Wonderfruit Festival : ดินแดนแสนพิเศษของคนรักเสียงดนตรี ศิลปะ และชีวิตที่ดี

แสงแดดเดือนกุมภาพันธ์เรียกร้องให้เราเลือกชุดเท่ๆ แพ็กกระเป๋า แล้วออกเดินทางอีกครั้ง แม้ว่าจุดหมายปลายทางครั้งนี้จะเป็นแค่เมืองพัทยาไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่เรากำลังมุ่งหน้าไป Wonderfruit Festival เทศกาลไลฟ์สไตล์ประจำปีที่รวบรวมความสร้างสรรค์เข้าชนกับคำว่ายั่งยืนจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่งานศิลปะสุดมัน แฟชั่นจัดจ้าน ดนตรีหลากแนว เสวนาสร้างแรงบันดาลใจและจิตสำนึกที่ดี ไปจนถึงอาหารและการดูแลสุขภาพที่ทั้งหมดย้ำว่าสนุกและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใส่ใจโลก

ปีนี้เป็นปีแรกที่เราได้มีโอกาสมาเจอกับสีสันของ Wonderfruit เลยอดตื่นเต้นไม่ได้ บ่ายวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของงานต้อนรับเราด้วยแดดจ้าพอประมาณ แรกเลยเราพบว่าพื้นที่งานกว้างขวางกว่าที่คิดไว้ แม้ว่าบรรยากาศจะยังไม่คึกคักมาก แต่ก็พอมีให้เราเดินสำรวจพื้นที่โซนต่างๆ ได้สนุก เริ่มจากด้อมๆ มองๆ ดูฝรั่งเล่นโยคะ นั่งสมาธิกันในซุ้ม Sala Shakti และ Mandala ที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม ใกล้ๆ กันมีเจ้ากาตัวใหญ่ ผลงานของ Sabek ศิลปินชาวสเปนที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์กของโซน Camp Wonder ให้ครอบครัวพาเด็กๆ มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะหรือวิ่งเล่นลอดเส้นสายสนุกๆ กัน ไม่ไกลนักยังมีโซนของ Thailand Young Farmers ที่มีทั้งอาหารพื้นบ้านอร่อยปนแปลกตั้งแต่แมลงทอด ผัดหมี่โคราช น้ำสมุนไพรสดชื่นๆ มาให้ชิม หรือจะร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปปั้นเซรามิกก็มี

บรรยากาศความฮิปเริ่มเข้มข้นขึ้นเราเดินข้ามไปฝั่ง A Taste of Wonder และ Wonder Salon ที่มีทั้งเสื้อผ้าสไตล์ฮิปปี้แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่มาวางขาย รวมไปถึงเครื่องประดับตกแต่งหน้าตาทรงผม ขนนก สร้อยคอ เพนท์หน้าเพนท์ตัวเพิ่มความเก๋ให้ตัวเองก่อนออกไปสนุกในค่ำคืนนี้ สำหรับเราแค่เดินดูผู้คนก็เพลินแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีโซนเวิร์คช็อปทำภาพพิมพ์โดย THe Archivist ร่วมกับ TCDC อีกด้วยแต่เสียดายที่ตอนเราไปถึงเขาก็ทำกันเสร็จหมดแล้ว เลยได้ดูผลงานของผู้ร่วมเวิร์คช็อปแทน

บรรยากาศความคึกคักเพิ่มขึ้นเมื่อพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน เราได้ยินเสียงดนตรีจังหวะสนุกและผู้คนเริ่มเข้าไปล้อมวงรอบๆ Solar Stage เวทีที่สร้างสรรค์จากไม้อัดต่อขึ้นไปเป็นทรงกลมให้คนได้ขึ้นไปปีนป่ายและนอนเล่นได้สบายๆ ฝีมือการออกแบบของ Gregg Fleishman โยกหัวไปเพลินๆ ก็บังเอิญเจองาน #Touch ของศิลปินชาวเยอรมัน Ulrich Gottlieb ที่หุ้มตัวเองด้วยผืนผ้าใบหนาๆ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้คนร่วมงานได้มาแต่งแต้มสีสันบนตัว ความสนุกต่อเนื่องเมื่อเจ้ากุ๊กกู๋กับดุ๊กดิ๊ก Little Monster ใต้น้ำที่ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ สร้างสรรคขึ้นจากขยะในทะเลก็ออกมาอาละวาดผู้คนในงาน พร้อมการแสดงสร้างสีสันที่แอบส่งสารบางอย่างมากระตุ้นเราเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย

ถึง Wonderfruit จะไม่ใช่เทศกาลดนตรี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเพลงจากแต่ละเวทีแต่ละโซนก็ดึงดูดให้เราโยกย้ายตัวเองจากซุ้มนั้นไปซุ้มโน้นตลอดทั้งคืน ขอชื่นชมระบบเสียงของงานที่ทำให้ดนตรีของแต่ละเวทีไม่มาปนกัน ที่เราประทับใจมากๆ คือโชว์ของ Maika Loubté ศิลปินสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส กับแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ฟังสบายแต่ใจรื่นรมย์มาก ถึงจะเป็นโชว์เล็กๆ แต่เราก็หลงรักความเป็นกันเองของเธอที่ส่งผ่านมาถึงผู้ชมตรงหน้านี้ อีกโซนที่สนุกคือ Moon Shack ที่มีงานศิลปะของ กบ-พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม ล่อลวงให้เราเข้าไปสร้างเงาบนดวงจันทร์ตามจินตนาการของตัวเอง ก่อนจะปล่อยใจให้อิ่มเอมไปกับ Sunny Trio & Natt Buntita ที่หยิบเอาเพลงลูกทุ่งมาขับร้องใหม่สไตล์แจ๊ซ ได้รสชาติการฟังเพลงใหม่ๆ ที่เราไม่อยากลุกไปไหนเลย

เรื่องดีคือเราพบว่ายิ่งดึก อากาศก็เย็นลงเรื่อยๆ จนลืมลมร้อนเมื่อช่วงบ่ายไปหมดสิ้น นอกจากโชว์หนังตะลุงของ สกนธ์ ธรรมะ ที่เวที
Farm Stage ซึ่งเมื่อตกดึกยิ่งสวยอลังการด้วยแสงไฟที่ส่องฉายไปบนรวงข้าวบนยอดปราสาทแล้ว โชว์ที่เอาชนะใจชาวต่างชาติได้มากที่สุดก็หนีไม่พ้นการแสดงของคณะ All Thidsa Mor Lam Band ที่ยึดครองเวทีคู่กับรถหมอลำเคลื่อนที่จาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ไว้ตลอดทั้งคืน เพลงหมอลำสนุกๆ จังหวะคึกคักชวนให้เราปีนขึ้นไปเซิ้งสะบัดบนรถหมอลำ (แลนด์มาร์กที่ใครมาถึง Wonderfruit แล้วไม่ถ่ายรูปด้วยคือพลาดสุด) ก่อนจะไปนั่งพักดื่มเบียร์เย็นๆ ฟังให้ดีเจหนุ่ม Shigeki เปิดเพลงเฮ้าส์ฟังสบายให้ฟังในซุ้มโคมแดง Forbidden Fruit ซึ่งส่วนตัวเราชอบที่นี่สุด เพราะมีเบาะนุ่มๆ ให้เอนหลังหนุนนอนสบายๆ จนเผลอคิดว่าให้นอนในซุ้มนี้ทั้งคืนก็ได้นะเนี่ย (แต่ไม่ได้ไง!)

เวทีสุดท้ายที่เราลุกขึ้นไปแจมเช่นเดียวกับคนทั่วทั้งงานคือ Living Stage ซึ่งอัดการแสดงไว้ยาวถึงเที่ยงคืน เราได้ดูโชว์ของ Kate Simko ที่ผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับออร์เคสตร้าเข้าไปด้วยกัน ต่อด้วยบีตส์ฮิปฮอปผสมจังหวะป๊อบชวนโยกหัวของ 3 หนุ่ม Young Fathers ที่ทำเอาคนในงานเดือดส่งท้ายคืนนี้ไปตามๆ กัน อันที่จริงไฮไลต์เด็ดหลังเที่ยงคืนยังมีอยู่ต่อที่เวที The Quarry แต่ยอมรับว่าเราเหนื่อยล้านิดหน่อยเลยขอบายไป แอบเสียดายอยู่เหมือนกันล่ะ

สำหรับเรา ความประทับใจในเทศกาล Wonderfruit อยู่ที่กิจกรรมแสนหลากหลายที่ตอบโจทย์ความชอบของคนทุกกลุ่มทุกวัย และเปลี่ยนรสชาติไปใหม่ทุกวันจนถ้าจะให้คุ้มจริงๆ ก็ต้องมาสัมผัสให้ครบ 4 วันงาน แต่ถึงเราจะไม่ได้อยู่ร่วมงานตลอดก็ยังรู้สึกว่านี่คือเทศกาลที่เปิดพื้นที่ให้เราได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ผ่านทั้งเวทีโชว์ที่แค่ระหว่างเต้นไปด้วย ดื่มไปด้วย เราก็รู้สึกว่าศิลปินแต่ละคนออกแบบมาอย่างใส่ใจ ชิ้นงานศิลปะที่ตั้งไว้ไม่ใช่แค่ให้ถ่ายรูป แต่ถ้ามองดูดีๆ จะเห็นว่าวัสดุแต่ละชิ้นที่ศิลปินเลือกมาใช้กำลังสื่อสารอะไรบางอย่างต่อโลกเราทั้งสิ้น

ตัวอย่างงานที่เราชอบมากคือ CYM Temple ของกลุ่มศิลปินชาวสเปน Basurama ที่นำเชือกมัดของมาขึงพาดผ่านกันไปมา ส่องไฟสีสันสนุกชวนให้ใครต่อใครกระโดดเข้ามาสำรวจก่อนจะพบว่างานศิลปะที่ดูล้ำมากๆ นั้นสร้างมาจากวัสดุง่ายๆ แค่นี้เองก็ได้ ข้อดีของการวางงานศิลปะไว้กลางแจ้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่จัดงานก็คือ ต่อให้เป็นสายปาร์ตี้สุดตัว สายดื่มด่ำธรรมชาติ สายกิน หรือสายถ่ายรูปลงโซเชียล ก็ต้องสะดุดตากับชิ้นงานไหนสักชิ้นแล้วหยุดสังเกตสักหน่อย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะเข้าใจหรือตีความงานแต่ละชิ้นในรูปแบบไหน

ส่วนสายมาชิลล์เต็มที่อย่างเรา ขอแค่ได้หลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองกรุงมานั่งมานอนตากแดดตากลมร้อนให้พัดผ่านตัว มองดูผู้คนแต่งตัวสนุกเดินผ่านไปมา และหาอาหารอร่อยๆ กินสักนิด ก็นับเป็นการพักผ่อนที่เรารอคอยมาเนิ่นนาน และคุ้มค่ามากแล้วล่ะ

Wonderfruit Festival

address: The Field at Siam Country Club 50 หมู่ 9 ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
hour: 16 – 19 กุมภาพันธ์ 2560 ติดตามกำหนดการปีหน้าได้ที่ wonderfruitfestival.com
how to get there: ใช้ทางหลวงหมายเลข 36 มุ่งหน้าทิศตะวันออกไปยังจังหวัดระยอง ประมาณ 10 กิโลเมตรจะพบป้าย Siam Country Club ขนาดใหญ่สีน้ำเงินทางด้านขวามือ จากนั้นกลับรถ และเลี้ยวซ้ายบริเวณป้ายดังกล่าว โดยขับตรงไปผ่าน Bira Go-Kart Circuit จะพบวงเวียน ให้ขับตรงไป และตามป้าย ‘Wonderfruit’ จนถึงสถานที่จัดงาน

map

ภาพ สุวิชา พุทซาคำ และภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR