อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโรคร้าย ความรักและสิ่งที่แซม Sam’s Story ทิ้งไว้ให้ ‘แอ้ม ภาวินันท์’

Highlights

  • แอ้ม–ภาวินันท์ พรหมสุวรรณ คือคนรักของ แซม–ณัฐพล เสมสุวรรณ นักวิ่งสู้มะเร็งเจ้าของเพจ Sam’s Story ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนป่วยและไม่ป่วยหลายคนให้มีแรงฮึดสู้กับช่วงยากลำบากในชีวิต
  • แอ้มรู้จักแซมจากเพจของเขาตอนเธอกำลังรักษาตัวจากมะเร็งโพรงจมูกที่ตรวจพบในปี 2560 ทั้งคู่คุยกันผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะนัดเจอกัน ความสนิทสนมพัฒนามาเป็นความรักในที่สุด
  • กลางปี 2562 แซมตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้ายบริเวณโคนลิ้น โลกของแอ้มกลับตาลปัตรอีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องเป็นครูของแซม และหลังจากการต่อสู้อันยาวนาน เขาจากไปอย่างสงบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 
  • “ไม่มีเรื่องไหนร้ายถ้าใจเราดี ไม่ว่าจะเจอเรื่องหนักหนาขนาดไหน ถ้าเรามองเห็นแง่มุมที่ดีของมันเราจะผ่านมันไปได้ เราอาจจะมองไม่เห็นข้อดีของเรื่องหนักๆ ที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ แต่สุดท้ายเราจะขอบคุณที่มันเกิดขึ้น สุดท้ายมันจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันของเรา”

แอ้ม ภาวินันท์ แซม–ณัฐพล เสมสุวรรณ รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันตอนอายุ 20 ปี

ช่วงนั้นเขากำลังเรียนอยู่ปี 2 แซมต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยมารักษาตัวอยู่พักใหญ่ ช่วงระหว่างเยียวยาอาการอยู่นั้น โครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ ของตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) บันดาลใจให้เขาลุกขึ้นวิ่งเพื่อสู้โรคมะเร็ง มากกว่านั้นแซมยังตัดสินใจเปิดเพจ Sam’s Story เพื่อแชร์เรื่องราวของตัวเอง

‘เมื่อผู้ป่วยมะเร็งอยากจะออกมาวิ่ง เรื่องราวฟรุ้งฟริ้งจึงเกิดขึ้น’ คำอธิบายเพจของเขาว่าไว้อย่างนั้น

เพจ Sam’s Story ถูกพูดถึงโดย หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) นักเขียนคนโปรดของเขาและคนดังอีกหลายคน แซมถูกเชิญให้ไปออกรายการทีวี เรื่องราวของเขาที่ถูกบอกต่อในวงกว้างทำให้ผู้ป่วยที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันหรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ป่วยแต่เจอเรื่องราวหนักหนารู้สึกมีกำลังใจ

หนึ่งในนั้นคือ แอ้ม–ภาวินันท์ พรหมสุวรรณ หญิงสาวที่ประทับใจเรื่องราวของแซมตั้งแต่แรกอ่าน

แอ้ม ภาวินันท์

1 แอ้ม ภาวินันท์

มากกว่ากำลังใจ ตัวหนังสือของแซมมีพลังถึงขั้นทำให้แอ้มอยากมีชีวิตต่อ

ต้นปี 2560 แอ้มมีอาการจามบ่อย นอนกรน และมีเลือดออกในเสมหะ เธอสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นอาการภูมิแพ้ที่เป็นโรคประจำตัว เมื่อไปหาหมอก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งโพรงจมูก 

ก่อนหน้านั้นแอ้มเคยเป็นคนที่รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยแอ้มชอบชวนเพื่อนโบกรถขึ้นเหนือไปช่วยเหลือเด็กๆ ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร จากขาลุยที่รักการเที่ยวแบบค่ำไหนนอนนั่น โลกของเธอกลับพลิกคว่ำตาลปัตรกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่แม้แต่แรงจะลุกเดินก็แทบไม่มี

แอ้ม ภาวินันท์

“ตอนหมอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเราสังหรณ์ใจอยู่แล้วเลยศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนจะรู้ผล ตอนนั้นเราคิดว่าเป็นมะเร็งคงไม่หนักหรอก แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย การเป็นมะเร็งครั้งแรกในวัย 30 มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

แอ้มต้องฉายแสงและทำคีโมไปพร้อมกัน ซึ่งทำคีโมแต่ละครั้งใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน ความเจ็บแสบในช่องปากทำให้เธอกินข้าวไม่ได้ ต้องป้อนอาหารผ่านสายที่สอดเข้าทางจมูก จิบน้ำหนึ่งทีต้องนับ 1-10 เพื่อเตรียมใจ และการฉายแสงแต่ละครั้งก็รู้สึกเหมือนไฟไหม้ผิวหนัง

วันคืนแห่งความทรมานบั่นทอนทั้งกายและใจ เวลาคล้ายเดินช้ากว่าปกติ “ช่วง 3-4 เดือนแรกหนักมาก เหมือนตายทุกวัน” เธอนิยามประสบการณ์นั้น

“มีวันหนึ่งที่เราดิ่งมาก นอนอยู่บนเตียงเฉยๆ เหมือนคนเหม่อลอย ใจคิดว่าไม่ไหวแล้ว ทำไมทรมานขนาดนี้ ให้ตายไปเถอะ ไม่อยากรักษา ไม่อยากตื่นมาเจ็บ ไม่อยากเดินไปไหน

“อยู่ดีๆ ก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งส่งเรื่องพี่แซมมาให้อ่าน เป็นโพสต์แรกที่เขาลงในเพจ Sam’s Story” 

วันนั้นแอ้มได้รู้จักชายหนุ่มผู้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ผ่านการทำคีโมกว่า 30 ครั้ง พอรักษาจบก็พบว่าตัวเองเป็นโรคสตีเวนส์ จอห์นสัน (โรคผิวหนังชนิดรุนแรงที่เริ่มจากมีผื่นแดง ก่อนลุกลามกลายเป็นแผลพุพองคล้ายผิวหนังไหม้ อาจเกิดได้จากการแพ้ยาบางชนิด) แต่ป่วยแค่ไหนก็ยังมีแรงวิ่ง   

“เราตกใจ ทำไมเขาเป็นมากกว่าเราแต่เขายังสู้ ยังออกมาวิ่งได้เลย คืนนั้นเราไม่นอนเลยนะ อ่านโพสต์จนหมดเพจเขา อยู่ดีๆ ก็มีแรงใจ เช้าวันต่อมาก็ลุกขึ้นมาเดินเลย” แอ้มหัวเราะเมื่อนึกย้อนไปถึงความหลัง “ช่วงนั้นเขาไปออกรายการเจาะใจด้วย เราได้ดูก็ยิ่งรู้สึกว่า โห ความคิดกับมุมมองชีวิตของเขาดีจัง เขาทำให้เราอยากหายให้ได้เลย”

เมื่อใจพอมีกำลัง เธอก็ทักเข้าไปขอบคุณแซมในเพจและเล่าเรื่องคำพูดเปลี่ยนความคิดให้เขาฟัง

“‘ยินดีครับ คุณแอ้ม’ เขาตอบกลับมาแบบนั้น หลังจากนั้นก็แอดเฟรนด์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวกัน เรียกแทนกันว่าแอ้มกับพี่แซม วันไหนที่เราเจ็บจนไม่ไหวเราก็บอกเขา นางก็จะส่งธรรมะหรือเรื่องราวดีๆ มาให้ฟังหรืออ่าน”

ใครจะคิดว่าเจ้าของเรื่องราวที่ทำให้แอ้มอยากมีชีวิตต่อจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอในฐานะคนรัก

แอ้ม ภาวินันท์

แอ้มหลังจากได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล

2

หกเดือนแสนทรมานผ่านพ้นไป แอ้มได้รับอนุญาตให้ไปที่อื่นนอกจากบ้านกับโรงพยาบาลได้ และวันนั้นคือวันแรกที่ทั้งคู่พบกัน

แอ้มนัดเจอแซมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ทั้งคู่เป็นศิษย์เก่า “ตอนนั้นพี่หรั่ง (อัครินทร์ ปูรี–อดีตนักโทษที่เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการออกมาเปิดแบรนด์กีตาร์ทำมือ ผู้เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของแอ้ม) เขาอยากมาเยี่ยม เราเลยชวนพี่แซมมาด้วย เจอกันครั้งแรกพี่แซมเอาเหรียญทองจากงานวิ่งมาฝากเรา เราก็โชว์สมุดโน้ตที่เขียนข้อความแรกของเขาให้ดู บอกเขาว่าเธอช่วยชีวิตเรานะ”

หลังการพบกันครั้งนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ค่อยๆ เขยิบก้าวหน้า ถ้าเปรียบกับการวิ่งก็คงเป็นการวิ่งระยะไกลที่มีระยะก้าวธรรมดา ไม่เร็ว ไม่ช้า แต่สม่ำเสมอมั่นคง 

แอ้ม ภาวินันท์

ลงวิ่งด้วยกันครั้งแรก

อันที่จริง การวิ่งคือกิจกรรมที่แซมชวนแอ้มทำด้วยกันบ่อยๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย (“ครั้งแรกที่เขาชวนไปงานวิ่ง เราวิ่งไม่ได้เลย ต้องเดินเฉยๆ ตลอด 10 กิโลฯ” เธอเล่าประสบการณ์) การใช้เวลาร่วมกันทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้อีกฝ่ายไปในตัว แอ้มมองเห็นความคล้ายคลึงบางอย่างของตัวเองกับแซม เช่น ผลกระทบจากการรักษามะเร็งที่ทำให้ไม่มีน้ำลายในปาก ทำให้กินเผ็ดไม่ได้

“เราเคยร้องไห้กลางตลาด เพราะไปดูร้านอาหาร 20-30 ร้านแล้วไม่มีร้านไหนที่เรากินได้เลย” แอ้มเล่าด้วยน้ำเสียงขำปนขื่น “พี่แซมนางจะปลอบใจตลอด พาไปตระเวนหาร้านที่ไม่เผ็ด ซึ่งร้านที่เรากินได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกบะหมี่เกี๊ยว เราก็ไปลองบะหมี่เกี๊ยวหลายๆ ร้านเพื่อหาว่าร้านไหนคือบะหมี่เกี๊ยวที่อร่อยที่สุด ทุกอาทิตย์จะทำเช็กลิสต์ว่าจะกินที่ไหนดี หรือถ้าไม่มีร้านที่กินได้จริงๆ เขาจะบอกว่าไม่เป็นไรนะ ถ้าอยากกินอะไรก็มาช่วยกันทำให้มันกินได้ วันนี้อยากกินสุกี้ เรามาช่วยกันทำน้ำสุกี้แบบไม่เผ็ดกัน”

ราวหนึ่งปีหลังจากรู้จักกัน ทั้งคู่เลื่อนขั้นเป็นคนพิเศษ

แอ้มเล่าให้เราฟังว่าคู่ของเธอไม่เคยมีโมเมนต์ขอเป็นแฟนเหมือนคู่อื่น แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาสองคนจะไม่ชัดเจน แซมดูแลแอ้มทั้งกายและใจ และสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณชัดเจนที่บอกว่าเขาคิดยังไงคือการมารับแอ้มไปทำงานทุกเช้า แม้บ้านของเขาจะอยู่เขตตลิ่งชันซึ่งไกลจากคอนโดของแอ้มแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กว่า 20 กิโลเมตร 

แต่แซมก็ยังทำมันทุกวัน เขาทำมันอย่างสม่ำเสมอ–นี่ไม่ใช่หรือคือหนึ่งสิ่งที่ทุกความสัมพันธ์ที่ดีควรมี ความสม่ำเสมอที่ทำให้ทุกวันพิเศษขึ้นมา

“ก่อนอายุ 30 เราผ่านความรักมาเยอะ แต่พี่แซมก็ยังทำให้เรารู้สึกทึ่งในตัวเขา ถึงลักษณะภายนอกของเขาตอนนั้นไม่ได้หล่อ แต่เรามองข้ามเรื่องหน้าตาไปแล้ว ความจริงใจของเขาทำให้เราเรียนรู้ว่าบางทีความรักก็ไม่ต้องใช้หน้าตา”

แอ้ม ภาวินันท์

เหรียญที่แซมให้แอ้มตอนเจอกันครั้งแรก

3

ดูเผินๆ ความสัมพันธ์ของแอ้มกับแซมคล้ายจะราบรื่นลงตัว แต่แอ้มบอกว่าความจริงพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่รักทั่วไปที่ต้องปรับจูนกัน และบางครั้งต้องเจออุปสรรค

“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าต้องตามหาคนที่มีไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ต้องชอบเที่ยว แต่พอมาเจอพี่แซม เราสองคนต่างกัน ต้องปรับจูน ตอนไปเที่ยวพี่แซมเขาอาจจะไม่ใช่สายลุย เวลาไปเที่ยวก็ขอสบาย เราก็ยอมสบายด้วย เรื่องนี้ทำให้เราค้นพบว่าขอแค่คนที่ดูแลเราได้ก็พอมั้ง

“หรืออย่างช่วงที่คบกันแรกๆ ที่บ้านเราจะมองว่าพี่แซมเขาป่วย เขาเป็นมะเร็ง จะดูแลเราได้เหรอ ไม่อยากให้เราคบกับพี่แซม แต่เราก็ยืนหยัดกับที่บ้านว่าจะขอคบคนนี้ ขอพิสูจน์ให้ดูว่าเราดูแลกันได้ จนสุดท้ายที่บ้านเราก็เชื่อว่าเขาดูแลเราได้”

ในสายตาของคนทั่วไป แซมคือคนที่สร้างแรงบันดาลใจจนหลายคนยกให้เป็นไอดอล แต่ในสายตาของแอ้ม จริงๆ แล้วแซมเป็นคนยังไง

“แม่เราบอกอยู่ตลอดว่าเวลาจะเลือกคบใครให้เลือกคบคนดีนะ พี่แซมคือคนที่เรามั่นใจว่าเขาเป็นแบบนั้น เขาดีในทุกๆ เรื่องถึงจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ และยังเป็นคนโรแมนติกเหลือเชื่อ เราเป็นเด็กห้าวมาตั้งแต่เด็กเลยไม่เคยได้ดอกไม้จากใครเลย พี่แซมเป็นคนแรกที่ส่งดอกไม้มาให้เราในวันแรกที่เรากลับไปทำงาน 

“สิ่งที่เราชอบในตัวเขาที่สุดคือความใส่ใจ ไม่ใช่แค่เรานะ แต่ใส่ใจกับทุกคน ถ้ามีคนทักมาปรึกษาเขาในเพจ แม้ตอนนั้นเขาจะไม่มีเวลาแต่เขาต้องหาเวลากลับไปตอบให้ได้อยู่ดี คำพูดที่เขาชอบพูดกับเราที่สุดคือการให้กำลังใจว่าเธอต้องหายดี เธอแข็งแรง”

อาจเป็นเรื่องปกติของชีวิตที่มีขึ้นและลง บางทีเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าโชคชะตาจะเล่นตลกกับเราบ่อยแค่ไหน แอ้มก็เหมือนกัน ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เธอไม่เคยตั้งตัวเลยว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องเป็นฝ่ายพูดว่า ‘เธอต้องหายดี เธอแข็งแรง’ กับแซม

โรคมะเร็งกลับมาหาเขาอีกครั้ง

และครั้งนี้คือมะเร็งระยะสุดท้าย

4

“กลางปี 2562 เขาเริ่มไอเยอะ ไอแห้งผิดปกติ ก็ไปหาหมอกัน ตอนแรกหมอบอกว่าเป็นโรคปอดบวม แต่เราคิดว่าไม่ใช่เลยไปตรวจอีกโรงพยาบาลหนึ่งซึ่งเราเคยรักษา วินิจฉัยดูจากลิ้นเป็นฝ้า เป็นแผล หมอก็ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ สรุปว่าเป็นมะเร็งที่โคนลิ้น

“อันที่จริงเราสังหรณ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว พี่แซมบอกเราว่าถ้าเขากลับมาเป็นมะเร็งอีกรอบ เขาคงไม่รอด ตอนที่รู้ผลเรากับเขาร้องไห้หนักมาก กอดคอกันร้องไห้เลย”

ทำไมแซมถึงคิดว่าตัวเองจะไม่รอด เราถาม

“เขามีภูมิต้านทานต่ำ พอภูมิต่ำร่างกายก็ไม่ได้แข็งแรงแบบเมื่อก่อน ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเชื่อหรอกว่าเขาพูดจริง เราบอกเขาว่าก่อนหน้านี้เธอเคยดูแลฉันตอนป่วย คราวนี้ฉันจะดูแลเธอเองนะ ไม่ต้องกลัว ตอนนี้ฉันแข็งแรงแล้ว”

ชีวิตของแซมกลับเข้าไปอยู่ในวังวนของบ้านและโรงพยาบาล โดยมีครอบครัวและแอ้มคอยดูแลช่วยเหลือ ทุกวันที่ทำงานแอ้มจะเฟซไทม์เช็กอาการของแซมเสมอ และเมื่อถึงวันหยุดเธอก็ไปขลุกอยู่กับเขาทั้งวัน สิ่งที่เธอรู้สึกเปลี่ยนไปในวันนั้นคือการได้สลับบทบาทกลายเป็นครูของแซมบ้าง 

“พี่แซมต้องฉายแสงเหมือนเรา เราก็จะบอกว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง รักษายังไง ย้ำกับเขาตลอดว่าเธออดทนนะ มันหนักแค่ช่วงนี้แหละ หลังจากนี้เดี๋ยวจะดีขึ้นแน่นอน เราก็เชื่อว่าเขาจะดีขึ้นจริงๆ เชื่อถึงขั้นบอกเขาว่าหลังหายป่วยแล้วแต่งงานกัน”

ในขณะเดียวกันแอ้มยอมรับตามตรงว่าเธอก็เผื่อใจในกรณีที่อาจต้องสูญเสียคนรักเช่นกัน

“อันที่จริงเขาก็เคยสั่งเสียกับเราในวันที่เราพาเขาไปวิ่งแถวบ้าน เป็นการวิ่งครั้งแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาล นั่งคุยกันอยู่ดีๆ เขาก็สั่งเสียกับเราว่า ถ้าฉันไปเธอไม่ต้องเสียใจนะ เธอไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าจะมีแฟนใหม่ แต่ขอให้เลือกคนดีนะ” เธอนั่งนิ่งพักใหญ่เพื่อทวนความทรงจำ 

“ก่อนเขาจะเสีย เราไม่ได้ไปหาเขาแบบตัวต่อตัวประมาณ 2 อาทิตย์เพราะติดภารกิจต้องไปงานแต่งเพื่อนที่หนองคาย ก่อนเขาไปเขาชวนเราไปถ่ายรูปวันวาเลนไทน์ที่บ้านเขา บอกเราว่าจะเป็นวาเลนไทน์สุดท้ายที่จะอยู่ด้วยกันแล้ว แต่เรายังไม่เชื่อ ก็บอกเขาไปว่าไม่หรอก เธอยังแข็งแรง เรายังมีวาเลนไทน์หน้าด้วยกัน ฉันขอไปหาเธอวันเสาร์แล้วกันนะ เขาก็บอกเราว่ารีบๆ มานะ

“แต่สุดท้ายก็ไปไม่ทัน” 

5 แอ้ม ภาวินันท์

“จำได้ว่าแม่พี่แซมเป็นคนโทรมาหาเราวันศุกร์ตอนเที่ยง เขาหลับไปบนเตียงใต้บันไดที่เขาชอบ เราได้ยินก็ช็อกไปเลย หลังจากนั้นก็ดิ่งมาก ดิ่งหนักที่สุดในชีวิต หนักกว่าวันที่เราเป็นมะเร็ง”

หญิงสาวตรงหน้าเราเล่าเท้าถึงความหลัง แม้เวลาที่ผ่านมาหลายเดือนจะเยียวยาเธอจากความรู้สึกเสียศูนย์จนเกือบเป็นปกติ แต่การกลับไปนึกถึงความทรงจำนั้นก็ยังไม่ง่าย ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องธรรมดาในเมื่อการสูญเสียคนรักไม่ใช่เรื่องง่ายของใคร ไม่ว่าคนคนนั้นจะแข็งแกร่งเท่าไหร่ก็ตาม

แอ้มเล่าให้ฟังว่าก่อนแซมจะจากไป เขาย้ำกับครอบครัวว่าไม่อยากให้งานศพเป็นวันของความเสียใจ ในงานศพแอ้มจึงไม่ได้แต่งตัวด้วยชุดสีดำตามขนบ แต่ใส่ชุดวิ่งที่เคยไปวิ่งกับแซม เธอยังทำบอร์ดเล็กๆ ที่นำเหรียญวิ่งของแซมมาวางโชว์เป็นมุมที่ระลึก

แอ้ม ภาวินันท์

“เดือนแรกหลังเขาจากไปมันหนักมาก อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องให้เพื่อนมานอนด้วย จะออกไปวิ่งก็ไม่ได้ เปลี่ยนไปว่ายน้ำแทนเพราะเหงาที่ไม่มีเขาอยู่ข้างๆ

“สิ่งที่ปรับตัวยากที่สุดคือตารางชีวิต เราเคยโทรหาเขาทุกเช้า เคยมีคนคอยฟังเราระบาย พอไม่มีเขาเราก็ต้องปรับไทม์ไลน์ชีวิตใหม่ เหมือนมันเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เราก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่าเขาไม่ทรมานแล้ว พ่อแม่เขาก็ไม่เหนื่อยอีกแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังไปบ้านเขาทุกเดือน ไปนอนห้องเขา ไปหาครอบครัวเขา มันคิดถึงน่ะ เพราะบ้านของเขาเหมือนเป็นหลังคาที่คุ้มกันเราเวลาเหนื่อยล้าหรือท้อ”

หลายคนบอกว่าคนที่เข้ามาในชีวิตเราแทบทุกวันเขาไม่ได้เข้ามาแล้วจากไป เขาจะทิ้งส่วนหนึ่งของเขาไว้ในตัวเราเสมอ แล้วสิ่งที่แซมทิ้งไว้ให้แอ้มคืออะไร–เราอยากรู้

“ความรัก” เธอตอบเร็ว “ความรักของเขายังอยู่ในตัวเรา ความปรารถนาดีที่อยากเห็นเราแข็งแกร่ง แข็งแรง คำพูดของเขาที่ทำให้เราคิดตลอดเลยว่า ถ้าเราป่วยอีกครั้งเราก็จะผ่านมันไปได้อีก เราไม่กลัว เขามอบความรักที่อบอุ่น แข็งแรง และแน่นอนให้เรา”

แต่แม้จะเป็น 3 ปีสั้นๆ ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับแซม แอ้มก็นิยามขวบปีนั้นว่าเต็มไปด้วยความทรงจำซึ่งตัวเธอยังโอบกอดด้วยความรู้สึกขอบคุณ เป็นความทรงจำที่เธอจะเก็บไว้นานตราบที่สมองและหัวใจจะอนุญาต แม้ไม่ได้เป็นความทรงจำที่สวยงามไปทั้งหมด ระหว่างทางนั้นขรุขระบ้างตามจังหวะของชีวิต แต่เธอก็ยังนิยามมันว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี

“เราภูมิใจที่ได้เป็นเพื่อน เป็นแฟนเขา ไม่เคยเสียดายเวลาที่ได้รู้จักกันเพราะมันคุ้มค่า ถึงจะไม่ใช่ช่วงเวลานานแบบสิบหรือยี่สิบปี หรือตลอดชีวิต แต่เป็นช่วงสั้นๆ นั้นที่ทำให้เราเห็นทุกอย่างที่ทั้งชีวิตเราไม่เคยได้เห็น การเป็นมะเร็งทำให้ชีวิตหลังเป็นมะเร็งดีขึ้น การได้เจอเขาทำให้เราเติบโต

“เราอายุ 30 แต่ผ่านการเป็นมะเร็งและเสียคนที่รัก เจอเรื่องร้ายๆ หนักๆ มาแต่เราก็ยังใช้ชีวิตได้ต่อ เรายังเคยคิดเลยว่าถ้าเราไม่เจอเรื่องพวกนี้ เราคงยังใช้ชีวิตเริงร่า ไม่รู้จักหน้าตาของการสูญเสีย มองไม่เห็นค่าของความสุขและแง่มุมที่ดีของความทุกข์” 

ถ้าจะมีสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากชีวิตตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งนั้นคืออะไร 

“ไม่มีเรื่องไหนร้ายถ้าใจเราดี” แอ้มสรุปสิ่งที่เธอตกตะกอนกับเราเช่นนั้น 

“มันอยู่ที่ใจจริงๆ นะ ทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเจอเรื่องหนักหนาขนาดไหน ถ้าเรามองเห็นแง่มุมที่ดีของมันเราจะผ่านมันไปได้ เราอาจจะมองไม่เห็นข้อดีของเรื่องหนักๆ ที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ แต่สุดท้ายเราจะขอบคุณที่มันเกิดขึ้น สุดท้ายมันจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันของเรา” หญิงสาวระบายรอยยิ้มแห่งความเข้าใจ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย