ทำไมนักโทษต้องมีสุขภาพดี? คุยกับ ICRC องค์กรที่เชื่อว่าปัญหาสุขภาพไม่ใช่การลงโทษคนทำผิด

Highlights

  • ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือ ICRC ลงมือทำงานสุขภาพในเรือนจำไทยเพื่อผลักดันให้ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เข้าถึงการรักษาสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน
  • นอกจากการทำงานในไทยแล้ว ICRC ยังขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพเรือนจำในหลายประเทศทั่วโลกมาตลอด 140 ปีนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นทำให้พวกเขาได้เห็นเงื่อนไขและความท้าทายการทำงานของเรือนจำทั่วโลก
  • ส่วนในไทยเอง นอกจากจะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบพัฒนาสุขภาพที่ดีในเรือนจำแล้ว ICRC ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเห็นความสำคัญในสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง เช่น โครงการออกแบบเรือนจำซึ่งร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และล่าสุดกับคอร์สสร้างความตระหนักรู้หลักสิทธิมนุษยชนในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Behind Bars ซีรีส์ที่ a day ร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ผ่านแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

ICRC
ในยามที่เราเข้าใจว่าการจำคุกคือหนึ่งในบทลงโทษที่หวังให้คนที่ต้องเข้าไปอยู่–ไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว–เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดแล้วกลับออกมาเป็นคนใหม่ในสังคม แต่ในความเป็นจริง ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้การฟื้นฟูผู้ต้องขังยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

เพราะการลงโทษใครด้วยการจำกัดเสรีภาพกลายเป็นว่าทุกอย่างต้องโดนจำกัดไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพ โอกาสที่จะฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมจึงเป็นไปได้ยาก และเพิ่มโอกาสการทำผิดซ้ำมากขึ้น

ปัญหาเหล่านี้หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างพยายามแก้ไขมาเสมอ และมีองค์กรต่างๆ ที่ให้ความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือผลักดันการดูแลสุขภาพในเรือนจำ หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC (The International Committee of the Red Cross) องค์กรที่ทำงานด้านสาธารณสุขในเรือนจำมายาวนานกว่า 140 ปี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 

ICRC

ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ชีวิต อาหาร สุขภาพ การให้คำแนะนำเรื่องการจัดการน้ำสะอาด ขยะมูลฝอยหรือให้วิศวกรเข้ามาช่วยออกแบบโครงสร้างที่ได้มาตรฐาน พวกเขาก็ลงมือทำมาแล้วทั่วโลก เพื่อตอกย้ำหลักการสิทธิมนุษยชนที่ว่าทุกคนต้องสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ดี 

โดยมีการนำข้อกำหนดแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการวางมาตรฐานการจัดการเรือนจำที่ดีมาเป็นฐานในการทำงาน อย่างข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela rules) ซึ่งมีหลัก 5 ประการคือ หนึ่ง–ผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สอง–ห้ามทรมานผู้ต้องขัง สาม–ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และคำนึงถึงความต้องการพื้นฐาน สี่–เรือนจำต้องคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยโดยไม่กระทำผิดซ้ำ ห้า–เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเรือนจำและผู้มาเยี่ยมต้องได้รับความปลอดภัย

อีกข้อกำหนดหนึ่งที่นำมาใช้คือ ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เช่น การดูแลเรื่องสุขภาพ ห้องขัง สถานที่อาบน้ำ การดูแลหญิงตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อน 

ICRC ผลักดันเรื่องสุขภาพเรือนจำในไทยมากว่า 8 ปี โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับการตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านความถนัดต่างๆ เช่น การชวนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาออกแบบเรือนจำที่ได้มาตรฐานและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือเปิดคอร์สการเรียนรู้สุขภาพที่ดีในเรือนจำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไม ICRC ถึงมุ่งมั่นและผลักดันให้นักโทษในเรือนจำเข้าถึงการรักษาสุขภาพที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงนักโทษอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องในนั้น สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับสุขภาพของชุมชนด้านนอก รวมถึงตัวเราได้ยังไง Pasqualina Coffey ผู้จัดการโครงการสุขภาพจาก ICRC พร้อมที่จะมาอธิบายให้เราฟังแล้ว

ICRC

ICRC ผลักดันเรื่องสุขภาพของคนในเรือนจำทั่วโลกมานาน คำถามคือทำไมสุขภาพของนักโทษถึงเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์จะได้รับ เมื่อมีคนถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาและส่งไปเข้าคุกเพื่อรับโทษ คนนั้นโดนจำกัดอิสรภาพ และนั่นคือการลงโทษแล้ว เรื่องสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นการปฏิเสธการดูแลสุขภาพของนักโทษไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษ

ในสังคมเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รับรู้กันค่อนข้างน้อย ฉันคิดว่าขั้นตอนแรกของการดูแลสุขภาพในเรือนจำคือทำให้ผู้คนรับรู้ถึงแนวคิดที่สำคัญนี้ ทั้งจากชุมชน เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือนักโทษเอง

ICRC

แล้วคำว่า ‘สุขภาพที่ดี’ มีนิยามยังไงในบริบทที่คนคนหนึ่งต้องถูกลงโทษโดยการจำกัดเสรีภาพในเรือนจำ

ถ้าเราเอาแนวทางสาธารณสุขหรือการดูแลสุขภาพคนทั่วไปมาเป็นแนวคิดในการนิยามว่าสุขภาพที่ดีในเรือนจำต้องเป็นยังไง จะทำให้เรามองภาพในมุมกว้างได้มากขึ้น

อันดับแรกในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น น้ำสะอาด สุขาภิบาลที่เหมาะสม การเตรียมอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีความแออัด หรือสิ่งต่างๆ ที่ปกติเรียบง่ายที่เราต้องทำในชีวิตประจำวันจนคุ้นชิน ซึ่งในความเป็นจริงการใช้ชีวิตของนักโทษไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขา

อย่างเรื่องอาหารและโภชนาการ ส่วนมากนักโทษทานอาหารที่เรือนจำเตรียมให้ ซึ่งเราเริ่มเห็นจุดอ่อนตรงนี้ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่เปราะบางซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุ 

อีกอย่างคือสุขภาพที่ดีควรอยู่ในการส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ ด้วย จึงต้องมีกิจกรรม อย่างเช่น การสร้างแคมเปญที่ช่วยให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ไทรอยด์ หรือการมีพื้นที่สามารถล้างมือก่อนกินข้าวและหลังกินข้าวได้

และท้ายสุดผู้ต้องขังทุกคนควรเข้าถึงการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล ทั้งรักษาในโรคใหม่ๆ โรคเรื้อรัง ตรวจคัดกรองโรคติดต่อ ไม่ควรให้ผู้ต้องขังจ่ายเงินเพื่อเข้ารับการรักษา และเมื่อมีความจำเป็นต่อการรักษาควรได้รับอนุญาตไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือพบผู้เชี่ยวชาญตามความต้องการการดูแลสุขภาพนั้นๆ

อีกเรื่องที่สำคัญคือ สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ต้องขัง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องโฟกัสที่เรื่องยาหรือการรักษาทางจิตเวชเพียงอย่างเดียว แต่ควรโฟกัสอีกว่าการใช้ชีวิตในเรือนจำในแต่ละวันของผู้ต้องขังมีสิ่งที่ทำให้เครียดหรือเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ถูกคุมขังหรือไม่ ให้เขาสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ มีกิจกรรมที่มีคุณค่าให้เขาได้ทำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราปฏิบัติและดูแลพวกเขาอย่างมีมนุษยธรรม เคารพในศักดิ์ศรี ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพที่ดีได้

เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีในเรือนจำ อะไรที่เป็นความท้าทายในการทำงานของแพทย์และพยาบาลที่ต้องทำงานในเรือนจำทั่วโลกบ้าง

พวกเขาเจอกับความท้าทายหลายอย่าง บางครั้งต้องรับผิดชอบการดูแลรักษาผู้ป่วยหลายคน และมีเครื่องมือในการทำงานที่จำกัดมาก สาเหตุเพราะปัญหาเรื่องความแออัดของผู้ต้องขัง และข้อเท็จจริงที่ว่านักโทษหลายคนมีภูมิหลังและสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะเป็นโรคอย่าง วัณโรค หรือ HIV ความต้องการการรักษาสุขภาพในเรือนจำจึงอาจมีมากกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาชุมชนข้างนอก 

ICRC

อีกอย่างคือ ในระบบเรือนจำมีการกำหนดเวลาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ชัดเจน การเข้า-ออกไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามระบบรักษาความปลอดภัย แต่ถ้าหากนักโทษป่วย เขาไม่สามารถออกมารักษาได้แบบคนข้างนอก จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายแพทย์และพยาบาลมาก เพราะเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่แพทย์ควบคุมไม่ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจได้ยากลำบากในการส่งคนออกมารักษา 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรักษาความลับทางการรักษาของผู้ป่วยด้วย แต่อาจเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเรือนจำ เพราะนักโทษอยู่ในความรับผิดชอบของผู้คุม เขาจึงต้องการรู้ว่าปัญหาอะไรที่ส่งผลต่อนักโทษคนนั้นบ้าง

 

แล้วอย่างในบริบทของประเทศไทยเอง เงื่อนไขอะไรที่เราต้องเจอระหว่างทำงานบ้าง

หนึ่งในปัญหาที่เจอในระบบเรือนจำไทยคือความแออัดของผู้ต้องขัง ซึ่งมีผลกับสุขภาพโดยตรง อย่างเช่น การแพร่กระจายของโรคติดต่อ เราจึงต้องสนับสนุนให้เรือนจำมีการตรวจคัดกรองทางการแพทย์เบื้องต้นที่ดี

อีกอย่างความแออัดยังมีผลทางอ้อมต่อผู้ต้องขัง เช่น ความเครียด ระบบสุขาภิบาลที่มีจำกัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนคน โภชนาการอาหาร การเข้ามาเยี่ยมของญาติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงใช้แนวทางแบบองค์รวมในการดูแลสุขภาพในคอร์สสอนของเราที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ได้ให้แพทย์หรือพยาบาลเข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนที่มีบทบาทในเรือนจำด้วย

ICRC

ช่วยเล่าได้ไหมว่าคอร์สนี้คืออะไร ทำไมถึงได้ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณหมอ Luca Falqui ที่มาทำงานก่อนหน้าฉันเคยเป็นอาจารย์สอนที่ธรรมศาสตร์มาก่อนค่ะ เขาได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ในสาขาสุขภาพโลก (Global Health) ของคณะสาธารณสุขศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างการตระหนักรู้และการปฏิบัติในเรื่องสุขภาพเรือนจำ ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการนี้ขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำงานด้านวิชาการระดับสูงแล้ว ยังช่วยสร้างอิทธิพลในทางบวกต่อความคิดสาธารณะ สังคม ผู้ร่างกฎหมายในอนาคต และกลุ่มคนทำงานด้านสาธารณสุขได้ด้วย

ICRC

หนึ่งในคีย์เมสเซจของคอร์สนี้คือทุกคนมีบทบาทในสุขภาพเรือนจำ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงผู้คุม วิศวกร ผู้รับผิดชอบด้านโครงสร้างเรือนจำ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ทำงานในสถานบริการสุขภาพทั่วไปที่อาจต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในเรือนจำด้วย

คอร์สนี้จะมีทั้งภาษาไทยที่เราร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มพยาบาล เพื่อดึงกลุ่มผู้เข้าร่วมมาเรียนรู้ด้วยกันและสร้างความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีของนักโทษ และจะมีคอร์สสำหรับชาวต่างชาติที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทของคณะสาธารณสุขศาสตร์ด้วย

ICRC

นอกจากการเปิดคอร์สร่วมกับสถาบันการศึกษาแล้ว ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพในเรือนจำ คิดว่าจะสื่อสารเรื่องนี้กับสาธารณะเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญได้ยังไงบ้าง

พวกเรามีคำพูดที่ว่า ‘สุขภาพที่ดีในเรือนจำคือสุขภาพที่ดีของสาธารณะ’ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่สโลแกน แต่โครงสร้างของสาธารณสุขที่ดีควรจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันในทุกระบบไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลและสวัสดิการในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกันกับสาธารณสุขของคนภายนอก ซึ่งเราจะเห็นความเชื่อมโยงตรงนี้ได้เลยว่าถ้าหากผู้ต้องขังพ้นโทษแล้ว แต่สุขภาพของเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาของชุมชนด้วย

และในแง่มุมทางเศรษฐกิจนั้น คงจะคุ้มค่าการลงทุนมากกว่าถ้าเราเตรียมพร้อมป้องกันไว้ก่อนจะเกิดปัญหา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นอาจจะเป็นแค่เพียงการรักษาเบื้องต้นก็ได้ ดังนั้นเราจึงควรจัดบริการด้านสาธารณสุขไว้ในเรือนจำอย่างเหมาะสม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย