คุยกับสองคนสำคัญจากสถาบันเกอเธ่ ผู้อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมเยอรมันแปลไทยที่คุณเคยอ่าน

เราเชื่อว่าผู้อ่าน a day หลายคนรู้จัก Goethe-Institut หรือสถาบันเกอเธ่อยู่แล้ว ขอเดาแบบหว่านแหกว้างๆ ว่า หากไม่ใช่เพราะคุณเป็นนักเรียนภาษาเยอรมัน คุณก็คงเป็นคอหนังที่เคยไปดูภาพยนตร์เยอรมันหาดูยากในงาน Open Air Kino ที่ทางสถาบันจัดขึ้นต่อเนื่องหลายปีจนเป็นซิกเนเจอร์

แต่นอกจากสองเหตุผลที่ว่ามาแล้ว รู้ไหมว่าเกอเธ่ยังทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมเยอรมันในมิติอื่นๆ อีก เช่น การดนตรี การละคร และวรรณกรรมเยอรมัน  

ซึ่งเป็นอย่างหลังสุดที่พาให้เราได้มาคุยกับ นิกกี้–สิริรัตน์ ติณะรัตน์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและห้องสมุด และ Gabi–Gabriele Sander ที่ปรึกษาด้านข้อมูลและห้องสมุดระดับภูมิภาคแห่งสถาบันเกอเธ่ ในโอกาสที่พวกเขาเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญเบื้องหลัง Bangkok Book Festival 2021 ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

Goethe Institut หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงเมื่อไหร่ เราจะได้ไปเยี่ยมเยียนสถาบันเกอเธ่เพื่อชม Book Zoo Exhibition นิทรรศการว่าด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งการพิมพ์หนังสือ รวมทั้งชมภาพยนตร์คัดสรรที่บอกเล่าแง่มุมและมนตร์ขลังแห่งกระดาษ ตรงตามคอนเซปต์ The Magic of Paper ของเทศกาลในปีนี้

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงภาพเบื้องหน้าที่เราเห็นชัดๆ ว่าสถาบันเกอเธ่มีส่วนร่วมกับอีเวนต์นี้ยังไง แต่เบื้องหลังยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่นิกกี้และกาบี้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด นั่นคือการสนับสนุนให้เกิดการแปลวรรณกรรมเยอรมันเป็นภาษาไทย 

ทำไมสถาบันเกอเธ่ถึงให้ความสำคัญกับวรรณกรรม, วัฒนธรรมการอ่านของคนเยอรมันเป็นยังไง, อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในเยอรมันที่เป็นต้นธารของงานหนังสือที่สำคัญที่สุดในโลกอย่าง Frankfurt Book Fair ยังแข็งแรงและสามารถเติบโตต่อในยุคดิจิทัลได้เพราะอะไร นิกกี้และกาบี้พร้อมเล่าให้ฟังแล้ว

อะไรทำให้เกอเธ่ตัดสินใจสนับสนุนงาน Bangkok Book Festival ในครั้งนี้

นิกกี้ : จริงๆ แล้วเกอเธ่เป็นพาร์ตเนอร์ของงานนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดเมื่อปี 2015 เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรมหรือการออกแบบหนังสือ พอเราเห็นโปรแกรมที่เขาส่งมาชวนก็อยากเข้าร่วมทันที เพราะมันไม่ใช่แค่วรรณกรรม แต่ยังมีกิจกรรม มีเวิร์กช็อปให้คนเข้าร่วมด้วย ลักษณะมันคล้ายกับเฟสติวัลหนังสือของเยอรมนีที่เขาไม่ได้เน้นแค่การขาย แต่มีเนื้อหา มีอีเวนต์อื่นๆ ให้คนมีส่วนร่วม 

อีกอย่างคือการได้เข้าร่วมเฟสติวัลแบบนี้ทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น บางคนเราไม่มีทางไปรู้จักหรือหาเจอผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และเราก็ได้อัพเดตไปด้วยว่าตอนนี้แวดวงดีไซน์ไทยมีอะไรใหม่ๆ ตอนนี้นักเขียนเขาคุยกันเรื่องอะไร เราได้ข้อมูลและได้เรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับการทำงานของเราไปด้วย เช่นบางทีอาจมีทางเยอรมนีถามมาว่ามีนักเขียนไทยหรือคนทำหนังไทยคนไหนที่น่าสนใจบ้าง เราก็จะแนะนำได้

ถ้าเทียบกับวงการอื่นๆ วงการวรรณกรรมถือว่าค่อนข้าง niche ทีเดียว เกอเธ่เห็นความสำคัญอะไรในแวดวงนี้

กาบี้ : ฉันคิดว่าหนังสือสามารถส่งต่อวัฒนธรรมได้  ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งพิมพ์ แต่ยังรวมไปถึงอีบุ๊กด้วย อย่างการสนับสนุนให้แปลหนังสือนั้นก็เพื่อให้คนกระโจนเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่ๆ ส่วนตัวฉันเองอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่ฉันก็ดีใจที่หนังสือภาษาไทยบางเล่มถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งฉันไม่ดีใจเท่าไหร่นะที่มีหนังสือภาษาไทยถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันน้อยมาก แต่นั่นแหละ อย่างน้อยฉันก็สามารถสัมผัสแนวคิดที่แตกต่างผ่านหนังสือแปลได้ และนั่นก็ทำให้มุมมองของฉันกว้างขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น การแปลวรรณกรรมภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทยที่มีคนใช้แค่ประเทศเดียวก็อาจดูไม่คุ้มค่านัก เมื่อเทียบกับการแปลเป็นภาษาที่มีคนใช้เยอะอย่างสเปนหรือจีน

กาบี้ : ฉันคิดว่ามันคุ้มค่าอยู่แล้วที่จะทำ ถ้าคุณไปคุยกับนักแปลมืออาชีพ เขาจะเห็นด้วยว่าการแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยตรงนั้นดีกว่าการแปลโดยมีตัวกลาง เช่น การแปลจากเยอรมันเป็นอังกฤษแล้วแปลจากอังกฤษเป็นไทยอีกที เพราะคุณจะสูญเสียอะไรบางอย่างไประหว่างทาง อาจเป็นบรรยากาศบางอย่างหรือถ้อยคำบางคำ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไม Bangkok Book Festival ซึ่งชื่อก็จั่วหัวว่ากรุงเทพฯ และจัดในประเทศไทย ถึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเยอรมัน

กาบี้ : ประเทศเยอรมนีมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงมาก และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของเราก็แข็งแรงมากเช่นกัน เรามีงานหนังสือขนาดใหญ่สองงาน คือ Frankfurt Book Fair และ Leipzig Book Fair นักการเมือง คนทำงานสาขาอาชีพต่างๆ หรือคนทั่วไปล้วนเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสำคัญในเชิงธุรกิจ แต่ยังรวมถึงความรื่นรมย์ในชีวิตด้วย อย่างงาน Leipzig Book Fair นั้นเป็นงานที่คนทั้งเมืองจะรื่นเริงไปกับงานนี้ด้วยกันทั้งสัปดาห์

นิกกี้ : ใช่ มันยอดเยี่ยมและน่าเซอร์ไพรส์มาก ถ้าคุณไปเมืองไลพ์ซิชในช่วงเวลาที่มีเฟสติวัลละก็ ในรถรางหรือ S-Bahn จะมีการบอกทางไปเฟสติวัล มันไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์หรือคนขายหนังสือที่ช่วยกันจัดงานนี้ แต่เป็นเมืองทั้งเมืองที่ช่วยกันโปรโมตงานนี้ 

กาบี้ : สัปดาห์นั้นหนังสือจะเป็นเหมือนศูนย์กลางของทุกอย่าง ห้องสมุดสาธารณะก็จัดกิจกรรม ห้องสมุดเอกชนหรือภาคเอกชนอื่นๆ ก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน

นั่นทำให้เราสงสัยว่าเยอรมนีทำยังไงให้วัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงได้ขนาดนั้น เผื่อว่าพวกเราคนไทยจะได้เรียนรู้และลองทำดูบ้าง

กาบี้ : ส่วนตัวฉันคิดว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญมากๆ หากพวกเขาเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก ต่อให้ลูกยังพูดไม่ได้ แต่การได้ฟังและได้ตื่นตาตื่นใจไปกับเรื่องเล่าต่างๆ จะทำให้เด็กๆ รักการอ่าน และพวกเขาจะอ่านหนังสือด้วยตัวเองเมื่อโตขึ้น ซึ่งไม่สำคัญเลยว่าจะเป็นหนังสือเล่มหรืออีบุ๊ก

นอกจากนี้ห้องสมุดสาธารณะและโรงเรียนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ที่เยอรมนีมีห้องสมุดสาธารณะที่ดีมากๆ และหน้าที่สำคัญของห้องสมุดเหล่านั้นก็คือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ส่วนในโรงเรียนอนุบาลก็มักจะมีการประกวดหรืออีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านอยู่เสมอ มันจึงไม่ใช่แค่ชวนเด็กมาอ่านหนังสือ แต่เป็นการชวนทำกิจกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้นๆ

ภาพรวมของวัฒนธรรมการอ่านในเยอรมนีเป็นยังไง คนเยอรมันชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มไหม

กาบี้ : ฉันเพิ่งอ่านรายงานที่จัดทำโดย German book trade market มาพอดี โดยทั่วไปคนเยอรมันจะเลือกอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มหรืออีบุ๊กนั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการอ่าน หากอ่านเพื่อศึกษาเรียนรู้อะไรบางอย่าง พวกเขาจะเลือกอ่านแบบอีบุ๊กมากกว่า กลับกันหากอ่านเพื่อความรื่นรมย์ คนจะเลือกอ่านแบบเป็นเล่มมากกว่า และข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือหนังสือเด็กมักจะติดท็อปประเภทหนังสือเล่มยอดนิยมอยู่เสมอ

ประเภทหนังสือยอดนิยมในเยอรมนีคือ non-fiction เมื่อก่อนคนจะชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และหนังสือเกี่ยวกับสังคม แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงสองปีที่เราอยู่กับไวรัสโคโรนา คนหันมาอ่านเรื่องเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์​ และการแพทย์มากขึ้น ส่วนประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมลดลงคือไกด์นำเที่ยว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพราะอะไร

อีกข้อมูลที่ฉันคิดว่าน่าสนใจมากคือ นักอ่านกลุ่มอายุ 10-19 และ 20-29 ปี สนใจอ่านและซื้อหนังสือมากขึ้น ชัดเจนเลยว่าหนังสือยังคงดึงดูดความสนใจคนได้ดี ด้วยความที่มันเรียกร้องให้คุณใช้เวลาจดจ่ออยู่กับมัน คือเราอ่านเรื่องราวบางอย่างบนสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตอยู่เสมอก็จริง แต่มักเป็นการอ่านข่าว อ่านบทความชิ้นนั้นชิ้นนี้ เราไม่ได้ใช้เวลาจดจ่อมันแบบเดียวกับที่จดจ่อหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มหรืออีบุ๊กก็ตาม หนังสือทำให้คุณมีอะไรทำไปพักใหญ่ๆ ซึ่งคนต้องการกิจกรรมแบบนี้มากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

อ้อ และคนยังดาวน์โหลดหนังสือเสียงมากขึ้น เพื่อที่จะมีอะไรฟังยาวนานกว่าการฟังรายการพ็อดแคสต์ที่ไม่ยาวเท่า

เยอรมนีเป็นเจ้าบ้านจัดงานเฟสติวัลหนังสือที่สำคัญระดับโลก แถมวัยรุ่นก็หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น แสดงว่าประโยคที่ว่า print is dead ไม่เป็นจริงเลยในเยอรมนี 

กาบี้ : ไม่จริงเลยสักนิด จากตัวเลขในรายงาน สองสามปีที่ผ่านมาอัตราการอ่านอีบุ๊กเพิ่มขึ้นมากก็จริง คือเพิ่มจาก 4 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมาเป็น 5.9 เปอร์เซ็นต์ของการอ่านทั้งหมด แต่ว่าตัวเลขนอกเหนือ 5.9 เปอร์เซ็นต์นั้นคือการอ่านหนังสือเล่มทั้งนั้นเลย ฉันคิดว่าแม้เราจะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่ผู้คนโหยหาการสัมผัส ซึ่งรวมถึงการได้หยิบจับสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือนิตยสารก็ตาม

ในเมื่อคนเยอรมันยังชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่า อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เยอรมันน่าจะเฟื่องฟูมากเลยทีเดียว

กาบี้ : แม้ในภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะหดตัวลงไม่มากนัก และหากดูเทียบกับอุตสาหรรมอื่นๆ สิ่งพิมพ์ก็ถือว่าค่อนข้างมั่นคง แต่ก็มีมุมที่ต้องดิ้นรนเหมือนกัน เช่น มีการพิมพ์หนังสือใหม่ๆ น้อยลง แปลหนังสือใหม่ๆ น้อยลง โดยหนังสือที่ตีพิมพ์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดคือไกด์นำเที่ยวตามที่ฉันพูดถึงก่อนหน้านี้ 

ด้านร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กก็ต้องดิ้นรนอย่างหนัก เยอรมนีเองก็มีการล็อกดาวน์เหมือนกัน ดังนั้นร้านหนังสืออิสระจึงต้องปรับตัวมาขายออนไลน์และต้องลงทุนกับการจัดส่งหนังสือให้ลูกค้า ซึ่งทำให้พวกเขามีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ลูกค้ามาซื้อที่หน้าร้าน 

จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่เยอรมนีมีร้านหนังสืออิสระจำนวนมาก และคนรักหนังสือก็ชอบไปร้านหนังสืออิสระมากกว่า พวกเขาตั้งใจสนับสนุนร้านหนังสือเล็กๆ โดยการซื้อหนังสือจากร้านเล็กๆ เท่านั้น ก่อนหน้านี้ร้านหนังสืออิสระจึงไม่ได้มีการขายออนไลน์กันมากนัก แต่สถานการณ์ก็ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวอย่างที่บอก โดยตัวเลขในรายงานบอกว่าร้านหนังสืออิสระขายหนังสือออนไลน์กันมากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Amazon เติบโตจากการขายหนังสือออนไลน์เพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

ดังนั้นในภาพรวม วงการสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือค่อนข้างมั่นคงเลยทีเดียว นับเป็นเรื่องดี ฉันคิดว่าในอนาคตพวกเขาจะพัฒนาได้อีก และพร้อมที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มที่อีกครั้งเมื่อเวลามาถึง ซึ่งรวมไปถึงการกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย พูดได้ว่าอนาคตของพวกเขาไม่ได้มืดมนเลย

ฉันสงสัยว่าคนเยอรมันโดยทั่วไปคิดว่าหนังสือเป็นของหรูหราไหม อย่างในไทยเรามีห้องสมุดไม่มาก ถ้าเราอยากเข้าถึงหนังสือ เราก็ต้องซื้อ ซึ่งราคาหนังสือในไทยก็ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ เลยหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน

กาบี้ : ที่เยอรมนีหนังสือที่ตีพิมพ์อย่างประณีตก็ไม่ได้มีราคาถูกหรอกนะ แต่ถ้าพูดถึงหนังสือทั่วๆ ไป เช่น นิยายสืบสวนสอบสวน ก็ถือว่าเข้าถึงง่ายมากๆ ราคาประมาณซื้อตั๋วดูหนัง 1 เรื่อง ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกันแบบนี้ ส่วนตัวฉันคิดว่าการซื้อหนังสือถือว่าถูกกว่า เพราะคุณจะได้ใช้เวลากับมันนานกว่าการดูหนัง อย่างน้อยๆ เล่มหนึ่งก็ต้องสัก 2-3 วัน

แต่ก็แน่นอนว่ายังมีคนเยอรมันบางส่วนที่ไม่สามารถซื้อหนังสือได้อยู่ดี นั่นเป็นสาเหตุที่เรามีห้องสมุดสาธารณะที่คุณสามารถแวะเข้าไปยืมหนังสือได้ง่ายๆ เลย

และมีสิ่งหนึ่งที่ฉันชอบมาก มันกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในเยอรมนี นั่นคือแนวคิดเรื่องการแบ่งปันข้าวของซึ่งรวมถึงการแบ่งปันหนังสือด้วย ในเมืองใหญ่ๆ ถ้าคุณไปตามสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สี่แยกไฟแดง คุณจะเจอชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสือที่มีคนมาวางไว้ให้ฟรีๆ คุณสามารถเลือกหยิบเล่มที่สนใจไปอ่านได้เลย แล้วหลังจากนั้นคุณอาจจะเอาหนังสือเล่มนั้นไปวางคืนที่ชั้นหนังสือในย่านอื่นก็ได้ ฉันชอบไอเดียนี้มากๆ เพราะต่อให้คุณชอบหนังสือแค่ไหน แต่มันจะมีจุดหนึ่งที่ชั้นหนังสือแน่นเกินไป แล้วคุณก็ต้องกำจัดมันออกไปเสียบ้าง สิ่งที่คุณไม่ต้องการแล้วอาจจะยังน่าสนใจและมีประโยชน์กับคนอื่นก็ได้

หากไม่ติดช่วงโควิด-19 เราคงจะได้ชมนิทรรศการ Book Zoo Exhibition ที่ว่าด้วยรายละเอียดต่างๆ ของการผลิตหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือการเข้าเล่ม คุณคิดว่าการออกแบบหนังสือสำคัญยังไง

กาบี้ : สำหรับฉัน การทำหนังสือมีอะไรมากกว่าเนื้อหาข้างใน มันยังมีเรื่องกระดาษที่เลือกใช้ เรื่องหน้าปก ซึ่งสำนักพิมพ์หรือนักออกแบบย่อมมีเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมถึงเลือกวัสดุหรือดีไซน์เหล่านั้น ฉันเคยเจอนักออกแบบหนังสือชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เธอทำกระดาษใช้เองเลยด้วยซ้ำ ฉันจึงมองว่าการออกแบบหนังสือมีความเฉพาะตัวมากๆ และเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเช่นกัน

จะว่าไป ฉันอยากรู้ว่าในเมื่อเยอรมนีเป็นประเทศต้นกำเนิดของแท่นพิมพ์กูเทินแบร์ค สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์โลก คนเยอรมันโดยทั่วไปรู้สึกภาคภูมิใจกับเรื่องนี้ไหม

กาบี้ : ฉันหวังว่าจะภูมิใจนะ (หัวเราะ) ถ้าพูดจากมุมของฉันซึ่งเป็นนักอ่านอยู่แล้ว ฉันว่ามันพิเศษมากที่เรามีประวัติศาสตร์การพิมพ์หนังสืออันยาวนาน แม้เราจะไม่ใช่ชนชาติแรก เพราะชนชาติแรกที่มีแท่นพิมพ์คือจีน แต่เมื่อมีแท่นพิมพ์กูเทินแบร์ค เราก็ใช้เวลาในการผลิตหนังสือน้อยลง หนังสือราคาถูกลง และกระจายออกไปได้กว้างขวางขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งพิมพ์ได้มากขึ้น จากเดิมที่เมื่อก่อนมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีหนังสือได้ อย่างน้อยๆ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราควรภูมิใจนะ

พูดได้ว่าแท่นพิมพ์กูเทินแบร์คทำให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือได้อย่างเท่าเทียม

กาบี้ : แน่นอน และเมื่อมีแท่นพิมพ์กูเทินแบร์ค อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ก่อนหน้านั้นเรามีการผลิตหนังสือแล้วก็จริง แต่การพิมพ์จำนวนมากในระดับอุตสาหกรรมและการกระจายหนังสือจำนวนมากเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังมีแท่นพิมพ์กูเทินแบร์คเท่านั้นเอง

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เป็นแวดวงที่คนเยอรมันรุ่นใหม่อยากเข้าไปทำงานไหม

กาบี้ : หากพูดถึงการพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์โบราณนั้นคงเป็นสิ่งที่มีเฉพาะคนรักหนังสือหรืองานศิลปะที่สนใจ แต่ถ้าพูดถึงการพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ดิจิทัลละก็ ยังมีคนที่หลงใหลมันอยู่ เพราะการพิมพ์ดิจิทัลนั้นเปิดโอกาสให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น หากคุณได้เห็นโรงพิมพ์ของ Steidl คุณจะเห็นว่าเขามีมาตรฐานคุณภาพการพิมพ์ที่สูงมาก คนอย่างสไตเดิลรู้วิธีดึงเอาประสิทธิภาพของแท่นพิมพ์มาใช้ได้อย่างเต็มที่

สไตเดิลเป็นตัวอย่างของคนทำหนังสือชั้นครูที่ใครๆ ก็รู้จัก ในแวดวงสิ่งพิมพ์เยอรมันมีคนรุ่นใหม่มาแรงบ้างไหม

กาบี้ : ฉันว่า gestalten เป็นสำนักพิมพ์ที่น่าสนใจมาก เพราะเขาทดลองรูปแบบการพิมพ์ใหม่ๆ ไซส์ใหม่ๆ อาว็อง-การ์ดมากๆ ลองไปดูงานของพวกเขานะ มีหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย

คำถามสุดท้าย สำหรับงาน Bangkok Book Festival ปีนี้ คุณอยากให้คนร่วมงานได้อะไรกลับไป หรือได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

กาบี้ : ลืมเรื่องการเรียนรู้ไปเถอะ แค่รู้สึกสนุกก็พอแล้ว แค่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้สงสัยในสิ่งใหม่ๆ หรือแค่ได้มีอะไรทำมากขึ้น เพราะได้อ่านหนังสือหรือดูนิตยสารใหม่ๆ ก็พอแล้ว ฉันคิดว่าการเรียนรู้ไม่สำคัญเลยในบริบทนี้


3 วรรณกรรมเยอรมันแปลไทยที่นิกกี้และกาบี้แนะนำ

เพราะสถาบันเกอเธ่ให้การสนับสนุนการแปลวรรณกรรมเยอรมันเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม เราจึงขอให้นิกกี้และกาบี้แนะนำ 3 เล่มที่นักอ่านไทยพลาดไม่ได้จริงๆ

1. แวร์เธ่อร์ระทม

นิกกี้ : คนเขียนเรื่องนี้คือเกอเธ่ เจ้าของชื่อสถาบันเรานี่แหละ หนึ่งในอาชีพของเขาคือเป็นนักเขียนนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ เรื่องนี้ตอนที่ปล่อยออกมาก็คือโด่งดังมากในยุโรป มันเป็นนิยายรักที่เศร้านิดหนึ่งแต่แฝงไปด้วยปรัชญา ซึ่งเกอเธ่เขียนในลักษณะของจดหมาย มันเลยอ่านง่าย อาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ แปลไว้ดีมากด้วย เป็นหนังสือที่เก่าแล้ว อาจจะหายาก แต่มีที่ห้องสมุดเกอเธ่

2. เล่มไหนก็ได้ของแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค

นิกกี้ : ก่อนจะเป็นนักเขียน ชีรัคเป็นทนายว่าความฝั่งจำเลยมาก่อน สิ่งที่เขาเขียนก็เลยมีบางส่วนที่ based on คดีที่เขาเคยทำ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องแต่งนะ งานของชีรัคน่าอ่านตรงที่มันตื่นเต้นเพราะเป็นเรื่องของคดีความ การตัดสิน และการสืบสวนสอบสวน ซึ่งหลายๆ เคสมันจบแบบหักมุม อ่านง่ายเพราะเป็นเรื่องสั้น มีทั้งเรื่องดาร์กและเรื่องขำๆ ปนกันไป

3. เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน

กาบี้ : งานชิ้นนี้ของดาเนียลา เครียน น่าสนใจมาก มันเป็นหนังสือร่วมสมัย เธอจะค่อยๆ เล่าโดยนำคุณจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เป็นเล่มที่ฉันชอบอ่านเป็นการส่วนตัว ปกติฉันเป็นนักอ่านชิลล์ๆ คนหนึ่ง ถ้าอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วไม่ชอบ ฉันจะไม่บังคับให้ตัวเองอ่านจนจบ แต่สำหรับเครียน ฉันว่ามันน่าทึ่งมาก

AUTHOR