ตามไปดู The Pyramid of Citizen เซรามิกลายครามที่เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม

ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเดินงาน Bangkok Design Week 2021 ที่กำลังจัดอยู่ถึงวันที่ 20 มิถุนายนนี้ และเดินซอกแซกชมงานศิลปะทั่วย่านเจริญกรุงจนถึง O.P. PLACE คงสะดุดตาเข้ากับงานที่จัดแสดงอยู่ในห้องชั้น 1

งานนั้นเป็นเซรามิกลายครามเข้ากับสถานที่จัดงานอันเก่าแก่ แต่ที่แปลกคือเซรามิกเหล่านั้นถูกนำมาจัดเรียงเป็นชั้นพีระมิด พร้อมเศษจานชามแตกหักที่กระจายอยู่รอบๆ โต๊ะ

เมื่อเพ่งมองจานชามที่สมบูรณ์ให้ดีจะพบว่าลวดลายบนเซรามิกเหล่านั้นไม่ใช่ลวดลายแบบจีนที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ หากแต่เป็นภาพที่ หยก–กัณฐกะ เณรทอง วาดขึ้นใหม่ โดยนำเสนอภาพชนชั้นแรงงานที่ถูกโซ่ตรวนเอาไว้ขณะทุกข์ทรมานกับการก้มหน้าก้มตาทำงานในระบบทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

หยกคือศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาจากสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และงาน The Pyramid of Citizen คืองานศิลปะนิพนธ์หรือทีสิสของเขา

งานชิ้นนี้ถูกต่อยอดและเก็บเกี่ยวไอเดียมาจากความสนใจในเรื่องสังคมที่เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงชีวิตการเรียน

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนวาดงานเอาสวยอย่างเดียวเลย” หยกย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงานด้วยความขบขัน เขาเล่าต่อว่าเพราะได้ฝึกงานที่ 56thstudio เอเจนซีออกแบบงานสร้างสรรค์ที่รับทำตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ กราฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการออกแบบภาพลักษณ์ให้สินค้า วิธีการคิดและทำงานของเขาจึงเปลี่ยนแปลงไป

“งานที่บริษัทค่อนข้างมีความเป็นคอนเซปต์ชวล ทำให้เรารู้สึกว่างานออกแบบที่ทำมีเรื่องราว มีคุณค่า และมีอะไรมากกว่าแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว หลักการและแนวคิดของพี่ๆ ที่ทำงานส่วนใหญ่จะเป็นการทำเพื่อสังคม สิ่งนี้กรอบเรามาและ inspire เรามากๆ 

“ช่วงนั้นคนในสังคมเองก็เริ่มพูดถึงประเด็นทางสังคมกันมากขึ้นด้วย เราเลยอยากทำงานที่มีประโยชน์ สะท้อนสังคม อย่างน้อยก็เพื่อให้คนเสพได้รับอะไรสักอย่างกลับไปจากงานของเรา”

งานสเปเชียลโปรเจกต์ในช่วงปี 3 ของเขาจึงถ่ายทอดออกมาเป็นงานสะท้อนสังคมผ่านการใช้เทคนิค decal หรือการสกรีนรูปที่ออกแบบลงบนสติ๊กเกอร์แล้วลอกลงบนโถเซรามิกเช่นเดียวกับผลงานที่จัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2021 โดยโถแต่ละใบเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไป เช่น โถลายครามสกรีนข้อความบนผนังห้องน้ำ โถลายครามว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์ และโถลายครามที่เกี่ยวข้องกับเด็กแว๊น เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นความคิดของคนในชุมชนและการระบายสัญชาตญาณของมนุษย์

Bangkok Design Week

“เราชอบสิ่งที่มีความเป็นจีนอยู่แล้วเลยสนใจเซรามิกลายคราม อยากใช้มาเป็นสื่อในการออกแบบงาน” 

เมื่อต้องทำงานศิลปะนิพนธ์ เขาจึงตัดสินใจเล่าเรื่องผ่านเซรามิกอีกครั้ง โดยหลังรีเสิร์ชเขาพบว่าโดยทั่วไปแล้วเนื้อหาในเครื่องลายครามมักจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในสังคม ทั้งสภาพแวดล้อม บ้านเมือง รวมไปถึงวีรบุรุษ เขาเลยจับจุดนี้มาปรับใช้กับงานของตัวเอง

Bangkok Design Week

“กับงานชิ้นนี้ ประเด็นสังคมที่เราสนใจเอามาเล่าคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะถึงแม้เราจะเป็นชนชั้นกลางแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราหนีความเหลื่อมล้ำไม่พ้น 

“ความเหลื่อมล้ำก็แฝงตัวอย่างแนบเนียนผ่านเกมที่ทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถเล่นอย่างเสรีได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกฎของเกมและกติกาในการเข้าสะสมทุนในโลกทุนนิยมเต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค เรามีทุนแค่ไหน มีภูมิหลังทางครอบครัวที่เข้มแข็งแค่ไหน เราถือครองปัจจัยในการผลิตหรือเปล่า เราอยู่ในชนชั้นไหน ทั้งหมดนี้เป็นตัวชี้วัดโอกาสในชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคน

“คนส่วนใหญ่มักเครียดและโทษตัวเองที่ทำอะไรสักอย่างแล้วยังรู้สึกว่าทำไมเราถึงยังอยู่ในจุดนี้ ยังทำได้ไม่ดีพออีกเหรอ แต่หลายๆ คนมักลืมไปว่ามันเป็นทั้งเรื่องของโอกาสและโครงสร้างที่ไม่ได้สนับสนุนเรามากพอด้วย”

จากตอนแรกที่จะทำชิ้นงานออกมาเป็นแค่จานชามทั่วไป ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาผลงานกับอาจารย์และเห็นว่าเวลาจานชามซ้อนทับกันนั้นยังสื่อนัยถึงการกดทับได้อีก เขาจึงจัดวางชิ้นงานให้กลายเป็นชั้นพีระมิดเพื่อนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“พอทำเป็นรูปทรงพีระมิดมันเลยสื่อความหมายถึงความเป็นชนชั้น ชั้นล่างสุดคือแรงงาน ชั้นกลางที่เป็นแก้วสื่อถึงชนชั้นกลาง ส่วนชนชั้นสูงที่อยู่บนสุดสื่อภาพออกมาโดยใช้ชุดน้ำชา

“ลักษณะของภาชนะมีความหมายซุกซ่อนอยู่ หากแทนน้ำเป็นทรัพย์สมบัติ กาน้ำชาที่อยู่ชั้นบนสุดก็คือภาชนะที่ใส่น้ำได้เยอะที่สุด รองลงมาคือแก้ว ส่วนจานเป็นภาชนะที่รับและเก็บน้ำไว้กับตัวไม่ค่อยได้ และเมื่อโดนกดทับอยู่ชั้นล่างสุดก็ง่ายต่อการแตกสลาย”

หยก Bangkok Design Week

นอกจากรีเสิร์ชเรื่องเกี่ยวกับทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำมาใช้อ้างอิง เขายังให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในสังคม แล้วค่อยคิดว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพอะไรที่สื่อความหมายที่สุด

หยกชี้ชวนไปที่เครื่องลายครามก่อนจะอธิบายลวดลาย “ใบนี้เราวาดถึงชนชั้นล่างที่กำลังแบกสัญลักษณ์ของสันติภาพและเสรีภาพ แต่สิ่งนั้นมันก็เป็นหนามเหมือนกัน เพราะระบบที่บอกว่าเป็นเสรีภาพ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ สุดท้ายคนเราก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้จริงหากระบบยังเอื้อเพียงนายทุน

“เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เรานำมาวาดมีแก่นเรื่องของความไม่ยุติธรรมซุกซ่อนอยู่ อย่างจานใบนี้ก็อิงมาจากลายครามจริงๆ ที่มีลายคล้ายๆ เถาของใบไม้และดอกไม้เชื่อมต่อกัน แต่ผมวาดลวดลายเพิ่มเติมไปให้เป็นลวดหนาม ส่วนตรงดอกไม้ก็เป็นเงิน คนตรงกลางคือคนที่แบมือขอเงินอยู่ มันเหมือนเวลาทำงานที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สามารถขยับขยายได้ ถูกพันด้วยลวดหนามอยู่อย่างนั้น”

หยกบอกว่าที่เลือกวาดภาพออกมาให้ดูโอเวอร์อย่างนี้เพื่อให้งานสามารถกระตุกใจใครได้ไม่ยาก

“สำหรับผม การเสียดสีไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเฮ คลิกไลก์ หรือแชร์เท่านั้น แต่มันต้องให้อะไรกับผู้รับสารได้ โดยเฉพาะการเปิดใจ ข้อเท็จจริงบางอย่างที่เขาไม่ยอมรับ พลังของการเสียดสีหรือศิลปะมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่สังคมมีอยู่อย่างเป็นรูปธรรมขนาดนั้น แต่อย่างน้อยก็ยังมีส่วนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนความคิดเขาได้บ้าง”

หยก Bangkok Design Week

เพราะมองว่าการส่งเสียงและสื่อสารออกไปแม้ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ทันที แต่การกระจายสิ่งนี้ออกไปจะช่วยอะไรได้หลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ แต่ยังนับรวมไปถึงเรื่องของสิทธิต่างๆ ด้วย

“พอคนเห็นภาพหรือฉุกคิดว่าเรากำลังถูกกดทับ โครงสร้างเรามีปัญหา เขาอาจจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หรือหันมามีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปในทางที่ดีขึ้น” หยกบอกพร้อมทิ้งท้ายว่า

Bangkok Design Week หยก

“เอาจริงๆ เสียงของผมไม่ได้ดังขนาดนั้นหรอก แต่ถ้ามัวแต่เงียบก็คงไม่ทำให้อะไรดีขึ้นเลย

“ถ้าตอนนี้เราทำงานศิลปะออกมาได้เรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก ก็คงจะทำต่อไปเท่าที่จะทำได้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย