ศิลปะการลอยตัวในโลกที่หมุนเร็วโดยหนุ่มเมืองจันท์

Highlights

  • เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม เป็นหนังสือเล่มที่ 30 แล้วในชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจของ ตุ้ม–สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ หลังจากที่เป็นทั้งนักเขียน นักข่าว หรือบรรณาธิการ ปัจจุบันเขาเพิ่งเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวในวัยห้าสิบกว่าๆ
  • ทุกวันนี้สิ่งที่ตุ้มยังคงเฝ้ามองอยู่เสมอนั่นคือโลกของธุรกิจและความเป็นไปในตัวเอง สำหรับโลกธุรกิจ เขามองว่าการ disrupt เกิดขึ้นตามโลกที่หมุนไปรวดเร็ว ตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นควรระวังคือความสำคัญเรื่องคน
  • ส่วนในแง่ของตัวตน ปัจจุบันตุ้มมองว่าเขาอยู่ในจุดที่ลอยตัวแล้ว เขายังคงเป็นคนที่มองโลกง่ายๆ และเริ่มเรียนรู้ศิลปะในการตัดทิ้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาใช้ศิลปะในการคว้าโอกาสอยู่เสมอ

ชายหนุ่มวัยห้าสิบกว่าที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราไม่เคยแก่

ด้วยนามปากกาและชื่อที่หลายคนรู้จักทำให้เขากลายเป็นคนหนุ่มตลอดเวลา

ไม่ใช่หนุ่มธรรมดา

แต่เป็นหนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์

ตุ้ม–สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ เป็นใคร

บางคนเห็นหน้าค่าตาเขาในฐานะพิธีกรรายการทีวี

บางคนจดจำเขาได้ในฐานะนักข่าวเชิงธุรกิจและเศรษฐกิจ

บางคนนับถือเขาในฐานะบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์

แต่หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักเขียนเจ้าของหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ หนังสือที่ปัจจุบันเดินทางมาสู่เล่มที่ 30 แล้วในชื่อ เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม

หลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้รับจากตุ้มมาตลอด นั่นคือการเล่าเรื่องผ่านทั้งตัวอักษรและน้ำเสียง

เรื่องธุรกิจที่ว่ายากหรือเรื่องเศรษฐกิจที่ชวนปวดหัว เมื่อผ่านสมองของเขาก็มักจะออกมาดูง่ายต่อการเข้าใจ รวมถึงเรื่องของชีวิตที่เขามักจะมองมันง่ายๆ และเป็นมิตรเหมือนชื่อหนังสือของเขาเสมอ

ฝันใกล้ใกล้ไปช้าช้า, ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย, ดีที่สุดในสิ่งที่เป็น หรือ ความหวังไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี

“ชื่อหนังสือคือแนวคิดของผม” เขาว่าอย่างนั้น

หนุ่มเมืองจันท์

ปัจจุบันตุ้มในวัยห้าสิบกว่าออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวแล้วและสวมบทของผู้เฝ้ามองด้วย

เฝ้ามองทั้งโลกธุรกิจ เฝ้ามองทั้งโลกของสื่อ และเฝ้ามองทั้งตัวเขาเอง

ทุกสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เขาเห็นและรับรู้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเหมือนตัวกรองเรื่องราวต่างๆ ออกมาเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่าฟังเสมอ

และนั่นคือเหตุผลที่เรามานั่งคุยกันในวันนี้

โลกที่หมุนไปในสายตาหนุ่มเมืองจันท์เป็นอย่างไร – นั่นคือสิ่งที่เราสงสัย

และเพื่อการได้มาซึ่งคำตอบ

เพราะฉะนั้น เราจึงถาม

หนุ่มเมืองจันท์

จากหนังสือเล่มแรกถึงเล่มที่ 30 มีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวคุณบ้าง

ผมว่ามันเหมือนกับการทำงานทุกชิ้นนะ ช่วงต้นๆ อาจจะตื่นเต้น แต่สักพักหนึ่งมันจะกลายเป็นงาน พูดตรงๆ ว่าเล่มที่ 30 ก็เหมือนกับเล่มที่ 29 ในแง่ความรู้สึกมันคล้ายเดิม ส่วนในแง่ของเนื้อหา มันก็มีพัฒนาการไปเรื่อยๆ ตอนนี้ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเป็นเหมือนคอลัมน์ที่เขียนอะไรก็ได้แล้ว เพียงแต่ผมก็ยังรักษา 3 ส่วนที่มันเป็นตัวผม นั่นคือเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ แรงบันดาลใจ และอารมณ์ขัน

ที่ผ่านมาคุณเจอคนมาหลายคน ฟังเรื่องราวมาหลายแบบ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่องานของคุณไหม

ถ้าจะบอกว่าไม่มีผลกับผมเลยคงไม่ได้ ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อเราทั้งสิ้น คนที่เราเจอ เรื่องราวที่เราเจอ มันตบๆ เราจนเป็นรูปร่าง ความโชคดีของผมคือ อาชีพเรามันพาไปเจอกับคนใหญ่คนโตของประเทศและได้นั่งคุยกับเขา สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี เราได้เก็บเกี่ยวทุกอย่างเข้ามาหาตัวและใช้เป็นวัตถุดิบ ยิ่งพอเราฝึกปรืองานไปเรื่อยๆ เวลาเราได้อะไรมามันก็จะเก็บเข้าไปในลิ้นชักวัตถุดิบของเราเอง

หนุ่มเมืองจันท์

แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านงานของคุณตั้งแต่เล่มแรก ดูเหมือนความเป็นหนุ่มเมืองจันท์จะไม่ค่อยเปลี่ยนไปเท่าไหร่

ไม่รู้เหมือนกันนะว่าเพราะอะไร แต่ถามว่าผมยังคงความเป็นตัวผมไหม ผมก็รู้สึกว่าใช่ ผมเป็นคนไม่ค่อยเครียดมาก ถึงจะเครียด ความเครียดก็ไม่ค่อยอยู่กับผมนาน โดยเฉพาะเรื่องคิดง่ายๆ เนี่ยเป็นเรื่องปกติในชีวิตผมเลย ยิ่งถ้าอยู่ในจังหวะที่ผมเลือกได้ อย่างตอนนี้ที่เป็นฟรีแลนซ์ ชีวิตผมโคตรจะง่าย คือพร้อมที่จะปฏิเสธงาน พร้อมที่จะขี้เกียจ

30 เล่มก็ดูเป็นตัวเลขที่ไม่ใช่ความขี้เกียจนะ

ผมว่ามันเหมือนให้นักวิ่งวิ่ง 2 กิโลเมตร มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าให้คนที่ไม่เคยวิ่งวิ่ง 2 กิโลเมตร มันก็เป็นเรื่องยาก ผมเขียนงานมา 30 ปี ดังนั้นการที่ผมจะเขียนงาน 3 ชิ้นในหนึ่งอาทิตย์ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก เพียงแต่พอถึงจุดที่เราเลือกปฏิเสธได้ เราก็เลือกจะปฏิเสธ ศิลปะของช่วงเวลามันไม่เหมือนกัน ช่วงวัยรุ่นคือศิลปะในการหาโอกาส อะไรเข้ามาก็ลองทำ แต่ช่วงวัยของผม มันเป็นศิลปะของการตัดทิ้งให้เหมาะสม วัยนี้มันสนุกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

หนุ่มเมืองจันท์

แล้วคุณมองหาอะไรในงานทุกวันนี้ ยังมองหาตัวละครใหม่ๆ อยู่ไหม

ด้วยวัยที่เยอะขึ้นกับประสบการณ์ที่เยอะพอสมควร มันทำให้ความตื่นเต้นน้อยลง เหมือนคนที่ทำหนังมานานๆ แล้วพอมีหนังใหม่เข้ามาก็อ๋อๆ ประมาณนี้ นานๆ จะมีเรื่องที่ว้าวขึ้นมา (นิ่งคิด) ทุกวันนี้ผมทำหลักสูตร ABC (Academic of Business Creativity – สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจของมหาวิทยาลัยศรีปทุม) ผมได้เจอนักธุรกิจใหม่ๆ กลายเป็นว่านักธุรกิจใหม่ๆ มีเรื่องราวที่นึกไม่ถึงอยู่เยอะเลย มันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่เรื่องของคนตัวเล็กๆ เนี่ยสนุกมาก มันอาจไม่ใช่เรื่องเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ แต่การฝ่าฟันและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของเขามันน่าสนใจ

เรื่องที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากผู้บริหารระดับสูงหรือคนที่ประสบความสำเร็จก็ได้

ไม่ต้องหรอก คือเวลาสัมภาษณ์คนมาเยอะๆ ประสบการณ์ที่คุณมีมันจะพอบอกได้ว่าคนไหนคือของจริง ของจริงของผมคือเขาทำงานแบบรู้เรื่องจริงหรือเปล่า ถ้าชีวิตใครที่ลำบากมาตั้งแต่ต้นและลุยมาจนจบ คุณถามตรงไหน เขารู้หมด

หนุ่มเมืองจันท์

โลกธุรกิจวันนี้เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากไหม

(นิ่งคิด) ธุรกิจยุคใหม่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเยอะ อย่างพวกสตาร์ทอัพต่างๆ ผมยอมรับว่ารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก ถ้าเป็นเรื่อง SME หรือธุรกิจแบบเดิมเนี่ยผมคุยสบาย แต่พอสตาร์ทอัพเข้ามา ความรู้ของผมเริ่มไม่ใช่ วิธีคิดของสตาร์ทอัพก็ต่างจากยุคก่อน ยกตัวอย่างแนวคิดของสตาร์ทอัพที่พอถึงจุดหนึ่งของธุรกิจ เขาพร้อมที่จะทิ้งไปได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเข้าตลาดหุ้นหรือขายให้คนอื่น นักธุรกิจแบบเก่าจะไม่เป็นแบบนี้นะ เขาจะมีความเป็นเจ้าของและทำให้ดีที่สุด แต่กับรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่ ดูอย่าง Lazada ที่ขายให้ Alibaba ทุกคนพร้อมปล่อยมือ เขาไม่ได้มีความผูกพันกับธุรกิจเหมือนกับคนรุ่นเก่า ดังนั้นถ้าใครมาอธิบายเรื่องธุรกิจใหม่ๆ ผมจะรู้นะ แต่ผมไม่ได้รู้สึกแบบเดิม ไม่ได้เข้าใจมันลึกซึ้งแบบเดิม ที่ผ่านมารูปแบบนี้ก็ประสบความสำเร็จดี ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดอาจจะผิดก็ได้

ทำไมไม่อินเท่ากับสมัยก่อน

อาจเพราะผมไม่ใช่คนเก่งเทคโนโลยีเท่าไหร่ ดังนั้นพอศึกษามันก็เข้าใจ แต่ได้พอประมาณ ไม่สามารถนั่งถกกันได้

หนุ่มเมืองจันท์

เป็นปัญหาหรือเปล่า

ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ฝันใกล้ๆ ไปช้าๆ ผมก็ยังมีความยึดติดในธุรกิจเดิมอยู่ว่า เฮ้ย บางอย่างมันจะยาวนานหรือเป็นแค่กระแสในช่วงนี้ สุดท้ายเวลาจะกลั่นกรองให้เหลือของจริง ถ้าคุณผ่านโลกธุรกิจมานาน คุณจะเห็นว่ามันจะมีช่วงฟองสบู่ ขึ้นมาแล้วก็หายไป ดังนั้นมันไม่แน่ว่าจะช้าหรือเร็ว บางอย่างที่คิดว่าไม่ใช่ก็อาจจะใช่ อย่าตื่นเต้นกับมันเร็วเกินไป แต่ก็อย่าปฏิเสธมัน มันอาจจะจริงก็ได้ อย่างเช่นเทรนด์สตาร์ทอัพ สุดท้ายมันก็จริง แต่จริงแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ที่สำเร็จนะ เราไม่พูดถึงอีก 98 เปอร์เซ็นต์ที่ล้มเหลวหรือเจ๊ง เราชอบพูดถึงแต่ยูนิคอร์นแต่ไม่พูดถึงเคสที่ล้มเหลวเลยทั้งๆ ที่ก็มีเยอะ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมเฝ้ามองอยู่ในปัจจุบัน

ดูเหมือนหลายคนที่เข้ามาในวงการสตาร์ทอัพเขาฝันเห็นยูนิคอร์นกันทุกคน ในมุมมองของคุณ สิ่งนี้น่าเป็นห่วงไหม

(นิ่งคิดนาน) ผมคิดว่ามันเป็นการคัดกรองมากกว่า ผมชอบวิธีคิดของสตาร์ทอัพนะ วิธีคิดที่กล้าทดลอง ไม่ใช้เวลาในห้องประชุมนานเกิน เข้าใจประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็ทดลองทำเลย เพราะคนที่ให้คำตอบที่ดีที่สุดไม่ใช่ห้องประชุมแต่คือผู้บริโภค คนรุ่นใหม่เขาพร้อมที่จะหกล้มแต่คนรุ่นเก่าพยายามที่จะรอบคอบเพื่อให้ไม่ผิดเลย ซึ่งมันไม่ใช่ สุดท้ายมันก็มีโอกาสผิดอยู่ดี ดังนั้นคนรุ่นใหม่เลยมองว่าการหกล้มคือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ผิดให้เร็วขึ้นและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ดีกว่า ศัพท์สตาร์ทอัพอันหนึ่งที่ผมชอบมากคือล้มไปข้างหน้า ถ้าหกล้มปุ๊บ ขอแค่คุณลุกขึ้นแล้วไกลกว่าหนึ่งก้าวถือเป็นใช้ได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมชอบ

หนุ่มเมืองจันท์

ผมคิดว่าความน่ากลัวของการล้มไปข้างหน้าคือ อย่าล้มขนาดที่เป็นอัมพาต ฟื้นไม่ได้ แต่ด้วยวัยน่ะ มันทำให้ทุกคนเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ที่สำคัญคือนักธุรกิจยุคใหม่โชคดี คนตัวเล็กสามารถมีศักยภาพเท่ากับคนตัวใหญ่ได้ ต่อให้มีสาขาขนาดไหนเจอออนไลน์ไปก็เรียบร้อย หลายธุรกิจโดน disrupt ที่สำคัญคือทุกวันนี้มันไม่มีคัมภีร์ที่ต่อสู้การ disrupt มันยังไม่เกิด ผมเชื่อว่าภายในอีก 2-3 ปีอาจจะมี แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่คุณโดน disrupt ในอีก 3 ปีก็อาจเป็นคนละเรื่องกันแล้ว โลกวันนี้มันหมุนเร็วนะ นั่นแหละทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี เพราะผมพ้นแล้ว (หัวเราะ) ผมเป็นฟรีแลนซ์และอยู่ในจุดที่รู้จักโลกที่หมุนไปพอประมาณ แต่ถ้าผมทำงานประจำอยู่ทุกวันนี้ ผมคงรู้สึกว่าเหนื่อยมาก

นั่นเลยเป็นเหตุผลที่คุณไม่ได้ย้ายงานเขียนของคุณไปอยู่ในออนไลน์หรือเปล่า

ตัวอักษรเป็นอภิสิทธิ์ของนักเขียน และผมรู้สึกว่างานออนไลน์มันไม่ใช่สนามของผม งานเขียนของผมไม่เหมาะกับการอ่านในออนไลน์เพราะความยาวและรูปแบบของมัน ในออนไลน์ผมเลยจะเขียนเป็นเชิงคุยเล่นมากกว่า แต่ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นที่ที่ผมคุ้นเคย ผมรู้จักจังหวะและคนอ่านของสนามนี้ เพราะฉะนั้นผมเลือกเรื่องที่จะเล่าได้

หนุ่มเมืองจันท์

ถ้าโลกธุรกิจยุคใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีเท่ากัน อะไรคือตัวชี้วัดว่าใครจะประสบความสำเร็จ

สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่คนรุ่นเก่ายังเหนือกว่าคนรุ่นใหม่ นั่นคือประสบการณ์เรื่องคน ถึงแม้วิถีคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยน แต่มนุษย์ยังไงก็คล้ายๆ เดิม เรายังพึงพอใจกับการพูดคุยแล้วสบตากัน อะไรแบบนี้ผมว่ามันยังสำคัญอยู่ แต่ที่ผมพูดมาทั้งหมด ผมพูดแบบคนอายุ 50 กว่านะ จริงๆ เทคโนโลยีที่ผมพูดว่าน่ากลัว เด็กยุคใหม่เขารู้สึกว่าท้าทาย เขารู้สึกสนุกกับสิ่งใหม่ที่ disrupt สิ่งเก่า  

มันมีจุดร่วมไหม ที่ไม่ว่าจะโลกแบบเก่าหรือแบบใหม่ มันก็ยังสำคัญและไม่เปลี่ยนแปลง

(นิ่งคิด) ยิ่งนานวัน ผมยิ่งเชื่อในการคิดถึงคนอื่นนะ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจใหญ่โตอะไรขึ้นมาหรือกับเพื่อนร่วมงาน ผมว่าผู้บริหารองค์กรที่ไม่คิดถึงคนอื่นก็อาจจะได้รับความชื่นชมจากความเก่ง แต่เขาจะไม่ได้อะไรที่มาจากใจ ผมรู้สึกว่าไม่ว่าคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ถ้าลืมเรื่องนี้เมื่อไหร่ ก็เหมือนขับรถปล่อยมือ ยิ่งวันนี้ที่มีโซเชียลมีเดียที่พร้อมทำร้ายคุณตลอดเวลา แต่ถ้าคุณมีตรงนี้ มันจะมีคนที่พร้อมปกป้องคุณตลอดเวลาเช่นกัน ในมุมหนึ่งมันเลยเป็นเหมือนเกราะป้องกันตัวเอง แต่อีกมุมคือมันทำให้โลกสวยงามขึ้น

หนุ่มเมืองจันท์

การคิดถึงคนอื่นมันขัดแย้งกับการทำธุรกิจที่หวังกำไรสูงสุดหรือเปล่า

ผมว่าชีวิตจริงเราไม่ได้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เรารวมๆ ทั้งหมด ดังนั้นเวลาทำงาน ใช่ เราอยากได้กำไรสูงสุด แต่กำไรสูงสุดที่คุณอยากได้ มันคือพนักงานของคุณได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทหรือเปล่า สุดท้ายมันไม่ยั่งยืนหรอก ทุกอย่างมันผูกโยงกัน

หนุ่มเมืองจันท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!