เพราะเป็นวัยรุ่นจึงหลงทาง เปราะบาง และเจ็บปวด ‘Euphoria’ ซีรีส์เด็กมีปัญหาจากค่าย A24

Highlights

  • Euphoria คือซีรีส์ 8 ตอนจบ เล่าเรื่องชีวิตวัยรุ่นไฮสคูลที่ไม่ได้สดใส หากเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องดิ้นรน ทั้งยาเสพติด เซ็กซ์ และความรุนแรง
  • นี่คือซีรีส์ดราม่าวัยรุ่นเรื่องแรกของช่อง HBO ผลิตโดยค่าย A24 เจ้าของหนังวัยรุ่นชื่อดังหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นคนดูสามารถคาดหวังความแสบสันและวิชวลงามๆ จากเรื่องนี้ได้เลย
  • ซีรีส์ยังได้ดาราวัยรุ่นอย่าง Zendaya และ Jacob Elordi มารับบทนำ ความน่าสนใจคือเรื่องนี้ได้รับกระแสต่อต้านอย่างอื้อฉาวจากคนดูบางกลุ่ม พอๆ กับเสียงสนับสนุนว่ามันพูดเรื่องวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลได้อย่างเข้าใจ ไม่ประนีประนอม
  • ล่าสุดซีรีส์ได้รับอนุมัติให้สร้างซีซั่น 2 ต่อแล้ว คนไทยสามารถรับชมซีซั่นแรกได้ทาง HBO GO

สารภาพว่าความทรงจำแรกของเราที่มีต่อ Euphoria คือการไถหน้าจอไปเจอบทความของ Esquire ที่พาดหัวอย่างน่าตกใจไว้ว่า ซีรีส์เรื่องนี้มีซีนรวมกระจู๋ 30 อัน ไว้ใน 1 ซีน

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เราลองดูซีรีส์เรื่องนี้ (เชื่อสิ) แต่มีเหตุผลมากกว่าซีนนั้น หนึ่ง หลังจากเสิร์ชดูเราพบว่านี่เป็นซีรีส์เกี่ยวกับวัยรุ่น นำแสดงโดย Zendaya และ Jacob Elordi ซึ่งเราเลิฟทั้งคู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สอง ความน่าสนใจคือมันเป็นซีรีส์ดราม่าวัยรุ่นเรื่องแรกของช่อง HBO ผลิตโดย A24 ค่ายหนังคุณภาพที่เคยทำหนังวัยรุ่นแสบๆ อย่าง Eighth Grade, Assassination Nation, Lady Bird รวมถึงหนังรางวัลออสการ์ที่เรารักอย่าง Moonlight 

สาม จากการเสิร์ชดูอีกเช่นกัน เราพบว่า Euphoria มีความฉาวโฉ่ที่น่าพิสูจน์ ผู้ปกครองของกลุ่มวัยรุ่นอเมริกันหลายคนออกมาแสดงความกังวลต่อซีรีส์เรื่องนี้ตั้งแต่ฉายไปได้ไม่กี่ตอน เพราะประเด็นที่ซีรีส์เลือกเล่า ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เซ็กซ์ การข่มขืน ความรุนแรง และอีกมากมาย

คำถามคือจริงๆ Euphoria น่ากังวลขนาดนั้นไหม ทั้งที่ประเด็นในเรื่องถูกเล่าในซีรีส์หรือหนังวัยรุ่นเรื่องอื่นมาแล้วหลายครั้ง และที่น่าสนใจกว่าก็คือเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เคยสร้างยังไง

Euphoria

HBO

ปัญหาวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล

Euphoria มี 8 ตอนจบ ดัดแปลงมาจากซีรีส์อิสราเอลชื่อเดียวกันที่ออกฉายในปี 2012 โฟกัสที่ตัวละครวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่กำลังดิ้นรนกับปัญหาของตัวเอง Rue (รับบทโดย Zendaya) เด็กสาวที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์โอเวอร์โดสจนเกือบช็อกตายกลับมาเรียนไฮสคูลหลังจากบำบัดอยู่หลายเดือน การกลับมาครั้งนี้ทำให้เธอเจอกับ Jules (รับบทโดย Hunter Schafer) เด็กสาวข้ามเพศที่เพิ่งย้ายเข้ามาในเมืองนี้ ทั้งคู่ถูกชะตากันจนกลายเป็นเพื่อนสนิทอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่รูไม่รู้คือจูลส์ชอบนัดผู้ชายทางอินเทอร์เน็ตออกไปมีเซ็กซ์เป็นครั้งคราว หนึ่งในนั้นคือพ่อของ Nate (รับบทโดย Jacob Elordi) หนุ่มฮอตของโรงเรียนผู้ชอบใช้ความรุนแรงเพราะมีปมในใจ

ว่ากันตามตรงนั่นก็ไม่ใช่เส้นเรื่องหลักของซีรีส์นัก เพราะเรื่องพาคนดูไปสำรวจตัวละครอื่นๆ ที่เทียบสัดส่วนแล้วก็ไม่น้อยไปกว่ากัน (แบบเดียวกับที่ Skins หรือ ฮอร์โมนส์ฯ เคยทำนั่นล่ะ) และตัวละครเหล่านั้นต่างก็มีประเด็นน่ากลุ้มใจไม่ต่างจากตัวหลัก อย่าง Maddy (รับบทโดย Alexa Demie) แฟนของเนต ทั้งที่รู้ว่าแฟนตัวเองเป็นคนรุนแรง ถึงจะถูกทำร้ายแต่ก็เลิกไม่ได้เพราะรัก (love-hate relationship ที่แท้), Kat (รับบทโดย Barbie Ferreira) เพื่อนสาวร่างท้วมของแมดดี้ผู้เคยโดนมองข้ามเพราะรูปร่าง สร้างอำนาจให้ตัวเองด้วยการเป็นดาวโป๊บนอินเทอร์เน็ต, Cassie (รับบทโดย Sydney Sweeney) เชียร์ลีดเดอร์สุดฮอตที่ต้องทนทุกข์จากคลิปหลุดที่ถูกปล่อยโดยบรรดาแฟนเก่า หรือ Chris แฟนคนล่าสุดของแคสซีที่คบสาวฮอตอย่างเธอเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าทุกคน

Euphoria

HBO

Euphoria

HBO

คนชอบความเรียลถูกใจสิ่งนี้

ปัญหาอันหลากหลายของตัวละครเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นคือการเล่าเรื่องวัยรุ่นอย่างเข้าอกเข้าใจ แทบจะไม่โรแมนติไซส์ชีวิตวัยรุ่นให้สดใส รวมถึงการเป็นซีรีส์เรต R ทำให้สามารถฉายภาพโป๊เปลือยต่างๆ ได้สุดทางเท่าที่ทำได้ (ถึงขนาดที่คนดูบางคนออกมาบอกว่า โจ่งแจ้งไป๊ ปล่อยให้คนดูจินตนาการบ้างเถ้อะ) ยกตัวอย่างฉากเซ็กซ์ของซิดนีย์ สวีนีย์ ผู้รับบทแคสซี เชียร์ลีดเดอร์สุดฮอต สวีนีย์ผู้ต้องถ่ายฉากเปลือยทั้งตัวบอกว่าความโป๊เปลือยใน Euphoria นั้นมีเอกลักษณ์ที่ไม่ได้ทำออกมาให้น่าดึงดูดกว่าที่มันจะเป็น แต่กลับฉายภาพให้เห็นแบบเรียลๆ 

แต่ความเรียลของเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกใจทุกคนเหมือนกัน นอกจากกลุ่มพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นที่ออกมาต่อต้านซีรีส์เพราะรับความฉาวไม่ไหว Brian ‘Astro’ Bradley แรปเปอร์หนุ่มวัย 22 ปี ผู้เคยรับบทคริส หนุ่มนักกีฬามหา’ลัยที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากการต้องเป็นที่หนึ่ง ขอลาออกจากซีรีส์ตั้งแต่ถ่ายตอนแรก เล่าลือกันว่าเขาไม่สะดวกใจกับการถูกขอให้ถ่ายซีนที่ไม่มีในสคริปต์ และตัวละครของเขามีแนวโน้มว่าจะต้องมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนรักร่วมเพศในตอนต่อไป ในที่สุดไบรอันก็ออกจากโปรเจกต์และได้ Algee Smith มารับบทบาทแทน 

ซึ่งเอาจริงๆ สำหรับเราแล้วเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดยากเหมือนกัน ความ ‘เกินไป’ ของทุกคนมีนิยามไม่เหมือนกัน คงต้องดูแล้วตัดสินด้วยไม้บรรทัดของตัวเองเลย

Euphoria

HBO

 

ไฮสคูลไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป

เรื่องความโจ่งแจ้งอาจเป็นที่ถกเถียง แต่สิ่งที่เรามั่นใจว่าหลายคนน่าจะเห็นตรงกันแน่ๆ คือความโดดเด่นของงานไลท์ติ้ง งานตัดต่อ และงานถ่ายภาพ เดาจากหนังเรื่องก่อนหน้าของผู้สร้าง Sam Levinson อย่าง Assassination Nation เราก็คาดหวังเรื่องวิชวลจัดจ้าน แล้วซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำได้เกินความหวังของเราซะอีก ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยซีนงามๆ บางซีนงามจนแทบลืมหายใจ และที่ชอบเป็นพิเศษคือการเสริมมู้ดของซีรีส์ด้วยการเคลื่อนกล้องที่สวิงไม่แพ้อารมณ์ตัวละคร

Euphoria

HBO


ตัวอย่างงานภาพในเรื่อง

ที่เปี่ยมเสน่ห์ไม่แพ้กันคือการแสดงของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะ Zendaya ที่แทบจะพูดได้ว่าแบกซีรีส์ทั้งเรื่อง เธอสามารถลบภาพนางเอกสุดเนิร์ดจาก Spider-Man: Homecoming ได้อย่างหมดจดงดงาม กลายเป็นสาวขี้ยาอมทุกข์ที่น่าเอาใจช่วย เช่นเดียวกับเจคอบที่ลบภาพหนุ่มหล่อจาก The Kissing Booth ไปเป็นหนุ่มเก็บกดนิสัยร้ายกาจจนแทบจะทำใจรักไม่ลง

HBO

มานึกดูดีๆ สิ่งที่เราชอบมากที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้คงเป็นการเห็นตัวละครดิ้นรนจากปัญหาของตัวเองด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน บางคนเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น บางคนมองหาที่ยึดเหนี่ยว บางคนติดอยู่ในวังวนของความฉิบหายนั้นและไม่ได้พยายามหาทางออก ซึ่งล้วนเป็นทางเลือกที่เราไม่อาจตัดสินว่าผิดหรือถูก

Euphoria ทำให้เราเห็นว่าชีวิตวัยรุ่นไม่ได้มีแค่ความสดใส และมันอาจฟังดูใจร้าย แต่ชีวิตจริงไม่ว่าช่วงไหนๆ ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยความสดใสอยู่แล้ว

บางเวลาเราเจอกับความยากลำบาก เราแค่ต้องอดทนให้ผ่านมันไป ต้องย้ำเตือนตัวเองว่าเราสามารถผ่านมันไปได้

ตัวละครหนึ่งในเรื่องบอกไว้ว่า ชีวิตไฮสคูลไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป

เช่นเดียวกับช่วงเวลายากลำบากทุกช่วงของชีวิตนั่นแหละ

 

อ้างอิง

esquire.com

expressdigest.com

imdb.com

tvguide.com

vulture.com

AUTHOR