ถ้าคุณรู้ว่าเวลาชีวิตของตัวเองเหลืออยู่เท่าไหร่ คุณอยากทำอะไรในเวลาอันจำกัด
จ๊ะจ๋า–จิณจุฑา จุ่นวาที ป่วยเป็นโรคกระดูกเปราะตั้งแต่กำเนิด เพราะแม่แท้ๆ กินยาขับเลือดระหว่างตั้งครรภ์เพื่อทำแท้งแต่ไม่สำเร็จ จ๊ะจ๋าจึงคลอดออกมาพร้อมกระดูกสันหลังรูปตัวเอสโค้งผิดรูป รวมทั้งกระดูกในร่างกายที่เปราะบางเป็นพิเศษ หากได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยกระดูกก็สามารถหักได้อย่างง่ายดาย
34 ครั้งคือตัวเลขจำนวนการผ่าตัดล่าสุดที่เธอเคยเข้ารับ ซึ่งแต่ละครั้งก็มีระดับความทรมานและกินเวลาพักฟื้นยาวนานแปรผันตามอายุที่มากขึ้น แต่ในจำนวนทั้งหมด จ๊ะจ๋าจำได้ดีว่าครั้งที่ทรมานที่สุดเกิดขึ้นตอนเธออายุ 10 ขวบ
ตอนนั้น หมอสันนิษฐานว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงแค่ 20 ปี
มองจากมุมของผู้ใหญ่ 10 ปีดูเป็นเวลาแสนสั้น แต่มันยิ่งกระชั้นมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก 10 ขวบที่เพิ่งได้ลิ้มรสความสนุกสนานของเยาว์วัย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จ๊ะจ๋าไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองคือคนพิการ เธอแค่รู้ว่าตัวเองมีเงื่อนไขร่างกายพิเศษกว่าคนอื่นจนต้องใช้ไม้ค้ำและจักรยานเพื่อช่วยเคลื่อนไหว
กว่าจะรู้ว่าตัวเองเปราะบางแค่ไหน ก็วันที่รู้ว่าต้องนั่งวีลแชร์และใช้เวลาชีวิตที่เหลืออยู่อีก 10 ปีบนวีลแชร์ตัวนี้เท่านั้น
ท่ามกลางอารมณ์แหลกสลายกับความฝันพังทลายของเด็กสาว จ๊ะจ๋าสัญญากับตัวเองว่า 10 ปีหลังจากนั้นจะต้องเป็น 10 ปีที่ดีที่สุดของชีวิต
อยากทำ-ได้ทำ
หากมองย้อนกลับไป เงื่อนไขทางร่างกายยังไม่ใช่เรื่องบีบหัวใจที่สุดที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกคนหนึ่ง เพราะหลังคลอด แม่แท้ๆ ของจ๊ะจ๋าก็ทิ้งเธอไว้ที่โรงพยาบาลทันที ก่อนที่ภรรยาหลวงของผู้เป็นพ่อจะรับเธอไปเลี้ยงที่บ้าน
ที่นั่นจ๊ะจ๋าได้พบกับแม่นกแก้ว คนในครอบครัวฝั่งพ่อผู้กลายเป็นแม่บุญธรรมของจ๊ะจ๋าในภายหลัง
“ตั้งแต่จำความได้ เราสงสัยมาตลอดว่าแม่จริงๆ เขาทิ้งเราเพราะอะไร ทำไมคนที่บ้านพ่อให้เหตุผลกับเราไม่เหมือนกันสักคน จนกระทั่งเราได้รู้จากปากเขาจริงๆ เมื่อนัดเจอเขาตอนเราเรียน ม.3 เขาบอกว่าคุณยายที่เป็นแม่ของเขาไม่อยากเลี้ยงเราเพราะรู้ว่าเราพิการ เราก็โอเค จบ ไม่อยากรู้อะไรต่อไปแล้ว
“ตอนเด็กๆ เราอยากอยู่กับเขานะ อยากมีโมเมนต์แบบนั้นบ้าง นานๆ ทีก็ได้ แต่พอเรารู้แบบนี้ ต่อไปเราจะทุ่มความรักทุกอย่างให้แม่นกแก้วหมดเลย”
เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม่นกแก้วจึงพาจ๊ะจ๋าออกมาจากบ้านของพ่อแท้ๆ เพื่อเลี้ยงเธอด้วยตัวเอง แม้อาชีพหมอนวดแผนโบราณจะมีรายได้น้อย แต่แม่นกแก้วก็พยายามส่งเสริมให้จ๊ะจ๋าเรียนพิเศษเพื่อให้มีความรู้แน่นไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
ในขณะเดียวกันแม่นกแก้วก็เข้าใจเงื่อนไขทางร่างกายของจ๊ะจ๋าเป็นอย่างดี เพราะรู้ว่าลูกสาวอาจมีเวลาจำกัด ผู้เป็นแม่จึงพยายามสนับสนุนกิจกรรมทุกอย่างที่ลูกสาวอยากทำ พร้อมกับต้องสนับสนุนการรักษาโรคประจำตัวเช่นกัน
จ๊ะจ๋าเล่าว่าสิทธิคนพิการเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนสมัยนี้ บางช่วงแม่นกแก้วต้องซื้อยาหรือจ่ายค่ารักษาจนตัวเองไม่มีเงินกินข้าว โดยเฉพาะในวัยเด็กที่มักมีเหตุการณ์กระดูกแตกบ่อยเป็นพิเศษเพราะความซุกซนของตัวจ๊ะจ๋าเอง
ไม่บอกคงไม่เชื่อว่าการเสียสละครั้งแล้วครั้งเล่าเกิดขึ้นจากคนที่ไม่เคยเป็นแม่คนมาก่อน และด้วยเงื่อนไขทางร่างกายกับการดูแลที่มากกว่าคนทั่วไปนี้เอง สิ่งหนึ่งที่แม่นกแก้วให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษคือ คนที่จะเข้ามาในชีวิตลูกในความสัมพันธ์แบบอื่น
รัก
เหมือนกับเด็กสาววัยรุ่นหลายคน จ๊ะจ๋าเคยมีความรัก
ก่อนเจอไนซ์ จ๊ะจ๋าเคยมีแฟนหนุ่มที่คบกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย ก่อนจะจับได้ว่าโดนนอกใจตอนใกล้จบมหา’ลัย ความรักครั้งนั้นทำให้จ๊ะจ๋าคิดว่าตัวเองคงได้พักใจไปช่วงใหญ่
ก่อนมาเจอจ๊ะจ๋า ไนซ์–เฉลิมพล โภคยะสุพัสตร์ คือเด็กหนุ่มธรรมดาที่มีไลฟ์สไตล์มันๆ อย่างเด็กมหา’ลัยทั่วไป ก่อนโชคชะตานามว่าโซเชียลมีเดียจะพาให้พวกเขาสองคนได้มารู้จักกัน
“เรารู้จักกันผ่านโซเชียล ไนซ์เป็นคนทักก่อน ตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบ ทำงานหนักแบบ 7 วันต่อสัปดาห์เลย ถึงจะรู้ว่าเราทุ่มเวลาทั้งหมดที่มีให้กับงาน แต่เขาก็ยังพยายามทักมา เราไม่ค่อยได้ตอบนะ” จ๊ะจ๋าเล่า
“ก่อนหน้านั้นเรามีกำแพงกับความรัก แต่มีครั้งหนึ่งที่ยอมรับว่าเขาแอบทำให้เราประทับใจ คือครั้งแรกที่คุยกันทางโทรศัพท์ ไนซ์เขาถามว่าวันนี้เป็นไงบ้าง ซึ่งไม่เคยมีใครถามเราประโยคนั้นมาก่อน ตอนนั้นจำได้ว่าเราร้องไห้เลยนะ (หัวเราะ) เพราะช่วงนั้นมันหนักมากจริงๆ ไม่รู้ทำไมพอได้ยินแล้วรู้สึกสบายใจ ก็เลยลองคุยดู”
ตอนเจอกันครั้งแรกเป็นยังไง–เราอยากรู้
“ครั้งแรกก็ให้มาเจอพาร์ตแย่เลย ไม่ต้องไปสร้างโมเมนต์ดีๆ อะไรทั้งนั้น จำได้ว่าวันนั้นคือวันที่เราย้ายคอนโด ไนซ์มาเจอหน้าครั้งแรกก็ให้เจอแม่เราด้วยเลย โดนแม่ใช้ให้ยกไมโครเวฟขึ้นห้อง (หัวเราะ)”
“ตอนเจอกันครั้งแรกแม่นกแก้วดูดุมากครับ” ไนซ์ช่วยเล่า “ความรู้สึกตอนแรกที่อยู่กับแม่เกร็งมาก เพราะแม่ไม่พูดอะไร หน้านิ่งมาก ผมไหว้ก็รับไหว้ พอขนของเสร็จก็พาจ๊ะจ๋าไปเรียนพิเศษ แม่เขาไม่ยอมให้จับรถเข็นเลย เดี๋ยวจับแล้วพลิก ระวังมาก ผมเลยยิ่งทำอะไรไม่ถูกไปใหญ่ ได้แต่เดินตาม”
“แล้วอะไรที่ไนซ์ทำให้จ๊ะจ๋ากับแม่ยอมเปิดใจ” เราสงสัย
“ตอนแรกเรากลัวเขารับไม่ไหวเหมือนกัน เพราะการคบกับเรามันไม่เหมือนแฟนคนก่อนของเขา เขาก็ค่อยๆ ละลายพฤติกรรมกับเราและแม่”
“แม่เขาเริ่มลองให้เข็นวีลแชร์ เวลาลงทางลาด ลองให้ปล่อย ลองทำดู เราก็ทำให้เขาดูมาเรื่อยๆ” ไนซ์บอก “จนผมสามารถทำได้จนเชี่ยวชาญ อย่างตอนขึ้นรถจะไปไหนผมก็จะพับรถ อุ้มขึ้น เอาเบาะใส่ให้เขา พับเก้าอี้ ทำเป็นสเตปประจำวันจนมันกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตไปเลย
“ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่การปรับตัวนะ แต่มันคือการทำความเข้าใจกันมากกว่า”
จ๊ะจ๋าเสริมอีกว่า “อีกเรื่องที่ทำให้เรายอมเปิดใจ คือไนซ์เคยบอกว่าเขารู้ว่าแม่เคยผ่านประสบการณ์ไม่ดีกับแฟนเก่าของเรา แต่ถ้าเขารักเรา เขาจะรักแม่เราให้มากกว่า”
ถูกรัก
รู้ตัวอีกทีทั้งคู่ก็คบกันมาเกือบ 3 ปี และหลังจากไนซ์เรียนจบ จ๊ะจ๋าและแม่ก็ตัดสินใจชวนเขาย้ายมาอยู่บ้านเดียวกัน
แน่นอนว่าความรักเกิดจากคนสองคน แต่ก็เป็นเรื่องปกติของความรักอีกเหมือนกันที่จะมีคนที่ 3, 4, 5 เข้ามาเป็นบททดสอบความรักอยู่เสมอ
และบททดสอบที่ทั้งสองคนได้เจอคือ บางคนรอบตัวไนซ์ที่ไม่ยอมรับในตัวจ๊ะจ๋าเพราะเงื่อนไขด้านร่างกายของเธอ
“มีคนรอบข้างหรือเพื่อนฝูงของไนซ์บางคนมองว่า ทำไมไนซ์ต้องมาเอาคนพิการเป็นแฟน พูดตรงๆ เลยว่าทำไมไนซ์ถึงไม่ไปคบคนปกติที่เขาเคยคบมาก่อนหน้า ทำไมถึงมาเลือกเรา
“ด้วยความที่เคยมีปมว่าครอบครัวไม่เคยรักเรา เราเลยกลัวเหตุการณ์แบบนี้มาก เรากลัวคนไม่รักเรา เราแคร์คนรอบข้างมากเกินไป มันมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าความรักไม่ได้เกิดจากเราสองคน แต่เกิดจากคนที่ 3, 4, 5 ซึ่งมันบั่นทอนเรามาก เพราะเป็นเรื่องที่เราแก้ไขไม่ได้ จะบอกให้เราไปเดินได้เหรอ มันไม่ได้ไง แล้วจะมาบอกให้เราเลิกกันเพราะเขาไม่ชอบ มันก็ไม่ใช่
“พอเจอบ่อยๆ จากที่กอดกันร้องไห้เราก็เริ่มปล่อยวาง เหมือนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น พอเวลาผ่านไปนานเข้าสายตาที่เขามองคู่เราก็เริ่มเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้น เหมือนเราใช้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”
ถ้ามองเผินๆ เราอาจมองคู่รักคู่นี้ว่าฝ่ายจ๊ะจ๋าคือคนโชคดีที่มีไนซ์มาดูแล แต่จ๊ะจ๋าเล่าให้ฟังว่าสำหรับพวกเขาทั้งคู่แล้ว มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป
“มีวันหนึ่งเราไปกินข้าวกับกลุ่มเพื่อนของเขา นั่งกินด้วยกันอยู่ดีๆ เพื่อนของเขาคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า มึงโชคดีเนอะ มีพี่จ๊ะจ๋าเป็นแฟน
“เรางงมาก เพราะปกติเวลาอยู่กับเพื่อนทุกคนจะบอกว่าจ๊ะจ๋าดีนะ โชคดีที่มีไนซ์ เพราะว่าเขาช่วยเหลือเราก็เลยโชคดี พอเพื่อนเขาพูดขึ้นมา มันเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่เราได้ยินจากเพื่อนของเขา ไม่ใช่แค่เพื่อนหรอก คนทั่วไปก็ไม่พูด
“แต่พอได้ยินจากปากเพื่อนเขามันฟีลกู้ดมากเลย มันเมดมายเดย์เลยวันนั้น แฮปปี้ เพราะปกติเจอแต่อะไรก็ไม่รู้” เธอหัวเราะ
อะไรคือสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเยอะที่สุดเกี่ยวกับการที่เรามีแฟนเป็นผู้พิการ–เราโยนคำถาม
“คนพิการคือคนทั่วไป ไม่ได้แปลกแยกอะไรเลย มีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เขาแค่มีความบกพร่องในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นเอง เขาสามารถใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไปได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเขาทำอะไรไม่ได้” ไนซ์ตอบ
“สำหรับเราสิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดคือฝ่ายคนพิการไม่ได้เป็นฝ่ายที่รับเสมอไป เราสามารถให้ได้เหมือนกัน เราคิดว่าทุกคนดีพอสำหรับใครสักคนเสมอ เรามีบางอย่างที่จะเข้ากันดีกับอีกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาจิ๊กซอว์ที่ต่อกันได้เจอหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไม่มีใครโชคดีไปกว่ากัน หรือได้รับหรือได้น้อยไปมากกว่ากัน แค่ว่าหาคนที่มันพอดีกัน
“เพราะฉะนั้นการที่คนพิการมีแฟน เราไม่ได้รับไปน้อยหรือมากกว่า เราต่างคนต่างให้กันในคนละสถานะ คนละเหตุการณ์ คนละเวลา สมมติชั่วโมงนี้เรานอยด์ไนซ์ปลอบ ชั่วโมงหน้าไนซ์นอยด์เราก็สามารถให้ไนซ์ได้ เท่านั้นเอง ไนซ์หิวข้าวก็ไปกิน เราหิวขนมไนซ์ก็พาไปกินขนม”
“แม้เราจะไมได้ซัพพอร์ตการดูแลเรื่องกายภาพ แต่ด้านจิตใจก็ถือเป็นการซัพพอร์ตดูแลเหมือนกัน”
แค่ตอนนี้หายใจอยู่ก็คุ้มแล้ว
จนถึงวันนี้จ๊ะจ๋าอยู่รอดปลอดภัยจากเส้นตายที่หมอขีดไว้ให้ตอนอายุ 20 นับได้ก็ 6 ปีแล้ว
“ถ้าถามว่าชีวิตที่คุ้มค่าคืออะไร บางคนอาจบอกว่าคือเงินหลายล้าน มีบ้าน มีลูก 2 คน นั่นคือคอมพลีตของเขา แต่สำหรับเราแค่ตอนนี้หายใจอยู่ก็ถือว่าคุ้มแล้วนะ” จ๊ะจ๋าบอกด้วยสัตย์จริง
“เรามีความสุขกับการได้ทำอะไรที่เราอยากทำ มีไนซ์กับแม่ดูแลเรา และรู้ว่าเราสามารถดูแลคนที่เรารักคือไนซ์กับแม่ได้ในเวลาเดียวกัน”
จากที่คบกันมา อีกฝ่ายเปลี่ยนชีวิตของกันไปยังไง–เราสงสัย
“น้ำหนัก ข้อแรกเลย” ไนซ์ตอบกลั้วหัวเราะ จ๊ะจ๋าค้อนใส่ทันที “ล้อเล่นครับ ผมคิดว่าสิ่งที่เปลี่ยนคือเขาทำให้ผมสามารถตัดสินใจเองได้ และซัพพอร์ตเรื่องกำลังใจตอนที่เราดาวน์”
“เพราะเราอยู่ด้วยกันตลอด ถ้าคนหนึ่งร้อนคนหนึ่งต้องเย็น วันที่เขาดาวน์ ไม่ใช่เราไม่ดาวน์นะ แต่เพราะเราเจอเหตุการณ์เดียวกันแล้วเห็นแล้วว่าเขาดาวน์กว่าเรา เราก็เป็นฝ่ายปลอบว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้เอาใหม่ได้” จ๊ะจ๋าเสริม “ถ้าถามเราที่เปลี่ยนไปเยอะมากๆ คือเรารู้จักเป็นผู้ให้มากขึ้น ตั้งแต่เราคบกับไนซ์เราอยากให้เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น อยากให้เขามีความสุข ให้เขามีสุขภาพที่ดี อยากให้เขาได้กินของดีๆ ใส่เสื้อผ้าดีๆ ได้ไปในที่ที่เขาอยากจะไป เราช่วยชี้นำให้เขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
“เรารู้จักให้คนอื่นมากขึ้น เพราะว่าตลอดเวลาเราได้รับมาตลอด มันทำให้เราเรียนรู้ว่าการให้ไม่จำเป็นต้องไปให้คนไกลตัวหรือบริจาคที่นั่นที่นู่น แต่ให้คนในบ้านนี่แหละ ทุกวันนี้เราแฮปปี้มากที่ได้ดูแลคนในครอบครัวเยอะขึ้น จากที่ปกติเอาแต่ตัวเองซะเยอะเป็นส่วนใหญ่”
จนถึงตอนนี้ คุณคิดว่าคำว่าความรักที่ดีคืออะไร–เราโยนคำถามสุดท้าย
“ความเข้าใจกัน ค่อยๆ เรียนรู้กัน มันจะทำให้ความรักของเรายาวขึ้น” ไนซ์ตอบ ก่อนจ๊ะจ๋าเสริมว่า
“จะตอบว่าการให้ก็ไม่ได้เพราะการให้บางทีถ้าให้มากก็เจ็บ สำหรับเราความรักที่ดีคือความรักที่น่าจะมีความอ่อนโยนให้กัน แม้วันหนึ่งเราจะทำให้อีกฝ่ายเจ็บ ไม่ว่าจะคำพูดหรือการไม่รักษาน้ำใจ เพราะเป็นเรื่องปกติของรักอยู่แล้วที่ต้องมีเรื่องให้เจ็บ
“เราคิดว่าต่อให้เราทะเลาะกัน โกรธเคืองกัน หรือวันไหนเรางอน แล้วเรายังมีความอ่อนโยนให้กัน โกรธกันอยู่นะ แต่ยังมาใส่ถุงเท้าให้ตอนนอน โกรธกันอยู่แต่ปกติจะนอนต้องกอดกัน เราก็หันไปกอดเขา แต่โกรธนะ โกรธอยู่ แต่ก็กอด
“ความรักที่ดีคือการอ่อนโยนต่อกันตลอดเวลา แม้ในเวลานั้นจะไม่อยากอ่อนโยนต่อกัน”