หากถามว่าย่านไหนในกรุงเทพมหานครที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพื้นที่สำหรับกลุ่มคนทำงานละครเวทีโรงเล็ก คำตอบหนึ่งในใจของกลุ่มคนดู (ที่เล็กพอๆ กับขนาดเวที) คงหนีไม่พ้นย่านทองหล่อ
ตั้งแต่ต้นซอย กลางซอย ไปจนถึงท้ายซอย เคยมีทั้งสเปซสำหรับการแสดง และฐานที่มั่นของกลุ่มละครเล็กๆ หลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ บีฟลอร์ ที่มี กอล์ฟ – อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิก ผลิตงานออกมาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ก่อตั้งกันมา และคุณอาจเคยได้ยินชื่อผลงานของเธอบ้างจากข่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
เป็นเวลาปีกว่าที่กอล์ฟและเพื่อนในกลุ่มต้องย้ายบ้านไปซ้อมตามพื้นที่ต่างๆ จนเพิ่งได้มาลงหลักกันใหม่ในพื้นที่โรงงานของสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นสถานที่ซ้อมชั่วคราว เพราะเจ้าของพื้นที่ทำงานเก่าที่อยู่ด้วยกันมานานขอปิดปรับปรุง ไปพร้อมกับสเปซการแสดงในย่านทองหล่อแทบทั้งหมดที่ต้องปิดตัวไป
ในสายตาของเธอ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ฐานที่ (ไม่) มั่นของเหล่าคนทำละครเวทีจะเริ่มล้มหายตายจาก
หากเป็นผลจากการทำงานแบบต้อง ‘ดูแลตัวเอง’ อย่างไร้การสนับสนุนที่ไม่มั่นคงพอๆ กับสถานที่
ใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งแล้ว ในฐานะหนึ่งในคนทำงานที่เห็นวงการนี้มายาวนาน เราชวนกอล์ฟมามองสถานะของปัญหาวิชาชีพคนทำละคร และเธอยังมีความหวังเหลืออยู่ไหมจากนโยบายศิลปะวัฒนธรรมที่แต่ละพรรคชูขึ้นมาเรียกคะแนนเสียง
โปรดเปิดเครื่องมือสื่อสาร และรับชมละครเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ช่วงที่สถาบันปรีดีฯ ปิดปรับปรุง คุณและเพื่อนๆ ในบีฟลอร์ทำงานกันอย่างไร
ใช้คำว่าเร่ร่อนก็ได้ ต้องไปเช่าสตูดิโอเพื่อซ้อมกัน ทั้งจากที่ที่เราเคยใช้แสดงบ้าง หรือที่เป็นพันธมิตรกันอย่างหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ก็ไปขอความอนุเคราะห์ ไปขอเจ้าหน้าที่ ขอห้องว่างๆ ซักห้องใช้ซ้อม
ในมุมของคนทำงาน การมีสตูดิโอเป็นหลักเป็นแหล่งมันทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพกว่าการย้ายไปเรื่อยๆ นะ ในแง่นึงมันคือการโฟกัสว่านี่แหละคือที่ที่เรามาทำงาน คิดงานกัน
ฟังดูไม่ค่อยมั่นคงเลยนะ
ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพเลย เหมือนทุกวันนี้เราทำงานกันแบบ…ใจเรารักมาก ถ้าเป็นสมัยที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ เป็นวัยรุ่น ก็คงยังรู้สึกว่า “เฮ้ย ทำไปก่อน เรายังมีแรง”
หรือในช่วงหลังมานี้ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ผลิตคนที่เรียนด้านนี้โดยตรงมา แต่รัฐไม่ได้ผลิตหรือส่งเสริมตลาดที่จะรองรับเขา เด็กๆ จบมาอาจจะอยากทำละครมาก เขาจะฝืนทำไปได้สักพัก จากนั้นความจริงก็จะตีหน้า และบอกว่า “มึงทำจ๊อบอื่นคู่ไปด้วยเถอะ”
พอเข้าสู่ขั้นนั้นมันก็จะพาไปอีกขั้นที่ว่า “เออ เหนื่อยเนอะ ไม่พอกินแล้วว่ะ ต้องไปทำอาชีพอื่นแล้ว” เพราะงานทำละคร มันเรียกร้องพลังงาน เวลา และเงินทองมากๆ ซึ่งเราเข้าใจเงื่อนไขในชีวิตทุกคนมากเลย
มันทำให้เรามีคนจบด้านทำละครเยอะมาก แต่คนเหล่านั้นก็จะหายไป อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็มากพอที่จะตั้งคำถามว่านโยบายรัฐหรือตลาดที่จะมารองรับคนทำงานด้านนี้มันยังมีอยู่ไหม ระบบที่จะไม่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องไปทำงานคอมเมอร์เชียลก่อน จะได้มีเงิน จะเป็นไปได้ไหมที่พอเขาจบมา อยากทำละคร เออ ได้ทำเธียเตอร์เลยว่ะ ทำแล้วอยู่ได้เลยโดยไม่ต้องมาคิดว่าจะต้องไปทำงานอื่นเสริม เขาได้ทำงานที่ชัดเจนกับตัวเองว่ารัก ชอบ ทำอย่างเดียวแล้วพออยู่ได้ แค่นี้มันยังแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะ
คิดดูสิ พ่อแม่ถาม ‘เรียนละครจบไปทำอะไรวะ’ ‘ก็ทำละครไง’ ‘เฮ้ย! ทำละครเวที อยู่ยังไง’
เราเชื่อว่าเด็กที่เรียนละครเวทีทุกคนน่าจะเคยโดนคำถามนี้ เราเองก็ถูกถาม
ส่วนใหญ่แล้วทุกคนที่ยังทำละคร อยู่กันได้อย่างไร
ต้องมีงานอื่นเพื่อที่จะดูแลตัวเองได้ อย่างเราเปิดร้านกาแฟ ก็จะไม่มีปัญหาว่าเดือนนี้จะมีเงินไหม รู้สึกหมดปัญหาไปหนึ่ง เลยทำให้มาทำละครได้ เพื่อนคนอื่นๆ ก็ต้องรับงานอื่นเพื่อมาดูแลตัวเองเหมือนกัน แล้วเอาเวลาที่เหลือมาทำละคร นี่คือการที่ประชาชนดูแลตัวเองของแท้เลย
มันควรเป็นทางเลือก สมมติถ้าเราบอกว่า เออ ก็อยากทำเป็นงานอดิเรกน่ะ อยากทำอย่างอื่นด้วยไม่อยากทำละครอย่างเดียว นี่คือเราเลือกเองไงว่าจะเอาทางนี้ แฮปปี้กับการแบ่งเวลามาทำ แต่สำหรับบางคนคือเขาไม่อยากเลือก เขาอยากทำละครอย่างเดียว แต่ถามว่าอยู่ได้ไหม เราไม่แน่ใจว่าใครมันจะอยู่ได้
มันไม่จริงเลย พวกเราอยู่บนความไม่จริงมาตลอด
คุณทำงานในแวดวงนี้มาเกือบ 20 ปี เห็นอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
ไม่เห็น ถ้าจะมีอะไรที่เปลี่ยนคงเป็นค่าแรงขั้นต่ำ สมัยที่เขาประกาศให้จ่ายที่ 300 บาทต่อวัน คนทำงานในแวดวงนี้ อย่างน้อยที่สุดก็กลุ่มเรา ก็เริ่มที่จะจ่ายค่าซ้อมเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ
เราพยายามกันมากที่จะไม่กดคนทำงานด้วยกันเอง แต่ก็รู้กันอยู่ว่านี่ไม่ใช่เรตที่เราจะอยู่ได้ เราเลยรู้สึกว่าเรื่องสวัสดิการของคนทำงานศิลปะมันอยู่ตรงไหนนะ มันไม่เหมือนบริษัทที่เขาจะให้สวัสดิการ ของเรามันเป็นลักษณะของการดูแลตัวเองกันไป แค่นั้นเลย
ขายบัตรอย่างเดียวไม่พอสำหรับการทำละครหนึ่งเรื่องเหรอ
ขาดทุนแน่ๆ ต่อให้มีคนมาดูเยอะแค่ไหนก็ตาม จะขายบัตรพันหนึ่งยังไม่คุ้มทุนเลย ซึ่งไม่เคยขายบัตรราคานั้นนะ (หัวเราะ) เพราะการทำละครเรื่องหนึ่งมันคล้ายกับกองถ่ายหนังเหมือนกัน มีคนเยอะมากที่ทำให้มันเกิดขึ้น แถมยังกินเวลามหาศาล
อย่างที่บอก เราทำงานอยู่บนความไม่จริงมาตลอด เราจ่ายเงินคนทำงานในเรตที่ไม่จริงมาตลอด เวลาเรามีเพื่อนที่เปิดบริษัทให้เช่าอุปกรณ์ไฟซึ่งเป็นคนละครมาก่อน เขาบอกเลยนะว่าเรตราคาของคนทำละครมันจะเป็นอีกเรตหนึ่งซึ่งถูกกว่า ส่วนเรตปกติก็จะคิดตอนไปรับจ๊อบข้างนอก มันเป็นวิธีทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ถึงขนาดว่าเพื่อนๆ ที่ทำงานในวงการละครร่วมด้วยช่วยกันผ่านการคิดค่าจ้างในเรตไม่สูงมากแล้ว เราก็ยังขาดทุน เป็นเหตุผลว่าทำไมการทำละครหนึ่งเรื่องมันต้องการเงินสนับสนุน เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้จ่ายค่าคนได้ก่อน พอขายตั๋วได้ ค่อยไปจ่ายค่าของ ลักษณะมันจะเป็นการหมุนแบบนี้ นั่นแปลว่าเราจะไปลุ้นตอนขายตั๋วว่าจะมีเงินจ่ายค่าเช่าโรงละครได้ไหม จ่ายค่าอุปกรณ์ต่างๆ ได้ไหม
เราทำเท่าที่ไหวมาตลอด แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกมั่นคงในวิชาชีพได้สักที มันกลายเป็นเรื่องที่เกินกว่าตัวเองจะไปแตะแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างหรือนโยบายไหมนะ ที่ไม่ได้สนับสนุนคนทำงานเท่าที่ควร
เคยขอทุนสนับสนุนจากภาครัฐบ้างไหม
เราทำมาทุกเรื่อง แต่เหมือนเวลาที่เราจะขอทุนเพื่อทำงานสักอย่าง มันจะให้ความรู้สึกว่าเราไป ‘ร้องขอ’ ความอนุเคราะห์ ขอความเมตตาเบาๆ มันรู้สึกได้อย่างนั้น เขาอาจจะไม่ได้พูดกับเราแบบนั้น แต่เราจะรู้สึกเหมือนสิ่งที่เรามาขอไปทำ เขาก็ ‘อุตส่าห์’ ให้เรามาเนอะ
ถ้าข้าราชการมีวิธีคิดที่ว่าการให้ทุนสนับสนุนกับคนที่มาขอเป็นเรื่องของบุญคุณ เราก็จะรู้สึกว่าเราเป็นประชาชนที่ต้องสำนึกบุญคุณไปตลอดเวลา แต่ที่จริงรัฐก็ควรมีหน้าที่สนับสนุนประชาชนหรือเปล่า ไม่ใช่ว่า “ทำให้ก็ดีแล้วนะ ฉันอุตส่าห์เจียดงบมาให้”
น่าเศร้าเหมือนกัน มันไม่ใช่หลักคิดที่เชื่อว่าเมื่อสนับสนุนศิลปะ แล้วศิลปะจะขับเคลื่อนสังคมรวมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงาน เลยทำให้รู้สึกว่าไม่อยากขอเลย สุดท้ายถามว่าต้องขอไหม ก็ต้องขออยู่ดี ลองส่งเรื่องไปก่อน แต่รู้สึกดีไหม ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่
เอาเข้าจริงที่ผ่านมาก็ดีลกับหน่วยงานรัฐมาตลอด เขาก็สนับสนุนแหละ แต่เรากำลังพูดถึงภาพรวมใหญ่ๆ ว่าวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐมองประชาชนมันเป็นแบบไหน ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
เคยมีไหมที่หน่วยงานรัฐดูเนื้อหางานเราแล้วไม่ให้เงินสนับสนุน
ยังไม่มีนะ แต่หลังๆ ก็ไม่ค่อยได้แล้วแหละ พูดตรงๆ จะไปได้จากองค์กรระหว่างประเทศอะไรแบบนี้ แต่ที่เคยได้ ก็ยังไม่เคยโดนปฏิเสธเพราะเนื้อหาไม่ผ่าน เพราะโดยลักษณะงานมันไม่ได้มีข้อความ ค่อนข้างเป็นงานแอ็บสแทรกต์ เคลื่อนไหว งานคอนเซปต์อะไรก็ว่าไป เราว่ามันเลยทำให้ไม่ได้สุ่มเสี่ยงอะไรทางนั้น
อีกอย่างเวลาที่เขียนจดหมายไปขอทุน โดยลักษณะงานเขาก็จะพิจารณาว่ามันเป็นงานแบบไหน ละครพูด มูฟเมนต์ หรืออย่างอื่น แล้วเจตนาของเราก็ไม่ได้ต้องการปะทะหรือโจมตีอะไร แต่ถ้าเขาได้มาดูงานจริงๆ ก็คงรู้สึกว่าเออ ไม่เห็นจะมีอะไร อย่างงานของเราที่เป็นข่าวกัน มาดูจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไร
กลัวไหมว่าถ้าผลเลือกตั้งออกมาได้เป็นคนเดิม จะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ถ้าไปขอความสนับสนุนจากภาครัฐ
ไม่ห่วงเลย เพราะค่อนข้างมั่นใจในวิธีการทำงานของบีฟลอร์ว่าเรากระตุ้นให้คนคิด ไม่ใช่การปักธง ยิ่งงานเราบทพูดน้อย บางทีก็ไม่มี ก็ไม่รู้ว่าจะมาเซนเซอร์ตรงไหน
อันนี้ก็น่าสนใจว่า เออ เราจะต้องตั้งคำถามเรื่องนี้กันด้วยว่ะ เราทำงานศิลปะ แต่เราต้องมาตั้งคำถามว่าเขาจะเซนเซอร์งานเราไหม มันทำให้เห็นเลยว่าตอนนี้สังคมอยู่กันในบรรยากาศแบบนี้จริงๆ แต่ก็ไม่แปลกหรอก เพราะมันปกคลุมอยู่ทุกส่วนของสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะกับคนทำงานศิลปะ แค่จะโพสต์อะไรในเฟซบุ๊ก เรายังต้องคิดหลายตลบเลย
การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวของเขาถือว่าประสบความสำเร็จมาก ตอนนี้ทุกคนอยู่ด้วยความรู้สึกว่า “กูจะโดนไหม” แล้วสังคมที่มีประชาชนอยู่กันด้วยความรู้สึกแบบนี้ มันเอื้อเหรอกับการสนับสนุนให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้หรอก เพราะเราจะบอกตลอดว่าอย่าพูดอย่างนี้ อย่าทำแบบนี้ เพราะเดี๋ยวจะโดนนั่นนู่นนี่
นอกจากการดูแลตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ คุณอยากเห็นอนาคตคนวงการละครเป็นอย่างไร
ภาพใหญ่ทั้งโครงสร้างเลย ตั้งแต่การศึกษา ไล่ไปจนถึงการสร้างตลาดขึ้นมารองรับคนที่อยากทำงานศิลปะ หลังจากนั้นคือสวัสดิการ การดูแล ปกป้องวิชาชีพของคนทำงาน เช่นเรตนี้เรียกว่ากดราคา เรตนี้เรียกว่ามาตรฐาน แล้วคนทำงานก็จะได้พัฒนาตัวเองให้ทำงานอย่างมืออาชีพ
ถ้าเราได้เรตที่มันโอเคและอยู่ได้ สองฝั่งมันเกื้อกูลกัน คนก็จะไปต่อได้ มีคนดูแลเราเรื่องสวัสดิการ ความมั่นคง มีตลาดรองรับ เราก็ทำงานเราให้ดี จบ
ตอนนี้มีใครทำอย่างนั้นอยู่บ้าง
มีบางคณะละครนะที่เขาให้เป็นเงินเดือน อย่างของพี่ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น มีคนที่พยายามจะอยู่ให้รอด แต่ก็ควรจะมีมากกว่านี้ไหม การทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นคงทางวิชาชีพ โดยเฉพาะในด้านศิลปะ มันแทบไม่ค่อยมีเลย มันน้อยมาก ไม่งั้นเราต้องเห็นกลุ่มคนที่มาทำงานด้านนี้เยอะมากๆ และไม่ล้มหายตายจากไป สเปซละครเล็กๆ ได้รับการอุดหนุน ปลอดภาษีถ้าเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ ถ้าเป็นแบบนั้นจริงเราก็น่าจะยังอยู่ได้ มีที่ทำงาน แต่นี่คือทุกคณะเร่ร่อนเลยนะ
แต่พูดตรงๆ ละครโรงใหญ่เขาก็ยังอยู่ได้นะ คนพร้อมดูอยู่ตลอดเลย
เราว่ามันคือเรื่องของความหลากหลายทางรสนิยม ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนจะไปดูละครเวทีกระแสหลักเยอะ คนไปน้อยสิแปลก แต่อย่างสายเธียเตอร์ ทำโรงเล็กอย่างพวกเราเอง มันเป็นเรื่องของการต้องค่อยๆ สร้างกลุ่มคนดูนะ ไม่มีทางหรอกที่ในสังคมหนึ่ง คนจะดูกันอยู่อย่างเดียว สักวันมันต้องเบื่อ สักวันก็ต้องอยากดูอย่างอื่น
หรือเป็นไปได้ไหมว่าเขาอาจไม่เคยรู้เลยก็ได้ว่ามันมีอย่างอื่น
นี่เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของรัฐเลยนะที่จะต้องสนับสนุนให้พื้นที่อิสระ โรงละครทางเลือก กลุ่มละคร กลุ่มวัฒนธรรมนอกกระแสต่างๆ ให้เบ่งบาน มีที่ให้พวกเขาได้ทำงาน เราใช้คำว่า ‘ทำงาน’ นะ ไม่ใช่ ‘แสดงออก’ เพราะคำนี้มันคือการบอกว่าเราจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ จะอยู่ด้วยการทำมันอย่างจริงจัง
เชื่อสิ ถ้ารัฐมีนโยบายที่สนับสนุนความหลากหลายของรสนิยมพวกนี้ โอ้โห คนดูจะมาเองเลย ตอนนี้แค่คนดูกระแสหลักเขาไม่ได้รับข้อมูลอื่นๆ เลย ซึ่งเขาก็คงไม่มาดูหรอก
มันอาจจะเป็นไปได้ที่คนดูละครเวทีกระแสหลัก ถ้ามาดูงานโรงเล็ก เขาอาจจะแฮปปี้ ไม่มีใครรู้หรอก อันไหนจะมากหรือน้อย มันขึ้นอยู่กับรสนิยมซึ่งเราบังคับไม่ได้ คนดูจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าควรจะดูอะไร
ถ้าไม่มีการสนับสนุนความหลากหลายจากรัฐ เขาก็จะได้ดูแต่อะไรเดิมๆ ที่เดียว เจ้าเดียว หรือไม่กี่เจ้า แล้วก็จะได้ดูอยู่แค่นั้น ชอบแค่นั้น จะดีกว่าไหมถ้าทำให้แฟร์ๆ รัฐสนับสนุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เขามาดูพวกเราอาจจะไม่ชอบก็ได้ แม่งยาก อะไรวะ ดูไม่รู้เรื่อง แล้วมันจะเป็นแรงขับให้คนทำพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกทาง
แค่เคารพคนดูว่าเขาเลือกเองได้ รัฐมีหน้าที่เปิดพื้นที่ สนับสนุนความหลากหลายให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่คิดว่าหน้าที่แค่เพียงให้ความอนุเคราะห์
ตอนนี้หลายพรรคเสนอนโยบายเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมไว้หลากหลาย ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความเป็นไทยและวัฒนธรรมพื้นถิ่น มากกว่าจะให้ความสำคัญกับงานร่วมสมัย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
คนที่เสนอนโยบายลักษณะนี้มันคือการขายฝันไปวันๆ ในมุมของเรา มันไม่ใช่การสร้างนโยบายเป็นร่มใหญ่
เรายังคงยืนยันคำเดิมว่ามันเป็นทางเลือกของผู้เสพไม่ว่าจะชอบงานแบบไหน และต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่น วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมมันมีอยู่แต่ก่อนแล้วในสังคม แต่ก็อย่าลืมว่ามีพวกเราอยู่ในสังคมร่วมกับพวกคุณด้วย แต่คุณอาจไม่ได้รับรู้
เวลามีคนชูนโยบายแบบนี้ มันเป็นการคิดจากโปรดักต์ แต่ไม่ได้คิดเป็นแผนยาวๆ ว่าถ้าจะพัฒนาระบบนิเวศของวงการศิลปะ มันต้องเริ่มจากอะไรวะ นี่คือการขายฝัน คิดโปรดักต์นี้มาแล้วคนจะซื้อ
แต่อย่าลืมว่าคนซื้อของมาใช้แล้วมันก็จบ เพราะมันไม่มีการต่อยอดไปยังคนทำงาน เขายังไม่เข้าใจว่างานสักงานหรือละครสักเรื่องมันมีระบบนิเวศของคนทำงานหรือวงการอื่นๆ มากมายขนาดไหน ไม่ใช่แค่หนึ่งกลุ่มละคร มีคนทำก็ต้องมีคนดู มีคนดูก็ต้องมีตลาด มันเป็นวงจร
มันคงจะดีกว่านะถ้าคุณคิดให้มันกลม คิดจากโครงสร้าง ไม่ใช่คิดแค่ว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์
หรือรัฐมองว่าศิลปะยังสำคัญไม่เท่าประเด็นอื่นๆ ในสังคมที่ต้องแก้ไข อย่างเศรษฐกิจ หรือการศึกษา
เราจะวัดอย่างไรว่างานศิลปะมีมูลค่าเท่าไหร่เป็นตัวเงิน มันไม่เหมือนทำประกันราคาพืชผลการเกษตร ชั่งเท่านี้ ได้ราคาเท่านี้ งานศิลปะมันวัดแบบนั้นไม่ได้ มันใช้วิธีคิดคนละแบบ ถ้าเรามองว่างานศิลปะมันจะช่วยพัฒนาคนในเรื่องวิธีคิด ถ้าอย่างนั้นมันก็ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้หรอก
ถ้าเราอยากผลิตคนที่มีศักยภาพ คิด วิเคราะห์ มันก็ต้องเริ่มจากต้นน้ำเลยหรือเปล่า งานศิลปะมันโยงไปได้ตั้งแต่ตอนเราเกิด ครอบครัว การศึกษา มันเป็นวิธีที่ทำให้การพัฒนาไม่ดูแข็งๆ แบบตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ตัวเลขแบบนั้นมันมีคุณค่ามหาศาลอยู่แล้วในเชิงรายได้ แต่อย่าลืมนะว่าคนเราไม่ได้แบนๆ ด้านเดียว มันมีมิติมากกว่านั้น ในตัวคนๆ เขามีศักยภาพอื่นที่อาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้
อย่างมีคนที่มาดูงานของบีฟลอร์คนหนึ่ง ทำงานบัญชีในโรงพิมพ์ แต่ชอบดูละครมาก เวลาเขียนวิจารณ์นี่อ่านสนุกชิบหาย โคตรลุ่มลึก เราว่ามันเป็นฟังก์ชั่นอะไรแบบนี้ที่ทำให้ศักยภาพอีกด้านของมนุษย์มันเกิดขึ้น ไม่แบนๆ ด้านเดียว เราว่าสิ่งนี้สำคัญมาก
เหมือนการลงทุนกับคน
เออ มากๆ เลย เพียงแต่มันไม่เห็นตัวเลข เราต้องไม่ลืมว่ามันมีวิธีวัดผลหลายแบบมาก และบางอย่างไม่ใช่ว่าเราให้ตอนนี้แล้วอีกเดือนจะออกดอกออกผล ไม่ใช่ คนเราแม่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์มันต้องรอวันที่จะไปอยู่จุดนั้น
มันไม่ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือเปล่า อะ เรื่องปากท้องสำคัญ ทำอันนี้ก่อน เฮ้ย มันทำไปพร้อมกันได้หรือเปล่าวะ ทำไมมันต้องเลือกวะ อันนี้ก็สงสัย
หรือวาทกรรมที่ฮิตๆ อย่าง “คนจะอดตายกันอยู่แล้ว” เราก็อยากรู้นะว่านอกจากกินข้าว เขาไม่ทำอย่างอื่นเลยเหรอวะ ในชีวิตคนคนหนึ่ง มันมีมิติอื่นด้วยหรือเปล่าวะ แค่เราไม่มีการจัดสรรทรัพยากรส่วนนี้ให้ประชาชน แล้วเราก็พูดว่ามันไม่จำเป็น ตัดมันไปเลยแล้วกัน อย่างนี้เหรอ
เราเชื่อว่ามันทำไปพร้อมกันได้ ในความรู้สึกเรา ไม่จำเป็นต้องเลือกเลย