ตามไปดู 2D AFTERLIFE นิทรรศการไว้อาลัยให้ตัวละครจากอนิเมะผู้ล่วงลับ

แค่ซีรีส์และอนิเมะที่รักต้องปิดฉากลง เรายังรู้สึกคิดถึงไม่ไหว ความผูกพันที่มีต่อเรื่องราวและตัวละครเอ่อล้นมากเกินกว่าจะอวสานตามไป ยิ่งตัวละครที่รักสุดๆ ต้องหายสาบสูญ ถูกทำร้าย หรือเลวร้ายที่สุดคือเสียชีวิต หลายครั้งที่เราร้องไห้ฟูมฟาย แต่บางครั้งก็รู้สึกยินดีด้วยไม่ได้ที่เขาเหล่านั้นจะได้พักผ่อนอย่างสงบ 2D AFTERLIFE

เพราะความรู้สึกพันผูกกับตัวละครจนตัดไม่ขาด นิทรรศการไว้อาลัยแด่ตัวละครจากโลกอนิเมะอย่าง 2D AFTERLIFE ของ แพน–จิณห์นิภา นิวาศะบุตร จึงเกิดขึ้น งานนี้พัฒนาจากทีสิสจบการศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อจำลองโลกเสมือนให้กลายเป็นจริง เพื่อไว้อาลัยแด่ตัวละครที่ล่วงลับ และเพื่อศึกษาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของแฟนคลับว่าจะมีปฏิกิริยาและปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการครั้งนี้ยังไงบ้าง

จะร้องไห้ฟูมฟายหรือยินดีกับการจากไปของตัวละครก็ได้ ศิลปินและคนรักอนิเมะอย่างแพนเปิดรับเต็มที่

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

สมัยเด็กๆ เราคงคุ้นเคยกับการนั่งดูการ์ตูนทางหน้าจอโทรทัศน์ก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า ทั้ง Doraemon, Naruto, One Piece และอีกหลากหลายเรื่องราวที่ผู้ใหญ่จัดสรรมาให้ จากแค่ดูฆ่าเวลา หลายคนกลับกลายเป็นแฟนคลับที่เมื่อว่างจากการไปโรงเรียนเมื่อไหร่ก็จะสรรหาการ์ตูนเรื่องที่สนใจมาอ่านและดูเอง

บ้างก็ดูแล้วจบไป บ้างก็ดูแล้วอยากสืบสายลายเส้นการ์ตูนของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับแพนที่ไม่เพียงใช้อนิเมะเป็นเครื่องจรรโลงใจยามว่าง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

“เราได้ข้อคิดและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ความเพียรพยายาม ความเสียสละ และความสามัคคีจากการเติบโตของตัวละคร โดยที่เราไม่เคยคิดเลยว่าการเสพการ์ตูนจากทั้งในหน้าจอและหน้ากระดาษมันจะให้อะไรเราได้ขนาดนี้

“อย่างตัวละคร Erwin Smith จาก Attack on Titan เป็นตัวละครที่มีความเป็นผู้นำ ยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ และเป็นคนที่พยายามพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ ทำให้เราพยายามพิสูจน์ตัวเองกับคนรอบข้างว่าความรักในอนิเมะก็นำไปต่อยอดเป็นสิ่งต่างๆ ได้” แพนย้อนเล่าถึงความรู้สึกวัยเด็กที่เธอมีต่อตัวละครจนพัฒนาไปสู่การฝึกวาดลายเส้นด้วยตัวเอง สู่การแข่งขันทักษะทางศิลปะ สู่การเรียนต่อในสาขาทัศนศิลป์ และสู่การเป็นแรงบันดาลใจในการทำทีสิสจบการศึกษา

Erwin Smith จาก Attack on Titan

“เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะนำความชอบอนิเมะมาทำทีสิสจบ กระทั่งถึงเวลาที่ต้องทำจริงๆ เราคิดหัวข้ออยู่นานมาก คิดไปคิดมาก็คิดได้ว่าทำไมไม่ทำเกี่ยวกับสิ่งที่เราผูกพันล่ะ”

แรงบันดาลใจในการทำทีสิส

จากทีสิสเกี่ยวกับการ์ตูน แพนสโคปหัวข้อให้เล็กลงเรื่อยๆ จนได้ประเด็นความตายของตัวละครซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากพิธีศพในหนังเรื่องหนึ่ง

“ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ เราจะเติบโตไปพร้อมตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องจนรู้สึกผูกพัน แม้บางครั้งผู้แต่งจะเลือกให้เขาจบชีวิตลง แต่ความผูกพันที่เรามีกับตัวละครยังไม่จบ เราเลยอยากจัดพิธีอำลาเพื่อแสดงความเคารพและความผูกพันให้ตัวละครเหล่านั้น เราชอบวาดภาพแนวพอร์เทรตอยู่แล้วเลยลงตัวที่ไอเดียการวาดภาพเสมือนของตัวละคร

“แต่เมื่อนำไปเสนออาจารย์ที่ปรึกษา เขาก็บอกว่าถ้าวาดแต่ภาพหน้าศพก็ดูธรรมดาไป เลยอยากให้เราจัดเป็นพิธีกรรมจริงจังไปเลย”

จากไอเดียตั้งต้น แพนจึงเลือกตัวละครที่เธอผูกพันและมีผลกับจิตใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งหมด 39 ตัวมาวาด แปลงลายเส้นการ์ตูนที่คุ้นเคยเป็นลายเส้นอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ตัวละครเหล่านั้นเสมือนเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจจริงๆ ด้วยสีน้ำมันที่ให้ผิวสัมผัสและลักษณะเหมือนจริง

“ภาพเหล่านี้นำเสนอความคิดและความรู้สึกของเราว่าเราอยากให้ตัวละครนี้เป็นมนุษย์แบบไหน เพื่อศึกษาว่าเราในฐานะผู้เสพรู้สึกยังไงกับตัวละครที่อยู่ในโลกสมมติ” พิธีกรรมที่ว่าในการแสดงทีสิสคือการจัดวางรูปตัวละครในกรอบดำเต็มผนังเพื่อสื่อสารถึงพิธีกรรมอำลาและความรู้สึกของแพน โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าทีสิสจบจะได้เป็นงานแสดงเดี่ยวในแกลเลอรีจริงๆ 

“เราคิดอยู่แล้วว่าอยากนำนิทรรศการจบการศึกษาครั้งนี้ไปเสนอให้แกลเลอรีสักแห่ง พอคิวเรเตอร์ของ Palette Artspace ซึ่งเป็นคออนิเมะอยู่แล้วติดต่อมาว่าสนใจจัดแสดงงานไหม เราเลยรู้สึกดีใจและช็อกมากๆ”

2D AFTERLIFE ที่แปลความหมายได้ทั้ง ‘โลกหลังความตาย’ (afterlife) ของ ‘ตัวละคร 2 มิติ’ (2D) และ ‘สู่โลกหลังความตาย’ (to the afterlife) จึงเกิดขึ้นจริง

แรงบันดาลใจในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก 

เมื่อนำทีสิสมาพัฒนาเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก แพนจึงวาดภาพเพิ่มอีก 11 ภาพ รวมทั้งหมดมีตัวละคร 50 ตัวจากอนิเมะสิบกว่าเรื่อง ทั้ง Fullmetal Alchemist, JoJo’s Bizarre Adventure, Hunter x Hunter, One Piece และ Attack on Titan โดยนำเสนอผ่านประเด็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟน

“เรานำประเด็นวัฒนธรรมย่อยมาทำงานแต่กลับนำเสนอในมุมของเราคนเดียว โดยมองข้ามว่าแต่ละวัฒนธรรมย่อยก็มีคอมมิวนิตี้แฟนคลับที่รู้จักตัวละครเหล่านี้อีกมาก เขาอาจตีความตัวละครเหมือนหรือต่างจากเราก็ได้ และขณะที่เราคิดว่าอยากจัดงานอำลาให้ตัวละครมันก็มีคนที่คิดเหมือนเราด้วย 

“ทีมงานเลยแนะนำว่าควรนำประเด็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟนมาใส่ในงานครั้งนี้ด้วย จากตอนทำทีสิสที่งานเราให้ความรู้สึกเศร้าๆ ตอนนี้อารมณ์มันค่อนข้างเปิดกว้างจนเรารู้สึกสนุกขึ้น” แพนอธิบายถึงแนวคิดที่เสริมในนิทรรศการครั้งนี้ซึ่งนำเสนอผ่านวิธีวาดและการจัดวางในงาน

“เราเอาองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของตัวละครที่คิดว่าสำคัญมาร่าง จากนั้นก็ไปรีเสิร์ชดูว่าแฟนคลับคนอื่นๆ คิดยังไงกับตัวละครเหล่านี้ แล้วจึงนำมารวมกับจินตนาการของเรา แต่ทั้งหมดก็ยังขึ้นอยู่กับความคิดและความรู้สึกของเราอยู่ดีนะ

“อย่างเออร์วิน สมิธ จาก Attack on Titan เรารู้สึกว่าเขามีความเป็นผู้บังคับบัญชาเหมือน Captain America แต่บางคนก็ตีความว่าเขาเหมือนดาราฮอลลีวูด ส่วนอาจารย์ที่แต่งเรื่องนี้ก็บอกว่าได้ต้นแบบมาจากเอ็มวีเพลง เราเลยเอาข้อมูลเหล่านี้มารวมๆ กันแล้ววาดออกมาเป็นภาพนี้

“Narancia Ghirga จาก JoJo’s Bizarre Adventure ด้วยความที่ชื่อของเขามีความหมายแปลว่าสีส้มในภาษาหนึ่ง และอาจารย์ที่แต่งเรื่องนี้ก็ออกแบบให้เขาดูมีโทนสีไปทางสีส้ม เราเลยใช้สีนี้เป็นสีหลักในการวาด

Narancia Ghirga จาก JoJo’s Bizarre Adventure

“หรือตัวละคร Portgas D. Ace จาก One Piece เราตีความว่าเขาน่าจะมีความเป็นดาราฝั่งละติน-อเมริกา และด้วยความที่เขาเป็นธาตุไฟที่มีความร้อนแรง เราเลยใช้สีจัดๆ ในการวาดรูปเขา” แพนยกตัวอย่างผลงานมาอธิบาย

Portgas D. Ace จาก One Piece

ส่วนการจัดวางนิทรรศการครั้งนี้ แพนและทีมงานตั้งใจให้ตัวละครทุกตัวมีหิ้งบูชาเพื่อให้แฟนคลับนำสิ่งของมาวางไว้ หรือใครจะเขียนข้อความไว้อาลัยก็ได้ แถมยังมีพวงหรีดแสดงความอาลัยทั้งจากแกลเลอรีและมูลนิธิสปีดวาก้อนตรงทางเข้าด้วย

“ปกติตามงานศพจะมีพวงหรีดของมูลนิธิและบุคคลสำคัญต่างๆ พอเป็นพิธีศพของตัวละครจากอนิเมะเราเลยจัดให้มีพวงหรีดของมูลนิธินิธิสปีดวาก้อนที่คอยช่วยเหลือพระเอกในเรื่อง JoJo’s Bizarre Adventure ระหว่างพวงหรีดทั้งสองก็มีโครงไม้สำหรับตั้งภาพพอร์เทรต เราและทีมงานจะหมุนเวียนเอาภาพตัวละครมาวางให้คนได้ร่วมแสดงความเคารพหรือถ่ายรูป”

การเปิดพื้นที่ให้แฟนคลับคนอื่นๆ ได้ร่วมแสดงความไว้อาลัยและตีความตัวละครในแบบฉบับของตัวเองนี่แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟน’

“เรารู้สึกกดดันเหมือนกันที่ต้องถ่ายทอดภาพตัวละครในความคิดของเราออกมา เพราะแฟนคลับแต่ละคนล้วนมีธงในใจอยู่แล้วว่าอยากให้ตัวละครเป็นแบบไหน แต่นั่นก็คือความต้องการของเราเช่นกันที่อยากเห็นแฟนคลับได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน 

“เขาจะชอบหรือไม่ชอบการตีความของเราก็ได้ จะรู้สึกเศร้าหรือรู้สึกแบบไหนก็ได้ เพราะเราอยากให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นพื้นที่สำหรับเหล่าแฟนคลับอนิเมะจริงๆ

“จากตอนแรกที่เรารู้สึกเคว้งคว้าง การทำนิทรรศการครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามีคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เราจึงคาดหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ให้วงการการ์ตูนในไทยได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เพราะเราแทบไม่เคยเห็นการจัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวกับอนิเมะในไทยเลย”

ขอบคุณภาพจาก Palette Artspace

1 + 2D AFTERLIFE

11สมัยเด็กๆ เราคงคุ้นเคยกับการนั่งดูการ์ตูนทางหน้าจอโทรทัศน์ก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า ทั้ง Doraemon, Naruto, One Piece และอีกหลากหลายเรื่องราวที่ผู้ใหญ่จัดสรรมาให้ จากแค่ดูฆ่าเวลา หลายคนกลับกลายเป็นแฟนคลับที่เมื่อว่างจากการไปโรงเรียนเมื่อไหร่ก็จะสรรหาการ์ตูนเรื่องที่สนใจมาอ่านและดูเอง บ้างก็ดูแล้วจบไป แต่บ้างก็ดูแล้วอยากสืบสายลายเส้นการ์ตูนของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับแพน ที่ไม่เพียงใช้อนิเมะเป็นเครื่องจรรโลงใจยามว่าง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

12ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ เราจะเติบโตไปพร้อมตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องจนรู้สึกผูกพัน แม้บางครั้งผู้แต่งจะเลือกให้เขาจบชีวิตลงแต่ความผูกพันที่เรามีกับตัวละครยังไม่จบ เราเลยอยากจัดพิธีอำลาเพื่อแสดงความเคารพและความผูกพันให้ตัวละครเหล่านั้น เราชอบวาดภาพแนวพอร์เทรตอยู่แล้วเลยลงตัวที่ไอเดียการวาดภาพเสมือนของตัวละคร

2

21ทุกครั้งที่ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่งๆ เราจะเติบโตไปพร้อมตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องจนรู้สึกผูกพัน แม้บางครั้งผู้แต่งจะเลือกให้เขาจบชีวิตลงแต่ความผูกพันที่เรามีกับตัวละครยังไม่จบ เราเลยอยากจัดพิธีอำลาเพื่อแสดงความเคารพและความผูกพันให้ตัวละครเหล่านั้น เราชอบวาดภาพแนวพอร์เทรตอยู่แล้วเลยลงตัวที่ไอเดียการวาดภาพเสมือนของตัวละคร

22จากตอนแรกที่เรารู้สึกเคว้งคว้าง การทำนิทรรศการครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามีคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เราจึงคาดหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ให้วงการการ์ตูนในไทยได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้นเพราะเราแทบไม่เคยเห็นการจัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวกับอนิเมะในไทยเลย


ติดตามวันและเวลาจัดนิทรรศการได้ที่ Palette Artspace ส่วนถ้าใครอยากชมผ่านช่องทางออนไลน์สามารถเข้าชมได้ที่นี่

AUTHOR