เรียนรู้วัฒนธรรมหลากหลายของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านบอร์ดเกม

Highlights

  • WHO is WHO เป็นบอร์ดเกมที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มเพื่อนที่ตั้งชื่อว่ากลุ่ม 'สนใจ' ได้รับแรงบัลดาลใจจากการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • จุดมุ่งหมายของเกมคือการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้เรื่องความหลากหลาย ผ่านเรื่องเล่าและความรู้สึกของเพื่อนร่วมวง พร้อมตั้งคำถามว่าคุณรู้จักข้อมูลและความเชื่อเหล่านั้นดีหรือยังไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อของตัวเอง

เกมคือการแข่งขัน เวลาเกมเกิดขึ้น นั่นคือช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะให้ได้ในเกม แต่จะมีสักกี่เกมที่ไม่ได้ให้ฆ่า หรือแข่งขัน แต่เลือกที่จะไปทำความรู้จักคนอื่นมากกว่า  

แล้วจะสนุกได้ยังไง ในเมื่อไม่ได้แข่ง ?

WHO is WHO เป็นบอร์ดเกมที่เราได้มีโอกาสเล่นเมื่อตอนได้ไปเข้าค่ายที่จังหวัดปัตตานี บอร์ดเกมนี้อยู่ภายใต้โครงการทักษะวัฒนธรรมโดยได้รับความร่วมมือระหว่างศูนย์ข่าวสารสันติภาพและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จุดมุ่งหมายของโครงการคือเพื่อช่วยให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องพหุวัฒนธรรมหรือความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น

เราได้เจอกับ นิค–นิศาชล ชัยมงคล และ มด–ณัฐวดี สัตนันท์ หญิงสาวสองคนเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาบอร์ดเกมชิ้นนี้ พวกเธอเล่าให้ฟังว่าแรงบันดาลใจตั้งต้นของเกมนี้คือการที่พวกเธอได้ไปเห็น ‘ความแตกต่างทางวัฒนธรรม’ ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเลยลองชักชวนเพื่อนๆ ที่เคยเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มารวมกลุ่มกันทำในชื่อกลุ่ม ‘สนใจ’ และเริ่มโครงการบอร์ดเกม WHO is WHO ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เข้าใจนี้และเพื่อให้คนทั่วไปได้ทำความ ‘รู้จัก’ ผู้อื่นให้มากขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าบอร์ดเกมเพื่อทำความรู้จัก แถมยังไม่มีการแข่งขัน จะสนุกยังไง

ลองนั่งลงเล่น และฟังพวกเธอเล่าไปพร้อมๆ กับเราดีกว่า

บอร์ดเกมที่สร้างจากเรื่องจริง

นิค : สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายมากๆ มีทั้งคนจีน คนพุทธ คนมุสลิม ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันมายาวนาน รวมกันเป็นวัฒนธรรมมลายู จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ทำให้คนที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันค่อยๆ ห่างกันไปเรื่อยๆ โรงเรียนก็แยกศาสนากันเรียน ตลาดคนก็ไม่ไปเพราะกลัว พื้นที่ที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันก็หายไป เราสร้างเกมขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ให้กลับมาอีกครั้ง ให้กลับมานั่งคุยกัน เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีจะสร้างสังคมที่ดี จากที่เราทำงานกับคนที่อยู่ในพื้นที่นั่นคือเจ้าหน้าที่หรือองค์กร เราก็ขยับมาทำกับคนในพื้นที่โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้มีพื้นที่ในการคุยกัน เช่น ลองจัดกระบวนการขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไง ใช้วิธีการอะไร ออกแบบการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างให้เกิดขึ้น

แม้เราจะอยู่ด้วยกัน แต่เรากลับไม่ค่อยรู้จักกัน

นิค : พอเกิดความรุนแรง ความไม่สงบ ก็ส่งผลถึงความสัมพันธ์ของคนรุ่นต่อมาด้วย รู้สึกว่าไม่ค่อยมั่นใจกัน เพราะความกลัวเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมายาวนานถึง 14 ปี รวมถึงเด็กๆ ด้วย เรารู้สึกว่าเราไม่มีพื้นที่ให้เด็กมาแลกเปลี่ยนความหลากหลายหรือมาเรียนรู้ เลยเกิดคำถามว่าเราจะทำยังไงดี เพราะสภาพสังคมที่เราเห็นว่าผู้คนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ด้วยเงื่อนไขต่างๆ การมีโรงเรียนสอนศาสนาเฉพาะ คนในพื้นที่ไม่ค่อยมีเวทีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนสมัยก่อน

อีกเหตุผลหนึ่งคือเราพบว่าเราอยากทำงานกับเด็ก กับโรงเรียน เพราะเรื่องนี้คือเรื่องความขัดแย้งที่มีมายาวนานถึง 14 ปี ก็ทำให้มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่โตมาพร้อมกับความขัดแย้ง เราไม่ค่อยได้ยินเสียงเด็กในพื้นที่ นี่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่แย่นะที่เด็กๆ คือคนในพื้นที่แต่เรากลับไม่รู้ว่าพวกเขาคิดหรือรู้สึกอะไรต่อเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ พอให้คำถามมาแบบนี้ เราเลยคิดถึงเกม เพราะเกมเข้าถึงเด็ก   

มด : จริงๆ พื้นฐานเราไม่เคยเล่นบอร์ดเกมเลยนะ แต่เรารู้สึกว่าเกมนี่แหละ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเข้าถึงเด็กได้จริงๆ เราไม่อยากให้เป็นแค่สื่อการสอน ทำให้รู้สึกเหมือนต้องมานั่งเรียน เราเองก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่พอเป็นเกม เลยรู้สึกว่าน่าลองมากกว่า

เริ่มเล่นเกม

นิค : WHO is WHO มีวิธีเล่นหลายแบบ แต่แบบแรกคือแบบที่เล่นง่ายที่สุด คือเราจะมีการ์ดสองแบบ การ์ดภาพกับการ์ดคำถาม การ์ดภาพก็จะเป็นคอนเซปต์อัตลักษณ์ต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับพุทธ มุสลิม คริสต์ มีทั้งศาสนสถาน สิ่งของทางศาสนา วันสำคัญทางศาสนา แล้วก็มีการ์ดคำถามเป็นโจทย์ มีสามเลเวล ง่าย กลาง ยาก เช่นโจทย์ง่ายๆ อย่าง ‘คนมุสลิมไปเที่ยว’ แต่ละคนก็เดินไปเลือกการ์ดมาเป็นของตัวเอง สมมติหยิบขึ้นมาสามใบ เราก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าเชื่อมโยงกับโจทย์ยังไง ตรงนี้แหละก็จะเข้าสู่ช่วงเรื่องเล่า แต่ถ้าใครไม่รู้ก็จะกลายเป็นความแถมาแทน ซึ่งถ้าในกลุ่มมีเพื่อนๆ ที่รู้ข้อมูลเรื่องนี้เขาก็จะแย้งว่าถูก-ผิดยังไง

มด : ยิ่งพอเจอการ์ดคำถามในระดับยากขึ้น ยิ่งต้องอาศัยทักษะประสบการณ์และการเชื่อมโยงที่มากขึ้น เพราะไปแตะศาสนาคนอื่นมากขึ้น เช่น ‘คนมุสลิมไปงานบวชคนพุทธ’ หรือ ‘คนมุสลิมร้องเพลง’ ก็จะเริ่มคิดแล้วว่าจะทำยังไง เริ่มมีประเด็น โจทย์แบบนี้ส่วนใหญ่เป็นโจทย์จากที่เราเห็นตอนลงทำงานในพื้นที่

อย่างในระดับยากที่สุดก็จะลงรายละเอียดมากๆ เช่น ‘คนมุสลิมไปงานศพเพื่อนร่วมงานที่นับถือศาสนาพุทธ’ เขาก็ต้องไปเลือกการ์ดมาว่า ไปได้หรือไม่ได้ ไปได้เพราะอะไร หรือไม่ไปเพราะอะไร เพราะบางคนไม่ไป แต่ก็เลือกส่งของมาช่วยงานก็มี เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ของผู้เล่น

นิค : สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมันเป็นการท้าทายคนเล่นว่า กิจกรรมที่เราตั้งมาเป็นโจทย์ จริงๆ แล้วทำได้ไหม ส่วนการนับคะแนนคือ ใครเล่าได้น่าสนใจที่สุดก็รับไปสามคะแนน จริงๆ เกมนี้กติกาเปิดไว้หลวมมาก ขอแค่มีโจทย์แล้วก็ใช้การ์ดเป็นตัวตอบคำถาม เราต้องเล่าเรื่องตามการ์ดในมือให้ตอบโจทย์ ส่วนใครจะได้แต้มเท่าไหร่ก็จะเป็นมติของวง ถ้าคิดว่าเรื่องนั้นสมเหตุสมผล เราไม่มีการตัดสินว่าใครถูกใครผิด เรามีส่วนของคำอธิบายที่ทำเพิ่มให้เพื่อขยายความเข้าใจว่าสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นแปลว่าอะไร เวลาไม่มีใครในกลุ่มรู้จักจริงๆ อย่างกำไลหยกในความเชื่อของคนจีนเป็นอย่างไร เราก็มีอธิบาย เพราะบางคนอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่านี่ก็คือส่วนหนึ่งของความเชื่อเหมือนกัน สรุปง่ายๆ คอนเซปต์คือการนำบัตรคำมาเล่าเรื่อง

วัฒนธรรมไม่ได้มีแค่ศาสนา

นิค : จากประสบการณ์การเล่น เราได้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์ของผู้คน อย่างเคยมีคนมุสลิมหยิบได้การ์ดแต่งงาน ซึ่งปกติเขาจะไปร่วมงานศาสนาอื่นไม่ได้ เขาอธิบายว่าแม้จะไปไม่ได้ เขาก็ยังเอาซองเงินไปช่วยงานแทนได้ หรือไม่ก็ช่วยทำครัวให้แทนการไปวัด ไปแห่นาค นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จากการทำงานวิจัยของเรา แต่พอเกิดความรุนแรง สิ่งนี้ก็หายไป พอพูดเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้รู้สึกว่าเกมเข้าถึงพื้นที่จริงๆ เพราะนำคนที่แตกต่างกันมานั่งเล่นด้วยกัน ภายใต้การ์ดใบเดียวกันแต่เรื่องเล่าต่างกันมากเลยตามประสบการณ์ของแต่ละคน เราไปเล่นกับเด็กเราก็จะได้ยินเรื่องเล่าในชีวิตเขาอีกแบบนึง วิธีคิดอีกแบบนึง พอไปเล่นกับผู้ใหญ่ แม้จะเป็นการ์ดใบเดียวกันแต่พูดไม่เหมือนกัน อาชีพการงาน หน้าที่ หรือแม้แต่กับคนศาสนาเดียวกันยังมีวิธีคิดต่อเรื่องบางอย่างแตกต่างกันเลย เพราะเป็นไปตามผู้เล่น แถมสนุกจากการฟังเรื่องเล่าด้วย

มด : คนเรามีความหลากหลายมากๆ  เล่นกับคนอิสลามแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน คนที่เคร่งกับศาสนามากๆ เขาก็มีวิธีการตอบอีกแบบ ส่วนคนที่เคร่งน้อยกว่าก็จะตอบต่างออกไป แม้กระทั่งคนพุทธเราๆ เองยังมีวิธีคิดที่ต่างกัน เราจะได้เห็นมุมที่ไม่เหมือนกันผ่านเกมนี้

เรารู้จักสิ่งที่ตัวเองเชื่อดีแค่ไหน

มด : ตอนแรกไอเดียของเราคืออยากให้คนมาเรียนรู้เรื่องศาสนา แต่พอมาถอดบทเรียนจากที่ได้ทำ เราพบว่าก่อนที่เราจะให้คนนอกศาสนามาเรียนรู้ศาสนาอื่น เราควรจะสร้างการเรียนรู้กับคนภายในศาสนาตัวเองก่อน แต่ละคนเขามีวิธีคิด มีความเชื่อยังไง นอกจากจะให้คนทั่วไปรู้จักคนสามจังหวัดแล้ว เราก็รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นคือคนสามจังหวัดควรจะทำความรู้จักคนอื่นและเข้าใจคนอื่นเช่นกัน เลยทำให้เราพอรู้ว่า เราควรจะเน้นน้ำหนักยังไง อย่างตอนแรกเราก็จะเน้นแต่ความเชื่อ มีความเป็นอิสลามเยอะมาก แต่พอทำมาเรื่อยๆ ก็จะเริ่มมีคนอื่นๆ ศาสนาอื่นๆ เข้ามา ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งสองฝั่ง

นิค : วัฒนธรรมไม่ได้หมายความแค่ศาสนาอย่างเดียว เราตีความวัฒนธรรมไว้กว้าง เพศ วัย วิธีคิดของคน คือทุกอย่าง ไม่ได้มีแค่การฟ้อนรำ ทุกคนคือความหลากหลายของวิถีชีวิต ทุกคนมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง พุทธเหมือนกันแต่วิธีปฏิบัติก็อาจจะต่างกัน เพราะเราเปิดคำว่าวัฒนธรรมไว้กว้างขนาดนี้ เลยทำให้เนื้อหาไปได้ไกลมากขึ้น

เราใช้ความเชื่อขีดใครออกไปจากชีวิตบ้าง

นิค : เราไม่รู้จักกัน เราเลยไม่เข้าใจกัน ถ้าเราเข้าใจว่าเขาทำแบบนั้นเพราะอะไร มีความหมายกับชีวิตเขายังไง สมมติว่าเรารู้จักคนคนหนึ่งในที่ทำงานแต่ไม่ได้สนิทกัน มีวันหนึ่งเรายื่นส้มตำปูปลาร้าให้เขาแต่เขาไม่กิน เราก็รู้สึกว่าทำไมคนนั้นเรื่องเยอะ หยิ่ง แต่ถ้าเราเป็นเพื่อนเขา เราก็จะเข้าใจว่าทำไมเขาไม่กินปลาร้า อาจเพราะเขาแพ้ เลยกินไม่ได้ พอเรามีความเข้าใจแบบนี้ เราก็จะไม่หงุดหงิดใส่เขา วันหลังเราอาจจะสั่งตำไทยให้ แล้วเรากินด้วยกัน ที่เหลือจะจกปลาร้ายังไงก็ตาม แต่จะมีเพื่อนอีกคนนึงที่ไม่กินแต่นั่งด้วยได้

คือตอนที่ไปทดลองสนุกมาก มีการ์ดคำว่า บ๊ะจ่าง เด็กมุสลิมก็ถามว่ามันคืออะไร เขาเห็นอยู่ตลอดแต่ก็ไม่เข้าใจว่าบ๊ะจ่างคืออะไร ซึ่งก็เป็นไปได้ที่เราเห็นแต่ไม่รู้ความหมาย เราไม่รู้ว่าเกี่ยวกับเขายังไง มีความหมายยังไง หรืออย่างประทัด เราเห็นมาตลอดในพื้นที่สามจังหวัด เราก็เห็นว่าคนจีนจุด แต่เราเข้าใจหรือเปล่าว่าการจุดประทัดมีความหมายกับคนจีนยังไง ถ้าเราไม่เข้าใจพอเห็นเขาจุดเราก็หงุดหงิดแล้ว คิดว่าเอาอีกแล้ว มาเสียงดังอีกแล้ว  แต่เรารู้หรือเปล่าว่าความหมายของเขาคือยิ่งเสียงดังเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น ดังเหมือนชื่อเสียง มันมีความหมาย

ขัดแย้งได้แต่ต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง

นิค : เรามองว่าถ้าความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่มีใครเหมือนกันหมด ประเด็นสำหรับเราคือเราจัดการความขัดแย้งกันแบบไหนเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง  เราไม่มีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความหลากหลายซึ่งกันและกัน อันนี้น่าจะเป็นปัญหามากกว่า เราไม่มีที่ที่จะทำให้ความหลากหลายเบ่งบานออกมา เราเห็นคนพม่าทุกวัน แต่เราเคยคุยกับเขาบางหรือเปล่า เราเห็นว่ามี รู้ว่าเป็นใคร แต่ไม่เข้าใจเมื่อวันนึงเขาทำอะไรที่เราไม่เข้าใจ แล้วเราก็ตัดสินเลย  อาจเพราะด้วยการเมืองหรือวิธีคิดของใครก็แล้วแต่ บ้านเราไม่ได้เปิดรับความหลากหลายขนาดนั้น เลยไม่มีที่ที่ให้ความหลากหลายแสดงตัว จะดีกว่าไหมที่เราจะเลือกเรียนรู้ความหลากหลายเพื่อทำความเข้าใจ ได้เห็นว่าเป็นวิถีชีวิตของเขา ไม่ใช่เรา เราก็ย่อมเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงทำกันแบบนั้น

นิค : เราว่าเป็นเรื่องของการมองคนว่าเท่ากันหรือไม่ ถ้าเรามองเห็นว่าเขามีตัวตน เราก็จะรู้จักเขาเอง ตราบใดที่เรามองไม่เห็น เราก็ไม่รู้จักเขา เพราะเราคิดว่าเขาเป็นส่วนน้อย ไม่ต้องรู้จักเขาก็ได้ ต่างคนต่างอยู่ โลกใบนี้กว้างมาก มีวิธีการทำความรู้จักกันเยอะแยะ หรือแม้กระทั่งแบบเรารู้แล้ว เราเจอเขาจริงๆ การฟัง เป็นเรื่องง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจใครสักคน เรารู้จักผ่านการพูดคุย การฟังเรื่องราวชีวิต ได้เห็นชีวิตเขา ได้ใช้ชีวิตแบบเขา ภาษาก็เป็นกำแพงอย่างนึงที่ทำให้เราไม่เข้าใจกัน แต่สำหรับเรานะ ถ้าเรารู้จักกันก็เรียนรู้กันได้ เราฟังกันไม่ออกทางภาษา แต่เราก็จับใจความกันจากอย่างอื่นก็ได้ ประเด็นก็คือ เราเห็นเขาเท่ากันหรือเปล่า เราเห็นเขาเป็นคนหนึ่งที่เราอยากทำความรู้จักกับเขาหรือเปล่า

เราเกลียดเขาหรือเป็นเพราะเราไม่รู้จักเขาเลย

มด : สุดท้ายแล้วเราว่าคอนเซปต์ของเกมไม่ใช่แค่การเรียนรู้ศาสนาหรอก แต่มันเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอื่นรวมถึงของตัวเองด้วย เราปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร แล้วเราคิดว่ารู้จักสิ่งที่ตัวเองเชื่อดีแค่ไหน ศาสนาเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในชีวิตของผู้คนเท่านั้น

นิค : เราเลยอยากให้เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าความคิดความเชื่อของเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เรากำลังตัดสินคนอื่นโดยใช้ความคิดตัวเองอย่างเดียวหรือเปล่า แล้วการตัดสินนำไปสู่อะไร เรื่องๆ เล็กๆ น้อยๆ ของเราเหล่านี้ส่งผลไปถึงสังคม เวลาเราไปตั้งคำถามกับความเชื่อของคนอื่นมานั่งเถียงกันยังไงก็ไม่จบ  ชีวิตไม่ได้มีขาวกับดำ ยังมีเฉดอื่นๆ ชีวิตคนจริงๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าตรงนั้นคือผิด ตรงนี้คือถูก บางอย่างไม่ตรงกันถึงแม้จะเชื่อเหมือนกันก็ตาม เราคิดว่าเราไม่เหมือนกันได้นะ แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เหมือนกันก็ได้นี่ ดังนั้นพยายามรู้จักกันเพิ่มดีกว่า

ถ่ายภาพโดย ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

 

AUTHOR