ออกแบบเรือนจำอย่างไรให้เข้าใจความเป็นมนุษย์และความต้องการของผู้ต้องขังหญิง

Highlights

  • ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีเรือนจำที่ออกแบบเพื่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ ผู้ต้องขังหญิงจึงต้องอยู่ในเรือนจำเก่าของผู้ต้องขังชาย แม้ว่าวิถีชีวิต สรีระร่างกาย หรือกระทั่งลักษณะโทษที่ได้รับจะแตกต่างกันก็ตาม
  • โครงการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิง คือโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ลองออกแบบเรือนจำที่ตอบสนองความต้องการของผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ โดยมีผู้รู้จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศคอยให้คำปรึกษา
  • แม้การออกแบบเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง แต่ก็ถือเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า เรือนจำไม่ใช่สถานที่สำหรับการลงทัณฑ์ หากแต่เป็นสถานที่สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟู ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการออกแบบที่เหมาะสมต่อผู้ต้องขังที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น

สมัยที่ยังเป็นเด็ก บ่อยครั้งฉันมีโอกาสติดตามพ่อซึ่งเป็นทนายความเข้าไปทำงานในเรือนจำ ภาพที่ติดหัวไม่รู้หายคือภาพกำแพงสีขาวโพลนสูงลิบลิ่ว บนกำแพงนั้นมีรั้วลวดหนามพันอยู่อีกชั้น พ่อบอกว่าลวดนั้นมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่หลายพันโวลต์ นักโทษคนไหนคิดหลบหนี ผลที่ตามมาอาจถึงแก่ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

ในตอนนั้น ภาพเรือนจำในหัวของฉันนั้นแสนโหดร้าย

หน้าตาของคุกไม่มีแบ่งเพศ เพราะไม่ว่าจะมองไปแดนไหน ไม่ว่าจะเรือนจำหญิงหรือชายก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด นั่นคือกำแพงสูงใหญ่ที่มาพร้อมการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา และบรรยากาศอึมครึมขึงขังจากซี่ลูกกรงที่ติดตั้งอยู่ทุกหัวระแหงในเรือนจำ

เรือนจำซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแดนลงทัณฑ์ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากย่างกรายเข้าไปใกล้ ที่ว่าคนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้าน่าจะเป็นคำอธิบายเรือนจำแบบย่นย่อที่คนทั่วไปเข้าใจได้ทันที

แม้ว่าเรือนจำจะพรากอิสรภาพไป แต่ก็ใช่ว่าการต้องเข้าอยู่ในเรือนจำจะเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป

ฟังก์ชั่นของเรือนจำในยุคสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มหลุดจากกรอบของการเป็นเพียงที่คุมขังเพื่อลงทัณฑ์ (punishment) และเริ่มมีความหมายใหม่ในฐานะสถานที่สำหรับการฟื้นฟูและแก้ไขความผิด (rehabilitation & correction)

เช่นนี้ เรือนจำจึงต้องมีการออกแบบเพื่อสอดรับกับชีวิตประจำวันของผู้ต้องขังที่จะเข้าไปอยู่ อย่างน้อยที่สุดคือต้องรองรับความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง เพราะธรรมชาติของชายและหญิงมีความแตกต่างทั้งทางสรีระ อารมณ์ การเข้าสังคม ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ต้องขังหญิงบางคนที่พ่วงเงื่อนไขของความเป็นแม่เข้ามาในเรือนจำด้วย เช่น หญิงที่ตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ

การออกแบบเรือนจำขึ้นมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะจึงมีความสำคัญในแง่การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องขังหญิง และเพื่อสุขภาวะที่ดี รวมถึงสวัสดิภาพองค์รวมของผู้ต้องขังหญิงด้วย

ที่เคยบอกว่าคุกไม่มีแบ่งเพศนั้น ฉันขอถอนคำพูด และขอสารภาพว่าคิดผิดไปมากทีเดียว

โปรเจกต์ต่อยอดออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิง

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

บางครั้งในเรือนจำของผู้ต้องขังหญิง เรายังเห็นโถปัสสาวะของผู้ชายอยู่เลย

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เกริ่นให้ฟังถึงปัญหาของเรือนจำหญิงในปัจจุบันว่า ส่วนใหญ่คือการรับมรดกจากเรือนจำชายที่ไม่ใช้แล้ว เนื่องจากผู้ต้องขังชายล้นเรือนจำจนต้องย้ายออกสู่สถานที่ที่สามารถรองรับคนได้มากกว่า เรือนจำหญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเท่ากับเรือนจำชายที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ใช่เรือนจำที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ

เมืองไทยยังไม่มีเรือนจำที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิง และยังไม่เคยมีโปรเจกต์การออกแบบเรือนจำหญิงอย่างจริงจังมาก่อนเลย มันเป็นโอกาสดีที่เราจะทำ

โปรเจกต์การออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงในปีนี้ต่อยอดมาจากโปรเจกต์การออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังชายในปีที่แล้ว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก ICRC เข้ามาบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ก้าวเท้าเข้าประตู แง้มดูเรือนจำหญิง

อาจารย์สุนารีอธิบายความแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังหญิงและผู้ต้องขังชายว่าผู้ต้องหาหญิงโดยมากมักไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรงเมื่อเทียบกับสถิติของฝั่งนักโทษชาย ดังนั้นการออกแบบเรือนจำสำหรับสตรีจึงมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากฝ่ายชาย เช่น ต้องคำนึงถึงสตรีที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรภายในเรือนจำ ระดับการรักษาความปลอดภัยก็อาจจะผ่อนปรนลงเมื่อเทียบกับฝั่งของผู้ต้องขังชาย เช่น รั้วกั้นไม่จำเป็นต้องสูงมาก เพราะธรรมชาติสรีระของผู้ต้องขังหญิงไม่เหมือนกับผู้ต้องขังชาย จึงไม่จำเป็นต้องสร้างผนังสูง เพราะกำลังกายของผู้หญิงไม่เท่าผู้ชาย ส่วนเรื่องการออกแบบภายในอาจมีการใช้สีสัน ลวดลาย และเส้นสายเข้ามาใช้ด้วย

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

อาจารย์สุนารีให้ความรู้เพิ่มเติมว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงมาจากคดียาเสพติด ซึ่งจัดอยู่ในหมวด non-violent crime คือไม่มีการใช้ความรุนแรงในการก่อคดี ส่วนใหญ่ผู้ก่อคดีเป็นกลุ่มผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ แต่เป็นผู้เสพรายย่อยที่อยู่ในระดับล่างสุดของตลาดยาเสพติด  ซึ่งข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ได้มาจากองค์ความรู้ของ ICRC ที่เข้ามาเปิดคลาสให้ความรู้แก่นักศึกษา

ในต่างประเทศเรือนจำสวยมาก ดูดีเหมือนโรงเรียนประจำ อย่างในเยอรมนีหรือเนเธอร์แลนด์รัฐบาลต้องขายคุกทิ้งเพราะนักโทษน้อยลง เอกชนก็เอาไปปรับปรุงเป็นโรงแรมบูทีก กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงเรียนสอนภาษา หรือเป็นที่ที่คนมาแฮงเอาต์หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์กัน เรือนจำกลายเป็นพื้นที่สำหรับศิลปวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอาจารย์สุนารีให้ข้อสังเกต

การออกแบบเรือนจำให้สวยงามและเป็นมิตรกับผู้ต้องขังจึงกลับกลายเป็นผลดี เพราะช่วยลดอาการตึงเครียด ลดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งยังเป็นสถานที่เยียวยาและเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังก่อนกลับเข้าสู่สังคม

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ตั้งแต่ตั้งไข่จนฟักไข่เป็นผลงานเรือนจำหญิง

อาจารย์สุนารีเท้าความตั้งแต่ขั้นตั้งไข่ของโปรเจกต์นี้ว่านักศึกษาจะรีเสิร์ชข้อมูลกันก่อนว่าผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันยังไง ก็พบว่ามีความต่าง เช่น ฮอร์โมน การเข้าสังคม สรีระ บุคลิกภาพ การต้องการการยอมรับ การรับรู้สี การมองเห็นแสง ฯลฯ และมีการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากการลงพื้นที่มาประกอบการตีโจทย์เรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิง”

ภาพรวมของงานนักศึกษาในหลายๆ กลุ่มมีการหยิบจับเอาธรรมชาติเข้ามาใส่มากขึ้นจากปีที่แล้ว มีการใช้เส้นโค้ง สีสัน มีการใส่สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นผู้หญิง เช่น ผีเสื้อ ดอกไม้ เกสร สายลม หรือความพลิ้วไหว เข้ามาเป็นคีย์หลักในการออกแบบ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

และจากการเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องขังหญิง หลายเสียงของผู้ต้องขังบอกตรงกันว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่ต่อไปได้คือการได้พูดคุยปรับทุกข์กับเพื่อน นักศึกษาส่วนใหญ่จึงมองว่าการสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็น

พื้นที่ส่วนกลางที่เป็นผลงานออกแบบของนักศึกษามีการตีความออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสวนหย่อม สวนดอกไม้ สนามกีฬา ลานออกกำลังกาย ไปจนถึงแปลงปลูกผัก

พื้นที่ส่วนกลางสำคัญมากสำหรับเรือนจำหญิง เพราะเรือนจำคือสถานที่ที่คนแปลกหน้าเข้ามาอยู่ร่วมกัน นักศึกษาก็จะมีการออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง ออกแบบมุมเล็กมุมน้อยเพื่อให้มีพื้นที่พูดคุยกันได้ ให้คนที่คิดเหมือนกันมาเจอกัน และพบเจอเพื่อนใหม่อาจารย์สุนารีขยาย

ต่อมานักศึกษาก็ตีความว่า การเป็นผู้หญิงคือการโอบกอด ปีนี้เลยเห็นดีไซน์เส้นโค้งค่อนข้างมาก เพราะการโอบล้อมของเส้นโค้งก็เป็นภาษาหนึ่งที่น่าสนใจ ส่วนเส้นตั้งดูแล้วเหมือนลูกกรง การจำกัดกรอบ นักศึกษาเลยเปลี่ยนเส้นตรงเป็นเส้นเฉียง แสงที่เข้ามาก็มีทิศทางที่เปลี่ยนไป ดูไม่เหมือนที่จองจำ แต่ดูเป็นเหมือนโรงแรมบูทีกมากกว่าเรือนจำ

บางกลุ่มทำรีเสิร์ชว่าผู้ชายกับผู้หญิงมองเห็นสีแตกต่างกัน ผู้ชายจะเห็นสีได้คร่าวๆ แต่ผู้หญิงจะเห็นสีได้ละเอียด เลยออกแบบเรือนจำเป็นสีหวาน ไล่สีกัน มีโซนที่ใช้สีสันต่างๆ กัน

และจะเห็นว่าปีนี้ ทุกกลุ่มเน้นเรื่องแสงธรรมชาติ เพราะเรือนจำไม่ใช่พื้นที่ของความหรูหรา พอนักศึกษาเอาธรรมชาติเข้ามา เขาก็เลือกว่าจะเอาแสง ต้นไม้ ลม หรือน้ำเข้ามาใช้ ธรรมชาติยอดฮิตที่เกือบทุกกลุ่มหยิบเข้ามาใส่คือแสงและลม จะเห็นได้จากการออกแบบช่องลมและช่องแสงรูปแบบต่างๆ เพราะทั้งแสงแดดและสายลมเป็นธรรมชาติราคาย่อมเยาที่คนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้

อาจารย์สุนารีแนะให้นักศึกษาเห็นถึงข้อควรระวังในการนำต้นไม้มาใช้ โดยต้นไม้ที่จะนำมาปลูกบริเวณอาคารจะต้องเป็นต้นไม้สูงและไม่มีกิ่ง เพราะกิ่งไม้สามารถเอามาใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันได้ นักศึกษาจึงต้องระมัดระวังในการเลือกพันธุ์ไม้ที่นำมาใช้ด้วย

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

อาจารย์สุนารีให้ข้อสังเกตถึงพัฒนาการจากโปรเจกต์ปีที่แล้วว่าภาพรวมปีนี้น่าสนใจกว่าเดิม ปีที่แล้วยังติดกรอบความคิดอยู่ว่าผู้ต้องขังคือจำเลยสังคม การออกแบบเรือนจำก็ยังมีรูปแบบที่ตายตัว แต่ปีนี้เราออกแบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงซึ่งเป็นซับเซตย่อยลงไปอีก มันมีความน่าสนใจในการตีความ มีการใช้สัญลักษณ์มากขึ้น นักศึกษาก็ไปไกลกว่าที่เราวาดไว้ เขาทำเกินกว่าที่เราบอกว่าจะต้องส่งอะไรบ้าง

แม้งานออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงของนักศึกษาอาจไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงโดยกรมราชทัณฑ์ แต่นี่เป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนจาก ICRC ไปนำเสนอผลงาน งานประชุมการออกแบบเรือนจำแห่งภูมิภาคเอเชีย (ACCFA – Asian Conference of Correctional Facilities Architects and Planners) ที่โตเกียว งานนี้เป็นงานประชุมที่นักศึกษาจะได้พบสถาปนิกและนักออกแบบเรือนจำจากหลากหลายประเทศ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน

สุดท้ายแล้วงานออกแบบเรือนจำจากทั้งนักศึกษาและมืออาชีพจะถูกถอดออกมาเป็นบทเรียนบางอย่างที่นำไปใช้ได้ เช่น การออกแบบช่องแสงแบบใหม่ หน้าตาลูกกรงที่เปลี่ยนไป หรือทางเดินที่ไม่ใช่แค่ทางเดินที่เป็นเส้นตรง ซึ่งสถาปนิกมืออาชีพอาจจะหยิบความคิดสร้างสรรค์จากผลงานนักศึกษาไปใช้ออกแบบเรือนจำได้ในอนาคต

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

งานออกแบบเรือนจำผ่านโจทย์ใหม่ ภายใต้ใจความเดิม

เมื่อสถาปนิกรุ่นเยาว์รับรู้ถึงปัญหาในเรือนจำแล้ว พวกเขาได้ลองลงมือออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงในแบบของตัวเอง และข้อเท็จจริงที่ว่านักศึกษานั้นยังเยาว์วัย สิ่งที่เรากำลังจะเห็นต่อไปนี้คือพลังของความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม การคิดนอกกรอบ และพยายามจะหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ไอเดียจากคนรุ่นเยาว์นั้นจึงสดใหม่และมีมุมมองที่ไม่คาดคิด ซึ่งงานดีไซน์เหล่านี้จะกลับไปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่สถาปนิกมืออาชีพไม่มากก็น้อย

องค์ความรู้เรื่องมาตรฐานเรือนจำที่ดีจะสร้างการตระหนักรู้ให้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ความหวังที่จะเห็นเรือนจำที่ออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะคงไม่ไกลเกินฝัน แต่สิ่งที่สำคัญพอๆ กับองค์ความรู้เรื่องมาตรฐานเรือนจำที่ดีคือ โปรเจกต์นี้ได้หว่านเพาะความเข้าใจแก่นักออกแบบรุ่นใหม่ว่า สถาปัตยกรรมนั้นมีผลกระทบต่อสถานภาพของเรือนจำ มีผลต่อความเป็นอยู่ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในแง่มุมใดบ้าง

เราขออาสาพาไปตะลุยเรือนจำหญิง งานออกแบบที่ผลิดอกออกผลจากความสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่พยายามตีความเรือนจำหญิงในมุมใหม่

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ผลงาน ‘The Conveying Path’

ผลงานการออกแบบแดนผู้ต้องขังก่อนปล่อยโดย พรทัศน์ คงภักดี, ธีธัช ชยาภิวัฒน์ และ นนทกานต์ บ่อสิน มีคอนเซปต์คือ เปรียบเทียบเรือนจำเหมือนสายลม และเปรียบผู้ต้องขังเป็นเกสรดอกไม้ เพื่อให้สายลมซึ่งเปรียบเสมือนเรือนจำได้นำพาเกสรไปตกในที่ต่างๆ และเติบโตอย่างสง่างามในสังคมหลังจากพ้นโทษไปแล้ว

พรทัศน์ขยายความเรื่องการนำสายลมมาใช้เป็นเมสเซจหลักในการออกแบบว่า “สายลมมีทิศทางที่ไม่แน่นอน เราเลยออกแบบเป็นอาคารที่เป็นเส้นโค้งแบบฟรีฟอร์ม แตกออกไปเป็นสามชั้น เรานำเส้นโค้งมาใช้ทั้งเพดานโค้ง การลดระดับพื้นก็ทำให้เกิดเส้นโค้งและทางลาด เมื่อผู้ต้องขังหญิงเดินเข้าไปจะเหมือนเส้นสายค่อยๆ ลู่เข้าไปที่สนามส่วนกลาง การเดินเข้าเรือนจำเลยเปรียบเสมือนการเดินเข้าสู่จุดหมายปลายทางที่สวยงามหรือนำไปหาสิ่งที่ดีๆ

รูปทรงอาคารที่เป็นเส้นโค้งแบบ double helix ที่เหมือนการโอบกอดยังช่วยเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วย คือผู้คุมสามารถกวาดสายตาดูได้ในปราดเดียว เพราะสามารถมองเห็นได้ทุกมุมจากจุดเดียว ไม่มีมุมอับเพราะเป็นเส้นโค้งที่เป็นทางต่อเนื่องกันหมด การใช้เส้นโค้งยังช่วยลดความเครียด ความต่อเนื่องกลมกลืนจะทำให้เกิดจิตวิทยาเชิงบวก ผิดกับอาคารที่เป็นเหลี่ยมมุมซึ่งจะทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกกดดัน

ธีธัชเสริมเรื่องรายละเอียดเรื่องพื้นที่ส่วนกลางและการออกแบบในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ว่าเราออกแบบอาคารให้โค้งเข้าหากันเพื่อให้ผู้ต้องขังได้พบปะและปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เพราะจากการรีเสิร์ชพบว่าผู้หญิงมีความต้องการเข้าสังคมสูง ตรงกลางมีสวนหย่อมเล็กๆ ที่ผู้ต้องขังสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ และเราใช้ระแนงแบบโปร่งแทนที่จะใช้ผนังทึบเพื่อให้แสงเข้าได้ดี

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ผลงาน ‘Organic Prison’

ผลงานการออกแบบโดย ชิดชญา เดชเฉลิมวงศ์ และ สุธีรา ทัพทวี เน้นไปที่ความตั้งใจเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเรือนจำโดยใช้ผักไฮโดรพอนิก และยังสามารถใช้แปลงผักเป็นโซนเวิร์กช็อปเพื่อฝึกอาชีพสำหรับผู้ต้องขังหญิงก่อนพ้นโทษด้วย

ชิดชญาเล่าถึงที่มาที่ไปของไอเดียแปลงผักไฮโดรพอนิกในเรือนจำว่าการปลูกผักไฮโดรพอนิกน่าสนใจ เพราะไม่จำเป็นต้องปลูกลงดิน แต่คือการวางท่อเพื่อให้น้ำและสารละลาย ไม่มีการขุดหลุม เลยไม่ต้องกังวลเรื่องการซุกซ่อนสิ่งของอันตราย สามารถปลูกได้ทั้งโซนที่เป็นแปลงผักและปลูกแบบแขวนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารด้วย

สุธีราขยายเพิ่มว่าที่เลือกผักไฮโดรพอนิกเพราะผู้หญิงสามารถทำได้ ไม่ต้องใช้แรงเยอะ ที่สำคัญคือผักไฮโดรพอนิกใช้เวลาสั้นในการปลูก ทำให้ผู้ต้องขังเห็นพัฒนาการการเติบโตของพืช เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานนี้ได้สำเร็จ ผักไฮโดรพอนิกเลยช่วยทั้งเรื่องของภูมิทัศน์และการฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขัง และเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษจากเรือนจำไปแล้ว ก็ยังมีวิชาติดตัวและสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ด้วย

ส่วนช่องหน้าต่างที่เป็นสามเหลี่ยมได้แรงบันดาลใจมาจากปีกผีเสื้อ และช่องเจาะด้านบนอาคารที่แสงสามารถผ่านเข้ามาได้ก็เป็นช่องโค้งมนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความพลิ้วไหวของปีกผีเสื้อเช่นกัน

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ผลงาน ‘Framing Fracture’

ผลงานการออกแบบโดย พลอยพิมพ์ เมฆพัฒน์, อรณัส กิมทรง และ ดลลัชนัย บุญมาก มีคอนเซปต์คืออยากให้ผู้ต้องขังหญิงรู้สึกเหมือนได้ทะลุออกจากกรอบเดิมๆ

ดลลัชนัยอธิบายที่มาของคอนเซปต์นี้ว่าเกิดจากผู้ต้องขังหญิงเมื่อต้องอยู่ในเรือนจำไปนานๆ จะเกิดภาพหลอน รู้สึกถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ เพราะถูกกำจัดอยู่ในกรอบเดิมๆ ทำอะไรซ้ำทุกวัน เราเลยพยายามออกแบบให้เรือนจำสามารถมองได้หลายมุมมอง แม้จะอยู่ในสถานที่เดิม

โมเดลงานออกแบบของกลุ่มนี้จึงโดดเด่นในเรื่องความพยายามสร้างโครงสร้างอาคารหลายๆ แบบ มีวิธีเจาะช่องแสงหลายๆ วิธี วิวที่มองก็จะเปลี่ยนไปตามแต่ละจุดที่มอง เพื่อลดการเห็นภาพเดิมๆ ในแต่ละวัน เช่น ทางเดินก็ออกแบบให้การเดินขาไปไม่เหมือนกับขากลับ เพื่อลดการทำกิจวัตรซ้ำๆ ที่กั้นทางเดินก็ออกแบบให้มีช่องถี่สลับห่างเหมือนเส้นบาร์โค้ด เพื่อไม่ให้เหมือนซี่ลูกกรงซึ่งมีช่องความถี่ห่างเท่าๆ กัน

มีการนำสีสันเลียนแบบธรรมชาติเข้ามาใช้ และมีการเจาะช่องแสงที่กำแพงเป็นรูปใบไม้เล็กใหญ่ เพื่อให้เงาที่ส่องเข้าไปในอาคารเป็นรูปทรงโค้งมนของใบไม้ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลาย

หลังคาทางเดินเราใช้สีเหลืองและสีส้มเพื่อเลียนแบบแสงธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัย เราวางตำแหน่งบันไดตรงกลางด้านหน้า เพื่อให้ผู้คุมดูแลได้ทั่วถึง และกำหนดให้มีทางเข้าออกแค่ทางเดียวอรณัสทิ้งท้ายเรื่องการรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบเรือนจำ

พื้นฐานมนุษยธรรมผู้ต้องขัง + การออกแบบเรือนจำ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ฮวาเวียร์ คอร์โดบา ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสาธารณสุขส่วนภูมิภาคเอเชียผู้ริเริ่มโปรเจกต์นี้ สรุปหลักการพื้นฐานด้านมนุษยธรรมของผู้ต้องขังว่า องค์การสหประชาชาติมีการทำ ข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง มีหลักการพื้นฐาน 5 ประการหลัก คือ

  1. ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
  2. ห้ามทรมานหรือปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ
  3. ต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  4. วัตถุประสงค์ของเรือนจำคือการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ
  5. ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการต่างๆ ในเรือนจำ รวมถึงผู้เข้าเยี่ยมจะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา

ซึ่ง ICRC พยายามผลักดันหลักการข้อที่ว่า ‘วัตถุประสงค์ของเรือนจำคือการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ ในหลายๆ ด้าน ทั้งการให้ความรู้กับสถาบันการศึกษา การทำคู่มือมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับเรือนจำ และการเข้าเยี่ยมเรือนจำ

ฮวาเวียร์อธิบายกรอบการทำงานของ ICRC ว่าเราตรวจสอบสภาพการจองจำของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำหญิง โดยพิจารณาด้วยกฎเกณฑ์สองชุด ซึ่งก็คือ Mandela Rules โดยเราจะตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าเหล่าผู้ต้องขังได้รับความเคารพและการปฏิบัติอย่างเหมาะสม และเป็นไปตาม Bangkok Rules ซึ่งมีไว้เพื่อบังคับใช้กับผู้ต้องขังหญิงด้วย

ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) คือแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง หนึ่งในผู้ร่างข้อกำหนดนี้คือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJ 

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ขยายความเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพให้เราฟังว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ คือหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศต่างๆ ให้การยอมรับ ว่าจะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องสุขภาพ ห้องขัง ที่นอน สถานที่อาบน้ำ รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงด้วย เพราะฉะนั้นการจะปรับโฉมเรือนจำได้ ต้องรู้ทั้งข้อกำหนด ข้อกฎหมาย ข้อจำกัด รู้ปัญหาในทางปฏิบัติ และแนวคิดของความเป็นเรือนจำยุคใหม่ที่เน้นไปที่การให้โอกาส มากกว่าจะใช้เพื่อลงทัณฑ์ผู้หลงผิดชนิดที่ไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวัน

นัทธีกล่าวหนักแน่นถึงเป้าหมายของเรือนจำว่า

จะทำอย่างไรให้เรือนจำเป็นสถานที่ที่พลิกชีวิตผู้คน ให้โอกาส และสร้างภูมิต้านทานให้ผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ

ในการออกแบบเรือนจำก็ต้องพยายามจำลองสภาพแวดล้อมให้ผู้ต้องขังเตรียมความพร้อมก่อนได้กลับเข้าสู่สังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดเรือนจำสู่สังคมเพื่อให้สังคมยอมรับผู้ต้องขังมากขึ้น ยอมรับที่จะจ้างคนเหล่านี้ การวางแผนเรื่องศูนย์ฝึกอาชีพในเรือนจำก็เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องทำร่วมไปกับการออกแบบ

ส่วนในด้านสถาปัตยกรรม ฮวาเวียร์อธิบายเสริมเรื่องความสำคัญของการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังว่าสถาปัตยกรรมและการออกแบบถือเป็นหัวใจหลัก เพราะเป็นการจัดการโครงสร้างและสภาพการณ์ของการคุมขังทั้งหมด ถ้าการออกแบบอาคารทำได้ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ บางครั้งการออกแบบอาคารไม่เอื้อเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทำให้ต้องใช้จำนวนผู้คุมมากกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ต้องจัดให้ผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม” 

องค์กรอย่าง ICRC เลยพยายามเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการเรือนจำในทางที่เหมาะสม เพราะผู้ต้องขังต้องอาศัยอยู่ในเรือนจำซึ่งต้องมีค่าบำรุงรักษาและแรงสนับสนุนเพื่อการดำเนินการ มีค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย เหล่านี้เป็นปัจจัยที่สถาปนิกต้องพิจารณาประกอบด้วย

วันนี้จึงเห็นนักศึกษาหลายกลุ่มนำธรรมชาติเข้ามาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การใช้แสงธรรมชาติ เพราะทำให้ค่าไฟน้อยลงด้วย คือต้องพยายามดีไซน์ให้ค่าบำรุงต่ำที่สุด แต่เกิดประสิทธิผลมากที่สุด และมีการออกแบบให้มีระบบหมุนเวียนอากาศธรรมชาติแทนการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีราคาแพง ทั้งยังส่งผลดีกับสุขภาพด้วย เพราะจะลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคติดต่อภายในที่คุมขัง

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ฮวาเวียร์ชี้ให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในที่ดีนั้นจะเป็นการป้องกันล่วงหน้าสำหรับสุขภาพผู้ต้องขังด้วย และยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง ทั้งในด้านร่างกายและสุขภาพจิต

มาตรฐานขั้นต่ำที่ ICRC ออกคู่มือแนะนำเรือนจำทั่วโลก มีตัวอย่างคือ แนะนำให้พื้นที่ห้องคุมขังขั้นต่ำ 3.4 ตารางเมตรต่อคน ต้องมีพื้นที่อย่างน้อยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ของห้องขังเพื่อใช้ในการระบายอากาศ มีการแนะนำว่าสัดส่วนห้องน้ำต่อผู้ต้องขังควรเป็น 20-25 คน สูงสุดคือห้องน้ำ 1 ห้องต่อ 50 คน

แต่ฮวาเวียร์เผยว่าในเรือนจำหลายๆ แห่ง มีภาวะการแออัดของผู้ต้องขังพอพื้นที่แออัด ผู้คุมก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถใช้เวลาภายนอกห้องคุมขังได้มากเท่าที่ควร จึงไม่สามารถไปฝึกทักษะทางอาชีพ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ เพราะย้ายคนเข้าออกผู้ต้องขังเข้าออกบ่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาด้านการขนย้ายและความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

เรือนจำหญิง ข้อกำหนดแมนเดลา ข้อกำหนดกรุงเทพ

ซึ่งเมื่อย้อนกลับขึ้นไปดูวัตถุประสงค์ของเรือนจำตั้งแต่แรกเริ่มนั้น คือการเป็นสถานที่ที่ช่วยให้ผู้ต้องขังให้กลับตัวก่อนออกไปอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกอีกครั้ง พอเจอเงื่อนไขเรื่องผู้ต้องขังแออัด เรือนจำจึงไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์อย่างที่ควรจะเป็นได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีมาตรฐานขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขัง

ฮวาเวียร์กล่าวย้ำถึงความจำเป็นของพื้นฐานมนุษยชนสำหรับผู้ต้องขัง ซึ่งสถาปนิกจำเป็นต้องคำนึงควบคู่ไปกับการออกแบบเรือนจำ โดยมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับเรือนจำไม่ได้มีเฉพาะด้านอาคารสถานที่ แต่ยังรวมถึงสวัสดิภาพของผู้คุม การเข้าพบทนายความ การเข้าเยี่ยมญาติ

จึงเกิดเป็นมาตรฐานแบบองค์รวมสำหรับผู้ต้องขังที่ต้องมี เพื่อให้เรือนจำได้ทำตามวัตถุประสงค์อย่างที่ควรจะเป็น เพราะสมัยนี้เรือนจำไม่ได้เป็นเพียงทัณฑสถานเหมือนในอดีต แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูความประพฤติของผู้ต้องขัง ให้ได้สะท้อนความผิดที่ตัวเองก่อ และเปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้น พวกเขาจึงควรได้รับการดูแลที่ดี

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก อาจารย์วิโรจน์ เทศน์สาลี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น