“ความไว้ใจนำพาฉันไปติดคุกกับลูก” วันที่หญิงท้อง 5 เดือนต้องกลายเป็นนักโทษเรือนจำ​

Highlights

  • พลอย คือหญิงสาวที่ต้องคลอดลูกในสถานะนักโทษในเรือนจำ เพราะเธอถูกจำคุกตอนท้องได้ 5 เดือน แม้ว่าพันธนาการชีวิตเธอและลูกหลังกำแพงสูงจะเกิดจากความเชื่อใจเพื่อน แต่เมื่อได้เห็นหน้าลูกสาว เธอก็พร้อมจะยืนหยัดและสู้เพื่อเลี้ยงดูลูกในเรือนจำให้ได้
  • ตลอด 3 ปี 9 เดือนคือจำนวนเวลาที่เธอถูกคุมขังในนั้น พลอยได้เห็นทั้งสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญในฐานะคนท้องและมองเห็นสมาชิกร่วมคุกได้รับการดูแลสุขภาพในเรือนจำำ ครั้งนี้เธอจึงหยิบประสบการณ์มาบอกเล่ากับเรา
  • นอกจากนี้ เธอยังบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองเผยแพร่บนเฟซบุ๊กเมื่อปีที่แล้ว และยังเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในหนังสือ มันก็ทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ซึ่งเขียนโดยภรณ์ทิพย์ มั่นคงด้วย
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Behind Bars ซีรีส์ที่ a day ร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ผ่านแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

อะไรก็ระเกะระกะจิตใจไปหมดในยามที่ต้องนอนท่ามกลางความแออัดของผู้คนในห้องแคบๆ แม้รู้ดีว่ายังไงก็ต้องฝืนใจให้ร่างกายพักผ่อนก่อน ค่อยว่ากันใหม่ในวันพรุ่งนี้ แต่ใช่ว่ามันจะง่ายสำหรับคนท้อง 5 เดือนที่ต้องพาอีกชีวิตมาร่วมชะตากรรมด้วยกันในเรือนจำ

ไม่ต้องนึกถึงการนอนพลิกซ้ายพลิกขวาเพื่อข่มตาให้หลับ ลืมเรื่องนั้นไปได้เลย พื้นที่จำกัดกับคนหลักร้อย แม้แต่ลุกไปเข้าห้องน้ำกลางดึกยังไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมานอนที่เดิมหรือเปล่า 

ยังไม่นับรวมคำถามต่อความไว้ใจที่ดังก้องและอื้ออึงในหัวมาตลอดทั้งวัน เพราะความรู้สึกนี้แหละที่ทำให้เธอต้องกลับมาอยู่ในเรือนจำซ้ำสอง ด้วยข้อหาคดียาเสพติด 

นี่คือความรู้สึกที่พลอย อดีตผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญในวันแรกที่ศาลฝากขังเธอไว้ที่เรือนจำก่อนจะตัดสินให้เธอรับโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน ทำให้เธอต้องเผชิญกับเรื่องราวถาโถม ในขณะที่ต้องประคองตัวเองให้เลี้ยงลูกในเรือนจำได้อย่างดีที่สุด  

 แม้ตอนนี้พลอยพ้นโทษออกมาได้ร่วม 2 ปีแล้ว แต่ความทรงจำและรายละเอียดตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปียังคงแจ่มชัด เธอบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก แฟร์ลี่เทล FairyTell ที่ก่อตั้งโดย กอฟ–ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตนักโทษคดี ม.112 เจ้าของหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ซึ่งพลอยก็เป็นหนึ่งในตัวละครของหนังสือเล่มนี้ด้วย

“ในนี้ความเครียดถาโถมจนเกือบจะรับไม่ไหว กว่าจะผ่านคืนนี้ไปได้มันไม่ง่าย” หนึ่งในความรู้สึกที่เธอบันทึกและเผยแพร่เอาไว้

ทั้งหมดไม่ใช่เพราะอยากให้คนนอกรับรู้เรื่องราวที่เธอต้องเผชิญหลังกำแพงสูงเพียงอย่างเดียว แต่พลอยหวังว่าเมื่อลูกโตขึ้นจะได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านบันทึกที่เธอตั้งใจเขียนเป็นมรดกความทรงจำไว้ให้

ก้าวสู่แดนแรกรับ

“เรื่องมันเกิดจากความไว้ใจเพื่อน ตอนนั้นแฟนเพื่อนโทรมาให้เราช่วยเอายาไปให้ เขาโทรมาหลายรอบมากเหมือนร้อนใจ เรากำลังจะนอนพักผ่อน แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร ด้วยความรำคาญใจที่เขาโทรมาบ่อยๆ เลยเอาไปให้ พอไปถึงเห็นตำรวจรออยู่ แล้วเราก็ถูกจับเพราะของกลางอยู่กับเรา”

“พยายามเอาแชตที่คุยให้ตำรวจดู เขาก็ไม่ฟัง แล้วพาไป สน. ตอนนั้นเราสติแตกแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรผิด ฉันไม่ได้เกเรแบบเดิมแล้ว เราร้องไห้ตลอด ไม่คิดว่าแฟนเพื่อนจะคิดร้ายกับเรา เพราะเขาก็รู้ว่าเราท้องและกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่”

“แต่ตำรวจไม่เชื่อแล้ว เขาดำเนินคดีแล้วส่งศาล เราพยายามติดต่อหาแฟน พอเขามาถึงก็บอกตำรวจว่าพี่จับผมแทนได้ไหม เพราะว่าแฟนผมท้องอยู่ แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้แล้ว วันเสาร์ตำรวจก็พาไปขึ้นศาล แล้วก็ฝากขังในเรือนจำ เพราะคดีเราประกันตัวไม่ได้”

“ตอนนั้น 6 โมงเย็นเรามาถึงเรือนจำ ก่อนเข้าไป เขาตรวจตัวทุกอย่าง ให้ถอดเสื้อผ้าทั้งหมด ตรวจภายในช่องคลอดด้วยการลุกนั่ง ทุกคนต้องทำเหมือนกัน ไม่มียกเว้นว่าเป็นคนท้อง เพราะเขาจะไม่ให้เอาอะไรเข้าไปเลย แม้แต่ยารักษา ถ้าบางคนต้องใช้ แล้วเรือนจำมีอยู่แล้วเขาก็จะไม่ให้เอาเข้าไป แต่ถ้าไม่มีบางคนต้องฝากให้ญาติเอาเข้ามาให้ในวันต่อไปแทน แต่ถ้าวันเราเข้าเรือนจำวันหยุด ญาติจะฝากได้อีกทีคือวันจันทร์”

“ระหว่างตรวจเจ้าหน้าที่ถามเราว่าท้องหรือเปล่า ฝากท้องมาหรือยัง มีใบสีชมพูไหม มันคือใบผลยืนยันว่าท้อง เพราะเขาจะได้แยกเรามาอยู่อีกห้องหนึ่ง แต่เราไม่มี เขาเลยให้เรารอผลตรวจเลือดมายืนยันก่อนถึงจะจัดเราให้อยู่ในกลุ่มคนท้องได้”

“เราเลยได้ไปอยู่ห้องรับผู้ต้องขังใหม่ในแดนแรกรับ แดนนี้จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ต้องขังที่ศาลยังไม่ตัดสินคดี ตอนเราไปถึงคนแน่นเต็มห้อง เพราะเป็นห้องที่คนจะอัดอยู่ในนี้รอการแบ่งไปอยู่ห้องอื่นๆ ซึ่งต้องอยู่ที่นี่อย่างน้อย 1 อาทิตย์นั่นหมายความว่าถ้ามีคนอยู่ในนี้แล้ว 70 คน สมมติช่วง 1 ทุ่มมีคนเข้ามาเพิ่มอีก 10 คน ทุกคนจะมาอัดรวมกันในนี้”

“จำได้ว่าก่อนเข้าไปนอนในห้องนั้น เราได้อาบน้ำเปลี่ยนเป็นชุดหลวงที่เขาขนมาจากกระสอบให้ แล้วไปกินข้าว มื้อแรกในคุกคือแกงมันเทศ บอกตรงๆ ต้มอะไรไม่รู้เละเทะไปหมด แต่เราก็ต้องกินเพื่อลูกนั่นแหละ เสร็จแล้วก็เข้าไปห้องรับผู้ต้องขังใหม่ที่ต้องเดินขึ้นไป 3 ชั้น เขาจะแจกผ้าห่มให้ เราก็ต้องเอามาพับครึ่งเพื่อทำเป็นหมอน แต่ก็ได้เล็กกว่าหมอนขอนอีก เพราะมันไม่มีที่นอน”

“แต่นอนยังไงก็ไม่หลับ เพราะทั้งเสียงคนกรน กลิ่นเหงื่อคนใกล้ๆ ทุกคนนอนติดกัน มันแออัดมาก แล้วเราก็เครียดด้วย คิดตลอดว่าทำไมต้องเป็นฉันที่มานอนในนี้ แล้วอนาคตเราจะไปต่อยังไงดี แฟนเราล่ะจะเป็นยังไง เราใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่หนึ่งอาทิตย์โดยไม่พูดกับใคร เพราะไม่อยากยุ่งกับใคร และไม่อยากคิดอะไรไปมากกว่านี้ จนเขาหาว่าเราเป็นแรงงานต่างด้าว”

“ก่อนมาอยู่นี่เราเพิ่งหายแพ้ท้องหนักๆ มาด้วย พอถึงเวลากินข้าวเราแทบกินไม่ได้ แต่รู้ว่าต้องกิน และต้องกินตามเวลาที่เขากำหนด อย่างตอนเย็นต้องขึ้นห้องขังตั้งแต่ 4 โมง หลังจากนั้นเราจะไม่ได้กินอะไรอีกเลย นอกจากน้ำเปล่า จนกว่าจะถึง 6 โมงเช้าของวันต่อไป ถ้าคนท้องคนไหนมีญาติก็อาจจะดีที่มีคนส่งอาหารมาบำรุงให้”

“หลังจากผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ เจ้าหน้าที่เห็นว่าเราท้องใหญ่ เวลายืนอยู่ตรงบันไดทางผ่านไปอาบน้ำ เขาปล่อยคนออกมาพร้อมกัน ทุกคนต้องรีบๆ ไปหมด แล้วจังหวะเบียดเสียดลงบันไดจะมีคนชนเราล้ม เขาเลยทำเรื่องขอให้เรามาอยู่ห้อง 7 ซึ่งเป็นห้องพักชั้นล่างของคนท้องกับคนแก่แทน”

“หนึ่งเดือนที่อยู่ในแดนแรกรับ ทุกอย่างมันแย่ไปหมดเลย เราเครียดและพยายามไปขอยากินกับพยาบาล แต่เขาบอกว่าจ่ายยาไม่ได้ เพราะเราท้องด้วยเขาคงไม่กล้าให้”

 

สู่แดนปกครองและห้องรองรับคนท้อง

“หลังจากนั้นเราก็ถูกย้ายไปอยู่แดนปกครอง และถูกแยกให้มาอยู่ห้องคนท้อง ห้องนี้ดีขึ้นจากห้องเดิมหน่อย เพราะไม่อึดอัดมาก และมีผลตรวจยืนยันว่าเราท้อง ก็ได้ไปอัลตราซาวนด์กับหมอบ้าง นัดตรวจบ้าง ส่วนจิตใจก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่นัก มันคิดอยู่ตลอดว่าชีวิตต่อจากนี้จะเอายังไง เรายังมีความรู้สึกว่าเราไม่ผิด ไม่สมควรอยู่ตรงนี้ แล้วเราติดต่อแฟนไม่ได้แล้ว หลังจากติดต่อกันอยู่ช่วงเดือนแรก นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เครียด เพราะเราเห็นหลายๆ คนที่นี่ก็เป็นแบบเดียวกัน แม้จะพยายามทำใจไว้บ้าง แต่จะบอกว่าไม่คิดอะไรเลยก็ไม่ได้ อยู่กับลูกแค่สองคนเราจะเดินยังไงต่อ ทำยังไงให้ลูกเราอยู่ได้แบบสบายๆ มีของใช้ที่จำเป็น”

“เรานึกถึงชีวิตต่อจากนี้นะ อย่างแรกคือถ้าน้ำนมไม่มี ต้องหานมให้ลูก นมที่มีขายในเรือนจำกล่องละ 315 บาท ประมาณ 300 กรัม เด็กจะกินได้เกือบ 2 วัน ส่วนแพมเพิร์สตัวละ 10 บาท ที่เรือนจำสนับสนุนให้เลี้ยงด้วยผ้าอ้อมก็จริง แต่มันก็ต้องมีใส่บ้าง วันหนึ่งน่าจะใส่ประมาณ 4-5 แผ่น แล้วจะหาเงินให้ลูกกี่บาทเพื่อให้พอทั้งค่านมและแพมเพิร์ส”

“ข้อกำหนดของเรือนจำคือถ้าท้อง 8 เดือนจะต้องขึ้นไปอยู่สถานพยาบาลเพื่อเตรียมรอคลอด ตอนนั้นเราก็น่าจะทำอะไรไม่ได้มาก ดังนั้นเวลาของเราเหลือนิดเดียว มันเลยบีบมากที่เราจะต้องมีเงินซื้อของให้น้อง เราต้องหางานทำแล้ว ไม่ไหวก็ต้องไหว สิ่งแรกที่เราคิดคือ รับจ้างผู้ต้องขังคนอื่นๆ ซักผ้า เราคิดว่าค่อยๆ ซักไป ไม่เป็นไรหรอก”

“ก็ใช้จังหวะที่เขาปล่อยลงมาอาบน้ำก่อนคนอื่นๆ ครึ่งชั่วโมงมาซักผ้าในห้องน้ำ เพราะไม่มีที่ไหนให้ทำแล้ว เราต้องรีบจัดการตัวเอง แต่งตัว แล้วมารีบซักผ้า ปัญหาคือเราสูงกว่าบ่อน้ำไม่เท่าไหร่ แล้วเราต้องเอาท้องลงไปเพื่อจะวิดน้ำก้นบ่อมาซักผ้า แล้วยิ่งรีบท้องก็จะกระแทกกับขอบบ่อยๆ ถ้าทำเสร็จไม่ทัน เพื่อนวิ่งเข้ามาชนเราอาจจะลื่นล้มได้”

“เราคิดว่าแบบนี้ไม่ไหว ต้องหาอย่างอื่นทำ นึกถึงความสามารถเรื่องนวดของตัวเองเลยพยายามเอาออกมาใช้ แต่ไม่รู้ว่าใครจะมากล้าให้คนท้องอย่างเรานวด เพราะคนไม่ท้องแล้วนวดเป็นก็มี เราเลยพยายามคุยกับคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราก่อน มีพี่คนหนึ่งเปิดโอกาสให้เราลองทำดู พอทำแล้วโอเค เขาเลยให้ทำเหมา 30 วัน จ่าย 1,000 บาท พอนวดได้จนครบ  เราก็ต้องขึ้นไปสถานพยาบาลเพื่อเตรียมรอคลอด”

“พอมาอยู่ตรงนี้ใจเราเข้มแข็งขึ้นนะ เพราะเรามีหวังแล้วว่าจะมีทางออกให้น้องด้วยการรับจ้างนวดนี่แหละ และที่นี่จะดีตรงที่ไม่ค่อยจำกัดเรามาก น่าจะให้เราผ่อนคลายก่อนไปคลอด มียาบำรุงให้กิน แล้วพยาบาลที่อยู่ในนั้นจะสอนให้เรานับจังหวะการเจ็บท้อง ถ้าหากถึงเวลาจะคลอดจริงๆ ต้องนับให้ได้แล้วค่อยไปบอกพยาบาลว่าเจ็บท้องคลอดแล้ว” 

“มีคืนหนึ่งที่เรานวดเสร็จ 3 ทุ่ม แล้วก็จะนอน แต่รู้สึกนอนไม่หลับ ทั้งๆ ที่เพลียมาก เลยลุกขึ้นมานับความถี่ของอาการเจ็บท้อง ภายใน 5 นาทีเราเจ็บกี่ครั้ง เจ็บครั้งละกี่วินาที เพราะว่าถ้านับไม่ถูก เราก็จะไปบอกเจ้าหน้าที่และพยาบาลว่าเจ็บท้องคลอดลูกไม่ได้ จนเที่ยงคืนมันเจ็บมากขึ้น เราเลยไปบอกพยาบาล เขาบอกว่าอาจจะคลอด รอให้ปากมดลูกเปิด 6-7 ซม.ก่อนถึงจะพาไปโรงพยาบาล แล้วก็กลับไปนอนต่อ”

“แต่เราเคยคลอดลูกมาก่อน ปากมดลูกเปิดไม่ถึง 10 ซม.เราก็คลอดแล้ว เราเลยบอกผู้ช่วยพยาบาลที่เป็นผู้ต้องขังว่าเราปวดท้อง เขาเลยเรียกพยาบาลอีกครั้ง แล้วเจ้าหน้าที่เป็นคนพาเราไปโรงพยาบาล เอาเราขึ้นรถผู้ต้องขังที่มีลูกกรง เขาจะใส่กุญแจมือเราข้างหนึ่งไว้ท้ายรถด้วย เพราะไม่ได้มีใครนั่งท้ายรถไปกับเรา”

“ถึงโรงพยาบาลประมาณตี 3 หลังจากสวนทวารแล้ว เขาเข็นเตียงเรามาไว้ตรงทางเดิน ไม่ใช่ตรงห้องรอคลอด แต่เราไม่ไหวแล้ว มันเจ็บมาก แล้วเราเจอพยาบาลพูดใส่ว่า ‘ปากมดลูกยังไม่เปิดถึง 5 ซม.เลย ถ้าอยากเบ่งก็เบ่งออกมาให้มดลูกอักเสบไปเลย’​”

“สุดท้ายเจ้าหน้าที่เลยไปช่วยคุยกับหมอว่าให้พาเราไปคลอดเลยดีกว่า พยาบาลก็พาเราเข้าไปในห้อง เราเจ็บท้องมากร้องบอกว่าไม่ไหวแล้ว พยาบาลบอกให้เราเงียบๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม แล้วเขาก็มาถามประวัติว่าเสพยาไหม เราปฏิเสธ ท่าทีของเขาก็พูดด้วยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราไม่รู้ว่าเขาเจอเรื่องอะไรมา แต่เราก็ตอบไปตามความจริง”

“สักพักหมอก็เดินมาดู เห็นว่าหัวน้องเริ่มโผล่ออกมาแล้ว เราก็เบ่งสุดแรง เพราะปวดมาก จนในที่สุดน้องออกมาน้ำหนัก 3,500 กรัม ตัวใหญ่มาก หมอก็ยกลูกเรามาไว้ตรงอกเรา แล้วตัดสายสะดือ พยาบาลมาทำแผลช่องคลอดให้ต่อ เราไม่แน่ใจว่าเขาฉีดยาชาไหม แต่ความรู้สึกที่เข็มแทงเข้ามามันเจ็บ เราเลยบิดตัวแล้วร้อง สักพักพยาบาลบอกกับเราว่า ขอทำแผลให้เท่านี้ที่เหลือให้มันไปผสานกันเอง เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม หรือเพราะเราเป็นนักโทษหรือเปล่า”

“หลังจากนั้นเรามีเวลาอยู่โรงพยาบาลได้จนกว่าน้ำเกลือจะหมด และต้องเฝ้าดูอาการตกเลือดด้วย เขาเข็นเรามาไว้ปลายเตียงของคนป่วยในห้องพักรวม และปรับเตียงให้สูงเพื่อไม่ให้เราหนี ล็อกกุญแจไว้กับเท้าเราที่ปลายเตียง พอน้ำเกลือหมดเราก็เปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษกลับไปเรือนจำกับลูก”

เติบโตที่แดนปกครอง

“กลับมาที่สถานพยาบาลได้พัก 3 วัน หลังจากนั้นก็ลงมาสู้รบปรบมือที่แดนนอก เราเริ่มรับจ้างนวดเลยทันทีจนเพื่อนต้องเตือนว่าแผลยังไม่หายดี ทำไมเราทำงานเร็วจัง เราคิดว่าเราต้องรีบเก็บเงินให้น้องแหละ เพราะนักสังคมสงเคราะห์บอกว่าน้องจะอยู่กับเราได้ 1 ปี หลังจากนั้นต้องให้ญาติมารับ แต่ถ้าญาติไม่มารับจะต้องส่งไปมูลนิธิ”

“ที่เรือนจำจะมีพื้นที่ไว้ให้ฝากเด็ก เป็นพื้นที่บริเวณทางเดิน แม่ลูกอ่อนจะเข้าเวรสลับกันมาทำหน้าที่ อาบน้ำบ้าง ดูเด็กบ้าง เราก็ต้องเอาน้องไปไว้ที่นั่นในช่วงไปรับนวดหรือซักผ้า พอถึงเวลาป้อนนม ป้อนข้าว หรือตอนนอนก็จะไปรับมาอยู่ด้วย อย่างตอนเที่ยงเขาจะให้เวลาแม่ลูกอ่อนไปกินข้าวก่อนประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วมารับลูกตอน 11 โมงครึ่งเท่านั้น วันไหนกินข้าวไม่ทันเพราะต้องทำงาน หรือบางทีเขาไม่ให้กินก่อน ก็ต้องรีบไปรับลูกก่อน และสละข้าวมื้อนั้นไป”

“คนที่มีญาติก็จะมีอาหารฝากมาให้ มีเงินฝากในระบบสำหรับใช้ซื้อของในเรือนจำได้ แต่เราไม่มีก็ต้องอาศัยอาหารกองเลี้ยง และต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ในเมื่อเราถูกบังคับก็เลือกไม่ได้ แล้วลูกเราก็ต้องโดนบังคับไปด้วย ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องอยู่ในกฎ ลูกก็ต้องถูกจำกัดเหมือนกัน เช่น เรื่องเสียง เราคงห้ามให้เด็กร้องไห้ไม่ได้ แต่เราต้องทำให้น้องหยุดร้องให้ได้ แล้วลูกเราเป็นคนไม่ยอมให้ใครอุ้ม เวลาเราไม่อยู่น้องร้องเสียงดัง หรืออย่างตอนไปยังที่นอน มีคนอยู่ร้อยกว่าคน คนอื่นก็ต้องนอนที่ของเขา บางทีเด็กก็อยากคลานเล่น แต่ก็ทำไม่ได้ เขาถูกจำกัดพื้นที่การเล่นเหมือนกัน”

 

“มีเหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นกับเราครั้งหนึ่ง เราฝากลูกไว้ห้องเด็กเหมือนทุกครั้ง วันนี้ไม่ใช่เวรเราดูแลก็ออกไปรับจ้างทำงานปกติ กลับมารับลูกตามเวลา แล้วเห็นว่าตัวน้องเขียว แต่น้องหลับ เราพยายามปลุกให้ตื่นแต่ก็ไม่ตื่น เลยรีบวิ่งไปหาพยาบาล บอกให้ช่วยลูกเราที พยาบาลคนหนึ่งก็รีบอุ้มไปดู น้องก็เริ่มตัวเขียวขึ้นเรื่อยๆ

“ที่นี่ไม่มีหมออยู่ประจำ ใครป่วยหนักๆ ถึงจะจัดรถออกไปโรงพยาบาลได้ พอน้องเริ่มตัวเขียวมากขึ้น พยาบาลคนที่อุ้มน้องเลยรีบบอกให้เจ้าหน้าที่พาไปโรงพยาบาล แล้วอยู่ๆ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็เอาใบมาให้เราเซ็น ในนั้นเขียนว่า ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับน้องทั้งหมดนี้จะไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นพอมีสติบ้าง เราอ่านแล้วไม่ยอม เราเพิ่งมารับน้องจากห้องเด็ก อยู่ดีๆ น้องตัวเขียว มันเกิดอะไรขึ้น”

“พยาบาลคนที่อุ้มไปเขาไม่สนใบเซ็นเลย รีบไปโรงพยาบาล แต่เราไม่ได้ไป จนกระทั่งเขากลับมาบอกว่าน้องไม่ได้เป็นอะไรแล้ว แค่อยากนั่งรถเล่น เพราะไปถึงโรงพยาบาลน้องอาการดีขึ้นแล้ว หมอบอกว่าน่าจะเพราะสะอึกแล้วขาดออกซิเจน”

ทางเลือกของอิสรภาพ

“หลังจากคลอดลูกได้ 2-3 เดือนเราก็พยายามติดต่อกลับไปหาแฟนผ่านเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเพื่อนก็บอกว่าโทรไม่ติด เราเลยเขียนจดหมายหาเขา ว่า ‘ไม่มาดูลูกเหรอ ลูกหน้าตาเหมือนตัวเองมากเลยนะ’ แล้วเราก็เขียนไปตามความรู้สึกอีกว่า ‘จะมีใครก็ไม่ว่าหรอก แต่ขออย่างเดียวว่าอย่าทิ้งลูกนะ เพราะเราอยู่ตรงนี้ได้ แต่ลูกอยู่ไม่ได้ เขารับความลำบากความกดดันไม่ได้หรอก’”

“เพื่อนเราได้อ่านจดหมายก็ร้องไห้ แล้วมาเล่าความจริงว่าเขาโทรหาแฟนเราติดตั้งแต่ครั้งแรกๆ แล้ว แต่แฟนเราตอบกลับมาว่าไม่รู้จักคนชื่อนี้ เพื่อนเลยไม่อยากบอกความจริง เพราะกลัวเราเสียใจ เราร้องไห้เลย บอกกับเพื่อนว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะที่จะร้องไห้”

“เราปล่อยเขาไป ช่างมันเถอะ ในเมื่อเราก็เลือกไม่ได้แล้ว เราก็มีตัวตนของเรา ตอนนี้เหลือเวลาที่เราจะอยู่กับน้องด้วยอีกแค่ 7-8 เดือน ถ้าเรามัวแต่นั่งเสียใจกับผู้ชายคนนี้ แล้วเรากับลูกจะอยู่ยังไง ชีวิตมันลำบาก มันต้องดิ้นรน เราขอทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้ลูกเราโอเคเพอร์เฟกต์เหมือนคนมีญาติเลย โดยที่ลูกเราไม่ขาด โดยที่เราไม่ขอของใช้ แล้วก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย เราขยันมาก ทำอะไรได้ทำ เก็บเงินเพื่อให้น้องได้มีเงินใช้”

“มีวันหนึ่งที่เรือนจำจะเชิญญาติหรือพ่อของลูกมาหาลูก เราให้เบอร์ญาติของแฟนกับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ไป และไม่คาดหวังด้วยว่าเขาจะมา ซึ่งตอนนั้นมีสองทางเลือกคือ ถ้าเขาไม่มา น้องก็มีสิทธิไปอยู่ที่มูลนิธิ”

“แต่วันนั้นเขาก็มาหาลูก ตอนนั้นน้องร้องไห้ใหญ่เลย เขาคงคุ้นชินกับการเห็นผู้หญิงมากกว่า และไม่คุ้นกับชุดธรรมดาแบบที่พ่อเขาใส่มา วันนั้นเราไม่ได้บอกเขานะว่าจะต้องมารับลูกไปอยู่ด้วย แต่เขาบอกกับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ว่าลูกเขามีพ่อ ทำไมต้องไปอยู่มูลนิธิ”

“วันที่ต้องส่งลูกไปอยู่กับเขา เราเป็นห่วงลูกนะ มันอดคิดไม่ได้ว่าเขาจะดูแลลูกได้ไหม เพราะเขาไม่เคยมีลูกมาก่อน แล้วถ้าเขามีคนรักใหม่ เขาจะดูแลลูกได้หรือเปล่า โชคดีก่อนหน้านั้นเรารู้จักกับพี่กอฟ เขาเลยให้ญาติช่วยดูแลด้วย เราเลยไว้ใจได้ว่าพ่อเขารักลูกนะ และเขาเลือกลูก”

สู่อิสรภาพ

“ตลอดเวลาที่เราอยู่ในเรือนจำโดยไม่มีน้อง เราทำงานอยู่ข้างในส่งเงินให้ลูกตลอด อย่างน้อยก็อยากดูแลเขาด้วย”

“หลังจากพ้นโทษออกมาเราไปเรียนนวดแล้วและคิดว่าจะทำอาชีพนี้ต่อในต่างประเทศ ไม่ได้ไปดึงน้องกลับมา เราคิดว่าลูกอยู่กับพ่อเขาคุ้นชินกันแล้ว ถ้าให้มาอยู่กับเราอีกน้องต้องสับสนและต้องใช้เวลาปรับตัว เราเลยให้เขาอยู่กับพ่อดีกว่า แต่แฟนเราก็พาลูกมาหา แล้วบอกว่าเขาเลิกทุกอย่างเพื่อพาลูกมาหาเราแล้ว เราจะทิ้งลูกไปที่อื่นอีกเหรอ”

“เราเลยตัดสินใจไม่ไป และอยู่กับพวกเขา พอนึกย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น รู้สึกขอบคุณลูกเรานะ ถ้าไม่มีน้องเราคงนั่งคิดท้อไปว่าเราจะทำยังไง คงจมกับความแค้น ความโมโห ความโกรธของเราอยู่อย่างนั้น ชีวิตเราคงเครียดทุกวัน เราคงไม่ปล่อยวาง” 

“แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เรามาอยู่ในคุกกับลูกเพราะความไว้ใจเพื่อน แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว เราไม่คิดอยากจะแก้แค้นเขาเลย ตอนนั้นมันคิดแค่ว่าต้องสู้เพื่อลูก ถ้าเรามัวแต่คิดอย่างนี้ เราก็ไม่มีแรงจะทำอะไร เรามัวแต่นั่งเสียใจว่าทำไมฉันต้องโดน ทำไมฉันต้องเจอ แล้วถ้าเรามองไปที่ลูก แล้วเขาทำอะไรผิด ทำไมเขาต้องเจอ เขาไม่ได้รู้เรื่องกับเรา แต่ถามว่าลืมไหม ไม่เคยลืมความเจ็บนี้เลย”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย