สิทธิ sex worker และเมืองของ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)

สุรางค์ จันทร์แย้ม ทำงานเป็นนักกิจกรรมขับเคลื่อนสิทธิ sex worker มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

ปีนี้เธออายุ 55 ปี นั่นแปลว่าเธอใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กลุ่มคนที่สังคมและรัฐไม่เคยเหลียวมอง

จากลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่มีบิดารับราชการเป็นครู สอบติดวิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นนางรำ จนมาสู่การเป็น NGO ขับเคลื่อนในสิ่งที่เชื่อ ดูแล้วช่างเป็นเส้นทางที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องและบรรจบกันได้

สารภาพว่าฉันได้ยินชื่อมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ที่สุรางค์ก่อตั้งเป็นครั้งแรกในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีก่อน นึกดีใจและแปลกใจที่มีองค์กรทำงานช่วยเหลือและผลักดันสิทธิของ sex worker ในไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 17 ปี

จนมาไม่กี่ปีนี้ที่สังคมเริ่มมองเห็นคนกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งยังส่งต่อความตระหนักรู้ไปสู่ขบวนการประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ออกมาเป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิให้ sex worker อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ในยุคที่กระแสสังคมเปลี่ยนทิศ ‘sex work is work’ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการเมือง ผู้ที่สู้เพื่อสิ่งนี้มาตลอดอย่างเธอรู้สึกยังไง

ชีวิตที่ทุ่มเทเวลา 24 ชั่วโมงไปกับการขับเคลื่อนเพื่อช่วยให้ชีวิตพี่น้องพนักงานบริการดีขึ้น ตั้งแต่เรื่องปากท้อง การศึกษา สุขอนามัย ไปจนถึงการต่อสู้กับคนในสังคมและผู้มีอำนาจเพื่อให้มองพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เราพบกันที่ออฟฟิศ SWING ในซอยพัฒน์พงศ์ที่ตอนนี้เงียบเหงาจนน่าใจหายจากพิษโควิด-19 เราพูดคุยกันถึงชีวิตและสถานการณ์ที่คนทำงานในแวดวง sex work ต้องเจอ ทั้งที่ใครๆ ต่างรู้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแหล่งรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ แต่พวกเขากลับต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะสิ่งที่ทำยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และโดนดูถูกเหยียดหยามจากคนในสังคม

“เราไม่ได้มาขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมให้คนมาขายบริการ แต่เรากำลังเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่ทำกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่สามารถส่งเสียงได้ออกไปจากสังคม”

สุรางค์เน้นย้ำถึงสิ่งที่ตนพยายามทำมาตลอดเกือบทั้งชีวิต ฉันทำหน้าที่รับฟัง พูดคุยถกถามเพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นตัวอักษรให้ทุกคนได้อ่าน

ส่วนคุณ ฉันไม่ขออะไรมาก

แค่เปิดใจรับฟังเสียงของพวกเขาในหน้ากระดาษถัดจากนี้บ้างก็พอ

อย่าปล่อยให้ภาพจำ sex worker กักขังความเข้าใจของเรา

ฉันผลักประตูเข้ามาพบกับออฟฟิศขนาดย่อมสีสันสดใสที่ซ่อนตัวบนชั้น 6 ในอาคารหลังหนึ่งย่านพัฒน์พงศ์

ทีมงานมูลนิธิ SWING ต้อนรับฉันเป็นอย่างดี ก่อนพาไปนั่งรอในห้องประชุมแอร์เย็นฉ่ำ ซึ่งมารู้ทีหลังว่าพื้นที่ปู สีที่ทา อิฐปูนที่ก่อ ล้วนก่อร่างสร้างจากมือของคนที่ฉันมาพบในวันนี้และเพื่อนพี่น้อง sex worker ไม่กี่คนที่เริ่มต้นก่อตั้งที่นี่มาด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นแค่ชั้นร้าง

สุรางค์เปิดประตูเข้ามาพลางกล่าวคำขอโทษที่ให้รอทั้งที่ไม่ได้เลยเวลานัดหมายแต่อย่างใด

ในยุคสมัยที่คนไทยเริ่มตื่นตัวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกับรัฐสวัสดิการ เรื่องของกลุ่มคนชายขอบในสังคมที่ไม่เคยถูกมองเห็นก็เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้น ค่านิยมที่คร่ำคร่าล้าสมัยค่อยๆ โดนกระแสของกาลเวลาพัดพาทำลาย กระทั่งตัวกฎหมายที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้คนก็ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้น จนถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกไปเสีย

“ไม่คิดไม่ฝันว่าสังคมจะมาถึงจุดนี้ได้” สุรางค์เอ่ย

ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2532 ที่เธอตัดสินใจสมัครทำงานในมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ที่ส่งเสริมโอกาสหญิงขายบริการ เพื่อตามรอยพี่สาวผู้เป็น NGO ตอนนั้นอาชีพ sex worker ยังไม่เป็นที่ยอมรับแม้แต่น้อย ขนาดเธอเองยังแบ่งขาวแบ่งดำชัดเจนระหว่างตัวเองกับผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้

“เจ้าหน้าที่มูลนิธินัดมาเจอที่พัฒน์พงศ์ แล้วใครๆ ก็รู้ว่าย่านนี้มี stigma ขนาดเรายังไม่กล้าบอกแท็กซี่ว่าจะไปไหน เพราะกลัวเขามองเราเป็นผู้หญิงไม่ดี คิดว่าเราไปทำอะไรหรือเปล่า เหมือนมันยังมีอะไรฝังหัวเราอยู่ พอถึงพัฒน์พงศ์ก็รู้สึกอึดอัดเพราะมองว่าตัวเองเป็นผู้หญิงดีไง ที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เราควรอยู่ แต่ถามว่าอยากทำงานนี้ไหมก็อยาก ทั้งที่ยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับ sex worker เท่าไหร่”

เธอเริ่มต้นทำงานที่มูลนิธิด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยงานรณรงค์โรคเอดส์ และด้วยความที่ถูกฝังหัวมาตั้งแต่เด็กว่าคนทำงานบริการต้องหยาบคาย สกปรก แพร่เชื้อโรค ช่วงสัปดาห์แรกเธอจึงแทบไม่กินข้าวไม่กินน้ำในออฟฟิศเพราะกลัวตัวเองจะติดโรค แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพจำแบบนั้นก็ค่อยๆ หายไปจากหัวเธอ

“ที่คิดว่าจะได้ยินคำด่าคำหยาบคายจากพวกเขา เราไม่ได้ยินเลย สิ่งที่ได้ยินกลับเป็นคำทักทายจากพี่ๆ น้องๆ sex worker ถามไถ่ว่ากินข้าวหรือยัง ทำให้เรารู้ทันทีว่าพวกเขาไม่ใช่แบบที่คิดไว้ เลยเริ่มไม่กลัวที่จะกินข้าวกินน้ำและมีปฏิสัมพันธ์กัน บอกไม่ได้ว่าระยะเวลาไหนที่กลืนไปจนเรารู้สึกเองว่าตรงนี้มันใช่ มันชัดมากที่สุดว่าตรงนี้คือที่ที่เราจะไปต่อ พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราอยากทำงานด้วย”

ไม่จำเป็นต้องเจ็บปวดเองก็ออกมาเรียกร้องได้

เหตุการณ์แรกที่จุดประกายให้สุรางค์รู้ว่าเธอสามารถทำให้ชีวิต sex worker ดีขึ้นได้คือตอนที่เริ่มสอนหนังสือให้พวกเขา

การเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเพียบพร้อมทำให้เธอไม่เคยสัมผัสถึงช่วงเวลาลำบากที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้นการที่มีพี่น้อง sex worker มาขอให้เธออ่านคอลัมน์ดูดวงในหนังสือพิมพ์ให้ฟังจึงเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน

“ทุกวันเขาจะมาขอให้เราอ่านดวงให้ฟัง เราก็ถามกลับว่าทำไมพี่ไม่อ่านเอง จนมารู้ว่าเขาอ่านหนังสือไม่ได้ทั้งที่โตกว่า แล้วดวงเหมือนเป็นความหวังเดียวของเขา ถ้าดวงดีหมายความว่าวันนี้เขาจะโชคดี มันเป็นที่พึ่งทางใจ ตอนหลังเราเลยคิดว่าชวนพวกเขามาเรียนหนังสือกันดีกว่า โดยเรียนจากดวงนี่แหละ แล้วเขาก็ค่อยๆ สะกดกันได้ มีวันหนึ่งพี่ที่พอจะเขียนเป็นก็ขอเขียนจดหมายถึงลูก เขาดีใจมาก น้ำตาไหลออกมาเลย เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ยิ่งใหญ่มาก ไม่เคยรู้ว่าการเขียนหนังสือได้มันยิ่งใหญ่ขนาดนี้

“พ่ออยากให้เราเป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งสิ่งที่เราทำมันก็เป็นครู เพียงแต่ไม่ใช่ครูในระบบโรงเรียน แต่เป็นครูให้คนที่ไม่มีและเข้าไม่ถึงโอกาส ที่จริงพ่อพยายามให้เรากลับไปสอบ
บรรจุเป็นครู เราเลยยื่นเงื่อนไขว่าจะเรียนปริญญาโทให้แทนแต่ขอทำงานตรงนี้ เพราะพ่ออยากเห็นเราเป็นด็อกเตอร์ก็สัญญากันแล้วทำสิ่งนี้แลกเปลี่ยน พอเรียนจบพ่อไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยขอให้ออกจากงานเพราะเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงอีกเลย ครอบครัวซัพพอร์ตมาก ทำให้เราทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่

“เราบอกตัวเองกับพี่น้อง sex worker ทุกครั้งที่ต้องทำงานใหญ่ว่าเราเลือกทำงานนี้เป็นงานแรกและงานสุดท้าย เราจะอยู่กับพวกเขา เพราะการที่เราไม่ใช่คนยิ่งใหญ่อะไร เป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่สิ่งที่ทำกลับไปกระตุกอะไรได้หลายอย่าง ถ้าไม่มีคนที่ทำแบบเรา พี่น้องเหล่านี้จะลำบากขนาดไหน จะมีใครมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาบ้างไหม นี่คือสิ่งที่เราทำได้ เลยเลือกทำงานตรงนี้ตลอดไป”

“ทั้งๆ ที่สมัยนั้นแทบไม่มีใครตระหนักรู้ถึงประเด็น sex worker แต่คุณก็ยังเลือกที่จะทำ” ฉันถาม

“เราเจอหนักอยู่นะ เอาแค่เราเป็นองค์กรที่ทำงานกับ sex worker เวลาได้รับเชิญไปประชุมหรือเป็นวิทยากรบรรยายเราจะได้พูดเป็นคนสุดท้ายตลอด และจะเจอคำถามแบบ ‘ขอโทษนะคะ อาจารย์ทำงานอยู่ที่ไหน’ ประมาณว่าเราก็เป็น sex worker เพราะเวลาพูดเราใช้สรรพนาม ‘เรา’ แทน sex worker และตัวเอง เขาเลยคิดว่าใช่ ก็ไม่ได้โกรธเขานะ แต่มันทำให้เห็นว่าขนาดเราเป็นคนทำงานด้านนี้ก็ยังเจอทัศนะไม่ดี แล้วพี่น้องเราที่จะก้าวออกมาอยู่ในสังคมก็ยิ่งไม่ง่ายเลย”

ทำงานสังคมจิตใจต้องเข้มแข็ง

ตอนที่สุรางค์ทำงานในมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรที่เป็นการส่งเสริม sex worker มักมีการตั้งคำถามจากสังคมตามมาด้วยเสมอ เมื่อออกไปประชุมหรือเคลื่อนไหวใดๆ เธอต้องทำใจยอมรับว่าจะได้รับฟีดแบ็กที่รุนแรงแน่นอน

เธอเล่าว่าในขณะที่ชีวิตของ sex worker ยากลำบากอยู่แล้ว พอมีคนสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้คนภายนอกรับรู้ก็กลายเป็นได้รับกระแสลบมากกว่าบวก ยังไม่นับอุปสรรคในการทำงานร่วมกับองค์กรผู้หญิงแห่งอื่นๆ ที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องหญิงบริการทางเพศอีก

“เคยคิดไหมว่าถ้าไปทำงานขับเคลื่อนเรื่องอื่นอาจจะไม่ต้องเหนื่อยตอบคำถามขนาดนี้”

“ไม่เคยคิดนะ อาจมีช่วงแรกๆ ที่เหมือนยังหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่า NGO ต้องทำงานยังไง เพราะมันต้องมองเห็นปัญหา คิด ออกแบบ วางแผนทำงานเอง แต่เราไม่รู้ คิดว่าเดี๋ยวก็มีคนมาบอก เวลาเข้ามาออฟฟิศเราเลยมักนั่งตาลอยไม่รู้จะทำอะไร เพราะยังอ่านปัญหาไม่ขาด วิเคราะห์ไม่ได้ว่าต้องจัดการยังไง มีบางวันที่รู้สึกท้อ แต่เราปลดล็อกเรื่องการรังเกียจพี่น้อง sex worker ไปแล้ว

“มาจับจุดได้ตอนทำเรื่องสอนหนังสือ เราเป็นคนลุกขึ้นมาทำให้พี่น้อง sex worker ได้เข้าถึงการศึกษานอกโรงเรียน ไปดีลกับทาง กศน.ด้วยตัวเอง ไม่รู้ข้อมูลหรอกแต่หาวิธีการจนกระทั่งสามารถจัดตั้งการศึกษานอกโรงเรียนให้กับพี่น้องของเราได้ เลยปักธงว่านี่แหละคือเส้นทางที่เราจะไปต่อในอาชีพนี้”

เวลาลูกศิษย์ไปสอบวัดผลรวมกับคนอื่นๆ เธอมักไปเป็นกำลังใจให้เสมอ ส่วนหนึ่งเพราะไม่เชื่อว่าครูหรือบุคลากรทุกคนจะยอมรับในตัวนักเรียนที่เป็น sex worker

“เราต้องไม่ปล่อยให้ทัศนะแบบนี้มาทำลายคนที่ไม่มีโอกาส เมื่อพี่น้องเราจัดการไม่ได้ เราที่จัดการได้ต้องเป็นคนลุกขึ้นมาทำแทน ใครจะโกรธเกลียดเราไม่แคร์ แต่คุณจะมาทำแบบนี้กับคนที่ด้อยกว่าหรือขาดโอกาสไม่ได้”

ด้วยประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่เจอมาเป็นเช่นนี้ ฉันถึงได้เข้าใจว่าทำไมบุคลิกของเธอถึงแข็งกร้าวพร้อมต่อสู้เสมอ แต่ด้วยประเด็น sex worker มีมิติและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนมากกว่าที่ใครหลายคนคิด วันหนึ่งเธอจึงเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้เธอคิดว่าน่าจะอยู่ในเส้นทางอาชีพนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

“ตอนเราอายุ 30 กว่า ไทยจัดการเลือกตั้ง แล้วมีประเด็นว่าพนักงานบริการไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นความผิดของนายจ้างที่ไม่ปล่อยลูกจ้างไปเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวก็มาสัมภาษณ์พี่น้อง sex worker ของเอ็มพาวเวอร์ถึงเรื่องนี้แล้วมันดันไปถึงหูผู้ใหญ่ เจ้าของบาร์ที่เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็โดนเล่นงาน ทีนี้มีเจ้าพ่อคนหนึ่งรู้ว่าเราคือคนของมูลนิธิที่เดินเข้า-ออกพัฒน์พงศ์ทุกวัน เขาโทรมาเรียกตัวเราเลย เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เข้าใจถึงคำว่ากลัวจนขนหัวลุก”

หลังวางสายเธอนึกถึงพ่อแม่ก่อนใคร เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อ จะแจ้งตำรวจก็ไม่กล้า จนสุดท้ายวางแผนกับตัวเองว่าอะไรจะเกิดก็จะยอมรับชะตา แต่โชคดีว่าเจ้าพ่อคนนั้นไม่ได้ทำอะไรเธอ

“เป็นบทเรียนที่รู้สึกว่ามันคือที่สุดของการทำงานตรงนี้แล้ว หลังจากนั้นไม่มีอะไรน่ากลัวไปมากกว่านี้ เราได้เรียนรู้ว่าความน่ากลัวในครั้งนั้นมันใช้สิบนิ้วไหว้ ใช้คำขอโทษ ใช้การสร้างมิตรภาพเปลี่ยนทุกอย่างได้ ตอนหลังคนที่เราเรียกว่าเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่หันมาเรียกเราว่าอาจารย์ทุกคำ เพราะสิ่งที่ทำพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจทำอะไร เพื่ออะไร ไม่ได้ตั้งใจไปขัดหรือทำลายใคร พอมีกิจกรรมอะไรในพื้นที่เราให้ความร่วมมือทุกอย่าง เวลาจะให้สัมภาษณ์ใครเราก็ถามความเห็นเขาก่อน ความน่ากลัวเลยกลายเป็นมิตรภาพที่มาปกป้องเรา ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ พัฒน์พงศ์เป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการใช้ชีวิตของเราไปแล้ว”

ยากที่สุดคือการผลักดันสิทธิของ sex worker ให้เทียบเท่าอาชีพอื่น

หลังจากที่ทำงานช่วยเหลือหญิงบริการทางเพศมาเป็นเวลากว่า 10 ปี สุรางค์ก็ตัดสินใจลาออกจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

ไม่ใช่เพราะหมดแพสชั่นหรือไปตั้งหลักกับชีวิตอะไรเทือกนั้น เธอลาออกเพราะต้องการทำงานสร้างพื้นที่ให้ sex worker อีกกลุ่มที่คนไม่เคยสนใจ นั่นคือพนักงานบริการทางเพศที่เป็นผู้ชายและทรานส์เจนเดอร์

ใช่แล้ว พื้นที่นั้นคือมูลนิธิ SWING ในปัจจุบัน

ระหว่างการสนทนา เธอพูดบ่อยครั้งว่าสื่อมวลชนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเด็น sex worker ขับเคลื่อนในสังคมได้อย่างมีพลัง เพราะเหตุการณ์ที่ทำให้เธอก่อตั้งมูลนิธิก็มาจากการที่ได้ไปออกรายการทีวีชื่อดังในสมัยนั้น โดยเป็นการพูดถึงงานที่ทำอย่างตรงไปตรงมาครั้งแรกในระดับประเทศ EP ที่เธอไปออกกลายเป็นประเด็น talk of the town ทันที

จากกระแสตอนนั้น ทำให้เธอได้พบกับ sex worker ผู้ชายกลุ่มแรกๆ และได้ฟังเรื่องราวของพวกเขาที่ไม่เคยรู้มาก่อน

“พอมีเพศสภาพเป็นผู้ชาย ทำให้เวลามีปัญหาพวกเขาไม่รู้จะไปบอกใคร โดยเฉพาะตอนติดเชื้อหรือไม่สบาย เขาไม่กล้าไปหาหมอเพราะกลัวโดนตั้งคำถามว่าทำไมติดเชื้อที่ทวารหนัก ตอนนั้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันยังไม่ถูกพูดถึงในสังคมไทย เขาก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิต ไปหาหมอ หรือบอกคนอื่นยังไง เวลาทุกข์เขาไม่กล้าแม้แต่จะบอกคนอื่น เพราะรู้สึกว่าเพศสภาพเป็นผู้ชาย ความคาดหวังของคนอื่นมันบอกเขาว่าคุณเป็นผู้ชาย แต่มานอนขายตัว มันบอกยากมากนะ

“พอได้คุยกับพวกเขาเลยถามว่าอยากมีกลุ่มหรือองค์กรของตัวเองเหมือนที่พี่น้องผู้หญิงมีแบบเอ็มพาวเวอร์ไหม เขาบอกว่าอยากมี เราก็เริ่มเจอว่ากลุ่มของเขามีหลายคน เลยคิดว่าอยู่นิ่งๆ ไม่ได้แล้ว เอ็มพาวเวอร์ก็ไปได้ดีมากเพราะเขาทำมาก่อน พี่น้อง sex worker ผู้หญิงนับว่ามีโอกาสมีพื้นที่ในสังคมบ้างแล้ว แต่พี่น้อง sex worker ผู้ชายหรือทรานส์เจนเดอร์เหล่านี้ต้องเผชิญอะไรอีกเยอะ แล้วเมื่อไหร่จะมีใครลุกมาทำอะไรเพื่อพวกเขา”

คิดได้ดังนั้นเธอจึงชวน sex worker ชายอีก 3-4 คนมารวบรวมข้อมูลทำแผนที่ว่ายังมีพี่น้องบริการทางเพศกลุ่มอื่นๆ อยู่ตรงไหนอีกบ้าง เพื่อเขียน proposal ยื่นขอทุนจากหน่วยงานต่างประเทศและขอรับบริจาคเงินจากพี่น้อง sex worker ที่มีชีวิตที่ดีแล้วมาก่อตั้งมูลนิธิให้เกิดขึ้นจริง

ปัจจุบัน SWING มีบทบาทหน้าที่หลักๆ อยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมโอกาสด้านการศึกษา สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยทำเรื่องจัดตั้งให้มีคลินิกบริการสุขภาพเพื่อ sex worker และขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางกฎหมาย

หลังจากที่ผลักดันประเด็น sex worker มาอย่างหนักตลอดหลายปี SWING ก็ได้รับรางวัลและคำชื่นชมมากมายเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตของคนชายขอบกลุ่มนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์จนหลายประเทศต้องบินมาดูงาน

แต่ข้อหนึ่งที่สุรางค์พยายามเรียกร้องและอยากให้เกิดขึ้นจริงที่สุด ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องยากที่สุดด้วยคือการผลักดันสิทธิเสรีภาพของ sex worker

ด้วยความเชื่อที่ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ และค่านิยมที่ยังกด sex worker ให้เป็นอาชีพต่ำต้อยไร้ศักดิ์ศรี การต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้คนทำงานประเภทนี้ถูกกฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เธอถึงขนาดเคยคิดว่ากว่าจะได้เห็นสังคมยอมรับพี่น้อง sex worker เทียบเท่ากับแรงงานทั่วไปอาจต้องใช้เวลานานกว่าชั่วอายุขัยของเธอ

ทว่าสุดท้ายเธอกลับทันเห็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นมาก่อนจากช่วงเดือนมีนาคมปี 2563

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ถือเป็นช่วงยากลำบากที่สุดของคนไทย

ความหวังของเธอเริ่มก่อตัวอย่างสว่างไสวในตอนนั้น

เพราะผิดกฎหมายจึงไม่ได้รับการดูแล

“โควิด-19 ทำร้ายคนเยอะแต่ถือเป็นวิกฤตในโอกาสของพวกเรากับประเด็น sex worker เพราะในอดีตสังคมมี stigma กับ sex worker เยอะมาก เราเคยคิดอยากจัดตั้งกองทุนโดยเอากล่องไปรับบริจาคเงินมาทำงานช่วยน้องๆ ตอนนั้นยังคิดอยู่เลยว่าถ้ามีกล่องตั้งอยู่สามกล่อง กล่องหนึ่งช่วยน้องหมา อีกกล่องช่วยเด็ก ส่วนอีกกล่องช่วย sex worker มันไม่มีทางที่ใครจะเอาเงินมาใส่กล่องนี้แน่นอน”

ผิดหวังแต่ไม่แปลกใจ เป็นคำอธิบายความรู้สึกของสุรางค์ที่มีต่อสังคมกับการเมินเฉยพี่น้องของเธอในช่วงล็อกดาวน์ ทั้งนี้เพราะด้วยอาชีพที่ผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเงินเยียวยาจากรัฐได้ ผับบาร์ที่เป็นสถานที่ทำมาหากินก็ปิดหมด พวกเขาต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนพึ่งพาตัวเองอย่างยากลำบาก 

จนวันหนึ่งสุรางค์ได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจาก sex worker ที่รู้จักว่าไม่มีเงินซื้อข้าวแล้ว เธอจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาใช้เงินในมูลนิธิทำอาหารพร้อมทั้งเปิดรับบริจาคเพื่อลงพื้นที่ดูแลพี่น้องที่ไม่มีที่ไป

“ช่วงโควิดเราร้องไห้ครั้งแรกวันที่ขับรถเข้ามาในพัฒน์พงศ์แล้วเห็นไฟบนป้ายบาร์ดับหมด เราไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน เพราะไฟพวกนี้คือการหล่อเลี้ยงชีวิตคนจำนวนมาก การที่ไฟดับหนึ่งดวงหมายความว่ามีคนอีกร้อยพันชีวิตที่ไม่มีช่องทางหารายได้ แล้ววันที่ร้องไห้หนักเลยคือวันที่สำนักข่าวจีนโทรมาขอสัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ของ sex worker ไทยว่าลำบากขนาดไหน เราร้องไห้โฮด้วยความขอบคุณ เพราะเขาเป็นเหมือนแสงสว่างที่ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเราถูกทอดทิ้งแบบไหน เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พูดให้สังคมรับรู้ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้จะไปพูดที่ไหน ตรงไหน หรือบอกใคร

“ตอนให้สัมภาษณ์เราพูดทุกอย่างแล้วก็ร้องไห้ ซึ่งคงทำให้คนเห็นว่าสถานการณ์มันแย่ขนาดไหน หลังจากนั้นก็มีสื่ออื่นๆ เข้ามา กลายเป็นประเด็นที่ขยายออกไปแล้วมีความช่วยเหลือเข้ามามากมาย รัฐบาลที่ไม่เคยสนใจก็หันมาสนใจ ภาคธุรกิจกับภาคประชาชนก็เข้ามาช่วยเหลือ มันเยอะจนทุกวันที่ตื่นนอนเราตื่นด้วยหัวใจที่ชุ่มฉ่ำมาก เพราะตอนเช้าจะมีเสียงว่าเดี๋ยวโอนเงิน เดี๋ยวส่งข้าวสารมาให้ เป็นความรู้สึกที่สุดจะบรรยาย”

จากความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาและการกระจายข่าวสารของสื่อน้อยใหญ่ ทำให้ SWING สามารถพูดประเด็นผลักดันสิทธิ sex worker ได้เต็มที่กว่าเมื่อก่อนที่ต้องระมัดระวังตัวเอง ยังไม่นับการได้เห็นปรากฏการณ์ก้าวข้าม stigma ของอาชีพนี้ในสังคมที่ทำให้เธอประหลาดใจมาก

“เราคุยกับคนที่มาบริจาค ได้คำตอบว่า sex worker คือคนเหมือนกัน เมื่อเห็นคนลำบากก็ต้องช่วยเหลือ ทำไมต้องมาตั้งคำถามว่าใครประกอบอาชีพอะไร แล้วพอได้เห็นการเคลื่อนไหวเรื่อง ‘sex work is work’ ของเด็กรุ่นใหม่ในม็อบ เรารู้สึกว่าโคตรสุดเลย”

ฉันจำรอยยิ้มของสุรางค์ในวันนั้นได้ดี

ขับเคลื่อนเพื่อทำลายความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ส่งเสริมให้คนออกมาเป็น sex worker

แม้ปัจจุบันสังคมจะตื่นตัวเรื่องสิทธิของ sex worker มากขึ้นขนาดไหน แต่เมื่อหันกลับมามองโครงสร้างที่ยังเอาผิดคนทำอาชีพนี้ได้ สุรางค์ยังยืนยันว่าเราจำเป็นต้องเรียกร้องกันต่อไป

“สิ่งที่รัฐพยายามทำคือการแก้ไข พ.ร.บ. แต่เราไม่เอา”

พ.ร.บ.ที่ว่านั้นคือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่ปรับเปลี่ยนมาจาก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 โดยสามารถเอาผิดได้ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และนายหน้า โดยวางโทษไว้รุนแรงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

ที่ผ่านมา SWING คือหนึ่งในผู้ซัพพอร์ตการขับเคลื่อนให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ด้วยการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อผลักดันให้คนทำงานบริการได้รับสิทธิและการดูแลเหมือนอาชีพอื่นทั่วไป (ดูรายละเอียดและร่วมลงชื่อที่ได้ที่นี่)

“ในมุมของเราคือต้องยกเลิก แล้วทำให้เราเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น คือให้ไปอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน เราผิดแพ่งก็ว่าด้วยกฎหมายแพ่ง ผิดอาญาก็ว่าด้วยกฎหมายอาญา ทำไมต้องทำให้ชีวิตเราแตกต่างจากคนอื่น เราไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าคนอื่น แต่อย่ากดเรา เพราะคุณใช้กฎหมายนี้กดเรามา 60 ปี เชื่อมั่นกันมาตลอดว่านี่จะเป็นการแก้ปัญหาการค้าประเวณี แต่มันไม่ได้แก้เลย กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ และคนที่ได้ประโยชน์คือพวกคนที่มีอำนาจ คุณไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหา แต่ตั้งใจหาประโยชน์ให้ตัวเองจากกฎหมายนี้ เพราะฉะนั้นเลิกโกหกกันได้แล้ว โกหกมา 60 ปีแล้ว โกหกบนชีวิตคนกี่แสนคน คุณใช้ชีวิตพวกเขามาเป็นเครื่องมือในการโกหกและหาประโยชน์ทั้งนั้น”

“เหมือนคุณกำลังพูดถึงเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ sex worker ไทยไม่ถูกกฎหมายสักที” ฉันถามทบทวนความเข้าใจ

“คอร์รัปชั่น” เธอตอบทันที “การที่คนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์เป็นกำแพงสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ไปไหนไม่ได้ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่แล้วว่าทางออกคืออะไร ถ้าแก้ตรงนี้ก็ไปต่อได้แล้ว แต่พอมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากการทำให้อาชีพนี้ผิดกฎหมายหรือถ้าทำให้ถูกกฎหมายแล้วเขาเสียประโยชน์ กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีก็ยังเป็นแบบนี้ต่อไป”

“แล้วกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ sex worker ถูกกฎหมายเพราะกลัวเป็นการส่งเสริม คุณจะตอบเขายังไง”

“เราไม่ได้บอกว่าการยกเลิก พ.ร.บ.หรือมาขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นการส่งเสริมให้คนมาขายบริการ แต่เรากำลังเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่ทำกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่สามารถส่งเสียงได้ออกไปจากสังคม การอยู่นิ่งๆ แสดงว่าเรายอมรับและจำนนกับการใช้กฎหมายที่เอาเปรียบกดขี่พวกเขา ใจร้ายนะ ทั้งที่เรามีโอกาส มีพื้นที่ มีสถานะทางสังคม แต่เลือกที่จะอยู่นิ่งๆ แล้วบอกว่าอย่าทำ ฉันไม่เอาด้วย ปล่อยให้พวกเขาขับเคลื่อนเรื่องนี้กันเอง มองว่าเขาเลือกเป็นเองก็ต้องรับผิดชอบชะตากรรมตัวเอง คุณอยากเห็นสังคมเป็นแบบนั้นเหรอ แต่เราไม่อยากเห็นสังคมเป็นแบบนั้น ไม่อยากเห็นเลย”

“เป้าหมายคือแค่อยากให้คนเท่ากัน”

“ใช่ เรื่องอื่นอย่างทำแท้งเสรีก็เหมือนกัน ไม่ใช่บอกว่ามีกฎหมายนี้แล้วคนจะอยากทำแท้ง ใครจะอยากทำแท้ง มันไม่ใช่แค่เอาลูกเอาก้อนเลือดออกไป แต่มันมีตราบาปมีความรู้สึกผิดอยู่ในตัวคนนั้นไปตลอดชีวิต ไม่มีใครอยากทำหรอก แต่เมื่อเขาเจอภาวะแบบนั้น เราจะไม่มีหนทางช่วยเขาเลยเหรอ ทำไมต้องให้เขาแบกตราบาปไปทุกๆ อย่าง

“หรือเรื่องเพศหลากหลายก็เหมือนกัน ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้ มีเพศสภาพแบบนี้ มีรสนิยมทางเพศแบบนี้ ทำไมต้องบีบให้ฉันกลับไปอยู่ในกล่องที่คุณตีกรอบกันมา แล้วตอนนี้ฉันเป็นแบบนี้ ต้องการสิ่งนี้ ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าคุณเลย ทำไมฉันถึงไม่ได้สิทธินั้น

“หลักการเดียวกัน คนรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะเสียประโยชน์แล้วมาเพิ่มภาระให้คนอื่น เลยกลายเป็นแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของพวกแก ก็เคลื่อนกันไปเองแล้วกัน คนตัวเล็กตัวน้อยเลยโดนรังแกอยู่แบบนี้”

ตราบใดที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ต้องเดินหน้าต่อ

เราพูดคุยกันจนเวลาล่วงเลยมาถึงเย็นย่ำ

ปกติแล้วเวลานี้หากเป็นในโลกก่อนหน้าโควิด-19 พัฒน์พงศ์คงค่อยๆ ส่องสว่างจากไฟของผับบาร์น้อยใหญ่ที่จับมือเกาะกลุ่มประจำการอยู่ย่านนี้

น่าเศร้า ภาพวันนี้ที่เราเห็นไม่เป็นเช่นนั้น

หลังจากฟังความในใจของสุรางค์ทั้งหมด ฉันชวนเธอพูดคุยถึงภาพฝันการทำงานของ SWING ในวันที่ sex worker ไทยถูกกฎหมาย

“อีกหนึ่งเฮือกหัวใจคือต้องสร้างกรอบที่บอกว่าอาชีพนี้เป็นแรงงานทั่วไป ประสานงานกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย ต้องทำงานเยอะมาก ซึ่งเป็นสเตปต่อไปด้วยว่า sex worker แบบไหนที่รัฐจะยอมรับว่าเป็นแรงงาน แล้วถ้าไม่ยอมรับจะมีทางออกยังไงในการให้ความคุ้มครองหรือดูแลเขา ไม่ใช่บอกว่าไม่เข้าข่ายแรงงานแล้วที่เหลือผิดกฎหมาย คือเราต้องยกเลิกความผิดที่ว่าด้วยเรื่องการขายบริการทางเพศหรือเรื่องเซ็กซ์ออกไป แต่ถ้าเซ็กซ์นั้นเป็นอาชญากรรมอย่างการซื้อบริการทางเพศเด็กหรือการค้ามนุษย์ อันนั้นคือความผิดอาญาชัดเจน แต่ถ้าเป็นเซ็กซ์ที่คอนเซนต์ทั้งสองฝ่ายก็โอเค เป็นเรื่องของเขาไป ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ยกเลิกกฎหมายแล้วจบ แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกล ไม่รู้ว่าตอนตายจะไปถึงขนาดไหน” เธอหัวเราะเบาๆ ราวกับไม่ได้คิดมากถึงเรื่องนี้นัก

“ถ้าให้เลือกก่อนตาย คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรของ sex worker”

“อันที่จริงแล้วการที่มีพลังมวลชนลุกขึ้นมาร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อในแคมเปญของเราก็ถือว่าเป็นกำลังใจมากๆ แล้ว ถึงรู้ว่าอาจยังไม่ถึงขั้นยกเลิก พ.ร.บ.ได้ แต่อันนี้เป็นธงชัยหนึ่งในใจเราแล้ว อันที่สองที่ทำให้คิดว่าใกล้ตายตาหลับได้คือการเห็นพี่น้อง sex worker ลุกขึ้นมารวมกลุ่มซัพพอร์ตกัน เห็นเจ้าของบาร์รวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ตรงนี้เราทำงานไปได้เยอะมาก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา stigma ของเจ้าหน้าที่รัฐในเมืองพัทยาที่มีต่อ sex worker เรียกได้ว่ามีน้อยมากๆ เจ้าของบาร์ที่เคยเอารัดเอาเปรียบกดขี่คนทำงานก็เปลี่ยนมาซัพพอร์ตพวกเขาเยอะขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้แก้กฎหมายแต่ยังไม่สามารถแก้ทัศนะของคนได้มันก็ยังยาก ต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน

“เรามาได้ไกลแล้วก็จริง แต่ต้องทำงานต่อ ถือว่าไม่เสียแรงที่เลือกเดินเส้นทางนี้ เพราะสิ่งที่เราทำมันทำให้คนจำนวนหนึ่งมีรอยยิ้ม ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เท่าคนอื่นหรอกแต่ค่อยๆ มีพื้นที่ในสังคมได้ เอาง่ายๆ สตาฟในองค์กรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเราเคยเป็น sex worker มาก่อน ซึ่งถ้าเราไม่ยืนหยัดชัดเจนว่าจะพาพวกเขาเข้ามาทำงานเพื่อพิสูจน์ศักยภาพมันคงมาไม่ถึงวันนี้ มันคือความสำเร็จที่มาได้ไกลพอสมควร ถ้าสมมติตายไป บางคนอาจจะคิดว่าสุรางค์มันตายไปแล้วงั้นเราลุกขึ้นมาช่วยมันสู้เรื่องนี้ต่อหน่อยแล้วกันก็ได้นะ”

พัฒน์พงศ์ในยามค่ำคืนที่ฉันเห็นไม่ต่างจากที่เธอเคยบอกสักเท่าไหร่ ภาพความทรงจำของย่านสถานบันเทิงกับแสงสีจัดจ้านที่คนรู้จักมากที่สุดในกรุงเทพฯ ฉายวาบขึ้นมาทาบทับกับพัฒน์พงศ์ตอนนี้

ใจนึกถึงคำของเธอที่บอกว่าไฟที่ดับไปหนึ่งดวงหมายถึงชีวิตผู้คนอีกมากมายที่ไม่ได้ไปต่อ

ฉันเหลียวมองรอบตัว โชคดีที่ยังพอมีไฟหลงเหลืออยู่บ้าง แม้ไม่มากแต่ก็มี

หวังว่าไฟดวงที่เหลือทั้งหลายจะไม่ดับไปในเร็ววัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน