“เพราะผิดหวัง ความหวังจึงเป็นความหวัง” ความหวังคืออะไรและเหตุใดเราต้องมีหวัง

Highlights

  • ในกรีกยุคโบราณ ความหวังไม่ได้มีความหมายเช่นที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้วมันหมายความถึงความคาดหวังอย่างมืดบอด ไม่ต่างจากคำสาปชนิดหนึ่ง
  • ในโลกอุดมคติกลับมองว่า ‘ความหวัง’ คือศัพท์ที่สะท้อนให้เห็นความเพ้อฝันมากกว่าจะอยู่บนโลกความเป็นจริง หรือหากเป็นองค์ความรู้ก็ถือว่าเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่อาจปรับแปลงให้เข้ากับโลกความเป็นจริงได้
  • โลกปรัชญามีนิยามความหวังทั้งในเชิงลบและเชิงบวก สุดท้ายแล้วเราจะสังเกตได้ว่าในผลงานของนักปราชญ์แต่ละยุคล้วนสะท้อนว่า โดยพื้นฐานแล้วนั้นมนุษย์แต่ละคนต่างก็มีจิตสำนึกที่ผูกพันอยู่กับความคาดหวัง

Only Hope was left within her unbreakable house, she remained under the lip of the jar, and did not fly away.

Hesiod, Works and Days 

 

ความหวังคืออะไร แล้วทำไมคนเราต้องมีความหวัง ให้ความหวังกันเรื่อยไป หรือความหวังยังจำเป็นอีกไหมสำหรับโลกในปัจจุบัน

เพื่อจะค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ขอชวนทุกท่านทำความรู้จักกับที่มาและความหมายของคำว่า ‘ความหวัง’ กันเสียก่อน

ความหวัง หรือ ἐλπίς (elpis) ถูกเอ่ยอ้างถึงครั้งแรกๆ ในปกรณัมเก่าแก่เรื่อง Pandora’s box ซึ่งปรากฏในมหากาพย์ Works and Days ของ Hesiod ตำนานดังกล่าวบอกเล่าถึงเหตุการณ์ภายหลังจาก Prometheus ขโมยไฟจากเทพเจ้ามาให้มวลมนุษย์ มหาเทพ Zeus จึงแก้แค้นด้วยการมอบของขวัญให้แก่ Epimetheus น้องชายของโพรเมทิอุส 

ของขวัญนั้นมาในรูปไหปริศนา และกลายเป็นว่ามนุษย์ผู้หญิงนาม แพนโดรา ได้เปิดผนึกปลดปล่อยความทุกข์ยาก ความป่วยไข้ และความตาย สู่โลกมนุษย์ โดยมีเพียงความหวังเป็นสิ่งสุดท้ายที่คงเหลือไว้ภายใน

ความหวังในตอนจบของตำนานดังกล่าวได้รับการตีความโดยปราชญ์ในยุคเรอเนซองซ์อย่าง Andrea Alciato หรือ Gabriele Faerno ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยปลุกปลอบใจภายหลังเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว ความหวังในกรอบอธิบายนี้จึงเป็นสิ่งมีค่าท่ามกลางความโหดร้าย

หากทว่าในกรีกยุคโบราณ ความหวังไม่ได้มีความหมายเช่นที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้วมันหมายความถึงความคาดหวังอย่างมืดบอด ไม่ต่างจากคำสาปชนิดหนึ่ง ซึ่งทั้งเฮสิโอดและคนร่วมยุคร่วมสมัยต่างมองว่าเป็นความเลวร้าย เพราะมันอาจทำให้เราจมอยู่ในความเพ้อฝัน ไม่มองปัญหา หรือไม่แสวงหาทางแก้ไข เรียกได้ว่า ‘ของขวัญ’ ที่เทพเจ้ามอบให้มวลมนุษย์นั้นเป็น ‘การแก้แค้น’ โดยสมบูรณ์

ความหวังจึงไม่ได้มีความหมายในทางบวกมาตั้งแต่แรกเริ่ม หรือกว่าที่จะเป็นมากกว่าความฝันแบบลมๆ แล้งๆ ก็เมื่อมันถูกผนวกรวมเข้ากับความเชื่อทางศาสนาแบบ Judeo-Christian

สำหรับชาวยิวแล้ว ความหวังถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยเพราะชาวยิวถือว่าตนเป็นชนชาติแห่งความหวัง ซึ่งดำรงอยู่บนโลกที่โหดร้าย เต็มไปด้วยอันตรายและความอาฆาตมาดร้ายของชนชาติอื่นๆ และชาวยิวทั้งหลายต่างก็ดิ้นรนมีชีวิตเพื่อรอวันได้รับการปลดปล่อยโดยผู้ถูกเลือก

ในทำนองเดียวกันกับชาวคริสต์ ความหวังถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความยึดมั่นในพระเป็นเจ้า ความหวังเป็น 1 ใน 3 คุณธรรมสูงสุดในหลักเทววิทยาของชาวคริสต์ ซึ่งประกอบไปด้วยความศรัทธา ความรัก และความหวัง

Thomas Aquinas อธิบายว่าศรัทธาเกิดจากปัญญา-ความคิด ในขณะที่ความหวังนั้นถือกำเนิดขึ้นจากเจตจำนง

ใน Summa Theologiae เขาได้โต้แย้งความคิดของนักปราชญ์ในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Saint Augustine ที่มองว่าความหวังไม่ใช่คุณธรรมอย่างที่เข้าใจกัน เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาโดยไม่มีเราเกี่ยวข้อง และเราไม่อาจสร้างคุณธรรมซึ่งเป็นผลมาจากความสมบูรณ์แบบ ด้วยเพราะมนุษย์เรานั้นไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ ดังนั้นแล้วความหวังย่อมไม่อาจเป็นคุณธรรมดังที่กล่าวอ้างกัน

อะไควนัสชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณธรรมหมายความถึงสิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่ความดีงาม เช่นการกระทำของมนุษย์นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่ดีก็ย่อมมาจากคุณธรรมของมนุษย์ การกระทำนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากพระเจ้าที่เป็นความดีงามสูงสุด เช่นเดียวกับความหวังซึ่งเป็นความคาดหวังถึงสิ่งที่ดีกว่าที่รอเราอยู่ในกาลข้างหน้าก็สามารถนับว่าเป็นคุณธรรมที่เป็นผลมาจากพระเจ้าด้วยเช่นกัน หรือถึงแม้ว่าระหว่างหนทางไปสู่สิ่งที่ดีนั้นจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและเหตุการณ์ที่เลวร้าย แต่ความหวังก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถนำพาเราไปสู่ความสุขชั่วนิรันดร์ (eternal happiness) ซึ่งอะไควนัสเห็นว่าไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้าย ซ้ำยังเป็นปลายทางที่พระเจ้าต้องการนำพาเราไป

ความหวังสำหรับผู้ที่มีความเชื่อแบบยิว-คริสต์และแม้กระทั่งอิสลามจึงถือได้ว่ามีความแตกต่างจากศาสนาโบราณของกรีกในแง่ที่เป็นไปในทางบวกมากกว่าลบ ซึ่งแน่นอนว่าความหวังในกรอบอธิบายทางศาสนานั้นได้ถูกขยับขยายไปสู่บริบททางการเมืองเมื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่

 

ความหวังในโมงยามความสิ้นหวัง

สำหรับ Charles Péguy นั้น ความหวังถือกำเนิดขึ้นได้แม้ในยามที่เราสิ้นไร้ความศรัทธา เปกีย์มองว่าความหวังเปรียบเสมือนเด็กน้อยที่จูงมือเราเดินไปข้างหน้า ทั้งยังสามารถนำพาความศรัทธาและความรักที่สิ้นไร้เรี่ยวแรงนั้นให้เดินต่อไปด้วยกันได้

เปกีย์เป็นนักเขียนและกวีฝรั่งเศสจากต้นศตวรรษที่ 20 ผู้เชื่อในความเสมอภาคและเคยต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมในสังคมอย่างเข้มข้นจริงจัง ก่อนจะหันเหไปสู่ศรัทธาความเชื่อในพระเจ้า เปกีย์เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่การรบครั้งแรกๆ และเขาได้ทิ้งบทกวีขนาดยาวที่เขียนเกี่ยวกับความหวังเอาไว้ ซึ่งมีชื่อว่า Le Porche du mystère de la deuxième vertu (1929) หรือ The Portal of the Mystery of Hope ซึ่งเขาได้ประพันธ์ตอนหนึ่งเอาไว้ว่า

เป็นเธอ เจ้าเด็กน้อย ที่เดินนำพวกเขาไป
ด้วยศรัทธานั้นมองเห็นแต่เพียงสิ่งที่เป็น
ส่วนเธอนั้นมองเห็นสิ่งที่จะเป็น
ความรักรักในสิ่งที่เป็น
ส่วนเธอนั้นรักในสิ่งที่จะเป็น
ศรัทธามองเห็นสิ่งที่เป็น
ในกาลเวลาและความเป็นนิรันดร์
ความหวังนั้นเห็นในสิ่งที่จะเป็น
ในกาลเวลาและความเป็นนิรันดร์
ในอนาคต หรือพูดก็คือ ความเป็นนิรันดร์นั่นเอง

ในความหวังจึงมีทั้งความรักและความศรัทธา เพียงแต่ก็เป็นความรักและความศรัทธาในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือถึงแม้ความหวังจะเป็นตัวแทนของคุณธรรมสูงสุด (ที่สร้างความแปลกประหลาดให้แม้แต่พระเจ้าเองนั้น) ทว่าเปกีย์ก็ยังเห็นว่าในความหวังนั้นก็ยังมีความกลัว ความทุกข์ยาก หรือเหตุการณ์ร้ายที่ไม่อาจคาดเดารอเราอยู่ 

โอ ความโศกเศร้า โอ ความโชคร้าย ที่จะย้อนกลับมาสู่เรา
ทั้งหมดต่างเป็นของเรา และจะขึ้นอยู่กับเรา
เพื่อทำให้มัน ถูกสดับนับศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า
เพื่อทำให้มัน ก้องดังอีกครั้ง

จึงไม่แปลกที่ความหวังจะถูกเปรียบเป็นเหมือนการผจญภัย การฝ่าภยันตรายเพื่อไปถึงจุดหมาย ซึ่งแน่นอนว่าทั้งเปกีย์และนักคิดในยุคต่อๆ มาต่างก็เห็นว่าสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความหวังคือความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความหวังในแง่นี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อไปสู่โลกที่ดีกว่า

 

โลกใหม่ที่กล้าหาญ

A map of the world that does not includeUtopia is not even worth to glancing at.

Oscar Wilde

 

ความหวังที่จะอยู่ในโลกที่ดีกว่า โลกซึ่งทุกคนมีเสรีภาพและความสุขนั้นกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยถ้อยคำหนึ่งที่เริ่มถูกนำกลับมาใช้ควบคู่ไปกับความหวังคือคำว่า Utopia หรือที่บางคนแปลว่า ‘โลกอุดมคติ’

แน่นอนว่ายูโทเปียนั้นเป็นที่รู้จักครั้งแรกผ่านข้อเขียนชื่อเดียวกันของ Thomas More นักเขียนและนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16 กล่าวถึงดินแดนในโลกอุดมคติซึ่งมีระบบเศรษฐกิจและการปกครองที่แปลกและแตกต่างไปจากทุกที่ที่เคยมี

ดูเหมือนว่ามอร์จะออกแบบให้คำคำนี้มีความหมายมากกว่าหนึ่ง คือเป็นได้ทั้ง ‘ที่ที่ดี’ และ ‘ไม่มีที่ใด’ และแน่นอนว่าในช่วงที่แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในศตวรรษที่ 19 กลายเป็นประเด็นสำคัญ โลกอุดมคติก็ถูกนำกลับมาอ้างอิงถึงทั้งในทางที่สนับสนุนและวิจารณ์จากนักคิดทางสังคมสายต่างๆ 

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19-20 นี้เอง โลกอุดมคติกลายเป็นคำเรียกแทนการจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีอยู่จริงหรือโลกที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ อย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงโลกสมมติ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เลือกใช้คำนี้มาวิจารณ์ก็เป็นบรรดานักคิดทางสังคมที่เชื่อในเรื่องความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติ หรือความรู้ซึ่งสอดคล้องกับหลักความจริงที่ชัดเจนว่าไม่มีที่ว่างให้แก่โลกอุดมคติ

จะเห็นได้ว่าโลกอุดมคติในเชิงลบนี้ก็ตกอยู่ในภาวการณ์คล้ายๆ กับที่ความหวังเคยเผชิญมาก่อนในยุคกรีกโบราณ คือเป็นศัพท์ที่สะท้อนให้เห็นความเพ้อฝันมากกว่าจะอยู่บนโลกความเป็นจริง หรือหากเป็นองค์ความรู้ก็ถือว่าเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่อาจปรับแปลงให้เข้ากับโลกความเป็นจริงได้ และผู้ที่ทำให้คำคำนี้ได้รับการกอบกู้เกียรติยศคืนกลับมาก็คือนักปรัชญาชาวเยอรมันนามว่า Ernst Bloch

ในผลงานที่มีชื่อว่า Geist der Utopia หรือ The Spirit of Utopia เขาได้พยายามแสดงให้เห็นว่า โดยพื้นฐานแล้วนั้นมนุษย์แต่ละคนต่างก็มีจิตสำนึกที่ผูกพันอยู่กับความคาดหวัง ซึ่งแน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้ได้กลายเป็นรากฐานให้แก่งานชิ้นสำคัญของเขาที่มีชื่อว่า The Principle of Hope ผลงานระดับมหากาพย์ที่เขาได้พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า ความหวังมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง 

สำหรับบล็อคแล้วเขาเชื่อว่ามนุษย์จำเป็นต้องท้องอิ่ม แต่การมีกินอาจไม่ใช่ทุกอย่างหรือความจำเป็นเพียงอย่างเดียวของมนุษย์ มนุษย์ยังต้องการเสรีภาพและความสุข หรือกระทั่งการจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่า ซึ่งบางส่วนได้กลายมาเป็นโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้นและการผลักดันให้เกิดวิทยาการต่างๆ 

ความหวังและแม้แต่โลกอุดมคติจึงยังคงไม่อาจลบออกไปจากสังคมมนุษย์ เพราะมันคือสิ่งที่เราไม่มีหรือรู้สึกว่าขาดหายไปอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรลืมว่า ‘ความหวัง’ สามารถสร้าง ‘ความผิดหวัง’ ได้ และเพราะมีความผิดหวัง ความหวังจึงเป็นความหวัง นี่เป็นสิ่งที่บล็อคชี้เตือนเอาไว้

AUTHOR