คุยเรื่องพลังของวัฒนธรรม วรรณกรรม และกระดาษ กับทีมผู้จัด Bangkok Book Festival 2021

งาน Bangkok Book Festival ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อปี 2015

งาน Bangkok Book Festival ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อปี 2016

หลังจากนั้นก็ห่างหายไปนานจนใครหลายคนคิดว่างานนี้คงจะคล้ายอีกหลายงานที่ตัวงานมีคุณค่า แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนหรือไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจก็จำเป็นต้องแยกย้าย

ในสังคมที่การอ่านเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม การที่งานเทศกาลหนังสืองานหนึ่งไปต่อไม่ได้น่าจะถือเป็นเรื่องปกติ–หรือไม่ปกติ

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2020 ผมได้รับข่าวคราวจาก หน่อย–รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Library House ผู้ร่วมก่อตั้งและบุกเบิกงาน Bangkok Book Festival มาตั้งแต่ครั้งแรก ว่างาน Bangkok Book Festival จะกลับมาจัดอีกครั้งด้วยการสนับสนุนจากองค์กรทางวัฒนธรรมหลากหลายประเทศและคนในแวดวงวรรณกรรมอีกจำนวนหนึ่ง

ท่ามกลางข่าวร้ายในประเทศที่ถาโถมมาไม่เว้นช่วงให้หายใจหายคอ การรู้ว่า Bangkok Book Festival ยังไม่ตายนับเป็นข่าวดีไม่กี่เรื่องในบ้านเมืองยามนี้

อย่างน้อยมันยังทำให้เห็นว่า ยังมีคนที่ต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมหรือวัฒนธรรมร่วมสมัยให้ยังมีพื้นที่ แม้ไม่มากแต่ก็มี

ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้งานครั้งนี้ต้องปรับงานหลายตลบ จากที่คิดว่าจะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกันแบบงานเทศกาลหนังสือทั่วไป กิจกรรมหลายๆ อย่างในงานก็ต้องปรับมาอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหน สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของงาน Bangkok Book Festival ยังคงอยู่อย่างแข็งแรง นั้นคือการสร้างพื้นที่ให้บทสนทนา

ก่อนงานเทศกาลจะเริ่ม ผมนัดคุยกับทีมผู้จัดซึ่งนอกจาก หน่อย รังสิมา ยังมี จ๊อก–ชัยพร อินทุวิศาลกุล แห่งโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ผู้อำนวยการบริหารของเทศกาลในงานครั้งนี้ และใหม่–มานิตา ส่งเสริม อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้กำหนดทิศทางการนำเสนอภาพลักษณ์ของเทศกาล เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังของงานในปีนี้และความสำคัญของการสร้างพื้นที่เช่นนี้ให้เกิดขึ้น

จะมีอะไรยืนยันความตั้งใจเท่าการพยายามผลักดันให้งานเทศกาลเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การใช้ชีวิตปกติยังนับว่าเป็นเรื่องแสนสาหัส

Bangkok Book Festival

งานครั้งนี้ห่างจากงานครั้งก่อนถึง 5 ปี อะไรทำให้มันหายไป และอะไรทำให้มันกลับมา

หน่อย : ทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เราทำในหมวกของ Bookmoby ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Bangkok Book Festival (BBF) ขึ้นมา พอเราไม่ได้ทำ Bookmoby ต่อ แล้วก็มาลุยส่วนที่เป็นสำนักพิมพ์ของตัวเองที่ชื่อ Library House พิมพ์วรรณกรรมแปล ก็หายไปจากการจัดงาน แต่พอมาวันหนึ่งเรามาเจอจ๊อกอีกรอบ ก็มีการชักชวนกันว่ากลับมาทำไหวไหมหลังจากที่ตอนนั้นมันหายไปประมาณ 3 ปีกว่า

จ๊อก : ผมคุยกับพี่หน่อยที่งาน LIT Fest ซึ่งงานนั้นมันจะดูรื่นเริงหน่อย ซึ่งก็ดีสนุกดี คนในวงการหนังสือควรจะมีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง แต่วันนั้นก็จะมีอยู่แวบหนึ่งที่คุยกับพี่หน่อยว่าเราอยากทำงานอีกแบบที่มันเน้นเนื้อหา เราก็เลยถามพี่หน่อยว่ายังอยากจะทำอยู่ไหม พี่หน่อยก็บอกว่ายังอยากจะทำอยู่ เราก็เลยตกลงกันว่าจะทำ

อะไรคือความสำคัญของงานแบบนี้ ถึงอยากกลับมาจัดอีกครั้ง

จ๊อก : จริงๆ การอ่านมันเป็นเรื่องความสันโดษ โดดเดี่ยวอยู่แล้วนะ แต่เราก็รู้ว่าบางทีเวลาอ่านจบแล้วบางครั้งเราอยากคุยกับใครสักคน ง่ายๆ ก็คุยกับเพื่อนเรา แต่คุยกับเพื่อนก็ได้ประมาณหนึ่ง ถ้าเพื่อนอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเราก็คุยสนุกหน่อย แต่บางครั้งการที่มันมีกิจกรรมแบบนี้ มันช่วยเปิดพรมแดน มันสร้างชุมชนที่กว้างขึ้นมากกว่าคนรู้จัก ซึ่งสำหรับผมมันเป็นเรื่องสำคัญในแง่โลกของการอ่าน โลกของวรรณกรรม หรือโลกของหนังสือ การที่คนอ่านได้เปิดโลกหรือได้ฟังทรรศนะที่มันเกิดขึ้นจากหนังสือเล่มหนึ่ง จากมุมมองที่มันหลากหลายขึ้น เป็นเรื่องที่จำเป็น และช่วยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมการอ่านให้มันแข็งแรงและเข้มแข็งอยู่

หน่อย : งานแบบนี้ที่ต่างประเทศมันจะมีอยู่ 2 ลักษณะ อันแรกคือลักษณะของ trade fair อย่างเช่น Frankfurt Book Fair, London Book Fair, Bologna Children’s Book Fair คำว่า trade fair คืออะไร มันก็เป็น hub ของการค้า ซึ่งเราไม่ต้องเอา Bangkok Book Festival ไปเทียบอะไรแบบนั้นหรอก อาจจะไม่ต้องไปเทียบกับงานใหญ่ขนาดนั้น แต่มันคงจะดีนะถ้าเราลองคิดเล่นๆ ว่า วันหนึ่งไทยจะกลายมาเป็น hub ของการซื้อขายลิขสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเชีย

ในต่างประเทศความสำคัญของงานแบบนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงการหนังสือ แต่รวมถึงวงการอื่นๆ เหมือนเวลาจัดโอลิมปิก วงการท่องเที่ยวก็ได้ด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อย่าง Frankfurt Book Fair ราคาค่าโรงแรมเวลาปกติก็ไม่ถูกอยู่แล้ว คืนหนึ่งหลายพัน แต่พอมี Book Fair มันขึ้นเป็นคืนละประมาณหมื่นกว่าบาท แล้วถ้าคุณอยากจะอยู่ใกล้ๆ ฮอลล์ที่จัดงานแบบเดินไปได้ไม่ต้องเหนื่อยก็สองหมื่น แล้วมันเป็นตัวที่วัดถึงมุมมองทางเศรษฐกิจของรัฐประเทศนั้นๆ เลยว่าคุณจะส่งเสริมอะไรบ้าง ปีหนึ่งคุณจะให้มี trade fair หนังสือ, trade fair อาหารโลก, trade fair เฮลท์แคร์, trade fair วงการแพทย์ อะไรก็ว่าไป อันนี้คือลักษณะของงานที่เป็น trade fair

อีกประเภทหนึ่งเป็นงานที่ขายวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ชื่อก็จะใช้คำว่า festival แบบนี้แหละ เทศกาลนักเขียน เทศกาลนักแปล อะไรก็ว่าไป มีทั้งสเกลใหญ่สเกลเล็ก หรือบางประเทศอย่างเยอรมนีช่วงที่มี Frankfurt Book Fair เขาก็จะมีงานที่เป็นเฟสติวัลแบบที่เราทำอยู่เป็นสเกลเล็กๆ ประกบคู่กัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน เพียงแต่ว่าจัดกระจายไปตามฮอลล์นั้นฮอลล์นี้ สถานที่นั้นนี้

งานเฟสติวัลแบบที่ว่า สะท้อนอะไรในเมืองแต่ละเมืองบ้าง

หน่อย : เมืองไหนที่มีงานแบบนี้มันชัดเจนเลยว่าคุณให้ค่ากับวัฒนธรรมนี้ คือคุณไม่จำเป็นต้องมาตั้งโต๊ะขายลิขสิทธิ์หนังสือ แต่คุณเปิดพื้นที่ให้มันมีไดอะล็อกของคนทำและคนเสพงาน เปิดให้เกิด discussion เปิดให้เห็นข้อต่อที่มันเชื่อมกันมาใกล้มากขึ้น มีเสวนาในฮอลล์ศาลาว่าการในเมือง แล้วตรงสนามหญ้าก็เป็นนู่นนี่นั่นไป

อย่างเราเคยไปที่พม่า ครั้งแรกเขาจัดที่ Inya Lake Hotel ถ้ามองจากโรงแรมมองข้ามทะเลสาบไปก็จะเห็นบ้านของอองซาน ซูจี เพราะตอนนั้นซูจีเป็นคนอุปถัมภ์งานรอบแรก ถามว่าเรามองเห็นอะไร เรามองเห็นว่าแม้กระทั่งประเทศเล็กประเทศน้อยเขาก็ยังผลักดันให้มีงานแบบนี้ โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เอกชนสักกลุ่มหนึ่ง งานเฟสติวัลแบบนี้ในแต่ละปีมันมีเป็นพันๆ งานรอบโลก บางเมืองหลวงก็มีหลายงาน มีหลายเจ้าภาพ อย่างที่เราเคยบอก ฉันอยากอยู่ในเมืองที่เดือนนี้ฉันจะไป BBF เดือนหน้าฉันไป LIT Fest เดือนถัดไปฉันไปอีกงาน มันคงจะดีถ้าเราได้อยู่ในบรรยากาศแบบนั้น 

ถามว่าเราทำอะไรได้ ก็มาทำ BBF กับพี่จ๊อก มันก็จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เราพยายามทำให้มันเกิดด้วยแรงเท่าที่เราจะเอื้อมมือไปถึง อย่างสถานการณ์โควิดในรอบนี้เราก็ไม่สามารถที่จะหาความแน่นอนกับอะไรได้ เราก็ชวนพันธมิตรเก่าๆ มาร่วมงาน แล้วก็มีองค์กรวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างสถาบันเกอเธ่ และองค์กรของประเทศโปรตุเกสกับออสเตรียสนับสนุน

Bangkok Book Festival

กลายเป็นว่างานเทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้านเราแต่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ และต้องทำกันเอง คุณว่าเป็นเรื่องผิดปกติไหม

หน่อย : ไม่ใช่เป็นเรื่องปกติหรือผิดปกติที่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนจะเป็นลีดเดอร์ในการทำ มันขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาของประเทศนั้นๆ ด้วย แต่ถ้ามองประเทศเราเอง พูดอย่างเศร้า รันทด คือชั่วชีวิตที่เรามีอายุเท่านี้ เรายังไม่เห็นมหกรรมหรืออีเวนต์แบบนี้ที่รัฐจะมาสนับสนุนชนิดที่ว่าให้แบบเทกระจาด ไม่ต้องมาทำรีพอร์ตย้อนหลัง ไม่ต้องมาเข้มงวดนั่นนี่ คือประเทศอื่นเขาไม่ได้ทำขนาดนั้น พูดไปก็เหมือนนั่งระบายใส่

โดยส่วนตัว ถ้าเราจะทำ BBF ให้สบายใจ เราต้องมองว่าเราเป็น global citizen ไปเลย เหมือนเราอยากทำงานกับเพื่อนที่บ้านอยู่แถวโน้น แล้วเพื่อนพร้อมไหม ซึ่งตอนนี้เพื่อนที่อยู่แถวโปรตุเกส ออสเตรีย เยอรมันพร้อมก็มา

จ๊อก : คือเวลาเราบอกว่า อยากให้รัฐสนับสนุนกิจกรรมแบบนี้ ผมว่ามันลึกมากเลย มังคงยากมาก มันคงไม่สามารถจะไปแทรกหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ในมุมโรงพิมพ์ ผมว่าคนทำหนังสือบ้านเราจำนวนหนึ่ง ยิ่งในสายวรรณกรรมซีเรียสหรืองานวิชาการหนักๆ หน่อย ถ้ายังอยู่ ผมคิดว่าเขาก็อยู่กันด้วยแพสชั่น อยู่ด้วยความชอบ เราคาดหวังการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ได้อยู่แล้ว ผมคิดว่ายิ่งนับวันมันยิ่งสะท้อนว่า ประเทศนี้รัฐค่อนข้างแย่

ผมคิดว่าประเทศนี้โตมาแบบนี้อยู่แล้ว เรื่องทางวัฒนธรรมยิ่งในฝั่งที่เราพูดถึงหรืออย่างงาน BBF ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยหน่อย เรายิ่งคาดหวังกับภาครัฐได้น้อยมากๆ แต่ในขณะเดียวกันผมคิดว่า เอกชนในประเทศนี้ก็เก่งและอาจจะมีวิสัยทัศน์ดีกว่าภาครัฐเยอะ ผมหมายถึงบรรดาสำนักพิมพ์ที่ทำงานอยู่ หลายๆ สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือที่มีคุณภาพออกมาโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากภาครัฐเลย ก็หาทางอยู่รอดได้ด้วยตัวสำนักพิมพ์เอง ด้วยทักษะที่ตัวเองมีอยู่

อย่างภาพพิมพ์ก็ซัพพอร์ตเท่าที่จะซัพพอร์ตได้ ไม่ได้เยอะมาก แต่ไม่ใช่แค่ภาพพิมพ์ ผมคิดว่าในวงการศิลปะร่วมสมัยยังมีเอกชน อาจจะเป็นบุคคลหรือธุรกิจเอกชนจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนกิจกรรมแบบนี้อยู่ เพียงแต่บางคนอาจจะซัพพอร์ตโดยไม่ออกหน้า หรือบางคนซัพพอร์ตแบบออกหน้าแต่เราไม่เห็น

ในต่างประเทศเท่าที่คุณได้สัมผัสเขามองวัฒนธรรมต่างจากภาครัฐบ้านเรามองยังไง

หน่อย : คำว่าวัฒนธรรมมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แล้วชีวิตประจำวันหรือรูปแบบของพฤติกรรมของคนในสังคมมันก็เป็นตัวสร้างวัฒนธรรมในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ

เหมือนสังคมมีพฤติกรรมแบบนี้จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้ พอเกิดวัฒนธรรมแบบนี้ เราก็อยู่กันอย่างสุขสบาย เราก็ต้องการ maintain ให้ความเป็นอยู่อย่างสุขสบายแบบนี้มีต่อเนื่องไป เช่น เขามีเมืองที่มีห้องสมุดแบบนี้ มีงานอีเวนต์แบบนี้ มีร้านอาหารแบบนี้ มีวัฒนธรรมการกินแบบนี้ มีการใช้ชีวิตแบบนี้ เขาก็ต้องการที่จะรักษา พอเขากินดีมีสุขด้วยตัววัฒนธรรมแล้วเขาก็มองว่ามันคือส่วนที่จำเป็นสำหรับชีวิต คนจะต้องมีเวลาอ่านหนังสือ ไม่ควรจะไปรถติดอยู่บนถนน มีเวลาอ่านวรรณกรรมดีๆ ได้คิด ได้ใคร่ครวญ ใช้เวลาแค่ 3 นาที ก็ไปถึงแกลเลอรี ได้ชมศิลปะ แล้วก็กลับมามีเวลาดื่มชาก่อนนอน คืออันนี้มันเป็นรูปแบบการใช้ชีวิต

อย่างออสเตรียที่สนับสนุนเราในรอบนี้ก็ไม่ใช่องค์กรเอกชนแต่เป็นรัฐบาล เวลาเราไปคุยจะเห็นชัดเลย ทั้งเรื่องดนตรีคลาสสิก ศิลปะแบบนั้นแบบนี้ เวลาเขาคุยกับเราจะเหมือนเขามีความรู้สึกว่า คุณต้องมีวรรณกรรมไว้อ่าน คุณต้องมีช่วงเวลาแห่งชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้เสพงานศิลปะ เรารู้สึกว่าความสำคัญที่เขามองคำว่า culture มันคือส่วนหนึ่งที่ชีวิตจะขาดไม่ได้ แต่ว่าเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มันไม่ได้อนุญาตให้เราจับต้องคำว่าวัฒนธรรมหรือใช้ชีวิตอย่างมีความเป็นอยู่ที่ดี ละเมียดละไม ปลอดภัย อุ่นใจ อะไรแบบนี้เลย ตื่นเช้ามาถ้าไม่มีโควิดเราก็ต้องรีบเร่งไปทำงาน อย่างเราเคยเป็นพนักงานออฟฟิศก่อนที่จะมาทำหนังสือ เราเรียนจบวรรณคดีแต่เสาร์-อาทิตย์ไม่เคยอ่านหนังสือได้เกินพารากราฟเพราะมันเหนื่อยมาก

มันเป็นเรื่องที่ทุกคนคุยกันมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้วที่มีเสียงของเด็กรุ่นใหม่ที่เขาไม่ต้องการ repeat รูปแบบการใช้ชีวิตแบบที่เจนฯ เราอดทนมา มันเห็นชัดเลยว่ามีการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศเราเอ่ยเอื้อนถึงประเทศเขามีอยู่แล้ว เขามีมานานแล้ว เขาก็เลยเห็นความสำคัญว่า ถ้าคุณให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม ส่งเสริมการอ่าน การเขียน ภาพยนตร์ ดนตรี หรือศิลปะทุกแขนง มันจะกล่อมเกลาให้คนที่อยู่ในสังคมนั้นเล็งเห็นความหลากหลายได้ง่ายมาก โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมาร้องแรกแหกกระเชอ เซฟนั่นเซฟนี่ เรียกร้องว่าเห็นต่างแล้วยังไง

เราคิดว่าคนในแวดวงเราเข้าใจอยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มันสำคัญยังไง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปคุยกับเพื่อนในแวดวงอื่นๆ มันใช้เวลาในการจูนกันนานมากกว่าที่จะเข้าใจว่า ทำไมเหรอ ศิลปะมันจะมาเชปอะไรเราได้ นอกจากซื้อตั๋วดูหนัง 120 นาทีแล้วก็จบ สบายใจแล้ว ก็แค่นั้น ซึ่งก็ไม่ผิด ในเมื่อคุณมีเวลาแค่ 120 นาที มันก็ได้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเราควรจะมีเวลามากกว่านั้นในแต่ละสัปดาห์ เพื่อที่จะมานั่งคิดว่าฉันดูหนังแล้วยังไงต่อ

เราพยายามตอบคำถามให้เป็นรูปธรรม ให้เห็นตัวอย่างชัดๆ เพียงแต่ว่าคำตอบแบบนี้มันก็มาจากเสียงคนตัวเล็กๆ อย่างเราหรือ BBF ถ้าเกิดว่ามันออกมาจากเสียงของนักการเมืองที่มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติว่า โอเค เดี๋ยวรัฐจะสนับสนุนงานแบบนี้ทุกไตรมาส ลงทุนให้เลย 5,000 ล้านบาท เราจะไม่ต้องมานั่งเหนื่อยคุยกันแบบนี้เลย เราก็จะมีสถานะเป็นผู้ชมไปเฮโลชื่นชมงานแบบนั้น

จ๊อก : ฟังจากที่พี่หน่อยพูดผมก็มองอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือเวลาภาครัฐเขาซัพพอร์ตกิจกรรมภายในประเทศอย่างเช่นกิจกรรมที่เป็นเชิงวัฒนธรรม เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อปัญหาสาธารณะ เพื่อคนในประเทศ มันเป็น public service เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะทำให้กับคนในประเทศ แต่อีกประเด็น อย่างกรณี BBF จะเห็นได้ชัดว่ามีองค์กรจากต่างประเทศมาซัพพอร์ตกิจกรรมในประเทศอื่น เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของเขา ผมก็มานั่งคิดว่า สุดท้ายเขาเผยแพร่ทำไม อันนี้พูดแบบคนไม่ได้จบ international trade นะ แต่คิดว่าในทางหนึ่ง การที่รัฐเลือกไม่ว่าจะซัพพอร์ตวัฒนธรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทางหนึ่งมันเป็นการเชปภาพลักษณ์ของประเทศ หรือเป็นการสร้างซอฟต์พาวเวอร์หรือเรียกว่ามันเป็นทุนของชาตินั้นๆ 

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ โง่ๆ ที่สุดเลย ทุกวันนี้เวลาไปต่างประเทศ คนถามมาจากไหน ตอบไทยแลนด์ ยังต้องตอบว่าไทยแลนด์ไม่ใช่ไต้หวันอยู่เลย ทั้งที่คนต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยขนาดนี้ เราพูดไทยแลนด์ไปยังไม่เข้าใจเลย เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย เราไม่เคยผลักดันอะไรเพื่อให้เวลาเราจะไปติดต่อกับต่างประเทศหรือต่างประเทศจะมาทำอะไรกับเรามันง่ายขึ้น เพื่อให้ข้อมูลหรือความเป็นไทยมันชัดเจน รัฐหรือประเทศไหนถ้าเกิดคิดหรือทำอะไรเรื่องพวกนี้ได้ มันก็อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหรือคนในประเทศนั้นๆ ในการที่จะติดต่อกับโลกภายนอก

พูดแบบคนมองโลกในแง่ร้ายนะ รัฐไทยไม่เคยสนใจอยากให้คนไทยปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีนโยบายแบบนี้ออกมาเท่าไหร่ ถ้ามีก็จะดูปลอมมากๆ ตั้งแต่สมัยเราเด็กๆ ก็มีโครงการที่ฉาบฉวยสุดๆ

ใหม่ : เหมือนที่พี่จ๊อกพูด สมมติว่ารัฐมาแตะ เขาจะมองแค่เปลือก แค่ความเป็นไทยมันเป็นอย่างนี้เท่านั้น เขาไม่ลึกไปถึงเรื่องที่พี่หน่อยพูดว่ามันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคน จึงแสดงสิ่งนี้ขึ้นมา แต่คุณก็ยังไม่พ้นเรื่องรำ เรื่องไหว้ สิ่งที่มันเห็นเป็นรูปธรรม อย่างญี่ปุ่นเขาก็ขายวัฒนธรรมในแง่ของการใช้ชีวิต แค่สิ่งนี้ทุกคนก็รู้แล้วว่าแบบนี้มันคือเขา แล้วของเรามันคืออะไร

Bangkok Book Festival

เห็นในโพสต์เฟซบุ๊กโปรโมตงาน BBF ปีนี้ บอกว่า “เราหวังจะเป็นบ่อน้ำเล็กๆ ท่ามกลางทะเลทรายที่ดูกว้างไกลสุดตานี้” ทะเลทรายในความหมายที่ว่าคืออะไร

หน่อย : หมายถึงสถานการณ์สังคมในประเทศไทย เรามองว่าตอนนี้ทุกคนกักตัวกันก็แล้ว ออกไปข้างนอกก็พยายามระวังกันก็แล้ว พอมีเวลาก็ออกไปเรียกร้องก็แล้ว คือทำทุกอย่างแล้ว สมมติเป็นชีวิตคนคนหนึ่งเจอเรื่องอะไรที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ต้องไปหาหมอแล้วนะ ต้องไปรักษาอาการ adjustment disorder แล้วถ้าสังคมคือคนคนหนึ่ง เจอเรื่องอะไรขนาดนี้เราจะไปหาหมอที่ไหน ไปหายาที่ไหน มันไม่มี เราก็เลยรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรจะเยียวยาหรือชุบชโลมเราได้มากไปกว่างานศิลปะหรอก คือเราก็ยังมีความเชื่อมั่นแบบนี้ 

ตอนที่โพสต์โปรโมตงานไปครั้งสองครั้งแรกก็มีอยู่คอมเมนต์หนึ่ง เราไม่ได้แคปเก็บไว้แต่จำได้ เขาบอกว่านี่เป็นข่าวดีอย่างหนึ่งในบรรดาซีรีส์ของมหกรรมเรื่องลบที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราเอาตัวเองถอยออกมาจากการเป็นผู้จัดงาน BBF หรือถอยออกมาจากวงการหนังสือเลยก็ได้ เราก็คงรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน

แล้วสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ส่งผลอะไรกับการจัดงานที่คนต้องออกมาเจอกันบ้างไหม

หน่อย : ไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะมาเจอวิกฤตระดับโลก ตอนแรกจะจัดปีที่แล้วเป็น BBF 2020 มันก็เกิดไม่ได้เพราะปัจจัยภายนอก ก็ตัดสินใจที่จะเลื่อนงานกันไปก่อน แล้วในช่วงที่เลื่อนงานเราก็ดูซ้ายดูขวา แลหน้าแลหลัง แล้วพอช่วงก่อนหน้านี้ที่เรารู้สึกว่าฟ้าเริ่มเปิด ก็เลยมารีสตาร์ทคิดกันอีกครั้งโดยที่ยังยึดแผนงานเดิม รวมทั้งธีมงาน The Magic of Paper เอาไว้แล้วเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ๆ เข้าไป ซึ่งเนื้อหาใหม่ๆ มันไม่ใช่เรื่องแรงบันดาลใจ แต่เป็นเรื่องผลกระทบทางจิตใจแล้วก็การใช้ชีวิตในสังคมไทย อย่างเช่น ปีที่แล้วมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราได้ยินเสียงของคนที่เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย เราก็เอาตรงนี้เข้ามาผนวก ผสานรวมกับแผนที่เราตั้งต้นเอาไว้ กลายเป็นกิจกรรมทั้งหมดของ BBF 2021 แต่มันดันเกิดการระบาดเวฟที่ 3 เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เราก็ต้องอพยพ หาสถานที่จัดงาน ตอนแรกจะจัดเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในพื้นที่ BACC ตอนนี้เราก็ต้องกระจายไปที่เกอเธ่ ไปที่ Jam Factory แล้วงานเสวนาต่างๆ ก็จัดผ่านทางออนไลน์

จริงๆ แล้วมันก็เป็นความตลกร้าย คือเราตั้งชื่อว่า Bangkok Book Festival มาตั้งแต่แรก อารมณ์เหมือนกับว่าเรา centralization อำนาจของการจัดงานลักษณะนี้ให้ศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันก็บอกเราสอนเราอยู่ในตัวด้วยว่า จริงๆ งานลักษณะนี้มันควรกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้คนหลายๆ คนในสังคมที่อยู่ร่วมกันกับเราสามารถที่จะเข้ามาเสพ เข้ามาใช้ เข้ามาสัมผัส หรือเข้ามาพูดคุยกับเราได้ง่ายขึ้น เรารู้สึกว่าไอ้สภาวะแบบนี้มันกำลังบอกอะไรเรา แล้วเราจะต้องปรับตัวกันยังไง เราต้องมองสังคมเปลี่ยนไปยังไง

จ๊อก : งานครั้งนี้ตลกมากนะ ชื่อธีมว่า The Magic of Paper แต่มันค่อนข้าง irony เพราะว่าแทบทุกอย่างจัดผ่านโลกออนไลน์ (หัวเราะ)

ในยุคที่ออนไลน์ครองพื้นที่การสื่อสารแทบทั้งหมด ทำไมจึงเลือกคอนเซปต์ ‘The Magic of Paper’

หน่อย : เรามีความรู้สึกว่าในโลกปัจจุบันนี้ชีวิตทุกคนแม้กระทั่งตัวเราเองจะได้ยินคำว่า digital disruption ตลอดเวลา เรากำลังก้าวเข้าสู่โซนของโลกดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จากชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการไปพวก trade fair งานหนังสืออย่างเช่นที่ London Book Fair ก็จะเห็นเลยว่า งานเขาเพิ่มพื้นที่บูทของบริษัทที่เป็นดิจิทัลนอกจากบูทของสำนักพิมพ์ เราเห็นแนวโน้มของดิจิทัลมากขึ้น แต่เราก็ยังเชื่อและเราก็มั่นใจว่า ไม่ว่าโลกดิจิทัลจะล้ำสมัยไปไกลแค่ไหนคนก็ยังโหยหาสิ่งที่เป็น traditional ซึ่งสำหรับการอ่านก็คือการจับต้องกระดาษ การได้กลิ่น ลึกๆ ทุกคนยังต้องการ touch ไม่ว่าจะเป็น human touch หรือ paper touch

ทีนี้คำว่า มนตราแห่งกระดาษ เราก็คุยกันในทีมอีกทีว่า มนตราในที่นี้มันไม่ใช่แง่ที่ทำให้เกิดอารมณ์รื่นรมย์หรืออะไรในทาง positive แต่เรามองไปถึงว่า มันเป็นมนตราจากการที่มันมีฟังก์ชั่นของการเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของคนเป็นนักเขียน บรรณาธิการ คนทำงานสร้างสรรค์ ที่จะใช้เป็นสเปซหรือเป็น medium เพื่อที่จะต่อสู้ เรียกร้อง แหกปาก ร้องตะโกนกับสิ่งที่เราอึดอัด เราต้องการเปลี่ยนแปลง หรือเราต้องการนำเสนอ

Bangkok Book Festival

ปี 2021 แล้วกระดาษยังมี magic อยู่จริงใช่ไหม

จ๊อก : มันอาจจะเริ่มเหมือนโลกพ่อมดนะ แต่ก่อนอาจจะมีเยอะ ตอนนี้อาจจะมีจำนวนน้อยลง โรงผลิตกระดาษที่ผลิตกระดาษเพื่อพิมพ์หนังสือก็เปลี่ยนตัวไปเป็นโรงผลิตกระดาษเพื่อบรรจุภัณฑ์หรือเพื่อผลิตกระดาษทิชชู่เยอะขึ้น อันนี้เป็นเทรนด์ของโลก เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว พูดแบบแฟร์ๆ ผมคิดว่ามันน่าจะน้อยลง แต่แน่นอนกระดาษก็มีความพิเศษของมันอยู่แล้ว หนังสือและการอ่านมีความพิเศษของมันอยู่

หน่อย : พลังของมันอาจจะลดน้อยไป เมื่อเทียบกับโลกทวิตเตอร์หรืออื่นๆ ซึ่งพลังที่มันลดน้อยไปคือพลังในแง่ความเร็ว แต่ในแง่ของความเป็นอมตะมันยังมีอยู่ แล้วสิ่งพิมพ์มันต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน มันจึงเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ยังมากกว่าสิ่งที่เป็นฟลัดของ information ฟลัดของกระแสอารมณ์หรืออะไรที่มันอยู่ในโลกออนไลน์ เรามองว่าพลังมันคนละแบบ แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่ผ่านการพิมพ์ลงบนกระดาษไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์อะไร พลังมันยังอยู่แน่

ใหม่ : เห็นด้วยว่าพอต้องผ่านการพิมพ์มันจะรู้ว่ามีคนเบื้องหลังที่ทำให้งานชิ้นนี้ออกมา มันมีความประณีต แล้วความฝันของนักออกแบบคือการที่ได้เห็นงานที่เป็น physical มากกว่าดิจิทัลอยู่แล้ว แต่อย่างตอนนี้การผลิตมันก็น้อยลงอย่างที่พี่จ๊อกบอก หนังสือมันก็ไม่ใช่ mass product อยู่แล้วด้วยซ้ำ แล้วพอมันพิมพ์น้อยลง ตอนนี้มันกลายเป็นสำหรับคนที่อยากเก็บจริงๆ

จ๊อก : ผมคิดว่าพอคนทำงานรู้ว่าคอนเทนต์จะถูกพิมพ์เป็นเล่ม ผมว่าไม่มากก็น้อยมันจะมีความรู้สึกว่าพยายามขัดเกลา หรือทำให้มันประณีตขึ้น เพราะฉะนั้นงานที่ผ่านการพิมพ์เป็นหนังสือมันน่าจะมีอิมแพกต์ในเชิงอารมณ์ หรือในเชิงที่มันลึกซึ้งมากกว่าการตีพิมพ์ออนไลน์

ผมเดาๆ เอานะ ถ้ากองบรรณาธิการอีดิตงาน 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งรู้ว่าจะถูกตีพิมพ์เป็นเล่ม อีกชิ้นหนึ่งรู้ว่าจะถูกโพสต์ลงออนไลน์ ผมว่ากองบรรณาธิการอาจจะมีท่าทีต่อสองชิ้นนี้ไม่เหมือนกัน อันหนึ่งพิมพ์ไปแล้วไม่รู้ว่าจะมีคนซื้อไปอ่านหรือเปล่า แต่รู้ว่ามันแก้ไขไม่ได้ถ้ามันอยู่ในหน้ากระดาษแล้ว อีกอันหนึ่งรู้ว่ามันจะเข้าถึงคนจำนวนมากในทันทีเลย แต่ว่าเรายังไปอีดิตได้ mentality ในการที่จะดีลกับงานสองประเภทนี้ก็น่าจะไม่เหมือนกัน ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่านะ มันไม่เหมือนกัน พอมันต่างกันก็เป็นเรื่องที่ต้องตีความ นักอ่านไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรืออ่านออนไลน์ก็อาจจะมาบอกว่ามันจะต่างกันยังไง แต่ผมคิดว่าที่มามันไม่เหมือนกันแน่ๆ 

Bangkok Book Festival

แล้วงานปีนี้มีอะไรที่ถูกคิดมาเพื่อให้ตอบโจทย์คอนเซปต์  ‘The Magic of Paper’ บ้าง

หน่อย : ถ้าแบ่งตามกิจกรรม เราก็จะมีทั้งเสวนา นิทรรศการ แกลเลอรี เดิมทีเราจะมีเวิร์กช็อปแต่ตอนหลังเจอโควิดเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นเดโม่

ส่วนที่เป็นเสวนาจะถูกแบ่งเป็น 2 หมวด หมวดแรกคือ เปิดตัวหนังสือของสำนักพิมพ์พันธมิตร พาร์ตเนอร์ อีกหมวดหนึ่งคือ สิ่งที่เราเรียกว่าหัวข้อเฉพาะ หรือพวก special topic ซึ่งเราก็พยายามเขย่ารวบรวมให้พูดถึงคนทำงาน องค์กร หรือพื้นที่ที่ทุกวันนี้ยังบริการทำงานอยู่บนหนังสือเล่ม ส่วนที่เป็นนิทรรศการจัดที่เกอเธ่ชื่อ Book Zoo Exhibition เป็นนิทรรศการที่แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน คือ Bookbinding, Sizing และ Special Printing Techniques เพื่อ educate คนชมว่า หนังสือที่สามารถผลิตได้ หนังสือที่มีอยู่ในตลาด ในการใช้จริงๆ มันมีอยู่กี่แบบ ไม่ใช่ว่าคุณเข้าไปในร้านหนังสือแล้วคุณเห็นพ็อกเก็ตบุ๊กแล้วเข้าใจว่ามันมีอยู่แค่นั้น

ส่วนแกลเลอรีจะไม่ได้พูดถึงฟังก์ชั่นในรูปแบบของหนังสือเล่ม แต่เรามองว่ากระดาษมันเป็นพื้นที่รองรับความคิด อารมณ์ เสียง ของคนที่อึดอัดคับแค้นใจหรือมีอะไรอยากบอกสังคม เราก็เลยชวน 15 สตูดิโอมาสร้างงาน คุณอึดอัดคับข้องใจเรื่องอะไรคุณเทลงมาในกระดาษของคุณได้เลย โดยเราไม่ได้ไปกำหนดว่าจะต้องใหญ่แค่ไหนหรือกี่ชิ้น พูดง่ายๆ คือเอาที่สบายใจ ทั้ง 15 สตูดิโอก็เริ่มแจ้งกลับมาว่า ฉันอยากส่งเสียงเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีทั้งประเด็น LGBTQ+ การอยู่รอดของร้านหนังสือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง คนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกไปเรียกร้องแล้วโดนรังแก ก็เลยมาขมวดว่าสิ่งที่เราเห็นทั้งหมดมันคือการที่เราให้กระดาษเป็นพื้นที่ในการเรียกร้องเสรีภาพ

ใหม่ : แล้วก็จะมี free copy ประจำงานด้วย รอบนี้เรากำหนดหัวข้อว่า BAD PAPER, BAD PEOPLE โฟกัสไปที่เหตุการณ์การเรียกร้องในบ้านเราที่เกิดขึ้น สิ่งที่สื่อสารผ่านกระดาษมันเปลี่ยนอะไร มันถูกซ่อนอะไร ก็จะมีเนื้อหาตั้งแต่จดหมายที่เขียนตอบโต้กันระหว่างแอ็กทิวิสต์ตอนที่มีการรัฐประหารจนเวลาผ่านมาแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เนื้อหาข้างในก็จะเข้มข้นมาก และด้วยความที่เนื้อหามันเป็นอย่างนี้ เราก็อยากให้มันดิบด้วย เพราะฉะนั้นปกและดีไซน์ข้างในก็ค่อนข้างหวือหวา

งาน BBF ครั้งแรกเมื่อปี 2015 พวกคุณเน้นพูดเรื่องแพสชั่นของคนทำหนังสือ แต่ว่าครั้งนี้พวกคุณเลือกพูดถึงประเด็นที่เข้มข้นกว่านั้นอย่างสังคมการเมือง ทำไมงานที่ว่าด้วยเรื่องหนังสือหรือวรรณกรรมจึงต้องพูดเรื่องพวกนี้

หน่อย : เพราะว่าวรรณกรรมคือชีวิต ถ้าเกิดว่าชีวิตของคุณไม่เชื่อมโยงกับโลกข้างนอกคุณก็ไม่สามารถมีชีวิตได้ ถ้าคุณนั่งอยู่ในห้อง แล้วคุณจะมาโลกสวยว่า ฉันปลูกผักกินเองริมระเบียง มันก็อยู่ไม่ได้ อย่างน้อยคุณก็ต้องออกไปซื้อไข่ การเชื่อมโยงไปสู่โลกข้างนอกมันเป็นความจำเป็นโดยพื้นฐานของชีวิตเราอยู่แล้ว แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเชื่อมโยงได้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง คุณก็จะเห็นความแตกต่างว่าตัวคุณไม่เหมือนเขา เขา เขา และเขา แล้วเขาทั้งหลายก็ไม่เหมือนกันด้วย เราเลยมีความรู้สึกว่าการทำ BBF มันไม่ใช่แค่การเอาแพสชั่นหรือความหลงใหลคลั่งไคล้ ความรักหนังสือมาจัดเทศกาลแบบในปี 2015 แต่ตอนนี้สังคมมันบีบคั้น เค้นให้เราต้องมีมากกว่าคำว่าแพสชั่น

จ๊อก : มันขึ้นอยู่กับบริบทด้วย อย่างงาน BBF ครั้งแรกเราจัดปี 2015 ใช่ไหมครับ ตอนนั้นประยุทธ์เพิ่งปฏิวัติ ตอนนั้นก็ไม่มีใครคิดว่าประยุทธ์จะอยู่นานขนาดนี้นะ ก็หาเรื่องบันเทิงเริงรมย์ เอนจอยชีวิต อ่านหนังสือ แฮปปี้ ปีถัดมาก็ยังคิดว่าอยู่ไม่นานอยู่ แต่นี่ผ่านมา 7 ปี มันอยู่มานานแล้วทำให้ชีวิตเรา fuck up มากเกินไปแล้ว ก็เลยต้องมีเสียงอะไรแบบนี้ออกมาหน่อย

ส่วนวรรณกรรมหรือสิ่งพิมพ์ต้องสะท้อนความเป็นไปในสังคมหรือเปล่า ผมคิดว่าจำเป็นและต้องทำ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจากเรา เพราะว่าสิ่งพิมพ์เวลาถูกพิมพ์ออกมามันค่อนข้างชัดเจน มันจะถูกระบุว่าถูกพิมพ์ปีไหน ถ้ามันสะท้อนสังคมหรืออารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยนั้นได้ตรงไปตรงมา หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป 10-20 ปี ผมคิดว่ามันจะเป็นภาพตัวแทนที่มันจริง ฉะนั้นมันสำคัญมากที่คนทำสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก free copy หรือนิตยสารก็ตาม ควรจะดึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วสะท้อนออกมา ไม่อย่างนั้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาทางประวัติศาสตร์ และอาจจะทำให้คนรุ่นหลังเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ หรือเข้าใจประวัติศาสตร์แบบผิดๆ

Bangkok Book Festival

แล้วถ้าถามว่างานวรรณกรรมมันสำคัญยังไง ผมว่าอันหนึ่งที่แน่ๆ เลย ที่จะมีผลมากๆ คือ หนังสือมันทำให้เราเห็นมุมที่เราอาจจะไม่ได้ไปอยู่ เช่น ทุกวันนี้เราอยู่ในประเทศไทย เราก็อยู่ในสังคมในชนชั้นแบบที่เราอยู่ เราก็อาจจะเห็นภาพไม่กว้าง ถ้าอ่านวรรณกรรมภาษาไทยก็จะเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าอ่านวรรณกรรมแปลก็เห็นคนอีกแบบ ที่อาจจะประสบปัญหาคล้ายๆ กันแต่เขาอยู่ในสภาวะหรือสถานะที่ต่างจากเรา ผมคิดว่ามันทำให้เกิด empathy ต่อมนุษย์

แล้วจากแค่ empathy นี่แหละ มันก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหลายๆ อย่าง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone