Petite Maman : หนังเล็กๆ ที่ (หัวใจ) ยิ่งใหญ่

ในการสอนวิชาภาพยนตร์ช่วงสองปีที่ผ่านมาของผู้เขียน หนึ่งในหนังที่นักศึกษาทำรายงานมาส่งเยอะสุดเรื่องหนึ่งก็คือ Portrait of a Lady on Fire (2019) ของผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส เซลีน เซียมมา (Céline Sciamma) อาจเพราะหนังเรื่องนี้เปี่ยมไปด้วยความช่ำชองทางเทคนิคภาพยนตร์ในหลายแง่ โดยเฉพาะการถ่ายภาพหรือการจัดองค์ประกอบภาพ

หรือนักศึกษาบางคนก็วิเคราะห์เรื่อง female gaze หรือการจับจ้องด้วยสายตาของผู้หญิง แม้ว่าคำนี้จะเป็นที่ถกเถียงในแง่นิยามพอสมควร

ถึงจะไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเซียมมา แต่ผู้เขียนก็มีโอกาสได้ดูหนัง 5 เรื่องของเธออย่างครบถ้วน ความพิเศษในผลงานของเซียมมาคือมันมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่หนังวัยรุ่นเร่าร้อน หนังเด็กละมุนละไม ไปจนถึงหนังพีเรียดย้อนยุคที่เล่าอย่างสงบนิ่ง แต่หากลองมองลึกลงไป ภาพยนตร์ของเซียมมามีจุดร่วมเด่นอยู่อย่างน้อยสองประการ นั่นคือเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘พื้นที่’

แม้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นเลสเบี้ยน แต่หนังของเซียมมาไม่ได้เล่าถึงเลสเบี้ยนหรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเท่านั้น อย่างเรื่องความตื่นตัวทางเพศของวัยรุ่นหนุ่มสาวใน Water Lilies (2007) มีทั้งคนที่ชอบเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน, Tomboy (2010) คือเรื่องของเด็กวัย 10 ขวบเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองอาจไม่ใช่เด็กผู้หญิงตามขนบของสังคมและพาตัวเองไปอยู่ในหมู่เด็กผู้ชาย, Girlhood (2014) ว่าด้วยมิตรภาพและการตบตีระหว่างนักเรียนสาว ส่วนหนังดัง Portrait of a Lady on Fire คือความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 

ส่วนเรื่องพื้นที่นั้น เซียมมามักบอกเล่าเรื่องราวของเธอใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ บางอย่าง อาทิ สระว่ายน้ำและห้องอาบน้ำสุดอีโรติก (Water Lilies), สนามเด็กเล่น (Tomboy), แฟลตย่านชานเมืองในปารีสที่มีกลิ่นอายแบบหนังแก๊งสเตอร์ (Girlhood) ไปจนถึงเกาะห่างไกลผู้คน (Portrait of a Lady on Fire) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มักมีธีมร่วมกันคือการเป็นโลกให้ตัวละครหลบลี้หรือตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วครู่ยาม และสุดท้ายพวกเขาจะได้ค้นหาตัวเองจนเจอในพื้นที่เหล่านั้น

สำหรับ Petite Maman (2021) ผลงานล่าสุดของเซียมมาถือเป็นอะไรที่ผู้เขียนเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะหลังจากทำเรื่อง Portrait of a Lady on Fire ซึ่งเป็นหนังสเกลใหญ่ (พูดได้ว่าเป็นหนังมหากาพย์ในแบบของเซียมมา) เธอก็มาทำหนังเล็กๆ ความยาวเพียง 72 นาที มีเนื้อเรื่องง่ายๆ ว่าด้วย เนลลี่ เด็กหญิงที่คุณยายเพิ่งเสีย เธอต้องมาอยู่ที่บ้านคุณยาย และได้พบกับเพื่อนใหม่ชื่อมาริยงขณะเดินเล่นในป่า ตัวละครหลักในเรื่องมีเพียงเด็กผู้หญิง 2 คน สถานที่ถ่ายทำมีแค่บ้านกับป่า ซึ่งที่มาของการทำหนังแบบกะทัดรัดเช่นนี้ก็เพราะสถานการณ์โควิดนั่นเอง

ใน Petite Maman ธีมเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘พื้นที่’ ยังปรากฏเช่นเคย ขอว่าถึงเรื่องพื้นที่ก่อน บ้านและป่าในหนังดูเป็นสิ่งตัดขาดกับโลกภายนอกเช่นเคย เราไม่เห็นบ้านหลังอื่นหรือเพื่อนบ้านคนอื่นเลย โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในป่าตัวละครจะถูกลดทอนเหลือเพียงแค่เด็กสองคนอย่างเนลลี่และมาริยงเท่านั้น ราวกับว่านี่เป็นป่าที่มีเด็กเท่านั้นที่มองเห็น การถ่ายภาพป่าในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแสนสวยงามยิ่งทำให้ป่ามีลักษณะแบบเทพนิยาย และแน่นอนว่าป่าแห่งนี้จะทำให้เด็กทั้งสองค้นพบอะไรบางอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)

[บทความต่อจากนี้เปิดเผยความลับของ Petite Maman]

ขณะที่ผู้เขียนมักใช้ Portrait of a Lady on Fire เป็นตัวอย่างการสอนเรื่องการถ่ายภาพและการจัดวางเฟรม ผู้เขียนคิดว่า Petite Maman เป็นตัวอย่างที่ดีมากของหนังแนวย้อนเวลา โดยเมื่อเรื่องดำเนินไปไม่นานนัก เราก็ได้ทราบว่าการเข้าป่าของเนลลี่คือการย้อนเวลาไปเจอแม่ของตัวเองตอนยังเป็นเด็ก ซึ่งก็คือมาริยงนั่นเอง จุดที่ผู้เขียนชอบมากคือการข้ามเวลาใน Petite Maman ถ่ายทำอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องใช้เอฟเฟกต์อลังการแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรที่ซับซ้อน ตรงข้ามกับหนังเดินทางข้ามเวลาของนักศึกษาที่ทำกันมาทุกปีและมักมีกฎเกณฑ์วุ่นวาย (พูดขำๆ ได้ว่าทุกคนพยายามทำตัวเป็นคริสโตเฟอร์ โนแลน) น่าเสียดายว่า 70% ของหนังกลุ่มนี้มักกลายเป็นหนังที่ผู้กำกับดูรู้เรื่องเองคนเดียว 

การที่ตัวละครหลักย้อนไปเจอกับแม่ตัวเองวัยเด็กทำให้เกิดความหมายเรื่องเพศ/เพศสภาพที่น่าสนใจขึ้นมาหลายประการ เช่นว่านักแสดงเด็กทั้งสองคนในชีวิตจริงเป็นพี่น้องฝาแฝด (คงเลือกมาให้หน้าคล้ายกันเพราะเล่นเป็นแม่-ลูก) แต่ในหนังทั้งคู่ต้องมีบทบาทเป็นแม่กับลูกสาว หากแต่การสื่อสารและบทสนทนาก็เป็นไปในแบบเพื่อน ต้องชื่นชมเซียมมาที่กำกับนักแสดงเด็กออกมาได้อย่างพอดี เด็กในเรื่องไม่ได้ไร้เดียงสาจนเกินไป แต่เวลาต้องพูดเรื่องที่มีวุฒิภาวะ พวกเธอก็แสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่จนเกินตัว (อันที่จริงทักษะการกำกับเด็กขั้นเทพของเซียมมามีตั้งแต่ในเรื่อง Tomboy แล้ว)

ประเด็นเชิงเพศสภาพที่น่าสนใจถัดมาคือเรื่อง ‘ความเป็นแม่’ อย่างที่ชื่อเรื่อง Petite Maman แปลได้ว่า ‘คุณแม่ตัวน้อย’ ในเส้นเรื่องปัจจุบัน หลังจากยายตายไป แม่ของเนลลี่ก็ทิ้งให้เธออยู่กับพ่อเพียงลำพัง ในขณะที่กำลังรู้สึกสับสนและเปล่าเปลี่ยว เมื่อเนลลี่ได้ย้อนอดีตไปเจอแม่ในวัยเด็ก (มาริยง) เธอก็เข้าใจถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของแม่กับยาย รวมถึงความทุกข์ใจที่มาริยงมีตั้งแต่วัยเยาว์ ขณะเดียวกันมาริยงวัยเด็กก็ได้เดินทางไปยังอนาคตเพื่อได้สัมผัสโลกที่แม่ของเธอ (ยายของเนลลี่) ตายไปแล้ว รวมถึงได้พบกับพ่อของเนลลี่หรือสามีในอนาคตของเธอ

แม้จะเรียนรู้กันทั้งสองทาง ทั้งอดีตและอนาคต แต่เซียมมาก็ไม่ได้หากินกับการบรรลุถึงความเป็นแม่อย่างมักง่ายหรือฟูมฟาย นี่ไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ดที่มีฉากตัวละครร้องไห้กอดกันแล้วปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย สุดท้ายแล้วทั้งเนลลี่และมาริยงก็มีคำถามคาใจที่ยังไม่กระจ่าง แต่อย่างน้อยทั้งคู่ก็ช่วยเติมเต็มอะไรบางอย่างต่อกัน โดยเฉพาะในฉากสำคัญที่เนลลี่พูดว่าแม่ของเธอมักไม่มีความสุข แต่มาริยงก็ย้ำหนักแน่นว่านั่นไม่ใช่ความผิดของเธอหรอก เธอไม่ใช่ตัวการทำให้แม่ทุกข์ใจ มาริยงน่าจะตอบในลักษณะปลอบโยนเพื่อน แต่เมื่อเธออยู่ในสถานะแม่ของเนลลี่ ประโยคนี้ก็อาจกลายเป็นแสงสว่างในชีวิตของเนลลี่ไปตลอดกาล

อีกฉากหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจเป็นฉากช่วงย้อนอดีตที่เนลลี่ได้บอกลากับคุณยาย โดยเนลลี่บอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าหนึ่งในสิ่งที่เสียใจคือเธอไม่ได้กล่าวลาก่อนยายจะตาย (ในเส้นเรื่องปัจจุบัน) ทว่าฉากนี้กลับถ่ายทอดออกมาเพียงไม่กี่วินาที เป็นฉากที่ดูไม่มีความหมายอะไร ไม่มีการโหมเพลงประกอบ ไม่มีการโคลสอัพใบหน้าของเนลลี่ แต่นี่คือโมเมนต์ธรรมดาที่สลักสำคัญต่อมนุษย์บางคน และเป็นสิ่งยืนยันว่า Petite Maman เหมาะสมกับนิยาม ‘หนังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่’ เสียเหลือเกิน 

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากการเสวนา Celine Sciamma Retrospective เมื่อ 9 มกราคม 2565 ทาง Clubhouse สามารถฟังย้อนหลังได้ที่ https://www.clubhouse.com/room/M8N8rL4a

AUTHOR