หากพูดถึง ‘เบตง’ สิ่งแรกที่คุณจะนึกถึงคืออะไร
ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย จุดสตาร์ตออกวิ่งของพี่ตูน Bodyslam และอาหารขึ้นชื่ออย่างไก่เบตง คือแทบทั้งหมดที่เราพอจะนึกออกก่อนได้เดินทางมาร่วมงาน ATM Spray x Batong Street Art งานกิจกรรมที่รวมศิลปินหลากแขนง ทั้งศิลปินกราฟฟิตีสายคาแร็กเตอร์ ฟอนต์ และ calligraphy ศิลปินสตรีทอาร์ต และศิลปินด้านไฟน์อาร์ตกว่า 40 คน มาร่วมกันพ่นสเปรย์ วาดรูปและเพนต์งานศิลปะที่ตั้งต้นไอเดียมาจากเรื่องราวของเมืองเบตงร่วม 30 กำแพงใจกลางเมือง
“เมื่อสามเดือนก่อนหน้านี้ โกเอ็กซ์–เอกสิทธิ ธารีลาภรักษา ซึ่งเป็นคนเบตงแท้ๆ เป็นคนติดต่อชวนเราและเพื่อนมาทำสตรีทอาร์ตในเมืองเบตง โดยเขาเอาเงินที่ได้จากการขายปลา ขายทุเรียน ลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อสี เช่าโรงแรมให้เราอยู่ หาข้าวหาปลาให้เรากินเอง พอเสร็จงานได้คุยกันเขาก็บอกเราว่าจริงๆ แล้วเขาอยากให้มีภาพแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งเมืองเบตงเลย
“เราเองพอได้มาสัมผัส ได้รู้จักกับผู้คน ได้มาเห็นบ้านเมืองที่นี่ก็อยากให้เกิดขึ้นอีกเหมือนกัน เลยกลับไปคุยกับทาง ATM Spray ลองชวนเพื่อนศิลปินคนอื่นๆ ดูว่าสนใจจะลงมาทำด้วยกันไหม” ป๊อก–ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินไทยที่เคยสร้างชื่อจากโปรเจกต์ ‘The Positivity Scrolls ม้วนกระดาษของความหวัง’ ที่บันทึกภาพวาดของคนไร้บ้านทั่วนิวยอร์กลงบนม้วนกระดาษ จนได้แสดงงานที่ New Museum นิวยอร์ก เป็นคนเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ให้ฟัง โดยมี เม้ง–พิชัย เพิ่มทรัพย์หิรัญ จาก ATM Spray ช่วยเสริม
“เพราะบริษัทของเราเกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่าอยากจะยกระดับวงการศิลปะในไทยอยู่แล้วด้วย เราอยากให้คนยอมรับงานด้านกราฟฟิตี และสตรีทอาร์ตมากขึ้น พอป๊อกมาบอกว่าที่เบตงเขาอยากให้มีงานสตรีทอาร์ตแบบนี้ เราเลยสนใจและยินดีสนับสนุนทำให้โปรเจกต์นี้ได้เกิดขึ้นจริงเหมือนกัน เลยสรุปธีมหลัก หรือโจทย์ที่จะแจกให้ศิลปินออกไอเดียกัน เป็นเรื่องราวในชุมชน ซึ่งถ่ายทอดมาจากคนในท้องถิ่น เพราะเรามองว่าเรื่องราวเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงคนในสังคมได้อีก เด็กในอำเภออาจไม่รู้เรื่องราวนี้ก็จริง แต่ผู้ใหญ่ในพื้นที่จะสามารถเล่าเรื่องราวให้เด็กเหล่านั้น หรือเล่าให้นักท่องเที่ยวฟังได้ ทำให้คนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น”
ป๊อกยิ้มรับ แล้วบอกต่อว่า “สตรีทอาร์ตมันเชื่อมชุมชนอยู่แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ได้ดูแปลกแยกแถมยังช่วยสนับสนุน ช่วยดึงคนให้เข้ามาในชุมชนได้มากขึ้น เราก็หวังว่าถ้าคนเห็นสิ่งเหล่านี้จะทำให้มีคนมาเบตงกันเยอะขึ้น รวมทั้งอยากให้ 30 กำแพงในงานนี้เป็นเหมือนต้นไอเดียของจังหวัดอื่นๆ ในประเทศด้วย”
สัตว์และอาหารประจำถิ่น สถานที่เที่ยวน่าสนใจ และเรื่องราวประวัติศาสตร์เมือง คือสิ่งที่เราได้รู้จักเพิ่มขึ้นเมื่อเดินชมสตรีทอาร์ตที่ว่านี้รอบเมืองเบตง หากพร้อมแล้วตามไปดูด้วยกันเลย
เส้นทางชมสตรีทอาร์ตทั่วเมืองเบตง
1
ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพียงตู้เดียวในเมืองเบตงโดย Jayoto
หากเริ่มต้นสตาร์ทที่หอนาฬิกากลางตัวเมือง เพียงหันหน้าไปทางโรงแรม Modern Thai แล้วแหงนขึ้นมองบนกำแพงด้านข้างสักนิด ก็จะเห็นผลงานสีสันสดใสและคาแร็กเตอร์แมวประจำตัวของ Jayoto หรือ แจ้–อุทิศ โพธิ์คำ ตั้งตระหง่านดึงดูดสายตาอยู่ โดยแจ้เล่าให้ฟังว่าที่เลือกวาดคาแร็กเตอร์แมวกำลังยืนคุยโทรศัพท์นั้นมีความหมาย เพราะจริงๆ แล้วบริเวณนี้ในอดีตเป็นที่ตั้งของตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ชาวเมืองเบตงจะมารอหยอดเหรียญรอใช้บริการกันนั่นเอง
2
Kamijn และอาหารจานเด็ดบนกำแพงร้านเฉาก๊วย
เห็นภาพแรกแล้วก็ไม่ต้องเดินไกล เดินเข้าไปในซอยตลาดเช้าต่อไปเพียงนิดเดียวก็จะเจอภาพสตรีทอาร์ตทั้งใหม่และเก่าซ่อนตัวอยู่เพียบ แต่เราขอชวนเดินตรงยาวไปเกือบสุดถนน คุณจะเจอกับงานของ kamijn หรือ ขมิ้น–เพียงขวัญ คำหรุ่น ที่รับผิดชอบกำแพงขนาดยาวของบ้านซึ่งมีกิจการขายเฉาก๊วย
ขมิ้นใช้เทคนิคการเพนต์ วาดและระบายออกมาเป็นขบวนแมวกำลังแบกอาหารขึ้นชื่อของเบตง นอกจากเธอจะเป็นทาสแมวเองแล้ว คนเบตงก็นิยมเลี้ยงแมวกันมาก เพราะแมวเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่คอยเฝ้ามองและปกป้องเมืองเบตง ส่วนอาหารที่ขมิ้นยกมาวาดมีทั้งเส้นหมี่เบตง ผัดผักน้ำ ปลานิลนึ่ง ไก่สับเบตงเนื้อแน่น ข้าวหลามบาซูก้าของชาวมุสลิม เคาหยกหรือหมูสามชั้นและเผือกที่ตุ๋นนานจนละลายในปาก และเฉาก๊วย ที่นอกจากจะเป็นกิจการของเจ้าของบ้านเองแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในเมนูขึ้นชื่อของอำเภอเบตงด้วย
3
Pakorn BNA กับการเดินทางมาเบตงที่ไกลเหมือนไปดวงจันทร์
จากนั้นเดินต่อไปให้สุดซอยแล้วหันกลับมาชมผลงานสุดล้ำของ Pakorn BNA หรือ ต่อ–ปกรณ์ ธนานนท์ กัน เพราะอำเภอเบตงเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ค่อนข้างมีความเป็นจีนเยอะ ต่อจึงใส่รายละเอียดเปรียบเทียบวัฒนธรรมแบบจีนๆ และการค้าขายออกมาเป็นรูปมังกรตัวยาว ที่บินทะลุเมฆมาคว้าดวงจันทร์ไว้ในกำมือ เพราะสมัยก่อนนั้นเบตงอยู่ไกลมาก เดินทางมาที่นี่ทีก็ว่ากันว่าลำบากราวกับเดินทางไปดวงจันทร์
แต่ถึงอย่างนั้นปัจจุบันนี้หากใครอยากมาเที่ยวเบตงก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าจะเดินทางนาน เพราะภายในปีนี้ที่เบตงกำลังจะมีสนามบินขนาดเล็กเปิดให้ใช้บริการ ต่อเลยใส่รูปเครื่องบินลำจิ๋วเข้ามาในภาพด้วยนั่นเอง
4
ราฮวมกับภาษาจีนของคนเบตง
ย้อนกลับมาที่ภาพของ kamijn จะพบซอยแยกเล็กๆ ให้เดินเชื่อมไป ในซอยแห่งนั้นมีภาพของ ราฮวม–สุวิทย์ มาประจวบ ศิลปินสาขาประติมากรรมซ่อนอยู่
ราฮวมเล่าให้ฟังถึงคอนเซปต์ของตัวเองด้วยการยอมรับว่าไม่ได้ทำการบ้านมามากนัก เขาจึงใช้วิธีการสังเกตและพูดคุยกับคนในพื้นที่ก่อนจะร่างออกมาเป็นภาพ เมื่อพบว่าคนในพื้นที่อำเภอเบตงนั้นใช้ภาษาจีนสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่ เขาจึงเลือกวาดดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นตัวแทนของบทกวีจีน มาผสมกันกับนกกรงหัวจุกซึ่งเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ในธรรมชาติ เพื่อบอกเล่าถึงความดงามของพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ
5
อะไหล่กับทีมบาสเมืองเบตง ตำนานที่ยังหายใจ
เดินตรงต่อไปจะเจอกับภาพของ อะไหล่–ชวัส จำปาแสน ที่ครั้งนี้พาพ่อมาร่วมทำงานศิลปะด้วยกัน โดยเขาเลือกบันทึกเรื่องราวในอดีตของเบตงด้วยเทคนิคใหม่อย่างการเอาสีทาบ้านมาผสมกับปูนซีเมนต์ ทำให้ภาพนูนขึ้น ดูแอ็บสแตรกท์และกระชากอารมณ์ เพื่อเล่าให้เห็นว่าคนเบตงนั้นกล้าแกร่งในการเล่นบาสมากแค่ไหน
เพราะในสมัยก่อน พื้นที่ใกล้กันกับตัวกำแพงนี้เคยเป็นสนามบาสเก่าที่ชื่อว่าสวนรื่นรมย์ อะไหล่เลยวาดรูปอากงผู้เป็นอดีตโค้ชบาส และอาม่าอดีตนักบาสหญิงที่คว้าถ้วยรางวัลทองคำมาได้ เพราะอยากให้เกียรติสถานที่และคนรุ่นเก่าที่สร้างเมืองนี้ขึ้นมา
6
ครูปานและนกนางแอ่นนับร้อย
กำแพงติดกันกับอะไหล่ คือผลงานของ ครูปาน–สมนึก คำนอก ที่ใครได้เห็นคงต้องเอ็นดูไปตามๆ กัน เพราะครูปานยกนกนางแอ่นนับร้อยตัวบนสายไฟมาไว้บนกำแพง จากนี้ไปเลยไม่ต้องรอจนเย็นย่ำก็จะเห็นฝูงนกพวกนี้เกาะสายไฟอยู่ทุกเมื่อ
7
Suriya และรถสวน พาหนะประจำเมืองเบตง
เยื้องๆ จากงานของอะไหล่ ก็ยังมีกำแพงที่ Suriya หรือเกิ้ง–สุริยะ ฉายะเจริญ วาดรถสวน หรือรถโดยสารสมัยโบราณที่ขับพาคนเบตงออกไปค้าขายนอกเมือง บนรถสวนของเกิ้งเลยเต็มไปด้วยสินค้าเกษตรกรรมของที่นี่อย่างทุเรียน แผ่นยางพาราแบบเบตงที่มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่นตรงเป็นแผ่นยาว ใหญ่ และหนา และที่ขาดไม่ได้เลยคือซีอิ๊ว เพราะบ้านเจ้าของกำแพงคือโรงหมักซีอิ๊วเจ้าแรกและเจ้าเดียวในเบตงนั่นเอง
นอกจากนั้นเกิ้งยังวาดนักเรียน และชาวบ้าน ทั้งไทย พุทธ มุสลิม จีน ไว้ในรถคันนี้ สะท้อนถึงความหลากหลายในอำเภอที่ทุกวัฒนธรรมนั้นอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
8
ส่องบ้านนกนางแอ่นหลังแรกกับ Qucan
อีกหนึ่งศิลปินที่เอาความเป็นจีนมาผสมผสานในภาพคือ Qucan หรือ เจ–พงศ์พันธุ์ พงษ์เจริญ กราฟฟิตี้ไรต์เตอร์ยุคแรกๆ ของวงการ
เพราะตึกใกล้กันกับกำแพงแห่งนี้เป็นบ้านนกนางแอ่นแห่งแรกของเบตง เขาจึงพ่นสเปรย์ออกมาเป็นครอบครัวนกนางแอ่นที่มีความสุข เจใส่เรื่องราวให้นกนางแอ่นเหล่านั้นคาบเชือกซึ่งมีคำมงคล เกี่ยวกับโชคลาภ สุขภาพแข็งแรงแขวนเอาไว้เสริมความเฮง
9
Bigdel และร้านขายอุปกรณ์ไหว้เจ้า
เมื่อเดินเลี้ยวมาอีกซอย บริเวณร้านขายอุปกรณ์ไหว้เจ้าก็จะเจอกำแพงที่ BigDel หรือ เดเอล ฮอร์แกน พ่นรูปแป๊ะยิ้มกำลังเชิดมังกรเอาไว้ สาเหตุที่เขาสร้างสรรค์ผลงานให้เกี่ยวข้องกับความเป็นจีนเช่นนี้ก็เพื่อความเข้ากันกับร้านค้าเจ้าของกำแพงนั่นเอง
10
ภาพวาดสีพาสเทลของ Jangornanong กับสัตว์เศรษฐกิจคู่เมืองเบตง
เดินต่อมาไม่ไกลกัน ภาพเพนต์ติ้งรูปสัตว์ท้องถิ่นประจำอำเภอเบตงก็รอเราอยู่ ทั้งกบภูเขา ไก่เบตง ปลาพวงชมพูราคาแพง และปลาจีนที่คนนิยมรับประทาน แจง–อรอนงค์ แก้วสมบูรณ์ ก็นำมาวาดรวมอยู่กับหญิงสาวตาแป๋วที่หากลองมองเข้าไปในตา จะพบกับรายละเอียดเล็กๆ ที่แจงใส่ไว้อย่างสนามบินเบตงที่กำลังจะเปิดด้วย
11
ชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงกลางใจเมือง ด้วยภาพของ Oba Yong
Oba Yong หรือ ศุภชัย มโนสารโสภณ เป็นอีกคนที่ฝากผลงานไว้เป็นเรื่องราวของอาหารเมืองเบตง โดยเขาเลือกเขียนเป็นภาพลายเส้นสไตล์จีน ที่มีนางฟ้าเบตงเลือกกินอาหารทั้งไก่สับเบตง เต้าหู้ยัดไส้ ที่ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง แหล่งท่องเที่ยวประจำอำเภอที่สามารถมองเห็นหมอกได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้เขายังวาดดอกดาหลา ดอกไม้ประจำภาคใต้ และดอกพิกุล ดอกไม้ประจำจังหวัดยะลาเพิ่มมาด้วย แถมชุดที่นางฟ้าเบตงใส่อยู่ก็เป็นผ้าปาเต๊ะด้วยล่ะ
12
Mr.Bows พาตะลอนนั่งรถชมเมือง แวะกินก๋วยเตี๋ยวแคะรสดี
เดินชมงานไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็เกือบถึงซอยที่จะเชื่อมไปยังอีกฝั่งหนึ่งของโรงแรม Modern Thai แล้ว ก่อนเดินกลับโรงแรมแล้วมุ่งหน้าไปชมงานอีกฟากหนึ่งของเมือง เราขอชวนให้ทุกคนไปแวะชมภาพของ Mr.Bows หรือ ณัฐพงษ์ แก้วประดิษฐ์ ที่ฝากไว้หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวแคะใกล้ๆ กันก่อน
งานนี้เขาเปลี่ยนกำแพงสูงเป็นแผนที่อำเภอเบตง ที่มีรถกะป๊อเหลืองอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของอำเภอที่สามารถขับพาไปยังแหล่งท่องเที่ยวได้ทั่วเบตง ส่วนคาแร็กเตอร์ที่นั่งอยู่บนรถก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเขาและอากงของร้านก๋วยเตี๋ยวแคะฝั่งตรงข้ามกำแพงที่เห็นแล้วก็อยากนั่งไปด้วย จึงขอให้ Mr.Bows วาดตัวเองลงไปด้วย
ขณะที่เราเดินชมภาพนี้ ลูกหลานของอากงยังแอบบอกให้ฟังด้วยว่าอากงหน้าเหมือนอย่างในรูปนี้เลย
13
ค้นพบเบตง ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปกับ Pairoj และผองเพื่อน
ภาพของ Mr.Bows ว่าใหญ่แล้ว แต่ยังมีกำแพงอีกจุดหนึ่งที่ใหญ่กว่า แถมยังเป็นผลงานที่รวมศิลปินเอาไว้มากมาย ทั้งป๊อก ไพโรจน์ ศิลปินผู้เป็นหนึ่งในทีมตั้งต้นที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้น แพรว–ศุภลักษณ์ ประภาศิริ, ตู่–ชัยศักดิ์ ศรีราแดง, แจ้ Jayoto และอะไหล่
ป๊อกเป็นตัวแทนเล่าให้ฟังว่าต้นไอเดียของงานนี้มาจากรูปภาพหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ที่มีศิลปินนั่งแพกันมาค้นพบดินแดนใหม่ เพราะเห็นว่าคนที่ส่วนใหญ่ล้วนมีเชื้อสายจีน และช่วงนี้ก็ใกล้ตรุษจีนแล้ว เขาจึงเปลี่ยนจากแพเป็นมังกร เล่าเรื่องราวเหมือนกับว่าเหล่าคาแร็กเตอร์ที่วาดขึ้นนี้นั่งมังกรกันมาค้นพบเจอเบตงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด
ยังมีภาพสตรีทอาร์ตซ่อนตัวอยู่ในเมืองเบตงอีกเพียบ สามารถตามรอยกันได้เองตามแผนที่ด้านล่างนี้