“เราเฝ้าคิดถึงแต่แม่น้ำสายนี้ ที่ไหนสักแห่ง น้ำไหลค่อนข้างแรง มีคนสองคนอยู่ในน้ำพยายามเกาะกันไว้ เกาะกันอย่างเหนียวแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ไหว กระแสน้ำเเรงเกินไป พวกเขาจำเป็นต้องปล่อย ลอยห่างออกจากกัน นั่นเป็นสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับพวกเรา น่าเสียดายนะ เคท เพราะเรารักกันมาตลอดชีวิต แต่ในท้ายที่สุด เรากลับไม่สามารถอยู่ด้วยกันไปตลอดกาลได้”
เปล่าครับ ประโยคที่ผมยกมานี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ใน บทกวีชั่วชีวิต ผลงานเล่มล่าสุดของ ‘สะอาด’ นักเขียนการ์ตูนจอมเสียดสีสังคมแต่อย่างใด หากมันมาจากวรรณกรรมอังกฤษเล่มหนึ่งที่ชื่อ Never Let Me Go ครับ แน่นอนว่า บทกวีชั่วชีวิต กับ Never Let Me Go ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันเลย เพียงแต่ว่าระหว่างที่ผมหัวเราะขื่นๆ ไปกับการ์ตูนสั้นๆ ทั้ง 5 เรื่องที่สะอาดมัดรวมไว้ด้วยกันในงานเขียนเล่มนี้ อย่างช่วยไม่ได้ที่ผมก็มักจะไพล่ย้อนไปนึกถึง Never Let Me Go อยู่เรื่อยๆ ว่าแต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกันล่ะ
คำตอบหนึ่งที่ผมสรุปได้หลังจากที่อ่าน บทกวีชั่วชีวิต จบคือ งานเขียนชิ้นนี้ของสะอาดไม่ได้มุ่งจะตีแผ่และจิกกัดสังคมอย่างแสบๆ คันๆ แบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่ครั้งนี้เขาได้หยิบยื่นกล้องจุลทรรศน์ให้กับคนอ่าน เพื่อที่ว่าเมื่อได้ประทับมันเข้ากับดวงตา เราจะมองเห็นมวลชีวิตเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบในสังคมขนาดใหญ่อย่างประเทศไทยซึ่งคอยแต่จะบดบังพวกเขาอยู่เสมอ
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า บทกวีชั่วชีวิต ประกอบด้วยการ์ตูนสั้นๆ 5 เรื่องด้วยกัน โดยที่แต่ละเรื่องต่างจับจ้องไปที่มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ล้วนแต่แบกรับบาดแผลเล็กใหญ่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มหน้าตาอิดโรยผู้หวังจะลืมอดีตไปให้ได้ วัยรุ่นหนุ่มสาวผู้ต้องมาผูกพันกันอย่างจำใจเพราะทั้งคู่ต่างหลงใหลบาสเกตบอล นักเขียนการ์ตูนผู้ทดท้อสิ้นหวังกับอาชีพในฝัน ชายหนุ่มผู้หวาดกลัวความผูกพัน และสาวโสดวัย 30 ผู้ต้องมารับช่วงต่อกิจการทางบ้านอย่างจำใจ แถมยังต้องรับมือกับพ่อที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้อย่างจำยอม
ตัวละครทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ใน บทกวีชั่วชีวิต เล่มนี้ล้วนเป็นใครก็ได้ที่เราอาจเห็นหน้าค่าตาอยู่ทุกวัน หรืออาจเป็นคนแปลกหน้าสักคนที่บังเอิญเดินสวนกัน และต่างก็ไม่รับรู้ถึงความสำคัญหรือตัวตนที่มีอยู่ของอีกฝ่าย กล่าวคือ ตัวละครในเรื่องเป็นเพียงคนธรรมดา ที่การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของพวกเขาไม่ได้จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อความเป็นไปของสังคมด้วยซ้ำ พวกเขาไม่เป็นที่รับรู้โดยสื่อ ไม่ถูกมองเห็นโดยคนกลุ่มใหญ่ เป็นเพียงชีวิตเล็กๆ ที่ต้องอาศัยการประกอบรวมกันจึงจะได้เป็นตัวเลขก้อนใหญ่เท่านั้น
แล้วหนังสือเล่มนี้เหมือน Never Let Me Go ตรงไหน? อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเมื่อ บทกวีชั่วชีวิต ไม่ได้จิกกัดสังคมอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ความเป็นการเมืองในหนังสือเล่มนี้จึงบางเบาลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับงานเขียนเล่มก่อนๆ เป็นเรื่องของ ‘การเติบโต’ ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ และสะอาดก็ประสบความสำเร็จในการรีดคั้นความเจ็บปวด ความเศร้า และความหวังให้คนอ่านได้สัมผัสผ่านตัวละครในเรื่อง
สำหรับสะอาด การเติบโตไม่ได้หมายถึงแค่เลขอายุที่เพิ่มขึ้น แต่คือการที่มนุษย์สักคนหนึ่งได้ปะทะกับเหตุการณ์ใดๆ ที่เข้ามาสั่นคลอนศรัทธาและความเชื่อของเขา
ตัวละครต่างๆ ใน บทกวีชั่วชีวิต ไม่เพียงตั้งคำถามกับการมีอยู่ของตัวเองและความจำเป็นของพวกเขาในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตระหนักถึงเงื่อนไขของการก้าวต่อไป ว่าการที่พวกเขาเลือกสูดลมหายใจต่อจำเป็นต้องแลกมากับการปลดสัมภาระอะไรทิ้งไป หรือยินยอมโอบรับอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง
ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขของการเติบโตใน บทกวีชั่วชีวิต จึงชวนให้ผมนึกถึง Never Let Me Go ตรงที่ว่า ในนวนิยายเรื่องนั้น ตัวละครหลักทั้งสามล้วนประสบพบพานกับการตั้งคำถามต่อความสำคัญของพวกเขาเอง ทั้งในฐานะของเบี้ยตัวน้อยที่อาจไม่สลักสำคัญเลยต่อโครงสร้างสังคมที่แวดล้อมอยู่ และในฐานะของมนุษย์ตัวกระจ้อยที่ผ่านสารพัดเหตุการณ์ พวกเขาก็ได้ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะรัก เศร้า และให้อภัย
จะเห็นว่า ประโยคเปิดบทความที่ผมยกมามีใจความสำคัญอยู่ที่ ‘การปล่อย’ และทั้ง Never Let Me Go และ บทกวีชั่วชีวิต ก็แสดงให้เห็นว่า ‘การรู้จักที่จะปล่อย’ คือรูปแบบหนึ่งของการเติบโต ใน Never Let Me Go ตัวละครในเรื่องต่างก็ผูกพันกันอย่างแนบแน่นประหนึ่งพี่น้อง แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง พวกเขาต่างก็รู้ว่า การดึงดันจะยึดโยงกันและกันไว้มีแต่จะฉุดรั้งและสร้างบาดแผลให้กันเปล่าๆ เช่นกันที่ตัวละครใน บทกวีชั่วชีวิต เองก็ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของ ‘การปล่อยให้เป็น’ โดยเฉพาะกับอดีตที่แม้จะเคยส่องประกายงดงาม หรือสร้างความทุกข์ระทมมากมายเพียงใด ทว่าการเฝ้าทะนุถนอมมากจนเกินไป บ่อยครั้งก็จะสร้างความเจ็บปวดให้กับปัจจุบัน พอๆ กับที่มันอาจคอยฉุดและดักขาที่พร้อมก้าวย่ำสู่วันข้างหน้า
กล่าวได้ว่า ชีวิตเล็กๆ ใน บทกวีชั่วชีวิต คือชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานเพื่อเดินต่อไปในเส้นทางที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะยังมีอุปสรรคใดรอคอยอยู่อีกหรือเปล่า พวกเขาไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่า การตัดสินใจนี้จะนำมาซึ่งความผิดหวัง หรือจะทอดนำสู่เส้นทางอันสว่างไสว มันไม่มีหรอกอนาคตที่คาดคะเนได้ แต่ถึงอย่างนั้นตัวละครของสะอาดก็ยังกล้าหาญพอที่จะกัดฟัน และเตรียมเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของชีวิต
ความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งของหนังสือคือ การที่สะอาดลดความเข้มข้นของความเป็นการเมืองลง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่ เพราะผ่านเงื่อนไขชีวิตของตัวละครในเรื่อง ที่เราก็ยังคงเห็นว่าการเมืองยังคงเกี่ยวพัน และมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างชัดเจน อย่างในตอน ‘คืน 8 ปี’ ที่พ้นไปจากเรื่องมิตรภาพในวัยหนุ่มสาวแล้ว กลับซุกซ่อนประเด็นอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ร้ายกาจพอจะคุกคามความฝันของเด็กคนหนึ่ง หรือในตอน ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ที่ตั้งคำถามต่อวิธีคิดที่ว่า ถ้าได้ทำงานที่เรารัก ก็เหมือนไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิตจริงหรือ?
ภายใต้ฉากหน้าที่ว่าด้วยการเติบโต บทกวีชั่วชีวิต สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนรัฐศาสตร์ จบมหา’ลัยดีๆ เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา หรือติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำ หากแต่ในทุกๆ ชีวิตที่ดำเนินไป และในทุกๆ พื้นที่ซึ่งไม่ใช่แค่ในรัฐสภา หรือบนถนนใหญ่ แต่อาจเป็นบ้านหลังน้อย ร้านถ่ายรูปเล็กๆ หรือสนามบาสเกตบอลโรงเรียน ความเป็นการเมืองก็ล้วนแพร่งพรายอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน เพราะทุกชีวิตในสังคมต่างได้รับผลกระทบจากการเมืองด้วยกันทั้งนั้น
ในวันที่เด็กๆ ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยไปโรงเรียนเพื่อป้องกันมลพิษ ในวันที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือยังคงต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 ในวันที่เสียงร้องของประชาชนที่เปล่งอยู่ซ้ำๆ กลับสูญเสียคุณค่าลงทุกวัน น่าคิดนะครับว่า ยังจะมีคนที่คิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของทุกคนอยู่อีกหรือ