ออกแบบ (ฟอนต์) ประชาธิปไตยกับ PrachathipaType เพจที่แสดงออกทางการเมืองผ่านตัวอักษร

จากข่าวสารที่เห็นหน้าสื่อทุกวันนี้ ถ้าหากใครพูดขึ้นมาว่า ‘ข่าวมาเดี๋ยวก็ไป คนไทยลืมง่าย’ เราอาจจะไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถึงตอนนี้ แทบจะมีคนทุกสาขาอาชีพที่หันมาใช้เครื่องมือที่ถนัดบันทึกประเด็นสำคัญๆ เอาไว้ในโลกออนไลน์หมดแล้ว

หนึ่งในนั้นคือ PrachathipaType กราฟิกดีไซเนอร์ที่เรียกร้องเรื่องการเมืองผ่านการออกแบบตัวอักษร ด้วยการดึงประเด็นใหญ่ๆ ในสังคมมาตีโจทย์ให้เป็นฟอนต์ไทย เมื่อประกอบเป็นคำอะไรก็แฝงไปด้วยเมสเซจทางการเมือง 

เพจนี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการออกแบบฟอนต์ ‘ทางม้าลาย’ ให้ศิลปินการเมืองอย่าง Headache Stencil เอาไปพ่นเป็นคำว่า ‘ศักดินา’ บนถนนราชดำเนินในช่วงที่มีการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 และเมื่อภาพถ่ายคนเดินบนถนนข้ามตัวอักษรนี้เผยแพร่ลงโลกออนไลน์ก็มีคนแชร์ไปถึง 2,000 ครั้ง

หลังจากนั้น PrachathipaType ก็ร่วมขับเคลื่อนประเด็นการเมืองด้วยการออกแบบตัวอักษรมาโดยตลอด จนถึงงานล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า ‘33712’ ฟอนต์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกราฟอภิปรายงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของพรรคก้าวไกลซึ่ง PrachathipaType ทำออกมาครบชุด ทั้งพยัญชนะ 44 ตัว สระอีก 21 ตัว และวรรณยุกต์อีก 4 ตัว ให้คนสามารถเอาไปประกอบเป็นคำต่างๆ และจุดประเด็นคำถามให้กับคนที่อาจจะไม่เคยรับรู้ถึงงบประมาณส่วนนี้ได้

ในมุมของนักออกแบบอย่าง PrachathipaType สิ่งที่ทำขึ้นมาไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เขายังหวังให้การดีไซน์ฟอนต์ไทยในแบบใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนได้เห็นว่าวงการออกแบบตัวอักษรไทยก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับประชาธิปไตยไทยได้ด้วย

การไถ่บาปต่อคนรุ่นใหม่ของนักออกแบบวัย 40

“ผมบอกกับหลายคนว่าเพจนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการไถ่บาปของคนเจนฯ เอกซ์อย่างผมต่อความรู้สึกที่ว่าเรามีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย และมีหน้าที่เอาศักยภาพของตัวเองมาทำอะไรให้กับกลุ่มคนที่เป็นอนาคตของประเทศ”

PrachathipaType เริ่มต้นเล่าจุดประสงค์ที่ทำให้เขาเริ่มออกมาเรียกร้องเรื่องการเมืองผ่านตัวอักษรให้เราฟัง ก่อนจะบอกถึงเหตุผลที่ทำให้เขานิยามว่าการทำเพจคือการไถ่บาปชนิดหนึ่ง

“ตั้งแต่ไปเรียนที่อังกฤษเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมสนใจการเมืองมาตลอดแต่ไม่ได้ลงมือทำอะไร ที่นั่นเราเห็นความแตกต่างของบ้านเมืองเลยรู้ว่ามีหลายอย่างในบ้านเราผิดปกติ โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต หรือเรื่องใกล้ตัวผมอย่างหน้าที่ของกราฟิกดีไซน์ในการส่งเสริมสังคม

“พอกลับมาไทย ผมทำงานกับกลุ่มธุรกิจเล็กๆ อีกบทบาทก็เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ผมพบในช่วงปีที่ผ่านมาคือความสนใจของเด็กเปลี่ยนไป เช่น เปิดสารคดีเรื่อง Graphic Means: A History of Graphic Design Production เด็กไม่ได้สนใจแค่เรื่องเทคนิคแต่ถามเรื่องสิทธิอันไม่เท่าเทียมของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์” 

อีกประเด็นที่เขาคิดว่าสำคัญคือข้อค้นพบที่ว่าคนรุ่นใหม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการมองไม่เห็นอนาคตที่จะดีได้ของตัวเอง 

“ผมไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก แต่เรารู้สึกว่าเด็กที่เราสอนก็เหมือนเป็นลูกเรา อย่างบางคนดูแล้วเป็นคนมีความสามารถ อนาคตน่าจะดีเลย แต่ทำไมเขาต้องเรียนจบออกมาเจอบ้านเมืองแบบนี้ล่ะ

“ก่อนที่สังคมจะมาถึงช่วงที่คนเริ่มพูดเรื่องย้ายประเทศ ผมคุยกับเพื่อนที่มีลูก เขาว่าจะเลี้ยงลูกแบบที่ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ลูกเก่งที่สุดจนสามารถไปทำมาหากินในประเทศไหนก็ได้ในโลก ผมว่ามันเหมือนเรายอมรับสภาพความเจ็บป่วยของสังคมไปแล้ว พอม็อบเด็กๆ เกิดขึ้นมาผมเลยรู้สึกเหมือนโดนตบหน้าว่าลุงอายุ 40 อย่างมึงนี่กระจอกมากเลยที่ปล่อยให้สังคมเป็นแบบนี้”

ด้วยความรู้สึกที่สะสมมากขึ้น เขาจึงคิดว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง “ไม่งั้นเราในอนาคตจะกลับมามองตัวเองในอดีตยังไงกัน” 

PrachathipaType กับการออกแบบตัวอักษรเพื่อการเมืองไทย

เริ่มแรกนักออกแบบแห่ง PrachathipaType ยังไม่ได้เริ่มต้นทำเพจทันที แต่เขาร่วมทำงานกับศิลปินกราฟิตี้ Headache Stencil ก่อน โดยออกแบบตัวอักษรไปพ่นบนถนนราชดำเนินในวันที่ 19 กันยายนปีที่แล้ว

“ผมถามว่าช่วงนี้เขาจะทำงานอะไร เขาบอกว่าจะไปพ่นคำว่า ‘ศักดินาจงพินาศ’ ที่ถนนราชดำเนิน ผมเลยเอาฟอนต์ที่เคยออกแบบก่อนหน้านี้มาทำเพิ่มเติม”

เขาเริ่มด้วยการเข้าไปที่ Google Earth ดูขนาดพื้นที่ของถนนราชดำเนินว่ากว้างกี่เมตร แล้วเริ่มเอาฟอนต์ที่มีมาเขียนเป็นคำ ออกแบบให้เหมาะกับขนาดของถนน 

“วันจริงโกลาหลมาก มันฉุกละหุกหลายอย่าง กลัวตำรวจจะมาเจอด้วย ตอนนั้นฝนก็ตกและมันเริ่มมืดอันตราย พ่นได้แค่คำว่าศักดินา ทุกคนก็เก็บของแยกย้าย แต่ผมเดินกลับไปอีกรอบ เห็นคนเดินข้ามคำว่าศักดินาเลยถ่ายรูปเก็บไว้”

เขาบอกว่าฟอนต์นี้ไม่ได้คิดคอนเซปต์ไว้แต่แรกแค่หยิบสิ่งที่มีมาทำใหม่ แต่เพราะทุกอย่างเหมาะเจาะพอดี ทั้งลักษณะฟอนต์ที่หนาทึบเหมือนทางม้าลาย และการพ่นเป็นคำว่าศักดินา ซึ่งแม้ว่าจะขาดคำว่า จงพินาศ ไปจากความตั้งใจเดิม แต่ก็เป็นคำปลายเปิดที่ทำให้คนคิดต่อจากการเดินข้ามคำนี้ได้

“มันเหมือนดวงดาวมาเรียงต่อกันพอดี ผมเลยคิดว่าจะเปิดเพจ PrachathipaType ขึ้นมา แล้วออกแบบฟอนต์ทางม้าลายและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมดให้ครบชุดเพื่อให้ประชาชนเอาไปใช้ต่อได้” 

เหตุผลที่ทำให้เขาเลือกสื่อสารผ่านการออกแบบฟอนต์เพราะเป็นเครื่องมือที่เขาถนัดที่สุด และยังไม่เห็นใครใช้วิธีนี้ในการสื่อสารประเด็นการเมืองมากนัก เขาจึงอยากให้การเคลื่อนไหวมีเครื่องมือสื่อสารมากขึ้น ครบทั้งภาพ เสียง หรือแม้แต่ตัวอักษร

“ผมมีคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบในการทำงานคือ Jonathan Barnbrook กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอังกฤษที่ทำงานประเด็นการเมืองบ่อยๆ ผมอยากเอาความถนัดมาทำเรื่องแบบนั้น ประกอบกับผมเป็นคนชอบทำฟอนต์ แต่ทำทีไรก็ไม่เสร็จเป็นชุด ทำออกมาเฉพาะคำเท่านั้น พอทำ PrachathipaType ผมคิดว่ามันจะช่วยบังคับให้ผมทำเสร็จสักที” เขาหัวเราะ

แม้จะเริ่มก่อตั้งเพจตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ PrachathipaType ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาเขายังคงหาแนวทางดีไซน์ฟอนต์ให้ตอบโจทย์ต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ

“ตอนทำเพจแรกๆ ผมยังไม่มีแผนว่าจะทำฟอนต์แบบไหนออกมาบ้างเพราะยังไม่มีโจทย์เชิงฟังก์ชั่น เช่น ทำฟอนต์ที่คนสามารถเอามาประกอบเป็นคำได้ง่ายในม็อบ ผมลองคิดภาพการเอาเทปกาวมาแปะๆ เป็นคำ แต่พอคิดดูดีๆ แล้วม็อบเขามีวิธีที่มันง่ายกว่านั้นหรือเปล่า แล้วทำไมเขาต้องมาใช้อักษรสไตล์เราด้วย” 

ช่วงแรกเขาจึงออกแบบฟอนต์ตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ฟอนต์หัวหาย ที่ PrachathipaType เอาฟอนต์สารบัญมาตัดหัวออกเพื่อสื่อถึงผู้มีอำนาจที่ไม่เห็นหัวประชาชนในวันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมของ iLaw ซึ่งมีคนลงชื่อเป็นแสนๆ คนถูกสภาตีตกไป

“เราเลือกฟอนต์สารบัญเพราะข้าราชการชอบใช้ แต่ก็ไม่ได้ออกแบบอะไรมากแค่เอาฟอนต์มาดูว่าจะตัดหัวยังไงให้สวย ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ได้มาจากการออกแบบของเราอยู่ดี”

ต่อจากเรื่องประเด็นทางการเมือง เขาเริ่มคิดถึงเรื่องการออกแบบมากขึ้น จากคำถามที่ว่าจะแปลงประเด็นทางการเมืองเป็นฟอนต์ได้ยังไง เขาก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกแบบด้วย เช่น ตัวอักษรที่กำลังจะออกแบบจะมีสุนทรียะแบบไหน คนเห็นตัวอักษรแล้วรับรู้ถึงความโกรธหรือมองเห็นอะไร

“หรืออีกแนวคิดคือฟอนต์จะต้องมี historical reference อะไรไหม ซึ่งพอคิดจริงๆ แล้วมันคงไม่เท่ากับการทำฟอนต์ที่อ้างอิงมาจากศิลปะในยุคคณะราษฎรซึ่งมีคนทำไปแล้ว” 

จนกระทั่งเขาเห็นกราฟงบประมาณสถาบันกษัตริย์ที่พรรคก้าวไกลอภิปรายในสภาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจึงตัดสินใจว่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง

“ด้วยความที่เครียดกับโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ เมสเซจที่ส่งมาผ่านกราฟมันจึงบีบคั้นมากว่างบสถาบันกษัตริย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งที่ประเทศชาติกำลังวิกฤต ผมเลยมองเห็นแนวทางของ PrachathipaType ว่าถ้ามีประเด็นทางการเมืองอะไรที่ทำให้เราจี๊ดขึ้นมาอีก เราจะทำให้มันเป็นฟอนต์” 

33712 ฟอนต์ที่ออกแบบจากงบประมาณที่คนไทยไม่ได้ออกแบบเอง

ก่อนที่ PrachathipaType จะอธิบายเบื้องหลังการดีไซน์ฟอนต์ 33712 ให้ฟัง เขาเริ่มต้นด้วยการพูดถึงประโยคสำคัญของนักออกแบบตัวอักษรในตำนานอย่าง Matthew Carter ที่ว่า ‘Type is a beautiful group of letters not a group of beautiful letters’ 

“ประโยคนี้หมายความว่าการทำฟอนต์ ตัวอักษรแต่ละตัวควรจะมีความเชื่อมโยงกันว่ามันคือชุดเดียวกัน ทั้งลักษณะเส้น บุคลิก การเว้นช่องว่าง มีความต่อเนื่องในทุกตัวอักษร และไม่ว่าเราพิมพ์คำว่าอะไรก็ตาม ต้องดูดีในทุกสถานการณ์ แต่ทีนี้ก็อาจจะต้องบาลานซ์ระหว่างความเหมาะสมของรูปลักษณ์พยัญชนะและความสวยงามในแต่ละตัวด้วย”

PrachathipaType จึงเริ่มออกแบบฟอนต์ 33712 จากการเอาตารางจัดกลุ่มตัวอักษรไทยของปริญญา โรจน์อารยานนท์ มาแยกรูปทรงของตัวอักษรที่มีลักษณะคล้ายกันก่อน เพื่อให้ออกแบบง่ายขึ้น เช่น ตัว ก ฎ ฏ 

“ทีนี้เราตั้งต้นออกแบบจากกราฟที่มีชิ้นส่วน วิธีการคือเอาวงกลมมาหมุนไปมา หรือเด็ดกราฟบางส่วนออกให้มันเป็นตัวอักษร”

เขายกตัวอย่างการออกแบบตัว ก ไก่ ที่เมื่อต้องแปลงออกไปเป็นตัว ภ สำเภา เขาก็จับชิ้นส่วนของกราฟซ้ายมือยื่นออกมาให้ตัว ก มีหัวซึ่งจะออกมาเป็นตัว ภ ในที่สุด

แต่มีบางตัวที่นักออกแบบต้องดูความเหมาะสมในการดีไซน์ เช่น ตัวอักษรประเภท ณ ฌ ญ และ ฒ เพราะเป็นพยัญชนะที่สามารถเอาตัวอักษร 2 ตัวมารวมกันได้ เช่น ตัว ณ สามารถเอาตัว ถ มารวมกับ น จะออกมาเป็น ณ 

“แต่ปรากฏว่ากับการออกแบบด้วยกราฟงบประมาณ ถ้าเราเอาตัว ถ กับ น มาผสมกัน ตัว ณ จะกว้างกว่าตัวอักษรที่มีขนาดใกล้กันอย่างตัว ฌ ญ และ ฒ อีก ผมเลยคิดว่างั้นไม่จำเป็นต้องเอามารวมกันก็ได้ แต่ใช้วิธีการดึงชิ้นส่วนของกราฟบางส่วนมาเติมให้มันดูออกว่าเป็นตัว ณ” 

PrachathipaType ยกตัวอย่างเพิ่มเติมถึงการออกแบบบางตัวอักษรที่คล้ายกันอย่างตัว พ และ ฟ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเปิดตัวฟอนต์ 33712 ด้วยการทดลองเอาตัวอักษรมาประกอบเป็นคำว่า ‘พอเพียง’ ไปแล้ว แต่เมื่อต้องทำฟอนต์เต็มชุดแล้วนำตัว พ มายืดปลายกราฟให้เป็น ฟ กลับไม่ตอบโจทย์ในด้านสุนทรียะนัก เขาจึงดีไซน์ตัว ฟ ออกมาใหม่ โดยไม่ยึดติดกับ พ ตัวเดิมเลย

“ฟอนต์นี้ออกแบบยากกว่าฟอนต์ทางม้าลายหน่อย เพราะว่างานนั้นใช้ฟอนต์เดิมแล้วเอามาดัดแปลงให้มีรอยบาก และต้องทำให้ฟอนต์ได้สัดส่วนแบบ 2×8 เพราะมันจะทึบและหนาแบบทางม้าลาย” 

หลังจากดีไซน์ฟอนต์ 33712 ออกมาจนครบจำนวนแล้ว เขานำมาผลิตเป็นสติ๊กเกอร์ให้คนเอาไปประกอบเป็นคำได้ตามใจชอบ พร้อมทั้งยังทำเสื้อที่ใช้ฟอนต์จากงบประมาณสถาบันกษัตริย์ประกอบเป็นคำว่า ‘พอเพียง’ ออกมาด้วย

“ผมคิดว่าสมมติมีเด็กใส่เสื้ออยู่บ้านแล้วแม่ถามว่าเสื้อเขียนว่าอะไร หรือเสื้อมาจากไหนก็น่าจะเป็นการถามไปสู่เบื้องหลังของการออกแบบฟอนต์นี้ และสร้างพื้นที่เล็กๆ ในการคุยต่อเรื่องนี้กันได้” 

PrachathipaType กับการออกแบบฟอนต์ไทยให้ก้าวไปพร้อมกับประชาธิปไตย

ดีไซเนอร์แห่ง PrachathipaType บอกกับเราว่าอีกประเด็นที่ทำให้เขาอยากทำฟอนต์ไทยออกมา เพราะในวงการออกแบบยังมีดีไซเนอร์ไทยจำนวนไม่มากนักที่ออกแบบฟอนต์ไทยแบบใหม่ๆ ออกมา

“ผมเป็นคนที่ตั้งคำถามมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนว่าเราถูกปลูกฝังให้ภูมิใจที่มีภาษาและพยัญชนะของตัวเอง แต่ทำไมดีไซเนอร์ไทยไม่ค่อยชอบใช้ฟอนต์ภาษาไทย เรามีสื่อต่างๆ ที่ 99.99 เปอร์เซ็นต์ก็ทำโดยคนไทยแต่ว่าเรารู้สึกโอเคกว่าที่จะใช้ภาษาอังกฤษ

“ฟังแล้วดูเหมือนผมเป็นคนชาตินิยมแต่ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น คือมันมีกรณีที่ว่าทำไมคนต่างชาติมักใช้ฟอนต์ Tahoma เวลาทำงานออกแบบเกี่ยวกับประเทศไทย เพราะเขาไม่รู้ว่าตอนนี้คนไทยร่วมสมัยเขาเสพตัวอักษรไทยในลักษณะไหน มันไม่มีภาพที่ชัดเจนที่จะสื่อสารแบบนั้น เขาก็จำว่ามันต้องมีลักษณะตัวอักษรแบบหัวกลมๆ ทั้งที่จริงๆ สัดส่วนมันไม่ได้สวยงามในความรับรู้ของคนไทยที่เป็นดีไซเนอร์”

เขาจึงคิดว่าไม่มากก็น้อย การออกแบบของ PrachathipaType จะช่วยทำให้เห็นว่าฟอนต์ไทยสร้างเป็นรูปร่างใหม่ๆ ได้ สามารถแทรกเมสเซจบางอย่างลงไปในตัวอักษรได้ ทั้งหวังว่าจะช่วยสะกิดใจให้คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่วงการออกแบบได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาฟอนต์ไทยได้

“เคยมีครั้งหนึ่งที่เด็กในคลาสถามผมว่า เรียนออกแบบทำงานเกี่ยวกับการเมืองไทยอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าถ้าเขาได้มองเห็นความเป็นไปได้ว่ากราฟิกดีไซน์ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เช่น เดี๋ยวนี้มีคนในวงการออกมาทำงานการเมืองเยอะมาก เช่น Punch Up หรือได้เห็นว่าการออกแบบฟอนต์ก็เอามาพูดเรื่องการเมืองได้ เราก็อาจจะได้คนที่ socially active หรือแอ็กทิวิสต์ในสายอื่นๆ เยอะขึ้นไปอีก ไม่ใช่ว่าจำเป็นต้องมีแอ็กทิวิสต์จบจากคณะสังคมศาสตร์อย่างเดียว” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone