ครั้งแรกที่บ้านตันหยงเปาว์ ตัวเราและปัตตานี

1

เราเก็บอะไรใส่กระเป๋าเวลาเดินทาง

กรุงเทพฯ

เราเก็บอะไรใส่กระเป๋ากันบ้างเวลาเดินทาง เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว บางคนอาจพกหนังสือสักเล่มสองเล่มติดไว้อ่านระหว่างทาง หรือกล้องถ่ายรูปสักตัวเอาไว้ถ่ายสิ่งที่อยากเก็บไว้ในความทรงจำ ผมพกไปด้วยหมด ทั้งหนังสือ กล้อง ทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็น มีแม้กระทั่ง ‘ความกังวล’ มันมาอยู่ในกระเป๋าตั้งแต่ตัดสินใจจะไปแล้ว

การเดินทางลงปัตตานีครั้งแรกทำให้ผมกังวลใจ ไม่ได้กังวลเพราะต้องลงพื้นที่ที่มีเรื่องราวของความรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น ผมกังวลไปถึงการใช้ชีวิต การกินอยู่ การปรับตัว เรารู้มาว่าคนที่นั่นพูดคนละภาษากับเรา นับถือคนละศาสนากับเรา มองจากภายนอกแล้ว เขาดู ‘ต่าง’ จากเราไปหมด ความไม่คุ้นชินทำให้เรารู้สึกแตกต่าง คนเรากลัวการเปลี่ยนแปลงเสมอ ผมคิดแบบนั้น

“ดูแลตัวเองดีๆ นะ” ดูจะเป็นคำที่ได้ยินบ่อยที่สุด หลังจากบอกคนรอบตัวว่าจะไปปัตตานี

จากที่ตอนแรกกังวลประมาณหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้กังวลขึ้นไปใหญ่ แม้จะทำการบ้านมาบ้างว่าเหตุการณ์น่าเป็นห่วงไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ เท่าที่ถามมา หลายคนจะบอกว่า “ไม่มีอะไร” แต่พอถูกทักบ่อยๆ ก็อดจะ ‘ฝ่อ’ ไม่ได้

ผมติดตามค่าย Learning To Live Together 6 ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทุกปีจะจัดค่ายลงพื้นที่เรียนรู้ ปีนี้ค่ายลงพื้นที่ที่ปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ‘บ้านตันหยงเปาว์’ เป็นพิกัดที่เราจะได้ไป เราแทบไม่รู้อะไรเลยนอกจากการจัดอันดับว่าแถวนี้คือ ‘พื้นที่สีแดง’ และอยู่ติดทะเล นอกนั้นผมแทบนึกสภาพไม่ออก อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ผมยอมเก็บความกังวลใจโหลดใต้เครื่องบิน และเดินทางขึ้นเครื่องลงใต้ในวันเดียวกัน


2

ไม่ใช่วันเด็ก

ปัตตานี

“ด่านเยอะขนาดนี้เลยเหรอ” ผมถาม

“เดี๋ยวเจอเยอะกว่านี้อีก” พี่คนขับรถตู้บอก

จากสนามบินหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เรามุ่งหน้าสู่ปัตตานีโดยรถตู้ เมื่อเข้าเขตจังหวัดปัตตานี สิ่งหนึ่งที่เห็นได้เด่นชัดคือด่านทหาร พี่เจ้าหน้าที่ยืนนิ่งๆ แต่ดูจริงจัง ด้านหลังเป็นแบริเออร์ปูน บางทีก็มีกระสอบทรายล้อมรอบสูง ดูทนทานแต่ก็เงียบเหงา ภายใต้แววตาดุดันของพี่ๆ ทหารเหล่านั้น เราเดาเองว่าในนั้นอาจมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น อาจเหงา คิดถึงบ้าน แต่ที่แน่ๆ ข้างกายพี่ๆ มีปืนยาวเหน็บติดตัว

ยิ่งเข้าใกล้พื้นที่ตัวเมือง ด่านเริ่มเยอะมากขึ้น แต่บางจุดดูเหมือนไม่มีใครอยู่ มีเพียงที่กั้นรถเพื่อชะลอความเร็ว แต่คนในพื้นที่น่าจะเคยชินแล้วจึงขับรถหลบได้แบบไม่ต้องลดความเร็วมากนัก จากความแปลกประหลาดก็กลายเป็นความเคยชิน สังเกตได้จากที่คนในรถเราเองที่มาจากกรุงเทพฯ หลายคนดูตื่นเต้นกับการซ้อมรบ มีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่ใกล้มากราวกับว่านี่เป็นวันเด็ก ฝุ่นตลบอบอวล แต่คนแถวนั้นก็ยังใช้ชีวิตตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดูธรรมดาเหมือนมันเป็นรถกับข้าวคันหนึ่งที่จอดอยู่ ผมเดาว่าเด็กๆ แถวนั้นคงไม่ตื่นเต้นกับรถถังหรือเครื่องบินเหมือนเรา รถขับออกมาไกลพอสมควร แต่คนในรถยังหันไปมองตาม


3

ปัตตานีที่คุณคิด

ตันหยงเปาว์

ภาพจำปัตตานีของคุณเป็นอย่างไร แดนพงดงระเบิด ป่าเขียวสองข้าง ทหารรายล้อม ภาพนั้นหายไปเมื่อรถขับเข้าไปถึงตำบลท่ากำชำ บ้านตันหยงเปาว์ ขวามือเราคือทะเล ซ้ายมือคือป่าชายเลน กลิ่นน้ำทะเลเข้ามาในรถเมื่อมีคนเปิดกระจก รถขับข้ามคลองที่มีชื่อเดียวกับหมู่บ้าน เราตรงเข้าไปในหมู่บ้าน ทรายละเอียดเข้ามาในรองเท้าเหมือนเป็นการทักทายเราทันทีที่ลงจากรถ เรามาถึงบ้านตันหยงเปาว์แล้ว

ผมกล้าพูดว่าความสวยของทะเลทำให้เราลืมว่านี่คือพื้นที่อันตราย ทิวแถวต้นมะพร้าวลู่ลมไปมา มองไกลๆ เห็นทิวมะพร้าว หลังคาบ้าน และมัสยิด ที่นี่คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม มองลึกออกไปเราเห็นทะเล ไม่มีสุนัข คนที่นี่ไม่นิยมเลี้ยงเพราะมีบทบัญญัติทางศาสนาเรื่องความสะอาดก่อนการปฏิบัติศาสนกิจ เราเลยเห็นว่ามีแต่แกะกับแพะเดินเรียงรายแทน

“ตันหยงเปาว์แปลว่าอะไรครับแบ” เราถาม

“สวนมะม่วง” แบบอก

คำว่าแบ แปลว่า ’พี่’ ในภาษามลายู ‘แบเลาะห์’ คือคนในพื้นที่ที่ดูแลเราในครั้งนี้ แบเป็นชายวัยกลางคนที่ผมสีดำสลับขาว ใกล้เคียงรุ่นพ่อของเรา ดูมีอายุแต่ก็ดูแข็งแรงกำยำดี แบเป็นชาวประมงอยู่ที่นี่ แกเป็นคนประสานงานระหว่างเรากับพื้นที่ และแน่นอนว่าที่นอนของเราก็คือบ้านแบเองนั่นแหละ

ตันหยงเปาว์แปลว่าสวนมะม่วง แต่ที่นี่ตอนนี้ไม่มีสวนมะม่วง พวกเขายึดอาชีพประมง เช่นเดียวกับแบที่เป็นชาวประมงดั้งเดิม แบกับเพื่อนอีกประมาณ 30 คน รวมตัวกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ประมงภายในชุมชน พวกเขาใช้อุปกรณ์จับปลาแบบดั้งเดิม จับแต่พอประมาณ พวกเขาเคารพในอาชีพของตัวเองมากๆ

ปัจจุบันตันหยงเปาว์ยังเป็นพื้นที่สีแดง คือพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ซึ่งนั่นหมายถึงยังมีความเสี่ยงเกิดขึ้น แบค้านว่าที่นี่ไม่ค่อยมีอะไร ส่วนผมดีใจตั้งแต่เห็นทะเลแล้ว


4

“อัสลามูอาลัยกุม”

บ้านแบ

“อัสลามูอาลัยกุม” เป็นการทักทายอย่างเป็นทางการแบบอิสลามที่ทั้งสองฝ่ายจะสัมผัสมือก่อนที่จะเอามือของตนกลับไปลูบที่อก แปลว่า ‘ขอความสันติสุขหรือความสุขจงเกิดแก่ท่าน’ เราจะทักทายกันแบบนี้เฉพาะผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง เว้นแต่จะเป็นพี่น้อง หรือสามีภรรยากัน

ทุกเช้าที่ตื่นมา เราจะเห็นแบหันหน้าไปทางทิศหนึ่งพร้อมกับสวดอะไรสักอย่าง นั่นคือแบกำลังละหมาด ตามหลักการของศาสนาอิสลาม การละหมาดคือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้า เป็นการแสดงตนถึงความจงรักภักดี ในแต่ละวันจะมีการละหมาด 5 ครั้ง นั่นคือ ซุบหฺ (ย่ำรุ่ง) ดุฮฺริอฺ (กลางวัน) อะซัร (เย็น) มัฆริบ (พลบค่ำ) อิชาอ์ (กลางคืน) แบว่านอกจากการละหมาดจะเป็นการระลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอแล้ว ยังเป็นการตั้งสติของเราในการทำงานแต่ละเวลา บางครั้งความเหนื่อยล้า ความง่วง ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงาน การละหมาดทำให้จิตใจสงบ และตั้งมั่นในการใช้ชีวิตในช่วงเวลาต่อไป

ตันหยงเปาว์ในช่วงเย็นจะเต็มไปด้วยผู้คน สภากาแฟเต็มไปด้วยผู้ใหญ่และบทสนทนา ลานกว้างจะเต็มไปด้วยเด็กๆ และฟุตบอล แต่เมื่อเสียงอาซานดังขึ้น หมายความว่าถึงเวลาละหมาดแล้ว ภายในไม่กี่นาทีหมู่บ้านที่ดูวุ่นวายก็กลายเป็นหมู่บ้านสงบเงียบ พร้อมใจกันเข้าบ้านเพื่อปฏิบัติศาสนกิจของตน


5

แผ่นดินปัตตานีกำลังหายไป

หาดบ้านตันหยงเปาว์

“ที่นี่มีทะเลนะ แต่ไม่มีหาดทราย” แบกล่าว

เมื่อเดินไปถึงหาด ถึงได้คำตอบว่าจริงๆ แล้ว มีหาดทรายแต่ถูกหินก้อนใหญ่หลายๆ ก้อนมาเทไว้เต็มไปหมดจนแทบไม่เหลือหาดทรายให้เราวิ่งเล่นเหมือนเวลาไปเที่ยว หินเหล่านั้นมาโดยมีเหตุผล คนใช้มันเป็นด่านกันคลื่นกัดเซาะ

ใครบ้างจะรู้ว่านอกจากความรุนแรงในพื้นที่ที่น่ากลัว ปัญหาคลื่นกัดเซาะก็น่ากลัวไม่แพ้กัน แบเล่าว่าคลื่นกินพื้นดินเข้ามาเรื่อยๆ กินพื้นที่ไปแล้วสองหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนต้องหนีมาสร้างบ้านใหม่เพราะบ้านหลังเดิมถูกทะเลกัดเซาะ มีเรื่องเล่าว่าตันหยงเปาว์เมื่อก่อนเคยมีชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่แต่ต้องหนีหายเพราะคลื่น ว่ากันว่าถ้านั่งเรือออกทะเลไป เราอาจได้เห็นสุสานคนจีนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ในทะเล

แม้แถวนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำเหมือนที่อื่น แต่หินก็ทำให้บรรยากาศของหาดทรายเปลี่ยน แต่เราจะโทษหินก็ไม่ได้ หินก้อนใหญ่เหล่านั้นคือปราการด่านสุดท้ายที่ยังทำให้ตันหยงเปาว์ไม่เหลือแต่ชื่อ แต่ก็ทำได้เพียงชะลอความแรงของคลื่นเท่านั้น วันนี้แผ่นดินปัตตานีกำลังหายไป ด้วยฝีมือธรรมชาติที่กำลังเอาคืนมนุษย์


6

วันศุกร์

มัสยิด

วันนี้เป็นวันสำคัญ แบไม่ได้กล่าว ผมสังเกตเองจากการแต่งตัวของแก วันนี้แบใส่เสื้อสีฟ้าลายสวยเป็นพิเศษกว่าทุกวัน ก่อนที่แกจะเฉลยว่าวันศุกร์ถือเป็น ‘วันละหมาดใหญ่’ ของชาวมุสลิม ผู้ชายควรจะไปละหมาดที่มัสยิด ส่วนผู้หญิงละหมาดอยู่ที่บ้าน เช่นเดียวกับคนอื่นในหมู่บ้าน ทุกคนใส่เสื้อสีสดใส ใบหน้าแช่มชื่น

พอถึงเวลา ผู้ชายก็เดินหลั่งไหลไปทางเดียวกัน มัสยิดตันหยงเปาว์เหมือนตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน เสียงอาซานเป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาแล้ว แบถือหมวกกะปิเยาะห์ใบสีขาวออกจากบ้าน และเราก็ขอติดตามไปเก็บภาพแบบสงบๆ ด้วย


7

ฟังไม่ออกเท่ากับไม่เข้าใจ

บ้านบาบอ

ปัญหาหนึ่งของผมเวลาอยู่ที่นี่คือภาษา เราฟังไม่ออกว่าคนที่นี่พูดอะไรกัน เพราะชาวบ้านพูดภาษามลายู แต่ภาษาเขียนคือยาวี เวลาอยากคุยกับใครผมใช้วิธีสะกิดถามแบ ให้แบถามอีกที ก่อนจะได้คำตอบกลับมา ทำให้ค่อนข้างยุ่งยากเวลามีคำถาม แต่ก็ใช่ว่าจะเรียนรู้กันไม่ได้ แบใจดีเป็นล่ามให้โดยไม่บ่นสักคำ แกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนต้องเรียนรู้และปรับตัว

เช่นเดียวกับคนที่นี่เมื่อรู้ว่ามีคนต่างถิ่นมา ก็พยายามสื่อสารด้วยภาษาไทยเท่าที่ตัวเองจะพูดได้ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่แม้ไม่สามารถคุยภาษาไทยได้เลย แต่ก็พยายามสื่อสารกับเรา ท่าทีที่เป็นมิตรทำให้เรารู้สึกทันทีว่าภาษาไม่ใช่ปัญหาของการอยู่ที่นี่ หากเราเปิดใจมากพอ

เราได้เจอกับ ‘บาบอ’ หรือ ‘โต๊ะครู’ ผู้มีหน้าที่สอนความรู้ทั้งทางโลกและศาสนา บาบอสะท้อนให้เราฟังว่าการศึกษาคือปัญหาที่แท้จริงของที่นี่ หนุ่มสาวกำลังหายไปจากตันหยงเปาว์ ออกไปทำงานต่างถิ่น อาจเป็นมาเลเซียหรือกรุงเทพฯ แถมที่ออกไปก็ใช่ว่าจะมีการศึกษา เด็กไม่น้อยที่ไปไม่ถึงมหาวิทยาลัย บาบอบอกว่าเด็กที่นี่สู้การศึกษาในระบบไม่ไหว โดยเฉพาะภาษา เด็กหลายคนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ภาษาหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ คือภาษามลายู เมื่อไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการศึกษาพื้นฐานได้ สุดท้ายก็สอบสู้เขาไม่ได้ เด็กที่นี่มีทางเลือกไม่มากนัก บาบอสรุปแบบนั้น


8

ไม่มีผู้ก่อการร้ายในใจเรา

ที่ใดสักแห่งในความรู้สึก

ไม่รู้ว่าควรจะบอกว่าโชคร้ายหรือโชคดี ลงมาปัตตานีครั้งนี้ผมไม่เจอเหตุการณ์ไม่สงบ ไม่เจอความรุนแรง ไม่เจอผู้ก่อการร้าย ตันหยงเปาว์และปัตตานีในครั้งนี้เป็นเพียงสถานที่สงบๆ ที่หนึ่ง อย่างที่สถานที่แห่งหนึ่งพึงจะเป็นได้ ไม่มีความวุ่นวาย เราเห็นเพียงทะเลและวิถีชีวิตผู้คนที่นี่

เป็นความจริงที่ว่าพื้นที่นี้ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ รับประกันไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนในพื้นที่บอกกับเราเอง แต่ขณะเดียวกันก็บอกกับเราว่า เรื่องเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันหรือเกิดตลอดเวลา

“มาจากสามจังหวัดชายแดน เอาระเบิดมาไหม” หรือ “ทำไมไม่ส่งคนเลวพวกนั้นลงสามจังหวัดไปให้หมดล่ะ ”

หากเป็นตัวเราเองจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามาจากที่นั่นก็ถูกทักทายบ่อยๆ เช่นนี้ ต้องเจอคำพูดของผู้คนที่จ้องจะส่งสิ่งที่ตัวเองเกลียดเดียดฉันท์ให้มาอยู่บ้านตัวเอง แม้จะมีผู้ก่อการร้ายอยู่ที่นี่ แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีคนอื่นอยู่เหมือนกัน เสียงน้องสาวคนหนึ่งที่อยู่ที่นี่สะท้อนให้เราฟังว่า ที่สุดแล้วก็อยากให้ทุกคนเปิดใจ อยากให้ทุกคนให้โอกาสที่นี่อีกครั้ง

“นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน”เธออยากให้บรรยากาศแบบนั้นกลับมา

เป็นความจริงที่ว่า คนที่นี่ใช้ภาษาต่างจากเรา นับถือศาสนาต่างจากเรา แต่สิ่งที่ผมคิดผิดคือ ผมสามารถอยู่ที่นี่ได้ ความแตกต่างไม่ใช่ข้อจำกัด ต่อให้ไม่มีแบเลาะห์อยู่ช่วยแปล ผมเชื่อว่าผมอยู่ที่นี่ได้ สิ่งที่อยู่เหนือภาษา ศาสนา วัฒนธรรม คือมนุษย์ ตราบใดที่เรายอมเรียนรู้ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

ถ้าเราเชื่อว่าอยู่ด้วยกันได้ เราจะอยู่ได้ – ผมคิดแบบนั้น

ขอขอบคุณ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

AUTHOR