รวมสุดยอดงานศิลปะและงานออกแบบเวทีใน Wonderfruit 2018

ประเทศที่คว้าตำแหน่งนักสะสมขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6

ประเทศที่คว้าตำแหน่งนักแบกรับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9

และประเทศที่คว้าตำแหน่งนักทำลายป่าไม้ในบ้านตัวเองเป็นลำดับที่ 29 จากประเทศอื่นๆ กว่า 197 ประเทศ

ไม่ใช่ประเทศไหนไกล จะบอกความจริงสุดช้ำใจว่าบ้านเรานี่ไงที่สามารถคว้าตำแหน่งเหล่านั้นมาได้อย่างท็อปฟอร์ม เหนียวแน่น และดูท่าจะไม่ลดละความพยายามคว้าแชมป์การจัดอันดับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเสียด้วย แต่มีคนบางกลุ่มที่มองเห็นปัญหานี้ และพยายามปลุกกระแสรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกปีผ่านงานเฉลิมฉลองศิลปะ ดนตรี และชีวิต ในชื่อ Wonderfruit

นอกจากจะย้ายสถานที่จัดให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ล้อมไปด้วยทะเลสาบเก่าแก่และดงมะพร้าวขนาดใหญ่ ความน่าสนใจอีกอย่างของ Wonderfruit 2018 คือการดึงศิลปินและนักออกแบบหลายสาขามาออกแบบสถาปัตยกรรมล้ำๆ และผลงานศิลปะอินเทอแร็กทีฟ สะท้อนแนวคิดความยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังสนใจ

งานชุดนี้มีรายละเอียดน่าเขียนถึงไม่น้อย โดยเฉพาะที่มาของคอนเซปต์ที่ศิลปินแต่ละคนใส่เต็มแบบไม่มีใครยอมใคร

 

เดอะ ควอรี (The Quarry)

แลนด์มาร์กหลักที่คอดนตรีตั้งตารอ พื้นที่ถูกแปลงโฉมใหม่โดยกลุ่มสถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย (all)zone เจ้าของผลงานออกแบบมิวเซียมศิลปะตะลึงตาที่เชียงใหม่ อย่าง MAIIAM Contemporary Art Museum และผู้อยู่เบื้องหลัง Farm Stage ปีที่แล้ว พวกเขาออกแบบโซนทั้งหมดให้กลายเป็นท้องฟ้าสีสดใสด้วยการนำเศษผ้าไหมจาก Jim Thompson มาตกแต่งเป็นท้องฟ้าจำลอง

ปีนี้ทีม (all)zone ออกแบบเวทีเดอะ ควอรี ด้วยระบบโครงสร้างโมดูลาร์อิงตามรูปทรงเรขาคณิต ใช้วัสดุหลักจากผืนเสื่อที่ใช้แล้วมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน งานชิ้นนี้ยืดหยุ่นและพับได้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อตกแต่งตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ในส่วนของดนตรีก็ได้เจ้าพ่อแห่งวงการเพลงใต้ดินของอังกฤษ Craig Richards ออกแบบโปรแกรมดนตรีในเดอะ ควอรีให้สนุกเหมือนเคย

Wonderfruit

 

โซลาร์ สเตจ (Solar Stage)

โซนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน Solar Stage ปีนี้ออกแบบโดย Gregg Fleishman ศิลปินผู้ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำแนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่เป็นลายเซ็นของเกร็กคือการใช้ระบบโครงสร้างโมดูลาร์ตามรูปแบบเรขาคณิต นำแผ่นไม้มาวางขัดกันเหมือนจิ๊กซอว์ เพื่อให้เหล่า wonderer ได้สำรวจ เต้นรำ ปีนป่ายไปตามชิ้นส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอย่างอิสระ โซลาร์ สเตจ ปีนี้จะคึกคักตั้งแต่อาทิตย์อัสดงจนถึงรุ่งสาง ด้วยเสียงเพลงจากไลน์อัพศิลปิน ไล่เรียงตั้งแต่ Nicolas Lutz, Louis Cole, Stars and Rabbit และ NJWA

Wonderfruit

เธียเตอร์ สเตจ (Theatre Stage)

เวทีใหม่ของปีนี้เป็นผลงานของ mpdStudio เป็นสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่ออกแบบให้ผสานกับสภาพแวดล้อมที่ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาบ เธียเตอร์ สเตจ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ในงานที่เหล่า wonderer ไม่ควรพลาดไปดื่มด่ำความงาม เต้นรำ โยคะต้อนรับการลาลับของดวงอาทิตย์ พบกับศิลปินชาวไอซ์แลนด์ Sóley กับเสียงเพลงที่บรรเลงจากเครื่องดนตรีหลากชนิด กลุ่มศิลปินชาวไทย Costlywood, Peter Broderick และ Knower

Wonderfruit

ดีไซน์ Theatre Stage โดย mpdStudio

Wonderfruit

สภาพแวดล้อมบริเวณ Theatre Stage ใน The Fields

อีโค่ พาวิลเลียน (Eco Pavilion)

โซนนี้ได้ทีม Ab Rogers นักออกแบบชื่อดังจากลอนดอนผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายในล้ำๆ หลายชิ้น เช่น ออฟฟิศดีไซน์สนุกของบริษัท U+I ในย่าน Howick Place ร้าน Comme des Garçons สาขา Paris ใน Wonderfruit พวกเขามาสร้างสรรค์พื้นที่บริเวณอีโค่ พาวิลเลียนให้ตื่นตาตื่นใจ ตกแต่งด้วยร่มแฮนด์เมดทำจากฝ้าย 100 คัน บริเวณนี้ยังถูกใช้จัดโปรแกรม Scratch Talks แพลตฟอร์มที่เปิดต้อนรับนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อแบ่งปันและเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้กับเหล่า wonderer

Wonderfruit

Wonderfruit

ดีไซน์คอนเซ็ปต์ Eco Pavilion โดย Ab Rogers Design

Wonderfruit

แบบจำลอง Eco Pavilion โดย Ab Rogers Design

เธียเตอร์ ออฟ ฟีสต์ (Theatre of Feasts)

ถ้าพูดให้อลังการต้องบอกว่าโซนนี้เป็นเหมือนวงล้อมจักรวาลอาหารกลางธรรมชาติ เธียเตอร์ ออฟ ฟีสต์ ก็ได้ทีม Ab Rogers Design มาสร้างสรรค์ออกแบบเช่นกัน ภายใต้คอนเซปต์ Circling Flows ที่เล่นกับรูปทรงเรขาคณิตวงกลม และการจัดวางที่ทำให้เกิดความลื่นไหลหมุนวนไม่รู้จบ wonderer จะได้ดื่มด่ำกับมื้ออาหารผ่านรูปแบบการนำเสนอที่แปลกออกไป โดยเหล่าเชฟชื่อดังจะมาแสดงฝีมือปรุงอาหารในครัวรูปแบบเปิด จากศูนย์กลางที่สามารถมองเห็นได้จากทุกมุม

Wonderfruit

Wonderfruit

ดีไซน์คอนเซปต์ Theatre of Feasts โดย Ab Rogers Design

Wonderfruit

Wonderfruit

แบบจำลอง Theatre of Feasts โดย Ab Rogers Design

บาธ เฮาส์ (Bath House)

อีกหนึ่งผลงานของ Ab Rogers Design คือ บาธ เฮาส์ พื้นที่ใหม่ของเทศกาล ที่เปิดโอกาสให้ wonderer ได้มาผ่อนคลาย สบายตัว เรียนรู้วัฒนธรรมการชำระล้างร่างกายในรูปแบบต่างๆ

Wonderfruit

Wonderfruit

Wonderfruit

Wonderfruit

ดีไซน์คอนเซปต์ Bath House โดย Ab Rogers Design

In the Eyes of the Animal

โครงการ In the Eyes of the Animal โดย Marshmallow Laser Feast คืองานศิลปะชมภาพเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี VR wonderer สามารถสวมชุดหูฟังที่วัสดุทำจากไม้ เพื่อเข้าไปท่องชมทัศนียภาพของป่าผ่านสายตาเหล่าสัตว์นานาชนิด

Wonderfruit

ดิว ฟลาวเวอร์ (Dew Flower: water tower)

PO-D Architects สถาปนิกแถวหน้าของไทยมาทำงานในเทศกาลนี้เช่นกัน พวกเขาออกแบบตัวดักน้ำค้างในรูปแบบหอคอยที่สามารถใช้งานหลากหลาย นอกจากให้น้ำแล้วยังให้ความสนุกและประสบการณ์ใหม่ๆ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากทีมสถาปนิกต้องการสร้างงานให้เชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ ทั้งในแง่ความเชื่อและภูมิปัญญาพื้นถิ่นเกี่ยวกับโครงสร้างไม้ใผ่ พวกเขานำหลักการสร้างที่ดักน้ำค้างที่เกิดขึ้นแล้วมากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก มาผสานเข้าด้วยกัน โดยมี ‘น้ำ’ เป็นตัวร้อยเรียงเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าเป็นหนึ่งเดียว

Wonderfruit

Spirilva Poacendere

Spirilva Poacendere สร้างสรรค์โดยศิลปินหญิงต่างชาติ Thea Rae เธอมาสร้างงาน installation ไม้ไผ่ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลในพื้นที่ตามธรรมชาติ ผสานเข้ากับความถนัดของศิลปินด้านศิลปะการเต้นรำแบบอะโครบาติก เหล่าคนรักธรรมชาติจะได้เพลิดเพลินไปกับการปีนป่ายไปบน installation ด้วยดีไซน์ในแบบ Kinetic เคลื่อนไหวล้อไปกับต้นไม้และธรรมชาติ

Wonderfruit

Wonderfruit เป็นเทศกาลบ้าพลัง เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจมากมาย ผลงานที่เราเขียนเล่าเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ถ้าอยากเจอของจริง เตรียมกระติกน้ำคู่ใจ วอร์มร่างกาย และสูดหายใจลึกๆ แล้วออกไปพิสูจน์กันวันที่ 13 – 16 ธันวาคม 2018 ณ เดอะฟิลด์ แอท สยามคันทรีคลับ พัทยา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.wonderfruit.co/

ไปพิสูจน์กันว่าความยั่งยืนและไลฟ์สไตล์สามารถไปด้วยกันได้จริงที่เทศกาลนี้

AUTHOR