“สร้างที่ปลอดภัยให้เขารู้สึกว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน” สุขภาพใจในเรือนจำของผู้ต้องขัง

Highlights

  • สุขภาพจิตเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำที่หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญ และยื่นมือเข้ามาดูแลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
  • นอกจากการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชแล้ว การเยียวยาจิตใจผู้ต้องขังให้มีพื้นที่ปลอดภัย การเปิดใจรับฟังปัญหาที่ผ่านมาจะช่วยฟื้นฟูให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมได้
  • แต่ถึงอย่างนั้น ยังคงพบปัญหานักโทษเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพที่เต็มประสิทธิภาพ หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงจัดทำวิจัยมาค้นหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้สิทธิการเข้าถึงสุขภาพใจที่ดีเป็นของนักโทษทุกคน
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Behind Bars ซีรีส์ที่ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ผ่านแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

สุขภาพจิตในเรือนจำ
หากพูดถึงการดูแลเรื่องสุขภาพในเรือนจำ การดูแลสุขภาพใจน่าจะเป็นประเด็นที่ขาดไม่ได้ในหัวข้อนี้

งานวิจัยที่ผ่านมาต่างยืนยันผลตรงกันว่าสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยก่อนเข้าเรือนจำมาก่อนแล้ว ด้วยสาเหตุจากยาเสพติด ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ฯลฯ หรือผู้ต้องขังที่เพิ่งมีอาการป่วยเมื่อเข้ามาในเรือนจำ เพราะความเครียดจากคดี การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน และการใช้ชีวิตร่วมกับคนไม่คุ้นเคยจำนวนมาก 

สุขภาพจิตในเรือนจำ
ในปี 2561 กรมสุขภาพจิต เผยผลวิจัยว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 46 และสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่า จำนวนตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหา มีโครงการที่หน่วยงานรัฐร่วมมือกันส่งจิตแพทย์เข้ามาฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย หรือโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมให้ผู้ต้องขัง แต่ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ทำให้การรับมือต่อปัญหานี้ยังไม่สามารถทำให้ผู้ต้องขังได้รับการรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ท่ามกลางหลากหลายความช่วยเหลือสุขภาพจิตในเรือนจำ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังโดยไม่มีเงื่อนไข การทำผิดเป็นอดีตที่ทุกคนล้วนมีเหตุปัจจัยให้เลือกทางเดินหนึ่งในชีวิต แต่ใช่ว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นตราบาปไปตลอด และเราจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการพูดคุยอย่างเปิดใจเพื่อฟื้นฟูพวกเขาให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ในสังคม 

สุขภาพจิตในเรือนจำ

ความสำคัญของการเปิดพื้นที่ปลอดภัยฟื้นฟูจิตใจเพื่อนมนุษย์

วิชญา โมฬีชาติ เป็นหนึ่งในนักจิตวิทยาคลินิกที่ได้ร่วมทำงานกับกองบริการการแพทย์ หน้าที่ของวิชญากับบทบาทนักจิตวิทยาคลินิกในเรือนจำมีอยู่สองส่วน คือรับบำบัดผู้ต้องขังที่เป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำจะพาผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาล หรือบางครั้งเธอจะเข้าไปรักษาที่เรือนจำด้วยตัวเอง และอีกบทบาทคือการเป็นวิทยากรให้ความรู้การดูแลด้านจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำปีละ 2 ครั้ง

“การทำงานตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราบอกว่าการจองจำเป็นการคุมประพฤติไม่ให้เขาออกไปกระทำผิดอีก เรารู้สึกว่าพื้นที่ที่ทำให้เขาได้มาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด เป็นพื้นที่ที่เราจะได้ดูแล เยียวยาหัวใจของเขา เพื่อทำให้เขาได้มีโอกาสฟื้นฟูใจ เมื่อพ้นโทษไปแล้วเขาจะใช้ชีวิตใหม่ได้” วิชญาเล่า

สุขภาพจิตในเรือนจำ

ในฐานะนักจิตวิทยาที่ได้เข้าไปทำงานกับผู้ต้องขังกว่า 20 ปี เธอพบกับนักโทษที่มีอาการทางจิตหลากหลาย ทั้งผู้ป่วยจากยาเสพติด ภาวะซึมเศร้า หรือบำบัดผู้ที่เคยกระทำผิดในคดีฆาตกรรม แต่ไม่ว่าผู้ป่วยที่เธอพบเจอจะถูกตัดสินด้วยคดีอะไรมา สิ่งสำคัญที่เธอบอกว่านักจิตวิทยาจะต้องมีคือการรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีเงื่อนไข

“แน่นอน กฎหมายตัดสินว่านักโทษผิด เขาจะรู้สึกอยู่แล้วว่าทุกคนมองว่าเขาเป็นคนผิด สิ่งสำคัญของนักจิตวิทยาคือ เราต้องไม่มีอคติ แต่ต้องมี unconditional positive regard เป็นความเข้าใจผู้ต้องขังโดยที่เราไม่ตัดสินว่าเขาจะดี เลว ชั่ว จะถูก จะผิด แต่เราจะเปิดพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะคุยกับเราได้ ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกได้รับเกียรติจะทำให้พวกเขารู้สึกได้รับคุณค่าความเป็นมนุษย์กลับคืน

“อีกอย่างต้องเข้าใจว่าเราทุกคนไม่ได้เกิดมาในโลกนี้พร้อมความตั้งใจที่จะมาทำผิด ไม่มีใครเกิดมาแล้วบอกว่าฉันตั้งใจจะมาฆ่าคนอื่น หรือทำผิดกฎหมาย ทุกคนมีปัจจัยที่ล้วนต้องการการยอมรับ แท้ที่จริงแล้วมันอาจจะเกิดจากการที่เขาต้องเผชิญกับเรื่องยากๆ แต่เขาไม่มีตัวช่วย มันก็เลยทำให้เขาต้องเลือกเดินทางผิดก็ได้ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำยังไงให้เขาสามารถก้าวข้ามอดีตมาอยู่กับปัจจุบัน เพื่อมีต้นทุนที่ดีให้เขาเดินต่อในอนาคต เรารู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ของนักจิตบำบัดที่จะช่วยเยียวยาได้”

สุขภาพจิตในเรือนจำ

ภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการรักษา

แม้การกำหนดนโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชและส่งเสริมฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขังในไทยจะมีนานกว่า 20 ปีแล้ว และมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้ต้องขังได้ฟื้นฟูจิตใจจากหลายโครงการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังกำแพงสูงของเรือนจำทั่วประเทศยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่

งานศึกษาในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ปี 2561 สำรวจผู้ต้องขังจำนวน 600 คนในเรือนจำที่มีความมั่นคงปานกลางถึงสูงสุด 10 แห่ง พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าคนข้างนอก 3 เท่า โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ ติดสุราและยาเสพติด โรคซึมเศร้า ความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และผู้ป่วย 1 ใน 4 มีอาการร่วมทางจิตเวช 2 โรคขึ้นไป และมีผู้ได้รับการรักษาในจำนวนที่ต่ำมาก 

ที่สำคัญคือ แม้จะมีผู้ต้องขังใหม่ได้รับการคัดกรองสุขภาพจิตทุกราย แต่เรือนจำสามารถจัดบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องหาได้เพียง 1 ใน 4  จัดระบบบริการบำบัดได้เพียง 51.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคมมีการทำงานถึง 71.1 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการบำบัดรักษาของผู้ต้องขังคือ เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในเรือนจำขาดความเชี่ยวชาญโดยตรงในด้านนี้ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เข้าไปทำงานในเรือนจำยังมีไม่เพียงพอ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับการอบรมการดูแลโดยตรงมีการย้ายออกและลาออกบ่อย ทำให้ผู้ที่มาทำหน้าที่แทนไม่มีความรู้ในการดำเนินการต่อได้ ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้การวินิจฉัยหรือบำบัดรักษาผู้ป่วยเป็นไปด้วยความล่าช้า 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการรักษาในระยะยาวไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะความล่าช้าในการส่งต่อประวัติผู้ป่วย และข้อจำกัดของสถานที่ที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงได้เพียงพอ รวมถึงขาดแคลนเครื่องมือที่ใช้จำกัดพฤติกรรมในกรณีที่มีเคสรุนแรงด้วย

สุขภาพจิตในเรือนจำ

เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง

งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้เองได้เสนอทางเลือกของการแก้ปัญหานี้เอาไว้หลายทาง เช่น สนับสนุนให้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชมากขึ้น เพิ่มจิตแพทย์และแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาโดยตรง และเพิ่มพยาบาลในเรือนจำ เพราะที่ผ่านมามีพยาบาลทำงานอยู่จำนวนจำกัดทำให้มีภาระงานที่มาก ไม่สามารถดูแลผู้ต้องขังได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ยังทำให้มีการทำงานในระบบนานขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการลาออกหรือย้ายตำแหน่ง

สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ เราต้องดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเพื่อลดอาการเครียดสะสมจากการทำงาน ส่วนพื้นที่ในเรือนจำ ควรมีการจัดโซนรองรับผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น และจัดพื้นที่ลดความแออัด ใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดซึ่งอาจช่วยลดความเครียดผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ได้

ทั้งหมดต้องอาศัยการแก้ไขตั้งแต่เชิงนโยบายก่อนเพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว และสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและเรือนจำเพื่อเกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะสุขภาพใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการฟื้นฟูให้ผู้ต้องขังสามารถกลับมายืนร่วมกันกับพวกเราได้ในสังคม 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่