คุยกับปากกาของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ผู้เขียนหนังสือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’

ปาณิส

ที่ใครหลายคนเคยบอกว่า ‘มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง’ เราไม่แน่ใจว่าในประเทศที่ทำให้ความหวังเจือจางจากใจคน ประโยคนี้จะยังมีความหมายได้ยังไง

ยิ่งพอได้กวาดสายตาไปทั่วๆ พลางสำรวจหลายชีวิตในสังคมผ่านหนังสือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ สารคดีที่บรรจุไปด้วยเรื่องราวชีวิตหลากหลายของผู้คนในสังคม มันก็ยิ่งทำให้เรามองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลดทอนความหวังของคุณภาพชีวิตมากกว่าเดิม 

เนื้อหาข้างในทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้คือผลจากการลงพื้นที่พูดคุย ศึกษาข้อมูลของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world ผู้ชื่นชอบการทำความเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย และนำเสนอออกมาในรูปแบบสารคดีเพื่อให้คนได้รับรู้

สนามม้านางเลิ้ง ตรอกซอกซอยที่มีพนักงานบริการทางเพศ สนามมวย ถนนข้าวสารยามโรคระบาด ไปจนถึงการประท้วงของคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและฮ่องกง คือตัวอย่างของเรื่องราวที่ปาณิสพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ ‘ปากกาสีดำ’ ของเธอที่ร่วมผจญภัยเรียนรู้จักเรื่องราวชีวิตผู้คนหลากหลายในโลกนี้ 

ภาพโดย: เมธิชัย เตียวนะ

เทียบกันกับคนรุ่นใหม่ (และปากการุ่นใหม่) คงมีเพียงไม่กี่คนที่ทุ่มเทลงไปทำความเข้าใจคนและถ่ายทอดออกมาให้เข้าถึงคน คงดีไม่น้อยถ้าเราได้สำรวจเบื้องหลังการทำงานสารคดีของปาณิส แต่เพราะเธอกำลังลงพื้นที่ทำสารคดีอยู่​ในตอนนี้ เราจึงถือโอกาสชวนปากกาของเธอมาคุยด้วยก่อน 

เรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นยังไงบ้าง นั่งลงฟังปากกาคู่ใจของปาณิสเล่าให้ฟังไปพร้อมๆ กัน

ขอเริ่มด้วยการถามถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของคุณกับเจ้าของหน่อย คุณไปเจอกับปาณิสได้ยังไง

เรานอนอยู่บนชั้นของร้านมูจิที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว มองเห็นคนท่าทางรีบๆ เดินมาหยิบเพื่อนเราไป ก่อนปาณิสจะเดินมาใกล้ๆ แต่เราไม่ใช่คนแรกที่เธอมองหรอก ตอนนั้นเธอเลือกหยิบคนที่ไส้อวบอ้วนกว่าไปก่อน เห็นลองเขียนขยุกขยิกแล้วคงไม่ค่อยใช่ ปาณิสค่อยหันมามองเรา หยิบขึ้นมาเขียนสองสามยึกแล้วก็เดินไปจ่ายตังค์ เห็นรีบๆ เหลือเกิน ไม่รู้อยากใช้ปากกาอะไรเร็วขนาดนั้น

ตอนทำความรู้จักกันแรกๆ ปาณิสเคยเล่าให้คุณฟังไหมว่าเริ่มต้นเขียนสารคดีตอนไหน

น่าน้อยใจเหมือนกันที่เราไม่ใช่คนแรกที่อยู่กับปาณิสตอนเริ่มเขียนสารคดี แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะในช่วงที่ปาณิสลงพื้นที่หนักจริงๆ เราอยู่ด้วยตลอด

เอาเป็นว่าปาณิสก็เคยย้อนความหลังให้ฟังบ้าง ตอนที่เป็นนักศึกษา เธอเรียนที่ศิลปากร แล้วได้ฝึกทำสารคดีเรื่องแรกๆ เกี่ยวกับนักมวยไทย เธอพกปากกาแท่งอื่นไปค่ายมวย สนามมวย และจดยิกเวลาขอข้อมูลจากโปรโมเตอร์ (เราพยายามนึกภาพตามด้วยนะ ตอนนั้นเธอน่าจะใช้งานปากกาด้ามนั้นหนักพอตัว) เธออวดบ่อยว่าพ่อเธอเคยทำค่ายมวย เลยคุ้นชินกับน้ำมันมวยและการชกต่อย ปาณิสบอกเราว่าการสัมภาษณ์นักมวยน่ะยากที่สุด เพราะไม่ค่อยมีใครชอบพูดนัก เธอเลยเริ่มพูดคุยด้วยการให้นักมวยสอนใส่เข่า ดูเหมือนว่าจะได้ผลด้วยนะ

คุณเคยคุยกับเจ้าของปากกาไหมว่าทำไมถึงชอบเล่าเรื่องด้วยรูปแบบสารคดี

เธอเป็นพวกชอบเรื่องจริงน่ะ แต่ขณะเดียวกันก็อ่านวรรณกรรมเป็นบ้าเป็นหลัง เราเดาว่าเธอคงอยากผสมสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แล้วงานสารคดีก็น่าจะตอบโจทย์ที่สุด 

เวลาปาณิสใช้เราจดอะไรก็มักจะบรรยายท้องฟ้า สายลม แสงแดด เสียงของป่าไม้ หรือชนิดของเฟิร์น รา มอส อะไรเทือกนั้น แล้วก็ชอบจดคำพูดของคนเอาไว้ บางครั้งปาณิสก็เติมความคิดตัวเองเข้าไปด้วยนิดๆ หน่อยๆ เช่น ‘เฉียบ’

เท่าที่สังเกต ดูเหมือนว่าปาณิสจะชอบไปเจอผู้คนและไปเห็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น หลายครั้งเวลานั่งรถเธอชอบเอาเราขึ้นมาควงเล่น บางทีก็ไม่ได้จดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอก เราก็อยากบอกเหมือนกันว่าเวียนหัว

แสดงว่าปาณิสพาคุณไปไหนมาไหนด้วยเสมอ โดยเฉพาะเวลาลงพื้นที่ทำงานสารคดี มีเรื่องไหนที่เปิดโลกคุณกับเจ้าของบ้าง

เยอะมาก อันที่จริงก็เปิดโลกทุกเรื่องเลย ปาณิสเป็นพวกตื่นเต้นง่ายน่ะ (เราก็ด้วย)

จำได้ครั้งหนึ่งตอนไปลงพื้นที่คลองหลอดทำเรื่องหญิงขายบริการ ตอนนั้นปาณิสแทบไม่หยิบเราขึ้นมาเขียนเลย แต่ก็เหน็บไว้ที่กระเป๋าเสื้อตลอด เราเลยได้เห็นและได้ยินชัดทุกอย่าง มีทั้งเด็กมากๆ ไปจนถึงคนที่สูงอายุแล้วมาขายบริการ เรื่องราวของแต่ละคนก็มีมิติที่ซับซ้อนมากๆ ทำให้เราเห็นเลยว่ามนุษย์แต่ละคนมีเบื้องหลังของชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย จนเราไม่อาจตัดสินได้เลยว่าใครดีหรือเลว จำได้ว่าเป็นหนึ่งในการลงพื้นที่ที่ปาณิสระมัดระวังมากที่จะไม่ทำให้คนที่คุยด้วยอึดอัด เลยเป็นเหตุผลที่เราแทบไม่ถูกหยิบมาใช้งานเลย มาเจอกันอีกทีก็ตอนอยู่บนรถแล้วนั่นแหละ

อีกทีก็มีตอนไปฮ่องกง เราทั้งดีใจที่ได้บินข้ามฟ้าด้วย และเป็นเพื่อนคนเดียวของปาณิส อันที่จริงปาณิสพาเพื่อนไปอีกคนคือยาดม ตอนเดินๆ อยู่ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม ปาณิสหยิบยาดมขึ้นมาใช้บ่อยกว่าเราอีก

มีตอนหนึ่งในหนังสือที่ปาณิสเขียนว่าพาคุณไปแทงม้า ทั้งๆ ที่คุณทั้งสองก็ไม่เคยมีประสบการณ์กับการพนันแบบนี้มาก่อน คุณคิดว่าการเอาตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของประเด็นที่สนใจ หรือลองทำตัวแบบตัวละครที่คุณไปศึกษา สำคัญยังไงในการทำสารคดี

ถ้าจะเล่าเรื่องจริงให้ถึงเนื้อถึงหนัง ก็จำเป็นต้องเอาตัวเองไปสัมผัสเหตุการณ์จริง ข้อนี้ยืนยันได้เลย เพราะตอนที่ปาณิสใช้เราจดบนโพยม้า มันเป็นความรู้สึกใหม่ที่เราตื่นเต้นสุดๆ และถ้าไม่ได้ลองทำแบบนี้ก็คงไม่รู้ว่าปากกาของคนแทงม้าสนุกยังไง แล้วปาณิสก็คงไม่มีเรื่องสนุกๆ ไปเขียนด้วย

แต่แง่หนึ่งก็มีคนบอกว่าสื่อไม่ควรเอาตัวเข้าไปเป็นผู้เล่นในเรื่องที่นำเสนอ แล้วเคยมีครั้งไหนบ้างไหมที่การลงพื้นที่หรือทำความเข้าใจประเด็น ทำให้เจ้าของคุณอินมากๆ จนเริ่มรู้สึกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนั้น แล้วสุดท้ายเจ้าของคุณจัดการกับมันยังไง

มีหลายครั้งเหมือนกันที่ปาณิสรู้สึกรู้สาไปกับภาพตรงหน้ามากๆ สิ่งที่จำเป็นคือเวลา–ถ้าเรื่องไหนที่รู้สึกเยอะ ก็จำเป็นต้องทิ้งเวลาให้นานหน่อย คิดกับมันให้นานหน่อย แล้วถอยตัวเองออกมาจากเรื่องเพื่อให้เห็นภาพรวม ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปหาข้อมูลส่วนอื่น ถ้าเว้นเวลาและระยะห่างได้ดีพอ เวลาเล่าเรื่องก็จะเจอน้ำหนักงานเขียนที่เหมาะสม

ปาณิสเคยระบายกับคุณไหมว่าส่วนไหนในการทำงานสารคดีที่ยากที่สุด

บ่นประจำ ช่วงที่ปาณิสถอนหายใจบ่อยที่สุด หมุนควงเราบ่อยที่สุด (และเราก็เวียนหัวไปกับเธอมากที่สุด) คือตอนที่เอาข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาวางกองตรงหน้า ตั้งแต่เทปสัมภาษณ์ ข้อมูลที่จดบนเศษกระดาษ บางทีก็ไปโผล่ตรงโพยม้าบ้าง หรือจดไว้บนมือบ้าง ยังไม่นับพวกข้อมูลเอกสารอื่นๆ ที่ต้องหามาเสริมให้งานหนักแน่นขึ้น

ส่วนนี้แหละที่เจ้าของเราบอกว่ายากที่สุด เพราะไม่รู้จะหยิบจับเอาส่วนไหนมาเล่าก่อน ส่วนไหนสำคัญ ส่วนไหนตัดออกได้ การจะเลือกหยิบวัตถุดิบพวกนี้มาเขียนกลายเป็นช่วงเวลาที่ปาณิสใช้นานที่สุดก่อนจะเขียนงานออกมาได้สักชิ้น

แล้วพาร์ตไหนในการทำงานสารคดีที่เจ้าของคุณชอบมากที่สุด

แน่นอนว่าต้องเป็นตอนลงพื้นที่ เพราะไม่รู้เลยว่าจะไปเจออะไรบ้าง งานสารคดีสนุกตรงนี้ และการลงพื้นที่เปิดให้เราทั้งคู่ได้ไปเจออะไรใหม่ๆ มันเปิดโอกาสให้ปาณิสไปเจอคนใหม่ๆ บางคนที่ชีวิตปกติอาจจะไม่มีโอกาสคุย งานสารคดีก็ทำให้ได้คุย ทำความรู้จักผู้คนหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่คนเดินโพยหวย คนขายลูกชิ้น ไปจนถึงนักธุรกิจพันล้าน

แล้วเวลาลงพื้นที่ ปาณิสชอบบอกว่า ที่เลือกเราเป็นคู่หู เพราะเราน้ำหนักเบา ไม่กวนใจ และหายได้ ไม่เจ็บปวดมาก เราชอบทุกครั้งที่ปาณิสใช้เราจดอะไรใหม่ๆ ที่เพิ่งไปเจอมาพร้อมกัน

ฟังอย่างนี้แล้ว อยากถามเลยว่าการออกไปทำงานสารคดีเติมเต็มชีวิตคุณและปาณิสยังไงบ้าง

ถ้าวันไหนปาณิสบอกว่ากำลังจะไปลงพื้นที่ หัวใจเราก็เต้นรัวเร็วด้วยความตื่นเต้นแล้ว เราทั้งคู่เพลิดเพลินกันมากกับการไปได้ยินเสียงใหม่ๆ ฟังเรื่องเล่าที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน และไปเห็นภาพที่ในชีวิตอาจจะไม่ได้เห็น

การทำความเข้าใจชีวิตคนอื่นมันทำให้เราหันมองชีวิตตัวเองได้เหมือนกันนะ แล้วก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ยังไม่นับว่าพอได้ประโยคที่ดีๆ กลับมาเขียนแล้วก็ยิ่งเติมเต็มหัวใจในการทำงานได้มากเลย

ภาพโดย: วิชัย จันทวาโร

สำหรับปาณิสแล้วการเขียนสารคดีประเด็นเหล่านี้สำคัญยังไง ทำไมเราต้องทำงานลักษณะนี้ออกมาให้มากขึ้น เจ้าของเคยคุยเรื่องนี้กับคุณไหม

จริงๆ งานสื่อสารในหลายรูปแบบก็มีความสำคัญและบทบาทต่างกัน งานสารคดีก็เป็นหนึ่งในวิธีเล่าเรื่องอีกหลายร้อยพันวิธี แต่เอาเท่าที่เคยคุยกับปาณิส เธอก็ยังเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีเสียงที่เบากว่าคนอื่น ยังมีเรื่องเล่าในซอกหลืบสังคมอยู่อีกเยอะมาก ที่ต้องการการส่งเสียงและฉายภาพออกมาให้ผู้คนเห็น

และไม่ใช่แค่เรื่องเศร้าชวนหดหู่เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องวัฒนธรรมของผู้คนที่ดำเนินไปในโลกที่ไม่หยุดนิ่งนี้ ที่พอเราเห็นมากขึ้น ทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เราต่อจิ๊กซอว์มุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ได้คมชัดขึ้น ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่งานสารคดีทำได้ ก็คงเป็นการเล่าเรื่องจริงให้ถึงหัวจิตหัวใจคนได้

แต่สารคดีก็เป็นเหมือนหนึ่งในการเล่าเรื่องแบบอื่นๆ คืออาจจะไม่ได้มีพลังสะเทือนฟ้าสะเทือนดวงดาวขนาดจะเปลี่ยนสังคมได้พลิกโฉมขนาดนั้น แต่อย่างน้อยถ้าสารคดีได้ทำงานกับหัวใจคน เป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจภาพใหญ่ ก็น่าจะช่วยเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้สังคมเคลื่อนไปได้

การทำงานสารคดีมาหลายปี ทำให้เจอกับประเด็นสังคมเยอะมาก คุณเคยคุยกับปาณิสในเรื่องมุมมองต่อประเทศนี้บ้างไหม

คุยบ่อย เราแลกเปลี่ยนกันประจำ ถ้ามองจากสายตาของคนบางกลุ่ม ปาณิสอาจดูเป็นพวกชังชาติ (ฮ่า) เพราะชอบวิพากษ์วิจารณ์สังคมและรัฐอยู่เรื่อย ปาณิสเชื่อว่าปัญหาหลายอย่างในประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่สามารถแก้ได้โดยการพัฒนาการเมืองให้ดีและตรวจสอบได้

ยิ่งไปเจอคนลำบาก ยิ่งไปเจอประเด็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ยิ่งทำให้รู้ว่าหลายปัญหาเราไม่อาจโยนให้เป็นความรับผิดชอบของปัจเจกได้ และนั่นแหละ ประเทศเรายังมีปัญหาให้แก้อีกเยอะมาก และผู้คนควรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้

ชื่อหนังสือของปาณิสที่ว่า ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ การมีความหวังสำคัญยังไงใน พ.ศ.นี้

แน่นอนว่าความหวังสำคัญมาก ถ้าเราไม่มีความหวัง โลกเราจะไม่ขับเคลื่อนมาถึงทุกวันนี้ ถ้าเราไม่มีความหวังว่าวันหนึ่งมนุษย์จะเขียนปากกาได้ลื่นขึ้น ก็คงไม่มีใครสร้างเราขึ้นมา และพยายามพัฒนาเราให้ใช้งานได้คล่องมือแบบนี้

เช่นเดียวกัน ในวันที่พายุการเปลี่ยนแปลงพัดโหมอยู่ การมีความหวังว่าเราจะมีสังคมที่ดีขึ้น มีการเมืองที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมสำคัญ เพราะนั่นจะทำให้มนุษย์เดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ถ้าเราไม่มีหวัง เราก็จะล้มเลิกที่จะทำอะไรเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ถ้า ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ แล้วเจ้าของปากกาคุณมีความหวังต่อประเทศนี้และวงการสารคดียังไงบ้าง

ประเทศนี้ต้องดีขึ้นแน่นอน ความหวังเกิดขึ้นในหัวใจคนแล้ว ภาพอนาคตที่ดีเกิดขึ้นในหัวใจคนแล้ว และการไม่สยบยอมต่ออำนาจที่กดคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ต่ำก็เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเรากำลังจะเดินไปในทิศทางที่ดี ขอแค่อย่าเพิ่งหมดหวังกันเสียก่อน

ส่วนวงการสารคดี ปาณิสพูดให้ฟังบ่อยๆ ว่ามีคนทำงานดีๆ อยู่เยอะมาก ทั้งงานเขียนและวิดีโอ ปาณิสชื่นชมอยู่ห่างๆ แต่ถ้าจะให้หวังอะไรสักอย่าง เธอคงอยากให้มีงานที่เข้มข้นและหนักแน่นออกมาเยอะๆ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อช่วยกันสะท้อนสังคม เพื่อให้คนเห็นว่าหากบ้านเมืองยังมีปัญหา ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข


ขอบคุณภาพจาก: อลงกรณ์ นามมูล, เมธิชัย เตียวนะ และ วิชัย จันทวาโร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย