ตามไปดู (และฟัง) นักเขียนนั่งล้อมวงเล่าเรื่องวรรณกรรมที่ Bangkok Book Festival 2016

ย้อนกลับไปเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
คนในแวดวงหนังสือคงยังจำความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นงาน Bangkok Book Festival เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ
(รวมถึงในไทยด้วย) การได้พบปะนักเขียนที่ชื่นชอบ กลุ่มคนทำหนังสือตัวเล็กๆ
และเพื่อนฝูงมาเดินงานกันอย่างคึกคัก ทั้งที่งานนั้นไม่ได้มีหนังสือลดราคามาวางขายแบกะดินให้เราแบกกลับบ้านไปเหมือนภาพจำของงานสัปดาห์หนังสือที่คุ้นชิน
ช่วยเติมความชุ่มชื่นใจให้คนจัดงานและคนมาร่วมงานไม่น้อย พอรู้ล่วงหน้าว่า Bangkok
Book Festival จะกลับมาอีกครั้งในปีนี้
แถมมีเนื้อหาพุ่งไปที่งานวรรณกรรมล้วนๆ ความตื่นเต้นก็เผลอกลับมาอีกครั้งโดยไม่ทันตั้งตัว

ไม่ว่างานนี้จะจัดที่ไหน
ภายใต้ความร่วมมือของใครบ้าง ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู

ใครจัด:
หัวเรือใหญ่ของงานยังเป็นทีม Bookmoby จากร้านหนังสืออิสระเล็กๆ
บนชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ไปชักชวนหน่วยงานทางวัฒนธรรมต่างๆ
มาช่วยอำนวยความสะดวกและดึงวิทยากร
นักเขียนชื่อดังจากต่างประเทศมาร่วมงานให้มากที่สุด อย่างสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ, Japan Foundation หรือแม้แต่สถานทูตประเทศเล็กๆ
อย่างสถานทูตเปรู ก็ยังใจดีจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มประจำชาติพร้อมมารับรองคนที่มาเดินงาน

ทำอะไรบ้าง:
เรามีโอกาสพูดคุยกับ รังสิมา
ตันสกุล
Managing Director ถึงธีมงานปีนี้ที่ว่าด้วย
‘Literary Weekend’ ซึ่งเกิดจากการคุยกันของทีมงาน Bookmoby
ว่าทุกคนก็ล้วนโตมากับสายวรรณกรรมทั้งนั้น พอตั้งใจว่าปีนี้จะพูดลงลึกถึงเรื่องตัวบทเนื้อหา
ก็เลยหยิบเอางานเขียนประเภทวรรณกรรมที่ลุ่มลึกซึ่งเป็นของถนัดมานำเสนอก่อน

เพราะฉะนั้นถ้าใครเดินเข้ามาในงานปีนี้
ก็น่าจะเจองาน 3 ส่วนใหญ่ๆ ตามนี้เลย

1. เสวนาเรื่องวรรณกรรมจัดเต็ม 12
รายการ มีทั้งพูดคุยและเปิดตัววรรณกรรมแปลเล่มใหม่จากหลายชาติหลากสำนักพิมพ์
เสวนาในวาระ 400 ปีมรณกาลของกวีเอกชื่อก้อง ผู้ปูทางโลกวรรณกรรมไว้อย่าง วิลเลียม
เชคสเปียร์ (ซึ่งได้ยินมาว่าจะมีการแสดงและอ่านบทละครเรื่อง แมคเบธ สั้นๆ
ประกอบการพูดคุยด้วย) ฟากวรรณกรรมไทย นอกจากจะเปิดตัวนวนิยายเล่มใหม่ ‘กายวิภาคของความเศร้า’ โดยนิวัติ พุทธประสาท แล้ว ยังหยิบงานอมตะของชาติ
กอบจิตติ อย่าง ‘คำพิพากษา’ มาทบทวนใหม่อีกครั้งในบริบทร่วมสมัย
เพราะเนื้อหาของนวนิยายเล่มนี้เหนือกาลเวลาจริงๆ อ้อ! ไปฟังเสวนาหัวข้อไหนอย่าลืมหยิบสมุดบันทึกของแต่ละงานมาเป็นที่ระลึกด้วยนะ

2. นิทรรศการหลักของปีนี้ชื่อว่า
‘Dream Story’ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
คัดเลือกงานกราฟิกโนเวลลายเส้นเป็นเอกลักษณ์และสีสันแสบจ้าของศิลปินเยอรมัน Jakob
Hinrichs (ยาค็อบ ฮินริชส์) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายยุค 30 ชื่อ ‘Traumnovelle’ ของนักเขียนชาวออสเตรีย
อาร์ทัวร์ ซนิทเลอร์ มาจัดแสดงให้เราเดินวนดูอย่างไม่ละสายตากว่า 70 ภาพ เป็นอีกโซนที่น่าจะคึกคักไม่น้อย และถ้าใครอยากพูดคุยกับยาค็อบ
บ่ายวันอาทิตย์ก็มีเสวนาว่าด้วยหัวข้องานกราฟิกโนเวลโดยเฉพาะด้วย

3. อีกพาร์ตที่เพิ่มขึ้นมาเอาใจคนรักทั้งหนังสือและภาพยนตร์คือการฉายหนังที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม
คัดสรรมาให้ชมกันฟรีๆ 3 เรื่องคือ Mood
Indigo
(France, 2013), Osaka Hamlet (Japan, 2008) และ Effi Briest (Germany, 2009) เหมาะสำหรับนั่งพักก่อนออกไปลุยเดินดูงานโซนอื่นๆ
ต่อ

ทำไมต้องทำ (เป็นปีที่ 2):

ในยุคที่เหมือนว่าเราจะมีเวลาอ่านอะไรยาวๆ
หนักๆ ได้น้อยลง ยังมีคนอ่านงานวรรณกรรมกันมากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย รังสิมาในฐานะคนที่คลุกคลีกับวงการหนังสือ
เป็นทั้งคนทำหนังสือและคนขายหนังสือให้ความเห็นว่า “จริงๆ แล้วช่วง 2 – 3 ปีนี้
งานวรรณกรรมแปลในบ้านเรายังมีความเคลื่อนไหวอยู่เยอะ หลายๆ สำนักพิมพ์อย่างสำนักพิมพ์กำมะหยี่ที่แปลงานของฮารูกิ
มูราคามิ มาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังพิมพ์งานของนักเขียนคนอื่นๆ อีก หรือสำนักพิมพ์บทจรก็มีงานเล่มใหม่ของนักเขียนที่ควรค่าแก่การอ่านไว้
เพราะงานเขียนเหล่านี้เป็นสากล ผ่านกาลเวลาและได้รับการยอมรับมาแล้ว
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะไปคุยกับใครก็รู้เรื่อง”

ส่วนฝั่งวรรณกรรมไทย
รังสิมาบอกเราว่า อาจดูซบเซาลงไปบ้างเนื่องจากยังไม่มีงานเปรี้ยงปร้างจากนักเขียนรุ่นเก๋า
ซึ่งก็เข้าใจว่าต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะ แต่ในขณะเดียวกัน
ก็ยังมีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ทยอยผลิตงานน่าสนใจออกมาอย่างสม่ำเสมอ Bangkok Book Festival 2016 เลยเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้นักเขียนเหล่านั้น
รวมถึงสำนักพิมพ์ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักอ่านแบบเห็นหน้าและฟังเสียงซึ่งชัดเจนกว่าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ยังไงก็ไม่ครอบคลุมคนอ่านทุกกลุ่มอยู่ดี

“เราอยากทำเทศกาลนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าตลอด
12 เดือนที่ผ่านมาจะเจออุปสรรคเยอะมาก แต่เราก็ตั้งใจเพราะอยากนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรมที่เรารัก
ให้คนที่รักเหมือนกันได้มาเจอกัน
ถามว่าทำไมประเทศไทยยังต้องมีเทศกาลหนังสืออย่างนี้ เพราะเรายังต้องการอะไรใหม่ๆ
และทำอะไรใหม่ๆ ให้วงการของเราพัฒนาอยู่ บุคลากรในแวดวงวรรณกรรมไทยที่เก่งๆ
มีเยอะมากๆ ที่ควรได้รับการสนับสนุน”

จัดขึ้นที่ไหน:
งานในปีนี้ยังคงจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเช่นเดิม
ซึ่งอาจต้องอาศัยแรงขาในการขึ้นลงไปมาระหว่างชั้นต่างๆ สักหน่อย ด้วยรูปแบบของเทศกาลที่มีกิจกรรมเยอะมาก
ใช้พื้นที่ทั้งลานหน้าห้องสมุดชั้น L จัดแสดงนิทรรศการของยาค็อบ ฮินริชส์ ส่วนเสวนาเวียนกันจัดที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น
1, ร้านหนังสือ Bookmoby
และห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 สำหรับบางเสวนาและการฉายภาพยนตร์
ส่วนที่ชั้น 6 ห้อง Friends of BACC ก็ยังมีกิจกรรมที่ชวนมาพูดคุยเรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือที่น่าสนใจมากให้แวะขึ้นไปฟังด้วย

แนะนำให้ตามไปดู:
Bangkok Book Festival 2016 ส่วนของงานเสวนาจัดกันยาวๆ 3 วัน คือ 15 – 17 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่ 10.00 –
21.00 น. ตารางกิจกรรมแน่นเอี้ยดจนต้องแบ่งเวลากันดีๆ
แนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียดที่แฟนเพจ Bookmoby หรือ www.bookmoby.com กันก่อน ทุกกิจกรรมเข้าร่วมได้ฟรีๆ
แต่ถ้าไปวันเสาร์อาทิตย์ขอให้เตรียมเงินไปเผื่อกันหน่อย เพราะเขาเปิดโซนขายหนังสือที่ถึงจะไม่ลดราคา
แต่เชื่อเถอะว่าแต่ละเล่มที่เขาคัดมานั้นควรค่าแก่การอ่านจริงๆ นี่ยังไม่รวมของที่ระลึกต่างๆ
สุดลิมิเต็ดอย่างเสื้อยืด การ์ดสวยๆ จาก Pianissimo Press และที่เห็นต้องรีบคว้าอย่างกระเป๋าผ้าลาย
The Great Gatsby, Where The Wild Things Are, Pride and Prejudice หรือ 1984 ที่มีขายเฉพาะในงานเท่านั้น!

ใครติดใจบรรยากาศปีที่แล้วที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มไม่ควรพลาด
ส่วนใครเพิ่งรู้จักงานนี้ครั้งแรก เราอยากให้ลองมาสัมผัสประสบการณ์เทศกาลหนังสือที่ไม่เหมือนใครกันนะ 🙂

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง

AUTHOR