เราพูดคุยกับ มานิตา ส่งเสริม และ น้ำใส ศุภวงศ์ ในวันที่อ่านนิตยสาร a day ฉบับ ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ‘ จบ
พวกเธอทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน และเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ผู้หยิบจับ element ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมานำเสนอ โดยน้ำใสรับหน้าที่ออกแบบภาพประกอบเรื่องสั้นทั้งหมด 13 เรื่อง ส่วนมานิตารับหน้าที่ออกแบบหน้าปก
ภาพประกอบแนวมินิมอลสีสันเรียบง่าย และหน้าปกสีขาวดำที่ออกแบบโดยแบ่งเป็นช่องๆ กึ่งนามธรรมบนนิตยสาร a day ฉบับที่ 241 ถ่ายทอดเรื่องราวในเรื่องสั้นธีมสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาไม่ปกติได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของนักออกแบบทั้งสองได้อย่างน่าสนใจ
และนั่นคือสิ่งที่เราชวนพวกเธอคุยในวันนี้ เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะทำงานออกแบบหนังสือมาเป็นจำนวนมาก แต่หนังสือแต่ละเล่มย่อมไม่เหมือนกัน เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบ นำมาสู่รายละเอียดแอบซ่อนตามซอกเส้น หลืบช่อง ปื้นสี รวมถึงขับเคลื่อนความรู้สึกที่บันดาลใจให้ออกมาเป็นชิ้นงานอย่างที่เห็น ในรูปเล่มแบบหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กขนาด 5.75 x 7.90 นิ้ว ล้อกับขนาดหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เราคุ้นตา
ภาพประกอบไม่สมประกอบ
คงเดช จาตุรันต์รัศมี
–คุณพยายามแล้ว
คิดว่าขนมปังรา UFO ซึ่งเป็นสิ่งของในเรื่องนี้มีความประหลาดอยู่แล้วในตัวเอง ก็เลยไม่ได้ใส่ความหมายอื่นเพิ่มลงไป ถือว่าเป็นเรื่องที่หยิบสิ่งของในเรื่องมาใช้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพราะมีความเซอร์เรียลมากแล้ว
Time Traveler Breakpoint at 2020
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
หนังสือปกฟ้า จุดเริ่มต้นของความรัก/ชีวิตวนลูป
หัวนอนปลายเท้า
จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ชีวิตของสองครอบครัวที่ต้องมามีจุดร่วมกัน เพราะเพดานแสนบางของคอนโด ปัญหานัดเดียว พังสองครอบครัว
ข่าวดีจากนกกางเขน
จิราภรณ์ วิหวา
ในเรื่องพูดถึงนกกางเขน แต่ทำให้นึกถึงนกอีกชนิดที่ใช้ส่งข่าวเหมือนกัน
ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่
ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
ไม้เท้าสี่ขาที่ง่อนแง่น/พ่อกับลูก ซึ่งเป็นที่พึ่งทั้งสองของย่า แต่ต่างก็อยู่ในภาวะที่เอาตัวเองแทบจะไม่รอดทั้งคู่
Watch from Home
ธนชาติ ศิริภัทราชัย
มูฟออนเป็นวงกลม/สปริง (ความฟุ้งซ่าน) ที่ถูกกดสะสมเอาไว้ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมระเบิดเมื่อคลาย
เพราะออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง
ปราบดา หยุ่น
หลอดยาสีฟันใช้แล้วทิ้ง/ใบหน้าที่โดนซ้อมของอรรณพ
ความชื้นสัมพัทธ์ต่างหากที่เป็นตัวแบ่งฤดูกาล มิใช่อุณหภูมิตามที่เขาหลอกลวง
ภู กระดาษ
ชนชั้นอภิสิทธิ์ที่มีอยู่แบบเนียนๆ หลอกลวง
เที่ยวบินที่ปราศจากการโคจร
อนุสรณ์ ติปยานนท์
ก้อนแม่เหล็กเล็กที่พยายามจะหนีจากสนามแรงดึงดูดอันแรงกล้าของแม่เหล็กใหญ่
นั่นคือแมงกะพรุนหรือโคมไฟที่ห้อยย้อย
อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
โคมไฟที่ส่องให้เห็นเงามืดแทนที่จะเป็นแสงสว่าง
ความไม่ปรากฏ
อารยา ราษฎร์จําเริญสุข
เดรัจฉาน/ธรรมชาติ/ความทรงจำแสนสุขของหญิงชุดดำ
คนที่ไม่ใช่ ยังไงก็สังหารจอมทัพอัศวินไม่ได้
อุทิศ เหมะมูล
‘ผมสามารถเป็นเขา–ตัวละครได้ แต่ตอนท้ายๆ เขากลับไม่สามารถเป็นผม‘ ตัวละคร ‘ผม‘ และตัวเอกในหนังสือที่มีความเหมือนกันในตอนแรก (ต้นพู่กัน) แต่ต่างกันในตอนท้าย (ปลายพู่กันที่แยกเป็นสองฝั่ง ฝั่งที่โอบรับความแปลก (สีแดง) และฝั่งที่พยายามกำจัดความแปลกเพื่อกลับสู่ความปกติ)
ขอโทษ
อุรุดา โควินท์
ภาวะการเงินขัดข้อง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้าน
ภาพปกไม่ปกติ
สถาน ณ กาลไม่ปกติ พ้องเสียงกับคำว่า สถานการณ์ไม่ปกติ อันเป็นธีมหลักที่ยึดโยงเรื่องสั้นและคอมิกรวม 15 เรื่องในเล่มเข้าไว้ด้วยกัน
สถาน ณ กาลไม่ปกติ ยังแปลตรงตัวได้ว่าสถานที่ในห้วงเวลาไม่ปกติ คลับคล้ายกับเรื่องสั้นที่มีแบ็กกราวนด์ต่างสถานที่แต่ล้วนผิดปกติในทางใดทางหนึ่ง
ที่สำคัญ สถาน ณ กาลไม่ปกติ คือถ้อยคำที่เป็นหัวใจของปกที่ออกแบบโดยมานิตา
“ก่อนจะออกแบบ เราเริ่มต้นด้วยการอ่านเรื่องสั้นที่นักเขียนส่งมาเพื่อหาจุดที่แต่ละเรื่องมีร่วมกัน และพบว่าประเด็นหลักของหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องการหยุด หยุดจากงาน จากสิ่งที่ทำเป็นประจำกลับมาอยู่บ้าน พออ่านมาถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่าซีนของบ้านน่าจะเป็นจุดร่วมที่ดีและเป็นสิ่งที่คนอ่านที่ผ่านการติดอยู่ในบ้านช่วงโควิดเข้าใจร่วมกัน
“นอกจากนี้บ้านยังสอดคล้องกับภาพประกอบในเรื่องของน้ำใส เพราะถึงเราจะคุยกันตั้งแต่ก่อนออกแบบว่าปกและภาพประกอบไม่ต้องเกี่ยวข้องกันก็ได้แต่สุดท้ายแล้วมันควรจะมีเส้นเรื่องบางอย่างที่ล้อไปด้วยกัน ในขณะที่น้ำใสดึงสิ่งของที่เจอได้รอบตัวในแต่ละเรื่องมาทำภาพประกอบ เราจึงเลือกเล่าภาพในมุมใหญ่กว่าอย่างเรื่องของบ้าน”
บ้านหลายชั้น
“ตอนอ่านมาถึงเรื่องของจิรัฐฏ์ ประเสริฐทรัพย์ มันมีไอเดียทั้งเรื่องบ้าน เรื่องชนชั้นที่ส่งผลกระทบต่อกัน มันเป็นเรื่องที่ขมวดไอเดียให้เราเล่าเรื่องบ้านผ่านการซอยช่องบนปกหนังสือด้วยสีขาวและดำ จะมองเป็นการแบ่งห้องก็ได้หรือจะมองว่าเป็นลายกระเบื้องปูพื้นก็ได้”
บ้านคือสถานที่ปลอดภัย
“จากที่อ่าน เราชอบประเด็นที่หลายๆ คนก็ออกจากบ้านไปทำงานที่อื่นนานจนพอกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งก็ทำให้เกิดการปรับจูนกัน ในหลายเรื่องบ้านที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยกลับช่วยปกป้องแค่ทางกายภาพแต่ไม่ได้ช่วยเซฟจิตใจ หรืออย่างในเรื่องของพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) แม้จะไม่ได้พูดถึงบ้านก็จริง แต่แบ็กกราวนด์ของเรื่องที่เป็นค่ายทหารก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นบ้านแต่เหมือนเป็นพื้นที่กักขังมากกว่า
“ในการออกแบบปกเราจึงใช้แค่สีขาว–ดำตัดกัน เรียกว่าเป็นการออกแบบโดยใช้ positive-negative space ทำให้แต่ละช่องตัดขาดออกจากกัน ให้อารมณ์ความรู้สึกไม่เหมือนกัน เหมือนที่บ้านแต่ละหลังให้ความรู้สึกต่อผู้อยู่อาศัยไม่เหมือนกัน”
อักษรสะท้อนความไม่ปกติ
“ฟอนต์ชื่อเรื่อง ดูดีๆ ท่ามกลางฟอนต์ที่ปกติเราจะเห็นความไม่ปกติอยู่ในนั้น คือบางตัวก็ดูแตกเหมือนเวลาเราซูมดูภาพใกล้ๆ พัง เหมือนเจอแผ่นดินไหว คิดแบบง่ายๆ เลยคือความไม่ปกติบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในความปกติ”
บ้านผ่านกล้องวงจรปิด
“โดยปกติถ้าทำปกสีขาวหรือดำแบบเรียบๆ เรามักจะออกแบบปกให้มีจุดนำสายตา แต่กับเล่มนี้หลังจากอ่านชื่อเรื่องที่อยู่ตรงกลางปกแล้วเราอยากให้คนรู้สึกงุนงงว่าจะมองช่องไหนก่อน เหมือนกับเป็นยามที่นั่งดูกล้องวงจรปิดหลายๆ จอ เห็นว่าห้องนี้ก็มีเรื่องของตัวเอง อีกห้องก็มีอีกเรื่องดำเนินไปพร้อมๆ กัน เหมือนเรื่องสั้นในเล่มที่มาจากนักเขียนหลายคน มีท่าทาง ลีลา และการดำเนินเรื่องไม่เหมือนกัน”
ตกแต่งบ้าน
“บ้านในแต่ละช่องมีการตกแต่งต่างกัน มีรายละเอียดที่ต่างกัน ล้อกับความแตกต่างในแต่ละเรื่อง แต่สิ่งที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันคือเก้าอี้ ซึ่งได้ไอเดียมาจากช่วงโควิดที่มีมาตรการ social distancing ไม่เว้นแม้แต่ตอนกินข้าวที่ต้องนั่งเว้นเก้าอี้กัน
“ด้วยความที่เราอยากให้แต่ละช่องสื่อถึงสถานที่คนละแห่ง เป็นบ้านคนละหลัง ก็เลยใช้เก้าอี้ดีไซน์ไม่เหมือนกัน เก้าอี้แต่ละตัวมีอยู่จริง เป็นเก้าอี้ดีไซเนอร์รุ่นต่างๆ บางตัวก็ล้ำเหมือนไม่ได้อยู่ในยุคนี้
“องค์ประกอบอื่นๆ บนปกหน้าและปกหลังก็มาจากองค์ประกอบในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง และองค์ประกอบของบ้าน มีหมดเลย ต้นไม้ ดอกไม้ ประตู แจกัน มู่ลี่ หน้าต่าง หลายองค์ประกอบก็มาจากเรื่องสั้นของนักเขียนในเล่ม เช่น ต้นไม้จากเรื่อง ‘ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่‘ ของป่าน (ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์) หรือหน้าต่างจากเรื่อง ‘ข่าวดีจากนกกางเขน‘ ของจิราภรณ์ วิหวา
“ถึงอย่างนั้นหลายอย่างก็มาจากจินตนาการของเรา เพราะเรื่องสั้นบางเรื่องก็ไม่ได้เน้นการบรรยายให้เห็นภาพ มันจึงเป็นหน้าที่ของดีไซเนอร์ที่ต้องคิดเรื่องต่อ ตกตะกอนและตีความออกมาเป็นภาพ เหมือนว่าภาพปกเป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องของเราด้วยอีกที”