เช้าวันที่ 28 มีนาคม เราตื่นมาพร้อมข่าวที่บอกว่า ฝุ่นควันเชียงใหม่พุ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก
ย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้า เราเพิ่งได้ดูงานศิลปะว่าด้วยสถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่ของ ฟ้า–รัตนกานต์ กาญจนพันธุ์บุญ พอดิบพอดี ในงานเธอหยิบจับเอาผ้าดิบมาย้อมด้วยซากซังข้าวโพดจนกลายเป็นผืนผ้าสีควันมอซอ ก่อนแขวนลงมาจากเพดานให้เราเข้าไปเดินลัดเลาะจนเจอกับก้อนซังข้าวโพดสูงท่วมหัว ส่งกลิ่นควันฉุนกึกแสบจมูกทะลุหน้ากาก N95
‘เรื่องเล่า 796 กิโลเมตร: บทสนทนาระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพ’ คือชื่อของงานชิ้นนี้
หลังเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้นปี 2561 ฟ้า ศิลปินชาวเชียงใหม่ ย้ายถิ่นฐานมาทำงานประจำที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ปกคลุมด้วยฝุ่นควัน PM2.5 ไม่ต่างจากเชียงใหม่ซึ่งมีปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนมาตลอดทุกปีในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่ต่างกันคือความสนใจของผู้คน
ในขณะที่ฝุ่นควันในกรุงเทพฯ กลายเป็นวาระใหญ่ที่สื่อทุกหัวแข่งกันรายงาน สถานการณ์ฝุ่นควันในเชียงใหม่กลับเงียบงัน และแม้กระทั่งต้นปีที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ไต่ขึ้นๆ ลงๆ ชาร์ต 10 อันดับเมืองที่อากาศแย่ที่สุดในโลกแทบทุกวัน เกิดไฟป่าที่ใช้เวลาดับเป็นเดือน และมีหลายชีวิตที่สูญเสียไป แต่เสียงที่พูดถึงเรื่องนี้กลับเบาจนน่าตกใจ
นั่นเองคือเหตุผลว่าทำไมฟ้าจึงขึ้นเหนือไปหอบเอากลิ่นควันของบ้านเกิดมาเล่าในนิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ เผื่อว่ากลิ่นควันและเรื่องราวของชาวเชียงใหม่จะเข้ามาอยู่ในบทสนทนาของคนเมืองมากขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามว่าชีวิตประจำวันในเมืองส่งผลต่อกลุ่มควันบนยอดดอยแค่ไหน
แน่ล่ะ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่เกินกว่าที่คนคนเดียว (หรือแม้แต่หลายคนรวมกลุ่มกัน) จะแก้ไขได้ แต่ความตั้งใจของฟ้าคือ อย่างน้อยบทสนทนาระหว่างสองเมืองที่เผชิญเรื่องคล้ายๆ กันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจและร่วมกันหาทางออกได้
เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ คุยกันว่ายังไง เข้ามาสูดกลิ่นควันใกล้ๆ แล้วอาจจะได้ยิน
เชียงใหม่
หากว่ากันด้วยผลงาน ‘เรื่องเล่า 796 กิโลเมตร: บทสนทนาระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพ’ เพียงอย่างเดียว งานชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อฟ้าสมัครเข้าเป็นศิลปินในโครงการ Early Years Project 5 หรือ EYP 5 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทย์คือ ‘สุนทรียศาสตร์ กระแสสมัย และสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้’
แต่หากว่ากันด้วยไอเดียของงาน ฟ้าบอกว่าเราอาจต้องย้อนไปถึงช่วงชีวิตของเธอในมหาวิทยาลัยเชิงดอยสุเทพ สถานที่เกิดไฟป่าในปีนี้
“เรารู้จักฝุ่น PM2.5 ครั้งแรกตอนอยู่ปี 2 ตอนนั้นเราก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จนได้ไปเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมของคณะวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งอาจารย์เปิดคลิปวิดีโอเกี่ยวกับไร่ข้าวโพด เราถึงรู้ว่าปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่หลักๆ มาจากการเผาซังข้าวโพด เพราะก่อนหน้านี้ถ้ามีควันออกมาจากภูเขาเราก็จะได้ยินคนพูดกันว่าชาวบ้านเผาป่าเพื่อเอาเห็ดถอบ แต่พอได้ดูวิดีโอเราถึงรู้ว่ามันเป็นเรื่องของซังข้าวโพดและทุนนิยม
“ถึงจะมีหมอกควันทุกปีเราก็ยังใช้ชีวิตปกติ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียน ถ้ามีฝุ่นก็รีบๆ ขี่ จนกระทั่งย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ในปี 2561 ช่วงนั้นความกดอากาศในกรุงเทพฯ ต่ำทำให้ลมไม่พัดฝุ่น PM2.5 ไปทางอื่น กลายเป็นปัญหาฝุ่นควัน สังคมก็ดูตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ เราก็เลยแบบ อ้าว! ที่บ้านฉันก็มีมาตั้งนานแล้วไม่เห็นจะมีใครออกข่าวเลย”
กรุงเทพฯ
หลังจากผ่านฤดูฝุ่นควันของกรุงเทพฯ ได้ 2 ปี เมื่อใกล้เข้าฤดูที่ 3 ฟ้าตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ EYP 5 ที่มีโจทย์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับความสนใจเรื่องฝุ่นควัน เมือง และทุนนิยมของเธออย่างพอเหมาะพอเจาะ
“เราอยากพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะสนใจในแง่ที่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของผู้คนด้วย” ฟ้าเล่า
“ที่ผ่านมาเราทำงานที่พูดถึงตัวเองเป็นหลัก เอาตัวเองไปทดลองอยู่ในที่ใหม่ๆ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ กับงานนี้ก็คล้ายกันเพราะเราย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ มันก็มีพื้นฐานจากประสบการณ์ของเราอยู่ดี แต่เรารู้สึกว่ามันทำให้ได้รู้จักเรื่องของคนอื่นๆ ด้วย ทำให้เราไม่เห็นแค่ตัวเองคนเดียว”
ในตอนแรกฟ้ากะจะใช้ซังข้าวโพดสดมาเรียงตามทางเดินในห้องนิทรรศการและใช้เครื่องทำควัน “สร้างบรรยากาศขมุกขมัว ความพร่ามัว ทัศนวิสัยพร่าเลือน แต่เครื่องทำควันมันคงทื่อมาก กรรมการเลยลองแนะนำให้เราเปลี่ยน เอาจริงๆ คือตอนนั้นยังไม่ได้ลงพื้นที่ นึกอะไรได้ก็ใส่ไปก่อน” เธอเล่ากลั้วหัวเราะก่อนเสริมว่า “แต่กรรมการก็ดูโอเคกับการที่เราจะไปลงพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด”
ไม่นานหลังจากพรีเซนต์ไอเดีย ฟ้าก็ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินในโครงการ EYP 5 และเก็บกระเป๋าขึ้นเหนือไปดูหน้าตาปัญหาหมอกควันของเชียงใหม่บนยอดดอย
เชียงใหม่
ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นปัญหาสําคัญ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ สุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก
ความรุนแรงของปัญหาปรากฏชัดเจนในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งมีการใช้สารเคมีและปุ๋ยอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นมาโดยลําดับ ปัญหาสําคัญของการปลูกข้าวโพดก็คือการเผาเศษตอซังข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาวิกฤตหมอกควันในจังหวัดทางภาคเหนือทุกปี
ข้อความด้านบนคือเนื้อหาบางส่วนจากบทความ การเผาซังข้าวโพด : ปัญหาหมอกควัน โดยเรไร ลําเจียก วิทยากรชำนาญการกลุ่มงานวิจัยและข้อมูล สํานักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่พูดถึงความสอดคล้องของพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือและการเผาซังข้าวโพดจำนวนมาก สอดคล้องกับปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือและเชียงใหม่ที่เป็นปัญหาหนักขึ้นทุกปี
ถามว่าทำไมต้องเป็นข้าวโพด บทความนี้อธิบายว่าเป็นเพราะเมื่อเทียบกับพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ อย่างข้าว อ้อย หรือมันสำปะหลัง ข้าวโพดคือพืชเชิงเดี่ยวที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุด แถมในช่วงปี 2552-2554 รัฐมีมาตรการรับจำนำและประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ก็เติบโตจึงทำให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น
เมื่อมีข้าวโพดจำนวนมาก บนดอยภาคเหนือจึงมีเศษ ‘ซังข้าวโพด’ จำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งในบทความและเกษตรกรที่ฟ้าไปพูดคุยด้วยพูดตรงกันว่าวิธีการกำจัดที่ง่ายที่สุดคือ ‘การเผา’
“จากที่เราลงพื้นที่ วิธีกำจัดซังข้าวโพดที่ง่ายที่สุดคือการเผา เราอาจจะเห็นงานวิจัยว่าซังข้าวโพดสามารถนำไปผลิตอย่างอื่นได้ เช่น นำไปแปรรูปเป็นอาหารวัว หรือเอาไปเผาทำถ่านหรือเชื้อเพลิงชีวมวล แต่นั่นหมายถึงชาวบ้านต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มอีก ซึ่งหลายคนก็ไม่มีทุนตรงนั้น”
จากกรุงเทพฯ บินไปเชียงใหม่ และจากตัวเมืองเชียงใหม่ต่อรถไปอีก 3 ชั่วโมงเพื่อขึ้นไปยังอำเภอแม่แจ่ม ที่นั่นเธอไปพบกับลุงอุทิศ สมบัติ เพื่อนเก่าแก่ของแม่และแกนนำชาวบ้านที่ชวนให้คนในอำเภอฯ หันมาทำวนเกษตรแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ตัวการหลักของปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ
“พอได้ไปคุยกับคนที่ทำเกษตรกรรมเราก็เข้าใจเขามากขึ้น มันเป็นเรื่องของคนที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวปัญหา ซึ่งเขาก็รู้แต่จะให้ทำยังไง ย้อนกลับไปตอนที่ข้าวโพดเข้ามาในชุมชนตั้งแต่แรกก็มาในรูปแบบธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ก็คือองค์กรรัฐนั่นแหละ
“เวลามีเรื่องข้าวโพดแล้วมาโทษชาวบ้าน ลุงอุทิศก็จะเป็นคนออกรับตลอด เข้าไปคุยกับองค์กรรัฐที่รับผิดชอบเลยว่าการที่ชาวบ้านยังปลูกข้าวโพดอยู่เพราะมีนายทุนมารับซื้อ ไม่ว่าข้าวโพดจะราคากี่บาทยังไงชาวบ้านก็ขายได้หมด ถ้าจะให้เขาเปลี่ยน ไม่ปลูกพืชชนิดนี้ คุณก็บอกมาเลยว่าจะให้ชาวบ้านปลูกอะไร ตัวลุงเองก็รอคำตอบอยู่จากคนที่มีอำนาจ มีงบประมาณ ว่าจะแก้ไขยังไง
“พอขึ้นไปข้างบนเราก็เห็นว่าชาวบ้านมีการจัดการ เช่น เขาอาจจะไม่มีทุนขนย้ายซังข้าวโพดลงจากดอยจึงต้องเผา ซึ่งเขาจะทยอยเผา ไม่เผาพร้อมกัน แต่ซังข้าวโพดมีจำนวนมหาศาลมากเพราะเขาปลูกกันเป็นแสนไร่ ในกลุ่มของลุงเองเสนอว่าปลูกไผ่ดีไหม เพราะไผ่เป็นไม้มีค่า เอามาทำงานคราฟต์ได้ ซึ่งคงดีถ้ารัฐสนับสนุน แต่เราคิดว่าก็ยังเป็นไปได้ยากเพราะคนที่มารับซื้อข้าวโพดก็เป็นบริษัททางการเกษตรที่ใหญ่มาก ซึ่งรัฐให้การสนับสนุน”
นี่เองที่ฟ้าบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าปัญหาหมอกควันคือเรื่องของระบบทุนนิยม เป็นจุดที่ทำให้เธอตั้งคำถามกับชีวิต และรู้สึกผิดเพราะยังเข้าร้านสะดวกซื้อทุกวัน
กรุงเทพฯ
“เราอยู่ในเมือง ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันซึ่งมีต้นตอจากการเผา ดังนั้นบางคนที่อยู่ในเมืองก็เลยรู้สึกว่าคนบนภูเขาคือปัญหา แต่พอไปเห็นพื้นที่ก็ได้เห็นว่าเขาทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว และผลผลิตอย่างข้าวโพดก็นำไปผ่านกระบวนการ กลายเป็นอาหารที่ส่งมาให้คนข้างล่างกินเหมือนกัน”
ศิลปินชาวเชียงใหม่อธิบายเพิ่มว่าข้าวโพดที่ปลูกส่วนมากนำไปเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งกลายเป็นอาหารของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนบนดอย ไม่นับความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทการเกษตร บริษัทอาหาร และบริษัทเจ้าของร้านสะดวกซื้อ ที่เชื่อมโยงผูกขาดจนยากที่จะเลี่ยง
คำถามของฟ้าคือ ถ้าเรายังอยู่ในวงจรนี้ถือว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่
“เราตั้งคำถามตั้งแต่ตอนที่เห็นคลิปเรื่องการเผาซังข้าวโพดในวิชาสิ่งแวดล้อม แต่เราเองรู้สึกว่าไม่สามารถออกจากระบบผูกขาดนี้ได้เพราะตื่นมาก็ต้องรีบไปเรียน แหล่งของกินที่ใกล้ที่สุดก็เป็นร้านสะดวกซื้อ ทุกวันนี้เราย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว และพยายามซื้อข้าวจากร้านอาหารอื่นๆ แต่ก็ยังต้องเข้าร้านสะดวกซื้ออยู่บ้าง ดังนั้นแม้เราจะทำงานที่พูดถึงประเด็นฝุ่นควันและการผูกขาด บางทีเราก็รู้สึกประดักประเดิดเพราะตัวเรายังเลี่ยงไม่เข้าร้านสะดวกซื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้“
เชียงใหม่-กรุงเทพฯ
จากที่จะใช้ซังข้าวโพดสดมาทำงานศิลปะ เมื่อขึ้นไปยังแม่แจ่มและเจอกับกองเถ้าถ่านซากซังข้าวโพดสูงท่วมหัว ส่งกลิ่นควันตลบอบอวลชวนแสบตาแสบจมูก เศษซากข้าวโพดเหล่านี้จึงกลายมาเป็นวัตถุดิบหลักที่ฟ้าหอบลงมาบด มาย้อมผ้าสีควันที่เราเห็นในนิทรรศการ และเอาเศษซังข้าวโพดจำนวนมหาศาลมาอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมตั้งตระหง่าน ส่งกลิ่นควันชัดเจน ต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่ากลิ่นจะจางไปในเร็วๆ นี้
“เราอยากให้คนที่มาดูงานได้เดินสำรวจ ได้กลิ่น ได้มองเห็นแบบพร่ามัว สร้างบรรยากาศเหมือนเวลาเราเผชิญกับฝุ่นควัน ให้เขาได้มาจับ มาดม ตั้งคำถามกับมัน เช่น วัสดุที่เราใช้เป็นผ้าสาลู ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า อยากตั้งคำถามถึงคนในพื้นที่ที่เขาได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน แต่หน้ากากก็เข้าไม่ถึงทุกคน
“ตอนแรกไม่ได้จะจัดวางงานแบบนี้เพราะจากที่ไปลงพื้นที่เราเห็นว่าการเผาของชาวบ้านจะขยายออกเป็นแนวราบเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน จึงคิดจะวางผ้าเป็นแนวนอน แต่พอมาคิดอีกที งานของเราอยากสร้างบทสนทนาระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อคิดถึงกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าเมืองนี้ให้ความรู้สึกแนวดิ่งเหมือนอาคารและตึกสูงต่างๆ พอเปลี่ยนวิธีการวางผ้า ความหมายมันก็เปลี่ยนไปด้วย”
เพื่อประกอบสร้างเรื่องเล่าให้สมบูรณ์ นอกจากสีของฝุ่นและกลิ่นของควัน เธอยังนำเสียงของลุงอุทิศ แกนนำชาวบ้านที่แม่แจ่มมาเล่า คัดง้างกับเสียงในเมืองที่พูดว่าชาวบ้านคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด
“เรื่องเล่าที่เราได้ยินมาตั้งแต่ต้นเขาโทษชาวบ้าน เราแค่อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขาแค่กลุ่มเดียว เราจึงขอให้ลุงเล่าสถานการณ์ที่แม่แจ่มให้ฟัง แล้วก็เอามาตัดเหลือ 35 นาที ตอนเขาเล่าเรื่องสมัยเด็กเสียงเขามีความสุข พอเล่าถึงช่วงปัจจุบันอารมณ์เขาเปลี่ยน เสียงก็จะดังขึ้น ดังนั้นถ้าคนมาฟังตอนแรกๆ บางทีจะไม่ได้ยินเสียงจนกระทั่งเดินเข้าไปถึงด้านใน”
บทสนทนาของเราใกล้จบลงตรงนี้ ปล่อยให้เรื่องเล่าดังๆ เบาๆ ของลุงอุทิศทำงานกับเราต่อ
แม้จะมีห้วงที่ฟังไม่ออกบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่งานของฟ้าบอกคือ แม้ไม่มีเสียงแต่ปัญหาของพวกเขาก็ยังคงอยู่ ขอเพียงแค่เงี่ยหูก็จะได้ยิน
และไม่แน่ สิ่งที่ได้ยินนั้นอาจทำให้ระยะทาง 796 กิโลเมตร ระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ สั้นลง
นิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
ขอบคุณภาพ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และรัตนกานต์ กาญจนพันธุ์บุญ