6 Art Spots ริมน้ำจาก Bangkok Art Biennale ที่น่าตีตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยาไปชม

Highlights

  • Bangkok Art Biennale คือเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มีจุดกำเนิดที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ก่อนขยายสู่ประเทศต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดกว้างให้ศิลปินนานาชาติกว่า 70 คน ขนผลงานของตัวเองมาจัดแสดงในแลนด์มาร์ก 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2019
  • จุดจัดแสดงผลงานไม่ได้กระจุกอยู่แค่ใจกลางเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปลี่ยนวัดวาอารามเก่าแก่ในย่านเมืองเก่าให้เป็นแกลเลอรีแสดงงานอีกด้วย เราจึงขออาสาเป็นไกด์พาขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาไปเช็คอินยัง 6 art spots ริมน้ำ เช่น วัดอรุณฯ วัดโพธิ์ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล เป็นต้น

ถึงตอนนี้ ไม่น่าจะมีใครไม่รู้จักเทศกาลศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale เทศกาลที่มีจุดกำเนิดที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลีกว่า 120 ปีที่แล้วในชื่อ La Biennale di Venezia ก่อนขยายสู่ประเทศต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ที่เปิดกว้างให้ศิลปินนานาชาติกว่า 70 คน ขนผลงานของตัวเองมาจัดแสดงในแลนด์มาร์ก 20 จุดทั่วกรุง ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2019

แลนด์มาร์กที่ว่าใช่กระจุกอยู่เพียงใจกลางกรุงที่รถไฟฟ้าไปถึง แต่ยังรวมไปถึงย่านเมืองเก่า ตลอดจนเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่านั่งเรือไปชม

เพราะอย่างนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนซื้อตั๋วลงเรือด่วนเจ้าพระยาไปยัง 6 ท่าน้ำต่อไปนี้ เพื่อดูงานอาร์ตในแลนด์มาร์กอย่างวัดอรุณ วัดโพธิ์ ฯลฯ ที่ไม่เพียงแค่ทำให้เราได้ว้าวกับศิลปะนานาเทคนิค แต่ยังมีของแถมเป็นกรุงเทพฯ ในมุมมองใหม่ ผ่านสายตาที่ศิลปินมองอีกด้วย

กำตั๋วเรือในมือให้พร้อม เรากำลังจะออกล่องเรือกัน


01 ท่าเรือโอเรียนเต็ล

ที่ท่าเรือนี้ หากใครนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาจะเห็น ‘Zero’ ชิ้นงานสเตนเลสรูปทรงสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ของศิลปินคู่ชาวเดนมาร์ก Elmgreen & Dragset ตั้งเด่นมาแต่ไกล เป็นสัญลักษณ์การเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก ถัดเข้ามาที่ชั้น 2 ของอาคาร East Asiatic ซึ่งถูกปิดมานาน ซ่อนงานของศิลปินทั้งไทยและต่างชาติไว้ อย่างงาน ‘Diluvium’ สุดอลังการของศิลปินเกาหลี Lee Bul ที่เปลี่ยนโฉมครึ่งหนึ่งของอาคารด้วยเทปสีเงิน และ ‘Dye’ ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร งานวิดีโอเชิงทดลองที่เสียดสีแวดวงแฟชั่นอันเป็นฝันสวยงามของหญิงสาว ทว่าลึกๆ แล้วกลับกดขี่แรงงานผู้หญิงด้วยกันเอง

ก่อนลงเรือไปท่าถัดไป ลองแวะไปถ่ายรูปคู่กับน้องหมาสีทอง ‘Lost Dog Mah Long’ ด้านหน้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล โดยศิลปิน Aurèle ที่แม้จะเป็นชาวฝรั่งเศสแต่ผลงานนี้สะท้อนปัญหาสุนัขจรจัดในไทยได้จี๊ดสุดๆ


02 ท่าเรือยอดพิมาน

แม้ท่าเรือยอดพิมานไม่ได้เป็นจุดจัดงานศิลปะโดยเฉพาะ แต่เราอยากชวนให้นั่งเรือมาลงท่าน้ำนี้ แล้วเดินชมวิวข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าเพื่อไปยังวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หนึ่งในสถานที่จัดแสดงงานศิลปะในเทศกาล Bangkok Art Biennale ไฮไลต์คือ ‘WHAT WILL WE LEAVE BEHIND?’ ผลงานชวนให้ปลงโลกของ นีโน่ สาระบุตร ที่โรยหัวกระโหลกเซรามิก 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ส่วนรอบเขามอแสดงงาน ‘Turtle Religion’ เต่ายักษ์แบกความหลากหลายทางวัฒนธรรมในชุมชนวัดประยุรฯ โดยศิลปิน กฤช งามสม ถ้าจะให้ดี เราแนะนำให้ไปหลัง 4 โมงเย็น เพราะจะมีการสาดแสงสีลงไปด้วย อีกงานคือ ‘Zodiac Houses’ ของ มณเฑียร บุญมา ที่สื่อถึงการตามหาความหมายของชีวิต ความสงบ และความตาย


03 ท่าเรือวัดอรุณฯ

ชมงานศิลปะน้อยแต่มากที่วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ชิ้นแรกคือ ‘Giant Twins’ รูปปั้นขนาดยักษ์ของ คมกฤษ เทพเทียน ที่นำยักษ์ไทยและยักษ์จีนมากอดคอกันล้อไปกับแฝดอิน-จัน และตั้งประจันหน้ากับยักษ์วัดแจ้ง เจ้าถิ่นตัวจริง คมกฤษยังลงมือทำรูปปั้นครุฑ ชี้ให้เห็นถึงการเดินทางมาเจอกันระหว่างศิลปะไทยและจีน และมีคนแอบกระซิบมาว่าเขากำลังซุ่มทำตู้กดกาชาปองรูปปั้นตุ๊กตาอับเฉาในวัดอรุณฯ และโดยมีกาชาปองลับเป็นแฝดยักษ์ไทยจีนคู่นี้

อีกชิ้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือผลงาน ‘ข้ามจักรวาล’ ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่นำแผ่นอะคริลิกสีแดงชาดมาล้อมเขามอ เมื่อมองเข้าไปจะเห็นเขามอเป็นสีซีเปียเหมือนได้ย้อนอดีต แต่เมื่อก้าวเข้าไปจะเห็นเขามอด้วยสีสันจริงๆ ในปัจจุบัน สะท้อนโมงยามที่เป็นสิ่งสมมติ ส่วนตัวเราก็เป็นเพียงฝุ่นในจักรวาล นอกจากนี้ ยามค่ำคืน ที่นี่ยังจัดฉายหนังกลางแปลงจอเล็กๆ ของ สาครินทร์ เครืออ่อน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังดังในอดีตเรื่อง ท่าเตียน อีกด้วย


04 ท่าเรือท่าเตียน

จากวัดอรุณฯ เราแนะนำให้นั่งเรือข้ามฟากมายังท่าเตียนและเดินต่อไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ความเท่ของที่นี่คือศิลปินเลือกเปิดสถานที่ที่ถูกลืมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างที่เก๋งจีนกลางสวนมิสกวันที่นักท่องเที่ยวแทบเป็นศูนย์ Huang Yong Ping ศิลปินชาวจีนก็นำทวารบาลรูปหัวสัตว์และเท้ายักษ์มาวางเอาไว้ ส่วนในวิหารพระพุทธไสยาสน์ใกล้กัน จิตต์สิงห์ สมบุญ ทำงานชื่อ ‘#Faithway’ เป็นชุดคลุมปักคำว่าศรัทธาในหลายภาษาให้นักท่องเที่ยวใส่เดินเข้าไปไหว้พระ ลึกเข้าไปในความเงียบของสระจระเข้ ก็เป็นที่ตั้งงานจิตรกรรมของศิลปินใหญ่ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ที่หยิบจับคำว่าความทรงจำอันเกี่ยวเนื่องกับวัดโพธิ์มาเล่าผ่านกลิ่น เสียง และภาพ


อีกชิ้นที่อยู่ในหลืบมุมที่ถูกลืมคืองาน ‘A Shadow of Giving’ ของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ที่ดึงภาพเขียนสองมิติบนฝาผนังวัดโพธิ์มาแปลงเป็นประติมากรรม 3 มิติ ให้ภาพจากจินตนาการถูกเลื่อนออกมาสู่โลกแห่งความจริง ส่วนจุดแลนด์มาร์กของวัดโพธิ์ใกล้ๆ กลุ่มฤๅษีดัดตนมี ‘Sediments of Migration’ ของ ปานพรรณ ยอดมณี อิงแอบอย่างแนบเนียนอยู่กับสวนหิน


05 ท่าเรือเทเวศน์

ไกลเกือบจะสุดสายเรือด่วนเจ้าพระยา คืองานศิลปะในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และงานเรือมังกรของศิลปินจีนโมเดิร์น Huang Yong Ping ติดตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ส่วนอีกหนึ่งงานโมเดิร์นคือผลงานของกลุ่มศิลปิน ‘SOS’ หรือ Souled Out Studios ซึ่งมีงานล้ำๆ ของ Alex Face, Beejoir, Candice Tripp, Lucas Price และ Mue Bon ร่วมจัดแสดง


06 ท่าเรือโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ

ถึงเรือด่วนเจ้าพระยาจะไม่ได้จอดที่ท่าเรือนี้ แต่ที่นี่ก็มีเรือของโรงแรมให้บริการตลอดวันระหว่างท่าน้ำสาทรและท่าเรือโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ เหตุที่เราชวนแวะที่นี่เพราะด้านในโรงแรมมีงานอาร์ตชิ้นเด็ดซ่อนอยู่ ทั้งวิดีโอแอนิเมชั่น ‘Mamuang for BAB’ ของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร ประติมากรรมหมูบินสีชมพู ‘Love Me Pink Pig’ ของศิลปินเกาหลี Choi Jeong Hwa ซึ่งจะสับเปลี่ยนเป็นชิ้นงาน ‘Breathing Flower’ ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้บริเวณประตูทางเข้าโถงล็อบบี้ยังมีเหล่านางฟ้าบินของ Heri Dono คอยส่งเสียงต้อนรับ รวมทั้งมีงานวิดีโอของ กวิตา วัฒนะชยังกูร จัดแสดงอยู่อีกจุดหนึ่งด้วย แถมใครที่จองห้องพักของโรงแรมก็ยังมีทริปล่องเรือชมศิลปะที่วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ และวัดประยุรฯ (ราคาคนละ 500 บาท) และทริปไปตึก East Asiatic (ฟรีค่าใช้จ่าย) อีกด้วย

 

AUTHOR