้างเรือเสร็จในเวลาเพียง 3 ปี 3 เดือน ถือว่าเร็วและยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ
สตาลินวาดภาพเรือลำนี้เป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ของประเทศ จึงสั่งให้สร้างโลหะแบบพิเศษ ภายในใช้ไม้อย่างดี ตกแต่งแบบมีสไตล์เท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น ในวันที่เรือสร้างเสร็จ สตาลินตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า ‘เลนิน’ เพื่อเป็นเกียรติแก่วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำคนก่อน ภายในเรือมีทั้งห้องประชุม โรงอาหาร ที่ฉายหนัง ฟลอร์เต้นรำ ไปจนถึงห้องผ่าตัดและห้องทำฟัน (ไม่ใช่สำหรับคนในเรือเท่านั้น แต่เพื่อเจ้าหน้าที่ที่ประจำการในสถานีแถบอาร์กติก หมอในเรือยังต้องสแตนด์บาย ถ้ามีใครป่วยกะทันหันต้องโดยสารเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนป่วยกลับมารักษาต่อในเรือ) ความปังของเรือลำนี้คือมีการกล่าวกันว่า การสร้างเรือพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในยุคนั้นลำบากหนักหนากว่าการพามนุษย์ไปอวกาศเสียอีก
เรือเลนินออกปฏิบัติการครั้งแรกในปี 1959 ทำหน้าที่อยู่นาน 30 ปี ก่อนปลดระวางกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ความน่าสนใจของเรือลำนี้คือห้องบังคับการที่ใช้อธิบายการทำงานของเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ เพราะที่จริงแล้วตัวเรือไม่ได้ ‘ตัด’ น้ำแข็ง ตามชื่อ แต่เวลาเรือขับไปในทะเลอาร์กติก ปัญหาหลักคือแผ่นน้ำแข็งมักจะลอยมาชนกัน ปิดกั้นทางเดินเรือ สิ่งที่เรือเลนินทำจึงเป็นการลอยตัวขึ้นไปเหนือน้ำแข็งแล้วบดขยี้แผ่นน้ำแข็งลงมา เพราะฉะนั้นเรือต้องทั้งหนักมากและมีพลังมากพร้อมๆ กัน
พลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเรือแน่นอนว่าเป็นนิวเคลียร์ตามชื่อ การทำงานของเรือเลนินคือสูบน้ำทะเลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มียูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง พอน้ำโดนความร้อนกว่า 300 องศาเซลเซียสก็จะกลายเป็นไอ ไอน้ำที่ได้ก็จะกลายเป็นกำลังในการขับเคลื่อนกลไล / ปั่นไฟในเรืออีกที
Recommend : ทุกวันนี้รัสเซียยังมีเรือตัดน้ำแข็งอีกหลายลำและเป็นประเทศที่เดินทางไปทวีปอาร์กติกบ่อยที่สุดในโลก ระยะทางไปอาร์กติกจากท่าเรือในเมืองมูร์มันสก์ของรัสเซียคือ 2,500 กิโลเมตร (เท่าการเดินทางไปมอสโก) สิ่งที่น่าสนใจในเรือตัดน้ำแข็งเลนินคือบรรยากาศที่ยังคงอบอวลในตัวเรือ ทั้งความภาคภูมิใจและความยิ่งใหญ่ของระบบที่ล่มสลาย เรือเลนินเป็นเหมือนนาฬิกาที่หยุดเวลาไว้ในวันที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จสูงสุด
โชคดีว่าปีที่แวะไป เป็นปีที่เรือเลนินอายุครบ 60 ปีพอดี (1959-2019) เราเลยซื้อนาฬิกาเป็นตัวแทนวันเวลาที่ถูกหยุดไว้ในตัวเรือกลับมาด้วย
How to get there : นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปมอสโก แล้วนั่งเครื่องบินภายในประเทศของรัสเซียไปจอดที่สนามบินเมืองมูร์มันสก์ จากนั้นก็นั่งรถไป
goo.gl/maps/hvixWk74625pv3RH8
Tai Kwun – Centre for Heritage and Arts
Central, Hong Kong
ปอ เปรมสำราญ, นักเขียนและศิลปิน
ตอนนั้นเรามีแผนจะไปเดินดูงาน Art Basel ที่ฮ่องกงเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง เลยจัดอาร์ตทัวร์ให้ตัวเองไปเลย เราลองเสิร์ชดูว่ามีมิวเซียมอะไรน่าสนใจไหม แล้ว Tai Kwun ก็โผล่มา เห็นว่าอยู่ย่าน Central เดินทางไม่ยาก เราเลยลองไปดู
ก่อนเข้าไปไม่ได้คาดหวังอะไรและไม่ได้อ่านประวัติของที่นี่มาก่อน แต่พอเข้าไปเรารู้เลยว่ามันน่าจะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะที่นี่เคยเป็นสถานีตำรวจกลางแต่ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ศิลปะ พอรู้ความเป็นมาแบบนี้ เวลาที่ดูนิทรรศการหรือเห็นสิ่งต่างๆ เราก็จะตีความโดยมีอดีตของที่นี่อิงไปด้วย
Recommend : จุดเด่นที่คิดว่าไม่เหมือนใครแน่ๆ คือที่นี่มีคุก ส่วนตัวเราชอบเวลาสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ไม่ได้พยายามจะปิดบังอดีตของตัวเอง มันถูกพัฒนาโดยยังเก็บของเก่าไว้ให้เรียนรู้ อย่างคุกที่เป็นของเดิมก็กลายเป็นส่วนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของที่นี่ไป ที่ชอบอีกอย่างคือมีพื้นที่ให้ได้นั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่โดยที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อของก็ได้ ด้วยความที่บรรยากาศในย่านนี้คึกคักและพลุกพล่านมากๆ ที่นี่จึงเหมือนเป็นจุดแวะหายใจ แวะนั่งให้หายเหนื่อย
How to get there : ขึ้น mrt ไปลงที่สถานี Central ทางออก D1 จากนั้นเดินไต่เมืองที่มีความชันขึ้นไปหนึ่งเหนื่อย ระหว่างทางมีแกลเลอรีและร้านอาหารตลอด แวะพักก่อนได้
g.page/taikwun?share
Arktikum Science Centre
Rovaniemi, Finland
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, ครูและนักการเมือง
เรารู้จักพิพิธภัณฑ์ Arktikum เพราะเห็นอาคารกระจกที่ยื่นออกมา มีแสงสวยๆ ลอดผ่านกระจกจากโซเชียลมีเดียสักที่ และพบว่ามันตั้งอยู่ในเมือง Rovaniemi แหล่งกำเนิดตำนานลุงซานตาคลอส เลยถือว่าไปเมืองนี้แวะหาซานตาพร้อมกับแวะชมวิถีชีวิตแบบอาร์กติกสุดๆ ในพิพิธภัณฑ์ Arktikum ว่าเขากินอยู่หลับนอนกันยังไงในอากาศติดลบหนักๆ ท้องฟ้ามืดไปแล้วเป็นระยะเวลา 2 ใน 3 ของวัน
เราอยากเห็นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ อาคารบ้านเรือน การจำลองชีวิตคนแถวนั้นที่มันต่างจากบ้านเราแบบสุดขั้ว อยากเห็นว่าเขาทำอะไรกันในแต่ละวัน แล้วมันปังมากเพราะในมิวเซียมมีตั้งแต่แมมมอธยันแสงเหนือจำลอง (เวลาน้อยไม่ได้เห็นของจริง ดูของจำลองก่อนก็ได้ เอ้า) ชีวิตในอาร์กติกตั้งแต่สมัยล่าสัตว์ การทำสงคราม Lapland และธรรมชาติที่สวยสุดๆ พอทุกอย่างมันต่างจากที่เคยเห็นมากเราก็ว้าวไปหมด
ส่วนตัวประทับใจคอนเซปต์ของที่นี่เพราะเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์ สร้างเพื่อฉลองวันชาติฟินแลนด์ตอนครบ 75 ปี รัฐบาลบ้านเขาชอบมอบแหล่งเรียนรู้ดีๆ ให้ประชาชน เราชอบสัตว์ในโลกอาร์กติกต่างๆ ที่จัดแสดงทั้งหมดเลย เพราะมันไม่มีวันจะได้เห็นจากที่ไหน อย่างหมีขาวมุ้งมิ้ง พอมาดูจริงๆ มันไม่มุ้งมิ้งเลย หรือกวางมูสที่พอเห็นตัวจริงแล้วมันมหึมากว่าที่เราคิดไว้อีก ที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องศึกษาสัตว์จากสวนสัตว์อย่างเดียว สัตว์ตายแล้วเอามาสตัฟฟ์ไว้ให้คนศึกษาก็ได้
ตอนนั่งดูสถาปัตยกรรมแบบฟินแลนด์ก็เพลินมาก ทีมออกแบบมิวเซียมมาจากเดนมาร์กร่วมกับสถาปนิกฟินแลนด์ ที่นี่เลยสวยแบบเงียบๆ ไม่โหวกเหวกโวยวาย เหมือนบุคลิกประเทศเขาเลย เจ้าโดมกระจกถือเป็นหัวใจของที่นี่ มองจากข้างนอกได้อารมณ์หนึ่ง พอมาอยู่ข้างในเป็นอีกอารมณ์ อะเมซิ่งมาก
สุดท้ายคือชอบแฟชั่นชาว Sami มาก ปกติเราเคยเห็นแต่ไกลๆ แต่ที่นี่จัดแสดงพร้อมอรรถาธิบายละเอียดเชียวว่าอะไรมีความหมายยังไงบ้าง เราชอบในรายละเอียดหัวจรดเท้าที่เอาส่วนประกอบจากธรรมชาติมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ของคน
Recommend : คาเฟ่มีอาหารของคนแถบนั้นให้ชิม ถ้าวางแผนดีๆ ก็จะได้ครบทุกประสบการณ์ ทั้งภาพ เสียง กลิ่น รส แนะนำว่าอย่าลืมเอาบัตรนักเรียนมาเพราะได้ลดราคาจาก 15 ยูโรเหลือ 9 ยูโร
How to get there : ถ้าของไม่หนักและอากาศไม่แย่ เดินจากสถานีรถไฟ Rovaniemi เลียบถนนมา Lapinkävijäntie มาประมาณ 1.6 กิโลเมตรก็ถึง หาไม่ยาก
g.page/Arktikum?share
Centrale Montemartini
Rome, Italy
นักรบ มูลมานัส, ศิลปินและกราฟิกดีไซเนอร์
ก่อนอื่นคือชอบชื่อพิพิธภัณฑ์จัง ชื่อเขาน่าเอ็นดู ที่นี่เป็นสาขาย่อยของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโรมอย่าง Musei Capitolini เน้นจัดแสดงประติมากรรมยุคโรมันเป็นหลัก ถึงแม้จะไม่มีชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซที่ทุกคนร้องอ๋อ แต่มีความพิเศษสุดๆ คือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นโรงผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของโรมอายุกว่า 100 ปี แน่นอนว่าโรงไฟฟ้านี้หมดสภาพการใช้งานเล้ว แต่โครงสร้างมหึมาของจักรกลวินเทจมันช่างมีคุณสมบัติบางประการประหนึ่งงานศิลปะยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยแง่มุมน่าทอดทัศนาน่าศึกษา การจัดแสดงของเขาคือเอารูปปั้นโรมันมาวางในโรงไฟฟ้านี้เคียงข้างกับจักรกลเลย สุดจะคอลลาจทรงพลังอลังการ
Recommend : นิทรรศการแรกของเขาใช้ชื่อว่า Machines and Gods ขับเน้นปฏิสัมพันธ์ของชิ้นงานกับสถานที่ ห้วงเวลาที่ปนเปกัน ต่อยอดออกมาเป็นมุมมองแง่คิดได้ไม่รู้จบรู้สิ้น มองอีกมุมหนึ่งที่นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการพื้นที่ในเมืองที่ทั้งแก้ปัญหาและเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย กล่าวคือ Musei Capitolini มีจำนวนชิ้นงานล้นทะลัก ประจวบกับ Centrale Montemartini มิได้ใช้ผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป การสมประโยชน์ครั้งนี้ผลดีก็ตกมาถึงประชาชน อยากให้มีโปรเจกต์ประมาณนี้เกิดขึ้นในไทยบ้างเด้อ
How to get there : รถไฟใต้ดินสถานี Garbatella เดินเท้าอีก 9 นาที
goo.gl/maps/fUPDqERW6bfyPgDb8
21st Century Museum of Contemporary Art
Kanazawa, Japan
sprinkle on cake, นักวาดภาพประกอบ อินสตาแกรม sprinkle.on.cake
สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราได้รู้จักงานสระว่ายน้ำของ Leandro Erlich ก็เลยลองหาข้อมูลแล้วเจอว่ามันมีอยู่ที่มิวเซียมนี้ จากนั้นก็อยู่ในลิสต์สถานที่ที่อยากไปมาตลอด กระทั่งช่วงหน้าร้อนปีที่แล้วมีโอกาสไปโร้ดทริปกับเพื่อน เลยถือโอกาสขอแทรกที่นี่เข้าไปด้วยเลย
อันที่จริงเราคาดหวังกับสระว่ายน้ำนี้มากๆ ยิ่งเห็นรูปคนญี่ปุ่นที่ไปในอินสตาแกรมยิ่งทำให้อยากไป แต่ว้าวสุดคือปริมาณคนก่อนเลย เพราะเราไปถึงตอนเกือบเที่ยงวันอาทิตย์ คนเลยค่อนข้างแน่นมาก แล้วเป็นช่วงโควิด-19 ด้วย ทำให้ต้องจัดรอบแบ่งให้คนเข้าไปเป็นช่วงเวลา (ใครอยากไปควรไปวันธรรมดาหรือไปเร็วหน่อยนะ)
งานศิลปะส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นแบบเอาต์ดอร์ โดยมีพื้นที่โซนด้านนอกตึกและข้างในตึกที่จะมีนิทรรศการผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โซนด้านนอกตึกคือส่วนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ตัวเราอยากเข้าไปดูข้างใต้สระว่ายน้ำเลยต้องเสียเงินเข้าไปโซนด้านในตึก จริงๆ เราชอบงานศิลปะด้านนอกชิ้นหนึ่งมาก เป็นงาน installation art ฉากกั้นพลาสติกใส 3 สีที่เราจะเห็นสีซ้อนกันเปลี่ยนไปตามมุมที่มอง
Recommend : เวลาเราไปมิวเซียม โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นจะชอบไปดูร้านขายของในนั้นมาก เพราะจะมีของดีไซน์น่ารักๆ และโปสต์การ์ดต่างๆ ที่ไม่มีขายที่อื่น อย่างของที่นี่ก็มีเจ๋งๆ หลายชิ้น ถ้ามีโอกาสก็อยากให้แวะดูด้วย
How to get there : นั่งรถบัสจากสถานีรถไฟ Kanazawa ลงที่ Hirosaka·21st Century Museum และเดินต่อนิดเดียว หรือจะใช้บริการจาก terminal 8-10 ลงที่ป้าย Korinbo (ATRIO-mae) และเดินต่ออีก 5 นาทีก็ได้
goo.gl/maps/jhBwxwF6HQDDAgBd9
‘เราเที่ยวด้วยกัน เฟสทิพย์’ คือซีรีส์ประจำเดือนพฤษภาคมที่ a day ชวนผู้คนจากหลากหลายวงการมาแชร์ destination ที่คิดถึงหลังจากกักตัวอยู่ในประเทศไทยมาปีกว่า ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ร้านหนังสือ มิวเซียม แกลเลอรี ฯลฯ