The Worst Person in the World และไตรภาคคนประสาทแดกแห่งออสโล

ภาพยนตร์สัญชาตินอร์เวย์ The Worst Person in the World ของผู้กำกับ ยัวคิม เทรียร์ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีตั้งแต่เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อพฤษภาคม 2021 กระแสของหนังยังแรงต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2022 เมื่อหนังเริ่มฉายในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับผู้จัดจำหน่ายอย่าง NEON ดันหนังแบบสุดตัว (NEON คือดิสทริบิวเตอร์ที่พา Parasite คว้ารางวัลออสการ์) จนในที่สุดหนังได้ชิงออสการ์ 2 สาขา นั่นคือ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมและภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม

The Worst Person in the World ไม่ได้มีดีแค่ในตัวมันเองเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการปิดฉาก ‘ไตรภาคออสโล’ (Oslo Trilogy) ของเทรียร์ มันคือหนัง 3 เรื่องที่ถ่ายทำในเมืองหลวงของนอร์เวย์ ว่าด้วยเหล่าคนหนุ่มสาว อาการประสาทกินของพวกเขา และที่สำคัญที่สุดคือการบอกเล่าถึงความไม่มั่นคง-ไม่แน่นอน-ไม่มั่นใจในชีวิต

Oslo Trilogy เริ่มต้นด้วย Reprise (2006) ภาพยนตร์เรื่องแรกของเทรียร์ บอกเล่าถึงชายหนุ่มวัยยี่สิบกว่าสองคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน คนหนึ่งคือฟิลิปที่ได้ออกหนังสือและมีชื่อเสียงพอควร ส่วนอีกคนคืออีริค ผู้ซึ่งผลงานยังไม่ได้ตีพิมพ์ หากเมื่อเวลาผ่านไปชีวิตของทั้งคู่ก็กลายเป็นเส้นขนานที่ห่างกันมากขึ้น ฟิลิปมีอาการทางประสาท พยายามฆ่าตัวตาย จนต้องเลิกเขียนงาน ส่วนอีริคได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์ และไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติต่อเพื่อนรักของเขาอย่างไร

มองแวบแรกอาจนึกว่า Reprise เป็นหนังว่าด้วยความฝันของคนหนุ่ม แต่ผู้เขียนคิดว่าหนังกำลังพูดถึงความเห็นแก่ตัวทั้งในฐานะมนุษย์และศิลปิน อย่างตัวอีริคเอง หลังจากได้เป็นนักเขียนเขาก็แทบไม่ใส่ใจแฟนสาว และคงความสัมพันธ์เพียงเพื่อจะบอกชาวบ้านได้ว่าตัวเองมีคนรัก ส่วนฟิลิปกลับไปหาแฟนเก่า พาเธอไปปารีส และพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนกับทริปเดตแรกของเขา (เป็นที่มาของชื่อเรื่อง Reprise หรือการทำซ้ำ) มันทำให้ฝ่ายหญิงอึดอัดและไม่เข้าใจว่าเธอเป็นอะไรสำหรับเขา ด้านฟิลิปก็ชักใยให้เธอเป็นเพียงแค่ตัวละครในชีวิต ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้รักเธอแล้ว 

แน่นอนว่า Oslo Trilogy เป็นการเล่นกับพื้นที่ในเมืองออสโล เทรียร์เติบโตที่เมืองนี้และพยายามทำให้สถานที่ต่างๆ ช่วยขับเน้นทั้งบรรยากาศและสารของเรื่อง แต่อีกสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือมิติทางด้าน “เวลา” โดยเทรียร์มักบิดดัดเวลาในหนังของเขาเสมอ อย่างใน Reprise มักมีการเหลื่อมกันระหว่างบทสนทนาที่เราได้ยินกับภาพของตัวละครหรือสถานการณ์ที่เราเห็น หรือฉากจบของหนังก็เป็นการจินตนาการถึงอนาคตของอีริคอย่างยืดยาว จนเราอาจเผลอคิดไปว่านี่คือแฮปปี้เอนดิ้งของตัวละคร แต่เมื่อนึกได้ว่ามันเป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน มันก็กลายเป็นตอนจบแสนเจ็บปวด

ภาพยนตร์ลำดับที่สองใน Oslo Trilogy อย่าง Oslo, August 31st (2011) คือผลงานที่ทำให้เทรียร์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง (หนังประกวดในสาย Un Certain Regard หรือสายรองที่คานส์) เป็นหนังที่เล่นกับเวลาอย่างชัดเจนอีกครั้ง เพราะมันว่าด้วยหนึ่งวันของแอนเดอร์ส ชายผู้ได้โอกาสออกมาจากสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดให้เข้ามาจัดการธุระต่างๆ ในตัวเมืองออสโล 

ตัวละครแอนเดอร์สอยู่ในวัยสามสิบต้นๆ หากจะบอกว่าเขาคือภาคผู้ใหญ่ของฟิลิปจากเรื่อง Reprise ก็น่าเชื่อ (ทั้งสองบทนำแสดงโดย แอนเดอร์ส แดเนียลเซน ลี นักแสดงคู่บุญของเทรียร์) ทั้งคู่เต็มไปด้วยความกระวนกระวายและอารมณ์ที่แปรปรวน แถมชีวิตก็พังพินาศพอกัน อย่างตัวแอนเดอร์สเจอน้องสาวเบี้ยวนัด โทรหาแฟนเก่าก็ไม่มีใครรับสาย แถมพอไปหาเพื่อนสนิท กะจะบ่นระบายให้เพื่อนฟังว่าตัวเองเป็นไอ้ขี้ยาไม่มีอะไรในชีวิต ก็ได้พบว่าเพื่อนที่ตอนนี้เป็นพ่อลูกสองตามแบบแผนของสังคมกลับมีชีวิตที่หนักหน่วงกว่า

สำหรับ Oslo, August 31st นอกจากการเล่าถึงเหตุการณ์ 24 ชั่วโมงแล้ว เทรียร์ยังเล่นกับเรื่องเวลาในหลายรูปแบบ อย่างฉากเปิดเรื่องที่เป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์ของผู้คนมากมายที่เป็นความทรงจำต่อเมืองออสโล, ฉากสำคัญที่แอนเดอร์สนั่งอยู่ในคาเฟ่อย่างยาวนาน แล้วเอาแต่สังเกตบทสนทนาของผู้คนในร้าน รวมถึงฉากจบที่ถ่ายแอนเดอร์สในบ้านแบบลองเทกเป็นเวลาสิบกว่านาที มันเป็นฉากที่รุ่มรวยด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ ทั้งการวางตำแหน่งตัวละครหรือการเคลื่อนกล้อง แต่มันกลับแสดงถึงความว่างเปล่าของตัวละครได้อย่างน่าขนลุก

หลังสร้างชื่อจาก Oslo, August 31st เทรียร์ก็ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปทำหนังพูดภาษาอังกฤษ Louder Than Bombs (2015) ตามด้วยหนังระทึกขวัญ Thelma (2017) ก่อนจะกลับมาทำหนังเกี่ยวกับออสโลอีกครั้งใน The Worst Person in the World (2021) ที่คราวนี้ตัวเอกเป็นผู้หญิงชื่อว่าจูลี่ เธอเป็นคนประเภทที่ไม่มั่นใจในความชอบของตัวเอง เปลี่ยนสายเรียน เปลี่ยนงานไปเรื่อย และล่าสุดเธอกำลังจะเปลี่ยนแฟน จากนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่เป็นบาริสต้าหนุ่มผู้ร่าเริง 

แม้จะทำหนังที่บอกเล่าความเปราะบางของเพศชายมาก่อน แต่พอต้องมาเล่าถึงผู้หญิง เทรียร์ก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม เขาสร้างให้จูลี่เป็นตัวละครที่เราทั้งรักทั้งเกลียด ในแง่หนึ่งเธอเป็นสาวน่ารำคาญที่เราคงไม่อยากคบเป็นเพื่อนในชีวิตจริง หากมองอีกแง่ จูลี่ก็เป็นกระจกสะท้อนตัวเราได้ถึงความสับสนในใจมนุษย์ (อธิบายได้เด็ดขาดในฉากเธอบอกเลิกแฟนด้วยการพูดว่า “ฉันยังรักเธอ แต่ฉันก็ไม่ได้รักเธอแล้ว”) รวมถึงความคาบเกี่ยวระหว่างการรักตัวเอง ปกป้องตัวเอง และความเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะฉากที่เธอตัดสินใจไม่ไปหาแฟนเก่าตอนกำลังจะตาย

แน่นอนว่า The Worst Person in the World ยังมีความน่าสนใจในเชิงเวลา อาทิ การแบ่งหนังเป็น 12 บทตามช่วงชีวิตของจูลี่ แต่ละบทสั้นยาวไม่เท่ากัน บางบทเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต บางบทดูเป็นเพียงเหตุการณ์ยิบย่อย หรือฉากหยุดเวลา ฉากเด็ดของหนังที่ทุกคนในออสโลหยุดนิ่งกันหมด จากนั้นจูลี่ก็ผละจากแฟน วิ่งไปหาหนุ่มคนใหม่ เรียกได้ว่าถ่ายทอดสภาวะ “กายอยู่ที่นี่ แต่ใจไปอยู่ที่อื่น” ได้เป็นรูปธรรมสุดๆ

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ Reprise และ Oslo, August 31st มีตอนจบปลายเปิดที่เอื้อต่อการตีความ บทสรุปของ The Worst Person in the World ดูเป็นอะไรที่จับต้องได้กว่าเรื่องก่อนหน้า อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของจูลี่ ความเติบโต ความชรา ความปลงปล่อยวาง และดวงตาที่ไม่ได้ส่องประกายแบบหญิงสาวผู้แสวงหาอีกต่อไป จาก “คนแย่ที่สุดในโลก” ที่สร้างผลกระทบต่อคนอื่น จูลี่กลายเป็นผู้หญิงที่หาที่ทางของตัวเองได้พร้อมไปกับการอยู่ร่วมกับระบบของสังคม ซึ่งถ้าถามว่าชีวิตก่อนหน้ากับปัจจุบัน แบบไหนที่ดีหรือแย่กว่ากัน ก็คงไม่มีใครตอบได้ แม้กระทั่งตัวจูลี่เอง

AUTHOR