นพ.ไกรสร โตทับเที่ยง: “ทำไมหมอจะต้องเข้าไปเรือนจำเฉพาะเวลามีใครตายเท่านั้น”

Highlights

  • ก่อนจะเริ่มเข้ามาดูแลสุขภาพนักโทษในเรือนจำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นพ.ไกรสร โตทับเที่ยง มีโอกาสเข้าไปทำงานเรือนจำในฐานะเดียว คือ แพทย์ชันสูตรพลิกศพ กรณีที่มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำ
  • แต่หลายครั้งผลชันสูตรออกมามักพบว่านักโทษป่วยด้วยโรคที่สามารถรักษาหายได้หากอยู่ข้างนอกกรงขัง นพ.ไกรสรจึงเริ่มต้นประสานทำงานกับเรือนจำเพื่อทำงานด้านสุขภาพ
  • สิ่งที่นพ.ไกรสรกังวลคือปัญหาความแออัดในเรือนจำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดต่อ ทั้งวัณโรค HIV ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Behind Bars ซีรีส์ที่ a day ร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ผ่านแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

ชีวิตปกติของ นพ.ไกรสร โตทับเที่ยง คือรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยเจ็บไข้ทั่วไปในโรงพยาบาล และเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข จึงแวะเวียนไปมาระหว่างตรังและกรุงเทพฯ บ้าง

ส่วนอีกงานหนึ่งที่เขาพยายามแวะเวียนเข้าไปทำเป็นประจำคือ การดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ทั้งการตรวจและรักษานักโทษทุกเดือน และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลให้ถึงผู้คนหลังกรงขัง 

เหตุผลที่ทำให้เขาสนใจเรื่องนี้ เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หมอมักได้รับการติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปเรือนจำเพื่อชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย แต่หลังจากเข้าไปช่วยทำงานในหลายๆ เคส จึงพบว่านักโทษบางคนอาจจะไม่เสียชีวิต ถ้าหากได้รับการรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง และการดูแลสุขภาพของนักโทษไม่ควรจำกัดไปตามเสรีภาพที่พวกเขาต้องแบกรับหลังกรงขัง

ก่อนหน้านี้ หมอบอกว่าต้องเข้าไปทำงานในเรือนจำเฉพาะตอนชันสูตรศพ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

กฎหมายกำหนดว่าใครที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะตายในโรงพักหรือในคุกจะต้องมีหน่วยที่มาพร้อมๆ กันอย่างน้อย 5 หน่วย คือ หมอ ปลัดอำเภอ อัยการ พัศดี และญาติ และทุกคนต้องมาให้ครบถึงจะเริ่มชันสูตรได้ กระบวนการต้องโปร่งใสเพื่อยืนยันว่าคนตายไม่ได้โดนเจ้าหน้าที่ซ้อม 

สมมติว่าตายประมาณตี 2 เจ้าหน้าที่โทรมาเรียกผมออกไป หมอออกไปทำงานดึกๆ เป็นเรื่องปกตินะ แต่ว่าอัยการ ปลัดอำเภอ เขาไม่ทำงานกลางคืน บางทีรอตี 4 ตี 5 ถึงจะได้ทำงาน พอเจอเคสแบบนี้บ่อยๆ ผมรู้สึกไม่ไหว คือการเข้าไปชันสูตรศพไม่ยาก แต่พอรอให้คนมาพร้อมๆ กัน และคุกอยู่ห่าง 20 กว่ากิโลฯ ผมยอมรับว่าเริ่มรู้สึกขี้เกียจ แล้วบางรายที่ชันสูตรก็พบว่าไม่น่าตาย เลยเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมมีคนตายในคุก ลองไปดูว่าถ้าเกิดทำให้คนไม่ตายในคุกได้ จะต้องทำยังไง

 

‘ไม่น่าตาย’ ความหมายนี้หมายถึงอะไร

ยกตัวอย่างเช่น มีคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวาน แล้วไม่ได้ยา สุดท้ายก็ตาย เพราะกระบวนการที่เอายาไปให้เขาไม่ง่าย ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะตรวจทุกอย่าง เป็นยาอะไร มาจากไหน ใครให้มา มีอะไรซ่อนมาไหม ซึ่งก็เข้าใจได้เป็นเรื่องปกติที่เขาต้องตรวจสอบ 

สมมติว่าศาลพิพากษาวันนี้ให้จำคุก แล้วคนนั้นป่วย มีโรคประจำตัวอะไรสักอย่าง ตัดสินแล้วก็ไปเลย เขาไม่มีสิทธิจะกลับบ้านไปเอายา แล้วถ้าในคุกสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เขาตกอกตกใจ ตื่นเต้น ลืม แล้วไม่ได้บอกว่าเขาต้องกินยาประจำ พอผ่านไปหลายๆ วันก็ขาดยา แล้วป่วยหนักออกมารักษาไม่ทันก็ตาย ฟังดูแล้วมันก็ไม่ควร ถ้าอยู่ข้างนอกไม่ตาย แต่อยู่ข้างในตาย ผมก็คิดว่ามันน่าจะพอทำอะไรได้บ้าง พอดีกับจังหวะที่มีทรัพยากรที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือคนป่วยในเรือนจำได้ ผมเลยชวนพยาบาลไปทำงานด้วย

แต่จริงๆ ก่อนที่ผมจะเข้าไปทำก็มีทีมที่เขาทำงานกับเรือนจำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น จิตแพทย์ เพราะเขาต้องดูแลกลุ่มที่มีอาการทางจิต แล้วก็หมอฟัน เข้าไปบ้างปีละครั้งสองครั้งตามที่เจ้าหน้าที่เรือนจำติดต่อให้ไปช่วยดูแล แล้วผมก็คิดว่ามีหมอที่เข้าไปประจำในเรือนจำหลายที่ และน่าจะทำก่อนที่ตรังเยอะเหมือนกัน

พอตัดสินใจว่าจะเข้าทำงานในเรือนจำ เรื่องไหนที่หมอมองว่าต้องช่วยเป็นอันดับแรก

เรื่องคนที่ต้องกินยาประจำ ป่วยมาอยู่แล้วจากข้างนอก เพราะเจอคนที่ตายด้วยสาเหตุนี้เยอะ ตั้งเป้าให้คนกลุ่มนี้ได้ยาโดยที่ไม่ขาดก่อน 

พอไปตรวจเรื่อยๆ ก็เจอคนที่มาป่วยในเรือนจำ โรคที่เจอบ่อยๆ เช่น โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน หิด เพราะเขานอนติดกัน หรืออย่างโรคที่ติดต่อได้ง่าย เพราะเรือนจำแออัด เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด ซึ่งเราจะมีวัคซีนไปให้ในเรือนจำเยอะกว่าคนข้างนอกหน่อย แต่โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเรือนจำคือวัณโรค เพราะติดกันทางการหายใจง่ายมาก เราทำได้แค่พยายามเข้าไปเอ็กซเรย์ อย่างน้อยต้องทุกปี เพื่อดูว่าใครป่วยต้องรีบรักษา 

เวลาผมเข้าไปทำงานจะแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น และดูว่ากลุ่มไหนเขาทำอะไรบ้าง เช่น มีผู้ชายเท่าไหร่ ผู้หญิงเท่าไหร่ มีคนท้องไหม หรือแม่ลูกอ่อนหลังคลอด แล้วมีคนแก่เท่าไหร่ เพราะแต่ละกลุ่มก็จัดการไม่เหมือนกัน เราจะได้จัดการดูแลได้ทีละกลุ่ม อย่างคนท้อง ต้องมีการนัดตรวจครรภ์และฝากท้อง ถ้าพยาบาลหรือผู้คุมไม่พาไปจะถือว่ามีความผิด และตามข้อกำหนดแล้วคนท้องต้องคลอดที่โรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อคลอดแล้วเด็กจะอยู่กับแม่ในเรือนจำได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ส่วนใหญ่เราก็ไม่ให้อยู่ถึง 3 ปีหรอก เพราะเด็กโตแล้วจำความได้ อยู่ในที่ที่มีแต่ผู้หญิง พอไปข้างนอกเด็กจะไม่คุ้นชิน เราพยายามให้ญาติออกมารับหลัง 6 เดือนหรือหนึ่งปี  

 

ตั้งแต่ทำงานมา มีเคสไหนที่รู้สึกว่ารักษายากไหม

บอกตามความจริง ในเรือนจำรักษายากทั้งนั้นเลย ผมแบ่งความยากได้ 2 แบบ หนึ่งคือ โรคนั้นรักษายาก อย่างเช่น มะเร็ง และถ้าเจอข้อจำกัดของเรือนจำก็จะยากขึ้นอีก เช่น ผมอยู่ตรัง คนไข้คนนี้เคยรักษาที่หาดใหญ่มาก่อน ถ้าเป็นคนไข้ข้างนอก เราก็ส่งให้คนนี้ไปนอนโรงพยาบาลเลยใช่ไหม แต่พอเขามาอยู่เรือนจำกลาง จะส่งไปรักษาที่เดิมนั้นยากมาก ต้องขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องย้ายเขาไปอยู่เรือนจำสงขลาก่อนถึงจะไปนอนที่โรงพยาบาลในหาดใหญ่ได้  มันเป็นข้อจำกัดในเชิงกฎหมายเลยทำให้คนป่วยดูแลยากขึ้น เพราะอยู่นอกเหนือการจัดการของเรา 

ความยากข้อสองคือ คนไข้ที่จำเป็นต้องมีคนดูแล ซึ่งดีที่สุดคือเป็นญาติ แต่อยู่ในเรือนจำไม่มีญาติ เช่น คนแก่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เดินไม่คล่องต้องมีคนดูแล บางคนหลงๆ ลืมๆ ต้องคอยป้อนข้าว อาบน้ำให้ มีคนคอยหยิบยาให้กิน แล้วถ้าไม่มีคนคอยจัดการให้ก็ไม่ได้ยา ดังนั้นต้องเทรนคนในเรือนจำให้ดูแล แต่ถ้าเกิดคนดูแลคนนี้พ้นโทษก็ต้องหาใหม่ 

อย่างนี้มีข้อจำกัดอื่นๆ อีกไหมที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยในเรือนจำได้ยาก

อย่างเรื่องยา ปกติในเรือนจำจะมีเพียงยาสามัญประจำบ้าน ยาเฉพาะทางไม่ค่อยมี แล้วก็มีพยาบาลของเรือนจำที่ได้รับการอบรมมาแล้วเป็นคนจ่ายยาให้เท่าที่ความรู้พยาบาลจะมีกับโรคง่ายๆ ซึ่งหลายๆ ที่ก็ใช้วิธีนี้ 

พอมีทีมจากโรงพยาบาลเข้าไป เราปรับระบบใหม่เลย ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าต้องใช้ยาของเรือนจำแล้ว เอายาจากโรงพยาบาลมาให้ก็ได้ เราก็ประสานกับเรือนจำและโรงพยาบาลว่า เดี๋ยวเราไปตรวจ ถ้าต้องมีอะไรก็ไปเอายาจากโรงพยาบาลเข้ามา ก็ทำให้จัดการเรื่องยาได้ง่ายขึ้น 

อันที่สองคือ ข้อจำกัดการช่วยเหลือของพยาบาลในเรือนจำ หมายความว่า หมออาจชำนาญกว่าในเชิงการดูแล เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่มีหมอเข้าไปจะช่วยรักษาได้มากขึ้น ผมพยายามจะเข้าไปให้ได้เดือนละครั้ง แต่วันไหนที่ไม่ได้เข้าไป พยาบาลก็สามารถโทรมาปรึกษาหรือสอบถามได้ตลอด หลายแห่งก็เข้าไปบ่อยกว่าผมนะ อย่างที่อยุธยาหมอน่าจะเข้าไปอาทิตย์ละครั้งเลย 

พอหมอเข้าไปช่วยดูแล พยาบาลเรือนจำเขาจะสบายใจมากขึ้น และจะมีเวลาไปจัดการเรื่องอื่นได้ อย่างก่อนหน้านี้พยาบาลเรือนจำไม่มีช่องทางจะทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยไตวายได้ฟอกไต แล้วคนที่เป็นโรคไตวายจะต้องไปฟอกไต ซึ่งมี 2 แบบ หนึ่ง ฟอกเลือด สอง ฟอกไตทางหน้าท้อง กระบวนการคือ ใส่น้ำยาฟอกไตเข้าไปทางช่องใส่สายที่เราเจาะไว้ให้ แล้วก็เอาน้ำยานั้นออก เทียบเท่ากับเอาของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งจะต้องให้พยาบาลในโรงพยาบาลไปสอนกระบวนการนี้นิดหน่อย ถ้าทำได้คนในคุกที่ป่วยไตวายก็อยู่รอดได้อีกนานขึ้น  พอพยาบาลประสานกับโรงพยาบาลได้ เราก็จัดการส่งน้ำยา อุปกรณ์ทั้งหลายไปให้เลย  

ข้อจำกัดบางอย่างเราทำอะไรไม่ได้ อย่างเช่น ความแออัด เสื้อผ้า ที่นอน แต่ก็มีบางรายที่เราคุยได้ เช่น ผู้ต้องขังเป็นแผลกดทับ นอนที่นอนธรรมดาแผลไม่หายเด็ดขาด ก็จำเป็นต้องใช้ที่นอนนิ่มๆ ให้แผลหาย แต่หลังๆ มานี้กระทรวงสาธารณสุขกับกรมราชทัณฑ์ก็ร่วมมือกันบ่อยขึ้น ทำให้ข้อจำกัดลดลง เราก็ทำอะไรได้เยอะขึ้น

พอเจอข้อจำกัดหลายๆ ทาง บางทีก็อยู่เหนือการจัดการของเรา แล้วหมอทำงานยังไงให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่เหมือนคนข้างนอก

ต้องบาลานซ์เลย บางอันเราก็คุยกับเจ้าหน้าที่ได้ บางอันต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ได้ ต้องยอมรับและค่อยๆ แก้ แต่ความจริงเรือนจำพยายามที่จะดูแลให้ดีนะ เขากลัวคนตายมากกว่าเราอีก เมื่อไหร่ก็ตามถ้ามีคนตายในเรือนจำ ทุกคนจะวุ่นวายและเดือดร้อนมาก เพราะเขาจะโดนตั้งคำถามว่าทำไมอยู่ในคุกแล้วตาย ญาติจะบอกว่าดูแลผู้ต้องขังไม่ดี ไปทำร้ายเขาหรือเปล่า 

เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากให้มีคนตาย เพียงแต่เขาไม่รู้ต้องทำยังไง เพราะฉะนั้นพอเราไปบอกว่า เคสนี้ต้องมีอุปกรณ์อันนี้นะ หรือต้องช่วยเหลือแบบนี้ หลายข้อมันก็ยืดหยุ่นได้ อย่างเรื่องเตียง กฎกำหนดว่าต้องมีที่นอนเท่านี้ แต่พอเราบอกว่าจำเป็นต้องมีเบาะลม เขาก็เอามาเลย หรืออย่างกฎเรื่องเวลาในชีวิตประจำวัน เขาจะกำหนดว่าต้องลงมากินข้าว อาบน้ำ ทำกิจกรรมนี้กี่โมง เราบอกว่าคนนี้เขากินข้าว อาบน้ำ ในเวลานี้ไม่ได้ เขาก็โอเค เจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็ยินดีจะดูแลเรื่องสุขภาพ  

ถ้าพูดถึงกรณีที่ขอแล้วแต่ไม่ได้จริงๆ อย่างเช่น นักโทษป่วยเป็นโรคที่ไม่ฉุกเฉิน เป็นริดสีดวง ซึ่งอาจจะต้องผ่าตัด แต่ว่าต้องนอนโรงพยาบาล  3 วัน เจ้าหน้าที่จะถามก่อนเลยว่า จำเป็นต้องออกตอนนี้ไหม ถ้ารอสักปีจะเป็นอะไรไหม เพราะเขาจะพ้นโทษปีหน้า ถ้าเราบอกว่าไม่ได้ ทุกรายต้องไป เรือนจำจะมีข้อจำกัดเรื่องเจ้าหน้าที่ เพราะถ้ามีนักโทษหนึ่งคนออกไปโรงพยาบาลจะต้องมีคนคุม 2 คน ซึ่งอยู่ได้ 12 ชั่วโมงจะต้องเปลี่ยนอีก 2 คนมาเฝ้าต่อ แสดงว่าจะต้องใช้ผู้คุม 4 คนต่อวัน แล้วถ้าเกิดนักโทษมานอนโรงพยาบาลทีละ 5 คน วันหนึ่งต้องมีผู้คุมออกจากเรือนจำวันละ 10 คน อีก 12 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนมาอีก 10 คน เรือนจำไม่มีคนเยอะขนาดนั้น เลยกลายเป็นข้อจำกัดว่าอะไรที่อาจจะรอได้ก็จะให้รอ แต่ถ้าอะไรที่รอไม่ได้ก็ต้องมาโรงพยาบาล

อีกกรณีหนึ่งที่ผมเพิ่งมารู้ตอนทำงานกับเรือนจำคือ ผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุด เรือนจำไม่มีอำนาจพาออกไปไหนได้เลย เพราะอำนาจนั้นอยู่กับศาล เขามาฝากขังไว้ก่อน สมมติว่าผู้ป่วยถูกฝากขังไว้ก่อน 2 เดือน ถ้าบังเอิญป่วยแบบฉุกเฉิน มันจะเสี่ยง เราต้องบอกให้เจ้าหน้าที่เรือนจำรีบขออนุญาตศาล แต่ถ้าบางเคสที่ฉุกเฉินถึงชีวิต ไม่ออกมาตอนนี้อาจจะตาย เขาก็ให้ออกมาได้เลย

พอได้ทำงานในเรือนจำแล้ว หมอได้เห็นอะไรจากการช่วยเหลือผู้ป่วยบ้าง  

การทำงานในเรือนจำมีสองพาร์ตที่เกิดขึ้นกับผม พาร์ตแรกก่อนจะได้เข้าร่วมคอร์สเรียนกับ ICRC (The International Committee of The Red Cross) ผมก็ดูแลคนป่วยในเรือนจำแบบที่ดูแลคนป่วยข้างนอก เพียงแต่มันจะมีความคิดหนึ่งในหัวอยู่ คือคนที่ทำผิด เราจะต้องดูแลเขาขนาดไหน โอเค บางคนอาจจะเป็นแพะ แต่ส่วนใหญ่ต้องทำอะไรผิดมาสักอย่าง ไม่งั้นเขาก็คงไม่เข้าคุก แต่ไม่ได้หมายความว่าผมรักษาแบบขอไปทีนะ รักษาก็คือรักษา เพียงแต่เข้าไปแล้วความคิดเราแคบ แรกๆ แอบเปิดดูด้วยว่าคนนี้โดนโทษอะไรมา ตอนทำงานก็รู้สึกว่าทำไมท่าทาง บุคลิก การพูดของเขาไม่เหมือนคนจะก่อคดีนี้เลย 

พอเข้าคอร์สเรียนด้านสุขภาพในเรือนจำที่ ICRC ทำร่วมกันกับธรรมศาสตร์ ทำให้ทัศนคติผมเปลี่ยนเลย มีอันหนึ่งน่าสนใจ จำไม่ได้แล้วว่าใครพูด เขาบอกว่า “ผู้ต้องขังคือคนที่ได้รับโทษให้จำกัดอิสรภาพเท่านั้น ส่วนอื่นจำกัดเขาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การรักษาพยาบาล การศึกษา เรื่องอื่นๆ ทั้งหมด”

เพราะฉะนั้น เขาโดนทำโทษเรื่องนี้เท่านั้น เรื่องอื่นไม่เกี่ยว มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องไปดูแล และอาจจะต้องดูแลเยอะกว่าข้างนอกอีกด้วย ถ้าเขาโดนจำกัดเสรีภาพอย่างเดียว แต่เรื่องอื่นซวยไปด้วยก็อาจจะไม่แฟร์ มันเปลี่ยนความคิดผมเลยว่าผู้ต้องขังเป็นคนเหมือนเรา แต่ในกระบวนการรักษา ก่อนและหลังเข้าคอร์ส ผมทำงานไม่ต่างกันเท่าไหร่ แม้มีข้อจำกัดการทำงานเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนหลังเราก็พยายามช่วยเหลือเขาเพิ่มขึ้น 

ถ้านับตั้งแต่ความตั้งใจแรกที่จะเข้ามาดูแลสุขภาพในเรือนจำเพื่อไม่ให้คนเสียชีวิตในคุกอีก ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหรือยัง

ตั้งแต่เข้าไปผมไม่เคยต้องไปชันสูตรอีกเลย (หัวเราะ) กี่ปีแล้วก็ไม่รู้ แต่มีคนที่มาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนะ เช่น อาการป่วยหนักๆ แต่แทนที่จะให้เขารอป่วยตายในเรือนจำ พอมีช่องทางที่ทำให้เขาออกมาอยู่โรงพยาบาลได้ง่ายขึ้น มาดูแลที่โรงพยาบาลได้ สุดท้ายถ้าเขาจะต้องตายก็ตายที่โรงพยาบาล 

 

สุดท้ายแล้ว ถ้าถามความคิดเห็นของหมอ ทำไมเราทุกคนต้องเห็นความสำคัญกับสุขภาพของคนในเรือนจำ

ผมว่ามันเป็นเรื่องความมั่นคงชาติเลยนะ ข้างในเป็นกลุ่มที่เขาทำผิดอะไรมาสักอย่าง แล้วเราก็หวังว่าถ้าเข้าไปแล้ว เขาออกมาจะปรับตัวอยู่ในสังคมได้ ถ้าเราดูแลเขาไม่ดี เขาเหมือนโดนทำโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีโอกาสที่เขาจะกลับมาทำผิดซ้ำอีก 

ผมเคยไปดูงานที่อยุธยา ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกเรือนจำเป็นแบบนี้ เขาให้ฝึกอาชีพ เปิดร้านให้คนในเรือนจำเอาของที่ทำไปขายแล้วเปิดบัญชีส่วนตัว ส่วนต้นทุนเรือนจำเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง อีกส่วนเป็นของผู้ต้องขัง ออกมาก็มีอาชีพ เขาไม่มีทางทำผิดซ้ำ น่าจะลดได้เยอะ แต่ถ้าเขาป่วย กลับไปอยู่บ้าน ที่บ้านดูแลกันยาว ถ้าเกิดเราจัดการให้เขาไม่ป่วยได้ เขาก็ได้ออกมาทำมาหากิน

อีกอย่างคือผมยังมองว่าเรือนจำเป็นแหล่งแพร่เชื้อวัณโรคของประเทศเราอยู่ เพราะโรคนี้มันประหลาด สมมติผมได้รับเชื้อวันนี้ ผมอาจจะไม่เป็นอะไร แต่อาจป่วยอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าหากเป็นนักโทษแล้วเขาพ้นโทษไปอาจนำเชื้อไปแพร่ต่อคนที่บ้านได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดการวัณโรคในเรือนจำได้ น่าจะลดวัณโรคข้างนอกได้มาก 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่