Under the Open Sky : โอกาสที่สองของคนได้ชื่อว่าฆาตกร

1. Miwa Nishikawa

แม้จะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่เมื่อจัดอันดับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ญี่ปุ่นมักได้อันดับค่อนต่ำเสมอมา ไม่เว้นแต่วงการภาพยนตร์ที่มีผู้กำกับหญิงน้อยมาก หากให้นึกชื่อแบบไวๆ คนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดน่าจะเป็น นาโอมิ คาวาเสะ ที่หนังของเธอไปประกวดคานส์แทบทุกเรื่อง นอกจากนั้นก็มี มิกะ นินากาวะ กับลายเซ็นหนังสีจัดจ้าน รวมถึง นาโอโกะ โอกิกามิ ผู้ชอบทำหนังเรื่อยๆ เปื่อยๆ ซึ่งเรื่อง Kamome Diner (2006) ของเธอโด่งดังในบ้านเราพอควร

คนทำหนังหญิงญี่ปุ่นอีกคนที่มีผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000s คือ มิวะ นิชิคาวะ เธอเริ่มต้นอาชีพจากการเป็นผู้ช่วยของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผลงานเด่นของเธอเช่น Sway (2006) ว่าด้วยชายหนุ่มผู้เป็นพยานในคดีที่พี่ชายทำให้ภรรยาตกจากสะพานแขวน หรือ Dear Doctor (2009) เล่าถึงแพทย์หนุ่มที่ต้องไปฝึกงานยังหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง ทั้งนี้หนังของนิชิคาวะมักได้รับคำชมในแง่การสำรวจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เธอได้รางวัลด้านบทภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง แต่ผู้เขียนมักรู้สึกว่างานของเธอเป็นงาน ‘กลางๆ’ ที่ขาดบางสิ่งไป

จนกระทั่งเรื่อง The Long Excuse (2015) ที่ผู้เขียนสามารถพูดได้เต็มปากว่าชอบหนังของเธอ นิชิคาวะเขียนบทหนังจากนิยายของตัวเอง (เธอเรียนจบด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ) บอกเล่าถึงนักเขียนชายผู้มีชื่อเสียงที่สูญเสียภรรยาไปจากอุบัติเหตุ หากแต่เขาไม่ได้รักเธอแล้วและรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่เสียใจเท่าที่ควร แม้จะนำเสนอด้วยท่าทีแบบหนังดราม่าทั่วไป แต่การปอกเปลือกมนุษย์ของมันทำได้ดีจนถึงขั้นเป็นหนังสยองขวัญทีเดียว

2. Koji Yakusho

โคจิ ยาคุโช ถือเป็นหนึ่งในนักแสดงชายที่ได้รับการนับถือมากที่สุดของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น เขาเล่นหนังมาตั้งแต่ปลายยุค 70s มีผลงานหลายสิบเรื่อง เคยได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวที Japan Academy Film Prize (ประมาณออสการ์ของญี่ปุ่น) ถึง 3 ครั้ง 

ด้วยความเป็นคนตัวสูง มีใบหน้าน่าเกรงขาม ยาคุโชจึงได้รับบทเป็นยากูซ่าหรือซามูไรบ่อยมาก แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นนักแสดงประเภทเล่นได้ทุกบทบาท ไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนที่หันไปเต้นบอลรูมใน Shall We Dance? (1996), ชายหนุ่มผู้สำนึกผิดต่อการฆ่าภรรยาและชู้รักใน The Eel (1997) หรือจะบทตลกสุดรั่วเขาก็เล่นมาแล้วจากหนังแฟนตาซีเรื่อง Paco and the Magical Book (2008)

นอกจากจะเล่นหนังแมส ยาคุโชยังปรากฏตัวในหนังอินดี้ด้วย เช่นการรับบทนำใน Eureka (2000) หนังขาวดำยาว 4 ชั่วโมงว่าด้วยผู้คนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์จี้รถเมล์ ทว่าคุณูปการสูงสุดของยาคุโชคือการเป็นนักแสดงคู่บุญของผู้กำกับสุดหลอนอย่าง คิโยชิ คุโรซาวะ โดยผลงานสำคัญคือ Cure (1997) เล่าถึงตำรวจที่สืบคดีฆาตกรรมจนกลายเป็นบ้าเสียเอง สำหรับผู้เขียนแล้วการทำงานร่วมกันของยาคุโชกับคุโรซาวะนั้นเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และน่าประทับใจไม่ต่างไปจากคู่ของหว่องกาไวและเหลียงเฉาเหว่ย

3. Under the Open Sky

ผลงานเรื่องล่าสุดของนิชิคาวะมีชื่อว่า Under the Open Sky (2020) เพิ่งจะออกบลูเรย์พร้อมซับไตเติลภาษาอังกฤษเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คราวนี้นิชิคาวะเอานิยายของ ริวโซ ซากิ มาดัดแปลง ซึ่งซากิมักเขียนงานเกี่ยวกับอาชญากรรมญี่ปุ่นทั้งรูปแบบนิยายและ non-fiction หนังดังเรื่อง Vengeance Is Mine (1979) ของโชเฮ อิมามูระ ที่ว่าด้วยการหลบหนีของฆาตกรก็สร้างมาจากหนังสือของนักเขียนรายนี้ 

นักแสดงนำของ Under the Open Sky คือยาคุโช เขารับบทเป็นมิคามิ อดีตยากูซ่าที่เพิ่งออกจากคุก หลังถูกคุมขังอยู่ 13 ปีด้วยข้อหาฆาตกรรม (แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าเป็นการป้องกันตัวก็ตาม) มิคามิเป็นยากูซ่าโวยวายหัวร้อน ซึ่งเป็นภาพซ้ำของยากูซ่าที่ยาคุโชแสดงมาทั้งชีวิต หากแต่มิคามิก็แตกต่างจากยากูซ่าที่เราคุ้นชิน กล่าวคือเขาพยายามจะกลับเข้าสังคม อยากใช้ชีวิตแบบปกติ นั่นทำให้เขาต้อง ‘อยู่เป็น’ ด้วยการระงับอารมณ์โกรธและหัดพินอบพิเทาผู้อื่น

เช่นนั้นแล้ว แทนที่จะเป็นภาพยากูซ่าออกไปต่อยตีกับแก๊งคู่อริหรือถูกลงโทษด้วยการตัดนิ้ว Under the Open Sky กลับนำเสนอภาพยากูซ่าวัยกลางคนไปจ่ายตลาด แยกขยะ ติดต่อหน่วยงานราชการเพื่อหางานทำ รวมถึงสอบใบขับขี่เพื่อจะเป็นคนขับรถบรรทุก พร้อมกันนั้นหนังยังมีพล็อตอีกเส้นว่าด้วยทีมรายการโทรทัศน์ที่ตามถ่ายสารคดีชีวิตของมิคามิ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะสนใจแต่อดีตอันเลวร้ายของมิคามิเท่านั้น ราวกับว่าคนชายขอบจะมีตัวตนขึ้นมาได้ก็ด้วยความผิดแผกจากบรรทัดฐานสังคม

มีสองฉากใน Under the Open Sky ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ ฉากแรกคือตอนที่มิคามิกลับไปเยี่ยมสหายยากูซ่าเก่า อีกฝ่ายจัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่มิคามิจะได้เรียนรู้ว่าแก๊งของเพื่อนกำลังตกต่ำถึงขีดสุดและนี่เป็นช่วงสมัยที่ยากูซ่ากลายเป็นสิ่งตกยุคไปแล้ว ส่วนอีกฉากคือตอนที่มิคามิไปสืบร่องรอยของแม่ ณ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เขาเติบโตมา แม้ว่าพล็อตแนวตามหาแม่จะเป็นสิ่งสุดแสนคลิเช่ แต่ฉากนี้ยาคุโชก็แสดงถึงความเปราะบางของตัวละครออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

Under the Open Sky ยังมีลักษณะตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นในภาพยนตร์ญี่ปุ่นในช่วงสิบปีนี้ นั่นคือการใช้หอคอยโตเกียวสกายทรี เป็นสัญลักษณ์ขับเน้นถึงยุคสมัยใหม่ที่โหดร้ายและต้องดิ้นรน อย่างในเรื่องนี้ก็มีการแทรกภาพสกายทรีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิชิคาวะเคยใช้มาแล้วเมื่อตอนทำ Dreams for Sale (2012) ในทางกลับกัน โตเกียวทาวเวอร์ มักสื่อความถึงความเรืองรองและอบอุ่นใจในอดีต อย่างเช่นตอนที่มิคามิจะเดินทางไปหาเพื่อนเก่า หนังก็ใส่ภาพโตเกียวทาวเวอร์เข้ามาทันที 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นข้อเด่นที่สุดของ Under the Open Sky คือมันเป็นหนังที่ผู้กำกับทำออกมาได้ ‘พอดี’ ไม่เบามือหรือหนักมือเกินไป หนังไม่ได้โบยตีตัวละครจนเกินเหตุ ไม่ได้เห็นอกเห็นใจหรือโลกสวยเกินไป (ซึ่งหนังว่าด้วยตัวละครผู้เริ่มต้นชีวิตใหม่ชอบทำกัน) อีกทั้งยังเว้นช่องว่างให้คนดูตีความ เช่นว่าคนอย่างมิคามินั้นสมควรได้โอกาสแก้ตัวหรือไม่ โอกาสที่เขาได้มาถือว่าสายเกินไปหรือเปล่า และภาพท้องฟ้าสีครามที่ปรากฏในหนังแทบทั้งเรื่องนั้นถือเป็นความหวังหรือความว่างเปล่ากันแน่ ซึ่งผู้ชมแต่ละคนก็คงมองท้องฟ้าในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างกันไป

AUTHOR