พื้นที่ศิลปะ พื้นที่แห่งการแสดงออก WTF Gallery and Cafe แกลเลอรีที่ใช้ศิลปะสะท้อนภาวะสังคม

Highlights

  • WTF Gallery and Café คือแกลเลอรีย่านทองหล่อที่มีจุดมุ่งหมายอยากให้ศิลปะเข้าถึงคนดู สะท้อนสภาวะทางสังคม และเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองของศิลปิน
  • ส้ม–สมรัก ศิลา ผู้ร่วมก่อตั้ง WTF เชื่อว่าศิลปะเป็นช่องทางในการสะท้อนภาวะสังคมได้ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเราจึงเห็นนิทรรศการที่เต็มไปด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาค การเรียกร้องประชาธิปไตย การสลายการชุมนุม หรือแม้กระทั่งชวนศิลปินที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองมาร่วมแสดงงานด้วยกัน 
  • ในวาระครบรอบขวบปีที่ 10 เราชวนส้มมาทบทวนถึงพื้นที่การแสดงงานศิลปะของ WTF ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปของการทำงานศิลปะในภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์บ้านเมืองส่งผลยังไงต่อศิลปินบ้าง และที่ทางการแสดงงานศิลปะประเด็นสังคมในไทยเป็นยังไง
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ Art is not a Crime ว่าด้วยงานศิลปะและศิลปินผู้สร้างงานขับเคลื่อนสังคม เพราะศิลปะไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่ยังเป็นที่ทางในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ไม่ใช่อาชญากรรม

ในโมงยามของการตื่นตัวและตอบรับการเมืองในบ้านเรา คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเมื่อภาพวาดในนิทรรศการลับหลัง What Lies Beneath งานล่าสุดของแกลเลอรีย่านทองหล่ออย่าง WTF Gallery and Café จะปรากฏข้อความเดียวกับชื่อซีรีส์ของบทความนี้ 

Art is not a crime” 

ไม่ใช่แค่การปกป้องและเน้นย้ำเสรีภาพในการแสดงออกผ่านศิลปะ แต่งานนี้กำลังสะท้อนให้เห็นภาวะที่สังคมกำลังเผชิญ เพราะรอบๆ พื้นที่ชั้นสองและชั้นสามของ WTF เต็มไปด้วยผลงานที่พูดถึงเรื่องราวที่คนกำลังพูดถึงในสังคม 

WTF Gallery

แต่นี่ไม่ใช่งานแรกที่ WTF ใช้ศิลปะพูดถึงสังคม ใครที่ติดตามแวดวงนี้คงรู้ดีว่าที่นี่เปิดให้ศิลปินแสดงจุดยืนทางการเมืองมาโดยตลอด เพราะ ส้ม–สมรัก ศิลา ผู้ร่วมก่อตั้ง WTF เชื่อว่าศิลปะเป็นช่องทางในการสะท้อนภาวะสังคมได้ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเราจึงเห็นนิทรรศการที่เต็มไปด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาค การเรียกร้องประชาธิปไตย การสลายการชุมนุม หรือแม้กระทั่งชวนศิลปินที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองมาร่วมแสดงงานด้วยกัน 

WTF Gallery
ในวาระครบรอบ 10 ปีของ WTF ท่ามกลางการตื่นตัวต่อการคุกคามศิลปินและคนในแวดวงศิลปะ เราชวนส้มมาร่วมทบทวนงานที่ผ่านมาของแกลเลอรีแห่งนี้ เธอชี้ชวนให้เห็นว่าในช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่แห่งศิลปะได้พบเจออะไรระหว่างทาง และภาวะสังคมส่งผลอะไรต่อพื้นที่ศิลปะและการทำงานของศิลปะบ้าง 

WTF Gallery

แกลเลอรีที่เชื่อว่าศิลปะจะเป็นตัวสะท้อนภาวะทางสังคม

“ความจริงแกลเลอรีนี้มันเกิดมาจากอาการอกหัก” ส้มเริ่มต้นเล่าที่มาให้ฟังก่อน “เพราะก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสทำงานในโปรเจกต์หนึ่งช่วยคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เมื่อผู้สนับสนุนไม่สามารถสนับสนุนต่อไปได้ โครงการจึงต้องหยุด แล้วเราจะทำยังไงดีให้ได้ทำงานแบบนี้ต่อไปได้ บ้านอยู่แถวนี้พอดี เดินผ่านมาเจอพื้นที่ว่างตรงนี้เลยคิดว่าน่าจะเปิดเป็นแกลเลอรีได้”

ส้มจึงชวนพาร์ตเนอร์ชาวโปรตุเกสเข้ามาลงทุนด้วย โดยตั้งใจให้ชั้นล่างเป็นบาร์และชั้นบนเป็นแกลเลอรี พร้อมตั้งชื่อกวนๆ ไปว่า WTF เพิ่มความสนุกและเป็นกันเองให้กับแกลเลอรีแห่งนี้

“เราไม่ได้ตั้งใจให้แกลเลอรีเป็นคอมเมอร์เชียล เพราะไม่มีแรงทำขนาดนั้น เลยต้องมีบาร์มาช่วย อีกอย่างคือเรามีเป้าหมายว่าอยากทำให้ศิลปะใกล้กับคนดู เพราะบางทีคนมักมองว่าศิลปะเป็นของสูง บางคนไม่เคยเข้าไปแกลเลอรีทำตัวไม่ถูก เราเลยเพิ่มบาร์เข้ามาให้รีแลกซ์ขึ้น และงานศิลปะจะต้องมีเมสเซจที่ส่งผ่านให้คนดูเข้าใจ อันนั้นคือสิ่งที่คิดเมื่อสิบปีที่แล้ว” ส้มเน้นย้ำจุดมุ่งหมาย ก่อนจะเล่าต่อ

“เดือนเมษายน ปี 2553 คือครั้งแรกที่ WTF เปิดตัว เรามีงานเล็กๆ ที่ชวนศิลปิน 13 คนมาร่วมแสดงงานชื่อว่า Wonderful Thai Friendship ซึ่งอักษรตัวแรกตรงกับชื่อแกลเลอรีพอดี”

“หลังจากนั้นเราก็จัดงานกันอีก 2-3 โชว์ ปรากฏว่าเจอเคอร์ฟิว ทำให้มีประเด็นขึ้นมา ตอนนั้นเกิดการสลายการชุมนุมก็เลยมีศิลปินที่เราไปทาบทามมาทำงานด้วย เขาก็อยากพูดเรื่องนี้พอดี แล้วปี 2011 ก็มีศิลปินหยิบเรื่องนี้มาพูดอีก ชื่องานว่า Proxy เขาเข้าไปบันทึกภาพและเก็บม้วนฟิล์มเพลงเปิดในโรงหนังที่พังในวันที่สกาลาโดนเผา”

“ต่อจากนั้นมาไดเรกชั่นของแกลเลอรีเราก็เพิ่มมาเป็นเรื่องสังคมด้วย เพราะตอนนั้นไม่มีแพลตฟอร์มที่ไหน หรือสถานที่ที่ให้ศิลปินแสดงความคิดทางด้านการเมือง เราเลยเปิดพื้นที่ตรงนี้ อีกอย่างเราเชื่อว่าศิลปะจะต้องส่งเสียงสะท้อนภาวะทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องจิตใจหรือความสวยงามอย่างเดียว”

และต่อจากนั้นในปี 2012 พวกเขายังจัดเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ชวนคนมาร่วมอ่านกลอนจำนวน 112 ครั้ง แต่งโดยรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของอำพล ตั้งนพกุล หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ อากง SMS เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของอำพลในปีเดียวกันบนถนนเล็กๆ ด้านหน้าแกลเลอรี

“ทุกปีเราทำงานศิลปะหลายอย่างมาก ต้องมีเบรกด้วยบางโชว์ที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองด้วย หรือบางทีต้องมีโชว์ที่ขายได้เพราะไม่อย่างนั้นแกลเลอรีจะอยู่ไม่ได้”

WTF Gallery

สังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างและการเข้ามาของรัฐประหาร

จนกระทั่งปี 2014 ส้มมองเห็นอะไรบางอย่างในวงการศิลปะ ด้วยภาวะที่สังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นสองข้างชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปิน เธอจึงเกิดไอเดียที่จัดนิทรรศการให้ศิลปินที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมาร่วมแสดงงานด้วยกัน

“ตอนนั้นเขาพูดจากันรุนแรงมาก ไม่เคยเห็นอารมณ์ร้อนกันขนาดนี้มาก่อน เราไม่ไหวแล้ว รู้สึกว่าเบสิกในสังคมประชาธิปไตยเห็นต่างต้องอยู่ด้วยกันได้ แล้วคนไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก ไม่สามารถดีเบตหรือคุยกันได้ เราคิดว่าถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นเอางานศิลปะมาคุยกันไหม”

งานนี้มีชื่อว่า Conflicted Vision ส้มชวนศิลปินทั้งหมด 7 คนที่เธอรู้จักและมีผลงานอยู่แล้วมาจัดแสดงร่วมกันโดยไม่แบ่งฝั่งว่าอยู่ฝ่ายไหน ซึ่งทำให้เห็นว่าทุกคนกำลังพูดเรื่องปัญหาสังคมคล้ายๆ กัน คือเสรีภาพในการแสดงออก คอร์รัปชั่น ความแตกต่าง ความคิดเห็นทางการเมือง 

“ตอนโทรไปชวนเราก็ไม่บอกชื่อว่าจะได้แสดงงานร่วมกับใครบ้าง แล้วทุกคนตอบตกลง พอเขามารู้ทีหลังก็ไม่พอใจ เพราะเหตุการณ์ตอนนั้นมันค่อนข้างรุนแรง แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นได้ อันนี้ต้องขอบคุณศิลปิน เพราะเขาให้เกียรติเรา ให้โอกาสเอางานมาแสดง” 

แม้ส้มต้องยอมรับถึงความยากและเหนื่อยที่ต้องติดต่อศิลปิน แต่เธอรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่แกลเลอรีจะต้องทำเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้มาพูดคุยกัน ที่สำคัญไม่ว่าเธอจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน แต่แกลเลอรีต้องเป็นพื้นที่ที่ให้คนทุกฝ่ายได้เข้ามาแสดงออกได้ 

“แล้วพอจบงานนี้ปุ๊บ รัฐประหารเลย เซ็งมาก เศรษฐกิจก็แย่ลงเรื่อยๆ เราก็ไปอยู่เมืองนอกสักพัก ไม่ได้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับสังคมอยู่ 2 ปี เพราะเขามอนิเตอร์เยอะ ศิลปินก็ต้องเซนเซอร์ เราก็ต้องเซนเซอร์ด้วย ทุกอย่างเลยเงียบหมด เราหดหู่มาก กลายเป็นช่วงขาลงของแกลเลอรีเราเลย เพราะบาร์ด้านล่างก็แทบพยุงการทำงานศิลปะไม่ได้ ต้องหางานศิลปะที่คอมเมอร์เชียลมาช่วย หรือเป็นพาร์ตเนอร์กับคนอื่นๆ ให้เขามาจัดแล้วก็ขอทุนทำงานศิลปะ”

ส่วนภาพรวมของแกลเลอรีในสังคม แม้จะมีพื้นที่เกิดใหม่ในช่วงเดียวกันนี้ แต่ส้มก็สังเกตเห็นว่าฟังก์ชั่นของงานศิลปะหลังรัฐประหารไม่ได้มีงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมอีกแล้ว เธอกลับเห็นแต่งานศิลปะแบบสวยงาม จรรโลงใจ หรือเพียงแค่นำเสนอเทคนิคใหม่ๆ เท่านั้น

หน้าที่ของ WTF คือทำให้สังคมก้าวผ่านประเด็นสังคมโดยใช้ศิลปะเป็นอาวุธ

“ปี 2016 ก็มีศิลปินชื่อตั้ม จิรวัฒน์ติดต่อมาบอกว่าสนใจทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับการเมือง อยากจะจัดแสดง สนใจไหม แต่เราจะทำยังไงให้ปลอดภัยดี ช่วงนั้นบรรยากาศแย่มาก ตอนนั้นเป็นเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่จะพูดยังไงไม่ให้ต่อต้าน คสช.”

“โทรไปปรึกษาอาจารย์ที่รู้จักหลายคน ก็ได้รับคำเตือนว่าอย่าทำเลยช่วงนี้ แต่เรากลับรู้สึกว่าต้องทำ มันเป็นความรับผิดชอบ เราต้องเริ่ม แล้วเดี๋ยวมีคนตามมาเอง ตอนนั้นคุยกับตั้มอยู่ 8 เดือน คิดงานกันหนักมากกว่าจะลงมาเป็นคอนเซปต์ที่ง่าย”

“สุดท้ายก็ออกมาเป็นงาน This Is Not A Political Act พูดถึงเรื่องคนหาย โดยทาสีดำทั้งห้อง แล้วปิดไฟหมด ใครมางานเราแจกไฟฉายแล้วให้ช่วยกันตามหาคนหาย ซึ่งเราร่วมทำงานกับแอมเนสตี้ด้วย ตั้มเขาก็ไปรีเสิร์ชเรื่องคนหายมา เราก็เลือกพูดตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อ 60 ปีที่แล้ว จึงมีประเด็นคนหายทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม แอ็กทิวิสต์ต่างๆ มันก็ดูไม่ได้กระทบกับใครคนใดคนหนึ่ง”

ต่อจากนั้นเธอก็ตัดสินใจให้ศิลปินที่อยากพูดเรื่องการเมืองได้เข้ามาใช้พื้นที่ใน WTF หรือบางทีเธอก็เป็นคนเริ่มทำโปรเจกต์ศิลปะขึ้นเองในช่วงหลังรัฐประหาร เช่น Good People, Good Words: Products ที่ส้มหยิบเอาคำพูดของประยุทธ จันทร์โอชา มาพิมพ์ลงบนกระเป๋าสีสันป๊อปๆ เพื่อล้อเลียน, งาน Coal: The dirty business cleaning thought art ที่ชวนศิลปินมาแสดงงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หรืองาน 81-140DB ที่คิวเรเตอร์สังเกตเห็นว่ามีศิลปินที่เปลี่ยนความคิดทางการเมือง จึงเลือกนำเสนองานศิลปะผสมผสานกันกับการรับรู้ทางเสียง

“บางงานมีทอล์กเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก ทหารก็เข้ามานั่งฟัง แล้วก็หันหน้ามาบอกเราว่า ‘พี่ครับ ผมฟังไม่เข้าใจช่วยพิมพ์ให้หน่อยได้ไหม ผมต้องรายงานนาย’ เราเลยบอกว่า มา พิมพ์ให้” เธอหัวเราะให้กับตัวเอง

หรือบางกรณีก็เคยมีทหารส่งข้อความมาในเพจของ WTF เพื่อบอกให้ส้มติดต่อกลับด่วน เพราะกิจกรรมที่จัดไม่เหมาะสม  

“โชว์นั้นน่าจะเป็น Planet Krypton ของกอฟ ภรณ์ทิพย์ ตอนนั้นกอฟเพิ่งออกจากเรือนจำหลังจากโดนตัดสินคดี 112 แล้วเขามีอาการ PTSD (โรคเครียดที่เกิดจากการกักขังเป็นเวลานาน) เลยอยากเล่าเรื่องราวในเรือนจำ ซึ่งตอนนั้นเขียนหนังสือแล้ว และอยากทำเป็นงานศิลปะด้วย แต่งานนั้นไม่เกี่ยวกับคดีของกอฟ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรือนจำแล้วกอฟอยากเล่าเรื่องราวในนั้นเพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อด้วย แต่ต้องการให้เป็น prison reformation” 

แม้จะทำงานบนความเสี่ยงและต้องคิดหาทางนำเสนอให้รอบคอบมากพอจะสื่อสารเรื่องการเมืองบนภาวะการถูกตรวจสอบหรือข้อจำกัดในการแสดงงานกับนักกิจกรรม แต่อะไรที่ทำให้ WTF ยังคงเชื่อในศิลปะสังคมและให้พื้นที่ศิลปินในการแสดงออก เราถามส้ม

“การมี self-censor นี่มันเจ็บปวดนะ ใครไม่โดนเองอาจจะไม่รู้ แต่มันไม่ใช่ปัญหา เพราะหน้าที่เราจะต้องทำสังคมให้ข้ามผ่านประเด็นนี้ไปให้ได้ โดยใช้ศิลปะเป็นอาวุธ มันเป็นหน้าที่ ไม่ได้แปลว่าเป็นข้อจำกัด เราต้องพยายามผลักเพดานขึ้นไป มีคนเคยบอกว่า ‘หน้าที่ของคนทำศิลปะคือต้องเป็น early warning system คือคัลเจอร์เก่ากำลังจะเปลี่ยนไป แล้วอะไรจะเกิดขึ้น’ เราชื่อว่าศิลปะมีฟังก์ชั่นแบบนี้นะ”

WTF Gallery

“พอนึกย้อนไปตั้งแต่งานแรกเมื่อสิบปีที่แล้วจนมาถึงงานล่าสุด สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ใครจะคิดว่าในปีที่ 10 งานล่าสุดที่จัดเราไม่มี self-censor แล้ว อาจเพราะด้วยขบวนการของนักศึกษาได้เปิดทางให้สังคมได้พูดกันมากขึ้น คนสนใจการเมืองมากขึ้น ธุรกิจเราอยู่ได้ด้วยนิทรรศการเลย เราก็ทลายการเซนเซอร์ตัวเอง” 

“แล้วการทลายเซนเซอร์ออกนี้ทำให้งานออกมาเป็นยังไง” เราถาม

“ต้องลองมาดูงานนี้ น่าจะเป็นคำตอบได้ดีค่ะ” 


นิทรรศการลับหลัง What Lies Beneath เป็นนิทรรศการที่ชวนศิลปิน 4 คนซึ่งเป็นอาจารย์หรือข้าราชการในมหาวิทยาลัย นำผลงานที่เคยจัดแสดงที่อื่น แต่ไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ มาจัดแสดงที่นี่อีกครั้ง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยตรง ตั้งแต่เรื่องการติดตามการเมือง การถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงความอัดอั้นใจที่ศิลปินต้องเจอ งานนี้จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 27 กันยายน 2563 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย