ออกกำลังกาย ทอผ้า และคุยกับคนแปลกหน้าในงานศิลปะของ อวิกา สมัครสมาน

Highlights

  • อิม–อวิกา สมัครสมาน คือดีไซเนอร์ นักทอผ้า และศิลปินผู้ใช้งานทอผ้าเล่าเรื่องชุมชนและทำงานกับชุมชนเพื่อพลิกฟื้นคืนมูลค่าให้งานสิ่งทอ
  • หลังจากทำงานกับชุมชนและเปิดเวิร์กช็อปสอนทอผ้าอยู่หลายปี อิมก็อยากใช้ผ้าทอทำงานศิลปะมากขึ้น เธอจึงเริ่มโปรเจกต์ Social Weaving ที่ให้คนสองคนมาทอผ้าไปพร้อมๆ กัน ก่อนต่อยอดมาจัดแสดงในนิทรรศการ Early Years Project 5 (EYP #5) ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • โปรเจกต์นี้ได้แรงบันดาลใจจากการที่อิมเห็นว่าคนในสังคมยังมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ ไม่เท่ากัน นำมาสู่กระบวนการทอผ้าที่ช่วยปรับให้คนพูดคุยหัวข้อเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และสร้างความร่วมมือร่วมใจกันด้วยงานศิลปะ

อวิกา สมัครสมาน

หากงานสองชิ้นตรงหน้าไม่ได้ตั้งอยู่ในหอศิลป์ แต่แอบอิงอยู่กับถนนหนทางหรือสวนสาธารณะในชุมชนสักแห่ง เราคงไม่มีทางสะดุดใจว่ามันคืองานศิลปะ

เพียงแต่วันนี้มันตั้งอยู่ในนิทรรศการ Early Years Project 5 ของหอศิลปกรุงเทพฯ เราถึงมีเวลาพินิจพิจารณาใกล้ๆ และเห็นว่าเครื่องออกกำลังกายชนิดที่พบเจอได้ทั่วไปได้รวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกับกี่ทอผ้าไปเรียบร้อย แถมยังพิเศษกว่ากี่ทั่วไป ด้วยกลไกนั้นจำเป็นต้องใช้คนสองคนในการควบคุมเท่านั้น

ครั้งแรกที่เราและคนฝั่งตรงข้ามลองขยับกลไก หญิงสาวคนหนึ่งยืนยิ้มอยู่ไม่ห่างคอยช่วยบอกวิธีสำหรับคนที่เริ่มต้นไม่ถูก แต่เมื่อหลายมือเริ่มสอดประสานเป็นจังหวะเธอก็ถอยไปยืนสังเกตการณ์ตามเคย

หลังถักทอจนพอใจ หญิงสาวผู้นั้นถึงแนะนำตัวว่าเธอคือศิลปินเจ้าของผลงานนาม อิม–อวิกา สมัครสมาน

อวิกา สมัครสมาน

ก่อนหน้านี้ เรามักได้ยินชื่อของอิมในฐานะดีไซเนอร์ผู้เดินทางขึ้นเหนือลงใต้ ใช้งานทอผ้าเล่าเรื่องชุมชนและทำงานกับชุมชนเพื่อพลิกฟื้นคืนมูลค่าให้งานสิ่งทอ ยามที่ไม่ได้ออกต่างจังหวัด เธอมักจะเปิดเวิร์กช็อปเพื่อนำลวดลายและภูมิปัญญาที่พบเจอระหว่างการเดินทางมาสอนคนเมือง ทั้งยังต่อยอดงานทอที่เชี่ยวชาญเป็นเครื่องมือวิจัยพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกด้วย

ชีวิตของอิมเกี่ยวข้องกับงานทอเสมอ ไม่เว้นแม้แต่วันนี้ที่เธอขยับมาจับงานศิลปะแบบเต็มตัว

อวิกา สมัครสมาน

 

ทอผ้าสัมพันธ์

“หลังเรียนจบ เราทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่สองปีก่อนจะลาออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ทอผ้าเต็มตัว เริ่มทำงานร่วมกับชุมชนและเปิดเวิร์กช็อปต่างๆ ทำไปได้สักพักเราก็เริ่มคิดว่าอยากจะเอาเทคนิคงานทอไปต่อยอดทำงานที่มันมีคอนเซปต์มากขึ้นเพื่อสื่อสารเมสเซจบางอย่าง และเริ่มทำงาน fine art มากกว่างานขาย

“ประมาณ 4 ปีที่แล้วเราเลยเริ่มงานศิลปะมากขึ้น เช่น ไปทำโปรเจกต์วาดภาพบนผนังที่ราชบุรีร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม บ้านนอก หลังๆ ก็ได้ช่วยประสานงานให้ศิลปินที่มาทำงานร่วมกับชุมชน ระหว่างนั้นเราก็เริ่มคิดโปรเจกต์ของตัวเองขึ้นมา”

อวิกา สมัครสมาน

งานทอและชุมชนคือสองสิ่งที่เป็นหัวใจในงานของอิม เมื่อต้องคิดโปรเจกต์ศิลปะเพื่อเข้าร่วม Chiang Mai Design Week 2016 เธอจึงเลือกใช้กี่เอวหรือกี่ทอผ้าของชาวเขาซึ่งตามปกติผูกปลายด้านหนึ่งไว้ที่เอว อีกด้านผูกไว้กับเสาเป็นเครื่องมือ เพียงแต่ว่าคราวนั้น เธอทดลองผูกกี่ทั้งสองด้านไว้ที่เอวของคนสองคนเพื่อทอเส้นใยไปพร้อมๆ กับการถักสัมพันธ์ระหว่างคน

งานครั้งนั้นมีชื่อว่า Social Weaving โปรเจกต์ขนาดยาวที่อิมต่อยอดและพัฒนามาตลอด ถึงขั้นที่บินไปทดลองกับคนไต้หวันตอนไปเป็นศิลปินในพำนักที่ Bamboo Curtain ไทเป

จากกิจกรรมทั้งสองที่ อิมเฝ้าสังเกตและบันทึกปฏิกิริยาของนักทอมือใหม่อย่างละเอียดลออ

“เดิมทีกี่เอวเป็นกี่ที่ยึดระหว่างตัวเรากับเสาหรือวัตถุเพื่อขึงด้ายเส้นยืน เราก็เปลี่ยนมาเป็นการยึดระหว่างร่างกายของคนสองคน เชื่อมคนเข้าด้วยกันด้วยเส้นยืนและโครงสร้างของผ้าและให้เขาทอผ้าไปพร้อมๆ กัน โดยเราสอนแค่พื้นฐานอย่างเดียว แต่เขาต้องหาวิธีการที่เวิร์กระหว่างกันเอาเอง ต้องรู้จักรักษาระยะตึง หย่อนให้พอดี รวมถึงรักษาจังหวะของการทอ เช่น เวลาที่คนฝั่งหนึ่งทออยู่ อีกคนอาจจะต้องหยุดเพื่อให้อีกคนทอได้สะดวก พอฝั่งหนึ่งทอเสร็จ ฝั่งที่สองก็ค่อยทอบ้าง

“จากการสังเกต บางคนที่ปฏิสัมพันธ์กันดีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน พอทำงานด้วยกันจริงๆ ตีกันก็มี แต่ว่าบางคนเป็นเด็กน้อย แม่เขาเล่าให้เราฟังว่าปกติทะเลาะกันทุกวันเลย แต่พอทอผ้ากลับทำงานด้วยกันได้ บางทีช่วงแรกติดขัด ช่วงหลังๆ ก็ทอได้ง่ายขึ้น ได้คุยกันมากขึ้น แฟนกันกะหนุงกะหนิงก็มีเหมือนกัน”

 

ถักทอสังคม

นอกจากกิจกรรมจะสนุกจนเราอยากลุกขึ้นมาลองเอากี่ผูกเอวระหว่างตัวเองและเพื่อนข้างๆ  คำว่า ‘Social’ หรือ ‘สังคม’ ในชื่อโปรเจกต์ยังชวนให้ตั้งคำถามว่าหรืองานศิลปะของอิมจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ใหญ่กว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนกันแน่

ศิลปินสาวยิ้มและเฉลยว่า “ใช่” อย่างรวดเร็ว

อวิกา สมัครสมาน

“เราสนใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ในสังคมหรือความไม่เข้าใจกันในสังคมมานานแล้ว ซึ่งสังคมก็คือคนกับคน ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องการทอผ้า เวลาเราเปิดเวิร์กช็อปเราก็เห็นว่าคนเริ่มต้นทอด้วยพื้นฐานทักษะที่ไม่เท่ากัน หรือมีความรู้ไม่เท่ากัน เช่น บางคนอาจจะมีความรู้เรื่อง fast fashion ตระหนักว่าการบริโภคสินค้าแฟชั่นกลุ่มนี้เยอะๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพสินค้าหรือคุณภาพชีวิตแรงงาน ในขณะที่บางคนไม่รู้ระบบของอุตสาหกรรมนี้มาก่อน แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่คนรู้ไม่เท่ากันแล้ว ซึ่งไม่มีใครผิด เขาแค่ยังไม่รู้ 

“เรามาคิดต่อว่าความเข้าใจที่ไม่เท่ากันมันสัมพันธ์กับทุกประเด็นในโลกใบนี้เลย เราจึงรู้สึกแค่ว่า ถ้าคนค่อยๆ มีความรู้เท่ากัน โลกมันอาจจะเปลี่ยน และเปลี่ยนแบบมั่นคงเพราะเขามีความรู้ว่าทำไมโลกต้องเปลี่ยน ไม่ได้ทำเพราะมีคนมาสั่งเฉยๆ” อิมค่อยๆ อธิบายให้เราฟังอย่างตั้งใจและขยายความว่าเมื่ออยากแก้ปมปัญหานี้ให้คลี่คลาย เธอจึงใช้เครื่องมือที่ถนัดที่สุดอย่างสิ่งทอ

“เราใช้โปรเจกต์ Social Weaving จำลองสถานการณ์ภาคบังคับที่ทำให้คนในสังคมต้องทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานเดียวกันคือการทอผ้า มีมาตรฐานเดียวกัน เป้าหมายเดียวกันคือการทอให้ออกมาเป็นผืน มันอาจจะไม่ใช่การพูดเรื่องนี้ตรงๆ แต่เมื่อเขาทำงานด้วยมาตรฐานคนละแบบ ผ้ามันจะออกมาเบี้ยวๆ หรือหย่อน เขาจึงต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารและรับฟังกัน บางคนก็สลับกันทำแต่บางคนที่สื่อสารกันคล่องแล้วเขาก็ทอไปพร้อมๆ กันได้”

 

สิ่งแวดล้อมคือผู้คน

ไม่นานหลังกลับจากไต้หวัน อิมก็ได้ข่าวการเปิดรับสมัครศิลปินในโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ ที่มีโจทย์คือ ‘สุนทรียศาสตร์ กระแสสมัย และสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้’ เธอจึงไม่รอช้าส่งโครงการเข้าประกวดทันที

ตอนแรก ศิลปินนักทอผ้าสนใจจะสร้างโต๊ะกินข้าวตัวยาว ชวนผู้คนจากหลากหลายแวดวงมาเป็นแขกร่วมมื้ออาหาร และคุยกันแบบเอร็ดอร่อยเพื่อจูนความเข้าใจที่อาจไม่เท่ากัน พร้อมๆ กับที่ถักทอผ้าไปด้วย (ฟังดูเข้าใจยากใช่ไหม อิมแอบบอกว่าเธอเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน) ทำไปทำมา คำแนะนำจากกรรมการก็ทำให้เธอกลับมาทบทวนตัวเองและหยิบงาน Social Weaving มาทำต่ออีกครั้ง

สิ่งแวดล้อมกับการทอผ้าสัมพันธ์กันยังไง ยังไม่นับเครื่องออกกำลังกายที่โผล่เข้ามาอีก

อิมหัวเราะแล้วตอบคำถามรัวๆ ของเราด้วยความใจเย็น

อวิกา สมัครสมาน

“ตอนที่ได้โจทย์ สิ่งแรกที่ทำคือเรารีเสิร์ชเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อค้นหาว่าเราอยากจะทำงานในประเด็นอะไร แต่ปรากฏว่าระหว่างรีเสิร์ชเราก็พบว่าบางเรื่องเป็นข้อมูลที่เราไม่รู้มาก่อนเลย ถึงรู้ก็รู้ไม่ลึก บางครั้งก็ถึงขั้นพบว่า เฮ้ย ไอ้เรื่องเก่าที่เราเคยรู้มันไม่จริงนี่หว่า หรือจริงแค่ส่วนเดียว และต้องมีคนเป็นแบบเราเยอะแน่เลย คิดได้อย่างนี้ประเด็นมันเลยโยงไปหาไอเดียเดิมเรื่องพื้นฐานความรู้ของคนที่ไม่เท่ากัน สำหรับเรา ผู้คนเหล่านี้แหละคือคำว่าสิ่งแวดล้อม ประเด็นมันจึงโยงเข้ากับงาน Social Weaving ของเราพอดี”

ที่ผ่านมา ฟังก์ชั่นหลักของศิลปะ Social Weaving คือการเล่าเรื่องและปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ EYP #5 และมีโอกาสได้แสดงงานในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น สื่อสารกับคนได้มากขึ้น อิมจึงท้าทายตัวเองด้วยการสำรวจถึงที่มาของความไม่เข้าใจ

และแม้ว่าเราจะเห็นเครื่องออกกำลังกายสาธารณะอยู่ทุกวัน เราก็นึกไม่ถึงว่ามันจะสามารถเป็นเครื่องมือสำรวจและถ่ายทอดความไม่เท่ากันได้

“เราทำงานทอก็เลยมองอะไรเชื่อมโยงกับงานทอไปหมด” อิมเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ “เริ่มแรกเลยเราสนใจแอ็กติ้งที่เกิดขึ้นเวลาคนออกกำลังกายด้วยเครื่องเหล่านี้ เรารู้สึกว่ามันคล้ายกับแอ็กชั่นของการทอผ้า เช่น จังหวะยกเครื่องก็เหมือนเวลาเรายกตะกรอ จังหวะการตบเครื่องมันคือการตบฟันหวีนี่หว่า หลังจากนั้นเราจึงพยายามค้นหาความหมายของเครื่องออกกำลังกาย ดูว่ามันสามารถเล่าเรื่องความไม่เข้าใจหรือมาตรฐานที่ไม่เท่ากันที่เราสนใจได้ไหม

“เราลงพื้นที่ไปสำรวจเครื่องออกกำลังกาย ถึงได้เห็นว่าแม้ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกายพื้นฐานแต่เวลามันไปตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างกันก็ถูกใช้งานต่างกัน บางชุมชนใช้งานอย่างจริงจังในแง่ที่ว่ามีคนมาออกกำลังกายทุกเย็น หรือเป็นพื้นที่เมาท์มอยของสมาคมแม่บ้าน มีโซนแอโรบิก เตะบอล และพื้นที่ให้เด็กๆ ในขณะเดียวกันบางชุมชนก็ถูกจอดแช่ไว้อย่างนั้นไม่มีคนมาเล่น การดูแลแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่คนเล่นเสร็จเขาก็เอาผ้าใบมาคลุม ถ้าเสียก็มีคนซ่อมทำให้รู้ว่าคนในชุมชนเขามีความเหนียวแน่นกันขนาดไหน”

หลังจากตระเวนสำรวจเครื่องออกกำลังกายในกว่า 20 ชุมชน บางชุมชนก็ต้องแวะวนไปหลายๆ ครั้ง อิมถึงได้คำตอบกับตัวเองว่าเครื่องออกกำลังกายนั้นเหมาะสมที่จะอยู่ในงานศิลปะโปรเจกต์นี้ ด้วยเครื่องออกกำลังกายนั้นแสดงให้เห็นตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องเล่นที่ต่างกันไปจนถึงวิถีชีวิตรอบๆ ที่เกิดจากการศึกษาที่ไม่เท่ากัน หรือฐานะที่ไม่เท่ากัน

“เราเห็นว่าในบางชุมชนมีเด็ก 5 คนเล่นเครื่องเล่นเดียวกัน พ่อแม่ก็ปล่อย ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองหน่อยพ่อแม่ก็จะมีการตักเตือนให้เล่นเครื่องเล่นให้เหมาะสม ถูกวิธี ไม่เสี่ยงอันตราย หรือบางชุมชนไม่ได้ใช้เครื่องเล่นเลยเพราะคนในชุมชนต้องออกไปทำงานโรงงานหรือในบริษัทที่ไกลบ้าน เวลากลับมาเขาก็ไม่มีเวลามาออกกำลังกายแล้ว เห็นมาตรฐานที่ต่างกันไหม หรือบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องของความรู้ความเข้าใจที่ไม่เท่ากันด้วยซ้ำแต่เป็นเรื่องวิธีการจัดการที่ต่างกัน

“ถ้าเรามองสิ่งแวดล้อมผ่านวัตถุ ในที่นี่คือเครื่องออกกำลังกาย เราจะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันมันทำให้เขามีฐานความรู้หรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน และกลับกันถ้าเราจูนฐานความรู้บางอย่างให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมันอาจจะส่งผลย้อนกลับไปที่สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ก็ได้”

อวิกา สมัครสมาน

อวิกา สมัครสมาน

 

ความเข้าใจในพื้นที่จริง

ตลอดระยะเวลาที่คุยกัน อิมมักถามด้วยความใส่ใจว่าเราเข้าใจคอนเซปต์ของเธอหรือเปล่า เพราะหากไม่มีใครเข้าใจคอนเซปต์ของเธอ ความเข้าใจในสังคมคงเกิดขึ้นตามมาไม่ได้ ดังนั้นก่อนจะเปิดนิทรรศการ EYP #5 เธอจึงเอาชิ้นงานศิลปะไปลองตั้งในชุมชนต่างๆ เพื่อทดลองกระบวนการด้วย

ที่สนุกคือเครื่องเล่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างบทสนทนาเรื่องกระบวนการทอผ้าให้สวย แต่พวกเขายังได้ร่วมมือกันเรื่องอื่นๆ อย่างเมื่อเครื่องขัดข้อง พระกับเด็กๆ ในชุมชนก็ช่วยกันซ่อมอย่างแข็งขัน ขณะที่บางครั้งมันก็กระตุ้นความทรงจำที่นำบทสนทนาไปสู่เรื่องอื่นๆ

“เวลาเครื่องนี้อยู่ในพื้นที่อย่างหอศิลป์มันจะถูกตีความแบบหนึ่งเพราะคนรู้ว่ามันคืองานศิลปะ แต่ถ้ามันไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนมันอาจจะไม่ใช่งานศิลปะแล้ว แต่คนอาจมองว่าเป็นเครื่องออกกำลังกายหรือเป็นแค่เครื่องทอผ้า หรือมันสร้างกระบวนการให้คนได้นึกถึงอะไรบางอย่าง เช่น พระที่มาช่วยซ่อมเครื่องก็เล่าว่าตอนเด็กๆ เขาก็เคยทอผ้า แต่เขาต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้ไม่ได้ทอผ้าอีกเลย วันนั้นเขาก็สอนคนอื่นทอด้วย การลงชุมชนทำให้เราได้เรื่องเล่าแบบนี้จากคนที่เราก็รู้ว่าเขาจะไม่ได้ไปหอศิลป์แน่นอน ได้ดูว่ามันเห็นผลจริงๆ หรือเปล่ากับคนในพื้นที่ชุมชนจริงๆ

“ส่วนในหอศิลป์ ระหว่างที่คนมาทอ ผ้าจะถูกม้วนเก็บไปเรื่อยๆ และเราจะคลี่ก่อนนิทรรศการจบ เพื่อให้ได้เห็นผลลัพธ์หรือบทสรุปของการที่คนในสังคมมาทำงานร่วมกัน หรือเห็นโครงสร้างและการส่งต่อบางอย่างในสังคม เช่นการที่เขาต่อยอดไหมสีต่างๆ หรือแพตเทิร์นที่คนก่อนหน้าเคยทำเอาไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันระหว่างกี่ทอสองเครื่อง

“สุดท้ายแล้ว ตอนจบมันอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่สวยงามก็ได้ แต่เราอยากให้งานแสดงการทำงานและส่งต่อทางสังคมของเครื่องที่ต่างกันมากกว่า”

อวิกา สมัครสมาน

อวิกา สมัครสมาน

หลังคุยกับอิม เรามีโอกาสได้ไปหอศิลป์เพื่อดูกี่ทอของเธออีกครั้ง กลุ่มไหมพรมหลากสีที่อยู่ตรงหน้าทำให้เรานึกถึงการเดินทางของโปรเจกต์ Social Weaving ที่อิมเล่าให้ฟัง โปรเจกต์ที่เริ่มต้นด้วยการขึ้นเส้นยืนที่แข็งแรงโดยศิลปิน ถักทอด้วยเส้นด้ายสารพันประเภทจากคนที่มาร่วมงาน และที่สำคัญคือยังเหลือพื้นที่ให้คนเข้ามาถักทอด้วยกันระหว่างที่อิมพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป

แต่ระหว่างนี้ที่นิทรรศการ EYP #5 ยังเปิดให้เข้าชม ลองไปทอผ้ากับคนแปลกหน้าและสร้างบทสนทนากันได้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้ความเข้าใจใหม่ๆ มากกว่าแค่ทักษะการทอ


นิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ขอบคุณภาพจาก อวิกา สมัครสมาน และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!