“เราไม่ได้สู้เพื่อให้ทุกคนพูดแบบเดียวกัน แต่ให้พูดได้แบบที่อยากพูด” ธนาวิ โชติประดิษฐ

Highlights

  • ไม่ว่าจะทางตรง-ทางอ้อม มากหรือน้อย ศิลปะและการเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันมาโดยตลอด ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเช่นนี้ เราจึงได้เห็นศิลปินออกมาสื่อสารประเด็นการเมืองผ่านงานศิลปะกันมาก
  • ปรากฏการณ์นี้เกิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารในปี '57 แม้ว่าเพดานในการสื่อสารจะกดทับมากขึ้นทุกวัน ทั้งจากการมีเจ้าหน้าที่คุกคามศิลปิน ออกหมายจับ ศิลปินต้องกลายเป็นผู้กระทำผิด แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามตะเกียกตะกายไต่ระดับเพื่อให้เพดานเสรีภาพในการแสดงออกสูงขึ้น
  • เราชวน ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมพูดคุยว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาพัฒนาการการทำงานศิลปะในประเด็นสังคมการเมืองของศิลปิน การเซนเซอร์ บริบทในสังคมไทยที่ส่งผลต่อการทำงานของศิลปิน รวมถึงสิ่งที่คนในแวดวงสร้างสรรค์ต้องผลักเพดานการสื่อสารขึ้นไปนั้นเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ Art is not a Crime ว่าด้วยงานศิลปะและศิลปินผู้สร้างงานขับเคลื่อนสังคม เพราะศิลปะไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่ยังเป็นที่ทางในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ไม่ใช่อาชญากรรม

วันที่ 20 สิงหาคม 2563 คือวันที่ Hockhacker หรือ ฮอคกี้–เดชาธร บำรุงเมือง หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Rap Against Dictatorship และ Elevenfinger หรือ บุ๊ค–ธนายุทธ ณ อยุธยา แรปเปอร์จากคลองเตย เป็น 2 ใน 9 คนที่ถูกจับกุมเนื่องจากการขึ้นเวทีเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 

กลิ่นและบรรยากาศการเมืองคุกรุ่นทำให้เกิดกระแส Art is not a Crime ในแวดวงศิลปะขึ้นทันทีหลังจากทั้งสองคนถูกจับ (และอาจพูดได้ว่าซีรีส์บทความชื่อเดียวกันนี้ของ a day ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์นี้เช่นกัน)

แต่พูดกันตามความเป็นจริง นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เสรีภาพการแสดงออกของพื้นที่ศิลปะ (รวมไปถึงของประชาชนทุกคน) ถูกตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมาพื้นที่นี้ได้เปลี่ยนสถานะของศิลปิน นักเขียน นักแสดง และสารพัดอาชีพแห่งวงการสร้างสรรค์ไปเป็นผู้กระทำผิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ถูกเรียกเข้ารายงานตัวกับ คสช. ทำให้เขาต้องลี้ภัยในต่างประเทศ 

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักแสดงจากละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่าถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี 6 เดือนจากการแสดงละครเรื่องนี้

ส่วนเพื่อนของพวกเขา สยาม ธีรวุฒิ ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมีข่าวว่าถูกจับกุมส่งกลับไทยต้นปี 2562 แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเห็นเขา

ในขณะที่วงดนตรีขับร้องเพลงเนื้อหาทางการเมืองอย่าง วงไฟเย็น สมาชิกทั้ง 4 คนได้ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส 

แน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความหวาดกลัวให้คนทำงานศิลปะมากแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ที่เพดานเสรีภาพการแสดงออกถูกกดให้ต่ำลง การทำงานของศิลปินในประเทศก็มีข้อจำกัดมากขึ้น กอล์ฟ–อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นักแสดงละครเรื่อง บางละเมิด โดยกลุ่ม B-floor ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้ามาชมการแสดงและถ่ายภาพ พร้อมบอกให้กอล์ฟ ‘ขออนุญาต’ แสดงละครเรื่องนี้ก่อน ทำให้นักแสดงและทีมงานกลับมาทบทวนและตัดสินใจเซนเซอร์บางฉากออกไป  

ในปี 2560 นิทรรศการ ไร้มลทิน (Whitewash) โดยหฤษฎ์ ศรีขาว จัดแสดงที่ Gallery VER ถูกถอดงานเพียงไม่กี่วันก่อนงานจบลง หรือในช่วงโควิด-19 ศิลปินกราฟฟิตี้โดนคุกคามถึงที่พักเมื่อเขาโพสต์วิพากษ์วิจารณ์จุดคัดกรองโรคที่สนามบิน และยังไม่นับการห้ามฉายหนัง การมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบไปแวะเวียนเยี่ยมชมเสวนา หรือกิจกรรมอื่นๆ กันอย่างไม่ขาดสาย

อาจบอกได้ว่า ท่ามกลางสภาวะเพดานต่ำ เสียงของเหล่านักสร้างสรรค์ต่างก็ตะเกียกตะกาย ดันพื้นเพดานนั้นออกมาเพื่อตั้งคำถามกับสังคม เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มศิลปะปลดแอก – FreeArts จัดเสวนาว่าด้วย 15 ปี แห่งเสรีภาพและศิลปะร่วมสมัยหลังรัฐประหาร โดยมี ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยกับ ถนอม ชาภักดี อาจารย์ นักวิจารณ์ศิลปะ, สมรัก ศิลา ผู้ร่วมก่อตั้ง WTF Gallery and Cafe, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นักแสดงจากกลุ่ม B-floor และธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ก่อนเสวนาในครั้งนั้น เราชวน ธนาวิ โชติประดิษฐ ร่วมพูดคุยถึงพัฒนาการ การทำงานศิลปะในประเด็นสังคมการเมืองของศิลปิน การเซนเซอร์ บริบทในสังคมไทยที่ส่งผลต่อการทำงานของศิลปิน รวมถึงสิ่งที่คนในแวดวงสร้างสรรค์ต้องผลักเพดานการสื่อสารขึ้นไป แม้ว่าทั้งหมดนี้จะไม่สามารถรวบรวมงานหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่จากการพูดคุยทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า เพดานและการทำงานศิลปะแนวสังคมการเมือง โดยเฉพาะศิลปะแนวทัศนศิลป์ในบ้านเราเป็นยังไงบ้าง

ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าคำถามถึงเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นแรงปะทะที่กำลังรวมเป็นพลังเรียกร้องให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือไม่ก็ตาม

1. คนรุ่นใหม่เริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างอำนาจหลังรัฐประหารปี 2557 มากขึ้น

ศิลปะและการเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม มากหรือน้อย นี่คือสิ่งแรกที่ธนาวิบอกกับเรา และที่ผ่านมาศิลปินที่สนใจสังคมการเมืองก็หยิบเหตุการณ์ต่างๆ มาเล่าผ่านงานศิลปะบ่อยครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการเมืองและวิธีคิดของคนในแต่ละยุค

เพราะถ้านับมาตั้งแต่ปี 2549 หลังรัฐประหาร ไม่มีศิลปินที่ทำงานวิพากษ์สังคมออกมาทำงานเคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านรัฐประหารเท่าไหร่นัก แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557  

“หลังปี ’57 อาจจะยังไม่เกิดงานศิลปะในทันที แต่ว่ามันค่อยๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ แล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นคือศิลปินรุ่นใหม่ๆ รุ่นที่เด็กกว่าเรา อายุ 30 ลงไป เริ่มหันมาทำงานที่วิพากษ์วิจารณ์ทหารหรือสถาบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากหลังรัฐประหารปี ’49 ช่วงนั้นเงียบสงัด กลุ่มศิลปินการเมืองยุค 90s ก็เงียบ เพราะว่าทุกคนคงแฮปปี้”

แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงปี 2555 เกิดคดีโด่งดังของอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง sms มีศิลปินที่ทำงานศิลปะออกมาตั้งคำถามถึงเสรีภาพในการแสดงออก และแตะถึงโครงสร้างอำนาจ อย่างมิตร ใจอินทร์ ที่ทำการอดอาหารจำนวน 112 ชั่วโมง 

ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง (112 Hunger Strike) หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ที่มาภาพ ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ

“และช่วงก่อนรัฐประหารปี 2557 สิ่งที่เราเห็นได้มากเลยคือ นักกิจกรรมทางการเมืองเลือกใช้ปฏิบัติการทางศิลปะมาสื่อสารประเด็นโครงสร้างทางการเมืองมากกว่าศิลปิน เช่น บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) จัดกิจกรรม ‘ที่นี่มีคนตาย’ พาคนเสื้อแดงไปยังจุดต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือราชประสงค์แล้วใช้สีแดงเทราดตัวเพื่อบอกว่าเคยมีการสังหารประชาชนที่นี่”  

ที่มาภาพ: ประชาไท

“ทีนี้หลังปี ’57 เราจะเห็นคนที่อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเจเนอเรชั่นที่โตมาพร้อมกับความไม่สงบทางการเมือง คืออย่างรุ่นเราจะมีชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นที่สังคมไม่ได้มีปัญหาทางการเมืองแวดล้อมอยู่จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่ว่าคนรุ่นเด็กกว่าเราโตมากับสถานการณ์ ข้อมูล และสภาพแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง การเมืองมันไม่เป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้นการทำงานศิลปะที่พูดถึงการเมืองมันจึงเกิดขึ้นมากกว่า รวมทั้งจะมีบางคนที่กลับไปทบทวนสิ่งที่ตัวเองเคยทำ เช่น ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่ โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยพาไปบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เขาก็จะย้อนกลับมาดู แล้วทำเป็นงานศิลปะออกมา”

ธนาวิพูดถึงงานนิทรรศการภาพถ่าย ไร้มลทิน (Whitewash) ของหฤษฎ์ ศรีขาว ที่หยิบประสบการณ์เข้าร่วมวันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อตอนอายุ 15 เมื่อหฤษฎ์เติบโตขึ้น เขากลับมาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ผ่านงานศิลปะ

ที่มาภาพ: ธนาวิ โชติประดิษฐ

“แล้วกลายมาเป็นงานที่ซวยมาก เพราะเจ้าหน้าที่มาเห็นพอดี” เธอเล่าความตลกร้ายของเรื่องนี้ที่นิทรรศการจัดขึ้นในช่วงรัฐบาลทหาร

ความตั้งใจแรกของเจ้าหน้าที่ต้องการไปโกดัง N22 เพื่อตรวจสอบงาน สุขสลาย (The Shards Would Shatter At Touch) ของธาดา เฮงทรัพย์กูล ที่ Cartel Art Space แต่เมื่อไปช่วงแปดโมงเช้า ซึ่งยังไม่มีแกลเลอรีไหนเปิดทำการ เจ้าหน้าที่จึงได้รับคำแนะนำจากเจ้าของแกลเลอรีอีกแห่งให้กลับมาอีกทีช่วงบ่าย

“ตอนนั้นธาดาทำงานที่พูดถึงเรื่องของนักโทษการเมือง ผู้ลี้ภัย โดยศิลปินจะแนะนำว่า คุณเดินเข้ามาในห้อง หยิบภาพสีดำบนชั้นนี้ขึ้นมาแนบกับหน้าอก ภาพดำจะกลายเป็นภาพคนขึ้นมา (เป็นปฏิกิริยาจากสารเคมีที่มีความไวต่อการเปลี่ยนของอุณหภูมิ เมื่อโดนความร้อนจากร่างกายของเรา) แล้วจะมีหลายเลขไปเชื่อมโยงกับข้อความบนผนังห้อง เช่น หมายเลขนี้คือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งลี้ภัยในฝรั่งเศส” 

ที่มาภาพ: ธนาวิ โชติประดิษฐ

ที่มาภาพ: ธนาวิ โชติประดิษฐ

แต่หลังจากเจ้าหน้าที่กลับมา งานของธาดาก็ได้เก็บออกจากแกลเลอรีแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่เดินไป Gallery VER ซึ่งอยู่ข้างกัน แล้วเห็นงานของหฤษฎ์พอดี

“เขาก็เห็นงานที่มีภาพทหาร เลยขอให้ถอดงานออก เป็นความซวยของห้องข้างๆ”  

แม้ธนาวิจะไม่สามารถตอบแทนศิลปินรุ่นใหม่ได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากการเมืองแล้ว อะไรที่กระตุ้นให้พวกเขาเริ่มต้นทำงานศิลปะที่พูดปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง “แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ คนในสังคมจำนวนมากเห็นความเชื่อมโยง หรือความคล้ายคลึงกันบางประการระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันกับเรื่องในอดีต ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในแวดวงศิลปะ เพราะหลายคนมองเห็น จึงไม่น่าแปลกที่ศิลปินจะมีมุมมองแบบนั้นแล้วแสดงออกผ่านงานศิลปะ” 

2. ความกลัวที่ไม่มีขอบเขต

ในภาวะที่เพดานการแสดงออกหลายอย่างยังจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมาย ศิลปินหลายคนต้องคอยระมัดระวังในการสื่อสาร แกลเลอรีเองก็ต้องมี self-censorship ธนาวิชี้ชวนให้เห็นว่าเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงของศิลปินแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน

ถ้าพูดถึงความกลัวรวมๆ ปัญหาคือเรายังมีกฎหมายมาตรา 112 ที่ตีความได้ครอบจักรวาล แล้วใครก็สามารถแจ้งได้ ก็เลยทำให้คนกลัว เพราะไม่รู้ว่าขอบเขตที่ทำได้ ทำไม่ได้ อยู่ตรงไหน เราไม่รู้หรอกว่าที่เราทำไป ที่เราเข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในขอบข่าย มันอาจเข้าไปอยู่ในข่ายก็ได้ นั่นคือแกนสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากอยากให้ยกเลิก”

“แต่เนื่องจากตอนนี้ยังไม่ยกเลิก และที่ผ่านมายังฟังก์ชั่นอยู่ในสังคมไทย เลยทำให้ความกลัวของคนไม่มีขอบเขต ดังนั้น ศิลปินในฐานะคนทำงานศิลปะจะประเมินความเสี่ยงของตัวเองไม่เท่ากัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าได้แค่นี้ บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่พูดเลยดีกว่า หยุดไปก่อน รอไปก่อน หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าขอขยับมันไปอีกนิดหนึ่ง ซึ่งการประเมินตรงนี้ขึ้นอยู่กับตัวพื้นที่ทางศิลปะที่เขาไปทำงานอีกด้วย จึงเป็นอีกปัจจัยในการพิจารณาว่าแค่ไหนได้ แค่ไหนไม่ได้ ผลักไปมากกว่านี้อีกได้ไหม”

“สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้โทษว่าเขาป๊อด มันไม่ได้ง่ายๆ แบบนั้น เพราะทุกคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน แล้วปัญหาของการประเมินอันนี้ มันไม่ได้เป็นที่เรา แต่เป็นเพราะตัวกฎหมายสามารถตีความได้ครอบจักรวาลทำให้คนรู้สึกว่าเขากลัวแล้วไม่รู้จะประเมินยังไงดี”

3. ไม่ว่าการแสดงออกแบบไหน ควรมีทางเลือกที่หลากหลายไม่ใช่การบังคับ

ท่ามกลางความกลัวที่ว่ามา สิ่งที่น่าสนใจคือตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ศิลปินที่เลือกสื่อสารประเด็นสังคมการเมืองและแตะถึงโครงสร้างอำนาจเลือกนำเสนองานศิลปะออกมาแบบไหน มีนัยสำคัญ ตั้งคำถาม และ ‘ซ่อน’ ประเด็นแหลมคมผ่านความคิดสร้างสรรค์ไว้ยังไงเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ เราเริ่มต้นถามธนาวิ

“ถ้าซ่อนจนไม่มีใครรู้เลยว่าพูดอะไรอยู่ก็อาจไม่มีใครสามารถเก็บเมสเซจที่ว่าได้ บางทีคำถามอาจไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าทำยังไงให้มันซ่อนได้ แต่คำถามน่าจะอยู่ตรงที่ว่าทำยังไงให้พูดได้ในแบบต่างๆ มากกว่า” 

“เราคิดว่าใครที่อยากจะพูดแบบตรงไปตรงมาก็ควรจะต้องพูดได้ หรือใครที่รู้สึกว่าเป็นคนชอบซ่อนในสัญลักษณ์บางอย่าง เขาก็ควรที่จะทำได้เหมือนกัน มันไม่ได้มีแบบไหนดีกว่าแบบไหน ดังนั้น สิ่งที่อยากย้ำคือ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ทุกคนพูดแบบเดียวกัน แต่เพื่อให้ทุกคนพูดได้ในแบบที่ตัวเองอยากพูด การพูดหรือแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ควรเป็นทางเลือกที่แต่ละคนมีสิทธิเลือกได้ ไม่ใช่ทางบังคับ อันนี้คือสิ่งที่เรามองว่าจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกไปทำไม มันคือการทำให้ความเสี่ยงหายไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ความกลัวตรงนี้ไม่เป็นปัจจัยในการทำงานศิลปะอีกต่อไป” 

อีกประเด็นสำคัญที่เธอยอมรับว่าต้องพูดถึงหลายครั้ง เพราะยังเป็นปัญหาอยู่ แม้กระทั่งกับคนในแวดวงศิลปะเองคือ ศิลปินทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองเพื่อแสดงออกว่ามีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว

บางทีการเรียกร้องว่าศิลปินจะต้องทำงานที่พูดเรื่องการเมืองถึงจะเรียกได้ว่าคุณได้ contribute บางอย่างให้กับการแก้ปัญหาการเมือง เรารู้สึกว่ามันเป็นทางที่คับแคบเกินไปแล้วมันไม่แฟร์ การไม่ทำงานเชิงการเมืองไม่ได้แปลว่าไม่สนใจการเมือง แสดงว่าคุณเพิกเฉยหรือเปล่า เปล่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ในหลายกรณีศิลปินที่ทำงานเรื่องอื่นๆ เขาเข้าร่วมแก้ปัญหาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ประชากรชาวไทยคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เขาอาจไปชุมนุมหรือร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ iLaw ก็ได้”

“ต้องพูดเรื่องนี้หลายครั้ง เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับหลายๆ คน ถ้าเราเชื่อเสรีภาพในการแสดงออก เชื่อเรื่องความหลากหลาย คุณต้องเปิดให้คนทำงานแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับการเมืองก็สามารถเป็นคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ ยิ่งตอนนี้ทุกคนรู้สึกฮึกเหิม อยากมีส่วนร่วมกับการชุมนุม อยากจะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเป็นความตั้งใจที่ดีนะคะ แต่บางทีเราก็ลืมกันไปและไปเบียดบังคนอื่นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันเลยดูขัดกันถ้าจะบอกว่าเราให้ค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกและความหลากหลาย แต่เรากลับพยายามทำให้ศิลปินทุกคนต้องพูดเรื่องเดียวกัน ด้วยวิธีแบบเดียวกัน”

4. ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่อาจใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อเปลี่ยนสำนึกคน

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะ แม้ธนาวิมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 ปีมานี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างที่เธอบอกว่ามีงานศิลปะวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ในบทบาทที่เธอต้องจดบันทึกประวัติศาสตร์ ทำงานเกี่ยวกับช่วงเวลา และมองคนผ่านงานศิลปะ ธนาวิเชื่อว่านี่ไม่ใช่สำนึกใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงคนส่วนใหญ่ได้ทันที แม้ในยุคนี้จะมีตัวช่วยอย่างเทคโนโลยีช่วยเร่งการรับรู้ก็ตาม  

ต่อให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อนๆ ในเจเนอเรชั่นเราก็เข้าใจ มองโลกในแบบคล้ายๆ กัน ซึ่งไม่ใช่แบบเดียวกับคนอายุ 50-60 หรือแม้กระทั่งคนรุ่นเดียวกันที่มีวิธีคิดไม่เหมือนกับเราก็ยังมีอยู่ แต่เรายังอยู่ในสังคมนี้ร่วมกันอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ คนกลุ่มนี้จะหายไปจากประเทศ  ฉะนั้นการที่จะค่อยๆ เปลี่ยนคนในสังคมให้มีสำนึกในอีกแบบ มองคุณค่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในอีกแบบหนึ่งมันใช้เวลา”

“ไม่ได้พูดให้เสียกำลังใจ แต่การทำงานทางความคิด ไม่ว่าจะช่องทางศิลปะ วรรณกรรม หรือวิชาการ ของพวกนี้เป็นการเดินทางไกล ต้องอาศัยเวลายาวนานหลายสิบปี ซึ่งมันต้องไปควบคู่กันกับกลไกอื่นๆ เช่น การแก้กฎหมาย การแก้รัฐธรรมนูญ การทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ การไปลบล้างผลพวงของรัฐประหารที่ต้องตามแก้ แต่มันไม่ได้หมายความว่าต้องรอของพวกนั้นแก้ไปหมดก่อนแล้วค่อยมาทำงานศิลปะอย่างมีเสรีภาพ มันทำไปพร้อมๆ กันได้ ศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลักเพดานและเปลี่ยนสำนึกทั้งหมดนี้ มันไม่สามารถทำโดยลำพัง ดังนั้นสังคมควรจะต้องเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนความคิดที่ฝังหัวคน”

เมื่อเห็นว่าการเดินทางนี้จะใช้เวลานาน ธนาวิจึงมองว่าการทำงานไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในการประท้วง แต่ควรกระจายออกมาอยู่ในสื่อที่หลากหลายและไม่จำกัดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ที่ผ่านมาอุดมการณ์อนุรักษนิยมเลือกใช้สื่อทุกช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ วรรณกรรม จนกลายเป็นธรรมชาติของคนในสังคม 

“ดังนั้น การจะปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่จึงไม่จำเป็นต้องจำกัด มันจะป๊อปก็ได้ อยู่ในขบวนการใต้ดินก็ได้ เป็นเพลงอันเดอร์กราวนด์ หรืออยู่ในตำราวิชาการก็ได้ มันต้องการทุกที่เพื่อที่ว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องปกติ แล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามันแปลก ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้มันนาน การช่วงชิงพื้นที่เพื่อบ่อนเซาะสำนึกแบบเก่าที่ฝังรากมานานเพื่อเสนอสำนึกแบบใหม่ต้องการความร่วมมือของคนจำนวนมากและความถนัดอีกหลายแบบ ไม่ใช่ว่าต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นถึงจะมีความหมาย ไม่ใช่แค่ความกลัวเท่านั้นที่ทำให้คนไม่พูดตรงๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงยืนยันว่าการแสดงออกในรูปแบบที่หลากหลาย ผ่านช่องทางที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี