แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 3 ปีนับจากครั้งแรกที่ชาวกรุงเทพฯ เริ่มตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ในเวลานี้เจ้าฝุ่นตัวร้ายก็ยังไม่หายไปไหน หนำซ้ำระดับความอันตรายยังพุ่งสูงขึ้นและกินระยะเวลายาวนานขึ้นทุกปี
หากใครมีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมงาน Bangkok Design Week 2020 เมื่อปีก่อน อาจพบว่าเคยมีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาใช้งานออกแบบแก้ปัญหามลพิษในเมืองกรุงอย่างจริงจังไปแล้ว ด้วยการสร้าง ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ หรือ Bangkok #Safezone Shelter ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก
แต่ในเมื่อปัญหาฝุ่นควันยังไม่หมดไปจากกรุงเทพฯ เสียที ในงาน Bangkok Design Week 2021 ปีนี้พวกเขาจึงกลับมาอีกครั้ง กับ ‘Common Air-rea’ พื้นที่อากาศสะอาดแห่งใหม่บริเวณหน้าสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ฟังก์ชั่นเยอะขึ้น และพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่างานครั้งที่แล้ว พร้อมความหวัง (อีกครั้ง) ว่างานออกแบบชิ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ ที่จริงจังขึ้นในอนาคต
แน่นอน เมื่อพูดถึงการออกแบบพื้นที่อากาศสะอาด จะขาดทีมเดิมอย่าง แนท–ณัฏฐวีร์ แตงน้อย Senior Creative City Development Officer ประจำ CEA และ ผศ. ดร. ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีไปไม่ได้ แถมคราวนี้พวกเขายังชวน ฟิวส์–นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย นักออกแบบจาก Cloud–floor สตูดิโอที่เคยสร้างสวนต้นไม้ในร่ม Office-Terrarium เข้ามาช่วยดีไซน์งานชิ้นนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราเห็น
ความหวังครั้งใหม่สู่เมืองปลอดฝุ่นจะหน้าตาเป็นยังไง เราขอชวนทีมงานผู้สร้าง Common Air-rea ทั้งสามคนมาคุยกันสักนิด แล้วลองตามไปดูกันว่าพื้นที่อากาศสะอาดในรอบนี้จะเจ๋งแค่ไหน
ปัญหาฝุ่นที่ไม่ได้เล็กเท่าฝุ่น
“เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าฝุ่น PM2.5 อยู่กับเรามานานมากๆ ตั้งแต่ปี 2019 ตอนนั้นเป็นช่วงแรกที่คนเริ่มตื่นตัวเรื่องฝุ่น เราพบว่ามันทำให้คนกลัวที่จะมา Bangkok Design Week เหมือนกันนะ พอปี 2020 ค่าฝุ่นก็ยิ่งสูงขึ้นอีก จนมาปีนี้เราพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาก เพราะปกติทุกปีค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงแค่ช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่ตอนนี้แม้จะเลยช่วงฤดูร้อนมาแล้วก็ยังสูงอยู่”
แนทเล่าย้อนกลับไปว่าหลังได้ลองทำ Bangkok #Safezone Shelter ไปเมื่อปีที่แล้วจนเห็นความเป็นไปได้ในงานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศของเมือง ทีมงานทุกคนก็ไม่หยุดการทำงานอยู่แค่นั้น แต่ยังคงเก็บข้อมูลและทดลองออกแบบชิ้นงานอื่นๆ ออกมา จนได้โมเดลชิ้นที่สอง นั่นคือป้ายรถเมล์ฟอกอากาศ แต่แพลนการติดตั้งงานชิ้นดังกล่าวก็ถูกพับเก็บไปด้วยความยุ่งยากหลายอย่าง พวกเขาจึงเดินหน้าพัฒนาไอเดียมาสู่โมเดลชิ้นที่สาม นั่นคือ Common Air-rea ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานแบบ 3 in 1
“เรายังตั้งใจทดสอบแนวคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพอากาศอยู่ ดังนั้นฟังก์ชั่นแรกของ Common Air-rea ก็คือการฟอกอากาศ ซึ่งปีนี้เราได้พัฒนาการออกแบบและระบบฟิลเตอร์ใหม่จากคราวที่แล้วเพื่อให้พื้นที่นี้ปลอดฝุ่นมากกว่าเดิม
“ฟังก์ชั่นที่สอง เรามองว่าที่ที่มีอากาศสะอาดและค่าฝุ่นน้อยน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นพื้นที่ทดลองคุณภาพอากาศเพียงอย่างเดียว เราเล็งเห็นว่าพื้นที่นี้น่าจะเป็นจุดพักของคนที่มาดูงาน Bangkok Design Week ได้ด้วย เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับเทศกาลมารวบรวมไว้ในนี้ ทำให้เป็น information center ที่คนจะเข้ามาอ่านข้อมูลและใช้เวลาอยู่ในนี้ได้เลย
“ฟังก์ชั่นสุดท้าย เราพบว่าการฟอกอากาศจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า แต่การหาปลั๊กในพื้นที่เอาต์ดอร์ก็ลำบากเหมือนกัน คราวนี้เราเลยปรับมาใช้ระบบไฮบริดที่ส่วนหนึ่งยังคงใช้ไฟฟ้าของอาคารอยู่ แต่อีกส่วนเราหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วย โดยเราเลือกใช้โซลาร์เซลล์พิเศษซึ่งสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้แม้แดดจะน้อย ทำให้การทำงานคราวนี้สะดวกมากกว่าเดิม และอาจเป็นโมเดลที่ดีสำหรับนำไปปรับใช้ในที่อื่นๆ ต่อในอนาคต”
แนทเสริมว่าเพื่อให้ผลงานนี้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด พวกเขายังเก็บโซลาร์เซลล์จากงานนี้ส่วนหนึ่งไปใช้ต่อที่ดาดฟ้าและ rooftop garden ของ TCDC ไปรษณีย์กลางเพื่อไม่ให้เสียของอีกด้วย
ถอดบทเรียนสู่พื้นที่ปลอดฝุ่นที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อตั้งใจว่า Common Air-rea จะต้องเป็นพื้นที่อากาศสะอาดที่ใหญ่และดีขึ้นกว่าเดิม แนทและ ผศ. ดร. ประพัทธ์ จึงชักชวนฟิวส์และทีมสถาปนิก Cloud-floor ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะมาช่วยกันสานต่อโปรเจกต์ โดยพวกเขาตั้งต้นการทำงานจากการนำข้อบกพร่องที่เจอในโปรเจกต์ก่อนมาพัฒนาให้ดีขึ้น
“จริงๆ เราถอดหลักการสร้างอาคารมาจากงานเมื่อปีที่แล้ว แค่พัฒนาโครงสร้างและระบบการทำงานใหม่ อย่างระบบต้นไม้ดักจับฝุ่นก็ยังอยู่แต่จะถูกนำไปใช้เป็นเลเยอร์ด้านนอกที่ล้อมอาคารแทน เพราะเราพบว่าต้นไม้มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นได้ดีมากๆ ทั้งฝุ่นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เมื่อนำมาใช้เป็นตัวกรองชั้นแรก ฝุ่นที่หลงเหลือเข้าไปในระบบกรองอากาศของอาคารก็จะลดลง” ฟิวส์เล่า
“ส่วนต่อมาที่เราพัฒนาคือเรื่องการเข้า-ออกอาคาร เนื่องจากความตั้งใจของเราคือการสร้างอาคารกึ่งสาธารณะ ดังนั้นการเข้า-ออกต้องสะดวก ไม่อึดอัด เราจึงไม่ทำประตูเปิด-ปิด แต่ใช้เทคโนโลยีม่านอากาศหรือการใช้ลมกันอากาศภายนอกไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในอาคารแทน เพราะคราวที่แล้วเราไม่ได้จัดการตรงนี้อย่างเหมาะสมจึงมีฝุ่นจากข้างนอกเล็ดลอดเข้าไปในอาคารได้มากกว่าที่คิด ฝุ่นเลยไปอุดตันในเครื่องกรองเยอะมาก”
ในการทำงานที่ว่านี้ ทีม Cloud-floor จะต้องร่วมวางแผนไปพร้อมกับ ผศ. ดร. ประพัทธ์ ผู้เข้ามารับหน้าที่คำนวณพลศาสตร์การไหลเวียนของอากาศในอาคาร
“ในฝั่งผมซึ่งเป็นวิศวกร เรามีหน้าที่ทำยังไงก็ได้ให้พื้นที่นี้ไม่มีฝุ่นละออง โดยใช้หลักการคำนวณทางวิศกรรมให้รู้ว่าเราต้องติดตั้งอุปกรณ์อะไรและติดตรงไหนถึงจะช่วยบำบัดฝุ่นได้ดีที่สุด
“เราพยายามล็อกให้ห้องนี้ไม่มีอากาศวิ่งเข้ามา แล้วใช้การบำบัดอากาศด้านในด้วยระบบกรองสองชั้น ชั้นที่หนึ่งจะใช้ไฟฟ้าดักจับฝุ่นด้วยการจ่ายไฟฟ้าผ่านแผงโลหะ พอฝุ่นเจอไฟฟ้าฝุ่นจะกลายเป็นประจุลบเข้าไปติดกับเครื่องดักฝุ่น ส่วนฝุ่นที่เหลือจะไปเจอกับเครื่องกรองชั้นสองซึ่งคอยดักจับและฟอกอากาศให้สะอาดยิ่งขึ้น การมีเครื่องกรองสองชั้นจะช่วยให้ฝุ่นขนาดใหญ่โดนดักออกไปตั้งแต่ต้นทาง เครื่องกรองอากาศจึงทำงานได้ดีกว่าคราวก่อน” ผศ. ดร. ประพัทธ์อธิบายต่อ
จากการร่วมกันวางแผนและออกแบบระบบฟอกอากาศ จึงสามารถทำให้อากาศในพื้นที่ทดลองสะอาดได้มากขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเปิดต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมงาน Bangkok Design Week 2021 อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทดลองแล้วทดลองอีก
กว่าจะมาเป็นความรู้ที่พวกเขาอธิบายอย่างเข้าใจง่ายในทุกวันนี้ การทำงานทุกขั้นตอนล้วนต้องผ่านกระบวนการทดสอบกันอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าการคำนวณและออกแบบทั้งหมดจะแก้ปัญหาฝุ่นได้ดีขึ้นจริงๆ
“ก่อนหน้านี้เราทดสอบในอาคารไซส์เล็กกว่านี้ เพราะอย่างที่เห็นว่าพื้นที่ของจริงมันใหญ่มาก เรียกว่าเป็นไซส์ XL เลยก็ได้ เราเลยทำห้องจำลองไซส์ M ขึ้นมาเพื่อทดสอบระบบภายในก่อน ให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราคิดกันมาเวิร์กจริงๆ” แนทอธิบาย
“เราให้อาจารย์ประพัทธ์ช่วยทำ airflow analysis คำนวณค่าฝุ่นก่อนและหลังมีเครื่องกรองอากาศ ว่าอากาศในห้องนั้นดีขึ้นหรือไม่ หลังจากนั้นเรายังต้องมาทดสอบหน้างานกันอีกที แน่นอนว่ามันอาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจากห้องทดลองด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งการทดลองลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เสริมเข้ามาและเราไม่เคยทำในงานชิ้นก่อนๆ เลย” ฟิวส์เล่าก่อนที่ ผศ. ดร. ประพัทธ์จะเสริมต่อว่า
“ความยากของงานนี้คือเราจะทำยังไงให้คนไม่รู้สึกอึดอัดเวลาเข้ามา จริงๆ การทำพื้นที่ให้โปร่งแต่สภาพอากาศด้านในยังควบคุมได้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ถ้าเราไม่ลองทำก็คงไม่รู้หรอกว่างานคราวก่อนจะพัฒนามาได้ถึงขนาดนี้ ณ วันนี้เราก็ไม่ได้บอกว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุด ยังไงเราก็ยังต้องการการพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกแน่นอน”
จุดเริ่มต้นสู่การสู้ฝุ่น
แม้นี่จะเป็นการทดสอบแนวคิดเรื่องสภาพอากาศครั้งที่สามของ CEA ถัดจากหลุมหลบภัยทางอากาศและป้ายรถเมล์กรองอากาศ (ที่ยังพัฒนาไม่เสร็จสิ้น) แต่ทีมงานและนักออกแบบทุกคนก็เชื่อว่า Common Air-rea เป็นเพียงก้าวแรกสู่การพัฒนาคุณภาพอากาศในเมืองกรุงอย่างจริงจังเท่านั้น
“ต้องบอกก่อนว่างานออกแบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง มันเป็นแค่การแก้ปัญหาบางส่วนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในขั้นต่อไปเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเมืองมีฝุ่น วิศวกรก็ช่วยออกแบบรถยนต์ที่มีระบบเผาไหม้ดีขึ้น หรือในเชิงพื้นที่เราก็ออกแบบห้องให้คนสามารถเข้ามาสูดอากาศที่สะอาดปลอดภัยกว่าด้านนอก Common Air-rea จึงเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของการแก้ปัญหาเท่านั้น” ฟิวส์ออกความเห็น เพราะแม้งาน Bangkok Design Week 2021 จะจบลง คนเมืองก็ยังต้องต่อสู้กับค่าฝุ่น PM2.5 และมลภาวะที่มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ดี
“อย่างที่ฟิวส์บอกว่าการออกแบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยมันก็บรรเทาได้ CEA เองก็พยายามจะใช้งานออกแบบช่วยแก้และบรรเทาปัญหาต่างๆ อยู่ตลอด แต่มันจะดีกว่านี้มากถ้าทุกหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากขึ้นหรือช่วยกันไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ” แนทเสริม
“เรามองว่างานนี้จะทำให้พลเมือง ทั้งผู้มีอำนาจและผู้ใช้เมืองอย่างเราได้เห็นว่าในเมืองนี้ยังมีอีกหลายๆ คนที่ใส่ใจเรื่องนี้ มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ว่าถ้าคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายความสามารถมารวมตัวกันแบบนี้ เราก็สามารถแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีอื่นๆ ได้เช่นกัน
“Common Air-rea เป็นแค่การแก้ปัญหาเชิงสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ถ้าหากที่นี่กลายเป็นพื้นที่ให้คนที่หลากหลายกว่านี้ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ กราฟิกดีไซเนอร์ หรือแม้แต่ศิลปินเข้ามานั่งรวมกันแล้วคิดแก้ปัญหาบนโจทย์เดียวกันได้ ปัญหาเรื่องอากาศน่าจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันแก้ไขได้จริง” ฟิวส์ปิดท้าย