เดือนมิถุนายนนี้ ช่างชุ่ย Creative Park จะมีอายุครบ 5 ปี
ในวาระนี้ ทีมงานเลือกทำโชว์พิเศษที่แสดง DNA ของช่างชุ่ยได้ชัดเจนมาก
2046: The Greater Exodus คือโชว์แบบที่เรียกว่า Immersive Theater ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย มันคือละครเวทีที่ชวนผู้ชมมีส่วนร่วมกับเนื้อเรื่อง ไม่เพียงนั่งดูอย่างเดียวแต่สามารถเดิน สำรวจ และเล่นกับนักแสดงไปด้วยกัน สถานที่ไม่ยึดติดว่าต้องเป็นโรงละคร แต่เป็นอะไรก็ได้เพื่อให้คนดูได้สำรวจและเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องอย่างเต็มที่
ความพิเศษของโชว์นี้คือ เป็นงานละครแนว Immersive Theater มาจัดใน Na-Oh Bangkok ร้านอาหารบนเครื่องบินซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของช่างชุ่ยมาตั้งแต่ก่อตั้ง ผู้ชมจะได้ดูโชว์พร้อมกับกินอาหารแบบ Fine Dining ไปด้วย เมนูแต่ละจานออกแบบให้สอดคล้องกับโชว์ เนื้อหาอย่างย่นย่อคือ เราจะเป็นคณะมนุษย์ที่ออกเดินทางด้วยเครื่องบิน จากโลกเก่าที่กำลังสูญสิ้น สู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง ระหว่างทางก็จะเผชิญกับอุปสรรคและความลี้ลับบนเครื่องที่ยากจะคาดเดา
ช่างชุ่ยคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน ตีความโลกแห่งอนาคตจากมุมมองของผู้ก่อตั้งอย่าง ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา 2046: The Greater Exodus เป็นโชว์ที่ทั้งทะเยอทะยาน ซับซ้อน พูดถึงโลกอนาคตอันล่มสลาย สะท้อนคาแรกเตอร์ของพื้นที่นี้ได้ดีมาก
โชว์นี้เป็นความร่วมมือระหว่างช่างชุ่ย ร้านอาหาร Na-Oh คณะละคร Throw BKK และ Studio11206 สตูดิโอที่เน้นสร้างสรรค์งานศิลปะและอีเวนต์แนวทดลอง ด้วยความทะเยอทะยานและซับซ้อนของโชว์ ขั้นตอนการทำงานเบื้องหลังจึงน่าสนใจ
หลังดูโชว์จบเราจึงนัดคุยกับ ไอซ์-วรุตม์ วิมลคุณารักษ์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานแนว immersive theater บวก fine dining ครั้งแรกในเมืองไทย เล่าที่มาของโชว์นี้ว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง
จากบาร์บนร้านข้าวขาหมู สู่โชว์บนเครื่องบิน
ก่อนไปเรียนที่นิวยอร์ก ผมคิดว่าตัวเองเป็นช่างภาพและผู้กำกับ ตอนอยู่ไทยส่วนใหญ่จะทำงาน fashion film มีโอกาสได้ทำงานกับช่างชุ่ยช่วงที่เปิดโปรเจกต์ใหม่ๆ หลังจากนั้นผมก็ไปเรียนด้านภาพที่ School of Visual Arts New York
เรียนเสร็จได้จับพลัดจับผลูทำงานในเอเจนซี่ สมัยนี้แคมเปญโฆษณาจะทำเป็น 360 องศา มีทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ งาน Out of Home อีเวนต์ โซเชียลมีเดีย เราเริ่มรู้สึกว่างานภาพสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในภาพถ่าย ทำอะไรก็ได้ถ้ามีไอเดีย ภาพ และความกล้าที่มากพอ พอทำไปสักพักเราเริ่มอยากขยายสื่อของเราไป ภาพในหัวของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่อยู่ในเฟรม สนใจการออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น
5 ปีผ่านไปผมมีโอกาสได้กลับไปคุยกับคุณลิ้มที่ช่างชุ่ย ช่วงนั้นมีร้านข้าวขาหมูร้านใหม่ที่เพิ่งมาเปิด (ร้านข้าวขาหมูกิมเชง) น่าสนใจ ไม่เหมือนตึกอื่นๆ ของช่างชุ่ยเลย ผมขอขึ้นไปดูชั้นสองซึ่งบรรยากาศมีความแบบบาร์ รู้สึกว่ามี magic อะไรบางอย่าง คิดขึ้นมาว่ามันคงจะดีนะถ้ามีโชว์ประมาณ immersive experience เกิดขึ้นในร้านข้าวขาหมูชั้นสองที่เป็นบาร์ลับแห่งนี้ ตอนแรกคิดว่าจะเป็นงานเล็กๆ ทีนี้คุณลิ้มก็บอกว่า ไอเดียน่าสนใจมากเลย ลองไปเจอกับ Na-Oh Bangkok หน่อยมั้ยซึ่งฉากหลังเป็นเครื่องบิน
พอเข้ามาคุยกับทางนาโอห์ เรารู้สึกว่าทิศทางความคิดอะไรบางอย่างไปด้วยกันได้ ฝ่าย team management ของทางนาโอห์รู้สึกเหมือนกันและอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับ fine dinning เหมือนเจอมวยถูกคู่พอดี ก็เลยมาเริ่มกัน
เมื่อ immersive theater มาเจอกับ fine dining
คอนเซปต์ของ immersive theater จะมาพร้อมกับคำว่า site specific คือ ทำไมเราต้องจัดในที่แห่งนี้ สมมติว่าถ้าจัดบนบาร์ลับแห่งหนึ่ง ทำไมจะต้องเป็นบาร์ลับแห่งนี้ เพราะบรรยากาศของสถานที่เป็นเหมือนตัวละครหนึ่ง ถ้าจัดในนาโอห์ เครื่องบินก็เป็นเหมือนตัวละครหลักตัวหนึ่งของเรา เราก็เลยไม่อยากจะคิดเนื้อเรื่อง (narrative) ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เราพัฒนาโปรเจกต์ขึ้นมาจากเนื้อเรื่องหรือคอนเซปต์ที่มีอยู่แล้วของช่างชุ่ยและนาโอห์ซึ่งก็มีความเป็น dystopian อยู่ เนื้อหาพูดถึงเรือที่จะเดินทางมุ่งหน้าสู่โลกใหม่ในวันที่โลกเก่าสูญสิ้น เราหยิบส่วนนั้นมาขยายความ ตีความใหม่ ให้มันไปไกลกว่าเดิม
งานที่เป็นแรงบันดาลใจหลักคือรูปภาพของ Hieronymus Bosch ชื่อว่า The Garden of Earthly Delights เนื้อหาของภาพนั้นจะแบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องแรก จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสวนอีเดน พูดถึงวันที่ 7 ของการสร้างโลกซึ่งเริ่มมีมนุษย์คืออดัมและอีฟ ตอนหลังสองคนนี้โดน serpant หลอกล่อให้ไปกินแอปเปิ้ล ในไบเบิลตีความว่า serpant เป็นเหมือนซาตานที่มาหลอกล่อมนุษย์ให้ทำบาปบางอย่าง แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าแอปเปิ้ลเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ชื่อของมันคือ Forbidden Fruit of Knowledge of Good and Evil ตอนแรกอดัมกับอีฟจะไม่มีความรู้คิดอะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาควรจะปกปิดร่างกายหรือเปล่า แต่พอกินผลไม้นี้เข้าไปเขาเริ่มรู้สึกถึงยางอาย เลยเอาใบไม้ของ Forbidden Tree เอามาปิด
ช่องที่สองพูดถึงมนุษย์เริ่มขยายพันธุ์หลังจากกิน Forbidden Fruit เล่าเรื่องบาป 7 ประการ คือการที่มนุษย์ทำบาป ผลาญทรัพยากรของโลกใบนี้ จนทำให้สุดท้ายนำมาสู่ช่องที่สาม มนุษย์ทำอะไรบางอย่างจนทำให้โลกเป็นนรก เมื่อโลกกำลังจะล่มสลาย เรือโนอาห์หรือนาโอห์ซึ่งเป็นยานของเรา ลำเลียงคนเพื่อไปสู่โลกใหม่ที่ดีกว่า ภาพนี้เป็นแรงบันดาลใจและสารตั้งต้นที่สำคัญมากของโชว์นี้
ผมเชื่อในประสบการณ์อินเตอร์แอ็กทีฟ สมัยนี้ทุกอย่างเป็น immersive experience ไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น VR AR คนเริ่มสนใจเรื่อง interactive technology กันมากขึ้น เช่น นิทรรศการที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับ installation เดินไปปุ๊บแล้วแสงเปลี่ยนหรือเกิดอะไรบางอย่าง แต่ในทางกลับกัน ผมกลับเห็นความสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มากขึ้น นี่เป็นยุคที่คนไม่ค่อยคุยกันแล้ว เราเจอกันใน Zoom ซะส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าการที่คนมานั่งคุยกันกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากขึ้น
ตอนแรกคิดว่ามันคงจะดีถ้าเราเอาแนวคิดของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มาใส่ไว้ในสถานที่นี้ แต่เราไม่อยากทำ immersive theater อย่างเดียว ยังไม่เคยมีคนทำโชว์นี้ที่เอาการกินอาหารแบบ fine dining มารวมกัน เป็นการตีความใหม่ของสื่อทั้งสองแบบ
ความยากคือเราไม่มี roadmap ที่ชัดเจน ถือว่าเป็นโปรเจกต์ทดลองที่สเกลค่อนข้างใหญ่สำหรับผมมาก
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นมาได้ มันคือการร่วมมือกันหรือ collaboration ผมทรีตงานนี้ว่าไม่ใช่งานของเราคนเดียว เพราะด้วยสเกลและเวลากระชั้นขนาดนี้เราไม่สามารถทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้เลย เราหาพาร์ตเนอร์ที่ไว้ใจ ให้เขาช่วยดูในสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าไปคุมได้ในระดับรายละเอียด ผมจะบอกกับทีมเสมอว่าอันนี้คืองานของทุกคนนะ อยากให้ทุกคนใส่ input เข้ามา แล้วเราก็มีหน้าที่ในการรวมเอาส่วนผสมเหล่านั้นจากแต่ละภาคส่วน ทำให้มันไปด้วยกันได้
กลุ่ม Throw BKK เขาเป็นกลุ่มที่รุ่นใกล้ๆ กับผม เป็นรุ่นใหม่ในวงการละครเวทีเหมือนกัน เขาสนใจเรื่อง immersive theater โดยเฉพาะหัวเรือของทีม Throw BKK คือตังกับตอย (นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี และเจนวิชญ์ นฤขัตพิชัย) สองคนนี้จบมาจากลอนดอนอังกฤษแล้วก็เรียนเรื่อง immersive theater โดยเฉพาะ
พอทำความรู้จักกันมากขึ้นก็เห็นสิ่งที่เขาสนใจมากขึ้น มันน่าสนใจมากที่ทางทีม Throw BKK ก็สนใจในเรื่องดิสโทเปียนเหมือนกัน เป็น narrative ของโลกใหม่ มีความเป็นไซ-ไฟมาผสมกับเรื่องบาปบุญคุณโทษหรือศาสนา เลยรู้สึกว่าโอเคน่าจะไปด้วยกันนะ เลยเริ่มพัฒนางานร่วมกัน
สิ่งที่ทีม Throw BKK ทำให้โชว์นี้คือการกำหนดทิศทางของนักแสดงหรือเนื้อหาหลักๆ ที่มันเกิดขึ้น
ปกติเวลาเราไปดูหนัง เราต้องอยู่ในโรงละครหรือโรงหนัง คนดูโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า แต่ immersive theater ตีความใหม่ เราให้อำนาจกับคนดูที่จะสำรวจ เลือกดูอะไรก็ได้ที่เขาสนใจ บางทีเขาอาจจะไม่ได้ตามบทละครเลย เขาอาจจะไปนั่งฟังเพลงอยู่ หรือเดินไปตรงโน้น ทำอะไรก็ได้
แก่นของงาน immersive theater คือเอาอำนาจในการตัดสินใจกลับไปสู่คนดู ไม่ได้อยู่ที่ผู้กำกับหรือคนออกแบบโชว์ immersive theater หลายงานในต่างประเทศเกิดขึ้นบนตึกหรือโรงแรม เช่น Sleep No More งาน immersive theater ที่มีต้นกำเนิดที่ลอนดอน อังกฤษ เหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เขาทำแต่ละชั้นให้ไม่เหมือนกันเลย คนดูก็โดนปล่อยคนละชั้น มีเหตุการณ์อะไรหลายอย่างเกิดขึ้น ตัวละครเยอะและมีเส้นเรื่องของตัวเอง กลายเป็นว่าไม่มีใครเข้าใจเรื่องทั้งหมดหรอก แล้วแต่คุณว่าจะติดตามตัวละครคนไหน
ความยากของงานเราคือ ต้องกินข้าวไปด้วย จริงๆ เราอยากจะให้พาวเวอร์กับคนดูมากกว่านี้ อยากให้คนดูไปโน่นไปนี่ได้ พอเป็น fine dining เดินไปกินไปมันก็ไม่น่าจะเอนจอย เราต้องรู้ว่าข้อจำกัดของแต่ละองค์ประกอบในโชว์ว่าคืออะไร ทำยังไงให้มันสามารถไปด้วยกันได้
ความจริงเรื่องของดิสโทเปียนที่เราอยากจะสื่อในงานคือความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น รอบปกติจะถูกแบ่งชัดเจน แต่ละชั้นเราออกแบบมาหมดแล้วว่าประสบการณ์ที่คุณได้จะไม่เหมือนกัน ไม่มีอันไหนดีหรือไม่ดี ราคาที่ต่างกันเป็นแค่เรื่องของคอร์สอาหารมากกว่า เราต้องกระจายเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปให้ได้สามส่วน
อาหารที่คิดขึ้นมาก็เชื่อมกับเรื่องครับ นาโอห์จะดูแลด้านเซอร์วิสและเรื่องเมนูอาหาร ซึ่งในเรื่องของเมนูอาหาร เราก็ทำงานร่วมกันทั้งสามทีม เหมือนเราบอกไปว่านี่คือเนื้อหาแล้วเราจะออกแบบอาหารอย่างไรให้เข้ากัน
โชว์ที่ไม่มีวันจบ
เรื่องการออกแบบเสียง ในความเป็น immersive theater มันเหมือนเราดูโชว์ที่มีคนกระซิบกัน แล้วเราต้องตามดูสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ได้ฟังหรือหลุดไปคุณก็จะไม่รู้สิ่งนั้นเลย พอเป็นเรือ มีการกินอาหาร fine dining แต่ละโซนมีเสียงดนตรี มีเสียงพูดของนักแสดง ทุกอย่างตีกันหมด ยากมาก ไม่เหมือนเวทีคอนเสิร์ตซึ่งเราสร้างเสียงที่ทุกคนได้ยินเท่ากัน
เราออกแบบว่าทุกคนจะได้เอนจอยเสียงเพลง เพราะมันเป็นเหมือน announcement สมมติว่าเราเดินทางบนเครื่องบินก็จะมีหนังให้ดู แต่ความบันเทิงของยานนาโอห์คือมินิคอนเสิร์ต เพราะฉะนั้นเสียงคอนเสิร์ตทุกคนควรจะได้ยิน แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะมีเสียงกระซิบอะไรบางอย่าง เหมือนเป็นคนคุยกัน เรานั่งอยู่ตรงนี้ ได้ยินแม่ลูกที่นั่งข้างๆ คุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพลงต้องไม่ดังเกินไป
ในขณะเดียวกันเราไม่อยากใส่ไมค์ให้นักแสดง เพราะถ้าใส่ กลายเป็นว่าเราบังคับให้คนดูได้ยิน เราก็เลยให้นักแสดงเล่นไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเตี๊ยมว่ายูต้องโปรเจกต์เสียงในระดับหนึ่งนะ เล่นให้คนที่เขาตั้งใจดูพอจะได้ยินด้วย
ถ้าเป็นงานแนว immersive ความจริงนักแสดงไม่ต้องสนใจอะไรเลย เล่นอะไรก็ได้ที่อยากจะเล่น แต่พอมันมี dining เข้ามาเกี่ยว แปลว่าเราต้องให้พื้นที่คนดูเอนจอยเพลงและอาหาร อย่าเข้าไปเยอะ อีกเรื่องที่สำคัญคือไหวพริบของนักแสดง โชว์เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ เราไม่มีทางรู้ว่าผู้โดยสารจะเล่นกับเราหรือเปล่า ที่เราห่วงที่สุดคือ เราต้องรักษาสมดุลของพื้นที่ให้ได้ รอบนึงมีนักแสดงหลักๆ ประมาณสองคน แล้วสองคนนั้นก็ต้องจัดการพื้นที่ให้ได้ ต้องรู้ว่าเวลาไหนควรเข้าไป เวลาไหนควรปล่อย ควรจะไปเล่าเรื่องอะไร ถามอะไร มันคือการจัดการระหว่าง performance กับให้คนเอนจอยอย่างอื่นด้วย
เราเริ่มโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ต้นเมษายน ถือว่าน้อยมากสำหรับละครเวทีในสเกลนี้ เราซ้อมทุกวัน แต่อย่างที่บอกไปว่าโชว์นี้ต้องเล่นบนเครื่อง นักแสดงต้องรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับเครื่อง เพราะฉะนั้นมันเรียกร้องว่าพวกเขาต้องอยู่บนเครื่องจนรู้สึกว่านี่คือบ้านเรา ต้องซ้อมบนเครื่อง ความยากคือร้านอาหารเปิดทุกวันยกเว้นวันพุธ เราเลยซ้อมใหญ่ทุกวันพุธ กระชั้นชิดมาก อย่างที่บอกไปว่าผมโชคดีมากที่ทุกคนมาช่วยกันเต็มที่ ทุกคนเต็มที่กับงานนี้มากจริงๆ
กลุ่มเป้าหมายของโชว์ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมาก ด้วยเรื่องของข้อจำกัดด้านราคา ซึ่งเราเข้าใจและคิดมาแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะลดราคาลงมามากกว่านี้ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ฟีดแบ็กรวมๆ ค่อนข้างจะดี เรื่องที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือมันเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เขาไม่เคยเจอแบบนี้เลย ในขณะเดียวกันมันก็มีฟีดแบ็กเรื่องอื่นที่เราค่อยๆ ปรับไปโจทย์คือทำยังไงให้โชว์นี้กลมกล่อมมากขึ้น
ผมรู้สึกว่าโชว์แต่ละรอบจะพัฒนาไปเรื่อยๆ รอบที่ดีที่สุดอาจจะเป็นรอบสุดท้าย อย่างที่บอกว่างานนี้ไม่มีต้นแบบ เราไม่รู้ว่าใส่เรื่องนี้เข้าไปเท่าไหร่ถึงจะออกมากลมกล่อม เราก็เลยทดลองไปเรื่อยๆ เอาฟีดแบ็กคนดูมาปรับ อย่างในการซ้อมรอบแรกๆ นักแสดงก็ไม่ค่อยมีอินเตอร์แอ็กทีฟเท่าไหร่ พอซ้อมอีกรอบนักแสดงเล่นกับคนดูสุดๆ แต่ทำให้คนมาดูโชว์ไม่ได้เอนจอยอาหารเท่าไหร่ เพราะต้องดูโน่นดูนี่เต็มไปหมด มันจะค่อยๆ กลมกล่อมขึ้นตามจำนวนรอบ
เราถือว่าโปรเจกต์นี้ยังไม่จบ คนดูเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง เราต้องการคนดูเพื่อให้โชว์นี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ขอบคุณภาพถ่ายจากช่างชุ่ย
ซื้อบัตรได้ที่ EVENTPOP แสดงถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2565