ศิลปะและสื่อแขนงต่างๆ ผลิตผลงานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอออกมามากมายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ภาพยนตร์ A.I. Artificial Intelligence (2001) ว่าด้วยครอบครัวที่รับเอไอมาเลี้ยงเป็นลูก, Ex Machina (2014) เศรษฐีรวยล้นฟ้าสร้างหุ่นยนต์หญิงเป็นทาสรับใช้, มังงะของ Clamps เรื่อง Chobits (2000-2002) ที่พระเอกหลงรักในตัวเอไอ ไปจนถึง Klara and the Sun (2021) นิยายของคาซุโอะ อิชิกุโระ (ผู้เขียน Never Let Me Go) เล่าถึงโลกอนาคตที่ผู้คนสามารถซื้อปัญญาประดิษฐ์มาเป็นเพื่อนได้
มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าประเด็นมนุษย์/เอไอจะมีอะไรให้สำรวจหรือสร้างออกมาแปลกใหม่ได้อย่างไร แต่ล่าสุดก็มีผลงานที่ทำได้ นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง After Yang (2021) ของโคโกนาดะ (Kogonada) (หนังเพิ่งสตรีมทาง SHOWTIME เมื่อ 4 มีนาคม 2022 ซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์ในบ้านเรา)
ก่อนอื่นต้องเล่าถึงโคโกนาดะเล็กน้อย เขาคือคนทำหนังอเมริกันเชื้อสายเกาหลี เป็นที่รู้จักจากการทำวิดีโอวิเคราะห์ภาพยนตร์หรือ video essay ให้กับนิตยสาร Sight & Sound รวมถึงทำฟีเจอร์เสริมให้กับแผ่นหนังค่าย The Criterion Collection ส่วนหนังยาวเรื่องแรกของเขา Columbus (2017) ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หนังเล่าถึงการพบกันของชายวัยกลางคนกับเด็กสาวในเมืองโคลัมบัส รัฐอินเดียนา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมรูปทรงโดดเด่น โคโกนาดะจึงใช้อาคาร สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภูมิทัศน์ต่างๆ ในเมืองบอกเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างชาญฉลาด
หลังจากหายไป 4 ปี โคโกนาดะกลับมาอีกครั้งกับ After Yang และได้ A24 ค่ายหนังอินดี้ชื่อดังเป็นผู้จัดจำหน่าย เรื่องราวว่าด้วยครอบครัวพ่อ แม่ ลูกสาว ที่ซื้อหุ่นยนต์ชื่อ ‘หยาง’ มาทำหน้าที่เป็นลูกชายคนโตและพี่ชายของบ้าน ทว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่งหยางก็หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่ตอบสนองใดๆ คนรอบข้างต่างบอกให้เอาไปทิ้งหรือเปลี่ยนเป็นเอไอตัวใหม่ แต่สำหรับครอบครัวของตัวเอก หยางมีคุณค่าเกินกว่าจะทำแบบนั้น พวกเขาจึงหาทางทำให้หยางกลับมาเหมือนเดิม
พล็อตฟังดูเป็นหนังไซ-ไฟล้ำอนาคต แต่ After Yang ไม่ได้ล้ำแค่เรื่องเทคโนโลยี หากโครงสร้างครอบครัวตัวเอกก็น่าสนใจมาก พ่อคือคนผิวขาว แม่เป็นคนผิวสี ทั้งสองรับเด็กผู้หญิงจากจีนแผ่นดินใหญ่มาเป็นลูกบุญธรรม และเหตุผลที่พวกเขาซื้อหยาง-หุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้เป็นคนจีน-ก็เพื่อให้หยางสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนกับลูกสาว เธอจะได้ไม่ลืมรากเหง้าความเป็นจีนของเธอ (!!) ต่างจากหนังแนว ‘อุปการะลูก’ เรื่องอื่นๆ ที่มักเล่าถึงเด็กที่ถูกทำให้เป็นอเมริกัน (Americanization) อย่างเช่นเรื่อง Luce (2019)
แต่ก็เหมือนเรื่องตลกร้าย ในฉากที่ชำแหละร่างของหยางแล้วพบชิปตัวหนึ่ง ผู้คนสันนิษฐานทันทีว่ามันต้องเป็น spyware จากพวกคนจีน แต่แท้จริงมันคือชิปที่เก็บความทรงจำมากมายของหยางเอาไว้ ในฉากที่พระเอกสำรวจดูความทรงจำของหยาง โคโกนาดะไม่ได้ใช้ซีจีหวือหวาอะไรนัก มันให้ความรู้สึกเหมือนดูโฮมวิดีโอเสียมากกว่า น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการให้หนังมีลุคแบบอบอุ่น ไม่ได้เย็นชาเมทัลลิกแบบหนังไซ-ไฟที่เราคุ้นชิน แทนที่จะเป็นห้องแล็บล้ำสมัย สถานที่หลักกลับเป็นบ้าน ห้องรับแขก ห้องนอน ไปราว 90% ของเรื่อง
โคโกนาดะยังขึ้นชื่อเรื่องเอานักแสดงชายมารับบทที่ไม่คาดคิด อย่าง Columbus เขาให้ จอห์น โช ดาราตลกชื่อดังมาเล่นบทซีเรียส ส่วน After Yang โคลิน ฟาร์เรลล์ รับบทผู้ชายสุดละมุน ค่อนไปทางปวกเปียก แต่ก็น่าจะเป็นบทอ่อนโยนที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา ถึงกระนั้นผู้เขียนเองชื่นชมฟาร์เรลล์มาหลายปีแล้ว จากหนุ่มแบดบอยในช่วงต้นยุค 2000 เขากลายเป็นนักแสดงที่เล่นบทได้หลากหลาย ไม่ว่าจะหนังตลกร้าย (In Bruges) หนังอาร์ตเฮาส์ (The Lobster และ The Killing of a Sacred Deer) หรือหนังพีเรียด (The Beguiled)
ส่วน เฮลีย์ ลู ริชาร์ดสัน นักแสดงสาวที่แจ้งเกิดจากบทนางเอกใน Columbus ก็กลับมาร่วมงานกับโคโกนาดะอีกครั้ง บทของเธอใน After Yang เป็นตัวละครรอง การแสดงอาจไม่ได้โดดเด่นมาก แต่ ‘ฟังก์ชั่น’ ตัวละครของเธอกลับสำคัญมาก เธอรับบทเป็นมนุษย์โคลนที่หนังไม่ได้บอกเล่าถึงภูมิหลังเท่าไร (ถ้ามองโลกในแง่ร้าย โลกยุคนั้นก็อาจผลิตร่างโคลนเพื่อเป็นแรงงานหรืออะไหล่มนุษย์) ความสัมพันธ์ของเธอกับหยาง ทำให้ After Yang ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เดิมทีความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเอไอก็วุ่นวายอยู่แล้ว หากความรักระหว่างมนุษย์โคลนกับเอไอน่าจะนำมาซึ่งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์และจริยธรรมนับไม่ถ้วน
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่าหัวใจสำคัญของ After Yang อยู่ในฉากที่หยางคุยกับภรรยาของพระเอก ในขณะที่พระเอกทำอาชีพชงชาและเป็นคนละเอียดอ่อน ภรรยาของเขาคือมนุษย์เงินเดือนในที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล เธอเป็นคนเดียวในบ้านที่ยอมรับว่าสักวันหนึ่งหยางต้องจากครอบครัวนี้ไป เธอเคยถามหยางว่าเขารู้สึกอย่างไรหากทุกอย่างต้องจบลง (กลไกของเขาหยุดทำงาน) หยางบอกว่าเขาโอเคหากถึงที่สุดแล้ว ณ ปลายทางมันจะไม่มีอะไรเลย เพราะไม่มีสิ่งใดจะปราศจากความว่างเปล่า (There’s no something without nothing.)
ความชาญฉลาดเชิงปรัญชาของหยางนำมาซึ่งความรู้สึกผสมปนเป ทั้งทึ่งในสติปัญญาของเขา สงสัยว่ามันมาจากการโปรแกรมหรือการพัฒนาของเอไอเอง จนอดหวาดกลัวถึงความรู้แจ้งของเขาไม่ได้ แต่ความรู้สึกแรงกล้าที่สุดของผู้เขียนน่าจะเป็น ‘ความอิจฉา’ ที่หยางสามารถรับมือกับการดับสูญของตัวเองได้อย่างดี กลับเป็นเหล่ามนุษย์อย่างพระเอกและลูกสาวที่ไม่อาจปล่อยวางจากหยางได้ แม้จะรู้แก่ใจว่าจากนี้หยางจะเป็นได้เพียงความทรงจำของพวกเขาเท่านั้น
มันแสดงให้เห็นว่าท้ายสุดแล้วเอไอและเทคโนโลยีก็อาจไม่ได้ทำให้ชีวิตของมนุษย์ราบรื่นขึ้นนัก บางทีปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่เอไอ แต่อยู่ที่ตัวมนุษย์เอง…ตั้งแต่แรก